People unity : พรรคพลังประชารัฐ มีที่มาจากแนวความคิดของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ต้องการให้มีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้น เพื่อเป็นพรรคทางเลือกใหม่ หรือพรรคทางเลือกที่ 3 ที่จะทำให้การเมืองไทยมี “ทางออก” จากปัญหาความขัดแย้งการเมืองสองขั้ว ซึ่งได้ฝังรากลึกทำร้ายและทำลายชาติบ้านเมืองทุกอณูมาเป็นเวลานาน จนความขัดแย้งได้กลายเป็น “โครงสร้าง” ที่แท้จริงของประเทศนี้ไปแล้ว ซึ่งสมคิดมักพูดอยู่เสมอว่า ประเทศจะอยู่อย่างมั่นคงและมีอนาคตได้อย่างไร ประชาชนจะอยู่อย่างมีความสุขและเชื่อมั่นได้อย่างไร ภายใต้โครงสร้างบ้านเมืองแบบนี้ ซึ่งพร้อมจะพังครืนลงมาได้ทุกเวลา
สมคิดเห็นว่า การเมืองสองขั้วที่มีพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคเป็นผู้นำขั้ว คือ พรรคเพื่อไทย (และพรรคของทักษิณในอดีต) ขั้วหนึ่ง กับพรรคประชาธิปัตย์ อีกขั้วหนึ่ง เป็นที่มาของความขัดแย้งการเมืองสองขั้วในบ้านเมือง ซึ่งทั้งสองพรรคได้เริ่มเปิดฉากต่อสู้และขัดแย้งทางการเมืองกันมาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2544 และต่อจากนั้นก็ได้ต่อสู้และขัดแย้งกันรุนแรงมากขึ้นตลอดมาในการเลือกตั้งทุกครั้ง ภาวการณ์ต่อสู้และขัดแย้งกันรุนแรงยาวนานระหว่างสองพรรค ได้ผลักให้ประชาชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองทั้งสอง กลายเป็นคู่ขัดแย้งกันไปด้วย และต่อมาเลวร้ายกลายเป็นความแตกแยกและนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างประชาชนสองฝ่าย เมื่อนักการเมืองและพรรคการเมืองสร้างเงื่อนไขหรือเติมเชื้อไฟของความขัดแย้งไปสู่ประชาชน ทำให้เป็นความขัดแย้งของประชาชน ทั้งที่ความจริงเป็นความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างนักการเมืองและพรรคการเมือง
ความขัดแย้งระหว่างนักการเมืองและพรรคการเมืองในสนามเลือกตั้ง ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านในสภา ไม่จบแค่นั้น แต่ถูกลากไปเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนบนท้องถนน มีประชาชนสองฝ่ายออกมาเผชิญหน้ากัน เป็นรี้พลในสงครามการเมืองให้สองพรรค ยังดีที่ยังมีประชาชนอีกส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งมีจำนวนมากเช่นกัน ไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งของสองพรรค เกิดเป็นการถ่วงดุลจากประชาชนอีกส่วนหนึ่ง ทำให้สองขั้วที่ขัดแย้งกันทำอะไรได้ไม่ถนัด ไม่เกิดเป็นสงครามกลางเมือง แต่หากประชาชนในชาติแบ่งขั้วเป็นสองขั้วกันหมดทั้งประเทศ สงครามกลางเมืองบ้านเมืองลุกเป็นไฟคงเกิดขึ้นแล้ว
สมคิดบอกกับผมว่า หากไม่มีประชาชนจำนวนมากอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เข้าไปเป็นคู่ขัดแย้ง มาถ่วงดุลไว้ ป่านนี้ประเทศย่อยยับไปแล้ว ประชาชนกลุ่มใหญ่นี้ซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกเมินเฉยต่อการเมือง คือ คนที่ทำให้ประเทศรอดมาได้ และทำให้ประชาชนสองฝ่ายไม่ต้องฆ่ากัน ประชาชนกลุ่มนี้คือความหวังของประเทศ
เมื่อความขัดแย้งมีต้นตอมาจากการเมืองสองขั้ว หรือการเมืองสองพรรค ทางออกของปัญหาความขัดแย้งก็ต้องเริ่มที่การเมือง คือต้องทำให้มีพรรคการเมืองที่ 3 เกิดขึ้นมาเป็นทางเลือก เพื่อให้เป็น “พื้นที่ใหม่ทางการเมือง” สำหรับประเทศชาติ ประชาชน และนักการเมืองหรือคนที่อยากเข้าไปทำการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองใหม่ที่ว่านี้ ต้องเป็นพรรคที่หนีออกจากวังวนความขัดแย้งเก่า และต้องไม่เป็นพรรคที่สร้างเงื่อนไขใหม่ของความขัดแย้งหรือเป็นคู่ขัดแย้งใหม่ ต้องเป็นพรรคที่ไม่ขัดแย้งกับขั้วใด และที่สำคัญที่สุดคือต้องเป็นพรรคที่ไม่เป็นศัตรูและเป็นมิตรกับประชาชนในสองขั้วได้ เป็นพรรคที่รองรับประชาชนส่วนหนึ่งในสองขั้วที่เบื่อหน่ายความขัดแย้งและมองไม่เห็นประโยชน์ของความขัดแย้ง เป็นพรรคที่ตรงความต้องการทางการเมืองของประชาชนอีกส่วนหนึ่งของประเทศที่ไม่สังกัดฝักฝ่ายขั้วการเมืองใดมาก่อนได้ เป็นพรรคที่รองรับนักการเมืองหรือคนที่ต้องการเข้าไปทำการเมืองซึ่งไม่ประสงค์จะทำการเมืองแบบขัดแย้งได้ และเป็นพรรคที่ทำให้ประเทศชาติมีพื้นที่ใหม่ของประเทศ เป็นพื้นที่สีขาว เป็นพื้นที่ทางการเมืองแห่งความสงบความร่วมมือร่วมใจ ที่จะเข้าไปซ่อมแซมโครงสร้างของประเทศที่ผุพังจากความขัดแย้งที่ผ่านมา
พรรคพลังประชารัฐเกิดขึ้นจากแนวคิดนี้ เพื่อให้เป็นพื้นที่ใหม่ทางการเมืองในบ้านเมือง มิใช่เกิดขึ้นเพื่อให้เป็นขั้วใหม่ทางการเมือง เพราะหากพรรคพลังประชารัฐสถาปนาตัวเองเป็นขั้วใหม่ ก็จะขัดแย้งและเผชิญหน้ากับสองขั้วเดิมทันที
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ คิดวาดหวังไว้แบบนี้ ซึ่งเป็นความคิดที่สวยงามและมองเห็นทางออกของประเทศ
วันนี้ พรรคพลังประชารัฐก่อกำเนิดขึ้นจากการผลักดันของสมคิดเรียบร้อยแล้ว และกำลังโลดแล่นอยู่บนเส้นทางการเมือง เพื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง
แกนนำพรรคพลังประชารัฐต่างป่าวประกาศว่า เป็นพรรคที่ไม่ขัดแย้งกับใคร เป็นมิตรกับทุกฝ่าย พร้อมร่วมมือกับทุกฝ่าย และกำลังฉายภาพให้ประชาชนเห็นถึงพิษภัยของความขัดแย้ง
ทว่า คำป่าวประกาศอย่างเดียวไม่พอ แกนนำพรรคพลังประชารัฐจะต้องทำให้เห็น ทำให้พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรค “ทางออก” จากความขัดแย้งสองขั้วให้ได้ ทำให้พรรคพลังประชารัฐเป็นพื้นที่ใหม่ทางการเมืองให้กับประเทศชาติและประชาชนให้ได้ และชนะการเลือกตั้งบนพื้นที่ใหม่ทางการเมืองให้ได้ มิใช่กลายเป็นคู่ขัดแย้งหรือสถาปนาเป็นขั้วใหม่ เป็นการเมืองสามขั้ว แล้วไปทำสงครามเลือกตั้งแย่งชิงชัยชนะกับพรรคสองขั้วเก่า กลายเป็นความขัดแย้งใหม่ทางการเมืองขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น บ้านเมืองจะย่อยยับด้วยความขัดแย้งแตกแยกมากขึ้น จากเดิมความขัดแย้งสองฝ่าย กลายเป็นความขัดแย้งสามฝ่าย!!
พรุ่งนี้ ถ้ามีเวลา หรือาจเป็นวันมะรืน ผมจะมาชี้ให้เห็นว่า พรรคพลังประชารัฐกำลังเดินไปทางไหน เดินถูกทางหรือหลงทาง และเดินไปในทางที่สมคิดเห็นทางออกของบ้านเมืองไว้หรือไม่??
โดย : พูลเดช กรรณิการ์
นักวิชาการอิสระด้านการเมือง
22 มกราคม 2562
การเมือง : ความคิดของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ต่อการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ
People unity : post 22 มกราคม 2562 เวลา 13.10 น.