People Unity News : “เสรีพิศุทธ์”ไม่ยอมหยุด! เชิญ”บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม”อีกครั้งให้ชี้แจง 6 พ.ย. “เชาว์” บี้ กมธ.ป.ป.ช.ทั้งชุดทบทวนบทบาทตัวเอง
เมื่อวันที่ 30 ต.ค.2562 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาหนังสือของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจของคณะกรรมาธิการในการเรียกนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีเข้ามาชี้แจงใน 3 เรื่องคือ 1.) การเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างไร 2.) การถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นเรื่องของรัฐบาล และ 3.) สภาผู้แทนราษฎรเองก็เคยเห็นชอบร่างกฎหมายที่รัฐบาลเคยเสนอมาแล้ว เช่น พ.ร.ก.โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหมไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562
กรรมาธิการพิจารณาได้ข้อสรุปว่า กรรมาธิการมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 วรรค 4 ซึ่งเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมาธิการกับผู้ถูกเชิญ ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่ 3 ดังนั้น การทำหนังสือของเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจึงเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะไม่ควรเข้ามายุ่งในเนื้อหาสาระ และนายกรัฐมนตรีก็ควรจะมาชี้แจงด้วยตนเอง
ขณะที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ส่งหนังสือมาแจ้งว่าติดภารกิจราชการ และชี้แจงสั้นๆ ว่า ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมาธิการจึงมีมติทำหนังสือเชิญนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีให้มาเข้าชี้แจง ในวันที่ 6 พฤศจิกายนเวลา 10.00 น. และ 11.00 น. พร้อมย้ำว่า แม้ทั้งสองคนจะตัดพี่ตัดน้องกับตนเองไปแล้ว แต่ก็ยังมองว่าเป็นพี่น้องอยู่ จึงอยากจะเรียกเข้ามาสอบถาม
ทั้งนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมจะมีการพิจารณากรณีนายเอกชัย หงส์กังวาน แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ร้องขอให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีมติไม่ชี้มูลความผิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ชี้แจงบัญชีทรัพย์สินนาฬิกาหรูว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 คณะกรรมาธิการไม่มีอำนาจเชิญองค์กรอิสระ ทางคณะกรรมาธิการฯ จึงมีมติทำหนังสือไปถึงเลขาธิการ ป.ป.ช. ขอเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องมาศึกษา โดยขอให้ส่งมาภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน และจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ประชาชนและสื่อมวลชนเคลือบแคลงสงสัยในมติที่ออกมา
“เชาว์” บี้ กมธ.ป.ป.ช.ทั้งชุด ทบทวนบทบาทตัวเอง
นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ Facebook เรื่อง “อย่าใช้กรรมาธิการของสภาเป็นกรรมาธิกูทางการเมือง” มีเนื้อหาว่า กรณีที่กรรมาธิการ ป.ป.ช.ของสภาผู้แทนราษฏรมีมติเชิญพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าชี้แจงเรื่องการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 และกรณีกล่าวหานายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญนั้น มีประเด็นคำถามให้ชวนคิดมองได้อยู่สองมิติที่น่าสนใจกล่าวคือ มิติด้านบทบาทหน้าที่ของกมธ.ป.ป.ช. ซึ่งผมเห็นว่ากรรมาธิการชุดนี้ไม่มีอำนาจที่จะเชิญนายกรัฐมนตรีมาชี้แจงเรื่องการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของนายกฯและกรณีกล่าวหานายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่อำนาจหน้าที่โดยตรงกรรมาธิการป.ป.ช.มีหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตและประพฤติมิชอบ….อีกทั้งกรณีนายกฯถวายสัตย์ไม่ครบศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยแล้วว่า ไม่มีองค์กรใดตามรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยได้ เนื่องจากเป็นเรื่องการกระทำทางการเมืองระหว่างองค์พระมหากษัตริย์กับฝ่ายบริหาร
การที่ผู้คนพุ่งเป้าตำหนิไปที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ประธานกมธ.ชุดนี้ ยังไม่ถูกต้องนัก เพราะเรื่องนี้เป็นมติของกรรมาธิการทั้งชุด จึงต้องถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของกรรมาธิการฯทั้งชุด ผมจึงอยากให้กรรมาธิการป.ป.ช.ตั้งหลักทบทวนบทบาทตัวเองใหม่ อย่าให้ใครใช้กรรมาธิการฯที่ต้องทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อประโยชน์ส่วนตน
นายเชาว์กล่าวต่อไปว่า ประการต่อมาคือเรื่องการทำงานในสภาระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ซึ่งจากการตรวจสอบรายชื่อกรรมาธิการชุดนี้พบว่าฝ่ายค้านมีเสียงในกรรมาธิการฯมากกว่ารัฐบาลหนึ่งเสียงคือ 8 ต่อ 7 เท่ากับฝ่ายค้านคือผู้คุมเกมในกรรมาธิการฯชุดนี้เพราะเป็นเสียงข้างมาก ผมจึงไม่เข้าใจว่ารัฐบาลซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้อย่างไร และกรรมาธิการฯซีกรัฐบาลทำอะไรอยู่ เหตุใดจึงไม่คัดค้านเมื่อมีการกระทำที่เกินเลยไปจากอำนาจหน้าที่ของตัวเอง ทั้งกรณีกรรมาธิการป.ป.ช.และการที่สภารับรองชื่อหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่อยู่ระหว่างถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปเป็นกรรมาธิการงบประมาณ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่เท่าทันเกมการเมืองของฝ่ายค้าน จึงควรต้องปรับวิธีคิดและการทำงานใหม่ ที่สำคัญอยากฝากถึงทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านว่าการทำงานในกรรมาธิการฯควรคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เดินหน้าไปด้วยกันโดยไม่มีฝ่าย จึงจะถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
“จึงฝากไปยังพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ให้ตระหนักด้วยว่าพ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 ที่นำมาใช้ขู่ว่าถ้าใครไม่มาตามคำเชิญมีโทษจำคุกนั้นออกในสมัยที่ท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีจุดประสงค์ให้ใช้กฎหมายนี้เพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ให้มีประสิทธิภาพและได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน บนหลักการยึดประโยชน์ชาติประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่กฎหมายที่มีไว้เพื่อให้ใครใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายตัวเอง ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่ามาตรา 12 ของกฎหมายฉบับเดียวกันนี้มีบทลงโทษสำหรับกรรมาธิการที่ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงควรหยุดใช้อำนาจกรรมาธิการฯพร่ำเพรื่อต่อไปความศักดิ์สิทธิ์จะลดลงกลายเป็นกรรมาธิกูทางการเมือง จะไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนตามเจตนารมณ์ที่มุ่งหวัง”นายเชาว์กล่าวทิ้งท้าย