People Unity News : ปชป.มีมติสนับสนุน”อภิสิทธิ์”เป็นปธ.กมธ.ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ ขณะที่ “ชวน” ปิดปากโยนให้เป็นเรื่องสภาฯ ส่วน “ปิยบุตร”เสนอตัวแย้ม”ธนาธร”คิดร่วมด้วย
วันที่ 5 พ.ย.2562 ที่พรรคประชาธิปัตย์ การประชุมส.ส.ของพรรค โดยมีการพิจารณากรณัญัติการเสนอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเกิดขึ้นนี้ ล่าสุด ที่ประชุมมีมติ สนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“ชวน”ปิดปากโยนให้เป็นเรื่องสภาฯ
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อถามว่าฝ่ายค้านและสังคมเห็นด้วยถ้านายอภิสิทธิ์มาเป็นประธานกรรมาธิการฯ นายชวน กล่าวว่า ไม่ขอแสดงความเห็นเรื่องนี้ แม้ล่าสุดตนได้เจอกับนายอภิสิทธิ์ ในงานแสดงมุทิตาจิต เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ บิดาของนายอภิสิทธิ์ ครบ 84 ปี เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้พูดคุยกันเรื่องดังกล่าว และหลังจากวันนั้นก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้อีก
ส่วนนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้น จากข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็นการเสนอของพรรคการเมืองอื่น จุดเริ่มต้นเกิดจากการเสนอของนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ หลังจากนั้นก็มีเสียงตอบรับและการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆตามมาอีกหลายพรรค รวมถึงการสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อทุกฝ่ายเห็นว่า นายอภิสิทธิ์ มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ จึงเกิดกระแสขานรับกันอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาตามขั้นตอนของพรรค
ส่วนการที่พรรคพลังประชารัฐออกมาท้วงติงถึงสิทธิ์การเป็นพรรคการเมืองใหญ่ จะต้องได้ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ ก็เป็นสิทธิ์ของพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ไม่ได้เป็นสูตรที่ตายตัวเสมอไป เพราะในคณะกรรมาธิการหลายชุด ประธานคณะกรรมาธิการก็มาจากพรรคการเมืองอื่นก็เคยมี จึงอยากจะให้พิจารณาถึงความเหมาะสมของบุคคลที่จะมานั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญมากกว่า ถ้าหากตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้เป็นคนของพรรคพลังประชารัฐ ก็อาจจะเกิดความขัดแย้งและการไม่ยอมรับจากพรรคฝ่ายค้านหรือกลุ่มต่างๆ และอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งรอบใหม่ ซึ่งไม่มีใครอยากเห็นหรืออยากให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
อยากให้การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของความปรองดองสร้างความสมานฉันท์มากกว่าการเกิดความขัดแย้งตั้งแต่จุดเริ่มต้น จึงอยากจะเรียกร้อง ให้พรรคพลังประชารัฐพิจารณาให้รอบคอบ ขอให้เห็นแก่บรรยากาศทางการเมืองและการขับเคลื่อนของคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ จะได้ทำงานให้เป็นไปด้วยความราบรื่นประสบความสำเร็จตามที่ทุกฝ่ายในสังคมคาดหวังไว้
“ปิยบุตร”เสนอตัวแย้ม”ธนาธร”คิดร่วมด้วย
ที่พรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่(อนค.) กล่าวว่า สิ่งสำคัญในตอนนี้คือการตั้ง กมธ.ให้ได้ก่อน ถ้าประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญถูกเปลี่ยนไปโฟกัสว่าใครเป็นประธานฯ สังคมก็อาจจะคลางแคลงใจว่าไม่มุ่งเน้นประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไปถกเถียงตีกันว่าใครจะเป็นประธานฯ เราควรทำให้กมธ.ชุดนี้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อผลักดันในนามของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ที่จะทำให้สังคมเข้าใจว่าเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หากเราหาฉันทามติร่วมกันได้ก็จะเป็นผลงานร่วมกัน ที่เห็นพ้องต้องกันว่าจะแก้ในประเด็นใดบ้าง และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็จะถูกแรงกดดันว่าต้องเอาด้วย
“ในพรรค อนค. ยังไม่ได้ตกลงกันอย่างชัดเจน ต้องยอมรับว่าที่ผมมาเป็นส.ส.ก็เพื่อเข้ามาผลักดันเรื่องกฎหมาย และการแก้รัฐธรรมนูญ คิดว่าจะเสนอตัวเองเข้าไปนั่งใน กมธ.ชุดนี้ด้วย ส่วนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนค. ก็กำลังคิดจะที่จะเข้าร่วมด้วย แต่ยังติดภารกิจที่ปรึกษา กมธ.งบประมาณฯ อยู่” นายปิยบุตร กล่าว
“อนุดิษฐ์”ไม่เห็นด้วย “อภิสิทธิ์” นั่งประธานกมธ.
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ถึงสัดส่วนการจัดกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.) ไปศึกษาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า เท่าที่ทราบฝ่ายรัฐบาลเสนอมาที่ 49 คน แบ่งเป็นสมาชิกส.ส.37คน คณะรัฐมนตรีอยู่ที่12 คน พรรคฝ่ายค้าน 19 คนและฝ่ายรัฐบาลได้18 คน ซึ่งทางฝั่งรัฐบาลเสนอเข้ามาแต่ทางฝ่ายค้านยังไม่ได้ตกลง
ขณะที่น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง กรณีที่นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าการจัดสรรส่วนอาจเพิ่มขึ้นเป็น 50 คน ว่า เห็นว่า 49 คนก็เหมาะสมแล้ว ส่วนใครจะนั่งเป็นประธานกมธ.ชุดดังกล่าวจะอยู่ที่ฝั่งรัฐบาลเป็นคนเลือกเพราะมีจำนวนมากกว่า
พร้อมกันนี้น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคพลังประชารัฐไม่เห็นด้วยกับการให้ นายอภิสิทธิ์ เป็นประธานในกมธ.ชุดดังกล่าว ว่า เรื่องนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของสมาชิกพรรค ซึ่งการเลือกประธานกมธ.เป็นหน้าที่ของสมาชิกในที่ประชุมกมธ.