People Unity News : “เพื่อไทย” อัดรัฐออกนโยบายเอื้อเจ้าสัวกังขาประกันรายได้เกษตรกรหรือประกันกำไรบริษัทเอกชน ชี้เปรี้ยงเกษตรเคมีแปลงใหญ่ล้วนจ้างคนจนพ่นยาฆ่าหญ้าตายผ่อนส่งแทนกลุ่มทุนควรไถ่บาป ขณะที่อดีตรัฐมนตรีช่วยคลังจวกวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐไม่เหมือนมนุษย์ปกติ
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส. พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า นโยบายประกันราคาสินค้าการเกษตรที่รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายหลักในการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่ไม่ตอบโจทย์ และไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้จริง ที่ผ่านมาเคยใช้แล้วไม่ประสบความสำเร็จเพราะเกษตรกรไม่สามารถขายพืชผลทางการเกษตรได้ในราคาที่เป็นธรรม วิธีการดี เพราะการที่รัฐไปกำหนดราคาประกันราคาสินค้าเกษตร เพื่อสร้างความมั่นใจให้เกษตรกรว่าหากขายพืชผลต้องได้ตามราคาที่รัฐกำหนด เพราะหากขายพืชผลต่ำกว่าราคาประกันรัฐจะไปอุดหนุนราคาสินค้าให้เกษตรกร นโยบายดังกล่าวรัฐต้องใช้งบประมาณสูงมาก เพราะยากมากและไม่มีทางเป็นได้ว่าพ่อค้าจะกำหนดราคารับซื้อเท่ากับราคาประกัน ทางแก้ควรรัฐปล่อยให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนดราคาสินค่าจะดีที่สุด
นายนิยม กล่าวด้วยว่า กรณีของข้าว มีการกำหนดการช่วยเหลือที่ไม่เป็นธรรม เพราะข้าวหอมมะลิก่อนที่จะมีการประกาศราคาขายตันล่ะ 15,000-16,000 บาท แต่ภายหลังประกาศราคาประกันที่ตันล่ะ 15,000 บาท ส่งผลให้พ่อค้ากดราคารับซื้อข้าวจากเกษตรกรทันทีโดยอ้างข้าวมีความชื้น ส่งผลให้เกษตรกรขายข้าวไม่ได้ราคา โดยพ่อค้าจะให้เกษตรกรไปรับเงินชดเชยจากรัฐแทน นอกจากนี้บางพื้นที่มีการกดราคารับซื้อข้าวที่ตันล่ะ 9,000 บาทเท่านั้น จากนโยบายที่ประกาศออกมานั้น ไม่เป็นธรรมในหลายพื้นที่ เพราะข้าวหอมมะลิที่ปลูกมากที่ภาคเหนือและอีสาน ปลูกได้ปีละครั้ง รัฐบาลรับประกันที่ 14 ตัน แต่ข้าวขาวที่ปลูกมากพื้นที่ภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่พรรคร่วมรัฐบาลมีการประกันราคาที่ 30 ตันและปลูกได้ 2 ครั้ง นโยบายที่ประกาศออกมาไม่เป็นธรรมกับเกษตรกรทั่วประเทศ
“นโยบายประกันราคา เป็นนโยบายที่เปิดโอกาสให้พ่อค้าผู้ส่งออกเป็นผู้กำหนดราคาประกันมากกว่า เพราะผู้ส่งออกจะให้รัฐตั้งราคาประกันต่ำเพื่อซื้อสินค้าในราคาถูก โดยเฉพาะข้าวก่อนนำข้าวไปส่งออกในราคาสูงเพื่อทำกำไร นโยบายประกันรายได้เกษตรกรเป็นนโยบายที่ดูดีแต่ผู้ส่งออกชอบได้ต้นทุนรับซื้อที่ต่ำแล้วส่งไปขายแพง ทำกำไรให้ผู้ประกอบการได้เป็นกอบเป็นกำ ดังนั้นเป็นนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่รัฐออกมาเพื่อช่วยผู้ส่งออกมากกว่าช่วยเกษตรกร”
ชี้เปรี้ยงเกษตรเคมีแปลงใหญ่ล้วนจ้างคนจนพ่นยาฆ่าหญ้าตายผ่อนส่งแทนกลุ่มทุนควรไถ่บาป
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นประเด็นการแบน 3 สารเคมีร้ายแรงการเกษตร ที่ยังเป็นประเด็นร้อนแรงที่ประชาชนติดตามจนถึงปัจจุบัน โดยขอให้ความเห็นใน 4 ประเด็น ดังนี้
1. สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน มีมติเป็นเอกฉันท์ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562 มีมติตั้ง กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ครั้งที่สอง วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 เห็นชอบกับรายงานผลการศึกษา พร้อมข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของ กมธ.ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ ซึ่ง 1 ในข้อสังเกตสำคัญของ กมธ.คือ การแบน 3 สารเคมีร้ายแรงทางด้านการเกษตรดังกล่าว การไม่ใช้สารเคมีชนิดใดมาทดแทน การดูแล เยียวยาเกษตรกรในระยะเปลี่ยนผ่าน เพื่อเปลี่ยนผ่านจากเกษตรเคมี สู่เกษตรปลอดภัย และเป็นเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืนในที่สุด
จะเห็นได้ว่า มติเอกฉันท์ของสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองครั้งดังกล่าว ล้วนแสดงเจตนารมณ์ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง นี่คือ เสียงสะท้อนจากตัวแทนประชาชนทั่วประเทศ ที่รัฐบาล คณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคเอกชน ควรรับฟังเสียงดังกล่าว แล้วนำไปปฏิบัติ แม้ในระยะเปลี่ยนผ่านจะมีปัญหา อุปสรรค ซึ่งก็เหมือนกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในทุกประเทศ แต่หากคำนึงถึงเป้าหมายเพื่อสุขภาพอนามัยของประชาชนโดยภาพรวม ก็ต้องร่วมใจกันฟันฝ่าไปสู่เป้าหมายนั้น
2. ในข้อเท็จจริง เกษตรเคมีแปลงใหญ่ เกือบร้อยละร้อย เจ้าของที่ดินแปลงใหญ่มิได้พ่นยาฆ่าหญ้าด้วยตนเอง ล้วนจ้างคนจนไปตายผ่อนส่งแทนเกือบทั้งสิ้น หากกลุ่มทุนดังกล่าว เปลี่ยนวิธีคิด จากจ้างคนจนพ่นยาฆ่าหญ้า หันมาส่งเสริม SME ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรในการกำจัดวัชพืช ซึ่งมีนวัตกรรมใหม่ที่คนไทยผลิตได้ ก็จะเกิดการจ้างงานอีกหลายกลุ่ม ทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค ก็จะปลอดภัยจากสารพิษร้ายแรง ไม่นับกับการใช้สารชีวภัณฑ์ ฯลฯ และทางเลือกอื่น ๆ ทดแทนการใช้สารเคมี
3. สำหรับเกษตรกรรายย่อย และผู้รับจ้างพ่นยาฆ่าหญ้า ผมเคย ถามว่า รู้ไหมว่าอันตราย เขาตอบว่ารู้ แต่ด้วยความจน จำเป็นต้องทำ เพื่อเลี้ยงลูก เมีย ครอบครัว เขาไม่กลัวตาย ขอให้มีกินก่อน แต่พอบอกว่า สารพิษดังกล่าว จะไปสู่ลูก หลาน โดยเฉพาะเด็กเกิดใหม่มีสถิติการเป็นออทิสติก สติปัญญาต่ำมากขึ้น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ เขาหยุดฟัง และพร้อมจะเลิก สรุปในประเด็นนี้ คือ คนจนไม่กลัวตาย ขอให้มีกิน แต่ถ้ารู้ว่า ผลกระทบถึงลูก หลาน หยุดได้ รักลูก หลาน
มากกว่าตนเอง
ในประเด็นนี้ ผมขอฝากข้อคิดมายังเกษตรกรรายย่อยว่า ควรเปลี่ยนวิธีคิดในการทำการเกษตร ห้นมาให้ความสำคัญกับสุขภาพอนามัยของตนเอง ครอบครัว ประชาชนผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ สิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจตีค่าเป็นตัวเงินได้ ถ้า “ในน้ำบ่มีปลา ในนามีแต่ พาราควอต” เราจะหากุ้ง หอย ปู ปลา มาเป็นอาหารในคร้วเรือนทุกวัน ๆเหมือนในอดีตได้อย่างไร
4. สำหรับกลุ่มทุน จะโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม ผลิตภัณฑ์ของท่านทำให้คนไทยตายผ่อนส่งมาช้านานแล้ว ท่านควรไถ่บาป อย่างน้อยหยุดม็อบ หยุดก่อความวุ่นวาย
ท่านควรให้ความร่วมมือกับทางราชการ แล้วนำความร่ำรวยที่ได้ไปกลับมาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ในลักษณะกองทุนดูแลสิ่งแวดล้อม และกองทุนเยียวยาเกษตรกรที่เจ็บป่วยจากการใช้สารเคมี
ขอเรียนในท้ายที่สุดว่า การทำงานของผม และของ กมธ.ไม่มีประโยชน์อื่นใดแอบแฝง ไม่ใช่แบนสารตัวนี้ แล้วเปิดช่องให้ใช้สารตัวอื่นทดแทน แต่เป้าหมายของผมและ กมธ. คือ การพัฒาการเกษตรของไทยไปสู่เกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลกอย่างสมภาคภูมิ ผมมั่นใจว่า หมดรุ่นผม ก็จะมีคนรุ่นต่อ ๆ มา มารับช่วงต่ออย่างไม่ขาดสาย เพราะใคร ๆ ก็รักตนเองรักครอบครัว และรักประชาชน เพราะเราเป็นผู้แทนประชาชน
อดีตรัฐมนตรีช่วยคลัง จวกวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐไม่เหมือนมนุษย์ปกติ
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทยและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มองสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้เป็นเรื่องน่าหนักใจ มีโอกาสพูดคุยกับผู้ประกอบการรายย่อย พบว่าต้องเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด และยังมองไม่เห็นทางรอด ขณะเดียวกันเห็นว่ามาตรการของรัฐยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากพอ เพราะสิ่งที่รัฐดำเนินการเป็นวิธีเก่าไม่สอดคล้องกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น พร้อมมองว่าการที่รัฐบาลไม่ยอมรับปัญหาทางเศรษฐกิจ จะไม่เกิดประโยชน์กับการทำงาน หากเป็นธุรกิจภายในครอบครัวคงไม่มีผู้ใดไปท้วงติง แต่ที่ดำเนินการอยู่คือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องหันกลับมายอมรับความจริง และรับฟังความคิดความเห็นที่สะท้อน ไปยังรัฐบาลเพื่อนำกลับมาแก้ไขปัญหา
นายทนุศักดิ์มองว่าการปรับคณะรัฐมนตรีจะไม่เกิดประโยชน์ หากหัวหน้าทีมเศรษฐกิจยังเป็นคนเดิม เมื่อหัวหน้าทีมเศรษฐกิจไม่ถูกปรับเปลี่ยน ก็ไม่สามารถเกิดสิ่งใหม่ได้ ส่วนมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่หากรัฐพร้อมยอมรับ เชื่อว่าจะสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะเมื่อไปดูหลายประเทศทั่วโลกที่ต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ ยังสามารถเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นหากไทยไม่ต้องการเป็นประเทศที่ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ จะต้องหันกลับมาคิดใหม่เพราะวิธีการแบบเดิม ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นได้
นายทนุศักดิ์ระบุด้วยว่าวิธีการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้สะท้อนไปยังรัฐบาลทุกสัปดาห์แต่รัฐบาลกลับนิ่งเฉย ปัญหาจึงรุนแรงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร และมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นรุนแรงกว่าที่ผ่านมา เพราะจากในอดีต ผลผลิตเยอะราคาต่ำรัฐเข้าไปช่วยเหลือ แต่ปัจจุบันผลผลิตน้อย ราคากลับตกต่ำ
นายทนุศักดิ์ ย้ำด้วยว่าปัญหาคนว่างงาน โรงงานปิดกิจการเพิ่มมากขึ้น ทุกคนในสังคมมองเห็นและเชื่อว่าคนทั้งหมดเข้าใจว่าจำเป็นต้องแก้ไข แต่รัฐบาลกลับไม่ยอมรับในสิ่งเหล่านี้ พร้อมตั้งคำถามว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้คิดแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจังหรือไม่ เพราะหลักคิดของรัฐบาลอาจไม่เหมือนมนุษย์ปกติ