People Unity News : แนะ 5 ข้อน่ารู้ไว้ป้องกันก่อนไฟไหม้บ้าน “วันที่เกือบไม่เหลืออะไร” อุทาหรณ์เกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชนในพื้นที่หมู่ 4 ต.บ่อภาค อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 จากเหตุเกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชนในพื้นที่หมู่ 4 ต.บ่อภาค อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประกอบด้วยหลังที่ 1 เจ้าของบ้านชื่อ นายแถว ราชเพียแก้ว บ้านเลขที่ 16 หลังที่ 2 เจ้าของบ้านชื่อนางกันยารัญญ์ แสงปัญญา บ้านเลขที่ 74 ซึ่งทางอำเภอชาติตระการและองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อภาคได้ให้ช่วยเหลือเบื้องต้นนั้น ทางเพจอำเภอชาติตระการ (https://www.facebook.com/Chattrakantown/)ได้แจงเลขที่บัญชีรับความช่วยเหลือจากประชาชนทั่วไปด้วย

พร้อมกันนี้เพจอำเภอชาติตระการได้ แนะ 5 ข้อน่ารู้ไว้ป้องกันก่อนไฟไหม้บ้าน”ในวันที่เกือบไม่เหลืออะไร”

ไฟไหม้บ้านเป็นฝันร้ายที่สุดในชีวิตของคนเราเลยก็ว่าได้ เพราะเพลิงไฟลุกเผาบ้านเพียงครั้งเดียวก็พาให้วอดวายไม่เหลืออะไรเลย และถ้าเลือกได้ก็คงไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์น่าสลดใจแบบนี้เกิดขึ้นกับตัวเองแน่ ๆ ดังนั้นมาเรียนรู้วิธีป้องกันไฟไหม้บ้านอย่างปลอดภัยตามนี้กันดีกว่า รอบคอบไว้ก่อน จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าขึ้นครับ

1. เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง

ต้องยอมรับว่าสาเหตุของเพลิงไหม้เกิดจากการกระทำของคนในบ้านเองอยู่บ่อยครั้ง เช่น สูบบุหรี่บนโซฟาผ้า หรือบนเตียงนอน เก็บวัตถุไวไฟไว้ในที่ที่ไม่ปลอดภัย จนเด็กสามารถหยิบมาเล่นได้ง่าย ๆ รวมทั้งการหุงต้มอะไรทิ้งไว้นาน ๆ และการลืมถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ก็ควรเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ให้หมด และหมั่นตรวจสอบความเรียบร้อยทุกบริเวณ ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง

2. ป้องกันไฟในห้องครัว

ห้องครัวเป็นจุดเสี่ยงที่สุดในบ้าน เพราะมีเตาไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สามารถก่อประกายไฟได้อยู่หลายชิ้น ทั้งเตาไมโครเวฟ เตาอบ หม้อหุงข้าว เป็นต้น ฉะนั้นจึงต้องดูแลส่วนนี้กันเป็นพิเศษ ไม่ควรปล่อยให้เตามีคราบอาหารหรือน้ำมันเกาะติด เพื่อป้องกันประกายไฟจากเตากระเด็นมาโดนจนเกิดเพลิงไหม้ นอกจากนี้เวลาทำครัวก็ควรจะใส่เสื้อผ้ากระชับตัว ไม่สวมเสื้อผ้ารุ่ยร่าย ส่วนบริเวณเตาก็อย่าแขวนผ้ากันเปื้อน หรือวางวัตถุไวไฟไว้ใกล้ ๆ ด้วย อีกทั้งหากมีเด็กเล็กอยู่ในบ้านก็ต้องสอนเขาให้ไม่มาเล่นในครัว หรือทางที่ดีก็ควรซื้อถังดับเพลิงและเรียนรู้วิธีใช้ถังดับเพลิงเอาไว้ก็ยิ่งดีค่ะ

3. ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง

เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดสามารถเป็นตัวการก่อเพลิงไฟได้ทั้งนั้น เราจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้อย่างยิ่งยวด ด้วยการสำรวจความชำรุดของสายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าก่อนการใช้งาน ไม่ควรใช้ปลั๊กพ่วงเสียบใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าหลาย ๆ ชิ้น พร้อมกัน และก่อนจะใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า ควรตรวจสอบกำลังไฟไม่ให้เกินกำลังไฟภายในบ้านด้วย นอกจากนี้ก็ไม่ควรเก็บซ่อนปลั๊กไฟ หรือปลั๊กพ่วงเอาไว้ใต้พรมหรือผ้า รวมถึงก่อนออกจากบ้านก็ต้องถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นออกให้หมด โดยเฉพาะถ้าหากพบว่าปลั๊กไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดไหนที่มักจะร้อนจัด ๆ ก็ต้องเลี่ยงไม่ใช้งาน หรืออย่างน้อย ๆ ก็ต้องนำไปเช็กสภาพการใช้งานที่ศูนย์ด้วย

4. ติดตั้งเครื่องตัดไฟ

นอกจากเครื่องตรวจจับควันไฟ ก็ควรติดตั้งเครื่องตัดไฟเอาไว้ในบ้านด้วย เผื่อกรณีที่เกิดไฟฟ้าลัดวงจรโดยที่เราไม่รู้ตัว เครื่องตัดไฟก็จะสามารถตัดกระแสไฟทั้งหมดในบ้านได้ทัน ก่อนที่จะเกิดเหตุเพลิงไหม้ สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลให้กับบ้านของเรา รวมทั้งควรติดตั้งสายดินภายในบ้านเพื่อป้องกันเพิ่มขึ้นอีกชั้น

5. ระบายอากาศในบ้าน

หากในบ้านมีอากาศร้อนอบอ้าว ก็อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดไฟไหม้ได้เช่นกัน ฉะนั้นจึงต้องหาทางระบายความร้อนให้บ้านมีอากาศปลอดโปร่ง เช่น ติดตั้งพัดลมระบายอากาศ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรปิดหน้าต่างและประตูจนมิดชิดเกินไป และควรติดระบบระบายอากาศบนฝ้าเพดานเพิ่มเข้าไปเพื่อความปลอดภัยให้มากขึ้น

เสียเวลาตรวจสอบความเรียบร้อยของบ้านสักนิดก่อนออกไปข้างนอก และลงทุนติดตั้งเครื่องป้องกันไฟไหม้เอาไว้ในบ้านบ้างก็ดี โดยเฉพาะถ้าหากคุณจำเป็นต้องทิ้งบ้านไปไหนไกล ๆ ก็ควรฝากบ้านไว้กับเพื่อนบ้าน ให้เขาช่วยสอดส่องดูแลในระหว่างที่ไม่อยู่ด้วย