People unity news online : เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2560 เวลา 11.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 30 ช่วงการประชุมเต็มคณะ (Plenary) ณ ห้องประชุม Reception Hall, PICC กรุงมะนิลา โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณประธานาธิบดี โรดรีโก โรอา ดูแตร์เต ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และขอแสดงความยินดีกับฟิลิปปินส์ในการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ซึ่งเป็นวาระอันดีที่อาเซียนก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 จึงเป็นโอกาสดีที่จะมาทบทวนอย่างจริงจังว่า ประชาคมอาเซียนจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไรให้มั่นคงและยั่งยืน เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนทั่วทั้งภูมิภาค ท่ามกลางความคาดหวังมากยิ่งขึ้นจากประชาคมอาเซียน และจากบทเรียนของสถานการณ์การแยกตัวของสหราชอาณาจักรในสหภาพยุโรป เพื่อเสริมสร้างอาเซียนให้เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างเข้มแข็งและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ในการก้าวไปข้างหน้าตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ.2025 ทุกประเทศต้องเร่งปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่ เพื่อมุ่งหน้าไปสู่การเป็นประชาคมที่ส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ และเชื่อมโยงอย่างสร้างสรรค์กับประชาคมโลก นายกรัฐมนตรีจึงมองว่าอาเซียนควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังต่อไปนี้
ประการแรก อาเซียนควรมีพลวัต นวัตกรรม และเชื่อมโยงอย่างสร้างสรรค์กับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและกับโลก อาเซียนควรให้ความสำคัญกับปัจจัยที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมวิสาหกิจเกิดใหม่ (start-ups) การเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งไทยกำลังดำเนินการภายในประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 นอกจากนี้ การพัฒนาและสร้าง ASEAN branding สำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้น อาเซียนควรมีระบบและมาตรฐานการจัดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นการเฉพาะให้กับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย เพื่อเพิ่มโอกาสสำหรับธุรกิจดังกล่าวในการขอสินเชื่อและการขยายโอกาสในตลาดทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค
ประการที่สอง อาเซียนควรเพิ่มความเข้มแข็งภายในและสร้างภูมิคุ้มกันจากภัยคุกคามต่างๆ โดยเฉพาะจากภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ เป็นที่น่ายินดีที่อาเซียนมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ซึ่งได้มีการรับรอง Roadmap เมื่อปีที่แล้ว อีกทั้งอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ (ACTIP) ได้มีผลใช้บังคับแล้ว อย่างไรก็ตามยังมีอีก 3 เรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป คือ (1) การจัดระบบความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดน โดยมีระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข่าวกรองอย่างมีประสิทธิภาพ (2) การส่งเสริมศักยภาพของอาเซียนในการเผชิญหน้ากับความท้าทายจากการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่ง โดยดำเนินมาตรการทางด้านการพัฒนาควบคู่กับการต่อต้านการก่อการร้ายด้วยการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับแนวทางสายกลางความรู้และความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาและชาติพันธุ์ ตลอดจนการแก้ไขที่รากเหง้าของปัญหาทั้งความยากจน การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการได้รับความไม่เป็นธรรม อีกทั้งการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์โดยการตั้งศูนย์ไซเบอร์อาเซียนซึ่งไทยพร้อมที่จะจัดการประชุมระดมสมองภายในอาเซียน โดยร่วมมือกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาค (3) การดำเนินการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเป็นระบบ ตามโครงการระบบโลจิสติกส์ของการปฏิบัติการด้านการบรรเทาทุกข์และการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินของอาเซียนโดยใช้ประโยชน์จากศูนย์สำคัญๆในภูมิภาค เช่น ศูนย์การแพทย์ทหารอาเซียนและศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย
ประการที่สาม อาเซียนควรเน้นการพัฒนาไปสู่ประชาคมที่ส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและได้ประโยชน์จากอาเซียนโดยอาเซียนควรร่วมมือกันในระดับภูมิภาคมากยิ่งขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างหุ้นส่วนกับประเทศนอกภูมิภาคและองค์การระหว่างประเทศ เพื่อจัดทำโครงการที่เป็นรูปธรรม อาทิเช่น การรักษาสิ่งแวดล้อมภายในภูมิภาคและการส่งเสริมการเจริญเติบโตสีเขียว การส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรี เป็นต้น
ประการที่สี่ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าอาเซียนต้องเตรียมความพร้อมในทุกมิติของสังคมสำหรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยของอาเซียนอย่างมีศักยภาพ โดยอาเซียนควรส่งเสริมให้มีศูนย์สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องในลักษณะของ ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation
People unity news online : post 30 เมษายน 2560 เวลา 13.10 น.