People Unity News : 24 มกราคม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนอย่าหลงเชื่อกรณีการส่งต่อข้อมูลบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับปลาเหล็กและกระทะเหล็กช่วยเพิ่มธาตุเหล็กจากการปรุงประกอบอาหาร เนื่องจากยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันแก้ไขปัญหาโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ชี้ร่างกายควรได้รับธาตุเหล็กจากการกินอาหารที่มีสารอาหารครบในปริมาณที่เพียงพอ และวิตามินตามคำแนะนำของแพทย์
ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีการส่งต่อข้อมูลบนโลกออนไลน์ เกี่ยวกับปัญหาการขาดธาตุเหล็ก โดยมีข้อมูลงานวิจัยที่ระบุว่าการนำปลาเหล็กลงไปร่วมปรุงประกอบอาหาร เพื่อจะช่วยเพิ่มธาตุเหล็กในอาหารนั้น จากข้อมูลเชิงวิชาการพบว่า ปลาเหล็กที่ได้รับการเตรียมตามสูตรดังกล่าว (Lucky Iron Fish) สามารถให้ธาตุเหล็กเมื่อต้มในน้ำเดือดได้จริง แต่ผลจากการวิจัยชี้ให้เห็นว่า การดูดซึมและการที่ร่างกายนำธาตุเหล็กไปใช้ (Iron Bioavailability) น้อยมาก เมื่อเทียบกับการได้รับวิตามินเสริมธาตุเหล็ก Ferrous Sulfate จึงไม่พบการเพิ่มขึ้นของระดับเฟอร์ริติน (Ferritin) ที่เป็นโปรตีนที่จับกับธาตุเหล็กในเม็ดเลือดแดง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดธาตุเหล็กหรือโรคโลหิตจางได้ ดังนั้น ปลาเหล็กจึงไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการป้องกันแก้ไขปัญหาโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า มีการส่งต่อข้อมูลการขายสินค้ากระทะเหล็ก ที่อวดอ้างสรรพคุณว่ามีธาตุเหล็กและช่วยเพิ่มธาตุเหล็กในอาหาร ถือเป็นการโฆษณาเกินจริง เพราะยังไม่มีงานวิจัยใดสามารถยืนยันได้ สาเหตุหลักที่ผู้ปรุงอาหารนิยมนำกระทะเหล็กมาใช้ปรุงประกอบอาหาร เพราะร้อนเร็ว ให้ความร้อนสูง ใช้เวลาในการปรุงอาหารน้อย และยังทำให้อาหารสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการน้อยลง แต่ข้อเท็จจริงคือ ความร้อนสูงที่ใช้ในการปรุงจะทำให้อาหารไขมันสูงบางชนิดก่อให้เกิดสารเคมีที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หากไม่ระวังให้ดี การปรุงอาหารด้วยกระทะเหล็กอาจทำให้อาหารไหม้ได้ง่าย ดังนั้น การปรุงอาหารด้วยกระทะเหล็กจะดีต่อสุขภาพหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะอาหารหรือวัตถุดิบที่ใช้ ปริมาณ และชนิดของน้ำมันที่ใช้ในการปรุงอาหารอีกด้วย
ดร.นพ.สราวุฒิ กล่าวต่อไปว่า การขาดธาตุเหล็กส่วนใหญ่ก็มักจะเกิดกับผู้หญิง สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการมีประจำเดือน และในกลุ่มคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ร่างกายต้องการธาตุเหล็กเพื่อนำมาสร้างเม็ดเลือดแดง โดยสามารถสังเกตอาการของการขาดธาตุเหล็ก คือ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ตัวซีด เปลือกตาด้านในซีด เจ็บป่วยง่าย เนื่องจากเลือดไม่มีธาตุเหล็กเพียงพอ ซึ่งนำไปสู่ภาวะโลหิตจาง ข้อมูลจากการสำรวจด้านโภชนาการของเด็กในภูมิภาคเอเชีย Southeast Asian Nutrition surveys (SEANUTS) ปี 2554-2555 พบว่าเด็กไทยอายุ 6 เดือน-12 ปี มีความชุกภาวะโลหิตจางร้อยละ 10.4 โดยพบความชุกในเขตชนบทสูงกว่าเขตเมืองถึง 2 เท่า และจากรายงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย
ครั้งที่ 5 พ.ศ.2556-2557 พบความชุกโลหิตจางในกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 15-45 ปี ร้อยละ 22.7 รวมถึงข้อมูลจากระบบคลังสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข ยังพบความชุกโลหิตจางในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่ ปี 2562-2564 พบร้อยละ 16.4, 15.1 และ 14.6 ตามลำดับ
“การส่งเสริมสุขภาพในทุกกลุ่มวัย มีผลต่อการพัฒนาศักยภาพของประชากรไทยในระยะยาว กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงเร่งดำเนินงานแก้ไข ผลักดันนโยบายและรูปแบบการบริการต่างๆ เพื่อให้หญิงไทยได้รับการส่งเสริมภาวะโภชนาการป้องกันภาวะโลหิตจาง โดยตั้งแต่ปี 2562-2564 เด็กอายุ 6 เดือน-5 ปี ได้รับยาน้ำเสริมธาตุเหล็กร้อยละ 47.28, 62.77 และ 70.57 ตามลำดับ และตั้งแต่ปี 2562-2564 เด็กอายุ 6-12 ปี ได้รับยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก ร้อยละ 43.20, 32.51 และ 30.02 ตามลำดับ นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ยังได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีน ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิก ร้อยละ 75.89, 79.46 และ 80.61 ตามลำดับ รวมทั้งการส่งเสริมพฤติกรรมการกินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ 1) เนื้อสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะเนื้อแดง เลือด ตับ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง ปลา เป็ด ไก่ และอาหารทะเล 2) ธัญพืช เช่น ซีเรียล ข้าวโอ๊ต จมูกข้าวสาลี แป้ง และถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ เป็นต้น และ 3) ผักใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า ตำลึง ผักโขม ผักบุ้ง บรอกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น และควรกินผลไม้ที่เป็นแหล่งของวิตามินซี เช่น ส้ม ฝรั่ง มะละกอ สตรอว์เบอร์รี ส้มโอ กีวี เป็นต้น ร่วมกับอาหารในมื้อนั้น จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้ได้ง่ายขึ้น” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว
Advertisement