วันที่ 23 พฤศจิกายน 2024

“พล.อ.ประวิตร“ ลงใต้ กำชับบริหารน้ำทั้งระบบกันน้ำท่วม-แล้งไปพร้อมกัน

People Unity News : 13 มีนาคม 2566 “พล.อ.ประวิตร“ ลงใต้ เร่งติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำ ย้ำต้องดูทั้งระบบ ป้องกันทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้ง ทักทายประชาชนอย่างอารมณ์ดี พร้อมรับฟังปัญหา

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ เดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ ที่ จ.ชุมพร จ.ระนอง และ จ.สุราษฎร์ธานี ติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาพื้นที่และรับฟังความเดือดร้อนประชาชน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ให้การต้อนรับ ณ ศาลาอเนกประสงค์พรุเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

พล.อ.ประวิตร รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ภาพรวม พัฒนาการแผนงานและโครงการน้ำในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ปี 2561-2565 คืบหน้า 870 โครงการ ใช้งบประมาณ 4,469.40 ล้านบาท ประชาชนได้รับประโยชน์ 45,687 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับประโยชน์ 92,101 ไร่ ป้องกันความเสียหายได้ 15,975 ไร่ และอยู่ระหว่างดำเนินโครงการสำคัญ 6 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองสีสุก คลองลิปะใหญ่ ระบบป้องกันน้ำท่วม ตลาดไชยา ชุมชนเชิงมนต์ ชุมชนเฉวง และชุมชนวัดประดู่ ติดตามโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนบางรัก และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมพรุเฉวง จ.สุราษฎร์ธานี

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอให้ สทนช. และส่วนราชการจังหวัด ให้ความสำคัญกับพื้นที่เกิดน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายของชุมชนที่ผ่านมา โดยให้เร่งขับเคลื่อนแผนงานโครงการในพื้นที่เสี่ยงที่ประสบปัญหาน้ำท่วม บริเวณ ต.ท่าอุแท ต.ปากแพรก ต.ไชยคราม ต.สมอทอง ต.เขานิพนธ์ ต.พรุพี และ อ.บ้านนาสาร อ.พุนพิน อ.คีรีรัฐนิคม อ.บ้านขุนตาล และ อ.ดอนสัก พร้อมขอให้เร่งรัดกำกับโครงการชุมชนบางรัก ระยะที่ 1 การพัฒนาแหล่งน้ำทุ่งจอ การก่อสร้างสถานีสูบน้ำสหกรณ์นิคมนครพนม และการขยายระบบประปา ต.เกาะพะงัน ให้เป็นไปตามแผน เพื่อลดผลกระทบความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยของจังหวัดในภาพรวม ทั้งนี้ ให้เตรียมการ 10 มาตรการ รองรับฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำบริโภคกับประชาชนในฤดูแล้งไปพร้อมกัน

พล.อ.ประวิตร กล่าวทักทายพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างอารมณ์ดีและเป็นกันเอง พร้อมรับฟังปัญหาจากประชาชนโดยตรง

Advertisement

รัฐบาลพร้อมส่งเสริม “มวยไทย” ต่อยอดเป็น Soft Power โดดเด่น

People Unity News : 6 มีนาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย “มวยไทย” ได้รับความนิยมต่อเนื่อง หลายหน่วยงานให้การรับรองและบรรจุเป็นชนิดกีฬาในเวทีระดับสากล พร้อมส่งเสริม พัฒนาต่อยอดเป็น Soft Power ที่โดดเด่นของไทย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า “มวยไทย” ศิลปะการต่อสู้และการป้องกันตัวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของประเทศไทย ได้รับการบรรจุเป็นชนิดกีฬาในการแข่งขัน European Games 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศโปแลนด์ ระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2566 นี้ สะท้อนความนิยมของมวยไทยในระดับสากล และเป็นความก้าวหน้าสำคัญในการผลักดันมวยไทยเป็น Soft Power ตามนโยบายส่งเสริม Soft Power 5 หมวด (5F) ของรัฐบาล ต่อยอดเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการโอลิมปิกยุโรป (The European Olympic Committees: EOC) ประกาศบรรจุมวยไทยเป็นชนิดกีฬาในการแข่งขัน European Games 2023 อย่างเป็นทางการ โดยเห็นว่า มวยไทยเป็นหนึ่งในกีฬาต่อสู้ที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในโลกทั้งในแง่ของนักกีฬาและผู้ชม รวมถึงเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป จึงได้บรรจุมวยไทยเป็นชนิดกีฬาในการแข่งขันฯ อย่างเป็นทางการ โดยจะมีการแข่งขันประเภทชาย 7 รุ่น ประเภทหญิง 7 รุ่น และประเภททีมผสม ซึ่งก่อนการแข่งขันหรือขึ้นชก นักกีฬาจะมีการรำไหว้ครูตามประเพณีของมวยไทยด้วย

นอกจากนี้ “มวยไทย” ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของประเทศไทย ยังได้รับการรับรองจากองค์กรกีฬาที่มีชื่อเสียง อาทิ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee: IOC) และล่าสุด คณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกา (The United States Olympic & Paralympic Committee: USOPC) ได้รับรองมวยไทยเป็นชนิดกีฬาใหม่ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา

“นายกรัฐมนตรียินดีกีฬามวยไทยได้รับความสนใจและชื่นชอบจากนานาประเทศทั้งเพื่อการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศ และเป็นอีกกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับความสนใจและชื่นชอบจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภูมิใจที่มวยไทยได้รับการรับรองและบรรจุเป็นชนิดกีฬาในเวทีการแข่งขันระดับสากลอย่างต่อเนื่อง สะท้อนความสำเร็จตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันส่งเสริมและผลักดันมวยไทย ให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล พร้อมพัฒนาต่อยอดเป็น Soft Power ที่มีศักยภาพของประเทศ สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้ประเทศ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

ครม.เห็นชอบปรับปรุงแผนที่แนวเขตรัฐ One Map กลุ่ม 3 จำนวน 11 จังหวัด

People Unity News : 28 กุมภาพันธ์ 2566 ครม.เห็นชอบปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 One Map กลุ่ม 3 จำนวน 11 จังหวัด จัดสรรที่ทำกิน-ลดความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน ให้ยึดเส้นแนวเขตของ ส.ป.ก.

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map พื้นที่กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ สระแก้ว สุรินทร์ อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ และ เลย (ยกเว้นกรณีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี) และให้หน่วยงานที่มีที่ดินอยู่ในความรับผิดชอบปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map โดยใช้แผนที่ One Map ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบแล้วแทนแผนที่แนบท้ายกฎหมาย และใช้เป็นแนวเขตที่ดินของรัฐตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน และมีแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจขึ้นกับประชาชนให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 65 ที่ให้นำไปใช้กับทุกกลุ่มจังหวัดเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน และที่ประชุม ครม. ยังรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นกรณีเร่งด่วน

“การปรับปรุงแผนที่ One Map เป็นการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินเพื่อให้มีแนวเขตที่ดินของรัฐที่ถูกต้อง ทันสมัย อยู่บนมาตรฐานแผนที่มาตราส่วน 1 : 4000 ภายใต้แนวความคิด “หนึ่งพื้นที่ หนึ่งหน่วยงานรับผิดชอบ” มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขความขัดแย้งและข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาการกำหนดเขตประเภทที่ดินของรัฐมีความทับซ้อนกัน โดยไทยมีเนื้อที่ประมาณ 320.7 ล้านไร่ แต่จากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า มีที่ดินของรัฐที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานรวมมากถึง 465.08 ล้านไร่ ซึ่งเกิดจากการมีกฎหมายกำหนดแนวเขตประเภทที่ดินของรัฐหลายฉบับและใช้มาตราส่วนในแผนที่แนบท้ายแตกต่างกันทำให้แนวเขตที่ดินทับซ้อนกัน โดยโครงการปรับปรุงแผนที่ One Map แบ่งพื้นที่ออกเป็น 7 กลุ่ม กลุ่มละ 11 จังหวัด เริ่มจาก กทม. และปริมณฑล ซึ่งที่ผ่านมา ครม. ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุง แผนที่ One Map ดังกล่าวไปแล้ว 2 กลุ่ม โดยพื้นที่กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย 11 จังหวัด คือ นนทบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม อ่างทอง สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี และพื้นที่กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย 11 จังหวัด คือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก นครสวรรค์ ระยอง (ยกเว้นกรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด) ลพบุรี ศรีสะเกษ และสระบุรี” น.ส.ทิพานัน กล่าว

สำหรับผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map ในพื้นที่กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด โดยในภาพรวมพบว่า มีพื้นที่ก่อนปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ รวม 89.9 ล้านไร่ ภายหลังปรับปรุงแนวเขตฯ มีพื้นที่ลดลงเหลือ 41.35 ล้านไร่ โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจขึ้นกับประชาชนใช้กับทุกกลุ่มจังหวัดเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น

1.กรณีการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map แล้วปรากฏว่ามีที่ดินของหน่วยงานของรัฐที่จัดสรรให้กับประชาชนตามกฎหมายต่าง ๆ นอกเขตพื้นที่ตามกฎหมาย หรือนอกเขตดำเนินการของหน่วยงานนั้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หากประชาชนที่ได้รับการจัดสรรที่ดินมีข้อโต้แย้ง ให้พิจารณาดำเนินการพิสูจน์สิทธิตามกฎหมาย และหาแนวทางแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม

2.การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลนตามมติ ครม. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 61 โดยมีสาระสำคัญ เช่น เมื่อผ่านการตรวจสอบตามขั้นตอนแล้วว่าเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่เดิมจริง ให้หน่วยงานเจ้าของพื้นที่พิจารณาอนุญาตตามกฎหมายโดยไม่ให้เอกสารสิทธิ และอาจกำหนดเงื่อนไขให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลอนุรักษ์พื้นที่ป่าด้วย

3.การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในเขตที่ราชพัสดุและที่สาธารณประโยชน์ กรมธนารักษ์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการจัดให้เช่า การอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือแนวทางอื่นที่เหมาะสมตามกฎหมาย

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า นอกจากนี้ยังแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรีนั้น การดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map กรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน ให้ยึดเส้นแนวเขตของ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงแผนที่ One Map ข้อ 5.1 และข้อ 6.1 คือ

1.ข้อ 5.1 กรณีป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดินให้ใช้แนวเขต ตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินที่มีแผนงานดำเนินการแล้วเป็นหลัก และกรณี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินทั้งตำบล อำเภอ ที่ ส.ป.ก.ประกาศกำหนดเขตปฏิรูปในภาพรวมทั้งตำบลหรืออำเภอโดยไม่ได้กันบางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ป่าออก มีแนวทางดาเนินการ เช่น ให้ใช้แนวเขตปฏิรูปที่ดินตามแผนที่ที่กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติให้ ส.ป.ก. เป็นต้น

2.ข้อ 6.1  กรณีกรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. และได้มี พ.ร.ฎ.กำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินก่อนการกำหนดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติฯ ให้ใช้แนวเขตปฏิรูปที่ดินเป็นหลัก เว้นแต่เป็นพื้นที่ที่ไม่สมควรนำไปปฏิรูปที่ดิน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 37 ให้ใช้แนวเขตอุทยานแห่งชาติฯ เป็นหลัก “สำหรับกรณีพื้นที่นอกแนวเขตที่กรมป่าไม้ส่งมอบให้ ส.ป.ก. ดำเนินการ แต่อยู่ภายในเขตเส้นปรับปรุงปี 2543 ที่ประชุม มอบหมายให้คณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการ การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน รับเรื่องไปพิจารณาว่าควรใช้แนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมอย่างไรและให้นำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไปเพื่อดำเนินการอย่างเร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ประชาชนประมาณ 300 ราย” น.ส.ทิพานัน กล่าว

Advertisement

“พล.อ.ประวิตร” ยันจะไม่ให้มีพื้นที่ภัยแล้งในอีสานอีก

People Unity News : 24 กุมภาพันธ์ 2566 “พล.อ.ประวิตร” ลงพื้นที่อุดรฯ-หนองคาย-เลย กำชับบูรณาการบริหารจัดการน้ำ 10 มาตรการฤดูแล้งให้เข้มงวด ยันจะไม่ให้มีพื้นที่ภัยแล้งในอีสานอีก

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พร้อมคณะ ตรวจราชการในพื้นที่ จ.อุดรธานี จ.หนองคาย และ จ.เลย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด

โดยช่วงเช้า พล.อ.ประวิตร และคณะ ไปที่โรงเรียนภูพานวิทยา ต.ขอนยูง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี รับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ที่พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือและลุ่มน้ำชี ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการปี 61-65 ประชาชนได้รับประโยชน์ 55,586 ครัวเรือน จากงบกลางปี 65 ได้รับประโยชน์ 1,045 ครัวเรือน งบบูรณาการฯ ปี 66 จะได้รับประโยชน์ 6,955 ครัวเรือน งบตามแผนปฏิบัติการปี 67 ประชาชนจะได้รับประโยชน์ 53,175 ครัวเรือน และโครงการสำคัญอีก 6 แห่ง ประชาชนจะได้รับประโยชน์ 43,500 ครัวเรือน

พล.อ.ประวิตร มอบนโยบายเร่งบูรณาการบริหารจัดการน้ำให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะ 10 มาตรการฤดูแล้ง ให้เข้มงวดตามนโยบาย พร้อมเร่งรัดโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเชียง (ตอนบน) เพื่อช่วยยกระดับความมั่นคงด้านน้ำ ให้ชาวบ้านและเกษตรกรมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดปีอย่างยั่งยืน

พล.อ.ประวิตร พบปะพร้อมรับฟังข้อคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนที่มาให้การต้อนรับจำนวนมากอย่างใกล้ชิด ด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง พร้อมขอถ่ายรูปเซลฟี่กับ พล.อ.ประวิตร เป็นที่ระลึก สร้างความประทับใจให้ชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรม ชูป้ายให้กำลังใจ พล.อ.ประวิตร และสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีของคนอีสาน ซึ่งพล.อ.ประวิตร ยืนยันกับชาวบ้านว่าจะไม่ให้มีพื้นที่ประสบภัยแล้งในอีสานอีกต่อไป

Advertisement

รัฐบาลผลักดันโครงการด้านน้ำ ขับเคลื่อนเกือบ 3,000 โครงการ

People Unity News : 11 กุมภาพันธ์ 2566 รัฐบาลโชว์ผลงานด้านน้ำ 2 พื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 4 ปี ขับเคลื่อนเกือบ 3,000 โครงการ ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาทรัพยากรน้ำของประเทศต่อเนื่อง ให้ความสำคัญกับบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับประชาชนในทุกมิติทั้งด้านการเกษตร อุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยว ด้านอุตสาหกรรม การรักษาระบบนิเวศ รวมทั้งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน ล่าสุดกับผลความก้าวหน้าการพัฒนาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ 2 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งรัฐบาลได้มีการเร่งรัดผลักดันการขับเคลื่อนโครงการด้านน้ำตลอด 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2565) รวมเกือบ 3,000 โครงการ แบ่งเป็น จังหวัดพิษณุโลก 1,881 โครงการ และจังหวัดนครสวรรค์ 1,087 โครงการ เช่น ประตูระบายน้ำท่านางงามพร้อมอาคารประกอบ โครงการก่อสร้างและเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมน้ำเสีย เทศบาลนครพิษณุโลก แก้มลิงคลองละหานพร้อมอาคารประกอบ แก้มลิงบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนวัดไทรย์ อำเภอเมืองนครสวรรค์ เป็นต้น

“นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผนการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนแม่บทน้ำ 20 ปี เพื่อให้ทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดความมั่นคง ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมทั้งให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนต่อเนื่องให้เห็นถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากประชาชนทุกฝ่ายในการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายและให้มีน้ำเพียงพอสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ โดยเฉพาะลุ่มน้ำยม ที่รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งซ้ำซากให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งประตูระบายน้ำท่านางงาม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เป็น 1 ใน 4 โครงการที่จะบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จคาดจะทำให้สามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำยมได้เพิ่มขึ้น และมีปริมาณน้ำเพียงพอจัดสรรให้กับภาคการเกษตร รวมถึงช่วยเพิ่มระดับน้ำใต้ดินของพื้นที่ข้างเคียงด้วย

รวมทั้งการเร่งดำเนินการโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำน่าน ต.พลายชุมพล อ.เมือง จ.พิษณุโลก ให้เป็นไปตามแผนงาน และป้องกันไม่ให้ถูกกัดเซาะเพิ่มเติมโดยเร่งดำเนินการแก้ไขให้ครอบคลุมทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ให้บูรณาการการดำเนินงานกับทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำประมง การเกษตรกรรม การท่องเที่ยว การอนุรักษ์ เพื่อให้บึงบอระเพ็ดกลับมาเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชน และระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมโดยรอบดีขึ้นตามไปด้วย” นายอนุชากล่าว

Advertisement

รัฐบาลเดินหน้าจัดหาที่ทำกินให้ ปชช.

People Unity News : 10 กุมภาพันธ์ 2566 “พล.อ.ประวิตร” พอใจ สคทช.จัดที่ดินทำกินให้ประชาชนเป็นรูปธรรมกว่า 7 หมื่นรายใน 70 จังหวัด ย้ำรัฐบาลมุ่งหน้ากระจายการถือครอง เข้าถึงประโยชน์ที่ดิน เพื่อความยั่งยืน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนา “สานพลังยกระดับการขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดิน”  ในโอกาสครบรอบ 2 ปี วันสถาปนา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี โดย พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า สคทช. เป็นองค์กรที่มีภารกิจสำคัญด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ที่จะบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน และชุมชน เพื่อให้การบริหารจัดการที่ดิน และทรัพยากรดินของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด สมดุลย์ เป็นธรรม และยั่งยืน

“ที่สำคัญรัฐบาลเน้นแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้กับประชาชนได้มีสิทธิ์ทำกิน และอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐอย่างถูกต้องตามกฏหมาย เน้นกระจายการถือครองและการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ผ่านการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ในลักษณะแปลงรวม ให้ความมั่นใจในการประกอบอาชีพ สร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิต ภายใต้การดำเนินการของ สคทช.” พล.อ.ประวิตร กล่าว

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า พอใจการขับเคลื่อนแก้ปัญหาจัดการที่ดิน และขอบคุณ สคทช.ที่ขับเคลื่อนแก้ปัญหาที่ดินให้มีความก้าวหน้า เป็นรูปธรรมมาเป็นลำดับ ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เข้าถึงพื้นที่เป้าหมายไปแล้ว จำนวน 1,491 พื้นที่ เนื้อที่ประมาณ 5.7 ล้านไร่ ครอบคลุม 70 จังหวัด และจัดคนเข้าใช้ประโยชน์ ให้ได้มีที่อยู่อาศัย มีที่ดินทำกิน เลี้ยงชีพได้แล้ว จำนวน 78,109 ราย

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอให้เร่งยกระดับการขับเคลื่อนแก้ปัญหาในเรื่องสำคัญ ทั้งการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 หรือ One Map การขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย การแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐหรือการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องแนวเขตที่ดินระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน  การเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับการประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับรายได้ สามารถพึ่งพาตนเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว จำเป็นต้องสานพลังความร่วมมือกันด้วยความเข้าใจและการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ

“รัฐบาลจะทำต่อไป จะกระจายการแก้ปัญหาที่ดินอย่างสมดุล เป็นกลางด้วยการบูรณาการร่วมกัน ที่เน้นสานความยั่งยืนบนฐานข้อมูลเดียวกันให้ครอบคลุมทุก จว. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในการแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้กับผู้ไม่มีที่ดินทำกินไปพร้อมกัน” พล.อ.ประวิตร กล่าว

Advertisement

เตรียมเพิ่มวิชาประวัติศาสตร์ หลักสูตรวิชาการทหาร

People Unity News : 1 กุมภาพันธ์ 2566 “พล.อ.ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะประชุมสภาการศึกษาวิชาการทหาร ย้ำต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร ด้าน กองทัพ เตรียม ปรับหลักสูตร รับการปฏิรูป เตรียมเพิ่มวิชาประวัติศาสตร์ และปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ช่วงบ่ายที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางมาประชุม สภาการศึกษาวิชาการทหาร ครั้งที่ 1/66 ณ ห้องประชุมภาณุรังษี ในศาลาว่าการกลาโหม

โดยที่ประชุม ได้พิจารณาและมีมติอนุมัติปริญญาระดับปริญาตรี และปริญญาระดับบัณฑิตศึกษา แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาทางทหาร และแต่งตั้งข้าราชการทหารให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ พร้อมทั้งรับทราบการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปการบริหารจัดการและการปรับปรุงโครงสร้าง กห. ด้านระบบงานการศึกษา ระยะที่ 2 ปี 66-70 ซึ่งให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์ ควบคู่ไปกับการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม ในแผน 4 ด้าน ทั้งด้านหลักสูตร ด้านการพัฒนาจัดการเรียนการสอน ด้านบริหารจัดการ และด้านการพัฒนาบุคลากรการศึกษา

โดย พล.อ.คงชีพ ยังกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ย้ำให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร โดยให้มีการพิจารณาทบทวนหลักสูตร การเรียนการสอน การศึกษาทุกระดับในทุกหลักสูตร ให้สอดรับกับแผนปฏิรูปการบริหารจัดการและการปรับปรุงโครงสร้างกลาโหม รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติ สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงและบริบททางสังคมปัจจุบัน อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะดิจิทัลเสริมขีดความสามารถให้แก่กำลังพล พร้อมทั้งให้มีการประเมินตัวชี้วัดเป็นระยะ ทั้งนี้ให้ปรับปรุงข้อบังคับ ระเบียบและคำสั่งที่เกี่ยวข้องในคราวเดียวกัน เพื่อรองรับกับการปฏิรูปกองทัพ ตามยุทธศาสตร์ชาติ

Advertisement

ผบ.ทบ. ตรวจเยี่ยมคัดเลือกทหารกองเกินระบบออนไลน์

People Unity News : 28 มกราคม 66 ผบ.ทบ.ตรวจเยี่ยมคัดเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ระบบออนไลน์ ณ มทบ.11

วันนี้ (28 ม.ค.66) พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.ตรวจเยี่ยมการรับสมัครและการคัดเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ โดยมี พล.ต.ปัญญา ตั้งความเพียร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ให้การต้อนรับ ณ มณฑลทหารบกที่ 11

ในการนี้ผู้บัญชาการทหารบกได้รับฟังการบรรยายสรุปขั้นตอนการปฏิบัติการคัดเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ จากนั้นผู้บัญชาการทหารบก ได้ตรวจเยี่ยมการคัดเลือกฯ ขั้นตอนที่ 1 ได้แก่ การตรวจหลักฐานและวัดขนาดร่างกาย และได้ตรวจเยี่ยมขั้นตอนที่ 2 ได้แก่ การตรวจร่างกาย นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมการปฏิบัติตามสถานีต่างๆ จากนั้นจึงพบปะพูดคุยกับทหารกองเกินรวมทั้งครอบครัวที่มาร่วมติดตามการรับสมัครและคัดเลือกฯครั้งนี้

การรับสมัครและคัดเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 64 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบกมีนโยบายมุ่งพัฒนาการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ (Control) ไปสู่ระบบทหารกองประจำการอาสาสมัคร (Volunteer) หรือระบบสมัครใจเพื่อทดแทนการเรียกเกณฑ์ให้เป็นรูปธรรมในอนาคต อีกทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการเกณฑ์ทหารแก่สังคมโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน

สำหรับการรับสมัครและคัดเลือกฯในปี 66 เริ่มตั้งแต่ 29 ส.ค.65 และสิ้นสุดในวันที่ 29 ม.ค.66 โดยมณฑลทหารบกทั้ง 35 หน่วยทั่วประเทศเป็นหน่วยรับผิดชอบดำเนินการ ทั้งนี้ในปี 66 ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในความดูแลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้ด้อยโอกาส รวมถึงผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กองทัพบกกำหนดได้มีโอกาสสมัครเข้ารับราชการทหารกองประจำการได้ด้วย

Advertisement

รัฐบาลเชิญชวนประชาชน-ผู้ประกอบการใช้บริการ e-Service ภาครัฐ ครอบคลุมงาน 3 ด้าน 725 บริการ

People Unity News : 15 มกราคม 2566 รัฐบาลเชิญชวนประชาชนและผู้ประกอบการใช้บริการ e-Service ภาครัฐ สำนักงาน ก.พ.ร. รวบรวม 725 งานบริการ ครอบคลุมงาน 3 ด้าน บริการเพื่อประชาชน แรงงาน และบริการผู้ประกอบธุรกิจ/เอสเอ็มอี ไว้ให้ครบจบในที่เดียว

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัลตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งภายใต้แผนดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มีนโยบายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ นำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้สำหรับบริการ รวมถึงการปรับปรุงระบบการติดต่ออนุญาตต่างๆ ให้อยู่ในรูปบริการอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Service เพื่ออำนวยความสะดวกลดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้รวบรวมระบบบริการ e-Service ที่ส่วนราชการและหน่วยงานรัฐได้พัฒนาขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ไว้ในที่เดียวรวม 725 งานบริการ ครอบคลุมงานบริการ 3 ด้านหลัก ซึ่งรัฐบาลขอเชิญชวนประชาชนและผู้ประกอบการเลือกใช้บริการได้เพียงคลิ๊กเข้าไปที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ลิงค์ http://bit.ly/3veQn5L หรือสแกนคิวอาร์โค้ด แล้วเลือกใช้บริการได้ตามความต้องการ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า e-Service ภาครัฐทั้ง 725 งานบริการ แยกเป็นบริการ 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย ด้านที่ 1 งานบริการเพื่อประชาชน รวม 82 บริการ แยกเป็นงานบริการย่อยอีก 8 ด้าน ได้แก่ 1)ด้านสวัสดิการภาครัฐและการขอความช่วยเหลือ 10 งานบริการ 2)ด้านการขนส่ง คมนาคม และการเดินทาง 13 งานบริการ 3)ด้านที่ดิน ภาษี และธนาคาร 10 งานบริการ 4)ด้านสาธารณูปโภคและการขอใช้ที่สาธารณประโยชน์ 11 งานบริการ 5)ด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม 15 งานบริการ 6)ด้านการสอบ การศึกษา 4 งานบริการ 7)ด้านทะเบียนราษฎรและตรวจสอบข้อมูล 16 งานบริการ และ 8)ด้านสุขภาพ 3 งานบริการ

สำหรับด้านที่ 2 บริการด้านแรงงานหรือส่งเสริมการมีงานทำรวม 98 งานบริการ แยกเป็นงานบริการย่อย 4 ด้าน ได้แก่ 1) บริการด้านประกันสังคม 12 งานบริการ 2) ด้านการส่งเสริมอาชีพ และการฝึกอบรม 15 งานบริการ 3) บริการด้านการขึ้นทะเบียนและการขอใบประกอบวิชาชีพ 39 งานบริการ และ 4)ด้านการสอบ การศึกษา 32 งานบริการ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ด้านที่ 3 งานบริการผู้ประกอบธุรกิจ/SMEs รวม 545 งานบริการ แยกเป็นงานบริการย่อย 6 ด้าน ได้แก่ 1)ด้านการขออนุญาตและจดทะเบียน 248 งานบริการ 2)ด้านการขออนุญาตเกี่ยวกับวัตถุอันตราย 68 งานบริการ 3)งานบริการด้านสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า 9 งานบริการ 4)ด้านการเงิน ภาษี และสิทธิประโยชน์ 82 งานบริการ 5)บริการด้านการส่งออก-นำเข้า 86 งานบริการ และ 6)ด้านการรับรองมาตรฐานและตรวจสอบข้อมูล 52 งานบริการ

Advertisement

ตั้งแต่ 10 ม.ค. 66 หน่วยงานรัฐ ต้องรับ-จ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

People Unity News : 8 มกราคม 2566 รัฐบาลย้ำเตือน หน่วยงานของรัฐทั้งส่วนราชการและท้องถิ่น ต้องรับเอกสารหรือหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบในการรับ-จ่ายเงิน ตั้งแต่ 10 ม.ค. 66 หากไม่ดำเนินการ อาจต้องรับผิดว่าจงใจฝ่าฝืนกฎหมายการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

วันที่ 8 มกราคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 65 และมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ยกเว้นบางมาตราที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นั้น กองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีข้ออธิบายถึงการใช้เอกสารหลักฐานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ในการเบิกจ่ายเงิน ว่า เนื่องจากมาตรา 15 ของกฎหมายการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ รับรองการใช้เอกสารหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักฐานเบิกจ่ายของส่วนราชการและท้องถิ่น ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. 66 เป็นต้นไป หน่วยงานของรัฐทั้งส่วนราชการและท้องถิ่น ต้องรับเอกสารหรือหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นไฟล์ PDF หรือภาพทางดิจิทัลในการรับจ่ายเงิน ถ้าไม่รับอาจต้องรับผิดว่าจงใจฝ่าฝืนกฎหมายได้

นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 มีบทบัญญัติว่า ในการติดต่อหรือส่งเรื่องถึงกันในระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับหน่วยงานของรัฐ หรือระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ถ้าได้กระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและใช้เป็นหลักฐานได้ตามกฎหมาย หากหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดไม่สามารถรองรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ จะตราพระราชกฤษฎีกายกเว้นให้เป็นกรณี ๆ ไปก็ได้ โดยต้องระบุเหตุผล ความจำเป็น และระยะเวลาที่จะยกเว้นให้

นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้จัดการประชุมชี้แจงส่วนราชการ จังหวัด องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อสร้างความเข้าใจในการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ เตรียมความพร้อมหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยในการดำเนินการ ทั้งในส่วนของการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่กำหนด เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 65 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน ซึ่งมีผู้แทนหน่วยงานเข้าร่วมรับฟังกว่า 8,500 คน ทั้งนี้ สคก. ได้ชี้แจงตอนหนึ่งว่า พระราชบัญญัติฯ เกิดขึ้นเพื่อให้การปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชนของภาครัฐเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่มุ่งหวังให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โดยมีแนวปฏิบัติที่สำคัญในการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปฏิบัติราชการและการให้บริการ เช่น การติดต่อระหว่างหน่วยงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้เป็นหลักฐานตามกฎหมายได้ การสั่งการและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้เป็นหนังสือ สามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เอกสารหลักฐานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถใช้เป็นหลักฐานเบิกจ่ายได้ โดยการตรากฎหมายฉบับนี้จะเป็นการขจัดอุปสรรคทางข้อกฎหมายของการดำเนินงานภาครัฐด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว ความประหยัด และความโปร่งใสตรวจสอบได้ในการปฏิบัติราชการ โดยหัวใจของการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ จะมุ่งเน้นให้ประชาชนเกิดความสะดวกเป็นหลัก

“รัฐบาลได้เร่งขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัล และเตรียมความพร้อมหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย ให้พร้อมเข้าสู่การดำเนินการตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 พร้อมทั้งพัฒนาระบบให้บริการออนไลน์หรือ e-service เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการของรัฐได้ทันทีทุกที่ทุกเวลา ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน โดยหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยจะร่วมขับเคลื่อนให้การปฏิบัติราชการจากระบบเดิมไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เต็มรูปแบบตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฯ อันจะเพิ่มความสะดวกในการให้บริการประชาชน และยกระดับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต่อไป” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

Verified by ExactMetrics