People unity news online : วันนี้ (27 มีนาคม 2560) นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง ได้มีการเผยแพร่ข้อความและบทวิจารณ์ถึงการใช้งบประมาณตามโครงการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล หรือ “โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท” ว่ายังมีช่องโหว่ของการดำเนินโครงการ และมีลักษณะเป็นโครงการประชานิยม เช่น โครงการส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะถึง 84.03% (101,500 โครงการ) หรือโครงการที่เป็นการพัฒนามีไม่มาก เช่น ด้านเศรษฐกิจสังคม 10.49% (12,670 โครงการ) การส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง 5.48% (6,621 โครงการ) หรือกรณีที่ว่าหลายโครงการมีความไม่ชอบมาพากลนั้น
จากกรณีดังกล่าวกระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินโครงการฯ ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้รับทราบ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ลักษณะการดำเนินโครงการ “มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล” หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า “โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท” นั้น เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ได้ออกมาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นมาตรการหนึ่งในหลายมาตรการของรัฐบาลที่ต้องการนำมาช่วยเหลือฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจในระดับฐานราก โดยคณะรัฐมนตรีได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินโครงการฯ โดยจัดสรรงบประมาณลงในระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท จำนวน 7,255 ตำบล คิดเป็นเงิน 36,275 ล้านบาท ซึ่งได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอน ตามระเบียบ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขต่างๆ และมีลักษณะโครงการ คือ 1.โครงการส่งเสริมการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง 2.โครงการซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 3.โครงการด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเน้นการ “กระจายเม็ดเงินลงไปสู่พื้นที่หมู่บ้าน ตำบลทุกจังหวัดทั่วประเทศ”
กระทรวงมหาดไทยขอเรียนว่า “หัวใจสำคัญ” ของการดำเนินโครงการนี้ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ในพื้นที่ในรูปแบบประชารัฐ ภายใต้เงื่อนไข “ทุกโครงการจะต้องมาจากความต้องการของพี่น้องประชาชนโดยตรง” ต้องผ่านการทำประชาคมโครงการมาจากในพื้นที่ และได้รับความเห็นชอบหรือถูกเสนอโดยคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ซึ่งเป็นกลไกภาคประชาชน เพื่อกำหนดว่าในตำบล ในหมู่บ้านของตน มีปัญหาเร่งด่วน หรือเดือดร้อนเรื่องอะไรแล้วจัดลำดับความสำคัญของปัญหา โดยประชาชนเป็นผู้เสนอความต้องการ จึงขอย้ำว่า โครงการตำบลละ 5 ล้านได้นำไปใช้ซ่อมสิ่งชำรุดบกพร่อง และสร้างสิ่งสาธารณะประโยชน์ที่ขาดแคลน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นลำดับแรก เช่น การก่อสร้างสิ่งสาธารณะประโยชน์ ประปาหมู่บ้าน ถนนหนทาง ระบบชลประทาน แหล่งเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร เป็นต้น ซึ่งสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพของประชาชน
จากนั้นจึงจะเสนอโครงการมายังคณะกรรมการกลั่นกรองถึง 3 ชั้น คือ 1.ระดับอำเภอ 2.ระดับจังหวัด ซึ่งจะมีผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ร่วมกันพิจารณาตามระเบียบกฎหมายและหลักเกณฑ์การพิจาณาอนุมัติ และสุดท้ายจึงจะจัดส่งโครงการให้สำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ทั้ง 18 เขตเพื่อพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอน
ประเด็นที่ 2 เรื่องของการจัดทำระบบการตรวจสอบ ติดตาม รายงานผล และการป้องกันการทุจริต เพื่อให้ทุกโครงการเกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และสัมฤทธิ์ผลนั้น นอกจากจะดำเนินการตามหลักเกณฑ์และระเบียบต่างๆของทางราชการที่กำหนดขึ้นอย่างเคร่งครัดแล้ว กระทรวงมหาดไทยยังได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอไปกำกับดูแลการดำเนินโครงการทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเด็ดขาด อีกทั้งในขั้นตอนการตรวจรับงานตามสัญญายังได้กำหนดให้มีประชาชนในพื้นที่ 2 คน เข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจรับเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังได้มีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินโครงการในทุกช่องทาง เช่น ในพื้นที่ได้กำหนดให้ทุกตำบลติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์รายละเอียดของโครงการที่ดำเนินการในพื้นที่ในแหล่งชุมชน วัด มัสยิด เพื่อแสดงรายละเอียดของโครงการ การดำเนินการ งบประมาณ และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบอย่างทั่วถึง และสามารถติดตามตรวจสอบการดำเนินโครงการ รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆด้วย
อีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่กระทรวงมหาดไทยได้นำมาใช้กับโครงการนี้ คือ การขอความร่วมมือไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อเข้าร่วมตรวจสอบการดำเนินโครงการฯ ตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ขอความร่วมมือสำนักงานสถิติแห่งชาติในการตรวจติดตามประเมินผลโครงการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 180,415 ราย มีผลออกมาว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการฯร้อยละ 98.9 มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการร้อยละ 81.1 โครงการที่เกิดขึ้นตรงกับความต้องการร้อยละ 98.8 มีความโปร่งใส/สามารถตรวจสอบได้ร้อยละ 95.3 โครงการมีประโยชน์ร้อยละ 98.9 โครงการที่เกิดขึ้นมีความยั่งยืนร้อยละ 98.4 ช่วยให้เกิดความร่วมมือหรือความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน/ชุมชนร้อยละ 98.1 เกิดความร่วมมือหรือความสามัคคีระหว่างประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐร้อยละ 97.3 สร้างอาชีพ/รายได้หรือกระตุ้นเศรษฐกิจ/สามารถพึ่งพาตนเองได้ร้อยละ 88.7 และมีความพึงพอใจร้อยละ 99.3 ซึ่งจากการติดตามและรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนถือว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการ
จากมาตรการทั้งหมดที่กล่าวมานี้ กระทรวงมหาดไทยขอย้ำว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการตำบลละ 5 ล้านบาทด้วยความโปร่งใสทุกขั้นตอนด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และพยายามอย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยให้ผ่านพ้นในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวหรือที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งผลสำเร็จของโครงการได้ช่วยพยุงระบบเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นโครงการ “ประชารัฐ” ที่ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี กระทรวงมหาดไทยพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และจะได้นำมาปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป
People unity news online : post 27 มีนาคม 2560 เวลา 21.33 น.