วันที่ 25 พฤศจิกายน 2024

“พวงเพ็ชร” ยันรัฐบาลให้ความสำคัญโรงเรียนพระปริยัติธรรม เผยปี 67 จะได้รับงบเพิ่มกว่า 500 ล้านบาท

People Unity News : 29 กันยายน 2566 รัฐสภา – รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ยันรัฐบาลให้ความสำคัญกับโรงเรียนพระปริยัติธรรม ย้ำปี 2567 จะได้รับการจัดสรรงบเพิ่มกว่า 500 ล้านบาท

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วานนี้  (28 ก.ย.) ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา นายพัฒนา สัพโส ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย  ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี  กรณีการจัดสรรงบประมาณให้กับโรงเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมาพบว่ามีการจัดสรรงบประมาณล่าช้า  พร้อมฝากถามรัฐบาลว่าการพิจารณางบประมาณกรณีดังกล่าวในปีถัดไปจะจัดสรรมากกว่าที่ผ่านมาหรือไม่  รวมทั้งฝากให้รัฐบาลไปพิจารณาในเรื่องของการอนุมัติงบประมาณกำหนดตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่  ฝากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับโรงเรียนพระปริยัติธรรม เพื่อสร้างโอกาสให้กับการศึกษาพระพุทธศาสนา

นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้มีการลงพื้นที่และมีการรับข้อร้องเรียน กรณีการจ่ายเงินและค่าตอบแทนของครูโรงเรียนพระปริยัติธรรม ที่มีความล่าช้า นายกรัฐมนตรีไม่ได้นิ่งนอนใจ  ได้เร่งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว  ซึ่งรัฐบาลก็ได้มีการเร่งรัดและอนุมัติงบประมาณเมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมาตามขั้นตอน  ส่วนคำถามที่ว่าจะมีการจัดสรรงบประมาณในปี 2567 ให้กับโรงเรียนพระปริยัติธรรมจะมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มมากกว่าเดิมหรือไม่ กรณีนี้ตามระเบียบสำนักงบประมาณ การดำเนินการจัดสรรงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณ ตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งการพิจารณาการจ่ายเงินค่าตอบแทนของการศึกษาพระปริยัติธรรม จะเป็นแนวทางเดียวกันโดยจากการสำรวจในปี 2567 จะได้งบประมาณมากกว่าเดิม 584 ล้านบาท  ซึ่งจะได้มีการรายงานให้กระทรวงการคลังได้เห็นชอบเพื่อพิจารณาต่อไป

ส่วนกรณีการอนุมัติการกำหนดตำแหน่งนั้น  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงว่าหลักเกณฑ์ในการอนุมัติงบประมาณในตำแหน่งต่างๆ จะต้องมีภารกิจในลักษณะงานสอนหรือการสนับสนุนการศึกษาของพระปริยัติธรรม รวมทั้งมีหน้าที่และบทบาทที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาของพระปริยัติธรรม และมีความเชื่อมโยงกับกระบวนการจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการการศึกษาในสถานศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งหากตำแหน่งที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรอยู่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็จะสามารถเสนอให้กระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาจัดสรรงบประมาณตามหลักเกณฑ์ต่อไป

Advertisement

บ้านเมืองไม่สงบเพราะไม่เคารพกฎหมาย-เห็นแก่ผลประโยชน์

People Unity News : 29 กันยายน 2566 รัฐสภา – “ประธานรัฐสภา” ชี้บ้านเมืองไม่สงบเพราะคนไม่เคารพกฎหมาย – เจ้าหน้าที่รับผลประโยชน์จากผู้มีอิทธิพล แนะทบทวนกฎหมายต่างๆ ให้เสมอภาค ลดต่อต้าน

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา บรรยายตอนหนึ่งในงานสัมมนาของกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา หัวข้อ บ้านเมืองไม่สงบ เมื่อไม่เคารพกฎหมาย ว่า ความสงบในบ้านเมือง คือ ให้คนในประเทศอยู่ด้วยหลักการ หลักความจริง ถูกต้อง ตามกฎเกณฑ์ กติกาและกฎหมายที่สร้างและตกลงจะใช้ร่วมกัน ต้องใช้ให้หมดไม่ใช่ใช้เฉพาะที่ชอบ เพราะจะทำให้การใช้กฎหมายไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ กฎหมายต้องมีหลักการ ยึดมั่นความถูกต้อง เป็นธรรมเป็นใหญ่ ไม่ใช่ยึดบุคคลหรือองค์คณะ ปัจจุบันยอมรับว่าคนมีความนิยมในสื่อสังคมออนไลน์และวัตถุมากขึ้น ทำให้เกิดความเสื่อมของศีลธรรมทั้งที่ลับและที่แจ้ง

“ปัญหาของประเทศที่ธรรมดา แต่คนอื่นเห็นว่าไม่ธรรมดา คือ การเติบโตของอิทธิพลในวงการการเมือง การศึกษา ธุรกิจ นอกจากนั้นการคอร์รรัปชั่นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่บางคนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ทั้งที่เป็นเรื่องไม่ธรรมดา ส่วนกฎหมายที่ไม่เสมอภาค ทำให้เกิดการต่อต้านได้” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ถ้ามีกฎหมายมาก แต่ไร้คนปฏิบัติตามหรือเชื่อถือจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เช่น เรื่องสีเทา เรื่องกำนันนก เป็นต้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่รับผลประโยชน์ทำให้เกิดเป็นผู้มีอิทธิพล บ้านเมืองไม่สงบ เพราะคนไม่เคารพกฎหมาย จึงต้องทบทวน เพื่อให้กฎหมายอำนวยความยุติธรรม และประชาชนมีศีลธรรมจรรยา

Advertisement

“เศรษฐา” ไม่รับเงินเดือนนายกฯ– เบี้ยประชุม บริจาคทุกบาท ให้มูลนิธิต่างๆ

People Unity News : 28 กันยายน 2566 ทำเนียบ – “เศรษฐา” ประกาศ ไม่รับเงินเดือนนายกฯ – เบี้ยประชุม บริจาคทุกบาท ให้มูลนิธิต่างๆ ต่อยอดโอกาสเพื่อกลุ่มเปราะบางในประเทศ ประเดิม ‘มูลนิธิเด็ก’ ที่แรก ย้ำ รัฐบาลต้องมีส่วนช่วยเหลือระยะยาวด้วย

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอส่งต่อเงินเดือน และเบี้ยประชุมของทุกเดือนที่ได้รับจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตลอดการดำรงตำแหน่งให้มูลนิธิฯต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้เปราะบางที่ต้องการการช่วยเหลือ

นายชัย กล่าวว่า นายกฯ มีดำริว่า การให้เป็นเรื่องที่ดี ตามแต่กำลังศรัทธาของแต่ละคน นายกฯ จึงตั้งใจเริ่มที่ตัวเองก่อน ขณะที่รัฐบาลเองมีหลายนโยบายที่พยายามอย่างมากในการมุ่งสร้างประโยชน์สุข  และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนไทย  โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้เด็กที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบ ทั้งยังสามารถได้รับการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งทั้งหมดของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทั้งหมด  หลังจากได้รับมาแล้วรวมเป็นเงิน 125,590 บาทต่อเดือน โดยเป็นเงินเดือนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 75,590 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท ขอส่งต่อให้กับกลุ่มที่เปราะบาง ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ทันที แต่สิ่งที่ทดแทนไม่ได้ คือหน้าที่ของรัฐที่ต้องดำเนินการสนับสนุนมูลนิธิต่างๆ เป็นการช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง  ซึ่งทำได้เร็วกว่าการพึ่งระบบของรัฐที่ต้องใช้เวลา เพราะต้องอาศัยการทำผ่าน พ.ร.บ. ต่างๆ ตามกลไกของรัฐสภาในการดำเนินการเพียงอย่างเดียว

นายชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการคัดเลือกองค์กรที่จะได้รับความช่วยเหลือนั้น จะมีทีมงานเป็นผู้กำหนดเกณฑ์ โดยครั้งแรกจะบริจาคให้กับ มูลนิธิเด็ก (FOUNDATION FOR CHILDREN) ช่วยเหลือเด็กด้านปัจจัยพื้นฐาน การดำเนินชีวิตและสวัสดิการต่างๆ ให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมทางร่างกาย สติปัญญา และจิตใจ รวมถึงทางด้านการศึกษา ที่สามารถช่วยให้เด็กเข้าระบบการศึกษาได้อย่างถูกต้องต่อไป อย่างที่แจ้งไว้ การส่งต่อเงินเดือนเป็นเพียงแค่ส่วนแรก ซึ่งนายกฯ พยายามที่จะหาโอกาสไปพบปะพูดคุยกับองค์กรกลุ่มต่าง ๆ เพื่อรับฟังเสียง รับทราบถึงปัญหา และความเดือดร้อนของมูลนิธิที่กำลังเผชิญอยู่ เพื่อที่จะได้หาแนวทางแก้ไขต่อไป

Advertisement

“ภูมิธรรม” หนุนดึง “ทักษิณ” ช่วยแก้ปัญหาประเทศ หลังพ้นโทษ

People Unity News : 22 กันยายน 2566 ทำเนียบ – “ภูมิธรรม​” หนุนแนวคิด​ “เศรษฐา”​ ดึง “ทักษิณ” ช่วยแก้ปัญหาประเทศ​หลังพ้นโทษ​ ยก เป็นผู้มีประสบการณ์บริหารประเทศมา 6 ปี

นายภูมิธรรม​ เวชยชัย​ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณี นายเศรษฐา​ ทวีสิน​ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว บลูมเบิร์กทีวีว่า หากนายทักษิณ  ชินวัตร พ้นโทษ จะให้มีบทบาทในรัฐบาลนี้ โดยอาจจะดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ในรัฐบาลชุดนี้​ ว่า​ เป็นความเห็นของนายกรัฐมนตรีที่อยากได้ประสบการณ์ความรู้ความสามารถของนายทักษิณ ก็ต้องไปดูว่ามีข้อติดขัดอะไรทางด้านกฎหมาย ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะมีปัญหาตรงนี้อย่างไร แต่คิดว่าหากพ้นทุกอย่างแล้ว การให้ข้อคิดเห็นข้อแนะนำ เป็นบทบาทที่นายทักษิณทำได้ ซึ่งท่านก็พูดอยู่เสมอ ว่า กลับมาคราวนี้ถ้าทุกอย่างเรียบร้อย ท่านก็จะอยู่กับครอบครัว ส่วนเรื่องของประเทศชาติไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ถ้าสามารถช่วยได้ก็ยินดี และตนคิดว่าเป็นไปได้ ถ้าเป้าหมายอยู่ที่ประเทศชาติดีขึ้น เพราะการบริหารราชการแผ่นดินนายทักษิณมีประสบการณ์ สามารถบริหารมา 6 ปีต่อเนื่อง ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี ถ้าหากมีความร่วมมือและรับฟังความคิดเห็นจากท่าน

ส่วนหากเป็นที่ปรึกษาฯ แต่ไม่รับตำแหน่งทางการเมืองจะไม่เกิดความขัดแย้งอะไรใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม​ กล่าวว่า​ ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะรัฐบาลฟังเสียงของประชาชนกลุ่มต่างๆ อยู่แล้ว นายทักษิณก็เป็นประชาชนคนหนึ่งที่ห่วงใยบ้านเมือง และสามารถให้ข้อคิดเห็นอะไรที่เป็นประโยชน์ได้

Advertisement

ศาลสั่ง “ช่อ” หมดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง – ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต

People Unity News : 20 กันยายน 2566 ศาลฎีกา – ศาลฎีกาพิพากษา “ช่อ พรรณิการ์” ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง โพสต์หมิ่นสถาบัน เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ไม่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ คมจ.1/2564 หมายเลขแดงที่ คมจ. 5/2566 ระหว่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ร้อง นางสาวพรรณิการ์ วานิช ผู้คัดค้าน โดยผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านโพสต์ภาพถ่ายและข้อความตามคำร้องข้อ 4.1 (1) ถึง (6) ในลักษณะเป็นการกระทำอันมิบังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ลงในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ชื่อบัญชี “Pannika Chor Wanich” ของผู้คัดค้าน ต่อมาผู้คัดค้านได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภาพถ่ายและข้อความดังกล่าวยังคงปรากฏอยู่ในบัญชีการใช้งานเฟซบุ๊กของผู้คัดค้านในลักษณะเป็นสาธารณะ บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปดูได้อย่างต่อเนื่อง

ผู้คัดค้านมิได้กระทำการใดๆ หรือลบภาพและข้อความดังกล่าวออกจากบัญชีเฟซบุ๊กของผู้คัดค้าน เป็นการแสดงออกถึงการไม่เคารพและเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการไม่ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นการไม่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ขอให้พิพากษาว่า ผู้คัดค้านฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กับเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย มาตรา 235 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 และมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 27

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า การกระทำของผู้คัดค้านเกิดขึ้นก่อนที่จะมีบทกฎหมายและมาตรฐานทางจริยธรรม จึงไม่อาจใช้บังคับย้อนหลังเอากับผู้คัดค้านได้ และบทกฎหมายดังกล่าวมุ่งหมายใช้บังคับแก่บุคคลที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะถูกร้องและดำเนินคดี แต่ผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจไต่สวนและยื่นคำร้องต่อศาล ขณะผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มิได้กระทำการใดอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ส่วนการที่ยังคงมีภาพถ่ายและข้อความตามคำร้องปรากฏอยู่ไม่ถือเป็นการกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ขอให้ยกคำร้อง

ศาลฎีกาพิพากษาว่า ผู้ร้องได้รับคำร้องของสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ฉบับลงวันที่ 11 มิถุนายน 2562 กล่าวหาว่าผู้คัดค้านขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งขณะนั้นมีผลใช้บังคับแล้วไว้พิจารณา ซึ่งขณะนั้นผู้คัดค้านยังดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้ต่อมาผู้คัดค้านพ้นจากตำแหน่งแล้ว ผู้ร้องยังคงมีอำนาจไต่สวนและยื่นคำร้องคดีนี้ได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 234 (1) มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 ประกอบมาตรา 55 (3) ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”

หมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 บัญญัติว่า “บุคคลมีหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข…” ผู้คัดค้านมีเชื้อชาติและสัญชาติไทย นอกจากมีหน้าที่ตามมาตรา 50 (1) อันเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยแล้ว ผู้คัดค้านในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังต้องยึดถือปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อรักษาเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งและความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน ย่อมต้องระมัดระวังในการใช้สื่อสังคมออนไลน์มิให้มีภาพถ่ายหรือข้อความพาดพิงหรือแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่เหมาะสมหรือมิบังควร เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ เป็นมิ่งขวัญและศูนย์รวมความสามัคคีของปวงชนชาวไทย โดยกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ว่า “ในหลวง” “พ่อหลวง” หรือ “พ่อของแผ่นดิน”เป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย ปวงชนชาวไทยมีความรักและความภาคภูมิใจในองค์พระมหากษัตริย์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดมา เมื่อพิจารณาการกระทำของผู้คัดค้านตามคำร้องซึ่งกระทำอย่างต่อเนื่องกันมาจึงต้องนำการกระทำของผู้คัดค้านทั้งหกกรณีมาพิเคราะห์ร่วมกันเพื่อหยั่งทราบเจตนาของผู้คัดค้านว่ามุ่งประสงค์

การกระทำของผู้คัดค้านตามคำร้อง ข้อ 4.1 (1) ถึง 4.1 (4) และ 4.1 (6) ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าผู้คัดค้านมีเจตนาพาดพิงถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ส่วนการกระทำตามคำร้อง ข้อ 4.1 (5) เป็นการลงข้อความพาดพิงถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พระนามในขณะนั้น) อันเป็นการแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในทางที่ไม่เหมาะสมหรือมิบังควรอย่างยิ่ง เป็นการไม่เคารพในหน้าที่ของปวงชนชาวไทยที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้  ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์  แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของผู้คัดค้านที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อนดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเมื่อผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับมาตรฐานทางจริยธรรมฯ หมวด 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ข้อ 6 ที่กำหนดให้ผู้คัดค้านต้องพิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์  ซึ่งการผ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ทั้งนี้ นอกจากการกระทำโดยตรงแล้ว ยังหมายรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย เมื่อผู้คัดค้านยังคงปล่อยให้ภาพถ่ายและข้อความดังกล่าวปรากฏอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์บัญชีการใช้งานเฟซบุ๊กของผู้คัดค้านในลักษณะเป็นสาธารณะบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ พฤติการณ์ของผู้คัดค้านเป็นการแสดงออกถึงการไม่เคารพ และเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 6 มาตรา 50 (1) และมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 6 การที่ผู้คัดค้านไม่ลบหรือนำภาพถ่ายและข้อความดังกล่าวทั้งหมดออกจากระบบคอมพิวเตอร์ทั้งที่สามารถกระทำได้ เพื่อไม่ให้ปรากฏอยู่และเพื่อไม่ให้บุคคลใดสามารถเข้าถึงภาพถ่ายและข้อความทั้งหกกรณีดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วยการกระทำของผู้คัดค้าน ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 87 และมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 6 ประกอบ ข้อ 27 วรรคหนึ่ง ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้คัดค้านตลอดไป รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 วรรคสามและวรรคสี่ แต่ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการไม่ยึดมั่นและธำรงไว้ ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 5 จึงยังไม่เห็นสมควรเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้าน

Advertisement

รมว.ยุติธรรม ชี้ “ทักษิณ” เข้าเกณฑ์พักโทษหรือไม่ ขึ้นกับกฎหมาย

People Unity News : 16 กันยายน 2566 พ.ต.อ.ทวี​ สอดส่อง​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม​ กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร ที่ใกล้จะครบ 30 วัน ที่รักษาตัวนอกเรือนจำแล้ว ว่า พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มีหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักสากล ย้ำว่ามีมาตรฐานการควบคุมตัวเป็นไปตามระเบียบ ขณะนี้เป็นขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์ หากมีการรักษาตัวนอกเรือนจำนานกว่า 30 วัน จะต้องมีความเห็นจากทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ หากนานกว่า 60 วัน จะต้องมีความเห็นจากทางปลัดกระทรวงยุติธรรม และหากนานเกิน 120 วัน จะต้องมีความเห็นจาก รมว.ยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีความเห็นของแพทย์ที่รักษาด้วย เรื่องนี้มีรายละเอียด ส่วนกรณีนายทักษิณจะเข้าเกณฑ์การพักการลงโทษหรือไม่ รมว.ยุติธรรม ตอบเพียงสั้น ๆ ว่า ทุกอย่างขึ้นกับกฎหมาย

Advertisement

“สุทิน” เผย สั่งกองทัพลดทหารเกณฑ์ จากเดิม 90,000-100,000 คน ลงอีก พร้อมสร้างแรงจูงใจพิเศษให้สมัครใจ

People Unity News : 14 กันยายน 2566 นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงแนวทางยกเลิกเกณฑ์ทหารว่า ต้องทำควบคู่กันไป ระบบสมัครใจและบังคับเกณฑ์ทหารยังคงต้องมีอยู่ แต่ควรไปกระตุ้นให้คนสมัครเยอะขึ้น หากครบตามที่กองทัพต้องการ ก็ไม่ต้องเกณฑ์ ทั้งนี้ กองทัพให้ความร่วมมืออยู่แล้ว และทำมาหลายปี

แต่เราจะเพิ่มความเร็ว ความแรง เหมือนอินเทอร์เน็ต 5G โดยการสร้างแรงจูงใจพิเศษขึ้นมา ตนสั่งให้กองทัพกลับไปลดตัวเลขทหารเกณฑ์ จากเดิมประมาณ 90,000-100,000 คน ลงอีก และรณรงค์ให้คนสมัครใจ ด้วยการเพิ่มสวัสดิการ เพิ่มเงินเดือน โดยไม่ต้องรบกวนงบประมาณของประเทศ

“เช่น หากสามารถลดได้ 10,000 คน เราจะนำงบฯ ของจำนวนที่ลดลงไปเติมเป็นค่าประกอบเลี้ยง ซึ่งปกติจะหักจากเงินเดือนที่ทหารเกณฑ์ จำนวน 3,000 บาท จากที่ได้รับ 10,000 บาท หากสามารถเติมเต็มตรงนี้ ส่งผลให้ทหารเกณฑ์ได้เงินเดือนจริง 10,000 บาท/เดือน เชื่อว่าต่อไปคนมาเกณฑ์ทหารจะได้รับเงินเดือนเต็ม”

นายสุทิน ยังย้ำว่า จะเพิ่มโอกาสให้คนที่มาสมัครใจเป็นทหารเกณฑ์ ได้มีชีวิตที่ดีขึ้นในการประกอบอาชีพ สามารถไปต่อเป็นนักเรียนนายสิบ โดยอยากจะทำให้ค่ายฝึกทหารเกณฑ์ คล้ายโรงเรียนนายสิบ หรือโรงเรียนนายสิบตำรวจ ช่วยสร้างแรงจูงใจได้ อีกประการหนึ่ง ปัญหาใหญ่ก็คือเรื่องยาเสพติดในค่ายทหารเกณฑ์ พร้อมเชื่อมั่นว่า เด็กที่ติดยาเสพติดแล้วมาเป็นทหารเกณฑ์ จะสามารถบำบัดพวกเขาเหล่านี้ได้ ตลอดจนจูงใจกับผู้ปกครองว่า ลูกหลานที่มาที่นี่หายจากติดยา ได้รับอนาคตที่ดี ได้เงินเดือนเต็ม

Advertisement

“ครม.เศรษฐา 1” แบ่งงานรองนายกฯ กำกับดูแลกระทรวง

People Unity News : 14 กันยายน 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (13 ก.ย.) ได้มีการแบ่งงานให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแล โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำกับดูแลกระทรวงการคลัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงกลาโหม

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม กระทรวงยุติธรรม (ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ) กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กำกับดูแลกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กำกับดูแลกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำกับดูแลกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำกับดูแลกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม

นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลกรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

Advertisement

นายกฯให้คำมั่นปราบผู้มีอิทธิพลเด็ดขาด

People Unity News : 12 กันยายน 2566 ที่รัฐสภา – นายกฯ ระบุคดี “กำนันนก” เป็นสิ่งยอมรับไม่ได้ จะไม่ให้เกิดขึ้นอีก ให้คำมั่นปราบผู้มีอิทธิพลเด็ดขาด การบริหารจัดการส่วนไหนมีปัญหาต้องจัดการทันที ยันให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าหลังจากที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเข้าพบวานนี้ (11 ก.ย.) ว่า เน้นย้ำเรื่องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรายงานว่า ในวันนี้ (12 ก.ย.) กองพิสูจน์หลักฐานจะมีผลพิสูจน์ต่าง ๆ ออกมา คาดว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะมีการแถลงข่าว ก่อนเที่ยงวันนี้ว่าผลสรุปออกมาเป็นอย่างไร

“ในฐานะที่ผมกำกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษก่อนหน้านี้ว่ากลุ่มผู้มีอิทธิพลหรือมาเฟียเป็นเรื่องที่ประชาชนมีความกังวลอย่างมาก และเหตุการณ์กำนันนกถือว่าเหนือความคาดหมายและเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ต้องเป็นสิ่งที่ไม่ยอมรับต่อไป ผมให้คำมั่นจะจัดการอย่างเต็มที่ ทำทุกอย่างไม่ให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นอีก และให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย การบริหารตั้งแต่ส่วนบนลงล่าง ส่วนไหนมีปัญหาก็ต้องบริหารจัดการ หากพบเรื่องทุจริตประพฤติมิชอบจะจัดการทันที” นายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

ปลัด มท. แจง คนมหาดไทยต้องทำงานอย่างไร “สั่งงานวันนี้ ต้องเสร็จเมื่อวาน”

People Unity News : 9 กันยายน 2566 ปลัดมหาดไทยเผย คนมหาดไทยต้องทำงานเชิงรุกด้วยความรวดเร็ว พร้อมขับเคลื่อนงานทุกมิติ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ทำให้ประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขโดยถ้วนหน้า “ทำงานวันนี้ ต้องเสร็จเมื่อวาน”

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงวิธีการทำงานของคนมหาดไทยตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวในโอกาสพบปะข้าราชการเมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ความว่า “…ผมเป็นคนทำงานวันนี้ สั่งงานวันนี้ ต้องเสร็จเมื่อวาน เพราะงั้นก็ขอให้ทุกคนได้มีความมั่นใจ..” เป็นเครื่องเตือนใจให้คนมหาดไทยต้องทำงานด้วยความรวดเร็ว และมีความพร้อมอยู่เสมอ ที่สำคัญต้องทำงานเชิงรุก เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ถ้า “เข้าใจ เข้าถึง” พี่น้องประชาชนแล้ว ปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนความต้องการของพี่น้องประชาชนในทุกเรื่อง ก็จะสามารถพัฒนาและดำเนินการได้ทันที อะไรที่ยังแก้ไขไม่ได้ ก็ต้องมีการสื่อสารสร้างความเข้าใจต่อพี่น้องประชาชน ต่อสาธารณชน สอดคล้องกับหลักปฏิบัติที่คนมหาดไทยได้รับการบ่มเพาะถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาโดยตลอดว่า “รอบรู้ รวดเร็ว ริ่เริ่ม และเร่งรัด” ดังที่ท่านวิญญู อังคณารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เคยกล่าวไว้

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำว่า หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า “เมื่อวานนี้งานจะเสร็จได้อย่างไร ในเมื่อสั่งวันนี้” แต่ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทุกคนในฐานะข้าราชการประจำ ผู้มีความมุ่งมั่นตั้งใจสอบคัดเลือกเข้ามารับราชการ ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาชนจนกว่าจะเกษียณอายุราชการ ต่างก็รู้อยู่ก่อนแล้วว่าข้าราชการกระทรวงมหาดไทยนั้นมีภาระหน้าที่อันหนักหน่วง นั่นคือ ทุกปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน คือ หน้าที่ของคนมหาดไทย งานของทุกกระทรวง ทบวง กรมที่ลงสู่พื้นที่ ก็คืองานของคนมหาดไทย ดังนั้น พวกเราในฐานะข้าราชการประจำ จะต้องมุ่งมั่นทุ่มเททำงานแบบรองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด มีใจ มี Passion ในการทำงานโดยไม่ยึดถือเรื่องเวลาเป็นข้อจำกัดของการทำงาน เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดี คือ การคิดริเริ่มสร้างสรรค์นำเสนอสิ่งที่ดีเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาได้เห็นชอบตามที่เราได้คิด ได้เสนอ

“นอกจากนี้ คนมหาดไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้ว่าราชการจังหวัด” ผู้บริหารระดับสูง ต้องเป็น “ผู้นำต้องทำก่อน” ต้องรู้ลึก รู้กว้าง ถึงเรื่องที่จะขับเคลื่อน เพื่อนำไปสื่อสารกับนายอำเภอในฐานะผู้นำของพื้นที่และภาคีเครือข่าย ซึ่งมีนัยยะว่า “ผู้นำทำงานต่าง ๆ ลำพังคนเดียวไม่ได้” ต้องมีทีมงานจาก 7 ภาคีเครือข่าย ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคสื่อสารมวลชน ช่วยขับเคลื่อนงาน และที่สำคัญ “ต้องเร่งรัด ติดตามการขับเคลื่อนงาน” เพื่อให้มั่นใจว่าทุกภาคส่วนได้ช่วยกันทำหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนได้อย่างถูกต้องตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ ร่วมคิด ร่วมพูดคุย ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมรับประโยชน์ ทำให้ประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุขโดยถ้วนหน้า ซึ่งหากทุกคนสามารถทำได้อย่างนี้แล้ว ก็จะมีคุณสมบัติตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวไว้นั่นเอง” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

Advertisement

Verified by ExactMetrics