วันที่ 25 พฤศจิกายน 2024

“แพทองธาร” ทำสารคดีเส้นทางการเมือง ชูมีทีมงาน ‘พ่อ’ และ ‘อา’ ช่วย

People Unity News : 6 พฤษภาคม 2566 “แพทองธาร” ปล่อยสารคดี ‘The Candidate Paetongtarn’ การเดินทางบนเส้นทางการเมืองสู้ศึกเลือกตั้ง 2566

6 พฤษภาคม 2566 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย โพสต์คลิปสารคดี ‘The Candidate Paetongtarn’ เล่าการเดินทางบนเส้นทางการเมืองตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน ในยูทูบแชนแนลส่วนตัว (https://www.youtube.com/@ingshinawatra)

โดยเนื้อหานั้น ผู้ร่วมเล่าเรื่องราวคือทีมที่ปรึกษาที่เคยทำงานร่วมกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในรัฐบาลไทยรักไทย คือ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และทีมที่เคยทำงานกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในรัฐบาลเพื่อไทย ที่ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าทีมงานทั้ง ‘พ่อ’ และ ‘อา’ กลับมาร่วมงานการเมืองกับนางสาวแพทองธารทั้งสิ้น ผนึกกำลังสู้ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้

โดยเนื้อหาสารคดีกล่าวถึงนางสาวแพทองธารในฐานะลูกสาวอดีตนายกรัฐมนตรี และผู้นำพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ว่านางสาวแพทองธารไม่ได้เพิ่งเดินบนเส้นทางการเมืองในช่วงเกือบ 2 ปีนี้เท่านั้น แต่อยู่บนเส้นทางการเมืองมาแล้วตั้งแต่สมัยไทยรักไทย ผ่านทั้งวันคืนที่ดีและร้าย

และในตอนสุดท้ายเป็นคำถามสำคัญที่ว่า ‘ถ้าประเทศไทยมีแพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นอย่างไร’ นางสาวแพทองธารตอบพร้อมรอยยิ้มว่าประเทศไทยจะมีสีสัน ประเทศไทยจะมีนายกรัฐมนตรี ที่จริงใจ รักประชาชน และมีทีมที่ดี เพราะแพทองธารทำคนเดียวไม่ได้ แต่แพทองธารมีทีมมาช่วยทำงานเพื่อประเทศไทย

โดยหลังสารคดีจบ นางสาวแพทองธารได้ไลฟ์พูดคุยสดๆ กับพี่น้องประชาชนผ่านทางไลฟ์อินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก

ติดตามสารคดีพร้อมกันได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=S-zj0yUs3bE

Advertisement

กกต.เตรียมบรรจุวาระช่วยค่าไฟเข้าที่ประชุม

People Unity News : 3 พฤษภาคม 2566 ครม.ส่งหนังสือของบฯ ค่าไฟกลับมาที่ กกต.แล้วบ่ายวันนี้ เตรียมบรรจุวาระเข้าที่ประชุม กกต. ย้ำเร่งไม่ได้ ต้องตามคิว

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติงบกลาง จำนวน 10,464 ล้านบาท เพื่อนำไปช่วยเหลือลดภาระค่าไฟฟ้า ในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค.66 บรรเทาผลกระทบของประชาชน ว่า ขณะนี้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือกลับมายังสำนักงาน กกต. เรียบร้อยแล้ว ในช่วงบ่ายวันนี้ (3 พ.ค.66) เบื้องต้นสำนักงานฯ คงจะต้องตรวจสอบว่า ครม.ได้มีการทำตามเงื่อนไขตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ ทั้งตรวจสอบและวิเคราะห์เนื้อหาเหตุผล ความจำเป็น เพื่อประกอบความเห็นนำเสนอให้ที่ประชุม กกต.ได้พิจารณา

โดยสำนักงาน กกต.จะต้องนำไปบรรจุระเบียบวาระการประชุม กกต. ซึ่งเป็นไปตามลำดับในวาระการประชุม ไม่มีการเร่งหยิบยกขึ้นมาพิจารณา ส่วนจะพิจารณาในสัปดาห์หน้าได้หรือไม่นั้น ส่วนตัวไม่ทราบ ต้องไปดูลำดับเรื่องพิจารณาที่อยู่ในวาระการประชุม กกต.ก่อนว่ามีมากน้อยแค่ไหน

นายแสวง ยังกล่าวว่า การจะอนุมัติตามที่ ครม.ขอมา จะอนุมัติวันไหน อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม กกต. รวมถึงอนุมัติงบฯ ตามกรอบวงเงินที่ ครม.ขอมาหรือไม่ ไม่สามารถให้คำตอบแทน กกต.ได้

Advertisement

“วิษณุ” ยอมรับข้าราชการเกียร์ว่างมาตั้งแต่ก่อนยุบสภา

People Unity News : 1 พฤษภาคม 2566 “วิษณุ” ยอมรับข้าราชการเกียร์ว่างก่อนยุบสภาฯแล้ว เหตุกลัวหากมีรัฐบาลหน้าจะกระทบกับงาน-บางเรื่องไม่เร่งด่วน ย้ำอย่าทำให้ประชาชนเดือดร้อนก็พอ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปฏิบัติตัวของข้าราชการในช่วงรัฐบาลรักษาการจำเป็นต้องเน้นย้ำอะไรหรือไม่ เพราะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มีบางหน่วยงานเกียร์ว่าง ว่า เกียร์ว่างมาตั้งแต่ก่อนยุบสภาแล้ว ซึ่งเป็นธรรมดาช่วงปลายสมัยของรัฐบาล และการเกียร์ว่างก็เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งข้าราชการไม่แน่ใจว่าถ้าทำอะไรไปตอนนี้ รัฐบาลหน้ามาจะกระทบอะไรกับข้าราชการหรือไม่ ก็อาจจะชะลอไว้ก่อน รวมถึงบางอย่างไม่ได้เร่งด่วนอะไรน่าจะรอได้โดยมารยาท

ดังนั้นจะเห็นข้าราชการเกียร์ว่างตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับในคณะรัฐมนตรีหลายครั้งขอให้รัฐมนตรีช่วยกำชับข้าราชการจะเกียร์ว่างหรือไม่ว่างก็ตาม แต่อย่าทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ลำบาก

ส่วนที่ กกต. ทำหนังสือถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ให้กำชับ อสม. ไม่ให้ทำตัวเป็นหัวคะแนนให้พรรคการเมือง ในส่วนของข้าราชการต้องทำหนังสือกำชับหรือวางตัวหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า แล้วแต่ ถ้า กกต. พบว่าข้าราชการมีปัญหาคงรายงานเข้ามา แต่ถ้ายังไม่มีแจ้งมา แสดงว่ายังไม่พบปัญหาให้เห็น ตรงนี้เป็นเรื่องธรรมดาของการเลือกตั้ง เช่น เมื่อปี 2562 ก็ทำหนังสือเตือนออกมาเช่นกัน

Advertisement

 

ผลสำรวจพบคนตั้งใจจะไปเลือกตั้งเพิ่มสูงขึ้น

People Unity News : 30 เมษายน 2566 ช่วงโค้งสุดท้ายมีผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งมาให้ติดตาม ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจ “คนนครสวรรค์เลือกพรรคไหน” สำรวจวันที่ 11-19 เมษายน 2566 ส่วนซูเปอร์โพลเผยโพลเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 6 สำรวจวันที่ 25-30 เมษายน ถามถึงความตั้งใจจะไปเลือกตั้งผู้แทนราษฎรครั้งนี้ พบแนวโน้มคนตั้งใจจะไปเลือกตั้งเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 70.8 ช่วงสัปดาห์ก่อน ขึ้นเป็นร้อยละ 73.2 ในการสำรวจล่าสุดสัปดาห์นี้

ซูเปอร์โพลได้เผยโพลเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 6 สำรวจวันที่ 25 – 30 เมษายน โดยเมื่อถามถึงความตั้งใจจะไปเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ครั้งนี้ พบแนวโน้มคนตั้งใจจะไปเลือกตั้งเพิ่มสูงขึ้นจาก ร้อยละ 70.8 ในช่วงสัปดาห์ก่อน ขึ้นเป็นร้อยละ 73.2 ในการสำรวจล่าสุดสัปดาห์นี้

ที่น่าสนใจคือ 5 อันดับแรกของผู้นำการเมืองที่เชื่อว่าจะมีผลงานแก้วิกฤต ดูแลสุขภาพ สวัสดิการกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 30.2 ระบุ นายอนุทิน ชาญวีรกูล อันดับสองหรือร้อยละ 27.3 ระบุนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และอันดับสามหรือร้อยละ 27.2 เท่า ๆ กันกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันดับสี่หรือร้อยละ 24.4 ระบุนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ต้องการเห็นร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 40.6 ระบุพรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และอื่น ๆ รองลงมาคือร้อยละ 30.2 ระบุ พรรคก้าวไกล เพื่อไทย และอื่น ๆ ร้อยละ 12.3 ระบุ พรรคภูมิใจไทย เพื่อไทย และอื่น ๆ ร้อยละ 5.1 ระบุ พรรคเพื่อไทย พลังประชารัฐ และอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ 5 อันดับแรก ถ้าเลือกนายกรัฐมนตรีได้ อยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า อันดับหนึ่งได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 22.0 ทิ้งห่างไม่ถึง 1% จากอันดับสอง ได้แก่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 21.5 อันดับสามได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ร้อยละ 18.8 อันดับสี่ได้แก่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 16.1 และอันดับห้า ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 11.1

Advertisement

ครม. เคาะใช้งบกลางช่วยลดค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง 4 เดือน

People Unity News : 25 เมษายน 2566 ครม. เคาะงบกลางวงเงินกว่า 11,000 ล้านบาท ช่วยลดค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง 4 เดือน ฝากบอกประชาชน แชร์บิลค่าไฟฟ้าว่อนเน็ต ต้องบอกด้วยใช้ไฟเพิ่มหน้าร้อนหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี ใช้เวลาหารือเรื่องค่าไฟฟ้ากว่า 1 ชม. ก่อนเห็นชอบให้จัดสรรงบกลาง ปี 2566 เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าประชาชน เพื่อช่วยกลุ่มเปราะบาง และเตรียมเสนอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาตามขั้นตอน พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยัน รัฐบาลจะให้ความเป็นธรรมทุกภาคส่วน ที่ร่วมการบริหารจัดการพลังงาน เพราะรัฐบาลไม่สามารถลงทุนทั้งหมดได้ ดังนั้น เอกชนที่มาร่วมลงทุนต้องดำเนินการตามกฎหมาย และกติกาที่มีอยู่ทุกประการ สิ่งใดที่มีปัญหาอยู่ขณะนี้ และมีปัญหาทางกฎหมาย กระทรวงพลังงาน ได้ส่งสัญญาให้อัยการพิจารณาดูแล้ว ว่าเป็นธรรมหรือไม่ เพราะหลายสัญญาทำมานานพอสมควร

ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ถ่ายภาพบิลค่าไฟฟ้า เผยแพร่ตามสื่อสังคมออนไลน์ว่า มีค่าไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ต้องให้ข้อมูลด้วยว่าการใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากในช่วงหน้าร้อน ประชาชนจะใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มีรายงานข่าวว่า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือเท่าเดิม ต่อเนื่องเดือน พ.ค.-ส.ค. เป็นเวลา 4 เดือน ก่อนคำนวณภาษี วงเงินไม่เกิน 7,602 ล้านบาท มีผู้ได้ประโยชน์ 18.36 ล้านคน ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน จะได้ส่วนลด 150 บาท รอบเดือน พ.ค. วงเงินไม่เกิน 3,510 ล้านบาท มีผู้ได้ประโยชน์ 23.4 ล้านคน

Advertisement

รัฐบาลแจงโครงสร้างค่าไฟ เผยสาเหตุค่าไฟแพงมหาโหด

People Unity News : 25 เมษายน 2566 โฆษกรัฐบาล ชี้แจงโครงสร้างค่าไฟฟ้าจากปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ยืนยันรัฐบาลหาแนวทางแก้ปัญหาช่วยเหลือประชาชนมาตลอด

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงโครงสร้างค่าไฟฟ้าจากปี 2555 จนถึงปัจจุบัน โดยได้ชี้แจงรายละเอียดดังนี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 รัฐบาลในขณะนั้นได้ปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทย หรือ Power Development Plan (PDP) ฉบับปี 2010 จากฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 เป็นฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 3 โดยได้ประมาณการความต้องการไฟฟ้าใหม่ตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจและผลกระทบจากอุทกภัยปี 2554 ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ไทย ขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 4 – 5 ตั้งแต่ปี 2555 – 2569 (โดยในปี 2557 – 2558 GDP มีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.7 – 6.0 ตามเศรษฐกิจโลกในช่วงขาขึ้นในขณะนั้น)

ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย ปรับตัวสูงขึ้นตาม GDP ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นจึงได้เพิ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ก๊าซธรรมชาติ) เข้าไปในแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 (ปี 2555) ซึ่งรวมถึงโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (Independent Power Producer: IPP) 5,400 MW (จ่ายไฟเข้าระบบ ระหว่างปี 2564 – 2569 ปีละ 900 MW) เพื่อให้รองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า ภายใต้ประมาณการว่าการสำรอง (Reserve) ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 – 24 และต่อมารัฐบาลได้เปิดประมูลโรงไฟฟ้า IPP จำนวน 5,400 MW ดังกล่าว ในปี 2555

เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาบริหารประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ได้พยายามที่จะทบทวนความจำเป็นของโครงการโรงไฟฟ้า IPP 5,400 MW ดังกล่าว แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีการลงนามผูกผันไปแล้ว (ตามคำตัดสินของศาลปกครอง) ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการให้ทบทวนแผน PDP ใหม่อีกครั้ง ซึ่งพบปัญหาที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้

1.อัตราความต้องการใช้พลังงานไม่ได้เป็นไปตามที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ได้ประมาณการไว้ ซึ่งทำให้ Reserve Margin % ณ ปี 2558 ที่เคยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 กลายเป็นร้อยละ 30 และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในอนาคต

2.โรงไฟฟ้าที่อนุมัติไปทั้งหมดก่อนหน้านี้ รัฐบาลต้องจ่ายค่าความพร้อม หรือ Availability Payment (AP) โดยกำหนดในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอย่างชัดเจน และเป็นสัญญาระยะยาว

3.แผนจัดหาแหล่งพลังงานสะอาดและพลังงานน้ำมีจำกัด และมีการเพิ่มพลังงานจาก fossil ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางของโลกที่มุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

จากประเด็นข้างต้น หากไม่มีการดำเนินการอะไรจากรัฐบาล จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในอนาคต และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จึงได้จัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ (PDP 2015) (ปี 2558) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และได้มีการปรับแผน PDP อีกหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน คือ แผน PDP 2018 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) เมื่อปี 2563 เพื่อให้แผนการจัดหาไฟฟ้าสะท้อนภาพความเป็นจริงและสอดรับกับแนวทางการพัฒนาประเทศมากที่สุด

ทั้งนี้ ในปี 2565 Reserve Margin % อยู่ที่ร้อยละ 36 เนื่องจากระหว่างปี 2563 – 2565 ไทยและทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงกว่าที่ประมาณการไว้ (แม้ว่าจะปรับทอนลงไปแล้วบางส่วนให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตอนจัดทำแผน PDP 2015 และ 2018 ใหม่แล้ว) ในขณะที่การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ตามแผน PDP ก่อนหน้านี้ ได้ผูกมัดการดำเนินการต่าง ๆ ไปหมดแล้ว โดยมีกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบตั้งแต่ปี 2564 เป็นไปต้นไป ทำให้ประเทศไทยมี POWER SUPPLY ตามแผน แต่ POWER DEMAND ต่ำกว่าแผน ส่งผลให้ RESERVE MARGIN ยังสูงอยู่ และส่วนหนึ่งมีผลกระทบต่อค่าไฟในภาพรวม

จากกรณีดังกล่าว ในช่วงแรก รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จึงได้ดำเนินการปรับโครงสร้างค่าไฟ เพื่อลดภาระของประชาชน ดังนี้

1.ลดค่าไฟฟ้าฐานลง จาก 3.77 บาท/หน่วยเป็น 3.75 บาท/หน่วย และคงค่าไฟฟ้าฐานในอัตราดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน (เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558) โดยเป็นการปรับลดวงเงินลงทุนและรายได้ของของ 3 การไฟฟ้าลง (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค)

2.ทยอยปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร Ft ลงจาก 0.69 บาท/หน่วย ในช่วงปี 2557 เป็น ต่ำกว่า 0 บาท/หน่วย ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2564 เพื่อเป็นการบรรเทาอัตราค่าไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากการประมาณการที่ผิดพลาดของรัฐบาลก่อนหน้า ทั้งนี้ การลดค่า Ft ต่ำกว่า 0 ในช่วงเวลาดังกล่าว อาศัยแหล่งเงินจากเงินบริหารค่า Ft และเงินของทั้งสามการไฟฟ้าฯ ซึ่ง ณ ขณะนั้นยังมีวงเงินคงเหลือในระดับที่สามารถนำมาใช้ได้ (แต่ปัจจุบัน เงินคงเหลือของทั้งสามการไฟฟ้าฯ ได้หมดลงแล้ว เนื่องจากได้นำไปอุดหนุนค่าไฟให้กับประชาชนในช่วงโควิดเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนอย่างต่อเนื่อง)

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนประเทศในการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จึงได้เร่งดำเนินการเพิ่มการจัดหาและรับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการต่าง ๆ เช่น การรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว เพิ่มเติม โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar rooftop)

สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย ปี 2562 – 2565 และโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานในช่วงระหว่างปี 2565 – 2573 ซึ่งโครงการที่ได้อนุมัติและดำเนินการในช่วงดังกล่าว มีต้นทุนค่าไฟที่ต่ำกว่าการรับซื้อจากโรงไฟฟ้า IPP ของเอกชนอย่างมาก และจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในอนาคตหากวิกฤตราคาพลังงานยังคงส่งผลต่อเนื่อง หรือก๊าซในอ่าวไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลการดำเนินงานดังกึสามารถทำให้อัตราส่วนของพลังงานหมุนเวียนปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 33 ในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 52 ในปี 2580

หากดำเนินการตามแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (ปี 2563) ตามที่รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ ได้วางแผนไว้ จะส่งผลให้สัดส่วนกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้า IPP ก๊าซธรรมชาติ ตั้งแต่ปี 2570 ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 28 ในปี 2569 เหลือร้อยละ 14 ในปี 2580 สะท้อนถึงการวางแผนระยะยาวในการลดปริมาณการรับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลต่อค่าไฟระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2564 – ปัจจุบัน ได้เกิดวิกฤตพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาพลังงานที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติอย่างมาก ส่งผลให้ค่าไฟในส่วนของค่าเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น สะท้อนในค่า Ft ซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้กำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจมาโดยตลอด เช่น การตรึงค่าไฟฟ้า สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย (ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน)

“รัฐบาลรับทราบข้อกังวล และไม่นิ่งนอนใจต่อความเดือดร้อนของประชาชนเรื่องค่าไฟฟ้าโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนนี้  ซึ่งอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น อย่างไรก็ตามขอทำความเข้าใจถึงปัจจัยสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต การดำเนินการที่ผ่านมา รวมถึงข้อเท็จจริงเรื่องแผนการจัดการไฟฟ้าสำรองของประเทศในปัจจุบัน  อีกทั้งกระบวนการในส่วนที่รัฐสามารถจัดการได้ตามกรอบระเบียบและกฎหมาย รวมถึงกรอบการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักสากล ที่สำคัญรัฐบาลได้ช่วยเหลือประชาชนมาอย่างต่อเนื่องในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งการช่วยเหลือของรัฐบาลนั้น ต้องคำนึงถึงภาพรวมของประเทศ ว่าแต่ละภาคส่วนได้รับผลกระทบหรือไม่อย่างไร รวมทั้งการวางแผนในระยะยาว ทั้งนี้ ขอยืนยันแนวทางการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมาในความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือและลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเรื่องค่าไฟฟ้าในขั้นตอนต่อไป” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

ซูเปอร์โพลชี้คนหนุนผู้นำแก้ ศก.-ปากท้อง “อนุทิน” นำห่าง “อุ๊งอิ๊ง-จุรินทร์”

People Unity News : 23 เมษายน 2566 ซูเปอร์โพลเผยผลสำรวจนโยบายพรรคการเมือง-ผู้นำที่ประชาชนชื่นชอบ พบ “อนุทิน” นำห่าง “อุ๊งอิ๊ง-จุรินทร์” หวังให้แก้เศรษฐกิจ-ปากท้อง

ซูเปอร์โพลเปิดเผยผลสำรวจ “นโยบายพรรคการเมืองที่ชื่นชอบของประชาชน” พบว่า 3 อันดับแรก พรรคการเมืองที่มีนโยบายช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ชื่นชอบ ได้แก่ ร้อยละ 40.4 ระบุพรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 36.2 ระบุพรรคภูมิใจไทย และร้อยละ 21.3 ระบุพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อพิจารณา 3 อันดับแรกพรรคการเมืองที่มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรและไม่ด่างพร้อย ไม่ทุจริตที่ชื่นชอบ พบว่าร้อยละ 41.0 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 38.3 ระบุพรรคภูมิใจไทย และร้อยละ 29.1 ระบุ พรรคเพื่อไทย ตามลำดับ

นอกจากนี้ 3 อันดับแรกพรรคการเมืองที่มีนโยบายที่ทำตามที่พูด พูดแล้วทำ (ตอบได้มากกว่า 1 พรรค) พบว่าร้อยละ 53.9 ระบุพรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 44.2 พรรคเพื่อไทย และร้อยละ 39.7 พรรคพลังประชารัฐ ตามลำดับ

ผู้นำทางการเมืองที่ต้องการให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง พบว่าส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 58.6 ระบุนายอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 37.5 ระบุนางสาวแพทองธาร ชินวัตร และร้อยละ 35.6 ระบุนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ตามลำดับ

Advertisement

“กรณ์” จวก ลดค่าไฟแค่ 2 สตางค์ อย่าอ้างว่าช่วย

People Unity News : 23 เมษายน 2566 “กรณ์” จวก ลดค่าไฟแค่ 2 สตางค์ อย่าอ้างว่าช่วย ยันต้องยกเลิกค่าไฟฟ้าFT 3 เดือนสุดร้อนเพื่อประชาชน

จากกรณีมีข่าวว่าคณะอนุกรรมการค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) มีมติเห็นชอบตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอขอรับภาระยืดหนี้การชำระค่าไฟฟ้าวงเงิน 130,000 ล้านบาท แทนประชาชนจาก 5 งวด ที่มีการเรียกเก็บค่าเอฟทีทุก 4 เดือน หรือ 20 เดือน จากงวดละ 27,000 ล้านบาท เป็น 6 งวด หรือ 24 เดือน เป็นเหลือเพียงงวดละ 22,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดที่ 2 ของปีนี้ (พ.ค.-ส.ค.) ลดลง 7 สตางค์ ต่อหน่วย จากเดิมที่ประกาศจัดเก็บ 4.77 บาท เหลือเพียง 4.70 บาทต่อหน่วย

ในประเด็นดังกล่าว นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า จากกระแสค่าไฟแพง ที่ตนออกมาเรียกร้องเมื่อเดือนมีนาคม จนตอนนี้ปัญหาค่าไฟแพง กลายเป็นประเด็นรุนแรงทั่วโซเชียล จนคณะอนุกรรมการเอฟทีชงบอร์ด กกพ. ให้ลดค่าไฟ แต่ตัวเลขที่ลดมันน้อยจนน่าเกลียด

“ผมขอไม่ใช้คำว่าลด 7 สตางค์ตามข่าวนะครับ เพราะเดือนนี้จ่ายอยู่ 4.72 เดือนหน้าจ่าย 4.70 นับยังไงก็ 2 สตางค์ อย่าเอาตัวเลขเดือนหน้าที่จะขึ้นอย่างไร้เหตุผลเป็น 4.77 บาทมาหลอกกัน ผมเสนอว่ายกเลิกค่าเอฟที 3 เดือนสุดร้อนนี้ ลดไป 93 สตางค์ต่อหน่วย ลองคิดตามผมนะครับ สมมติเราใช้ไฟ 485 หน่วย เราจ่ายค่าไฟเดือนนี้ 2,564.05บาท ถ้าไม่คิดค่าเอฟที ค่าไฟจะลดเหลือ 2,111.05บาท ลดไป 453 บาท (485 หน่วย x 0.93 สตางค์) แต่ถ้าลด 2 สตางค์ตามที่ กกพ. กำลังจะเปิดรับความคิดเห็น 485 หน่วย คูณ 0.02 สตางค์ ลดได้ 9.72 บาท ยังไม่สิบบาทเลยครับ” นายกรณ์ กล่าว

หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาแบบขอไปทีเช่นนี้คือเหตุผลที่เลือกตั้งครั้งนี้ต้องเลือกพรรคที่จริงใจจริงจัง และเสมอต้นเสมอปลายกับการชนกับทุนผูกขาด

Advertisement

เผยภาพจริงบัตรเลือกตั้ง แบ่งเขตสีม่วง-บัญชีรายชื่อสีเขียว

People Unity News : 17 เมษายน 2566 กกต.เผยแพร่สีบัตรเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว แบ่งเขตสีม่วง-บัญชีรายชื่อสีเขียว หลังทำสับสน เจอแซว “มีบัตรไหนที่เลือกไม่เอา กกต.ชุดนี้บ้าง”

สำนักประชาสัมพันธ์สำนักงาน กกต. ได้เผยแพร่ภาพบัตรเลือกตั้งตัวอย่างที่จะใช้ในการรณรงค์เลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว โดยบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะเป็นสีม่วง มีหมายเลขผู้สมัคร และช่องสำหรับกากบาท โดยไม่มีชื่อผู้สมัครและโลโก้พรรค

ส่วนบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จะเป็นสีเขียว มีสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายของพรรคการเมือง และมีชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้ง

ทั้งนี้ช่วงบ่ายวานนี้ (16 เม.ย.) เพจสำนักงาน กกต.ได้มีการเผยแพร่ภาพบัตรเลือกตั้งทั้งสองแบบ แต่ในเวลาต่อมาก็ได้มีการลบออก คาดว่าเพราะภาพบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่โชว์นั้นไม่มีสัญลักษณ์ และชื่อพรรคการเมือง ซึ่งในช่วงค่ำก็ได้มีการเผยแพร่ภาพบัตรเลือกตั้งทั้งสองแบบอีกครั้ง โดยเป็นลักษณะเดียวกับที่สำนักประชาสัมพนธ์ กกต.เผยแพร่ในเช้าวันนี้ และพบว่าในช่องแสดงความเห็นมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นตำหนิการทำงานของ กกต. เช่น มีบัตรไหนที่เลือกไม่เอา กกต.ชุดนี้บ้าง, สภาพ ทำไปได้บอกไม่มีงบแต่มีเงินไปดูงานต่างประเทศ, พอแล้วนะ ไม่เปลี่ยนแล้วใช่ไหม อีกแค่ไม่กี่เดือนแล้วนะ ก่อนจะสับสนไปมากกว่านี้, ผิดพลาด 2 รอบแล้ว คนดูแลเพจไม่ดูรึ ก่อนจะเอาลงเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ อย่าทำงานชุ่ยสิ”

Advertisement

นายกฯ กำชับ ก.คมนาคม แก้ปัญหาราคาตั๋วเครื่องบินแพง

People Unity News : 16 เมษายน 2566 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ติดตามปัญหาราคาบัตรโดยสารเครื่องบินราคาแพง กำชับกระทรวงคมนาคม กำกับดูแลอัตราค่าโดยสารอากาศยานภายในประเทศ ให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี ให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลอัตราค่าโดยสารอากาศยานภายในประเทศให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมและสายการบินกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมนั้น

กระทรวงคมนาคมได้รายงานสถานการณ์ราคาบัตรโดยสารอากาศยานภายในประเทศว่า ความต้องการการเดินทางทางอากาศกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ซึ่งเป็นช่วง High Season ของการท่องเที่ยว โดยปริมาณผู้โดยสารภายในประเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85 และผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 53.89 ในขณะที่สายการบินไม่สามารถเพิ่มจำนวนที่นั่งได้ทันต่อความต้องการ เนื่องจากทุกสายการบินมีการลดขนาดฝูงบินเพื่อรักษากระแสเงินสดในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับปัจจุบันสายการบินทั่วโลกเร่งจัดหาอากาศยานพร้อมกัน ทำให้เกิดการแข่งขันในการจัดหาอากาศยานเพื่อให้บริการ นอกจากนี้ ราคาบัตรโดยสารการบินจะมีความแตกต่างกันตามช่วงเวลาที่ทำการซื้อ ดังนั้น หากผู้โดยสารทำการวางแผนการเดินทางล่วงหน้าจะสามารถซื้อบัตรโดยสารได้ในราคาถูก แต่ที่ผ่านมาผู้โดยสารมีพฤติกรรมในการจองบัตรโดยสารในช่วงใกล้วันเดินทางมากขึ้น ส่งผลให้ต้องซื้อบัตรโดยสารที่มีราคาแพงกว่าการจองล่วงหน้า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล จึงมีแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าโดยสารให้เกิดความเป็นธรรมทั้งกับผู้โดยสารและสายการบิน ดังนี้

1.สนับสนุนสายการบินในการเร่งเพิ่มจำนวนที่นั่งให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาค่าโดยสารภาพรวมลดลงได้ โดยดำเนินการ ดังนี้

(1) การเพิ่มจำนวนอากาศยานซึ่งในปัจจุบันสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้พิจารณาอนุญาตให้สายการบินเพิ่มจำนวนอากาศยาน ได้แก่ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ได้รับอนุญาตให้เพิ่มจำนวนอากาศยานแล้ว 7 ลำ สายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์อยู่ระหว่างการขออนุญาตเพิ่มอากาศยาน 3 ลำ การบินไทยขออนุญาตเพิ่มอากาศยาน 6 ลำ และไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ขออนุญาตเพิ่มอากาศยาน 2 ลำ

(2) ให้สายการบินกลับมาใช้ Slot เดิมที่หยุดทำการบินในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเพิ่มจำนวนเที่ยวบินให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้โดยสาร

(3) ประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารวางแผนการเดินทางล่วงหน้า โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์และ Facebook ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ กลไกการกำหนดราคาค่าโดยสารของสายการบิน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนสามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าเพื่อให้ได้บัตรโดยสารในราคาที่เหมาะสม

2.ทบทวนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลค่าโดยสารเส้นทางภายในประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและส่งเสริมการแข่งขันตามกลไกตลาด ที่ผ่านมาสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการโดยการจัดประชุมหารือกับผู้แทนสายการบิน และจัดประชุมเชิงปฏิบัติการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อรวบรวมปัญหาและข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินการทบทวนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลค่าโดยสารที่เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้มีการติดตามตรวจสอบราคาค่าโดยสารอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำรายงานค่าบัตรโดยสารเป็นรายไตรมาส ซึ่งมีการเผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (www.caat.or.th) รวมทั้งมีการสุ่มตรวจราคาค่าบัตรโดยสารในช่วงที่มีความต้องการเดินทางสูงเพื่อตรวจสอบไม่ให้สายการบินจำหน่ายบัตรโดยสารในราคาที่เกินกว่าอัตราเพดานที่กำหนด

“นายกรัฐมนตรีติดตามปัญหาราคาบัตรโดยสารเครื่องบิน โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก จึงได้สั่งการในการประชุม ครม. ให้กระทรวงคมนาคมกำกับดูแลอัตราค่าโดยสารอากาศยานภายในประเทศ ให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมและสายการบินกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม โดยนายกรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์ราคาบัตรโดยสารอากาศยานภายในประเทศและแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าโดยสาร ดังกล่าว พร้อมกำชับให้กระทรวงคมนาคมติดตามการพิจารณาของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ในส่วนการกำกับดูแลอัตราค่าโดยสารอากาศยานภายในประเทศ ให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดต่อไป” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

Verified by ExactMetrics