วันที่ 27 พฤศจิกายน 2024

นายกฯเร่งผลักดัน Soft Power ด้านกีฬา เช่น มวยไทย เป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรม

People Unity News : นายกฯ ชื่นชมความสำเร็จทัพนักกีฬาไทย คว้าเหรียญซีเกมส์ ครั้งที่ 31 รวม 332 เหรียญ ย้ำรัฐบาลหนุนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ ดัน Soft Power ด้านกีฬาของไทย

วันนี้ 6 กรกฎาคม 2565 นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเลี้ยงฉลองชัยมอบเงินรางวัลและแสดงความยินดีแก่นักกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 เมื่อวันที่ 12 – 23 พ.ค. 65 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งไทยส่งนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 41 ชนิดกีฬา รวม 1,236 คน และสามารถคว้าเหรียญรางวัลรวม 332 เหรียญ (92 เหรียญทอง 102 เหรียญเงิน และ 138 เหรียญทองแดง)

นายกฯ มอบของที่ระลึกให้แก่ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะหน่วยงานส่งนักกีฬาร่วมแข่งขัน และมอบเงินรางวัลจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติให้นักกีฬา ผู้ฝึกสอน และสมาคมกีฬาที่ได้เหรียญรางวัล – ร่วมการแข่งขัน รวม 207,030,000 บาท

พร้อมกล่าวแสดงความยินดี ซึ่งถือเป็นความสำเร็จและเป็นเกียรติประวัติของประเทศที่คณะนักกีฬาไทยได้ร่วมกันสร้างชื่อเสียง และนำความภาคภูมิใจมาสู่พี่น้องชาวไทย นับเป็นก้าวที่สำคัญของนักกีฬาและประวัติศาสตร์ของวงการกีฬาไทย

นายกฯ ย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาการกีฬาของประเทศ เพื่อต่อยอดสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติและนักกีฬาอาชีพในระดับนานาชาติ/ การส่งเสริมการแข่งขันกีฬาภายในประเทศทุกระดับ เพื่อให้นักกีฬาได้มีเวทีแสดงทักษะ ความสามารถ ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปพัฒนาทักษะของตนเองให้ดียิ่งขึ้น

รวมถึงเร่งผลักดัน Soft Power ด้านกีฬาของไทย เช่น มวยไทย ให้เป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมของประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่อไป

Advertisement

สมเด็จพระสังฆราช ประทานพรให้นายกฯ ทำงานสำเร็จ

People Unity News : 26 มิถุนายน 2565 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพรให้นายกรัฐมนตรีทำงานประสบความสำเร็จ เพื่อประเทศชาติและประชาชน เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ 26 มิถุนายน 2565

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา เข้าถวายเครื่องสักการะแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ 26 มิถุนายน 2565 ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ใช้เวลา 20 นาที

นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าสมเด็จพระสังฆราช ประทานกำลังใจให้ทำงานประสบความสำเร็จ เพื่อประเทศชาติและประชาชน และยังประทานพรให้กับประชาชนทั่วไปตามบทบาทของสงฆ์และพระพุทธศาสนา

Advertisement

นายกฯ ประกาศไทยพร้อมเป็น “เจ้าภาพ” จัดการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาค

People Unity News :  21 มิถุนายน 65 ไทยพร้อมเป็น “เจ้าภาพ” จัดการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง หลังรัฐคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี ส่งผลให้ต่างชาติเชื่อมั่น

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ไทยได้รับความไว้วางใจจากประเทศสมาชิกในภูมิภาคให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากการที่รัฐสามารถควบคุมสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้ดี บวกกับความพร้อมและศักยภาพในด้านอุตสาหกรรมกีฬาของไทย

ล่าสุด ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานานาชาติ 2 ชนิด คือ 1.สควอชเยาวชนชิงแชมป์เอเชีย ครั้งที่ 29 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 19 มิ.ย. 65 ณ จ.ชลบุรี และ 2.เทเบิลเทนนิสเยาวชนชิงแชมป์อาเซียน ครั้งที่ 26 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 22 มิ.ย. 65 รวมทั้งเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์อาเซียน ครั้งที่ 12 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 28 มิ.ย. 65 ณ ไอส์แลนด์ฮอลล์ ชั้น 3 ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์

ทั้งนี้ นายกฯ ได้ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกำชับให้เร่งเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และเตรียมความพร้อมก่อนต่อยอดในการเป็นเจ้าภาพกีฬา SEA GAME 2025

Advertisement

พล.อ.สิงห์ศึก ยันวุฒิสภาไม่ยื่นอภิปรายรัฐบาล

People Unity News : 13 มิถุนายน 2565 “พล.อ.สิงห์ศึก” ยันวุฒิสภาไม่ยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติรัฐบาล แจงเป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้ไม่มีใครยื่น ชี้ รัฐบาลบริหารราชการดีอยู่แล้ว

พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ระบุ วุฒิสภาจะทำงานเชิงรุก และมีกลไกติดตามการบริหารงานรัฐบาลคือรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ในการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติว่า ตอนนี้ไม่มีการเสนอญัตติของสมาชิก ยอมรับว่ามีกฎหมายบัญญัติไว้ แต่จะทำหรือไม่ทำอยู่ที่วุฒิสภา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในขณะนี้ ทำดีอยู่แล้ว ไม่มีอะไรให้ต้องเปิดอภิปรายทั่วไป จึงเห็นว่าการอภิปรายก็ให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรว่ากันไป

พร้อมกันนี้ ยังปฏิเสธข้อสังเกตแนวคิดอภิปรายทั่วไปฯของวุฒิสภาว่า เป็นการเปิดเวทีให้รัฐบาลชี้แจงผลงานก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน หรือเป็นการฟอกขาวให้รัฐบาล โดยย้ำว่า มีกลไกตามกฎหมายตามข้อบังคับการประชุม แต่จะดำเนินการหรือไม่นั้น ตอนนี้ไม่มี เพราะส่วนใหญ่เห็นด้วยว่า รัฐบาลพยายามทำในสิ่งที่ดีเพื่อประชาชน

Advertisement

“ประวิตร” พอใจผลสำเร็จ ไร้พื้นที่ภัยแล้งฤดูแล้งปี 64/65 พร้อมเดินหน้า 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้

People Unity News : 11 มิ.ย. 65 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) แถลงถึงความสำเร็จในการบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 64/65 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผลงานเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง ส่งผลให้ประเทศไทยไม่มีการประกาศพื้นที่ภัยแล้ง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติการตามมาตรการและแผนเชิงรุกเพื่อรับมือภัยแล้งที่วางไว้ สามารถลดและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการเตรียมรับมือฤดูฝนที่กำลังมาถึงในปี 65 นี้ รัฐบาลได้กำหนด 13 มาตรการรับมือฤดูฝน โดยเพิ่มเติม 3 มาตรการ จากเดิมปี 64 ที่มี 10 มาตรการ เช่น การคาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ การปรับปรุงระบบการระบายน้ำ และสิ่งกีดขวางทางน้ำตลอดจนตรวจความมั่นคงปลอดภัยของคัน ทำนบและพนังกั้นน้ำ

พร้อมมอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุได้อย่างทันท่วงที วางแผนเก็บกักน้ำสำรองทุกแหล่ง ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินไว้รองรับฤดูแล้งหน้าด้วย รวมทั้งสร้างการรับรู้แก่ประชาชนและทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง เพื่อให้การแก้ปัญหาด้านน้ำเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืนต่อไป

Advertisement

รู้จักยัง? “ยุทธศาสตร์แห่งรอยยิ้ม (SMILES)” ของนายกฯ เพื่ออนาคตการท่องเที่ยวไทย

People Unity News : 8 มิถุนายน 2565 “ยุทธศาสตร์แห่งรอยยิ้ม (SMILES)” ที่เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบเพื่อเป็นกรอบแนวทางในการระดมสมองในโครงการ Thailand Tourism Congress 2022 ณ จ.ภูเก็ต เวทีแห่งการมีส่วนร่วมเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างอนาคตการท่องเที่ยวไทย ประกอบด้วย

S – Sustainability ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ทั้งเรื่องการใช้พลังงาน Carbon Footprint ไปจนถึง Food Waste

M – Manpower ให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ทางด้านการท่องเที่ยว ที่มีทักษะในระดับนานาชาติ แต่รักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้อย่างมีเสน่ห์

I – Inclusive Economy ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมกับคนทุกเพศ ทุกวัย เด็ก คนชรา รวมถึงออกแบบสถานที่การท่องเที่ยวให้ตอบสนองทุกกลุ่มคน และสร้างโอกาสในการทำงานด้านการท่องเที่ยวให้กับผู้ด้อยโอกาส

L –  Localization ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ชูจุดเด่นที่แตกต่างกัน และนำมาร้อยเรียงให้สนับสนุนกัน

E – Ecosystems ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศทางการท่องเที่ยว ทั้งเรื่องระบบนิเวศธรรมชาติ และระบบนิเวศทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงการลดเงื่อนไข ทอนขั้นตอนทางด้านกฎหมาย เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงได้

S – Social Innovation ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านสังคมที่จะส่งเสริม และสนับสนุนให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ

Advertisement

รัฐบาลผนึกกำลังภาคีเครือข่าย “ร่วมต่อต้านการค้ามนุษย์” วันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ปี 65

People Unity News : 6 มิถุนายน 2565 วันนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “วันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ปี 65” ภายใต้แนวคิด “NO VICTIMS NO TEARS” (ไม่มีผู้เสียหาย ไม่มีน้ำตาจากการค้ามนุษย์) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นของรัฐบาล ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย (Zero Tolerance)

นายกฯ ย้ำว่า “การค้ามนุษย์” เป็นภัยคุกคามที่ส่งผลต่อความมั่นคงของชาติและภาพลักษณ์ของประเทศ และรัฐบาลได้ประกาศให้เป็น “วาระแห่งชาติ”  มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ซึ่งดำเนินงานสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี

จากสถานการณ์การแพ่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ขบวนการค้ามนุษย์ คิดหาวิธีการหลอกลวง นำพา และกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ในรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น

จึงขอให้ทุกภาคส่วนบูรณาการการทำงานในทุกมิติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ตลอดจนปรับวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรูปแบบการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์โลก

รวมทั้งให้พัฒนาการดำเนินคดี การป้องกัน และการคุ้มครอง ให้ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง ตามหลักสิทธิมนุษยชน มาตรฐานสากล มีความเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และให้ความรู้ ความใจที่ถูกต้อง เพื่อให้คนไทยได้ตระหนัก และไม่เข้าร่วมหรือสนับสนุนขบวนการดังกล่าว

Advertisement

พรุ่งนี้ 6 มิ.ย. นายกฯ ไป “ภูเก็ต” ติดตาม “พัฒนาการศึกษา – ขับเคลื่อนท่องเที่ยวไทย”

People Unity News : 5 มิถุนายน 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ภูเก็ต ในวันจันทร์ที่ 6 มิ.ย. 65 เพื่อติดตามการพัฒนาการศึกษาของจังหวัด พร้อมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน (Partnership school) ณ โรงเรียนพุทธมงคลนิมิตร

นอกจากนี้ จะเป็นประธานเปิดการสัมมนากำหนดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวประเทศไทย (Thailand Tourism Congress 2022) และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การยกระดับการท่องเที่ยวไทย สู่การท่องเที่ยวคุณภาพที่ยั่งยืน” ณ โรงแรมบียอนด์ รีสอร์ท กะตะ

สำหรับโครงการ Thailand Tourism Congress 2022 นั้น จะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นและองค์ความรู้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทย มุ่งสู่การเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวสำคัญของการท่องเที่ยวโลก

Advertisement

รัฐบาลเปิดรายละเอียดงบฯปี 66 ด้านสวัสดิการสังคม เทียบกับงบปี 57 มากกว่า 1.8 แสนล้าน

People Unity News : 4 มิถุนายน 2565 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับเด็กวัยเรียน ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส รวมถึงสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อเทียบกับงบประมาณปี 2557 ข้อเสนอในงบประมาณปี 2566 ด้านสวัสดิการสังคมมีงบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 183,002.4412 ล้านบาท แบ่งเป็น

-กลุ่มเด็กเล็ก เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด (0 – 6 ปี) 600 บ./เดือน สำหรับครัวเรือนที่บิดามารดามีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี กลุ่มเป้าหมาย 2.58 ล้านคน

-กลุ่มเด็กวัยเรียน จะต้องได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี ตั้งแต่อนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มเป้าหมาย 10.77 ล้านคน รวมถึงการสนับสนุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ยากจนและยากจนพิเศษให้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพกว่า 2.62 ล้านคน

-กลุ่มผู้สูงอายุ มีการสนับสนุนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อเนื่อง ตั้งแต่ 600 – 1,000 บาท/คน/เดือน (ตามช่วงอายุ) กลุ่มเป้าหมาย 11.03 ล้านคน และในปี 2566 ได้มีการเพิ่มการปรับปรุง ซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุ ให้มีความเหมาะสมและปลอดภัย จำนวน 10,000 หลัง

-กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย โดยช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มเป้าหมาย 13.45 ล้านคน/ การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย “บ้านพอเพียงในชนบท” 25,000 ครัวเรือน/ การปรับปรุงที่อยู่อาศัยเพื่อแก้ปัญหาชุมชนแออัด “บ้านมั่นคง” 3,750 ครัวเรือน/ เบี้ยยังชีพความพิการ 1,000 บาท/คน/เดือน กลุ่มเป้าหมาย 2.09 ล้านคน

-กลุ่มสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล ทั้งแรงงานในระบบประกันสังคม โดยได้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้เป็น 70% ของค่าจ้าง/ เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร ให้ได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร 50% ของค่าจ้าง 98 วัน กลุ่มเป้าหมาย 23.34 ล้านคน/ การดูแล อสม. หมอประจำบ้าน เพื่อสนุนค่าป่วยการ การดูแลศักยภาพ ให้ดูแลสุขภาพตนเองและชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยมีค่าตอบแทน 1,000 บาท/คน/เดือน กลุ่มเป้าหมาย 1.05 ล้านคน

รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะดูแลประชาชนตามช่วงวัย รวมถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เพื่อช่วยเหลือให้เข้าถึงสวัสดิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวัสดิการสังคมอย่างทั่วถึง ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์ในปัจจุบัน

Advertisement

นายกฯชี้แจงจัดสรรงบประมาณทุกด้านตามความท้าทายโลก พลังงาน สิ่งแวดล้อม Smart Farmer

People Unity News : วันนี้ (2 มิถุนายน 2565) เวลา 15.30 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยนายกรัฐมนตรีได้วางยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตโดย เรื่องอุตสาหกรรม การค้า การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน ประเทศไทยได้ประกาศกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (CO2) โดยมีเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี พ.ศ.2593 (ค.ศ.2050) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2608 (ค.ศ.2065) การตั้งเป้าหมายดังกล่าว จะทำให้ลดความเสี่ยงจากการถูกกีดกันทางการค้า และเพิ่มโอกาสที่จะเข้าร่วมในเวทีการค้าได้มากขึ้น เนื่องจากเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะถูกใช้เป็นเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องใช้โอกาสเร่งพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรม คิดค้นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่จะตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไป ก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่มุ่งใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่มุ่งไปสู่สินค้าและบริการ ที่สร้างผลกระทบให้โลกน้อยที่สุด ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทางการค้า การส่งออก และภาคธุรกิจไทย

โดยในภาคพลังงาน การผลิตไฟฟ้า รัฐบาลได้ปรับโครงสร้างพลังงานลดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) รัฐบาลกำหนดแผนที่จะผลิตรถยนต์ไม่ปล่อยมลพิษร้อยละ 30 ของการผลิตในปี 2573 ทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะ รถจักรยานยนต์ รถบัส และรถบรรทุก โดยมีแผนระยะสั้นและระยะปานกลาง เพื่อเพิ่มความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวม ตลอดจนออกมาตรการสนับสนุน สร้างแรงจูงใจและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น การส่งเสริมสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ เป็นต้น

รองนายกรัฐมนตรีพลเอกประวิตร ได้ดูแลด้านการปลูกและเพิ่มพื้นที่ป่า และการพัฒนาตลาดซื้อขายคาร์บอน เป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน รัฐบาลมีแผนในการเพิ่มพื้นที่ปลูกป่าในประเทศ จากร้อยละ 31.8 เป็นร้อยละ 40 ในปี 2579 เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นการใช้จุดแข็งของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีพันธุ์พืชที่เหมาะกับการดูดซับก๊าซเรือนกระจกสูงต่อพื้นที่หลายชนิด นอกจากนี้ รัฐบาลได้พัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย โดยกำหนดแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนในการลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภาคเอกชน ชุมชน และท้องถิ่นก็จะมีรายได้จากการปลูกป่า ต้นไม้ ที่เข้าร่วมโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) มุ่งเน้นการใช้ความหลากหลายของทรัพยากรที่ไทยมีอยู่มาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ควบคู่การใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG ที่ในภาคการเกษตรและอาหาร

รัฐบาลถือว่าภาคเกษตรกรรมเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมให้เข้มแข็ง ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรแบบครบวงจร เพื่อยกระดับเกษตรกรไทยเป็นการสร้าง “เกษตรอัจฉริยะ” หรือ Smart Farmer ช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน เช่น เกษตรกรใช้เทคโนโลยีมาควบคุมการปลูก ทั้งการให้น้ำ ให้ปุ๋ย เฝ้าดูการเจริญเติบโตขของพืช แม้แต่ช่วยเลือกเวลาที่เหมาะสมในการรับแสงแดด

นอกจากนี้ เศรษฐกิจ BCG ยังเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ความเป็นไทย และมรดกทางวัฒนธรรม” (Soft Power) “5F” คือ (1) Food-อาหาร (2) Film-ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ (3) Fashion-การออกแบบแฟชั่นไทย (4) Fighting-ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (5) Festival-เทศกาลประเพณีไทย มาสร้าง “มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ” จากระดับท้องถิ่นสู่เวทีระดับโลก ส่วนที่สนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาที่ต่างจังหวัดนายรัฐมนตรีก็เห็นด้วย

ในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆเหล่านี้ รัฐบาลได้ปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ ทั้งที่อยู่ในรูปภาษีและไม่ใช่ภาษี เพื่อให้เกิดการลงทุนดังกล่าว นอกจากนี้ เรื่องกำลังคนก็เป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลได้วางหลักสูตรการศึกษาและพัฒนาแรงงาน การเตรียมคน สร้างคนรุ่นใหม่ โดยจะเน้นในเรื่องของสาขาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลกมาเปิดสาขาสอนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย หลายแห่งแล้ว มีการปฏิรูปการศึกษา อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่การพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถของคนภายในประเทศ ในอุตสาหกรรมใหม่ๆเหล่านี้ ต้องใช้เวลา

ในทุกโอกาสที่ได้พบปะผู้นำประเทศแบบทวิภาคี หรือการประชุมสำคัญๆแบบพหุภาคี นายรัฐมนตรีได้นำเสนอนโยบายเชิงรุก และแสวงหาความร่วมมือใหม่ๆ ในประเด็นหลักที่เป็น “วาระของโลก”

(1) การฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ในวันประวัติศาสตร์ เมื่อ 25 ม.ค. 2565 หลังจากห่างหายมากว่า 30 ปี โดยเริ่มเกิดความร่วมมือในการเปิดประเทศ เพื่อท่องเที่ยวไปมาหาสู่กันในทุกระดับอีกครั้ง – การส่งออกอาหาร สินค้าเกษตร และแรงงาน – การลงทุนและร่วมมือด้านพลังงาน เป็นต้น

(2) ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น โดยนายกญี่ปุ่นมาเยือนไทย ช่วงวันที่ 1-2 พ.ค. 2565 เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือใหม่ๆ เช่น การผลักดันให้ไทยเป็น “ผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า” ในภูมิภาคและเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับต้นๆ ของโลก – การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ระบบราง โครงข่ายดิจิทัล และ 5G – การพัฒนา 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายและเพิ่มการลงทุนใน EEC เป็นต้น โดยเมื่อวานได้พบกับ นายกรัฐมนตรี สปป ลาว และวันนี้ก็จะมีภารกิจร่วมกันอีก ซึ่งลาว ได้นำนักธุรกิจจำนวนมากมา นายกรัฐมนตรีพร้อมคุยกับทุกประเทศ รวมทั้ง ACMECs

นายกรัฐมนตรีย้ำว่าไทยเป็นประเทศหนึ่งใน 190 กว่าประเทศของโลกที่ได้รับการจัดลำดับให้อยู่ในอันดับต้น ๆ ซึ่งไทยไม่ได้ด้อยกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งเรื่องการบินที่ได้แก้ไขปัญหา ICAO ไปแล้ว การค้ามนุษย์ IUU ประมงผิดกฎหมาย ก็สามารถแก้ไขได้แล้วเช่นเดียวกัน ซึ่งหลายอย่างได้ถูกแก้ไขในรัฐบาลนี้ และล้วนเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาลและ ส.ส. ทั้งหมด นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง เพราะมองที่ประชาชนเป็นหลัก โดยทุกอย่างยึดตามขั้นตอน อะไรที่สามารถจัดสรรให้ได้ก็จะดำเนินการให้ ซึ่งที่ผ่านมา ในหลายจังหวัดก็ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มโดยใช้งบกลาง ซึ่งยืนยันว่าตรวจสอบได้ ดังนั้น ไม่ต้องกังวล เพราะนายกรัฐมนตรีนึกถึงประชาชนและคำนึงถึงกฎหมายที่มีอยู่ทุกประการ ไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์ใด ๆ ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันต่อไป และสิ่งสำคัญที่สุดคือเราจะต้องธำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักแห่งชาติ เราต้องรักษาสัญลักษณ์ของความเป็นไทย ความภาคภูมิใจของคนไทยที่มีอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประวัติศาสตร์สอนให้ได้เรียนรู้ สิ่งใดไม่ดีเราก็อย่าไปทำ อะไรที่ดีก็ขอให้สานต่อ เป็นความเป็นไทยที่เราจะต้องภูมิใจไปด้วยกัน ไม่อยากให้เกิดความขัดเเย้ง ซึ่งขอให้มองในหลายมิติ หลายเรื่องก็มีประโยชน์ที่รัฐบาลพร้อมรับฟังและจะปรับแผนให้เหมาะสม ยืนยันทุกอย่างทำดำเนินการตามกรอบกฎหมายที่ตั้งไว้ และขอขอบคุณทุกท่านด้วยใจจริง

Advertisement

 

Verified by ExactMetrics