วันที่ 5 เมษายน 2025

ครม.อนุมัติงบกลาง เยียวยาน้ำท่วม 3,045 ล้านบาท สั่งลดขั้นตอนทางเอกสาร เร่งช่วยประชาชนให้เร็วที่สุด

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 17 กันยายน 2567 ทำเนียบ – นายกฯ เผย ครม.อนุมัติงบกลาง เยียวยาน้ำท่วม 3,045 ล้านบาท กำชับลดขั้นตอนทางเอกสาร เร่งช่วยประชาชนให้เร็วที่สุด ชี้พรุ่งนี้ชัดเจนจ่ายเงินเยียวยา หลัง ศปช.ประชุมนัดแรก บอกมีแผนเตรียมพูดคุยกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง หาทางออกระบายน้ำร่วมกัน

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ เห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอในหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 และขออนุมัติงบกลางฯรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน พ.ศ.2567 วงเงิน 3,045 ล้านบาท โดยขอให้กระทรวงมหาดไทยเร่งขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบให้เหมาะสมกับสถานการณ์และลดขั้นตอนเอกสารที่จะต้องยื่น เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว

พร้อมสั่งการให้ทุกส่วนราชการ พิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเพิ่มเติม จากกรณีปกติที่ดำเนินการอยู่แล้ว หากมีเรื่องใดที่มีความจำเป็นที่จะต้องเสนอ ครม. ก็ให้เร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว

ส่วนกรอบระยะเวลาที่จะจ่ายเงินเยียวยาได้เร็วที่สุดจะเป็นเมื่อไหร่ นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวาน (16 ก.ย.) รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. ซึ่งจะมีการเรียกประชุมในวันพรุ่งนี้ (18 ก.ย.67) คาดว่าจะมีรายงานออกมาจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธาน ศปช.

เมื่อถามถึงการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นต้นทางน้ำ เพื่อหารือถึงมาตรการการระบายน้ำร่วมกันหรือไม่ นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศ กำลังจะมีการพูดคุยกับประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง เช่น ประเทศเมียนมา เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง เพราะเป็นปัญหาที่ไทยพบเจอเป็นระยะเวลายาวนาน และมีแผนในใจอยู่แล้วว่าอยากจะทำเรื่องนี้ให้จริงจัง เพราะเป็นความเดือนร้อนของประชาชนมายาวนาน และการจัดการน้ำก็เป็นแผนภาพใหญ่ซึ่งน้ำมาจากหลายทิศทาง ทั้งนี้ประเทศไทยก็เป็นประธานในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงด้วย คิดว่าไทม์ไลน์ก็สามารถเริ่มพูดคุยได้ทันที

Advertisement

นายกฯ พร้อมคู่สมรส เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 16 กันยายน 2567 วัดราชบพิธฯ – “แพทองธาร” นายกฯ พร้อม คู่สมรส เข้าเฝ้าถวายเครื่องสักการะ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ก่อนเข้าปฏิบัติงานที่ทำเนียบรัฐบาลวันแรก นัดประชุมแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำ เตรียมตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เวลา 14.00 น. วันนี้

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายปิฎก สุขสวัสดิ์ คู่สมรส เดินทางมายังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ เพื่อเข้าเฝ้าถวายเครื่องสักการะแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ณ พระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช และอาคารสัมฤทธิ์ ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ถนนเฟื่องนคร เขตพระนคร กรุงเทพฯ

โดยนายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงในเวลา 09.05 น. จากนั้นได้วางพวงมาลัยถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านข้างพระอุโบสถ ก่อนเดินเข้าสู่พระตำหนักอรุณ ถือเป็นการเข้าเฝ้าฯหลังได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในการนี้สมเด็จพระสังฆราช ได้มอบพระพุทธวรายุวัฒนศาสดา ฉลองพระชนมายุ 8 รอบ 26 มิถุนายน 2566 และหนังสือ ประมวลพระโอวาท พระคติธรรม และพระสัมโมทนียกถา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งเป็นหนังสือที่ระลึกการจัดงาน ฉลองพระชนม์มายุ 8 รอบ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 26 มิถุนายน 2566

จากนั้นนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล ถือเป็นการเข้าปฏิบัติงานวันแรกของนางสาวแพทองธาร หลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยในเวลา 14.00 น. วันนี้ (16 ก.ย.) นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม และจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและบริหารสถานการณ์ ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

Advertisement

พรุ่งนี้ (16 ก.ย.) นายกฯ เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับมือเหตุน้ำท่วม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 15 กันยายน 2567 พรุ่งนี้ (16 ก.ย.) นายกฯ เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับมือเหตุน้ำท่วม จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัย

วันนี้ (15 กันยายน 2567) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พรุ่งนี้ ( 16 กันยายน 2567) จะเรียกประชุมทีมงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับมือเหตุน้ำท่วม ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเตรียมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) , คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม และจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและบริหารสถานการณ์ เพื่อให้ทุกภาคส่วนบูรณาการเข้ามาบริหารจัดการวิกฤตอุทกภัยครั้งนี้อย่างคล่องตัวรวดเร็วมากขึ้น และเพื่อให้การเตรียมการรับมือและเผชิญเหตุเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำแนวทางการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในห้วงต่อไป เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึง และลดผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด

“จังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย ขอให้เร่งเข้าความช่วยเหลือประชาชนที่ยังติดค้างอยู่ในที่อยู่อาศัย โดยจัดศูนย์พักพิงชั่วคราวรองรับผู้ประสบภัยให้เพียงพอ ตลอดจนให้ดูแลด้านการดำรงชีพเบื้องต้นให้เพียงพอ เหมาะสม และให้พิจารณาความต้องการพิเศษ โดยเฉพาะผู้ประสบภัยที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก และผู้ป่วย รวมถึงจัดทีมแพทย์เข้าดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจผู้ประสบภัย พร้อมดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประสบภัย และเร่งฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าและน้ำประปาที่ได้รับความเสียหาย ต้องกลับมาให้บริการประชาชนได้ตามปกติโดยเร็ว” นายกรัฐมนตรี กำชับ

Advertisement

ขึ้นค่าแรง 400 บาท ต้องรอ “คกก.ไตรภาคี” เคาะ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 14 กันยายน 2567 รัฐสภา วานนี้ (13 ก.ย.) – “พิพัฒน์” ชี้ขึ้นค่าแรง 400 บาท ต้องรอผลประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ยันรัฐมนตรีไม่มีแทรกแซง ส่วนปม ปชน. เสนอลาคลอด 180 วัน ภท. ขอเจอคนละครึ่งทางที่ 120 วัน

การประชุมร่วมรัฐสภา เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลุกขึ้นชี้แจงเป็นรายประเด็น โดยประเด็นแรก คือ เรื่องของการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ต้องทำใน 2 มิติ คือ มิติของผู้ใช้แรงงาน และมิติของผู้ประกอบการ ต้องหาความสมดุลให้ได้ดีที่สุด หากเอียงหรือหนักไปทางข้างใดข้างหนึ่ง เชื่อว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้พิจารณาหารือในหลายๆ มิติว่า การประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาท เริ่มได้เมื่อไหร่ ซึ่งตนเองก็ได้ให้สัมภาษณ์อยู่หลายครั้งว่า เราจะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำพร้อมกันทั้งประเทศ ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพราะต้องรอคณะกรรมการไตรภาคี ที่จะประชุมในวันที่ 17 และ 24 กันยายนนี้ เมื่อเราได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการไตรภาคี ก็จะประกาศขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคมได้

ส่วนแรงงานภาคใดที่ยังไม่ได้รับการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในวันที่ 1 ตุลาคม ก็จะพิจารณาและประกาศอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 1 มกราคม 2568

ส่วนเรื่องสิทธิวันลาคลอด ในอดีตเราให้ 90 วัน แต่ปัจจุบันขยายให้ถึง 98 วัน โดยนายจ้างรับผิดชอบ 49 วัน ประกันสังคมรับผิดชอบ 49 วัน ซึ่งตนเองจะนำเสนอในรัฐบาลชุดนี้ แต่ได้ทราบว่า พรรคประชาชน ก็จะนำเข้าเสนอ 180 วัน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยมีข้อเสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเจอกันคนละครึ่งทางที่ 120 วัน ซึ่งตนไม่ขัดข้อง แต่ขอให้สภาได้ตัดสิน ทางกระทรวงแรงงานพร้อมที่จะปฏิบัติตาม ในกรณีที่สภาได้มีการลงมติร่วมกัน

ส่วนกรณีการพัฒนาประสิทธิภาพของกองทุนประกันสังคม สำหรับเงินสมทบที่รัฐบาลปัจจุบัน ที่สมาชิกรัฐสภาได้ทวงเงินจากรัฐบาลให้กับกองทุนประกันสังคมนั้น คาดว่าภายใน 7 ปี จะใช้หนี้ให้กับกองทุนประกันสังคมได้หมด

Advertisement

นายกฯแถลงนโยบายต่อรัฐสภา มั่นใจเป็นรัฐบาลแห่ง “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม”

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 12 กันยายน 2567 นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา มั่นใจเป็นรัฐบาลแห่ง “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม” เดินหน้าพลิกฟื้นประเทศ ผลักดันประโยชน์วันนี้ เพื่ออนาคตของประชาชนทุกคน

วันนี้ (12 กันยายน 2567)  เวลา 10.15 น. ณ อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ยืนยันเจตนารมณ์และนโยบายรัฐบาลสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาสในการพัฒนา และสร้างความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชาชนทุกคน

ช่วงแรกของการแถลงนโยบายรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ระบุถึงความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญทั้ง 9 ประการ  ได้แก่ ปัญหาหนี้สินครัวเรือนและความเหลื่อมล้ำของประชาชน  ความท้าทายจากสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ความมั่นคงของสังคมถูกท้าทายจากการแพร่ระบาดยาเสพติด อาชญากรรมออนไลน์   การประสบปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ SMEs  ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและการแข่งขันทางการค้าจากต่างประเทศ  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองยาวนานอันเป็นผลจากการรัฐประหาร ระบบราชการไม่สามารถตอบสนองประชาชนได้อย่างเต็มที่ และการเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics)

จากนั้น นายกรัฐมนตรีแถลงกล่าวถึงนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำทันที เพื่อนำความหวังของคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด ได้แก่ 1. ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ 2. สนับสนุนผู้ประกอบการไทย SMEs 3. ลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค  4. การนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษีและเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี 5. กระตุ้นเศรษฐกิจโครงการดิจิทัลวอลเล็ต  6. เพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตรและราคาพืชผลเกษตร ยกระดับรายได้เกษตรกร 7. ส่งเสริมการท่องเที่ยว 8. แก้ปัญหายาเสพติด 9. เร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม  10. ส่งเสริมศักยภาพและจัดสวัสดิการสังคม

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายระยะกลางและระยะยาว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน วางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต ประกอบด้วย 1. การสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม 1.1 ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนตืสันดาปไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต (HEVs PHEVs BEVs และ FCEVs) 1.2 ส่งเสริม ยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) เพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศ 2. ส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต  2.1 ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy or Eco-friendly Economy) 2.2 ต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) 2.3 มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Care and Wellness Economy) และบริการทางการแพทย์ (Medical Hub) 2.4 มุ่งสู่เป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินของโลก (Financial Hub) 3. พัฒนาโครงสร้างเพื่อขยายโอกาส 3.1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัยและนวัตกรรม 3.2 เดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Projects) 3.3 เร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ 3.4 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล 3.5 เปลี่ยนโครงสร้างทางภาษีครั้งใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ 3.6 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ นอกจากนี้รัฐบาลจะเร่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย ประกอบด้วย 1. ส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม 2. ยกระดับทักษะและปลดล็อกศักยภาพของคนไทยเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ 3. ยกระดับระบบสาธารณสุขให้ดียิ่งกว่าเดิม ต่อยอดจากรัฐบาลที่แล้วจากพื้นฐานความสำเร็จหลายสิบปีของนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” มาเป็น “30 บาทรักษาทุกที่” 4. ส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ส่วนของการสร้างความยั่งยืนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจะดำเนินการควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประกอบด้วย 1. ให้ความสําคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ 2. ยกระดับการบริหารจัดการน้ำ  3. สานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)  ขณะที่การพัฒนาการเมือง รัฐบาลจะต้องพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของทั้งคนไทยและต่างชาติ ในระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมีเสถียรภาพมีนิติธรรมและความโปร่งใส ประกอบด้วย 1. เร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น 2. ยึดมั่นในหลักนิติธรรม (Rule of Law) และความโปร่งใส (Transparency)  3. ปฏิรูประบบราชการและกองทัพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ 4. ยกระดับการบริการภาครัฐให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น ท้ายนี้ รัฐบาลจะแปลงความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอํานาจ ไปสู่ยุทธศาสตร์ที่จะเสริมสร้างโอกาสให้ประเทศไทยและเกื้อกูลผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนมากที่สุด ประกอบด้วย 1. รักษาจุดยืนของการไม่เป็นส่วนหนึ่งของความยัดแย้งระหว่างประเทศไทย (Non-Conflict) 2. เดินหน้าสานต่อนโยบายการทูต เศรษฐกิจเชิงรุก และการสร้าง Soft Power

ในตอนท้ายของการแถลงนโยบายฯ นายกรัฐมนตรีย้ำเจตนารมณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และดำเนินงานตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไก ในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต ตลอดจนดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้ กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อชีวิต และทรัพย์สิน รวมถึงการป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วย

Advertisement

นายกฯแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เดินหน้าแก้ปัญหายาเสพติด-อาชญากรรมออนไลน์แบบไร้รอยต่อ เสริมสร้างสันติภาพ-สันติสุขชายแดนใต้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 12 กันยายน 2567 นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เดินหน้าแก้ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมออนไลน์แบบไร้รอยต่อ เสริมสร้างสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นสร้างความปลอดภัยของ ปชช. และความมั่นคงของชาติ

วันนี้ (12 กันยายน 2567) เวลา 09.39 น. ณ อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุรัฐบาลจะเร่งเดินหน้าแก้ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมออนไลน์แบบไร้รอยต่อ เสริมสร้างสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรี แถลงถึงปัญหาที่กระทบต่อสังคมและสร้างความสูญเสียอย่างมหาศาล คือ ปัญหายาเสพติดและ ปัญหาอาชญากรรมและอาชญากรรมออนไลน์ว่า “..รัฐบาลจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร เริ่มตั้งแต่การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่ายด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การสกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนำเข้าและตัดเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด การปราบปรามและการยึดทรัพย์ผู้ค้าอย่างเด็ดขาด การค้นหาผู้เสพในชุมชนเพื่อเข้าสู้กระบวนการรักษา ตลอดจนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด การฝึกอาชีพ การศึกษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมทั้งมีระบบติดตามดูแลช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้กลับเข้าสู่วงจรยาเสพติดอีก เพื่อคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม..”

รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์/มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของประชาชน โดยการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว ช่วยเหลือเหยื่อของมิจฉาชีพอย่างทันท่วงที โดยผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้านและสร้างกลไกการร่วมรับผิดชอบของบริษัทผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและธนาคารพาณิชย์

ในการแถลงต่อรัฐสภา นายกรัฐมนตรียังระบุถึงการสร้างสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่ชายแดนใต้ว่า รัฐบาลมุ่งเน้นจะเร่งรัดจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยการยึดโยงกับประชาชนและหลักการของประชาธิปไตย สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนสากล เคารพพหุวัฒนธรรม เพื่อเป็นบันไดสู่การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญ รวมถึงการสร้างสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนด้วย

ทั้งนี้ ในคำแถลงนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุถึงความมั่นคงความปลอดภัยของสังคมถูกคุมคามจากการแพร่ระบาดของยาเสพติด ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ โดยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 พบว่ามีคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 และมีจำนวนผู้ติดยาเสพติดที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นถึง 1.9 ล้านคน นอกจากนี้อาชญากรรมออนไลน์และการพนันออนไลน์ยังเพิ่มขึ้นอย่างเนื่อง โดยมีสถิติการรับแจ้งความกว่า 5 แสนเรื่อง มีมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมากกว่า 6 หมื่นล้านบาทด้วย

Advertisement

“จุลพันธ์” ชง ครม. 17 ก.ย. โอนเงินสวัสดิการ 1 หมื่นบาท 14.5 ล้านคน เป็นกลุ่มแรก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 11 กันยายน 2567 “จุลพันธ์” รมช.คลัง เผยชง ครม. 17 ก.ย.นี้ พิจารณาโอนเงินสวัสดิการ 1 หมื่นบาท 14.5 ล้านคน เป็นกลุ่มแรก

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ย.) กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟสแรก ในการโอนเงินสวัสดิการคนละ 10,000 บาท จำนวน 14.5 ล้านคน ในเดือนกันยายนนี้ เป็นกลุ่มแรก

จากนั้น เฟส 2 กำหนดให้เดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยนำรายชื่อกลุ่มผู้ลงทะเบียนผ่านแอปทางรัฐ ขณะนี้มีจำนวน 32 ล้านคน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 15 กันยายน 67 มาผลักดันโครงการ พร้อมกับกลุ่มที่ 3 ผู้ไม่มีมือถือ จะเริ่มนัดให้ลงทะเบียนผ่านแบงค์รัฐ หรือหน่วยงานต่างๆ บริการลงทะเบียนให้กับประชาชน ระหว่าง 16 ก.ย.-15 ต.ค.67

ทั้งนี้ ยอมรับว่าประชาชนกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 3 จะมีบางรายชื่อซ้ำซ้อนกัน ทำให้กลุ่ม 3 จำนวนลดลง รัฐบาลยังมุ่งใช้ประโยชน์จากแอปทางรัฐ เพื่อให้บริการประชาชนในหลายด้าน เพื่อดูแลสวัสดิการให้ครบวงจร

Advertisement

“อนุทิน” แนะ พรรคร่วมแต่ละพรรคสนับสนุนนโยบายซึ่งกันและกันให้เกิดประโยชน์แก่ ปชช. มั่นใจรัฐบาลอยู่ครบวาระ หากเข้าใจและสนับสนุนซึ่งกันและกัน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 กันยายน 2567 กระทรวงมหาดไทย – “อนุทิน” นำ รมต.ใหม่เข้ากระทรวงมหาดไทย วันแรก เผยเตรียมแบ่งงาน มท. หลังแถลงนโยบายเสร็จสิ้น มั่นใจไม่มีปัญหา แม้ รมต.ช่วย 2 คนเป็นผู้หญิง ชี้ถือเป็นจุดแข็ง ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ยันหนุนนโยบายพรรคร่วมรัฐบาลเต็มที่

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย 3 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ และนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ได้เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงมหาดไทย เมื่อเวลา 7.45 น. และพบปะข้าราชการกระทรวงในวันทำงานวันแรก

ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ นายอนุทิน กล่าวให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่า ในอีก 2 วัน (11 ก.ย.) จะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา กระทรวงมหาดไทยจะแบ่งหน้าที่ให้กับรัฐมนตรีแต่ล่ะคนในการปฏิบัติหน้าที่ มอบหมายรัฐมนตรีกลั่นกรองงานและประสานงานร่วมกัน โดยจะมอบหมายให้นายทรงศักดิ์ ดูงานในพื้นที่ภาคอีสานตอนเหนือ ส่วน นางสาวธีรรัตน์ จะได้ดูพื้นที่กรุงเทพฯ และทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับกรุงเทพฯ เพราะเป็น สส.กรุงเทพฯ อยู่แล้ว ส่วน นางสาวซาบีดา จะให้สานงานต่อจากนายชาดา ไทยเศรษฐ์ หรือไม่นั้น ต้องรอฟังจากนายกรัฐมนตรีก่อน

เมื่อถามว่าความเป็นผู้หญิงจะกระทบต่อนโยบายการปราบปรามผู้มีอิทธิพลหรือไม่ นาย อนุทิน กล่าวว่า รัฐมนตรีเป็นผู้มีอิทธิพลมากกว่าและ ถือเป็นจุดแข็งของกระทรวงมหาดไทยด้วยซ้ำ รัฐมนตรีในยุคนี้เป็นผู้ที่ผ่านสงครามด้านการเมืองมาแล้วทั้งนั้น มีความเข้าใจ ทุ่มเท ตั้งใจทำงานเพื่อประชาชนและชาติบ้านเมือง และทุกคนมีการศึกษา และประสบการณ์เพียบพร้อม เชื่อว่าจะเป็นการทำงานที่คล่องตัวและมีพลัง ดีใจที่มีรัฐมนตรีช่วย 2 ท่านเป็นสุภาพสตรี เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดไม่บ่อยนักในกระทรวงมหาดไทย เชื่อว่าข้าราชการทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือในการทำงาน

เมื่อถามว่า นโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทยจะเดินหน้าต่อหรือไม่ นายอนุทิน กล่าาว่า ได้ขอให้นายกฯ พิจารณาแล้ว โดยขอให้พิจารณาตรากฎหมายร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง โดยได้หารือร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งการใช้กัญชาต้องอยู่ในการควบคุมและมุ่งเน้นใช้งานทางการแพทย์

ในส่วนนโยบาย Entertainment Complex นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องนี้จะต้องมีการแก้ไข ซึ่งพรรคภูมิใจไทยเห็นด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ชักจูงนักท่องเที่ยวเข้ามา และสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนไทยอย่างมหาศาล โดยพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้คนไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากนโยบายนี้ ซึ่งตอนนี้ยังติดปัญหาเรื่องโซนนิ่ง พร้อมยืนยันว่าพรรคภูมิใจไทยไม่ได้คัดค้าน พร้อมให้จัดโซนอยู่ในพื้นที่ขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ เกิดรายได้แก่คนในพื้นที่โดยรวม

นายอนุทิน กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคสนับสนุนนโยบายซึ่งกันและกันให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ทุกอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่ผิดศีลธรรม เกิดประโยชน์ชัดเจนต่อส่วนรวม พร้อมมั่นใจว่ารัฐบาลจะอยู่จนครบวาระหากเข้าใจ และสนับสนุนซึ่งกันและกัน

Advertisement

“ธนกร” มอง 10 นโยบายรัฐบาล ทำจริงจังต่อเนื่อง เห็นผลงานแน่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 กันยายน 2567 พรรครวมไทยสร้างชาติ – “ธนกร” มอง 10 นโยบายรัฐบาล เน้นแก้ปัญหาใหญ่ ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ เร่งปราบยาเสพติดเด็ดขาด-สกัดอาชญากรรมออนไลน์ข้ามชาติครบวงจร มุ่งสร้างรายได้ใหม่ ลดค่าครองชีพ พุ่งเป้าช่วยกลุ่มเปราะบาง แนะ วาง KPI ให้ชัด ทำจริงจังต่อเนื่อง เชื่อเห็นผลงานแน่

นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า จากที่ได้เห็นคำแถลงนโยบายรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ที่เตรียมจะแถลงต่อสภาฯ ในวันที่ 12-13ก.ย.นี้ โดยทั้ง 10 นโยบายที่จะดำเนินการในวาระรัฐบาลชุดนี้ถือว่าเป็นการมุ่งเน้นการแก้ปัญหาใหญ่ของประเทศ โดยเรื่องแรกที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือการเร่งปรับโครงสร้างหนี้สินทั้งระบบ ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมานาน จำเป็นต้องแก้ไขอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะปัญหาหนี้นอกระบบ หนี้ภาคครัวเรือน ที่ประเทศไทยยังคงมีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับที่สูง กว่า 90 % การแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบ จึงต้องแก้ที่โครงสร้าง ซึ่งรัฐบาลชุดก่อนได้ ดำเนินการเป็นรูปธรรมมาแล้ว ควบคู่กับการสร้างรายได้ใหม่ การเก็บภาษี ดูแลสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่เป็นเอสเอ็มอีขึ้นมา การออกสินเชื่อไปพร้อมกับการแก้หนี้ รวมถึงพัฒนาภาคการเกษตร ยกระดับเกษตรกรไทย และการกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดค่าครองชีพพื้นฐานให้กับกลุ่มเปราะบางและผู้มีรายได้น้อยก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตนคิดว่า หากรัฐบาลทำพร้อมกันไปทั้งองคาพยพ และทำอย่างต่อเนื่องจริงจัง มั่นใจว่าเศรษฐกิจและรายได้ของประเทศจะเห็นการขยับตัวขึ้นแน่นอน

นอกจากนี้ นโยบายรัฐบาลที่ระบุไว้ยังให้ความสำคัญ เรื่องการแก้ปัญหายาเสพติดที่เป็นวาระแห่งชาติ จำเป็นต้องแก้อย่างเด็ดขาด เร่งด่วนและครบวงจร เริ่มตั้งแต่การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่าย โดยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการการสกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนำเข้าและตัดเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด การปราบปรามและการยึดทรัพย์ ผู้ค้าอย่างเด็ดขาด และยังมีปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ข้ามชาติ มิจฉาชีพทางออนไลน์ พวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ซึ่งตั้งฐานอยู่ตามแนวชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ช่วยเหลือเหยื่อจากการถูกมิจฉาชีพหลอกอย่างทันท่วงที

“การแก้ปัญหาต้องทำควบคู่กับการพัฒนาไปพร้อมกันทั้งองคาพยพ สิ่งที่เป็นพื้นฐานคือการดูแลคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและผู้มีรายได้น้อย ต้องทำไปพร้อมกับการสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการขนาดเล็กขึ้นไปถึงขนาดใหญ่ การสร้างรายได้ใหม่ สร้างเศรษฐกิจใหม่ ไปพร้อมกับการแก้ปัญหาหนี้สินและปัญหาสังคม ยาเสพติด อาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ ยอมรับว่าเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่หากรัฐบาลมีตัวชี้วัด หรือ KPI มาประเมินผลการทำงานให้ชัดเจน ดำเนินการจริงจังและทำต่อเนื่อง เชื่อว่าจะเห็นผลงานที่เป็นรูปธรรมชัดเจน“ นายธนกรกล่าว

Advertisement

เปิดคำแถลง 10 นโยบายเร่งด่วน “รัฐบาลแพทองธาร”

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 7 กันยายน 2567 เปิดคำแถลง “นโยบายรัฐบาลแพทองธาร” กับ 10 นโยบายเร่งด่วน เดินหน้าผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ให้ความสำคัญกลุ่มเปราะบางลำดับแรก-การพักหนี้ SME เร่งออกมาตรการลดราคาพลังงาน เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ดันเศรษฐกิจใต้ดินไว้บนดิน ส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพลกซ์” กำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสาร รองรับนโยบายค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567 มีทั้งหมด 75 หน้า ประกอบด้วย ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นโยบายเร่งด่วน นโยบายระยะกลางและระยะยาว ภาคผนวก

โดยคำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร เริ่มแรกได้ยกความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่หลายประการ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรง ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมและการเมือง

“ทั้งหมดนี้คือความท้าทายที่รัฐบาลพร้อมจะประสานพลังกับทุกภาคส่วนเปลี่ยนความท้าทายให้กลายเป็นความหวังโอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคมของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม รัฐบาลพร้อมเสริมสร้างศักยภาพสร้างโอกาสให้ประชาชน ทั้งบทบาทและสิทธิเพื่อพลิกฟื้นประเทศจากปัญหาที่รุมเร้า และทำให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง”

โดยคำแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 10 นโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที มีสาระสำคัญดังนี้

นโยบายแรก รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยจะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์

นโยบายที่สอง รัฐบาลจะดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และการแก้ไขปัญหาหนี้ของ SMEs เช่น การพักหนี้ การจัดทำ Matching Fund ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อประคับประคองให้กลับมาเป็นกลไกที่แข็งแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นโยบายที่สาม รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำ ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA) รวมทั้งการพัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ (Strategic Petroleum Reserve : SPR) สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับช้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว” ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทาง

นโยบายที่สี่ รัฐบาลจะสร้างรายใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 50 ของ GDP เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน พร้อมทั้งจะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นโยบายที่ห้า รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐที่มุ่งการพัฒนานโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน และการประกอบอาชีพ

นโยบายที่หก รัฐบาลจะยกระดับการทำเกษตรระบบดั่งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agi-Tech) เช่น เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) และเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการคว้าโอกาสในตลาดใหม่ๆ รวมทั้งอาหารฮาลาล และพื้นนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของโลก ด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้งเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร

นโยบายที่เจ็ด รัฐบาลจะเร่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nornad) ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.892 ล้านล้านบาท ในปี 2566 โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลก มาจัดในประเทศไทย รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่จะกระจายลงสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว

นโยบายที่แปด รัฐบาลจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร เริ่มตั้งแต่การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่ายด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การสกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนำเข้าและตัดเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด การปราบปรามและการยึดทรัพย์ผู้ค้าอย่างเด็ดขาด การค้นหาผู้เสพในชุมชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ตลอดจนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด การฝึกอาชีพ การศึกษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมทั้งมีระบบติดตามดูแลช่วยเหลือเพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีก เพื่อคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม

นโยบายที่เก้า รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์/มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว ช่วยเหลือเหยื่อของมิจฉาชีพอย่างทันท่วงที โดยผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างกลไกการร่วมรับผิดชอบของบริษัทผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและธนาคารพาณิชย์

นโยบายที่สิบ รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สำคัญ ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อให้ตามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติ

Advertisement

Verified by ExactMetrics