วันที่ 21 พฤศจิกายน 2024

อีสานตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก มีฝนเพิ่มขึ้น

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 ตุลาคม 2567 กรมอุตุฯ เผยภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนภาคอีสานตอนบน ภาคเหนือตอนบน มีอากาศเย็นในตอนเช้า กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง 40%

กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ส่งผลให้มีลมฝ่ายตะวันออกพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้น โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนบน ยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย มีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูง 1-2 เมตร ขอให้ชาวเรือหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส

Advertisement

น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาขึ้นไม่หยุด ล่าสุดปรับเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนที่ 2,200 ลบ.ม./วินาที

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 6 ตุลาคม 2567 ชัยนาท – น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาขึ้นไม่หยุด ล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือน ต.ธรรมามูล อ.เมืองชัยนาท ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อเวลา 11.00 น. น้ำระบายท้ายเขื่อนที่ 2,200 ลบ.ม./วินาที

แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำสะแกกรัง ที่ไหลไปรวมกันที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยวันนี้ (6 ต.ค.) น้ำมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,575 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 194 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำสูงขึ้นจากเมื่อวาน 51 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 17.31 เมตร (ระดับทะเลปานกลาง) ทำให้น้ำล้นตลิ่งหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่การเกษตรนอกคันกั้นน้ำ บริเวณหมู่ 4, หมู่ 7 ต.ธรรมามูล อ.เมืองชัยนาท บ้านเรือนอย่างน้อย 30 หลังคาเรือนถูกน้ำท่วม สวนกล้วยน้ำว้า ไร่ข้าวโพด ถูกน้ำท่วมสูง 20-50 เซนติเมตร และน้ำท่วมยังขยายวงกว้างต่อเนื่อง

นางสุนทร อายุ 78 ปี ชาวบ้าน ม.7 ต.ธรรมามูล บอกว่า น้ำขึ้นเร็วมาก เพียงไม่กี่ชั่วโมง น้ำก็ขึ้นมาถึงหัวเข่าแล้ว ต้องรีบนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ออกไปจอดบนถนน แล้วรีบกลับไปเก็บข้าวของเครื่องใช้ขึ้นไว้บนชั้นสองของบ้านให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเก็บได้ กลัวว่าหากปล่อยให้ข้าวของจมน้ำจะเสียหายทั้งหมด เมื่อน้ำลดไม่อยากต้องเสียเงินไปซื้อของใหม่ เพราะภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง เงินทองหายาก

ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยาได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง โดยเมื่อเวลา 06.00 น. ระบายน้ำท้ายเขื่อนอยู่ในอัตรา 2,150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 151 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำท้ายเขื่อนที่ อ.สรรพยา สูงขึ้นจากเมื่อวาน 47 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 14.97 เมตร (ระดับทะเลปานกลาง)

และล่าสุดเมื่อ 11.00 น. ที่ผ่านมา เพจกรมชลประทาน ได้ประกาศแจ้งเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเป็น 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ส่วนที่ จ.อ่างทอง ระดับแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงต่อเนื่องใกล้แตะจุดวิกฤติ ที่วัดสนามชัย ต.ตลาดหลวง อ.เมือง จ.อ่างทอง เหลืออีกเพียง 1 ขั้นบันได หรือเพียง 10 เซนติเมตรเท่านั้น ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านพื้นที่เศรษฐกิจอ่างทองก็จะแตะจุดวิกฤติที่ 8 เมตร ซึ่งจุดนี้เป็นจุดต่ำสุดของพื้นที่และเป็นจุดเสี่ยงสำคัญของพื้นที่ฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของตลาดอ่างทอง โดยเทศบาลเมืองอ่างทองได้นำแท่งแบริเออร์มาปิดจุดเสี่ยง และเตรียมกระสอบทรายเพื่อตั้งคันกั้นน้ำเสริมด้านหลังแล้ว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจังหวัดอ่างทอง ประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้เตรียมพร้อม หลังเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได ในอัตราไม่เกิน 2,400 ลบ.ม/วินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 0.60-0.80 เมตร และจะส่งผลกระทบตั้งแต่เช้าวันนี้เป็นต้นไป

ข้อมูลล่าสุดจากศูนย์อุทกวิทยาชลประทานภาคกลาง รายงานระดับน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท อยู่ที่ 2,150 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำที่สถานีชลมาตร C7A สำนักชลประทานที่ 12 หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง อยู่ที่ 7.95 เมตร/รทก. เพิ่มขึ้น 13 ซม. โดยทางจังหวัดอ่างทอง ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งพื้นที่อ่างทองมีน้ำท่วมแล้ว 3 อำเภอ คือ ต.จำปาหล่อ อ.เมือง ต.โผงเผง อ.ป่าโมก และ ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบแล้วกว่า 300 หลังคาเรือน

Advertisement

ปภ.ประสาน 10 จว. เฝ้าระวังระดับน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 5 ตุลาคม 2567 ปภ.ประสาน 10 จังหวัดภาคกลาง และ กทม. เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค. 67 เป็นต้นไป

เวลา 09.30 น. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 10 จังหวัด ภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำให้เฝ้าระวังระดับน้ำและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงแจ้งจังหวัดประสานท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้รับแจ้งจากกรมชลประทาน ว่า ประเทศไทยตอนบนมีลักษณะอากาศแปรปรวน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจากการคาดการณ์ปริมาณน้ำล่วงหน้า 1 – 7 วันข้างหน้า คาดว่าในวันที่ 11 ตุลาคม 2567 ที่สถานี C.2 อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน ประมาณ 2,200 – 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และคาดการณ์ปริมาณน้ำ Sideflow ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ร่วมกับคาดการณ์ปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง ประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณ 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และรับน้ำเข้าระบบกรมชลประทาน ทั้ง 2 ฝั่ง ในอัตรา 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตราไม่เกิน 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะมีการระบายเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 0.60 – 0.70 เมตร ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) วัดสิงห์ อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอเมืองสิงห์บุรี อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี วัดไชโย อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ตำบลโพนางดำ อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท วัดเสือข้าม อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี และอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จึงได้ประสาน 10 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนที่ประกอบกิจการในแม่น้ำ อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร ท่าเทียบเรือโดยสารสาธารณะ ตลอดจนประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำและบริเวณจุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำและแนวป้องกันน้ำท่วมให้มีความแข็งแรง เพื่อป้องกันระดับน้ำล้นข้ามแนวคันกั้นน้ำ อีกทั้งจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับประชาชน ขอให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น และหากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ ทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” ทุกที่ ทุกเวลา

Advertisement

ขนส่งลุยตรวจสภาพรถโดยสารใช้ถังแก๊ส CNG 13,426 คัน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 ตุลาคม 2567 กรมการขนส่งทางบก เริ่มตรวจสอบรถโดยสารประเภท NGV โดยใช้ถังแก๊ส CNG ทั่วประเทศทั้งหมด 13,426 คัน คาดแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน โดยขนส่งจังหวัดลพบุรี มีผู้ประกอบการติดต่อเข้ามาแล้วเป็นรายแรก

หลังจากกระทรวงคมนาคม ออกมาตรการเร่งด่วนให้กรมการขนส่งทางบก ตรวจสอบสภาพรถประเภท NGV ที่ใช้ถังแก๊ส CNG ทั้งหมด 13,426 คัน โดยหากพบว่ารถไม่ผ่านการตรวจสภาพจะถูกยึดใบอนุญาตรถทันที ล่าสุดมีรายงานจากสำนักขนส่งจังหวัดลพบุรี ว่า รถโดยสารของ บริษัท ปนิศรา (ผู้ประกอบการ) จะเข้าตรวจสภาพในวันนี้ที่ สำนักงานขนส่งลพบุรี เวลาประมาณ 14.00 น.ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกที่ติดต่อเข้ามา โดยคาดว่าจะตรวจสอบแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน หรือ ภายใน พ.ย.2567 นี้

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า การตรวจสอบสภาพรถ และการตรวจสอบถังแก๊ส CNG ตามปกติจะตรวจสภาพรถ 2 ครั้งต่อปี โดยกำหนดให้ในรอบปีภาษีผู้ประกอบการต้องผ่านการตรวจสภาพจากวิศวกรผู้ดูแล 1 ครั้ง และเมื่อครบสิ้นปีการชำระภาษีรถต้องผ่านการตรวจสภาพอีก 1 ครั้ง เช่น รอยรั่วของก๊าซ อายุการใช้งาน ตลอดจนการตรวจเช็คการเสียดสีของถังแก๊ส

ทั้งนี้ คณะกรรมการกรมขนส่งทางบกกลาง กำหนดอายุรถโดยสารประจำทาง ดังนี้ 1.รถโดยสารประจำทางที่มีระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร กำหนดอายุการใช้งานของเลขตัวถังที่ติดภายในรถ (คัสซีรถ) ไม่เกิน 40 ปี และรถโดยสารประจำทาง ที่มีระยะทางไม่เกิน 300-500 กิโลเมตร กำหนดให้มีอายุการใช้งานของเลขตัวถังที่ติดภายในรถไม่เกิน 35 ปี

ส่วนโดยสารประจำทางที่มีระยะทางเกิน 500 กิโลเมตร กำหนดให้มีอายุการใช้งานของเลขตัวถังที่ติดภายในรถ (คัสซี) รถไม่เกิน 30 ปี ส่วนรถไม่ประจำทาง ประเภท 30 พบว่าปัจจุบันยังไม่กำหนดอายุการใช้งานของเลขตัวถังที่ติดภายในรถ (คัสซี)

Advertisement

ด่วน แจ้งเตือนภัยระดับ 3 พื้นที่ 3 อำเภอ จ.เชียงราย เตรียมพร้อมอพยพ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 ตุลาคม 2567 ทำเนียบ – ประกาศเตือนภัยระดับ 3 ในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดเชียงราย ให้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดเตรียมพร้อมอพยพ

เมื่อเวลา 17.00 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ส่งข้อความสั้น (SMS) แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากให้เตรียมรับสถานการณ์และพร้อมอพยพ โดยพื้นที่เสี่ยงประกอบด้วย ต.เวียง ต.แม่เงิน อ.เชียงแสน ต.นางแล ต.บ้านดู่ ต.ท่าสุด ต.แม่กรณ์ อ.เมืองเชียงราย และ ต.ท่าข้าวเปลือก อ.แม่จัน จ.เชียงราย

โฆษก ศปช.ส่วนหน้ากล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยสถานีหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชร.11 (เชียงแสน) อ.เชียงของ จ.เชียงราย รายงานว่ามีปริมาณฝนเฉลี่ย 24 ชั่วโมง (ณ เวลา 16.00 น.) สูงถึง 195.8 มิลลิเมตร ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

“ขณะนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ส่งประกาศเตือนภัยให้กับ กสทช. เพื่อให้ผู้บริการค่ายมือถือได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ 7 ตำบล 3อำเภอ ของจังหวัดเชียงรายแล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงระบบการแจ้งเตือนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้อยากให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวติดตามข้อมูลข่าวสารประกาศแจ้งเตือนอย่างใกล้ชิด ผ่านทุกช่องทางของกรมประชาสัมพันธ์ NBT Connext หรือหากมีข้อสงสัยโทรสอบถามได้ที่สายด่วน ปภ.1784” นายจิรายุ กล่าว

Advertisement

เตือนไทยตอนบน อากาศแปรปรวน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 ตุลาคม 2567 กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือนอากาศแปรปรวนบริเวณไทยตอนบน ฉบับที่ 7 เกิดฝนฟ้าคะนอง หลังจากนั้นอากาศจะเย็นลง กับมีลมแรง

ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 7 (219/2567) มีผลกระทบในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม – 3 ตุลาคม 2567

ในช่วงวันที่ 1 ต.ค. – 3 ต.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีน จะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ประกอบกับร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีลักษณะอากาศแปรปรวนเกิดขึ้น โดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนักบางแห่งในภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากนั้นอากาศจะเย็นลง กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1 – 3 องศาเซลเซียสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้

วันที่ 1 ตุลาคม 2567

ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรีพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

วันที่ 2 ตุลาคม 2567

ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และตาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์

ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรีพระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

ในช่วงวันที่ 3 ตุลาคม 2567

ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน และตาก

ภาคกลาง : จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สระบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร

Advertisement

นายกฯ “แพทองธาร” สะเทือนใจหลังทราบเหตุรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ รุดเยี่ยมนักเรียน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 ตุลาคม 2567 นายกฯ “แพทองธาร” สะเทือนใจหลังทราบเหตุรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ รีบเยี่ยมให้กำลังใจนักเรียน

วันนี้ (1 ตุลาคม 2567) เวลา 13.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยกเลิกภารกิจตรวจติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยา เปลี่ยนเป็นเยี่ยมให้กำลังใจนักเรียนจากเหตุไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาของนักเรียนโรงเรียนวัดเขาพระยาฯ จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งเกิดเหตุที่ถนนวิภาวดี 10 หน้าห้างสรรพสินค้าเซียร์รังสิต กรุงเทพมหานคร

ภายหลังรับทราบรายงานเหตุการณ์ นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือกับผู้สื่อข่าวว่า ได้มอบหมายให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รีบลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุการณ์แล้ว

โดยนายกรัฐมนตรีได้โพสแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์รถบัสนักเรียนไฟไหม้ผ่าน Twitter (X) ส่วนตัวว่า

“ดิฉันทราบถึงเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสจากอุทัยธานี ที่โดยสารนักเรียนเข้ามาทัศนศึกษาในกรุงเทพฯ และเกิดอุบัติเหตุบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ในฐานะแม่ ดิฉันขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ในฐานะรัฐบาล ได้สั่งการให้ท่านอนุทิน ท่านสุริยะ และ ท่านซาบีดา ลงไปยังพื้นที่เกิดเหตุด้วยตัวเองแล้ว โดยรัฐบาลจะดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตค่ะ”

Advertisement

ศปช.ขอคนกรุงมั่นใจน้ำไม่ท่วมเหมือนปี 54 น้อยกว่าเกือบ 10 เท่า

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 29 กันยายน 2567 โฆษก ศปช. เทียบข้อมูลสถานการณ์น้ำปี 2567 กับปี 2554 พบน้ำปีนี้น้อยกว่าเกือบ 10 เท่า ย้ำการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ชัยนาท ไม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ขอคนกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มั่นใจ

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ที่ประชุมวันนี้ของ ศปช.ได้ข้อสรุปเรื่องสำคัญที่เป็นข้อวิตกกังวลของประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยสรุปข้อมูลเปรียบเทียบสถานการณ์น้ำระหว่างปี 2567 เมื่อเทียบกับปี 2554 พบว่า จากการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ พิจารณาทุกปัจจัยทั้งน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุน ทำให้สถานการณ์น้ำในปี2567 นี้ไม่ซ้ำรอยปี 2554 ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

1.จำนวนพายุ โดยในปี 2554 พบว่ามีพายุเข้าไทยถึง 5 ลูก ไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก เมื่อเทียบกับปี 2567 มีพายุเข้าไทยเพียง 1 ลูกคือ “ซูริก” ซึ่งแม้จะไม่ได้เคลื่อนเข้าประเทศไทย แต่ส่งผลให้พื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสานของไทยมีฝนตกหนักและเกิดน้ำหลากในหลายพื้นที่

2.ปริมาณฝนสะสม เนื่องจากในปี 2554 ฤดูฝนในประเทศไทยเริ่มต้นเร็วกว่าปกติ และมีปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 24% และเป็นปริมาณฝนมากที่สุดในรอบ 61 ปี หรือนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 ขณะที่ในปี 2567 แม้จะมีปริมาณฝนทั้งประเทศสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี แต่ภาพรวมปริมาณฝนสะสมสูงกว่าค่าปกติ 2%

3.ปริมาณเขื่อนในการรองรับน้ำในปี 2554 เนื่องจากปริมาณฝนสะสมสูงกว่าปกติทำให้เขื่อนหลักของประเทศไทยรองรับน้ำ 1,366 ล้านลบ.ม. แต่ในปี 2567 การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลทำให้เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้ถึง 7,162 ล้านลบ.ม.

4.ปริมาณน้ำท่า หรือปริมาณการระบายน้ำเหนือ โดยเฉพาะการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในปี 2554 มีการระบายน้ำสูงถึง 3,661 ลบ.ม./วินาที ขณะที่การระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ณ วันที่ 28 ก.ย.67 อยู่ที่ 1,848 ลบ.ม./วินาที อีกทั้งความจุลำน้ำยังสามารถรองรับการระบายได้สูงถึง 2,730 ลบ.ม./วินาที

นายจิรายุ เปิดเผยว่า การประชุมคณะทำงาน ศปช. ได้เน้นย้ำถึงการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำเหนือเขื่อนที่ไหลเข้ามา และปริมาณน้ำทะเลหนุนที่จะกระทบต่อระดับน้ำในลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งทุกหน่วยงานยืนยันตรงกันว่าไม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

“ปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำอยู่ที่ 1,900 ลบ.ม./วินาที แต่ที่มีความกังวลคือ น้ำเหนือเริ่มเติมเข้ามามากขึ้น ในอีก 2-3 วันอาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งอาจจะกระทบกับพื้นที่ท้ายเขื่อน 11 จุด 4 จังหวัด (อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท) ตามที่ได้แจ้งเตือนไปก่อนหน้านี้ แต่ไม่กระทบกับพื้นที่ กรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน เพราะรองรับการปล่อยน้ำได้ถึง 3,000-3,500 ลบ.ม./วินาที แต่ทั้งนี้หากมีน้ำทะเลหนุน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่ำและจุดฟันหลอริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทาง กทม.สำรวจแล้วพบว่ามีอยู่ทั้งสิ้น 32 จุด ซึ่งกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมไว้หมดแล้ว” นายจิรายุ กล่าว

นายจิรายุ กล่าวอีกว่า ศปช. ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย รายงานว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย พบว่าปัจจุบันระดับน้ำทั้ง 2 จังหวัดเริ่มลดลง โดยที่จังหวัดเชียงราย เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.แม่สรวย อ.แม่ลาว และ อ.เวียงป่าเป้า บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 2,892 ครัวเรือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าสำรวจความเสียหายดำเนินการฟื้นฟู และจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาในลำดับต่อไป

ส่วนที่จังหวัดเชียงใหม่ เกิดฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมและเกิดดินสไลด์ในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.สารภี อ.หางดง อ.สันป่าตอง และ อ.ดอยหล่อ โดยในพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการฟื้นฟู ล้างทำความสะอาดในพื้นที่ที่สถานการณ์น้ำเริ่มคลี่คลาย ประกอบด้วย ถนนเจริญราษฎร์ จากสะพานนวรัฐ ถึงสะพานนครพิงค์ ถนนช้างคลาน จากวัดอุปคุต ถึงแยกแสงตะวัน ถนนศรีดอนไชย จากแยกแสงตะวัน ถึงแยกโรงแรมอนันตรา ถนนเจริญประเทศ จากแยกโรงแรมอนันตรา ถึง สะพานนวรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือพร้อมเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่

Advertisement

ไทยตอนบนอากาศแปรปรวน ฝนหนักบางแห่ง อากาศเย็นลง

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 28 กันยายน 2567 กรมอุตุฯ เตือนไทยตอนบนอากาศแปรปรวน ช่วงวันที่ 29 ก.ย.-3 ต.ค.67 โดยจะมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและฝนตกหนักบางแห่ง จากนั้นอากาศจะเย็นลง กับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาฯ

กรมอุตุฯ พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และอ่าวไทย ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย มีกำลังอ่อน ทำให้ทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 29 ก.ย. – 3 ต.ค.67 ประเทศไทยตอนบนจะมีลักษณะอากาศแปรปรวน โดยจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก หลังจากนั้นอากาศจะเย็นลง กับมีลมแรง และอุณหภูมิ จะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 06.00 น. วันนี้ ถึง 06.00 น. วันพรุ่งนี้

ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก และกำแพงเพชร อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-36 องศาเซลเซียส ลมใต้ ความเร็ว 5-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดเพชรบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดพังงา กระบี่ ตรัง และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

Advertisement

วันนี้ทั่วไทยฝนตกหนักบางแห่ง-กทม.ฟ้าคะนอง 60%

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 กันยายน 2567 กรมอุตุฯ เตือนฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนัก กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ฝนฟ้าคะนอง 60% และมีฝนตกหนักบางแห่ง

กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และอ่าวไทย ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังอ่อน ทำให้ทะเลอันดามันและอ่าวไทย มีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส

Advertisement

Verified by ExactMetrics