วันที่ 8 กันยายน 2024

คปภ.ส่งเจ้าหน้าที่คุมเข้มเอเชียประกันภัย ห้ามจ่ายเงินเองห้ามย้ายทรัพย์สิน เร่งจ่ายเคลมประกัน

People Unity News : คปภ. ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่คุมเข้ม “เอเชียประกันภัย” ควบคุมการจ่ายเงินและเร่งจ่ายเคลมประกัน เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชน

28 กันยายน 2564 ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ในการนี้ ตนในฐานะนายทะเบียนจึงได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 51/2564 เรื่อง ให้บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) แก้ไขฐานะและการดำเนินการตามที่นายทะเบียนกำหนดและหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดการจ่ายเงินอื่นของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) ที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2564 โดยมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำที่บริษัท เพื่อควบคุมดูแลให้บริษัทดำเนินการตามเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดแล้ว

เลขาธิการ คปภ. ได้แจ้งความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์และสายตรวจสอบ บูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยได้มอบหมายให้นายชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และ ดร. อายุศรี คำบรรลือ ผู้ช่วยเลขาธิการสายตรวจสอบ นำคณะพนักงานเจ้าหน้าที่ประกอบด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่จากสายงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้าไปประจำ ณ ที่ทำการบริษัท เพื่อควบคุมและให้ความเห็นชอบการจ่ายเงินเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ประกาศนายทะเบียนกำหนด ซึ่งการเข้าควบคุมการจ่ายเงินของบริษัทเป็นไปตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกำหนดให้ในกรณีที่บริษัทถูกสั่งหยุดรับประกันภัยวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ห้ามมิให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้างของบริษัทสั่งจ่ายเงินของบริษัท หรือทำการเคลื่อนย้าย หรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท เว้นแต่ เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทตามปกติ หรือเป็นการจ่ายเงินตามที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนประกาศกำหนด ทั้งนี้ ประกาศนายทะเบียนดังกล่าวได้กำหนดการจ่ายเงินโดยความเห็นชอบของนายทะเบียนหรือผู้ได้รับมอบหมายจากนายทะเบียน ในกรณีดังนี้

1.การจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ฯลฯ

2.การจ่ายเงินคืนค่าเบี้ยประกันภัยแก่ผู้เอาประกันภัย

3.การจ่ายค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า เป็นต้น

4.การจ่ายค่าสื่อสาร เช่น ค่าไปรษณีย์ ค่าโทรศัพท์ ค่าโทรสาร อินเตอร์เน็ต เป็นต้น

5.การจ่ายค่าภาษี ค่าอากร หรือค่าภาษีอากร ตามที่กฎหมายกำหนด

6.การจ่ายเงินตามคำสั่งศาล เช่น ค่าสินไหมทดแทน ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม เป็นต้น

7.การจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าปรับ เงินจ่ายหรือเงินสมทบตามที่กฎหมายกำหนด

8.การจ่ายเงินหรือค่าใช้จ่ายอื่นตามความจำเป็นเพื่อเร่งรัดติดตามหรือเรียกคืนหนี้สินค้างจ่ายของบริษัท

โดยการเบิกจ่ายเงินในกรณีที่จำเป็นนอกเหนือจากนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน โดยมีเหตุผลความจำเป็นพร้อมเอกสารหลักฐานที่ชัดเจน

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้มีการจัดทำแผนการบริหารจัดการการจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจสอบค่าสินไหมทดแทนที่ค้างจ่าย โดยให้บริษัทแยกประเภทตามแบบกรมธรรม์และพิจารณาจากลำดับการยื่นเรื่องเข้ามา หากพบว่ารายใดมีเอกสารครบถ้วนก็จะเร่งดำเนินการอนุมัติการจ่ายและแจ้งให้บริษัทจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว เบื้องต้นเคลมที่ใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารไม่มากจะเป็นประเภท เจอ จ่าย จบ ส่วนเรื่องที่เอกสารไม่ครบถ้วนจะเร่งให้บริษัทประสานผู้เอาประกันภัยเพื่อนำส่งเอกสารเพิ่มเติมโดยเร็ว

“การออกประกาศนายทะเบียนดังกล่าว เป็นการรองรับและมอบอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ เข้าไปประจำ ณ ที่ทำการบริษัท เพื่อดำเนินการควบคุมการเบิกจ่ายเงินตามที่จำเป็น และเร่งเคลียร์ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยเป็นอันดับแรก ดังนั้น ทรัพย์สินของบริษัทที่มีอยู่จะมีการบริหารจัดการเพื่อดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์   ของประชาชนอย่างเต็มที่ จึงขอให้ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวล สำนักงาน คปภ. จะดำเนินการในทุกมาตรการอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถ และขอให้มั่นใจในระบบประกันภัยว่าสามารถเข้ามาช่วยเหลือ เยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนได้ในทุกสถานการณ์  และทุกมิติของความเสี่ยงภัย แม้แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ก็ตาม ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th

Advertising

ธอส. ออก 7 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าประสบภัยน้ำท่วมฉับพลัน

People Unity News :  ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ออก 7 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในภาคกลางและภาคตะวันออกที่ประสบภัยน้ำท่วมเฉียบพลัน ผ่าน “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปี 2564” ประกอบด้วย 1.ลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรก 2.ให้กู้เพิ่มหรือกู้ใหม่อัตราดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี คงที่ 1 ปีแรก 3.ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน และคิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี 4 เดือน ไม่ต้องชำระเงินงวด 4.ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี 5.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรให้ผ่อนชำระดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี 6.ที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลังซ่อมแซมไม่ได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของอาคาร และ 7) พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จ่ายตามความเสียหายจริงรวมทุกภัยธรรมชาติ ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี และกรณีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่ 1 พ.ย. 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงแต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี

16 ก.ย. 64 นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่เกิดน้ำท่วมหลากฉับพลันบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อันเนื่องมาจากการเกิดมรสุม ทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยของประชาชนพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเสียหาย และผู้อยู่อาศัยไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” จึงพร้อมบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าประชาชนด้วย “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2564” (กรอบวงเงินรวมของโครงการ 100 ล้านบาท) โดยพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ เดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 3.65% ต่อปี เดือนที่ 17-24 อัตราดอกเบี้ย 4.15% ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 5.15% ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR – 0.50% ต่อปี กรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.150% ต่อปี)

มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคาร ที่ได้รับความเสียหาย วงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 1 ปี ปีที่ 2 – 3 อัตราดอกเบี้ย MRR – 3.15% ต่อปี(ปัจจุบันเท่ากับ 3.00% ต่อปี) และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR – 0.50% ต่อปี พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้องให้ทั้งหมด ประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้ทุกกรณีหลังจากนิติกรรมแล้วในรายการที่เกี่ยวข้อง

มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.00% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 5 ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือ

มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น

มาตรการที่ 7 พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือ ลมพายุ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันยื่นเอกสารแจ้งความเสียหาย จ่ายตามความ เสียหายจริงตามภาพถ่าย รวมทุกภัยธรรมชาติไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงจากหลักฐานภาพถ่าย แต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการของ“โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ ปี 2564” ตามมาตรการที่ 1-6 สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 และมาตรการที่ 7 ติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Application : GHB ALL และ www.ghbank.co.th

Advertising

 

ผบ.ทบ.สั่งทุกหน่วยกองทัพบกดูแลช่วยเหลือประชาชนทันทีจากภาวะน้ำท่วม 

People Unity News : ผู้บัญชาการทหารบกกำชับทุกหน่วยกองทัพบกดูแลพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ช่วยเหลือประชาชนทันที

13 กันยายน 64 พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า จากผลกระทบของพายุ “โกนเซิน” พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำในฤดูฝนเนื่องจากปริมาณน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่จนถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ กำชับให้ทุกหน่วยของกองทัพบก เตรียมการรับมือสถานการณ์น้ำและการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เน้นเรื่องการเตรียมแผนการและเข้าปฏิบัติโดยทันที ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพบกได้จัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 1,974 ครัวเรือน ใน 12 จังหวัด 21 อำเภอ ของพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยอพยพคน สิ่งของ ขึ้นสู่ที่สูง อำนวยความสะดวกด้านการสัญจร ก่อกระสอบทรายเป็นพนังกั้นน้ำ สูบน้ำออกจากสถานที่สำคัญ โดยบูรณาการความช่วยเหลือร่วมกับฝ่ายปกครองท้องถิ่นและทุกภาคส่วนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สำหรับวันนี้พายุจะส่งผลต่อหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองทัพภาคที่ 2 ได้ลงพื้นที่ เตรียมการรับมือและช่วยเหลือประชาชนไว้แล้ว พร้อมปฏิบัติตลอด 24 ชั่วโมง ตามนโยบายของกองทัพบกและความห่วงใยของนายกรัฐมนตรี

Advertising

โฆษกดีอีเอสยืนยันเบอร์มือถือที่ผูกพร้อมเพย์ ไม่มีใครล่วงรู้ยอดเงินในบัญชีได้

People Unity News : โฆษกดีอีเอสเตือนอย่าหลงเชื่อหากผู้อื่นรู้เบอร์มือถือที่ผูกพร้อมเพย์ ทำให้รู้ยอดเงินในธนาคารได้แจงธนาคารและบริษัทที่ดูแลระบบกลางไม่สามารถนำข้อมูลลูกค้ามาเปิดเผย หรือขายต่อข้อมูลได้ เพราะมีกฎหมายควบคุม

29 ส.ค.64 นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า ตามที่มีการแชร์ข้อความเตือนในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง หากผู้อื่นรู้เบอร์มือถือที่ผูกพร้อมเพย์ ทำให้รู้ยอดเงินในธนาคารได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ และชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากธนาคารและบริษัทที่ดูแลระบบกลาง ไม่สามารถนำข้อมูลลูกค้ามาเปิดเผย หรือขายต่อข้อมูลได้ เพราะมีกฎหมายรองรับอยู่ คือ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และ พ.ร.ฎ.ควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนั้นมีประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่กำหนดในเรื่องการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งผู้ให้บริการพร้อมเพย์ทั้งธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการระบบกลางพร้อมเพย์ต้องปฏิบัติตาม อีกทั้งธนาคารพาณิชย์และบริษัทที่ดูแลระบบกลาง เป็นระบบปิดที่มีการดูแลรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ISO 27001 คนภายนอกไม่สามารถต่อเข้ากับระบบพร้อมเพย์ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตทั่วไปได้ รวมถึงการดูแลระบบสารสนเทศ (IT) ในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยมาตรฐานความถูกต้อง ความพร้อมใช้ของระบบการดูแลการเข้าถึงข้อมูล การสำรองข้อมูล และการมีแผนรองรับกรณีฉุกเฉิน

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่งหรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.bot.or.th หรือโทร. 02 2835353

Advertising

ศบค.ปลดล็อกให้นั่งทานอาหารในร้านเปิดโล่งได้ร้อยละ 75 ร้านปรับอากาศร้อยละ 50 เริ่ม 1 ก.ย.นี้

People Unity News : ศบค. ปลดล็อกให้นั่งทานอาหารภายในร้านเปิดโล่งได้ร้อยละ 75 และร้านอาหารปรับอากาศ ร้อยละ 50 เริ่มนำร่อง 1 กันยายนนี้ ในพื้นที่ที่มีความพร้อม

วันนี้ (27 สิงหาคม 2564)  เวลา 09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ครั้งที่ 13/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ปลดล็อกให้นั่งทานอาหารได้ในร้านที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศร้อยละ 75 และร้านอาหารปรับอากาศ  ให้นั่งรับประทานได้ร้อยละ 50  คงมาตรการ Curfew ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด  ทั้งนี้ นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการปรับมุมมองและยุทธศาสตร์การบริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยให้ประชาชนสามารถอยู่กับโรคได้อย่างปลอดภัย เพราะเชื่อว่าไวรัสโควิด-19 จะไม่หมดไปและจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น ศบค. จึงกำหนดเป้าหมาย ด้วยการควบคุมโรคให้สมดุลกับการดำรงชีวิตและสามารถทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลได้เริ่มดำเนินกิจกรรม โครงการแล้ว อาทิ Phuket Sandbox และ Samui Plus Model ซึ่งเป็นการทยอยเปิดกิจกรรมและในพื้นที่ที่มีความพร้อมตามเป้าหมายการเปิดประเทศอย่างเป็นขั้นตอน ภายใต้ความปลอดภัยด้านสาธารณสุข DMHTT และมาตรการ Universal Prevention นายกรัฐมนตรียังฝากกระทรวงพาณิชย์ติดตามความต้องการใช้ออกซิเจนทางการแพทย์ให้เพียงพอ พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันการลักลอบส่งออกถังออกซิเจนผิดกฎหมายด้วย

นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งจัดหาวัคซีนโควิดสำหรับเด็กอายุ 12-18 ปี ซึ่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้รายงานว่า ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนให้กับครูแล้วกว่า 573,656 คน และยังคงมีนักเรียนในระบบอีกประมาณ 4 ล้านคน  จากการประเมินของกระทรวงสาธารณสุขคาดว่า ภายในสิ้นปีนี้ ไทยจะได้รับวัคซีนรวมทุกประเภท 140 ล้านโดส ก็ขอให้เดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทย ให้เร็วที่สุดสอดคล้องกับจำนวนวัคซีนที่ไทยมีอยู่ รวมทั้งให้เร่งรัดการเข้าถึงการตรวจโควิด-19 ด้วย ATK ด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลพร้อมยกระดับงานวิจัยและพัฒนาวัคซีนไทย เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข ครอบคลุมถึงการกระบวนการผลิต เพื่อให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนในอนาคตได้ และจากที่ได้ติดตามการพัฒนา วัคซีน ChulaCov19 (จุฬา-คอฟ-19) ชนิด mRNA โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตั้งเป้าหมายขึ้นทะเบียนให้ใช้ได้ ในรูปแบบภาวะฉุกเฉินในช่วงเดือนเมษายน 2565 และวัคซีนใบยาที่ใช้เทคโนโลยีจากใบยาสูบ รัฐบาลพร้อมจัดสรรงบประมาณและเร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า ที่ประชุม ศบค. ได้คลายล็อกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด สอดคล้องกับนายกรัฐมนตรีที่ห่วงใยการประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชน โดยหวังให้ประชาชนสามารถดำเนินกิจการ/กิจกรรมทางได้ ด้วยการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโควิด-19 สำหรับเปิดกิจการ/จัดกิจกรรมให้ปลอดภัย ลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ภายใต้การยกระดับมาตรการป้องกัน Universal Prevention และ COVID Free Setting ในสถานที่เสี่ยงและกลุ่มเสี่ยง

ทั้งนี้ ที่ประชุม ศบค. ให้เปิดบริการในส่วนของร้านอาหาร  สำหรับร้านอาหารที่อยู่นอกอาคาร หรือในอาคารแต่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ  โล่ง อากาศถ่ายเทดี  ให้นั่งรับประทานได้ร้อยละ 75  ร้านอาหารที่เป็นห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ  ให้นั่งรับประทานได้ร้อยละ 50   ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ สามารถดำเนินการได้ทุกแผนก ถึงเวลา 20.00 น.   โดยกิจการกลุ่มที่ 1 ร้านเสริมสวย  ร้านตัดผม/แต่งผม ให้บริการเฉพาะรายไม่เกิน 1 ชั่วโมง ร้านนวด เปิดได้เฉพาะนวดเท้า คลินิกเสริมความงาม เปิดจำหน่ายสินค้าเท่านั้น ร้านอาหาร เปิดได้ตามเงื่อนไขของมาตรการร้านอาหารมีเครื่องปรับอากาศ  กิจการกลุ่มที่ 2  สถาบันกวดวิชา  โรงภาพยนตร์  สปา สวนสนุก สวนน้ำ ฟิตเนสห้องออกกำลังกาย สระว่ายน้ำ ห้องจัดประชุม/จัดเลี้ยง ยังไม่เปิดกิจการ

การใช้อาคารของสถานศึกษา สามารถใช้อาคารของสถานศึกษาได้ โดยผ่านความเห็นชอบของผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  ในพื้นที่ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.  ในส่วนสนามกีฬาและสวนสาธารณะ เปิดถึงเวลา 20.00 น.  โดยสามารถใช้สนามกีฬาและสวนสาธารณะ ประเภทกลางแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่มีระบบปรับอากาศ เพื่อเล่น ซ้อม หรือแข่งขันกีฬาได้แบบไม่มีผู้ชม จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมและไม่ให้มีการรวมกลุ่มกัน สามารถเปิดใช้สนามกีฬาทุกประเภทสำหรับการฝึกซ้อมของนักกีฬาทีมชาติไทย แบบไม่มีผู้ชม และผู้จัดการแข่งขัน ต้องดำเนินตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ก่อนปิดประชุม นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวให้กำลังใจทุกคนว่า “ขอให้เราต้องมีจิตใจที่ยิ่งใหญ่  เพื่อร่วมมือกันทำงานเพื่อคนไทย และคงต้องร่วมกันทำในยุคนี้ รัฐบาลชุดนี้ด้วย” นายธนกร กล่าว

Advertising

“บิ๊กตู่” สั่งให้ดำเนินคดี ผกก.โจ้ ถึงที่สุด พร้อมสั่งทุกหน่วยงานกำจัดเจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมเลวร้าย

People Unity News : นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ดำเนินการตามกฎหมายจนถึงที่สุดกรณี “ผกก.โจ้”

25 ส.ค. 64 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้ดำเนินการตามกฎหมายจนถึงที่สุดกรณีกรณี พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ พร้อมเจ้าหน้าที่รวม 7 คน ได้กระทำการข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้ผู้อื่นเสียหาย ร่วมกันข่มขืนใจให้ผู้อื่นกระทำการใด และร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยทรมาน หรือกระทำทารุณโหดร้าย

โดยให้ทุกหน่วยงานกำจัดเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติกรรมเลวร้าย ทุจริตในหน้าที่ ออกจากหน่วยงานตามกฎหมาย การกระทำใดที่มีผลกระทบต่อสังคมและประชาชน ต้องกำจัดออกไป เพื่อไม่ให้บุคคลนั้นมีโอกาสเติบโต ใช้ตำแหน่งหน้าที่สร้างความเสียหายต่อส่วนรวม

Advertising

ศบค.เตรียมลุยตรวจเชิงรุกตลาดสด ตลาดนัด ชุมชนโดยรอบตลาดในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด

People Unity News : ศบค.เตรียมพิจารณามาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตลาด ตรวจเชิงรุกผู้ค้า ลูกจ้าง และชุมชนโดยรอบตลาดพื้นที่สีแดงเข้ม คาดดำเนินการ 3 ระยะครอบคลุมเป้าหมาย 2 แสนคน ตรวจ 4 รอบ รวมทั้งใช้ ATK 8.5 แสนชุด รับสนับสนุนจาก สปสช.

23 ส.ค. 64  น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศ ได้พบว่าในส่วนของพื้นที่สีแดงเข้มโดยเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑลได้พบผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับตลาดสด และตลาดนัด โดยพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. -10 ส.ค. พบการติดเชื้อใน 23 จังหวัด ในตลาด 132 แห่ง ผู้ติดเชื้อรวม 14,678 คน

กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดทำมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในตลาด ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน จะได้พิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตลาด จะประกอบด้วยมาตรการ 3 ส่วน ได้แก่ มาตรการป้องกันคน ป้องกันสถานที่ (ตลาด) และ จัดการระบบเฝ้าระวังควบคุมโรค ซึ่งในส่วนการป้องกันคนนั้นจะมีตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK ในกลุ่มเป้าหมายได้แก่ผู้ค้า ลูกจ้าง แรงงานที่เดินทางเข้าออก ผู้อยู่อาศัยที่ประกอบธุรกิจอยู่โดยรอบ และมีการสุ่มตรวจผู้ซื้อที่เดินทางเข้าไปใช้บริการในตลาด

ดำเนินการในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มทั้ง 29 จังหวัด โดยแบ่งดำเนินการเป็น 3 ระยะ ระยะที่1 ดำเนินการใน 9 จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ราชบุรี ชลบุรี นครราชสีมา สงขลา และสระแก้ว เป้าหมายที่ตลาดค้าส่งและตลาดขนาดใหญ่ (500แผงขึ้นไป) ตลาดที่มีความเสี่ยงสูง มีชุมชนรอบตลาด  รวม 27 แห่ง  ระยะที่ 2 ดำเนินการตรวจในพื้นที่ตลาดทุกขนาด ในจังหวัดสีแดงเข้ม 16 จังหวัด ครอบคลุมตลาด 117 แห่ง  และระยะที่ 3 ดำเนินการครอบคลุมตลาดทุกขนาด ในพื้นที่สีแดงเข้มทั้ง 29 จังหวัด  รวมตลาด 683 แห่ง

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การประเมินเบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการตรวจครอบคลุมเป้าหมาย 202,010 คน ตรวจทุกสัปดาห์เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ใช้ชุดตรวจ ATK 808,040 ชุด มีการสำรองสำหรับกรณีตรวจเชิงรุกอีก 41,960 ชุด รวมใช้ชุดตรวจ ATK ตามมาตรการนี้รวม 850,000 ชุด ซึ่งจะขอรับการสนับสนุนชุดตรวจจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต่อไป

นอกจากดำเนินการตรวจเชิงรุกแล้ว ตามมาตรการนี้จะมีการให้วัคซีนแก่ผู้เกี่ยวข้องในตลาดตามลำดับความเสี่ยง รวมถึงดำเนินมาตรการอื่นควบคู่ เช่น การมีแผนเผชิญเหตุ การจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามหรือสถานที่แยกกัก เพื่อรองรับกรณีผู้ติดเชื้อหรือพบผู้มีผลตรวจ ATK เป็นบวก

Advertising

แนะฉีดวัคซีนเด็กอายุ 12-18 ปีที่มีโรคประจําตัวเสี่ยงติดโควิดในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

People Unity News : แนะผู้ปกครองในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่มีเด็กอายุ 12-18 ปี มีโรคประจําตัวเสี่ยงอาการรุนแรงหากติดโรคโควิด-19 ให้รีบพาเด็กไปรับวัคซีน

17 ส.ค.64 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ยังคงมีแนวโน้มการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น เฉพาะกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี พบติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์แรกเดือนสิงหาคม 7,787 คน และมีจำนวนการติดเชื้อรายใหม่ในสัปดาห์ที่ 2 เพิ่มขึ้นเป็น 8,733 คน คิดเป็นร้อยละ 12 ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวกลุ่มวัยเรียนวัยรุ่น จึงเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ล่าสุดราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคโควิด-19 ในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจําตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง ได้แก่ โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า แต่ยังไม่แนะนำเรื่องการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดีจนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น

จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ประเทศไทยมีเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี 5,196,248 คน พบติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ 1 เมษายน–14 สิงหาคม 2564 จำนวน 41,832 คน คิดเป็นร้อยละ 0.8 ในจำนวนนี้เสียชีวิต 8 คน ทั้งหมดเป็นกลุ่มเด็กป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น พิการทางสมอง มะเร็ง และหัวใจ เป็นต้น

พ่อแม่ ผู้ปกครองที่ดูแลเด็กและวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ที่เป็น 7 กลุ่มโรคเสี่ยง และมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่าย สามารถให้เด็กเข้ารับบริการฉีดวัคซีนตามที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำได้ โดยสอบถามและประสานนัดหมายกับสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลที่ประกาศให้บริการ

Advertising

 

ธอส.มอบเงินรางวัลพิเศษแก่น้องเทนนิส 3 ล้านบาท โค้ชเช น้องจูเนียร์ คนละ 5 แสน

People Unity News : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2549 ให้การต้อนรับและจัดพิธีมอบเงินรางวัลพิเศษรวม 4 ล้านบาท ให้แก่ “น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญทองในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 จำนวน 3 ล้านบาท “น้องจูเนียร์” และโค้ชเช ยอง ซอก อีกรายละ 500,000 บาท ขอบคุณในความมุ่งมั่นทุ่มเท จนนำมาซึ่งความสุขและความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่ “น้องเทนนิส” เรืออากาศตรีหญิงพาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย สามารถคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยถือเป็นเหรียญทองแห่งความสุขและความภาคภูมิใจหนึ่งเดียวของประเทศไทยที่ได้จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้ นับเป็นเหรียญทองเหรียญที่ 10 ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยจากการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ และเป็นเหรียญทองเหรียญแรกที่ได้จากการแข่งขันกีฬาเทควันโดอีกด้วย

ในวันนี้ (16 สิงหาคม 2564) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน จึงได้มอบเงินรางวัลพิเศษรวม 4,000,000 บาท ให้แก่นักกีฬาและผู้ฝึกสอน ที่มุ่งมั่นทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างหนักจนนำมาซึ่งความสำเร็จได้ในที่สุด โดยมี นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการ ธอส. พร้อมด้วยคณะกรรมการ ธอส. ประกอบด้วย นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะประธานกรรมการกิจการสัมพันธ์ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ในฐานะประธานกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CG&CSR) ดร.กริชผกา บุญเฟื่อ ในฐานะประธานกรรมการกำหนดกลยุทธ์และนโยบายทางด้าน IT และนวัตกรรม และนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงของธนาคารร่วมในพิธี โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.มอบเงินรางวัลพิเศษ จำนวน 3,000,000 บาท ให้แก่ “น้องเทนนิส” เรืออากาศตรีหญิง พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กก. หญิง

2.มอบเงินรางวัลพิเศษ จำนวน 500,000 บาท ให้แก่ “น้องจูเนียร์” นายรามณรงค์ เสวกวิหารี นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 58 กก. ชาย

3.มอบเงินรางวัลพิเศษ จำนวน 500,000 บาท ให้แก่ “โค้ชเช” ชเว ย็อง-ซ็อก หัวหน้าผู้ฝึกสอนนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย

โดยหลังจากรับมอบเงินรางวัลแล้ว ทั้ง 3 คน ยังได้นำเงินรางวัลที่ได้รับในครั้งนี้ แบ่งไปเก็บออมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ ด้วยการซื้อสลากออมทรัพย์ ธอส. ชุดเกล็ดดาว หน่วยละ 5,000 บาท โดยน้องเทนนิสซื้อสลากจำนวน 200 หน่วย หรือมูลค่า 1 ล้านบาท ขณะที่โค้ชเช และน้องจูเนียร์ ซื้อสลากคนละจำนวน 20 หน่วย หรือ​ 100,000 บาท ซึ่งทุกหน่วยจะได้สิทธิ์ลุ้นเงินรางวัลสูงสุดมูลค่า 1 ล้านบาท/หมวด พร้อมด้วยรางวัลอื่นๆ รวมถึงรางวัลเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว รางวัลเลขสลับเลขท้าย 2 ตัวและ 3 ตัว ลุ้นรางวัลได้ต่อเนื่องนาน 24 เดือน และยังได้รับผลตอบแทนหน้าสลาก 0.40% ต่อปี นอกจากนี้ดอกเบี้ยและเงินรางวัลยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกด้วย

“ธอส. ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ได้ให้การสนับสนุนปีละ 17 ล้านบาท รวมแล้วกว่า 260 ล้านบาท รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยพัฒนาวงการกีฬาเทควันโดให้โดดเด่น และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีการแข่งขันระดับโลกมากกว่า 160 รายการ รวมถึงการคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันเทควันโด ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 มาได้สำเร็จในครั้งนี้ ถือเป็นการทำให้คนไทยมีความสุขท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในขณะนี้ และ ธอส. ยืนยันว่าพร้อมให้การสนับสนุนสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยในการพัฒนาวงการกีฬาเทควันโดต่อไป เพื่อนำความภาคภูมิใจให้กับคนไทยให้ได้อย่างต่อเนื่อง” นายฉัตรชัย กล่าว

นอกจากการสนับสนุนทางด้านกีฬาให้กับสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยแล้ว ธอส. ยังคงมุ่งมั่นตามภารกิจหลักในการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ตลอดระยะเวลาเกือบ 68 ปี ธนาคารสร้างโอกาสให้คนไทยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมาแล้วมากกว่า 3.7 ล้านครอบครัว ควบคู่ไปกับการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ CSR ของธนาคาร ทั้งทางด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา สังคมและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสถาบันพระมหากษัตริย์/ศาสนา/ศิลปวัฒนธรรม

Advertising

ดีอีเอส เตือนข่าวปลอม! วัคซีน Pfizer มีส่วนผสมของแม่เหล็ก ทำให้มีผลต่อร่างกายในอีก 1-2 ปี

People Unity News : ดีอีเอส เตือนข่าวปลอม อย่าแชร์! วัคซีน Pfizer มีส่วนผสมของแม่เหล็ก ทำให้มีผลกระทบต่อร่างกายในอีก 1-2 ปี ย้ำวัคซีนไฟเซอร์โควิด-19 ไม่มีส่วนผสมที่เป็นโลหะเป็นส่วนประกอบหรือสารออกฤทธิ์ และวัคซีนไม่สามารถทำให้เกิดการตอบสนองทางแม่เหล็กเมื่อฉีดเข้าไปตามที่กล่าวอ้างได้

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า  ตามที่มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารถึงประเด็นเรื่อง วัคซีน Pfizer มีส่วนผสมของแม่เหล็ก ทำให้มีผลกระทบต่อร่างกายในอีก 1-2 ปี ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จํากัด พบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จในกรณีการเผยแพร่ข้อมูลโดยระบุว่า วัตถุดิบที่ใช้ผลิตวัคซีนที่ห้ามใช้ในคน แต่นำไปใช้ผลิตในวัคซีน Pfizer, Moderna ดร.ที่ทำงานวิจัย ขอร้องห้ามฉีดเพราะมีส่วนผสมของแม่เหล็ก อาจมีผลกระทบต่อร่างกายในอีก 1-2 ปี ภายหน้านั้น ทางบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จํากัด ได้ชี้แจงว่าวัคซีนไฟเซอร์โควิด-19 ไม่มีส่วนผสมที่เป็นโลหะเป็นส่วนประกอบหรือสารออกฤทธิ์ และวัคซีนไม่สามารถทำให้เกิดการตอบสนองทางแม่เหล็กเมื่อฉีดเข้าไปตามที่กล่าวอ้างได้

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จํากัด สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.pfizer.co.th หรือแหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข หรือจนกว่าจะตรวจสอบความถูกต้องให้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกในสังคม เพราะในปัจจุบันนี้มีข่าวปลอมในลักษณะนี้เกิดขึ้นทุกวัน การกระทำของผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป

นอกจากนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์https://www.antifakenewscenter.com , เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER , ทวิตเตอร์ @AFNCThailand , ไลน์@antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertising

Verified by ExactMetrics