วันที่ 21 พฤศจิกายน 2024

คปภ. จับมือภาคธุรกิจประกันภัย ตั้งศูนย์เคลมประกันภัยน้ำท่วม ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 2 กันยายน 2567 คปภ. จับมือภาคธุรกิจประกันภัย ตั้งศูนย์เคลมประกันภัยน้ำท่วม

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายจังหวัดพื้นที่ทั่วประเทศ สำนักงาน คปภ. จึงได้หารือเร่งด่วน เกี่ยวกับมาตรการ “ศูนย์ประสานงานด้านการประกันภัย” เช่น สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน (THAIFA) โดยออกมาตรการเร่งรัดเพื่อช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย ผู้ประกอบการ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งการเคลมประกันภัย และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งระยะสั้นและระยาว ดังนี้

มาตรการที่ 1 การดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือด้านการประกันภัยขึ้นในแต่ละจังหวัดเพื่อติดตาม เร่งรัดการตรวจสอบความเสียหายของทรัพย์สินที่ถูกน้ำท่วม เพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างถูกต้อง และรวดเร็ว การมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง

มาตรการที่ 2 การประเมินพื้นที่คาดการณ์ว่าจะมีน้ำท่วมเพิ่มเติมเพื่อเตรียมรองรับด้านการประกันภัย และการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การอำนวยความสะดวกโดยการจัดหาที่จอดรถยนต์บนพื้นที่สูง การเคลื่อนย้ายสิ่งของ หรืออุปกรณ์เครื่องจักรเพื่อป้องกันความเสียหาย การจัดส่งทีมผู้ประเมินความเสียหายลงสำรวจพื้นที่โดยเร็ว พร้อมอำนวยความสะดวกในการขอรับค่าสินไหมทดแทน ให้คำแนะนำขั้นตอนการขอรับค่าสินไหมทดแทนและเร่งรัดการจ่ายค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งสนับสนุนด้านการซ่อมแซมยานพาหนะ การฟื้นฟูที่พักอาศัย และสถานประกอบการที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงเปิดรับแจ้งเหตุและให้ข้อมูลในช่องทาง Hotline , Online

มาตรการที่ 3 การรับมือปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงปี 1-2 ปีนี้ ของภาคธุรกิจประกันภัย ต้องครอบคลุมทั้งการจัดการความเสี่ยง การให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและประชาชน รวมถึงการจัดการสินไหมทดแทน เพื่อเป็นเครื่องมือป้องกันความเสียหายเชิงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นับเป็นความร่วมมือของสำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและประชาชนในนาม “ภาคประกันภัย” จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานด้านการประกันภัย” เพื่อบูรณาการการทำงานของสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ในการทำงานเชิงรุกสำหรับสถานการณ์อุทกภัย ปี 2567 พร้อมจะเข้าช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศ

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า ขอฝากความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชนให้ระมัดระวังการขับขี่ยานพาหนะบริเวณน้ำท่วมไหลผ่านทางที่สัญจร และอันตรายจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรในช่วงน้ำท่วม และขอให้ประชาชนตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัย เช่น การประกันภัยรถยนต์ การประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน การประกันอัคคีภัยที่ซื้อความคุ้มครองน้ำท่วมเพิ่มเติม และการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร โดยสามารถรวบรวมหลักฐานความเสียหาย ยื่นขอเบิกค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือสำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ

Advertisement

วันนี้เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มการระบายน้ำอีกรอบ อ่างทองประกาศเตือน 5 อำเภอ ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 กันยายน 2567 ชัยนาท – เขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายน้ำอีกรอบ เพื่อรอรับฝนรอบใหม่ ส่วน จ.อ่างทอง ประกาศเตือนพื้นที่ 5 อำเภอ ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง

วันนี้ เขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายน้ำอีกรอบ เพื่อเร่งระบายน้ำเหนือ และรอรับฝนรอบใหม่ ที่คาดว่าจะตกหนักช่วง 1-5 กันยายนนี้ ขณะที่น้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่ อ.เมือง จ.ชัยนาท ล่าสุดอยู่ที่ 1,601 ลูกบาศก์เมตร/วินาที กรมชลประทานได้ผันน้ำเข้าระบบชลประทานสองฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยา และเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อน ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท สูงขึ้นจากเมื่อวาน 18 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 12.46 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 3.88 เมตร

ส่วนที่ จ.อ่างทอง เทศบาลเมืองฯ นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ติดตั้งไว้ริมเขื่อนเรียงหินแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก พร้อมนำแท่งแบริเออร์ขนาดใหญ่ปิดตามจุดเสี่ยง ระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับน้ำเหนือที่เพิ่มสูงต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมประกาศเตือนพื้นที่ อ.เมืองอ่างทอง, ไชโย, ป่าโมก, โพธิ์ทอง และวิเศษชัยชาญ ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง

Advertisement

กรมอุตุฯ รายงานทั่วไทย มีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 กันยายน 2567 กรมอุตุฯ รายงานทั่วไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก กรุงเทพฯ และปริมณฑล ฝนฟ้าคะนอง 60% ของพื้นที่

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 3-6 ก.ย.67 ร่องมรสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทยเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ ภาคตะวันออก และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามัน มีคลื่นสูง 2–3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

พายุโซนร้อน “ชานชาน” SHANSHAN ปกคลุมตอนใต้ของคันไซ ประเทศญี่ปุ่น ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย

พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 06.00 น. วันนี้ ถึง 06.00 น. วันพรุ่งนี้

ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ตาก และเพชรบูรณ์ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ชัยภูมิ และนครราชสีมา อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 23-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา และนราธิวาส อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียสตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ตั้งแต่จังหวัดระนองขึ้นมา : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดพังงาลงไป : ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

Advertisement

ประธาน ป.ป.ช. ลั่นต่อหน้า OECD ขอร่วมทำประเทศไทยโปร่งใสไร้โกง

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 30 สิงหาคม 2567 โรงแรม The Okura Prestige กรุงเทพฯ – ประธาน ป.ป.ช. ขอทุกภาคส่วนร่วมมือ ทำประเทศไทยโปร่งใสไร้โกง หวังยกระดับข้อกฎหมาย-มาตรการทัดเทียมมาตรฐาน OECD และเตรียมตัวเข้าเป็นสมาชิกตามนโยบายรัฐบาล

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อเผยแพร่รายงานการศึกษาและข้อเสนอแนะของ OECD ในโครงการ Reinforcing Anti-Corruption Framework ภายใต้ OECD-Thailand Country Programme โดย Elodie Beth ผู้จัดการอาวุโสแผนกต่อต้านการทุจริต OECD ร่วมกล่าวเปิดและบรรยายเกี่ยวกับ OECD อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบน และคณะทำงานว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศของ OECD

พลตำรวจเอกวัชรพล กล่าวเปิดการประชุมว่าอยากเห็นประเทศไทยยกระดับกฎหมายและการดำเนินการที่เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตให้ก้าวหน้าสอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD มากขึ้น ซึ่งการจัดงานครั้งนี้เป็นกิจกรรมภายใต้ Country Program ระหว่างรัฐบาลไทยกับ OECD โดยเริ่มตั้งแต่กลางปี 2566 ได้มีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในการรวบรวมข้อมูล กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องส่งให้ OECD ไปวิเคราะห์ข้อมูลในช่วงปลายปี 2566 ต่อเนื่องด้วยการที่ทุกภาคส่วนต่างๆ ร่วมให้ข้อมูลกับ OECD ในขั้นตอน on site visit เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนมาวันนี้ OECD ได้จัดทำรายงานกรอบการดำเนินงานต่อต้านการทุจริตของไทยและข้อเสนอแนะเรียบร้อยแล้ว ตนจึงขอขอบคุณหลายภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช.เป็นอย่างดี

ประธาน ป.ป.ช. กล่าวอีกว่าในวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะได้รับฟังข้อมูลที่น่าสนใจ นอกจากจะรับฟังผลการศึกษาและข้อเสนอแนะของโออีซีดีแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะได้ทำความรู้จักกับ OECD และกรอบอนุสัญญาว่าด้วยต่อต้านการให้สินบนของโออีซีดี ซึ่งได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญ OECD และประเทศสมาชิก มาแบ่งปันความรู้ประสบการณ์ จะช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ ของไทยเกิดความตระหนักรู้ สามารถเตรียมตัวเพื่อจะยกระดับความสำคัญของไทยให้ใกล้ชิด OECD มากขึ้นตามนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกของ OECD วันนี้ยังได้รับเกียรติจากตัวแทนสภาพัฒน์ฯ จะมาเล่าว่าไทยได้ดำเนินการและการเตรียมตัวอย่างไรหลังจากนี้ในการเข้าเป็นสมาชิก แม้ว่าโครงการ Reinforcing Anti-Corruption Framework จะดำเนินการมาจนใกล้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว แต่ตนมองว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ให้เราได้ทบทวนกฎหมายและมาตรการต่างๆ ของไทยที่มีอยู่ ในปัจจุบันก็ยังมีอะไรขาดตกบกพร่องพี่จะนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และให้ทัดเทียมกับมาตรฐานของ OECD ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสากลที่มีความเข้มข้นอย่างมาก หลังจากนี้ หวังว่าทุกภาคส่วนจะก้าวเดินไปพร้อมกับ ป.ป.ช. ในการทำให้ประเทศไทยโปร่งใสไร้ทุจริตและสินบนเพื่อให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป

Advertisement

กรมอุตุฯ เตือนฝนตกหนักในภาคเหนือตอนบน-อีสานตอนบน-ใต้ฝั่ง ตต.

วันที่ 5 มิย. 61 เวลา 7.00 น. มีฝนตกหนักตามที่กรมอุตุได้พยากรณ์ไว้ ส่งผลให้ถนนสายหลักและสายรองในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหารหลายแห่งถูกน้ำท่วม เส้นทางพิทักษ์พนมเขตสายหลักในเขตเมือง ประชาชนใช้ในการสัญจรไปตามทุกพื้นที่ในเขตเมือง เป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอเมืองมุกดาหาร โรงเรียนมุกดาหาร และโรงเรียนอนุบาล มีรถติดยาวจากเมืองใหม่ถึงหน้าโรงเรียน เส้นทางใหญ่สายนอกอย่างชยางกูร ข. เส้นทางศรีบุญเรือง ถนนยุทธพัฒน์ ตัดจากจุดตลาดนัดเทศบาล 1 ไป บขส. ถนนศรีบุญเรือง ถนน-ทางซอยหลายสาย เกิดน้ำท่วมสูงประมาณ 20-50 เซนติเมตร รถยนต์เล็กต้องลุยน้ำท่วมขังทำให้เกิดความล่าช้า การจราจรติดขัดไม่สะดวกในการสัญจร ประกอบกับเป็นช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งต่างก็ต้องเร่งส่งลูกไปโรงเรียน และเข้าสำนักงาน เหตุน้ำท่วมขังน่าจะเกิดจากการระบายไม่ทัน เนื่องจากความเจริญของบ้านเมือง ที่มีการถมดินก่อสร้างอาคารบ้านเรือน มีโครงการต่างๆ มากมาย ทำให้เส้นทางน้ำที่เคยซึมซับไปกับพื้นที่ลุ่ม ไหลลงไม่ทันจากท่อระบายน้ำในเขตเทศบาลเมือง ส่วนใหญ่เป็นน้ำที่รอการระบาย เพียงไม่นานสภาพถนนทุกเส้นทางก็เข้าสู่ภาวะปกติ จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งให้ทราบว่า 5-8 มิย. มีพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ประมาณ 255 กิโลเมตร มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กม./ชม. พายุกำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือค่อนทางทิศตะวันออกเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 12 กม./ชม. และคาดว่าจะเคลื่อนเข้าเกาะไหหลำ ประเทศจีน ร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดมุกดาหารมีเมฆมาก ฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมฉับพลัน +++///***        

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 28 สิงหาคม 2567 กรมอุตุฯ เตือนฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานตอนบน ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง 70% และมีฝนตกหนักบางแห่ง

กรมอุตุนิยมพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังค่อนข้างแรง

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันตอนบน มีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และทะเลอันดามันตอนล่าง มีคลื่นสูง 1-2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบน ควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย

กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส

Advertisement

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แนะการใช้ไฟฟ้า ในกรณีที่มีน้ำท่วมหรือน้ำท่วมขัง

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 26 สิงหาคม 2567 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แนะการใช้ไฟฟ้า ในกรณีที่มีน้ำท่วมหรือน้ำท่วมขัง‏

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารสภาพอากาศ ประกาศเตือนจากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมทุกขณะ PEA มีข้อแนะนำประชาชนเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้า กรณีเกิดน้ำท่วมหรือน้ำท่วมขัง เพื่อความปลอดภัย ดังนี้

1.ก่อนน้ำท่วมเข้าภายในบ้านหรือบริเวณบ้าน ให้รีบขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและสิ่งของจำเป็นไว้ที่สูงหรือที่ปลอดภัยน้ำท่วมไม่ถึง

2.กรณีบ้านชั้นเดียว ให้งดใช้ไฟฟ้าโดยเด็ดขาด งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด ขณะตัวเปียกหรือยืนแช่น้ำห้ามเปิดหรือปิดสวิตช์ไฟ ปลั๊กไฟที่น้ำท่วมห้ามใช้งานเด็ดขาดเนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

3.กรณีบ้านสองชั้นและมีสวิตช์แยกแต่ละชั้น หากน้ำกำลังจะท่วมชั้นล่าง ให้ปลดสวิตช์ตัดกระแสไฟฟ้าเฉพาะชั้นล่าง น้ำท่วมขังเป็นเวลานานและมีความจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในบ้าน ให้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชั้นบน โดยให้เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือช่างไฟฟ้าที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้าปลดสวิตช์ที่ชั้นล่าง เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือช่างไฟฟ้าเพื่อแยกวงจรชั้นบนและชั้นล่าง

สอบถามข้อมูล แจ้งเหตุไฟฟ้าขัดข้องหรือขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับไฟฟ้าได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โทร.1129 PEA Contact Center ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisement

ด่วน!! กรมอุตุฯ เตือนประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น-ตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนบน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 26 สิงหาคม 2567 กรมอุตุฯ เตือนประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น-ตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนบน

กรมอุตุฯ เตือนประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนบน ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง 60% และมีฝนตกหนักบางแห่ง

กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนบน และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้นเป็นกำลังปานกลาง

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบน ตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมา และอ่าวไทยตอนบน มีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส

Advertisement

อัพเดทสถานการณ์น้ำท่วม 7 จว. เช้านี้ ระดับน้ำลด เร่งคลี่คลายสถานการณ์-ช่วยเหลือ ปชช.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 24 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น. ปภ. รายงานมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ เพชรบูรณ์ อุดรธานี และภูเก็ต รวม 43 อำเภอ 187 ตำบล 1,069 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 21,971 ครัวเรือน ประสานพื้นที่เร่งคลี่คลายสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชน

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่าจากอิทธิพลของ ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ระหว่างวันที่ 16 – 24 ส.ค. 67 มีสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ เพชรบูรณ์ อุดรธานี ระยอง ภูเก็ต และยะลา รวม 62 อำเภอ 255 ตำบล 1,454 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30,807 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 10 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 19 ราย โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2567) ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 7 จังหวัด รวม 43 อำเภอ 187 ตำบล 1,069 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 21,971 ครัวเรือน ดังนี้

1)เชียงราย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อ.เวียงชัย อ.เชียงแสน อ.ป่าแดด อ.พญาเม็งราย อ.แม่สาย อ.แม่จัน อ.เทิง อ.เชียงของ อ.ขุนตาล อ.เวียงแก่น และ อ.เวียงป่าเป้า รวม 33 ตำบล 231 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,381 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

2) พะเยา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ปง อ.เชียงม่วน อ.ดอกคำใต้ อ.ภูซาง อ.เมืองฯ และ อ.เชียงคำ รวม 40 ตำบล 313 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,500 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

3)น่าน เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 11 อำเภอ ได้แก่ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เวียงสา อ.นาน้อย อ.เชียงกลาง อ.ทุ่งช้าง อ.บ้านหลวง อ.ท่าวังผา อ.ปัว อ.ภูเพียง อ.เมืองฯ และ อ.บ่อเกลือ รวม 56 ตำบล 283 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,517 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

4) แพร่ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ร้องกวาง อ.สอง อ.เมืองฯ อ.สูงเม่น และ อ.หนองม่วงไข่ รวม 23 ตำบล 102 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 383 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

5) เพชรบูรณ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.วังโป่ง อ.ชนแดน และ อ.เมืองฯ รวม 6 ตำบล 22 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,726 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

6) อุดรธานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.ไชยวาน อ.กู่แก้ว อ.เพ็ญ อ.หนองหาน และ อ.ประจักษ์ รวม 26 ตำบล 109 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 255 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

7) ภูเก็ต เกิดน้ำท่วมและเกิดดินสไลด์ในพื้นที่ อ.เมืองฯ รวม 3 ตำบล 9 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 209 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 10 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บ 19 ราย สถานการณ์คลี่คลายแล้ว

ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงทุกพื้นที่ สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย และรถผลิตน้ำดื่ม เพื่อแก้ไขปัญหา เร่งระบายน้ำ บรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัย และผลิตน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป

ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT”

Advertisement

เหนือตอนบน-อีสานตอนบน ฝนตกหนักมากบางแห่ง

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 สิงหาคม 2567 กรมอุตุฯ เผยภาคเหนือตอนบน และอีสานตอนบน มีฝนตกหนักมากบางแห่ง ขณะที่ กทม.-ปริมณฑล ฝนฟ้าคะนอง 60% ของพื้นที่

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย

สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ขอให้ชาวเรือหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

พยากรณ์อากาศรายภาค วันที่ 20 ส.ค.67

กทม.-ปริมณฑล : มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคเหนือ : มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา น่าน ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 5-15 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง : มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดลพบุรี และสระบุรี อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออก : มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 25-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) : มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) : มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดกระบี่ ตรัง และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

Advertisement

กรมอุตุฯ เตือนทั่วไทยฝนตกหนัก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่า

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 18 สิงหาคม 2567 กรมอุตุฯ เผยร่องมรสุมพาดผ่าน ทำให้ทั่วไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

กรมอุตุนิยมวิทยาเผยร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

สำหรับบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น “อ็อมปึล” มีศูนย์กลางบริเวณทิศตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น โดยพายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย

Advertisement

Verified by ExactMetrics