วันที่ 25 พฤศจิกายน 2024

ไทย-สหรัฐพร้อมขยายความร่วมมือ

People Unity News : 28 พฤศจิกายน 2565 นายกฯ หารือ USABC เสนอ 3 แนวทางเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ มุ่งส่งเสริมสร้างความเข้มแข็ง การเติบโตเศรษฐกิจอย่างสมดุลและครอบคลุม ขณะสหรัฐพร้อมขยายความร่วมมือกับไทย

คณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council : USABC) นำโดยนายโรเบิร์ต โกเดค (H.E. Mr.Robert Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย นาย Ted Osius ประธาน USABC และผู้แทนบริษัทสมาชิก จำนวน 43 บริษัท จากกลุ่มอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ อาทิ พลังงาน อาหารและการเกษตร สาธารณสุข เทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการทางการเงิน เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า USABC และภาคเอกชนสหรัฐฯ ถือเป็นมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และมีบทบาทสนับสนุนการเติบโตของไทยมาโดยตลอด รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือ แลกเปลี่ยนความเห็นกับภาคเอกชน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ มีพลวัตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในการประชุมเอเปค ไทยได้ผลักดันผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมหลายประการ ทั้งการทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในบริบทหลังโควิด-19 และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยการนำเสนอเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on BCG)

“คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตระหว่างร้อยละ 2.7-3.2 ไทยพร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ มุ่งส่งเสริมความเข้มแข็งและการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างสมดุลและครอบคลุม และให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม บนพื้นฐานโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อพัฒนาไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการลงทุนของภูมิภาค” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรีได้เสนอวิสัยทัศน์และแนวทางการเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจไทยในยุค Next Normal 3 ประการ ได้แก่ 1.ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีความสมดุล และมุ่งเข้าสู่การเป็นสังคมปลอดคาร์บอน โดยรัฐบาลได้เร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นสีเขียว และต้องการยกระดับไทยไปสู่การผลิต EV สำหรับภูมิภาค พัฒนาองค์ความรู้ และเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“2.ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน โดยรัฐบาลได้เร่งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจตามข้อเสนอ Ten for Thailand เพื่อพัฒนาไทยไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคสำหรับธุรกิจ การค้า และการลงทุน และ 3.ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ไทยมุ่งผลักดันและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เร่งพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น และส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี หวังว่าในโอกาสฉลองครบรอบ 190 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในปี 2566 ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนจะเพิ่มพูนและแน่นแฟ้น มีพลวัตในความสัมพันธ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านนาย Ted Osius ประธาน USABC กล่าวว่า การพบกันครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้พบกันพร้อมหน้า และเป็นคณะที่ใหญ่สุดที่เดินทางมาประเทศไทยรวม 43 บริษัทแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะขยายความร่วมมือกับไทย และการลงทุนในภูมิภาคนี้ ถือเป็นโอกาสเฉลิมฉลองวาระครบครบรอบ 190 ปีของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในปีหน้าด้วย และชื่นชมความสำเร็จที่นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ประธานการประชุมเอเปค 2022 ได้อย่างยอดเยี่ยม

ส่วนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยั่งยืนยาวนาน ร่วมกันส่งเสริมความสัมพันธ์ในหลายระดับและภาคเอกชนถือว่าสำคัญเป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลสหรัฐฯ พร้อมรับไม้ต่อในการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปีหน้า และยืนยันจะส่งเสริมความร่วมมือกับไทยต่อไป

ด้านผู้แทนจากบริษัทภาคเอกชนสหรัฐฯ ทั้ง 43 บริษัทจาก 6 อุตสาหกรรมหลัก ได้กล่าวแนะนำตัวและหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยแสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือและสนับสนุนแนวคิด BCG ของไทยผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านการใช้พลังงาน ผลิตภัณฑ์ อย่างคุ้มค่าและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ซึ่งตัวแทนบริษัทส่วนใหญ่เห็นว่า ไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์การกลางลงทุนในด้านต่างๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ (Auto Hub) ศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รวมทั้งพร้อมที่จะส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่พร้อมต่อการทำงาน ซึ่งจะช่วยรองรับการขยายการลงทุนของแต่ละธุรกิจในอนาคตต่อไป

Advertisement

สหรัฐชื่นชมผลงานปราบปรามการค้ามนุษย์ไทยดีขึ้นต่อเนื่อง

People Unity News : 27 พฤศจิกายน 2565  “พล.อ.ประวิตร” โชว์ผลงานปราบปรามการค้ามนุษย์ เน้นย้ำต้องเข้มงวด ยกระดับไทยให้ดียิ่งขึ้นในปี 2566 ด้าน กต.สหรัฐ ชื่นชมไทยดีขึ้นต่อเนื่อง

วันนี้ (27 พ.ย.65) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และประธานคณะอนุกรรมการร่วมว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ไทย-สหรัฐอเมริกา (ฝ่ายไทย) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดการต้อนรับผู้แทนสำนักงานตรวจสอบและต่อต้านการค้ามนุษย์ (J/TIP Office) กต.สหรัฐฯ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในประเทศไทย ประจำปี 2565

พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า น.ส. Caitlin Heidenreich ผู้แทน J/TIP ของ กต.สหรัฐฯ พร้อมด้วย น.ส. Rebecca Hunter รองที่ปรึกษาฝ่ายการเมือง น.ส. Angeline Bickner ผู้ช่วยฝ่ายการเมือง น.ส. Elska Vuong ผู้ช่วยฝ่ายการเมือง และ น.ส.จันทร์เจ้า จันทร์ศิริ ฝ่ายการเมืองของสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมชมหน่วยปฏิบัติหลัก (3P) ได้แก่ ด้านการดำเนินคดี ด้านการป้องกัน และด้านการคุ้มครอง โดยสรุปดังนี้

วันที่ 22 พ.ย.65 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พร้อมภาคีเครือข่ายประชาสังคมและ TIP Report Hero ชาวไทยทั้ง 3 คน นายสมพงค์ สระแก้ว น.ส.วีรวรรณ ม็อสบี้ น.ส.อภิญญา ทาจิตต์ ให้การต้อนรับคณะเข้าเยี่ยมชมฟังบรรยายสรุปผลงานของ ศพดส.ตร. ที่มีผลจับกุมคดีค้ามนุษย์ รวม 231 คดี ในปี 2565 โดยเฉพาะผลงานชุดปฏิบัติการ TICAC ที่มีสถิติจับกุมคดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต รวม 398 คดี ในปี 2565 ยอดสูงสุดในรอบ 8 ปี เนื่องจากได้มีการปรับรูปแบบในการสืบสวนทางออนไลน์ และปฏิบัติการร่วมกับ NGO ควบคู่กับได้รับความร่วมมือจากผู้เสียหายเป็นพยานมากขึ้น โดยใช้แผนกลไกการส่งต่อฯ (NRM) ของรัฐบาล ต่อมาวันที่ 23 พ.ย.65 พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ นำคณะเข้าเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทําการประมง (FMC) ของกรมประมง และฟังบรรยายสรุปขั้นตอนตรวจแรงงานของศูนย์ PIPO ความร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) และมาตรฐานแรงงานไทย (TLS) มาตรฐานการปฏิบัติงาน ตรวจคัดกรองการบังคับใช้แรงงาน (SOP) และผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้นำคณะเยี่ยมชมสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จังหวัดปทุมธานี นำเสนอพัฒนาการความก้าวหน้าที่สำคัญ อาทิ สถิติการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหาย การให้ความสำคัญในการคุ้มครองช่วยเหลือที่คำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจของผู้เสียหาย (Trauma Informed Care) และการพัฒนาแนวทางการให้อิสระแก่ผู้เสียหาย (Freedom of Movement) ในการเดินทางเข้าออกสถานคุ้มครอง และการใช้เครื่องมือสื่อสารสำหรับผู้เสียหายกลุ่มผู้ใหญ่

พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ เปิดเผยว่า ฝ่ายสหรัฐอเมริกาชื่นชมความก้าวหน้าของรัฐบาลในการนำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติฯ (NRM) ไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะโครงการสำคัญ (Flagship) อาทิ การจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (ดอนเมือง) งบลงทุนราว 150 ล้านบาทเศษ การตั้งศูนย์บูรณาการคัดแยก 10 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยง การตั้งทีมสหวิชาชีพคัดกรองแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในเรือประมงในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล จำนวน 40,000 คน เป้าหมายสัมภาษณ์ครบ 100% การซุ่มคัดกรองแรงงานกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร ประธาน ปคม./ปกค. โดยได้เป็นกำลังใจและขอบคุณเจ้าหน้าที่ “ทีมประเทศไทย” ที่ได้ทุ่มเททำงานมาตลอดทั้งปี และยังได้เน้นย้ำให้ปราบปรามอย่างเข้มงวด ห้ามมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์อย่างเด็ดขาด เพื่อยกระดับประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นในปี 2566

Advertisement

ไทยจับมือกัมพูชาแก้ภัยคุกคามความมั่นคง

People Unity News : 25 พฤศจิกายน 2565 “พล.อ.ประวิตร-พล.อ.เตีย บันห์” พร้อมร่วมแก้ปัญหาชายแดนที่กระทบต่อความมั่นคงไทย-กัมพูชา ทั้งอาชญากรรมข้ามแดน ยาเสพติด แก๊งคอลเซ็นเตอร์ไทยที่ใช้กัมพูชาเป็นฐานหลอกคนไทยด้วยกัน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา เป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 15 ก่อนการประชุม พล.อ.ประวิตร ได้หารือกับ พล.อ.เตีย บันห์ โดยทั้งสองฝ่ายได้ย้ำสัมพันธ์และความร่วมมือทางทหารที่ใกล้ชิดแน่นแฟ้นทุกระดับ และเห็นถึงความสำคัญของกลไกการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) ต่อความมั่นคงชายแดนของทั้งสองประเทศ โดยจะเพิ่มความร่วมมือกิจกรรมทางทหาร การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติมากขึ้น เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ อาชญกรรมทางไซเบอร์ โดยเฉพาะกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงข้ามแดน รวมทั้งร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดน ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ เพื่อความปลอดภัยของประชาชนทั้งสองประเทศ โดยไม่นำเงื่อนไขของเขตแดนมาเป็นปัญหาในการปฏิบัติงาน

พล.อ.ประวิตร กล่าวขอบคุณกัมพูชาที่สนับสนุนช่วยเหลือคนไทยในกัมพูชาที่ถูกหลอกลวง และขอความร่วมมือกัมพูชาช่วยกวาดล้างจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์คนไทยที่ใช้กัมพูชาเป็นฐานหลอกลวงคนไทยด้วย ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมไทยพร้อมสนับสนุนที่นั่งการศึกษาทางทหารระดับต่างๆ ให้กระทรวงกลาโหมกัมพูชา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางทหารที่แน่นแฟ้นมากขึ้น

จากนั้น พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.เตีย บันห์ เป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 15 โดยเน้นย้ำความร่วมมือด้านต่าง ๆ ระหว่างกองทัพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ อันจะนำมาซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงตลอดแนวชายแดน รับทราบความก้าวหน้าของความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น การผ่านแดนและการสัญจรข้ามแดน การเก็บกู้ทุ่นระเบิด การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานชายแดน การพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม การค้าชายแดน สาธารณสุขและการบรรเทาสาธารณภัย โดยเฉพาะการขับเคลื่อนกลไกการประชุมผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ไทย-กัมพูชา และการจัดตั้งกลไก RBC ประชุมร่วมระหว่างกองกำลังป้องกันชายแดนทั้งสองประเทศ เพื่อแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ ทั้งสองฝ่ายพร้อมสนับสนุนให้หน่วยงานระดับ อำเภอ จังหวัด ร่วมแก้ปัญหายาเสพติด โดยการดำเนินงานหมู่บ้านคู่ขนานสีขาวและหมู่บ้านเข้มแข็งตามแนวชายแดน ร่วมปฏิบัติตามแผนแม่น้ำโขงปลอดภัย เพื่อควบคุมปัญหายาเสพติด ซึ่งความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมดังกล่าว สะท้อนถึงพัฒนาการความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันในการแก้ปัญหาชายแดนที่มีมากขึ้นต่อเนื่อง

Advertisement

ไทย-จีนเสริมสร้างสัมพันธ์ครั้งประวัติศาสตร์ในโอกาสประธานาธิบดีจีนเยือนไทยในรอบ 11 ปี

People Unity News : 19 พฤศจิกายน 2565 ทำเนียบรัฐบาล นายกฯ ต้อนรับประธานาธิบดีจีนเยือนไทยในรอบ 11 ปี กระชับความร่วมมือรอบด้าน เพื่อประชาชนทั้งสองประเทศ ประธานาธิบดีจีนชื่นชมไทยเป็นเจ้าภาพเอเปค พร้อมร่วมมือเพื่อส่งเสริมภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสเยือนไทย ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ผู้นำทั้งสองได้ร่วมกันหารือถึงการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือ โดยฝ่ายไทยมีรัฐมนตรีหลายคนเข้าร่วม อาทิ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายกรัฐมนตรี รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ต้อนรับประธานาธิบดีจีนเยือนไทยครั้งนี้ นับเป็นการเยือนไทยในรอบ 11 ปี และเป็นการเยือนครั้งแรกนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ทำให้การเยือนครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อกำหนดทิศทางความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านที่ครบรอบ 10 ปีในปีนี้ และมุ่งไปสู่การฉลองครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2568

ประธานาธิบดีจีน กล่าวว่า มิตรภาพจีน-ไทยสืบทอดกันมาหลายพันปี ประชาชนมีความสัมพันธ์เหมือนพี่น้องกัน จีนพร้อมร่วมมือกันสรรค์สร้างความเจริญรุ่งเรืองและอนาคตร่วมกัน เปิดศักราชใหม่ของความร่วมมือ เพื่อผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ ในโอกาสนี้ ประธานาธิบดีจีนแสดงความยินดีกับนายกรัฐมนตรีและประเทศไทยที่ได้จัดการประชุมเอเปคด้วยความสำเร็จ แสดงให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีความสร้างสรรค์ สามัคคี และปรองดอง พร้อมพัฒนาเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค

นายกรัฐมนตรีเสนอให้เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์และหารือยุทธศาสตร์ในระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ และกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคง โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ อาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ การหลอกลวงทางโทรศัพท์ ซึ่งจีนยินดีร่วมมือกับไทย เพื่อผลประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ รวมถึงต่อภูมิภาคโดยรวม ซึ่งประธานาธิบดีจีนยินดีร่วมมือเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งทั้งสองประเทศควรปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) เพื่อผลักดันและบูรณาการความร่วมมือในหลายหลายมิติให้ได้ผลเป็นรูปธรรม

ไทยและจีนเห็นพ้องการเพิ่มพูนมูลค่า และอำนวยความสะดวกทางการค้าด้านต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ พร้อมทั้งส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีจีน ยังขอให้ทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP และส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงทางราง รวมถึงการดำเนินการโครงการรถไฟไทย-จีน ให้เป็นไปตามที่กำหนด

ประธานาธิบดีจีน เห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรต่อยอดความร่วมมือแบบดั้งเดิมทั้งเรื่องการลงทุน การค้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเศรษฐกิจดิจิทัล รถยนต์พลังงานทดแทน พร้อมชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่มองว่า ควรจะเร่งความร่วมมือสามฝ่ายไทย-จีน-ลาว ในเรื่องการเชื่อมโยงระบบรถไฟ โดยไทยและจีนควรส่งเสริมการเชื่อมโยงตั้งแต่ EEC ของไทยไปยังรถไฟจีน-ลาว ต่อไปจนถึงมณฑลยูนนานของจีน และเชื่อมไปยังเส้นทางขนส่งสินค้าทางบกและทางน้ำสายใหม่ของจีน สำหรับในขั้นต่อไปจีนหวังว่า จะมีการเชื่อมโยงทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และระบบศุลกากรเพื่อขยายการขนส่งสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทย เช่น ทุเรียนและมังคุด

ประธานาธิบดีจีน ยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องการลดความยากจนและการพัฒนาชนบทให้ไทย โดยรัฐบาลจีนมีหน้าที่สำคัญในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจีนให้เจริญรุ่งเรืองอย่างรอบด้านโดยมีอัตลักษณ์ของจีน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของไทย

นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณจีนที่อนุญาตให้นักศึกษาไทยทยอยกลับไปศึกษาต่อในจีนได้ รวมทั้งพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยอีกครั้ง ซึ่งประธานาธิบดีจีน กล่าวว่า จีน จีนส่งเสริมให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายเดินทางไปมาหาสู่กันได้ หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง

หลังจากการหารือเต็มคณะ ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศเอกสารความร่วมมือและความตกลงที่มีการลงนามในช่วงการเยือน จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่

(1) แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ฉบับที่4 (พ.ศ. 2565-2569)

(2) แผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วย การร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21

(3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

(4) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และ

(5) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการก่อตั้งคณะทำงานความร่วมมือด้านการลงทุนและเศรษฐกิจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

จากนั้น ประธานาธิบดีจีนได้ลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึก ณ บริเวณโถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีจีน และภริยา ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล

Advertisement

สื่อไทย-ต่างชาติแห่จองคิวนวดไทย

People Unity News : 16 พฤศจิกายน ศูนย์การประชุมสิริกิติ์ กระทรวงแรงงาน ออกบูธนวดไทยที่ศูนย์การประชุมสิริกิติ์ ชูเป็น Soft Power สื่อทั้งในทั้งนอกแห่จองคิวจำนวนมาก

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเยี่ยมชมบูธของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานกระทรวงแรงงาน ที่จัดบริการนวดแผนไทย คอ บ่า ไหล่ ให้กับสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศในการประชุมเอเปคครั้งนี้  ว่า การนวดแผนไทยถือเป็น Soft Power อย่างหนึ่งที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศ ซึ่งตั้งแต่เริ่มการประชุมตั้งแต่วันที่ 14 -15 พฤศจิกายนเป็นต้นมา มีสื่อลงทะเบียนขอรับบริการนวดแผนไทยจำนวนทั้งสิ้น 700 คนต่อวัน เป็นสื่อต่างชาติถึง 200 คน ซึ่งภายในบูธของกระทรวงแรงงาน มีการเปิดให้สื่อมวลชนลงทะเบียนรับบริการนวด ตั้งแต่ นวด คอ บ่า ไหล่ ตอกเส้นนวดประคบ และดื่มน้ำสมุนไพรด้วย

“คาดหวังว่าบริการนวดนี้จะถูกใจสื่อต่างชาติ และทำให้เกิดการบอกต่อ ขยายเป็นวงกว้างในต่างประเทศ เพราะนอกจากบริการนวดแล้ว ยังรวมไปถึงบริการเครื่องดื่มสมุนไพรที่ช่วยผ่อนคลาย ทั้งนี้ นายกรัฐมตรีมีความตั้งใจจัดการประชุมเอเปค ครั้งนี้ โดยหวังให้คนไทยทุกคนร่วมภาคภูมิใจที่เป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ไม่ได้มองเรื่องของมุมมองทางการเมือง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

Advertisement

Soft Power “ปลากุเลาจากตากใบ” ในเวทีเอเปค 2022

People Unity News : 13 พฤศจิกายน 2565 Soft Power “ปลากุเลาจากตากใบ” ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในเมนูอาหารในเวทีเอเปค 2022

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เปิดเผยว่า “ปลากุเลาจากตากใบ” ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในเมนูอาหารที่จะเสริฟในงานเลี้ยงกาลาร์ดินเนอร์แก่ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค2022 ซึ่งจัดขึ้นที่หอประชุมกองทัพเรือ มีเชฟชุมพล เป็นผู้รับผิดชอบ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการโปรโมทของดีจังหวัดชายแดนใต้ เป็นสินค้าท้องถิ่นขึ้นชื่อของจังหวัดนราธิวาสให้โด่งดังเพราะ “ปลากุเลาเค็มตากใบ” เป็นปลาสายพันธุ์ท้องถิ่นของจังหวัดนราธิวาส ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา คนทั่วไปขนานนามว่า “ราชาแห่งปลาเค็ม” เนื่องจากมีรสสัมผัสกลมกล่อม เนื้อฟู มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ส่งผลให้ปลากุเลาเค็มตากใบ มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1,300-1,500 เป็นของฝากยอดนิยมที่ผู้คนมักซื้อไปฝากกัน

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปลากุเลาเค็ม นอกจากจะเป็นสินค้าเลื่องชื่อของ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แล้ว ยังเป็นสินค้าโด่งดังของ จ.ปัตตานี ด้วยเช่นกัน ซึ่งรัฐบาล โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) ได้เข้าไปมีบทบาทในการส่งเสริมการแปรรูปอาหารทะเล เพื่อสร้างอาชีพและรายได้สู่ชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจประมงพื้นบ้านของโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” อาทิ วิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย ที่ขณะนี้มีผู้รู้จักไปทั่วประเทศ ซึ่งจากการที่ ศอ.บต. ได้สนับสนุนและผลักดันที่ดินเพื่อการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจจำนวน 3 ไร่ และให้ทุนในการสร้างโรงเรือน ทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และผลิตปลาเค็มที่ได้รับความนิยมจากประชาชนภายนอกเป็นอย่างมาก

“การจัดงานเลี้ยงต้อนรับผู้นำ เอเปค 2022 ใช้คอนเซปต์ Sustainable Thai Gastronomy เพื่อแสดงถึงศักยภาพของอาหารไทย และประเทศไทยที่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบอาหารสำคัญของโลก โดยวัตถุดิบที่ใช้ในงานเลี้ยงกาลาร์ดินเนอร์  คัดสรรจากวัตถุดิบของไทยทั้งหมด จากทั่วประเทศ เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ใช้แนวคิด BCG โมเดล มีอาหาร 4 คอร์ส เป็นอาหารไทยขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักของไทย อาทิ ข้าวซอย ต้มข่าไก่ ต้มยำ ขนมหม้อแกงเผือกภูเขา ผักจากโครงการหลวง ไข่ปลาคาร์เวียจากโครงการหลวง ดอยอินทนนท์ เนื้อจากโพนยางคำ ปลากุเลาจากตากใบ รวมถึงเครื่องดื่มเป็นไวน์ไทยจากเขาใหญ่ จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสของการเผยแพร่ Soft power ในวัฒนธรรมอาหาร และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่คนไทยภาคภูมิใจทั้งนี้ รัฐบาลขอเชิญชวนคนไทยร่วมเป็นเจ้าภาพของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2022 นี้” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

“อนุทิน” เตรียมนำคณะร่วมถก World Bio Summit 2022

People Unity News : 23 ตุลาคม 2565 “อนุทิน” เตรียมนำคณะเข้าประชุม World Bio Summit 2022 ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ร่วมผู้แทนกว่า 18 ประเทศถกอนาคตวัคซีนสร้างความสามารถต่อสู้โรคอุบัติใหม่

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 24-27 ต.ค. 65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข จะนำคณะซึ่งประกอบด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยคณะแทนจากกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วมการประชุม World Bio Summit 2022 ซึ่งจัดขึ้น ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

สำหรับการประชุม World Bio Summit 2022 ครั้งนี้เป็นเวทีการหารือใหม่ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยความร่วมมือของสาธารณรัฐเกาหลีกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งได้มีการเชิญผู้นำประเทศต่างๆ มากกว่า 18 ประเทศทั้งในอเมริกา ยุโรป เอเชียเเละแอฟริกา รวมถึงผู้แทนบริษัทวัคซีน ผู้แทนองค์กรการกุศลเอกชน และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ เข้าร่วม โดยจะมีการหารือในหัวข้ออนาคตของวัคซีนและชีวอนามัยจากประสบการณ์และบทเรียนที่เรียนรู้จากการระบาดของโรคโควิด19 พร้อมเสนอวิธีการเสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อโรคติดเชื้อและโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

ในโอกาสนี้ นายอนุทิน จะเป็นผู้แทนประเทศไทยในการปาฐกกาถึงบทเรียนที่ทั่วโลกได้รับโควิด 19 และย้ำถึงจุดยืนของไทยในการร่วมกับนานาประเทศในการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ระหว่างการเข้าร่วมประชุมที่กรุงโซลครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีและคณะ จะเข้าร่วมในพิธี Thailand-IVI Ratification Ceremony ซึ่งประเทศไทยจะให้สัตยาบันสารในการเข้าร่วมเป็นภาคีกับสถาบันวัคซีนนานาชาติ (IVI) อันจะส่งผลให้ประเทศไทยได้รับโอกาสในการพัฒนาและขยายความร่วมมือด้านวัคซีนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านวัคซีนของไทย

นอกจากนี้ จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขของไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี ว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือหลายด้านระหว่าง 2 ประเทศ อาทิ ความมั่นคงด้านสุขภาพ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพ การดูแลสุขภาพดิจิทัล และการส่งเสริมสุขภาพ

Advertisement

“อนุชา” เผยเฟ้นสุดยอดเชฟอาหารไทย เสิร์ฟผู้นำ-ผู้เข้าร่วมประชุมเอเปค

People Unity News : 21 ตุลาคม 65 “อนุชา” เผยเตรียมเชฟพร้อมเฟ้นสุดยอดอาหารไทย เสิร์ฟผู้นำและผู้เข้าร่วมประชุมเอเปค ผลักดันอาหารไทย หวังสร้างความประทับใจ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค เปิดเผยว่า การที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิค ครั้งที่ 29 หรือ เอเปค 2565 ถือเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้แสดงศักยภาพให้ทั่วโลกได้เห็นว่าไทยมีความสามารถแข่งขันในเวทีโลก อาหารไทย ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถต่อยอดทางธุรกิจและพัฒนาให้มีความเป็นสากลได้ ทั่วโลกยกย่องอาหารไทย โดยสังเกตได้จากร้านอาหารไทยที่กระจายอยู่หลายประเทศ และไทยมีความสมบูรณ์ทางทรัพยากรอาหาร

“สิ่งนี้ถือเป็น Soft Power ซึ่งหากเชฟชาวไทยมีโอกาส ได้พัฒนาทักษะ จะเป็นหนทางสร้างรายได้ ต่อยอดทางธุรกิจการทำอาหาร ผมมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ จัดทำโครงการ Future Food for Sustainability ส่งเมนูอาหารอนาคต เทรนด์อาหารยุคใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม ผสมผสานกับความเป็นไทย เพื่อเตรียมนำไว้ให้คณะผู้นำเอเปค และชาวต่างชาติได้สัมผัส ในช่วงสัปดาห์การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายนนี้” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

นายอนุชา กล่าวว่า โครงการ Future Food for Sustainability เป็นโครงการประกวดทำอาหาร ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีใจรักการทำอาหารได้เข้าร่วมและนำเสนอแนวคิดเมนูอาหารแห่งอนาคตที่ถูกรังสรรค์ด้วยวัตถุดิบไทย โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 2,000 ทีม มีการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันแต่ละรอบ อาทิ รอบการคัดกรองแนวคิด รอบการเข้าแคมป์พัฒนาศักยภาพ และรอบกิจกรรมแข่งทำอาหาร จนกระทั่งได้ทีมชนะเลิศในที่สุด ทั้งนี้ ไทยมีชื่อเสียงระดับนานาชาติว่าเป็นครัวของโลก อาหารไทยจึงเป็น Soft Power ที่จะพาคนไทยให้ทั่วโลกได้รู้จักและต่อยอดการพัฒนาด้านอื่น

“คนไทยที่มีใจรักการทำอาหาร และคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาสนใจการทำอาหารมากขึ้น ขณะที่เทรนด์การรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนกำลังมาแรง เวทีการประกวดทำอาหาร Future Food for Sustainability จึงเป็นโอกาสที่ผู้เข้าแข่งขันกว่า 2,000 ทีม จะได้แสดงฝีมือและฝึกฝนจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการทำอาหารไทย ซึ่งการประกวดปัจจุบันกำลังเข้มข้น ท้ายที่สุดจะเหลือเพียง 21 ทีมที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ เพื่อจะได้เฟ้นหาสุดยอดอาหารแห่งอนาคตของไทย เตรียมรับคณะผู้นำและผู้เข้าร่วมการประชุมเอเปค 2565 หวังให้ผู้นำและผู้เข้าร่วมประชุมฯ ประทับใจในรสชาติอาหารไทย สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย หวังเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

“สุริยะ” เผยสู้คดีคิงส์เกต เน้นเจรจา มั่นใจไร้ปัญหา

People Unity News : 22 กันยายน 2565 “สุริยะ”​ ยัน ครม.ไม่มีเคาะงบเพิ่มสู้คดีคิงส์เกต เป็นเพียงการขยายกรอบเวลา​ ยอมรับหารือแนวทาง​” วิษณุ” เน้นการเจรจา เตรียมบินออสเตรเลีย​วันพรุ่งนี้ มั่นใจไร้ปัญหา​

นายสุริยะ​ จึงรุ่งเรืองกิจ​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการอนุมัติงบประมาณเพิ่มเพื่อต่อสู้คดีกับบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ในคดีเหมืองทองอัครา โดยชี้แจงว่า​ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่มีการอนุมัติ​งบ​เพิ่มเติม​ ซึ่งเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน​ เป็นเพียงงบประมาณเดิมที่มีการขยายกรอบระยะเวลาการสู้คดี​ เนื่องจากการเจรจายังไม่สิ้นสุด​ จึงขอชี้แจ้งว่า​ ไม่ได้มีการเพิ่มงบในการสู้คดีแต่อย่างใด

ส่วนแนวทางในการสู้คดีนั้น​ นายสุริยะ​ กล่าวว่า ยังคงเหมือนเดิม โดยขณะนี้ยังมั่นใจว่า การเจรจากับบริษัทคิงส์เกตจะเป็นไปด้วยดี และเชื่อมั่นว่าจะไม่มีปัญหา พร้อมยอมรับว่า ได้มีการปรึกษากับนายวิษณุ​ เครืองาม​ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย​ โดยได้ให้แนวทางที่เน้นไปที่การเจรจา และในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.) ตนจะเดินทางไปที่ประเทศออสเตรเลีย​ เพื่อเจรจาเพิ่มเติม กับผู้บริหารของบริษัทคิงส์เกต​ พร้อมย้ำว่าทิศทางการเจรจาคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นไปด้วยดี

Advertisement

เตรียมรับคืนวัตถุโบราณจากสหรัฐอีก 3 รายการ

People Unity News : 29 สิงหาคม 65 รัฐบาลโชว์ผลงานติดตามวัตถุโบราณไทยในต่างประเทศ 5 ปี 611 รายการ เตรียมรับคืนจากสหรัฐอีก 3 รายการ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากความมุ่งมั่นของรัฐบาล และคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ได้ร่วมทำงานอย่างบูรณาการประสานกับส่วนราชการประเทศต่างๆ เพื่อติดตามโบราณวัตถุของไทยฯ ความคืบหน้าล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรมรายงานว่า สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐอเมริกา (Homeland Security Investigations: HSI) ได้เจรจาให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเดนเวอร์  (The Denver Art Museum) เตรียมการส่งคืนโบราณวัตถุกลับไทยโดยเร็ว จำนวน 3 รายการ ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร และพระพุทธรูปยืนศิลปะทวารวดี 2 องค์

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า สำหรับทับหลังปราสาทหนองหงส์และทับหลังจากปราสาทเขาโล้น ที่ได้รับคืนจากพิพิธภัณฑ์ Asean Art ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2564 ขณะนี้ทับหลังปราสาทหนองหงส์ ได้จัดแสดง ณ ศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์ พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จัดแสดงที่ศูนย์ข้อมูลอุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว และเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ทั้งสองแห่ง ส่วนการติดตามโบราณวัตถุคืนไทยในลำดับถัดไป ทางคณะกรรมการฯ แจ้งว่ามีจำนวน 2 รายการ คือ 1.พระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดีสมัยทวารวดี จากเมืองโบราณซับจำปา จังหวัดลพบุรี อยู่ในความครอบครองของสถาบันเอเชียโซไซตี้ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และ 2.ใบเสมาหินสลักภาพพุทธประวัติสมัยทวารวดี จากเมืองโบราณฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปรากฏข้อมูลใน Collection online ของ The British Museum

“ถือเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของรัฐบาล ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีของการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ได้ประสานความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศต่างๆ สามารถติดตามและรับมอบโบราณวัตถุได้รวม 9 ครั้ง จำนวน 611 รายการ สร้างความยินดีแก่คนไทย รวมถึงความเข้าใจแก่บุคคลทั่วไปทั้งในและนอกประเทศถึงคุณค่าของโบราณวัตถุเมื่อได้กลับคืนสู่ประเทศต้นกำเนิด และสืบเนื่องจากการดำเนินการอย่างจริงจังดังกล่าว มีผู้ครอบครองโบราณวัตถุทั้งชาวไทยและต่างชาติ แจ้งความประสงค์ที่จะมอบโบราณวัตถุให้เป็นสมบัติชาติ เช่น ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แทนรับมอบครอบพระเศียรทองคำ สมัยล้านนา จากชาวอเมริกัน และนายโยธิน ธาราหิรัญโชติ มอบโบราณวัตถุชิ้นเอกและหนังสือบัญชีโบราณวัตถุ เครื่องปั้นดินเผาสมัยลพบุรีจากแหล่งเตาโบราณในจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 164 รายการ” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

Verified by ExactMetrics