วันที่ 24 พฤศจิกายน 2024

ไทยติด 1 ใน 50 ประเทศที่ประชากรคนรุ่นใหม่มีความสุขที่สุดในโลกสำหรับผู้ที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 25 มิถุนายน 2567 นายกฯ ปลื้มไทยติด 1 ใน 50 อันดับประเทศที่ประชากรคนรุ่นใหม่มีความสุขที่สุดในโลกสำหรับผู้ที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี ในรายงาน World Happiness Report 2024: Countries where the youth might find happiness จากทั้งหมด143 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ

วานนี้ (24 มิถุนายน 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี การทำงานของนายกรัฐมนตรีมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรีระบุในหลายโอกาสว่าทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรี และฐานะพ่อ ต้องการให้คนรุ่นใหม่มีความสุข มีสิทธิ์ เสรีภาพ ได้เลือกดำรงชีวิต ตามที่ต้องการ จึงทำให้นายกรัฐมนตรีพึงพอใจ และขอบคุณผลการจัดอันดับความสุขของประชากรในโลก สำหรับผู้ที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี ในรายงานความสุขโลกปี 2567 (World Happiness Report 2024: Countries where the youth might find happiness) ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ใน 50 อันดับแรก ของการจัดอันดับประเภทผู้ที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี และไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ จาก 143 ที่ได้รับการจัดอันดับใน 50 อันดับแรก

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เปิดเผยผลการจัดอันดับ รายงานความสุขโลกปี 2567 ที่ได้จัดทำโดยหน่วยงาน UN ร่วมกับมหาวิทยาลัย Oxford และบริษัท Gallup ที่อ้างอิงจากผลสำรวจ Gallup World Poll ในช่วงระหว่างปี 2564 – 2566 ผ่านปัจจัยที่ผู้เชี่ยวชาญนำมาวิเคราะห์ความสุข 6 ประการ ได้แก่ ข้อมูล GDP ต่อหัว (GDP per capita) การสนับสนุนทางสังคม (Social support) อายุคาดการณ์เฉลี่ยของคนในช่วงที่มีสุขภาพดี (Healthy life expectancy at birth) เสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิต (Freedom to make life choices) ความเอื้ออาทร (Generosity) และการรับรู้การทุจริต (perceptions of corruption)

โดยประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 45 ในการจัดอันดับประเภทสำหรับผู้ที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี ซึ่งนิตยสาร Travel + Leisure Asia ได้กล่าวถึงการจัดอันดับนี้ว่า ไต้หวัน และประเทศไทยทำสำเร็จในการครองตำแหน่ง 1 ใน 50 อันดับ โดยระบุว่า ไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 25 ถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีความสุขที่สุดในเอเชียสําหรับเยาวชน โดยได้ระบุถึงผู้คนท้องถิ่นที่เป็นมิตร และชุมชน LGBTQIA+ ที่เฟื่องฟู ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 45 เป็นประเทศในเอเชียที่มีความสุขที่สุดเป็นอันดับสอง เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวมากที่สุด ด้วยนโยบายวีซ่าฟรี ไม่ต้องขอวีซ่าและโปรแกรมวีซ่าที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนหนุ่มสาวให้เข้ามาสัมผัสกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของไทยที่มีเสน่ห์

“นายกรัฐมนตรีคำนึงถึงความต้องการ และวิถีชีวิตของเยาวชนคนรุ่นใหม่เสมอ ด้วยความคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมกับยุคสมัย กำหนดรูปแบบการดำรงชีวิตที่เยาวชนต้องการ โดยนอกจากข่าวดีของไทยเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านวุฒิสภา ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน และที่ 3 ในเอเชีย ที่สามารถแต่งงานภายใต้ความหลากหลายได้ เห็นได้ว่าประเทศไทยยังกำหนดนโยบายที่สัมพันธ์กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างรอบด้าน จึงทำให้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าผลการจากการจัดอันดับในครั้งนี้ ถือเป็นการเน้นย้ำความสำเร็จของการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่เหมาะสมกระแสความต้องการของโลกอนาคต” นายชัย กล่าว

Advertisment

เผยผลงานรัฐบาล ตัวเลขคดียาเสพติดลดลง กระทรวงยุติธรรมตั้งเป้าเปลี่ยนเรือนจำเป็นสถาบันปฏิรูปคน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 24 มิถุนายน 2567 “เกณิกา”เผย ผลงานรัฐบาล ตัวเลขคดียาเสพติดลดลง กระทรวงยุติธรรมตั้งเป้าไม่ให้คนถูกจับยาเสพติดทำผิดซ้ำ ย้ำ ต้องเปลี่ยนเรือนจำเป็นสถาบันปฏิรูปคน

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง รัฐบาลนำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายจัดการปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ปลุก ชุมชนให้เข้มแข็ง เปลี่ยน ผู้เสพเป็นผู้ป่วยปราบปราม สกัดกั้น ยึดทรัพย์ผู้ค้า ขจัดข้าราชการทุจริตพัวพันยาเสพติด ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและดำเนินการกวาดล้างอย่างจริงจัง

น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.พบสถิติการจับกุมของกลางยาเสพติด 153,930 คดี จากเดิม 174,118 คดี โดยมีผู้ต้องหา 160,165 คน จากเดิม 179,625 คน รวมถึงได้จับกุมผู้ค้ารายใหญ่และเครือข่าย คือมี ของกลางยาบ้า มากกว่า 100,000 เม็ด ถึง 393 คดี จากเดิม 275 คดี เพิ่มขึ้น 69.97 % ในส่วนของการนำผู้เสพในระบบคุมประพฤติเข้าสู่กระบวนการบำบัดนั้น ขณะนี้มีคดีระหว่างดำเนินการ 117,587 ราย ศาลสั่งบำบัด 31,863 ราย คงเหลือ 85,724 ราย

“ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ จะเห็นได้ว่า การทำงานของรัฐบาลจนถึงปัจจุบัน มีผู้ต้องขังที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดลดลง เนื่อจากเราแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง และภารกิจหลักของรัฐบาล คือ จะแก้ปัญหาอย่างไรไม่ให้พวกเขากระทำความผิดซ้ำอีก ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องแก้ปัญหา เปลี่ยนคนที่อยู่ข้างกำแพงให้เข้าไปอยู่ในหมู่บ้านได้” น.ส.เกณิกา กล่าว

น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า พ.ต.อ.ทวี มีแนวคิดที่จะต้องเปลี่ยนเรือนจำ ราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ ให้เป็นสถาบันปฏิรูปคน สร้างคนคุณภาพออกมาให้สังคม

Advertisment

ครม. เห็นชอบให้สภากาชาดไทย ออกสลากบำรุงสภากาชาดไทย ประจำปี 2567

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 18 มิถุนายน 2567 ครม. มีมติเห็นชอบให้สภากาชาดไทย จัดให้มีการเล่นการพนันสลากกินแบ่งหรือสลากบำรุงสภากาชาดไทย ประจำปี 2567 เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 แห่งยอดราคาสลากเช่นเดียวกับทุกๆ ปีที่ผ่านมา

วันที่ 18 มิถุนายน 2567 นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ (18 มิถุนายน 2567) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้สภากาชาดไทย หรือเหล่ากาชาดจังหวัด หรือกิ่งกาชาดอำเภอ ซึ่งเป็นตัวแทนของสภากาชาดไทย ผู้รับใบอนุญาต จัดให้มีการเล่นการพนันสลากกินแบ่งหรือสลากบำรุงสภากาชาดไทยประจำปี 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้มอบให้สภากาชาดไทย เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 แห่งยอดราคาสลาก ซึ่งมีผู้รับซื้อก่อนหักรายจ่ายตามข้อ 12 (4) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ผ่านมา สภากาชาดไทยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และสภาบันการศึกษา จัดทำสลากบำรุงสภากาชาดไทยในทุกๆ ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้โดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย

การเล่นการพนันสลากกินแบ่งหรือสลากบำรุงสภากาชาดไทย ตามบัญชี ข. หมายเลข 16 ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2503) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 ข้อ 12 (4) แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ. 2543) กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตการเล่นสลากกินแบ่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้ไปใช้ในกิจการสาธารณกุศล โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 แห่งยอดราคาสลาก ซึ่งมีผู้รับซื้อก่อนหักรายจ่าย (หากไม่ใช่การออกสลากกินแบ่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้ไปใช้ในกิจการสาธารณกุศล ผู้รับใบอนุญาตฯ ต้องเสียภาษีร้อยละ 5 หรือร้อยละ 10 แล้วแต่กรณี) และในครั้งนี้ สภากาชาดไทยจึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้สภากาชาดไทย ผู้รับใบอนุญาตจัดให้มีการเล่นการพนันสลากกินแบ่งหรือสลากบำรุงสภากาชาดไทย ประจำปี 2567 เสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.5 แห่งยอดราคาสลากเช่นเดียวกับทุกๆ ปีที่ผ่านมา

Advertisment

​รัฐบาลเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อเว็บพนันบอลออนไลน์อ้างผลตอบแทนสูงช่วงบอลยูโร 2024

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 16 มิถุนายน 2567 ​รัฐบาลย้ำเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อเว็บพนันบอลออนไลน์อ้างผลตอบแทนสูง หลอกให้เล่นพนันบอลยูโร 2024 ฝากผู้ปกครองดูแลลูกหลาน แนะดูเพื่อความสนุก เชียร์ทีมที่ชอบ อย่าหวังรวยจากการพนัน

วันนี้ (16 มิถุนายน 2567) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน ถึง 14 กรกฎาคม 2567 มีการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ครั้งที่ 17 หรือ ฟุตบอลยูโร 2024 รัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีพี่น้องประชาชนจำนวนมากต้องสูญเสียทรัพย์สินให้กับการพนัน ในช่วงเทศกาลฟุตบอลยูโร 2024 รัฐบาลฝากผู้ปกครองช่วยสอดส่องพฤติกรรมของลูกหลานอย่าให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการพนันบอล ขอให้ดูเพื่อความสนุก ติดตามเชียร์ทีมที่ชอบ อย่าหวังรวยจากการพนัน นอกจากจะเสียเงินแล้วอาจจะเสียอนาคตตามมา

“รัฐบาลย้ำเตือนพี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อกลุ่มเว็บไซต์พนันบอล ใช้อุบายโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์อ้างผลตอบแทนสูงจูงใจให้ประชาชนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อ ทำให้สูญเสียเงินและทรัพย์สิน หากพบเห็นการกระทำความผิดหรือพบเบาะแสเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ สามารถแจ้งไปยังสายด่วน 191 หรือสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับผู้เล่น ผู้ชักชวน และผู้จัดให้มีการพนันฟุตบอลจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 12 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายคารม ย้ำ

Advertisement

​รัฐบาล จับมือ บางจาก ยกระดับ “ปั๊มบางจาก” เปิดจุดบริการสุขภาพครบวงจร ร่วมขับเคลื่อน “30 บาทรักษาทุกที่”

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 13 มิถุนายน 2567 ​รัฐบาลเดินหน้าเพิ่มช่องทางให้บริการสาธารณสุข จับมือ บางจาก ยกระดับ “ปั๊มน้ำมันบางจาก” เปิดจุดบริการสุขภาพครบวงจร ร่วมขับเคลื่อน “30 บาทรักษาทุกที่”

วันที่ 13 มิถุนายน 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการให้บริการสุขภาพกับประชาชน ทั้งการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ การเชื่อมโยงข้อมูล และบูรณาการบริการสาธารณสุขแบบครบวงจร ผ่าน “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค” ที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ลดภาระค่าใช้จ่ายสุขภาพทางอ้อม เช่น ค่าเดินทาง ค่าเสียโอกาสรายได้ รวมถึงลดความแออัดในโรงพยาบาล

นายคารม กล่าวว่า การทำให้บรรลุเป้าหมายและเกิดประสิทธิผลตามนโยบายได้นั้น นอกจากการดำเนินการในส่วนภาครัฐแล้ว ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนร่วมสนับสนุนอย่างความร่วมมือโครงการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงนวัตกรรมบริการสาธารณสุขฯ รัฐบาล โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงนวัตกรรมบริการสาธารณสุขสำหรับประชาชน” ซึ่งจะเป็นความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การพัฒนาการบริการสาธารณสุขเชิงรุกของประเทศ ผ่านรูปแบบบริการต่าง ๆ เกิดการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างครบวงจรที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป

นายคารม กล่าวต่อไปว่า โครงการฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้คลินิกเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. เป็นหน่วยนวัตกรรมบริการสาธารณสุข  ร่วมให้บริการใน “สถานีบริการน้ำมันบางจาก” โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาร่วมให้บริการ อาทิ ระบบการแพทย์ทางไกล การตรวจคัดกรองสุขภาพผ่านแอปพลิเคชัน เป็นต้น ทำให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองฯ ได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานทางวิชาชีพ ทั้งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยจุดบริการที่ตั้งอยู่ในสถานีบริการน้ำมันมีความสะดวกและเข้าถึงได้ง่าย นับเป็นความร่วมมืออันดีอย่างยิ่งจากภาคเอกชนที่ร่วมเป็นพันธมิตร ถือเป็นการยกระดับผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขในสถานีบริการ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาและคำปรึกษาจากแพทย์ได้อย่างสะดวกสบายและรวดเร็ว

Advertisement

นายกฯ เผย ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงเพิ่มปริมาณให้โทษกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษที่มีเพื่อเสพ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 11 มิถุนายน 2567 นายกฯ เผย ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงเพิ่มปริมาณให้โทษกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีในครอบครองเพื่อเสพ

วันนี้ (11 มิถุนายน 2567) เวลา 12.40 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอร่างกฎหมายเพิ่มปริมาณให้โทษกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีในครอบครองเพื่อเสพ โดยสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ยาบ้า ยาไอซ์ ที่ให้สันนิษฐานว่ามีในครอบครองเพื่อเสพ กำหนดให้มีปริมาณแอมเฟตามีน ยาบ้า มีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วยการใช้ หรือหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม เดิมมีกำหนดไว้ไม่เกิน 5 เม็ด หรือปริมาณ 500 มิลลิกรัม  และกำหนดให้ปริมาณแอมเฟตามีน ยาไอซ์ มีปริมาณไม่เกิน 1 หน่วย โดยให้สํานักงานกฤษฎีกาตรวจสอบความชัดเจนอีกครั้ง

Advertisment

W

ชวน 7 กลุ่มเสี่ยงใช้สิทธิการรักษา สปสช. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฟรี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 10 มิถุนายน 2567 นายกฯ ห่วงใยสุขภาพคนไทย ชวน 7 กลุ่มเสี่ยงใช้สิทธิการรักษา สปสช. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฟรี ‘ไม่มีค่าใช้จ่าย’ ถึง 31 สิงหาคม 67 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีห่วงใยสุขภาพของพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มักพบการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ส่งผลให้เกิดอาการป่วย มีไข้ จนถึงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ทั้งนี้ ในปี 2567 รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการสิทธิประโยชน์บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนหากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สามารถเข้ารับบริการได้ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขั้นตอนการรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ประชาชนสามารถใช้สิทธิการรักษาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และขอติดต่อเข้ารับบริการได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทุกแห่ง อนึ่ง ประชาชนสามารถติดต่อเพื่อนัดหมายกับหน่วยบริการล่วงหน้า เพื่อความสะดวกในการเลือกวันเวลาที่เข้ารับบริการที่แน่นอน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 7 กลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย 1. หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 3. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 4. ผู้พิการทางสมองที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 5. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ปอดอุดกั้นเรื้อรัง เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ที่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด 6. ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย  ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และ 7. ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไปสามารถขอรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดทั้งปี

“นายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชน ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาการทำงานดูแลประชาชนในช่วงเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค และควบคุมการทำงานเพื่อพัฒนาการรับสิทธิรักษาโรคในระบบสุขภาพของประเทศ เพื่อดูแล ป้องกัน ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มอ่อนแอ ที่มีโอกาสรับเชื้อโรคมากกว่ากลุ่มปกติ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชิญชวนประชาชนติดตามการประกาศประชาสัมพันธ์ของรัฐในทุกช่วงเวลาเพื่อป้องกันตนเองจากโรคระบาด ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเสมอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคภัย” นายชัยกล่าว

Advertisment

คสช. เห็นชอบ 5 มาตรการต้าน ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ชง ครม. ประกาศใช้เป็นนโยบายประเทศ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 มิถุนายน 2567 คสช. เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” บนกรอบทิศทางนโยบายภายใต้ 5 มาตรการสำคัญ มอบ สช. เตรียมเสนอมติเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อประกาศใช้เป็นนโยบายประเทศ เน้นย้ำให้คงนโยบายห้ามขาย-นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า

ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2567 ซึ่งมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ประกอบด้วย 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1. พัฒนาและจัดการองค์ความรู้ 2. สร้างการรับรู้ภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน 3. เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 4. พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 5. ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้เห็นชอบให้คงไว้ซึ่งนโยบายห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำมติสมัชชาฯ ดังกล่าว เสนอเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้เป็นกรอบนโยบายหลักของประเทศในการปกป้องเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คสช. เปิดเผยว่า ปัญหาของบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ โดยที่ผ่านมาได้มีการกำชับสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด จริงจัง เนื่องจากมีความเป็นห่วงเด็กและเยาวชนที่จะตกเป็นเหยื่อการตลาดของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าและกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ที่จะได้รับอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นายสุริยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น จนนำไปสู่การจับกุมและตรวจยึดของกลางได้ในหลายกรณี ซึ่งมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ที่ คสช. ได้เห็นชอบในวันนี้จะเป็นกรอบนโยบายสำคัญให้หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวง กรม กอง สำนักงาน คณะกรรมการชุดต่างๆ นำไปขับเคลื่อน ซึ่งส่วนตัวต้องการเห็นรูปธรรม จึงได้สั่งการให้ สช. เกาะติดการขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด และรายงานผลการดำเนินการต่อ คสช. ให้รับทราบความก้าวหน้าไปจนกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงตามข้อมติ

“ต้องขอชมเชยคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ ที่ทำข้อเสนอลงรายละเอียดให้เราได้เห็นถึงเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างชัดเจน อย่างหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญคือการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อช่วยกระจายความรู้และความน่ากลัวจากผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าไปถึงเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น นอกจากนี้ในเรื่องของตัวเลขสถิติที่เรามีการสำรวจกัน 5 ปีครั้ง ซึ่งมตินี้เสนอให้สำรวจบ่อยขึ้นเป็นทุก 2 ปี ผมมองว่าการสำรวจไม่ได้ใช้เวลาเยอะ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่จำนวนผู้สูบเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เรากำลังมีมาตรการต่างๆ ออกมา จึงมองว่าควรจะมีการสำรวจสัก 6 เดือนครั้ง เพื่อประเมินได้ว่าหากมาตรการได้ผลจริง จำนวนตัวเลขเหล่านี้ก็จะต้องลดลง” นายสุริยะ กล่าว

สำหรับมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” ผ่านความเห็นชอบจากผู้เข้าร่วม 264 หน่วยงาน/คน โดยทั้งหมดได้ให้ความเห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) อย่างเป็นฉันทมติ พร้อมกันนี้ยังได้วางบทบาทหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้มีนโยบายรณรงค์ เฝ้าระวัง และให้ความรู้ถึงภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้กำหนดมาตรการมิให้นำเสนอประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าที่บิดเบือนผ่านสื่อ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมศุลกากร ให้บังคับใช้กฎหมายที่มีในปัจจุบันอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด เป็นต้น

ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเด็กและเยาวชนถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต ที่ต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองสุขภาพอย่างสอดคล้องและเหมาะสม จึงเป็นที่มาของการพัฒนานโยบายสาธารณะเรื่องนี้

ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลักฐานทางวิชาการมากมายยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ โดยมีสารนิโคตินปริมาณสูงซึ่งมีฤทธิ์เสพติดรุนแรง และอันตรายต่อทุกระบบของร่างกายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะต่อพัฒนาการสมองของเด็ก ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ย้ำด้วยว่าบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์อันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบ รวมไปถึงผู้ที่ได้รับบุหรี่ไฟฟ้ามือสองและมือสาม เนื่องจากมีสารนิโคติน สารเสพติด สารแต่งกลิ่น สารเคมีอื่นๆ มิได้เป็นสินค้าที่ปลอดภัยกว่าบุหรี่ตามที่อุตสาหกรรมยาสูบหรือผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ากล่าวอ้าง

ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวอีกว่า ปัญหาขณะนี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยการตลาดล่าเหยื่อ ที่ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เลียนแบบของเล่นเด็ก (Toy Pod) ของใช้หรือของกินที่เด็กและเยาวชนนิยมหรือคุ้นเคย รวมถึงการใส่สารปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติในบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อดึงดูดความสนใจให้อยากทดลองและใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าคุมคามเด็กเล็กลงถึงระดับชั้นประถมศึกษา และส่งผลกระทบเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ทั้งมิติด้านสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

“ความจริงแล้วสถานะของบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นวัตถุที่มีความผิดตามกฎหมาย ครอบคลุมตั้งแต่การห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามบริการ ซึ่งดีอยู่แล้ว เราจึงขอให้รัฐบาลคงไว้ซึ่งมาตรการเหล่านี้ และสิ่งสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายที่มีอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงป้องกันการแทรกแซงจากกลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบ ขณะที่การปกป้องเด็กและเยาวชนไทย เราก็สามารถทำได้ด้วยการสร้างการรับรู้เรื่องภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าควบคู่กันไป” ศ.พญ.สุวรรณา ระบุ

ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2553 ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประเทศไทยเคยมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบ มาแล้ว โดยขณะนั้นเครือข่ายสมัชชาฯ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนมติในการควบคุมการบริโภคยาสูบ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราได้พบกับปัญหาใหม่จากการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าที่รุนแรง และจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายเข้ามาหนุนเสริมการขับเคลื่อนให้มากขึ้น

นพ.สุเทพ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่าคนในประเทศไหนจะมีสุขภาพดีและอายุยืนยาวแค่ไหนขึ้นอยู่กับ ระบบบริการสุขภาพ 9% พันธุกรรม 16% พฤติกรรม 51% และ สิ่งแวดล้อม 24% ซึ่งจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมีน้ำหนักถึง 75% ดังนั้น การจะทำให้คนสุขภาพดี จึงต้องมาจัดการที่ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (social determinant of health) ซึ่งการสูบบุหรี่ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งที่ทำให้ชายไทยเจ็บป่วยหรือตายก่อนวัยอันควร บุหรี่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งหลายชนิด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมโป่งพอง โรคกระเพาะอาหาร โรคกระดูกพรุน ฯลฯ

“ประเทศไทยดำเนินการควบคุมการบริโภคยาสูบได้ผลดี คนสูบบุหรี่มวนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทผู้ผลิตจำหน่ายบุหรี่คิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มุ่งตลาดที่เด็กและเยาวชนเป็นธุรกิจที่กินยาว ในปัจจุบันจะเห็นการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จะส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพของประชากรไทยในยุค “เด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัย” อย่างน่าเป็นห่วง จึงจำเป็นต้องมีนโยบายสาธารณะฯ เพื่อร่วมกันในการแก้ไขปัญหานี้กันอย่างจริงจัง” นพ.สุเทพ กล่าว

Advertisment

กระทรวงดีอี เผย 10 อันดับข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจหลงเชื่อมากที่สุดในสัปดาห์ล่าสุด

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 มิถุนายน 2567 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “เปิดรับสมัครงาน ทำงานที่บ้าน รายได้ 450-3,300 บาท ต่อวัน/สัปดาห์ ผ่านเพจ กรมอาชีพฝีมือแรงงาน” รองลงมาคือเรื่อง “ทานวิตามินบีเป็นประจำก่อนนอน ช่วยป้องกันโรคหัวใจ” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หรืออาจทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 6 มิถุนายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,203,865  ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 230 ข้อความ

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 182 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 37 ข้อความ ข้อความที่มาจาก Website จำนวน 9 ข้อความ และข้อความที่มาจาก Facebook 2 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 175 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 110 เรื่อง

ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 77 เรื่อง

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 39 เรื่อง

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 7 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 31 เรื่อง

กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 21 เรื่อง

นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รองลงมาเป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ และกลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชน มากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง  เปิดรับสมัครงาน ทำงานที่บ้าน รายได้ 450-3,300 บาท ต่อวัน/สัปดาห์ ผ่านเพจ กรมอาชีพฝีมือแรงงาน

อันดับที่ 2 : เรื่อง ทานวิตามินบีเป็นประจำก่อนนอน ช่วยป้องกันโรคหัวใจ

อันดับที่ 3 : เรื่อง เพจ Thailand International Airport Center เปิดรับสมัครงาน รายได้ 10,000 บาท/สัปดาห์

อันดับที่ 4 : เรื่อง เปลี่ยนมิเตอร์ดิจิทัล ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทันที

อันดับที่ 5 : เรื่อง คันตามผิวหนังเพราะมีก๊าซเน่าเสียในลำไส้ กระตุ้นเซลล์ในร่างกายให้หลั่งฮิสตามีน

อันดับที่ 6 : เรื่อง รับสมัครคนพับถุงกระดาษ รายได้ 500-2,500 บาทต่อวัน/สัปดาห์

อันดับที่ 7 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานรับสมัคร Part time พับถุงกาแฟ

อันดับที่ 8 : เรื่อง 9 สัญญาณเตือนโรคไทรอยด์เป็นพิษ

อันดับที่ 9 : เรื่อง  กินวิตามินซีพร้อมกุ้ง ทำให้ตายเฉียบพลันจากสารหนู

อันดับที่ 10 : เรื่อง ความชื้นในอากาศสูง ทำให้ร่างกายผู้ป่วยระบายลมออกจากรูขุมขนยาก

“จาก 10 อันดับ พบข่าวเกี่ยวกับด้านสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง ถึง 5 อันดับ และรองลงคือ เรื่องการรับสมัครงาน โดยส่วนใหญ่รูปแบบของการแนะนำด้านสุขภาพที่ผิด ซึ่งทำให้เกิดความกังวลในการใช้ชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันข่าวการหลอกลวงสร้างอาชีพ หารายได้เสริม ทำให้ประชาชนส่วนมากหลงเชื่อ และสร้างความเข้าใจผิด จึงคาดว่าอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าถึงความสนใจของผู้รับข่าวสาร ซึ่งอาจเป็นช่องทางในการก่ออาชญากรรมของมิจฉาชีพออนไลน์ นำไปสู่ความเสียหายที่เป็นผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว

“อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด โดยสามารถตรวจสอบ ติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่

ไลน์ @antifakenewscenter

เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/

ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand

และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ตลอด 24 ชั่วโมง”

Advertisment

สธ.เดินหน้าโครงการ “พาหมอไปหาประชาชน” เฉลิมพระเกียรติในหลวง ให้ ปชช.ในพื้นที่ห่างไกล ตรวจรักษาโรคได้รวดเร็ว

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 7 มิถุนายน 2567 “เกณิกา” เผย รัฐบาล โดย สธ.เดินหน้าโครงการ “พาหมอไปหาประชาชน” เฉลิมพระเกียรติในหลวง ให้ ปชช.ในพื้นที่ห่างไกล ตรวจรักษาโรคได้รวดเร็ว

วันนี้ (7 มิถุนายน 2567) น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการโครงการพาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้จัดโครงการในหลายจังหวัด เช่น ชัยนาท,ปราจีนบุรี,สุรินทร์,ศรีษะเกษ,พะเยา และอีกหลายจังหวัด

น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า โครงการพาหมอไปหาประชาชน ได้ให้บริการตรวจคัดกรองโรคเฉพาะทางและโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญในพื้นที่ให้ประชาชน โดยภาพรวมดำเนินการไปแล้ว 64 ครั้ง ใน 56 จังหวัด ประชาชนได้รับบริการกว่า 6.3 แสนราย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีแผนดำเนินการในวันหยุดทุกสัปดาห์ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2567 เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ได้รับการตรวจรักษาโรคในระยะเริ่มต้นอย่างทันท่วงที ลดการป่วยและการเสียชีวิต

น.ส.เกณิกา ยังกล่าวต่อว่า โครงการนี้จะให้บริการตรวจคัดกรองรักษาประชาชนกลุ่มเสี่ยงในโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ในพื้นที่ห่างไกลโดยหน่วยแพทย์เฉพาะทางจิตอาสา ให้บริการอย่างน้อย 7 คลินิก ได้แก่

1.คลินิกคัดกรองมะเร็งตับ และมะเร็งท่อน้ำดี

2.คลินิกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

3.คลินิกคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง

4.คลินิกคัดกรองมะเร็งเต้านม

5.คลินิกตาในเด็กและผู้สูงอายุ

6.คลินิกทันตกรรม

7.คลินิกกระดูกและข้อ และจัดบริการคลินิกด้านอื่นๆ เพิ่มเติมตามบริบทปัญหาของแต่ละพื้นที่

“โครงการพาหมอไปหาประชาชน เป็นโครงการที่สำคัญและเป็นประโยชน์ สามารถช่วยให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้จำนวนมาก โดยรัฐบาลเชื่อมั่นว่า การขับเคลื่อนโครงการนี้ จะช่วยยกระดับการแพทย์และการสาธารณสุข พร้อมเพิ่มการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ห่างไกล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน”

Advertisment

Verified by ExactMetrics