วันที่ 22 พฤศจิกายน 2024

“อนุทิน”นำถวายราชสักการะสมเด็จย่า เนื่องในวันพระราชสมภพและวันพยาบาลแห่งชาติ

People Unity : “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำข้าราชการ บุคลากรสายพยาบาลทั้งจากภาครัฐและเอกชน วางพานพุ่มถวายราชสักการะสมเด็จพระศรีนคริทราบรมราชชนนี เนื่องวันคล้ายวันพระราชสมภพและวันพยาบาลแห่งชาติ

วันที่ 21 ต.ค.2562 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ตัวแทนพยาบาลจากภาครัฐและเอกชน และนักศึกษาพยาบาล ร่วมพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และวันพยาบาลแห่งชาติ

นายอนุทินกล่าวว่า วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และรัฐบาลประกาศให้เป็นวันพยาบาลแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา ซึ่งวันนี้มีความสำคัญยิ่งต่อวิชาชีพการพยาบาล ในฐานะที่พระองค์ท่านทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการพยาบาล และตลอดพระชนม์ชีพ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการพัฒนาสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชน เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา วิริยะอุตสาหะ นำสิริสุขแก่ปวงชน ทุกก้าวพระบาทที่เสด็จไปถึง สมควรเป็นแบบอย่างแก่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ให้ตระหนักในภารกิจของวิชาชีพแห่งตนว่าเป็นงานบริการสุขภาพที่มีความสำคัญ

ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข พยาบาลนับเป็นบุคลากรที่มีมากที่สุดและเป็นกำลังหลักในระบบริการสาธารณสุข ปัจจุบันมีพยาบาลที่ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นข้าราชการและจ้างงานอื่นๆ จำนวนประมาณ 110,000 คน โดยปฏิบัติงานสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 100,000 คน ในโรงพยาบาลทุกระดับ โดยพยาบาลที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จะเน้นด้านการรักษาพยาบาลขั้นต้น การส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคไม่ให้เจ็บป่วย

รวมทั้งการฟื้นฟูสุขภาพ ส่วนในโรงพยาบาลใหญ่ คือโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เน้นด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีความยุ่งยากซับซ้อนต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ อย่างทั่วถึง สะดวก และรวดเร็ว กระทรวงสาธารณสุขมีโยบายการพัฒนาศักยภาพและจัดการกระจายกำลังคนด้านการพยาบาลให้ได้ในสัดส่วนพยาบาล 1 คน ต่อ 300 ประชากร เพื่อยกระดับมาตรฐานบริการสุขภาพของประเทศตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ

“AI กับพุทธธรรม” วิจัยสุดทันสมัย! คณาจารย์ “ม.สงฆ์ มมร”ทำ

People Unity :  “AI กับพุทธธรรม” วิจัยสุดทันสมัย! คณาจารย์ “ม.สงฆ์ มมร”ทำ “อุทิส ศิริวรรณ”เผย “พระพุทธเจ้าเป็นนักทรัพยากรมนุษย์ที่ทันสมัย”

วันที่ 20 ต.ค.2562 ศ.ดร.อุทิส ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพุทธศาสนา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว” Uthit Siriwan” ความว่า “ประเด็นวิจัยทันสมัย AI กับพุทธธรรม? โดยคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) ตลอดสัปดาห์ผมใช้เวลาค่อนข้างมากค้นคว้าและอ่าน “งานวิจัยทันสมัย” AI เป็นต้น เพื่อตอบ “ประเด็น” ที่คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธร สมุทรสาคร ทั้ง 3 ท่าน ช่วยกันทำวิจัย

งานวิจัยชุดโครงการนี้น่าสนใจ เพราะประเด็นวิจัยที่ตั้งขึ้นยกตัวอย่าง “ทฤษฎี 3 สมดุล (สมดุลผลิต สมดุลบริโภค สมดุลผลประโยชน์) ที่ส่งเสริมให้เกิดการสนับสนุนกันระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค” ข้อคำถามคือ “การสร้างและใช้งานหุ่นยนต์ของผู้ผลิตย่อมมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียว คือ สนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของผู้บริโภค” ประเด็นที่ผมต้องตอบคือ ท่านเห็นด้วย หรือมีข้อโต้แย้ง หรือมีข้อสนับสนุนต่อประเด็นเหล่านี้หรือไม่อย่างไร

ยกตัวอย่างคำถามวิจัย เป็นต้นว่า… 1) ในแผนประเทศไทย 4.0 ที่ยึดโยงอยู่กับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เห็นว่าแรงงานมนุษย์เป็นต้นทุนในการผลิตอย่างหนึ่ง การบริหารจัดการกิจการให้ได้กำไรมากที่สุดวิธีการหนึ่ง ก็คือ การลดต้นทุนการผลิตและบริหารจัดการ การจ้างงานมนุษย์ก็อยู่ในขอบเขตนี้ด้วย 2) เทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ยิ่งก้าวหน้ามากขึ้นเท่าใด ก็จะทำให้ผู้ประกอบการใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ แทนแรงงานมนุษย์มากขึ้นเท่านั้น รออีกสัก 1 ปี คงได้คำตอบจาก “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ที่หลากหลายวงการ ผมเองก็มี “ประเด็น” ที่จะอภิปราย….

ผมคิดอะไร? คิดว่าโลกในยุคเปลี่ยนผ่านพุทธศาสนาใช้ “ตอบ” โจทย์วิจัยประเด็นปัญหาชาวโลกในยุคดิจิทัลได้เพราะจะว่าไปแล้ว “พระพุทธเจ้า” เน้นให้ใช้แรงงานคนน้อย แต่ทำแล้วได้ผลงานมากอยู่แล้ว ยกตัวอย่างให้พระจาริกไปรูปเดียว และให้ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า โดยเฉพาะเพื่อ “ประโยชน์” “เกื้อกูล” และ “ความสุข” บอกตรง ผมว่า “พระพุทธเจ้า” เป็น “นักทรัพยากรมนุษย์” ที่ทันสมัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศ.ดร.อุทิส ศิริวรรณได้ติดตามพัฒนาการของเทคโนโลยีขึ้นสูงและแสดงความเห็นที่สัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นให้คณะสงฆ์เห็นความสำคัญ อย่างเช่นได้นำเสนอล่าสุดเรื่อง “การศึกษา’อุทิส ศิริวรรณ’นักวิชาการด้านพุทธศาสนา แนะใช้ ‘AI-IoT’ต่อยอดบาลีพุทธศาสตร์ศึกษาระดับป.เอก https://www.banmuang.co.th/news/education/163540)

กรมควบคุมโรคเผยผลโพลชี้ปชช.ตาสว่าง! 3 สารเคมีทางการเกษตรมีอันตรายสูง

People Unity :  กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยผลดีดีซีโพล (DDC Poll) ชี้ประชาชนห่วงสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว จากการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการเลิกใช้สารเคมีดังกล่าว ส่วนใหญ่เห็นว่าควรเลิกซื้อผัก ผลไม้ หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเคมีทางการเกษตร ซึ่งกรมควบคุมโรค พร้อมเดินหน้าสนับสนุนองค์ความรู้ทางหลักวิชาการ และดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด ลดผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของเกษตรกรและประชาชนในประเทศ

วันที่ 20 ตุลาคม 2562 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพ ดีดีซีโพล (DDC Poll) เรื่อง“สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด (พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต)” จากประชาชนกลุ่มตัวอย่าง 3,500 คน ในพื้นที่ 25 จังหวัดทั่วประเทศ โดยสำรวจเมื่อวันที่ 9 – 13 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่สำคัญพบว่า ประชาชนมีความรู้เรื่องสารเคมีใช้ทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด อยู่ในเกณฑ์ดี กล่าวคือ ร้อยละ 87.7 รู้จักและเคยได้ยินสารเคมีดังกล่าว และร้อยละ 61.6 รู้จักและเคยได้ยินสารเคมีดังกล่าวมาจากข่าวและสื่อมวลชน ส่วนข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่า สารเคมีดังกล่าว ทำให้เกิดอาการผิดปกติคือ โรคผิวหนัง แผลติดเชื้อ ร้อยละ 51.4 รองลงมาคือคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว, ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าคนทั่วไปได้รับสารเคมีดังกล่าว จากการสัมผัสการทำเกษตรกรรม ร้อยละ 59.9 รองลงมาคือการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด นั้น จากผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าจะมีส่วนร่วมในการเลิกใช้สารเคมีดังกล่าว โดยการเลิกซื้อผัก ผลไม้ หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเคมีทางการเกษตร ร้อยละ 73.7 รองลงมาคือเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร และแนะนำคนอื่นให้เลิกใช้สารเคมีทางการเกษตรด้วย นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังคิดว่า ถ้าไม่มีสารเคมีดังกล่าวใช้ในเกษตรกรรม จะเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตร ร้อยละ 59.2 รองลงมาคือหันไปใช้เกษตรอินทรีย์ จากผลการสำรวจดังกล่าว ทำให้เห็นว่าประชาชนเป็นห่วงสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว ที่สำคัญประชาชนได้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิดข้างต้น

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของกรมควบคุมโรค และหน่วยงานในสังกัดทุกแห่ง สนับสนุนให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่มีอันตรายสูง 3 ชนิด เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสุขภาพของเกษตรกร และประชาชนในประเทศ ซึ่งการใช้สารเคมีในทางเกษตรกรรม มีผลกระทบและอันตรายต่อสุขภาพของผู้ฉีดพ่นสารเคมี และผู้ทำงานในพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ทางหลักวิชาการ และดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนามาตรการทางกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 เพื่อยกระดับการเฝ้าระวังภัยสุขภาพจากการสัมผัสสารเคมีทางการเกษตรกรรม ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ขณะเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว “อนุทิน ชาญวีรกูล” เป็น “คลิปวิดีโอ” ความยาว 3.30 นาที ปลุกพลังคนไทยร่วมส่งเสียงถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย จำนวน 29 คน ให้มีมติแบน 3 สารพิษอันตราย ประกอบด้วย พาราควอต คลอร์ไฟริฟอส และไกลโฟเซต

ขอเชิญร่วมทำบุญทอดกฐินสามัคคีสมทบทุนสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิ 2 หลวงปู่ดังบึงกาฬ-หนองคาย

People Unity : ขอเชิญร่วมทำบุญทอดกฐินสามัคคีสมทบทุนสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิ 2 หลวงปู่ดังบึงกาฬ-หนองคาย ที่วัดโนนสำราญบึงกาฬ

ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคี เพื่อสมทบทุนสร้างเจดีย์บรรจุพระสารีริกธาตุ พร้อมอัฐิ 2 หลวงปู พระธรรมปริยัติมุนี(หลวงปู่ เขมจารี) พระครูภาวนานุศิษย์ (หลวงปู่คำสิงห์ สุภทฺโท) ที่วัดโนนสำราญ ต.โสกก่าม อ.เซกา จ.บึงกาฬ ระหว่างวันที่ 9-10 พ.ย.2562

“นิสิตป.เอก มจร” จัดทอดผ้าป่าต้นไม้ที่มหาจุฬาอาศรมโคราช

People Unity :  “นิสิตป.เอก มจร” จัดทอดผ้าป่าต้นไม้ที่มหาจุฬาอาศรม มจร ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

วันที่ 20 ต.ค.2562 ดร.กาญจนา ดำจุติ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 17-21 ต.ค.2562 คณะครุศาสตร์ มจร ได้จัดกิจกรรมการปฏิบัติโครงการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน(การบริหารจิตและเจริญปัญญา) นิสิตหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู รุ่นที่ 5 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปีการศึกษา 2562 ที่มหาจุฬาอาศรม มจร ต.พญาเย็น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

พร้อมกันนี้คณาจารย์และนิสิตปริญญาเอก รัฐประศาสนศาสตร์ และรัฐศาสตร์ มจร พิธีมอบป้าย ปลูกต้นไม้ ในการทอดผ้าป่า ที่ศาลาปฏิบัติธรรม มหาจุฬาอาศรม

พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงพระกรุณาประทานประธานสภาสตรีแห่งชาติ นำผ้าพระกฐินถวายแด่พระสงฆ์วัดโนนสว่างอุดรธานี

People Unity : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงพระกรุณาประทานประธานสภาสตรีแห่งชาติ นำผ้าพระกฐิน (จุลกฐิน) ถวายแด่พระสงฆ์วัดโนนสว่าง ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

วันที่ 19 ตุลาคม 2562 เวลา16.00 น. ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีเพื่อน้อมนำผ้าพระกฐินไปถวายแต่พระสงฆ์ที่จำพรรษาถ้วนไตรมาส ณ ชุมนุมสงฆ์วัดโนนสว่าง ตำบลหมากหญ้ อำภอหนองวัวยอ จังหวัดอุดรธานี เนื่องในโอกาสพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ทรงพระกรุณาประทานผ้าพระกฐิน (จุลกฐิน) ถวายแด่พระสงฆ์วัดโนนสว่าง ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เพื่อน้อมนำไปถวายแด่พระสงฆ์ที่จำพรรษาถ้วนไตรมาส

โดยมี นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และที่ปรึกษาประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน คณะกรรมการ อำนวยการ คณะกรรมการบริหาร สภาสตรีแห่งชาติและองค์กรสมาชิก สภาสตรีแห่งชาติฯจังหวัดอุดรธานี ผู้บริหารจากกรมพัฒนาชุมชน พัฒนาการจังหวัดอุดรธานี และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดอุดรธานี เข้าร่วมพิธี ณ วัดโนนสว่าง ตำบลหมากหญ้า อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี โดยมียอดเงินบริจาคร่วมทำบุญครั้งนี้ ทั้งสิ้น 3,333,333.- บาท

วัดโนนสว่าง เดิมเป็นสำนักสงฆ์มีที่ดินจำนวน 17 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวา ถวายโดย นายยอด เชยงูเหลือม ต่อมาได้รับอนุญาติให้สร้างวัดเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2531 เดิมชื่อว่าวัดศรีสว่าง ต่อมาเพื่อปฏิบัติตามนโยบายของคณะสงฆ์ที่ต้องการให้ชื่อวัดมีชื่อเดียวกันกับหมู่บ้าน จึงเปลี่ยนชื่อใหม่ตามชื่อหมู่บ้านว่า วัดโนนสว่าง ต่อมาเมื่อภายหลังเจ้าอาวาสรูปแรกคือ พระครูพุทธศาสโนวาท (ชาลี ถาวโร) ได้มรณภาพลง ชาวบ้านโนนสว่าง จึงพร้อมใจกันอาราธนา พระอาจารย์เจริญ ฐานยุตฺโต โดยได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อวันที่ 1 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2532

ต่อมาภายหลังได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 โดยได้ทำการปักหมายเขต และมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไปเล่ม 113 ตอนที่ 42 ง กำหนดเขตกว้าง 16 เมตร ยาว 28 เมตร เป็นที่เรียบร้อย ต่อมาพระครูพัฒน์วิทยาคม ได้ทำการก่อสร้างศาสนวัตถุอีกหลายอย่าง เป็นต้นว่า ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ จำนวน 1 หลัง สร้างหอระฆังจำนวน 1 หลัง สร้างศาลาปฏิบัติธรรม จำนวน 1 หลัง สร้างกุฎีที่พักสงฆ์ จำนวน 14 หลัง สร้างศาลาหอฉันภัตตาหารพระภิกษุสามเณร จำนวน 1 หลัง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2548 พระครูพิพัฒน์วิทยาคม ได้ซื้อที่ดินขยายเนื้อที่วัดออกไปอีกจำนวน 46 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมดในวัด 66 ไร่ นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริโสภาพรรณวดี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานพิธีเททองหล่อองค์พระประธานวัดโนนสว่าง (พระศรีรัตนสักยมุณีหรือหลวงพ่อบุษราคัม เป็นพระเนื้อสัมฤทธ์ทรงเครื่องกษัตริย์) และวัดนี้ยังมีชื่อเสียงในด้านการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง และพิธีกรรมทางศาสนา

นำร่องจังหวัดอุดรธานี! สภาสตรีฯผนึกพลัง”พช.” รณรงค์ใส่ผ้าไทยทั่วประเทศ หนุนเศรษฐกิจชุมชนกว่า 9 พันล้าน

People Unity : สภาสตรีฯผนึกพลังกับ กรมพัฒนาชุมชน รณรงค์ใส่ผ้าไทยทั่วประเทศหนุนเศรษฐกิจชุมชนกว่า 9 พันล้านบาท ลงพื้นที่นำร่องจังหวัดอุดรธานี

วันที่ 19 ต.ค.2562 เวลา 09.49 น. นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ให้การต้อนรับ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน และ นางรชตพร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์และที่ปรึกษาประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน และคณะกรรมการจากสภาสตรีแห่งชาติ ฯ

เพื่อร่วมพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือ “โครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ระหว่าง นายนิรัตน์ ดร.วันดี และองค์กรสตรีในจังหวัดอุดรธานี ประกอบด้วยนางกอบแก้ว คงน้อย นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง จ.อุดรธานี ดร. ประกายแก้ว รัตนะนาคะ นายกสมาคมผู้นำสตรีพัฒนาชุมชนจังหวัดอุดรธานี แพทย์หญิงเฉลิมวรรณ ศศิประภา นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจหญิง และวิชาชีพแห่งประเทศไทย อุดรธานี นายหมวดตรี ดร. ยงฤดี พูลทรัพย์ นายกสมาคมสตรีอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี รศ. ดร.กฤตติกา แสนโภชน์ นายกสมาคมแม่ดีเด่นแห่งชาติอุดรธานี โดยมีนายอิทธพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุดรธานี นำสตรีในองค์กรมาร่วมงาน 50 คน และหัวหน้าส่วนราชการ พร้อมด้วยองค์สตรี ในจังหวัดอุดรธานี จากอำเภอต่างๆ จำนวน ๒๕๐ คน เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ณ ห้อง ประชุมอุดรดุษฎี โรงแรมเจริญโฮเต็ล

โดยเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) และดร.วันดี ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือ โครงการสืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ร่วมกันระหว่างสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งมีองค์กรสมาชิก จำนวน ๒๑๒ องค์กร กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ กับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ณ ห้องประชุมพระกรุณานิวาสน์ 1 สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยการอนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ให้ชาวโลกได้ชื่นชม อีกทั้งเพื่อเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่นให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทยแก่ประชาชนทั่วไปทั่วประเทศ และยังสนับสนุนส่งเสริมการสร้างงานสร้างอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรีในท้องถิ่นสภาสตรีแห่งชาติฯจึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นมา

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า เพื่อรณรงค์ให้คนไทยทั้งประเทศร่วมมือร่วมใจกันใส่ผ้าทอไทย ไม่ว่าจะเป็นผ้าฝ้าย ผ้าไหม เพื่อช่วยกันสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้ให้แก่ชุมชน รักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งนี้ การใส่ผ้าทอไทยทุกผืน ก่อให้เกิดรายได้กระจายไปยังชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสตรีกว่า 90% รายได้ที่เกิดจากการทอผ้าออกจำหน่ายจะสามารถช่วยสตรียกระดับคุณภาพชีวิต ส่งบุตรหลานให้มีโอกาสเล่าเรียน ดูแลครอบครัวได้เมื่อยามเจ็บป่วย สร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง

ดร.วันดี กล่าวว่า”หากคนไทยทั้งประเทศพร้อมใจกันสวมใส่ผ้าไทยในทุกวันทั้งประเทศ จะช่วยเป็นการส่งเสริมการทอผ้าในชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ ลดปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการย้ายถิ่นฐาน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ ถ้าคนไทยร่วมมือร่วมใจกันใส่ผ้าไทย เพียง 30 ล้านคน จะมีความต้องการใช้ผ้าไทยถึง 300 ล้านเมตร/ปี เฉลี่ยราคาเมตรละ 300 บาทจะมีมูลค่ากว่าปีละ 9,000 ล้านบาท” ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯกล่าวเชิญชวน

“วราวุธ”ยันช้างป่าล้ม 11 ตัวไม่ใช่ 13 วอนโซเชียลหยุดแชร์ข้อมูลเท็จ

People Unity : “วราวุธ”ยันช้างป่าล้ม 11 ตัวไม่ใช่ 13 วอนโซเชียลหยุดแชร์ข้อมูลเท็จ จะยิ่งเหมือนซ้ำเติมและบั่นทอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ที่รัฐสภา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเสนอข้อมูลผ่านโซเชียลระบุพบซากช้างป่าตกเหวนรกที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เพิ่มอีก 2 ซาก รวมเป็นช้างป่าล้ม 13 ตัวนั้น ขอชี้แจงว่า ข้อมูลนั้นไม่เป็นความจริง ยืนยันว่ามีช้างล้มจากกรณีดังกล่าว 11 ตัว ตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว

“การโพสต์หรือแชร์ข้อมูลข่าวช้างป่าตกเหว หากเป็นข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงจะยิ่งเหมือนซ้ำเติมและบั่นทอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่กำลังทำงานอยู่ในพื้นที่ขณะนี้ เรื่องนี้เป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และช้างที่ตายมีเพียง 11 ตัวเท่านั้น ดังนั้น ผมขอร้องผู้ที่คิดจะโพสต์หรือแชร์ข่าวนี้ กรุณาใช้วิจารณญาณให้มากๆ และตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องด้วย อย่าใจร้อน” นายวราวุธ กล่าวและว่า

ขณะนี้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กำลังเร่งทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย จึงขอวอนให้ทุกคนช่วยให้กำลังใจกับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการทุกคน

“นิติม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี-กขป.เขต 11-ภาคีพลเมืองอาสา”บำบัดทุกข์ประชาชนไม่มีบัตรประจำตัว

People Unity : “นิติม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี-กขป.เขต 11-ภาคีพลเมืองอาสา”บำบัดทุกข์ประชาชนไม่มีบัตรประจำตัว อำเภอพระแสง-บ้านตาขุน

วันที่ 18 ตุลาคม 2562 สืบเนื่องจาก ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมกับคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 11 และภาคีพลเมืองอาสาในพื้นที่ ได้ร่วมกันช่วยเหลือผู้ยากลำบากในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามที่ได้รายงานไปแล้วนั้น คณะนิติศาสตร์ได้มอบหมายให้ อาจารย์และเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลพื้นฐานเบื้องต้น พบว่า มีผู้ยากลำบากจากเหตุที่ไม่มีบัตรประชาชน จำนวน 43 ราย และเพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้มีบัตรประจำตัวประชาชนได้เข้าถึงสิทธิของรัฐอย่างเท่าเทียม จึงต้องลงพื้นที่เพื่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาย บุญคงมาก ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ภูภณัชรัตนชัย บรรณาธิการวารสารนิติศาสตร์และสังคมท้องถิ่นพร้อมด้วยนางสาวรุ่งฤทัย เต็มไป หัวหน้าสำนักงานกองบรรณาธิการ และว่าที่ร้อยตรีหญิง เจนจิรา แซ่เตี่ยว เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ได้ลงพื้นที่พบ นายชัยพัทธ์ ช่วยชู ปลัดอำเภอพระแสง และนางวิภา พงศ์พิสุทธา ผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนจำนวน 4 ราย และ 1 รายในจำนวนดังกล่าวได้รับการช่วยเหลือ โดยการสืบค้นข้อมูลทะเบียนราษฎรและแก้ไขปัญหาเบื้องต้นจนแล้วเสร็จ เกิดความหวังที่จะได้รับบัตรประจำตัวประชาชนในโอกาสต่อไป สร้างความปิติยินดีแก่ชาวบ้านรายนี้และญาติ ๆ เป็นอย่างยิ่ง ส่วนที่เหลืออีก 3 รายก็จะทยอยให้ความช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนายทะเบียนอำเภอพระแสงต่อไป

ในวันเดียวกันนี้ คณะทำงาน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้เดินทางไปยัง ที่ว่าการอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อพบ นางสาวศริญดา ปาลคะเชนทร์ ปลัดอำเภอชำนาญการพิเศษ และนายศรัญญู ยอดสุรางค์ ปลัดอำเภอฝ่ายทะเบียนและบัตร ซึ่งในพื้นที่มีประชาชนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 2 ราย เบื้องต้นทางอำเภอได้ประสานไปยังชาวบ้านทั้ง 2 ราย เพื่อขอข้อมูลและหลักฐานเกี่ยวกับการร้องขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ถัดจากนี้ก็จะเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มกำลังสามารถ ต่อไป

การลงพื้นที่ครั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภูภณัชรัตนชัย กล่าวว่า การทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชน แม้จะยากลำบากที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคสักแค่ไหน แต่ก็มีความสุข และขอขอบคุณปลัดอำเภอพระแสง และผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอพระแสง ที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงจังและจริงใจ ขอขอบคุณปลัดอำเภอบ้านตาขุนทั้ง 2 ท่าน ที่ให้การแนะนำและให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือประชาชนในครั้งนี้อย่างดียิ่ง

ฝ่ายผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชาย บุญคงมาก ผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ได้กล่าวขอบคุณปลัดอำเภอพระแสงและปลัดอำเภอบ้านตาขุน ที่ปฏิบัติภารกิจให้ความช่วยเหลือและบริการประชาชนให้เกิดสิทธิตามที่รัฐได้มอบให้ เป็นการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข”แก่พี่น้องชาวบ้านอย่างแท้จริง

“จุติ” ระบุงบประมาณของกระทรวง พม. คืองบของชีวิตมนุษย์  สำคัญกว่างบสร้างตึก

People Unity : “จุติ” ย้ำจะไม่ชะลอโครงการ เพราะทุกชีวิตสำคัญเท่าเทียมกัน รอไม่ได้

เมื่อวานนี้ (5 ส.ค. 2562) เวลา 12.00 น. ที่ห้องประชุม ชั้น 8 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ โดยมี นายภูมิรักษ์ ชมแสง รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ สำหรับแนวทางการจัดสรรงบประมาณปี 2563 ในการขับเคลื่อนงานของกระทรวง พม. อย่างมีประสิทธิภาพ ว่า กระทรวง พม. มุ่งเน้นการจัดลำดับความสำคัญของงาน และผลลัพธ์ที่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายจะได้รับประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าของโครงการต่างๆ ภายใต้การพัฒนาคนสู่ศตวรรษที่ 21

นายจุติ กล่าวย้ำถึงการบูรณาการจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการประหยัดงบประมาณ ลดความซ้ำซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานสำหรับผู้รับบริการให้มากที่สุด โดยผู้บริหารของแต่ละหน่วยงานจำเป็นต้องมีการประชุมทำแผนร่วมกันภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ในส่วนของงบประมาณที่ไม่ได้รับจัดสรร ทางกระทรวง พม. ได้ชี้แจงต่อสำนักงบประมาณว่าเนื่องจากภารกิจที่มีมาก แต่งบประมาณที่ได้รับมีจำนวนจำกัด และโครงการใดที่มีการชะลอไม่ได้เป็นโครงการก่อสร้าง แต่เป็นชีวิตมนุษย์ความเป็นความตาย ความเจ็บป่วย และความสุขความทุกข์ ซึ่งไม่สามารถรอได้เหมือนตึกอาคาร โดยขอให้คำนึงถึงความเป็นมนุษย์มากกว่าวัตถุดิบหรือโครงสร้าง ในส่วนของกระทรวง พม. ยืนยันว่าทุกโครงการต้องมีความคุ้มค่าและมีความเร่งด่วนต่อสังคม เช่น การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยเรียน จำเป็นต้องเร่งดำเนินการยับยั้ง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว จำเป็นต้องสร้างความมั่นคงในชีวิต ด้วยการสร้างอาชีพให้สามารถดูแลตนเองได้ และเปิดโอกาสให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข

“เรื่องของชีวิตมนุษย์ของทุกคนมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน แต่ความเร่งด่วนของปัญหาภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ นับว่าเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการดำเนินงาน ดังนั้น กระทรวง พม. จะมีการใช้เงินกองทุนฯที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ถ้าไม่เพียงพอ ขอให้สำนักงบประมาณช่วยมาเติม และที่สำคัญ สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน คือ ใครที่มีมาก สบายแล้ว ก็ขอให้มาช่วยกันเฉลี่ยสุข เฉลี่ยทุกข์ ให้กับคนที่ยังไม่มี จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้อีกเยอะเช่นกัน” นายจุติ กล่าวในตอนท้าย

สังคม : “จุติ” ระบุงบประมาณของกระทรวง พม. คืองบของชีวิตมนุษย์  สำคัญกว่างบสร้างตึก

People Unity : post 6 สิงหาคม 2562 เวลา 12.50 น.

Verified by ExactMetrics