People unity news online : 12 มกราคม 2561 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ เผยสถานการณ์มลพิษประเทศไทยปี 2560 ในภาพรวมมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้นจากปี 2559 ดังนี้
1.คุณภาพน้ำแม่น้ำสายหลัก 59 แม่น้ำของประเทศในปี 2560 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยคุณภาพน้ำที่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงดีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 80 เป็นร้อยละ 86 และอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมลดลงจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 14 โดยไม่มีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพน้ำเป็นรายภาค ภาคใต้มีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดีมากกว่าภาคอื่น รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมากกว่าภาคอื่นเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดีสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ แม่น้ำตาปีตอนบน ลำตะคองตอนบน ลำชี สงคราม และสายบุรี
ส่วนแหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ท่าจีนตอนล่าง พังราดตอนบน ระยองตอนล่าง และกวง ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่แม่น้ำไหลผ่านพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น แหล่งที่ตั้งของอุตสาหกรรม พื้นที่ทำการเกษตรและการเพาะเลี้ยงสัตว์ ซึ่งไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียและระบบที่ดำเนินการอยู่ยังดูแลจัดการน้ำเสียไม่เต็มประสิทธิภาพ
สำหรับเกิดเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบคุณภาพน้ำในปี 2560 เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของประชาชน คือ กรณีบ่อกักเก็บน้ำกากส่าของโรงงานบริษัท ไทยอะโกร เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) จังหวัดสุพรรณบุรี พังทลาย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ประกอบกับเป็นช่วงฝนตกหนักติดต่อกัน ทำให้เกิดน้ำไหลบ่าที่ปนเปื้อนน้ำเสียท่วมบ้านเรือนประชาชนและไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน ซึ่งจากการตรวจสอบพื้นที่และเก็บตัวอย่างน้ำเสีย ณ จุดเกิดเหตุ คุณภาพน้ำจากบ่อกักเก็บน้ำกากส่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ลำห้วยขจี ลำห้วยกระเสียว และแม่น้ำท่าจีน มีคุณภาพน้ำ ณ ขณะนั้นอยู่ในระดับเสื่อมโทรมมาก จังหวัดสุพรรณบุรีได้สั่งการให้บริษัทหยุดประกอบกิจการทั้งหมดและให้ปรับปรุงแก้ไขบ่อบำบัดน้ำเสียให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน มีการเยียวยาผลกระทบของประชาชนโดยตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือ และโรงงานเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายทั้งหมด
2.คุณภาพน้ำทะเล มีแนวโน้มดีขึ้น โดยคุณภาพน้ำทะเลที่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ถึงดีมากเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 91 เป็นร้อยละ 96 และเกณฑ์เสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมากลดลงจากร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 4 คุณภาพน้ำทะเลบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก อ่าวไทยฝั่งตะวันตก และชายฝั่งอันดามันส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ยกเว้นบริเวณอ่าวไทยตอนในคุณภาพน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ ปัจจัยที่ส่งผลให้คุณภาพน้ำทะเลดีขึ้น เป็นเพราะมีการบริหารจัดการกิจกรรมต่างๆบริเวณชายฝั่งทะเล และการป้องกันและลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษจากบนฝั่ง โดยแหล่งน้ำทะเลที่มีคุณภาพดีสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อ่าวสะพลี และอ่าวทุ่งวัวแล่น จังหวัดชุมพร ทะเลแหวก และหาดต้นไทร เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ และช่องแสมสาร จังหวัดชลบุรี ส่วนแหล่งน้ำทะเลที่มีคุณภาพเสื่อมโทรมสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ปากคลอง 12 ธันวา และหน้าโรงฟอกย้อม กม.35 จังหวัดสมุทรปราการ ปากคลองท่าเคย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ และปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากเป็นพื้นที่รองรับน้ำเสียที่มาจากแหล่งชุมชน แหล่งอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
3.สถานการณ์คุณภาพอากาศ จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติทั่วประเทศทั้งหมด 63 สถานี ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ 33 จังหวัดที่ต้องมีการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมืองขนาดใหญ่ เขตอุตสาหกรรม พื้นที่เสี่ยงต่อการเผาในที่โล่ง คุณภาพอากาศในปี 2560 มีแนวโน้มดีขึ้น สารมลพิษที่ยังเป็นปัญหา คือ ฝุ่นละออง ( TSP PM10 PM2.5 ) ก๊าซโอโซน (O3) และสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) โดยฝุ่นละออง PM10 ตรวจวัดได้ในช่วง 3 -268 มคก./ลบ.ม. ค่าสูงสุดเฉลี่ย 114 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐาน 120) เกินมาตรฐาน 20 จังหวัด แต่มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2555 ฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ในช่วง 2 – 116 มคก./ลบ.ม. ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ 21 มคก./ลบ.ม. (ค่ามาตรฐาน 25) เกินมาตรฐาน 13 จังหวัด จาก 18 จังหวัดที่มีการตรวจวัด ก๊าซโอโซน ค่าเฉลี่ย 1 ชั่วโมงสูงสุดของแต่ละสถานีตรวจวัดเฉลี่ย เท่ากับ 121 พีพีบี (มาตรฐาน 100) เกินมาตรฐาน 24 จังหวัด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนสาร VOCs ประเภทเบนซีน พบเกินมาตรฐาน 3 จังหวัด จาก 7 จังหวัดที่มีการตรวจวัด แต่มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง คือ กรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงใหม่ และระยอง
ทั้งนี้ พื้นที่ที่มีสถานการณ์มลพิษทางอากาศที่มีปริมาณเข้มข้นมากสุด ได้แก่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ปี 2560 พบค่าฝุ่นละอองสูงสุดอยู่ที่จังหวัดลำปาง เท่ากับ 237 มคก./ลบ.ม. ลดลงจากปี 2559 ที่ตรวจวัดได้ 317 มคก./ลบ.ม. ที่จังหวัดเชียงราย จำนวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานลดลงจากปี 2559 จาก 61 วัน เป็น 38 วัน (ลดลงร้อยละ 38) และจุดความร้อนสะสมรายจังหวัดลดลงจากปี 2559 จาก 10,115 จุด เป็น 5,409 จุด (ลดลงร้อยละ 47)
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์หมอกควันดีขึ้นเป็นผลมาจากการบูรณาการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาหมอกควันภายใต้กลไกของพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการแบบ Single Command
สำหรับตำบลพระลาน จังหวัดสระบุรี มีปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานมากที่สุดปี 2560 จำนวนวันที่ฝุ่นเกินมาตรฐานมากกว่าปี 2559 จาก 89 วัน เป็น 107 วัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 20) ค่าที่วัดได้อยู่ระหว่าง 19 – 257 มคก./ลบ.ม. สาเหตุของปัญหาเกิดจากการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองจากกิจการเหมืองหิน โรงโม่ บดหรือย่อยหิน โรงปูนซิเมนต์และการคมนาคมขนส่งในพื้นที่
4.สถานการณ์การจัดการขยะมูลฝอย ปี ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศประมาณ 27.40 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.26 จากปี 2559 ที่เกิดขึ้น 27.06 ล้านตัน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรและการขยายตัวของชุมชนเมือง แต่อัตราการเกิดขยะมูลฝอยต่อคนลดลงจาก 1.14 กิโลกรัม/คน/วัน ในปี2559 เป็น 1.13 กิโลกรัม/คน/วัน โดยเป็นผลมาจากความร่วมมือของหน่วยงานท้องถิ่น ประชาชน และภาคเอกชนในการลดและใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอยและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค
การจัดการขยะมูลฝอยใน 2560 เปรียบเทียบกับปี 2559 ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 จาก 9.57 ล้านตัน เป็น 11.70 ล้านตัน มีปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 จาก 5.80 ล้านตัน เป็น 8.52 ล้านตัน ส่งผลให้ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกต้องลดลงร้อยละ 39 จาก 11.69 ล้านตัน เป็น 7.18 ล้านตัน อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ส่งผลให้การจัดการขยะมูลฝอยยังดำเนินการได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อาทิ อัตราค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากประชาชนยังไม่สอดคล้องกับต้นทุนการดำเนินงาน การคัดแยกขยะมูลฝอยจากต้นทางยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องโดยบางแห่งยังมีการเก็บขนขยะมูลฝอยที่คัดแยกไว้แล้วรวมกับขยะที่จะต้องกำจัด ความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการให้บริการเก็บขนขยะมูลฝอย การกำจัดขยะมูลฝอยในบางพื้นที่ยังดำเนินการไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ บางพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากประชาชนต่อต้าน การขาดความร่วมมือและความตระหนักจากประชาชน นักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการในการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงยังมีการใช้สินค้าและ/หรือบรรจุภัณฑ์ที่กำจัดยากและย่อยสลายตามธรรมชาติได้ยากโดยเฉพาะถุงพลาสติกและโฟม
สำหรับเทศบาลนครและเทศบาลเมืองที่มีการจัดการขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพดีในลำดับต้นจำนวน 23 แห่ง อาทิ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครนครสวรรค์ เทศบาลนครพิษณุโลก และที่ยังต้องปรับปรุงและพัฒนาเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการจัดการขยะมูลฝอยให้ดีขึ้น จำนวน 26 แห่ง อาทิ เทศบาลนครนครศรีธรรมราช เทศบาลนครนครราชสีมา เทศบาลเมืองนครพนม เทศบาลนครแหลมฉบัง (ชลบุรี) ฯลฯ
5.ของเสียอันตรายจากชุมชน จากการสำรวจและคาดการณ์ปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนที่เกิดขึ้นในปี 2560 มีทั้งหมด 618,749 ตัน ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 60,619 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 9.80) เป็นผลจากการวางระบบการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีจุดรวบรวมของเสียอันตรายในหมู่บ้านหรือชุมชน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในกรุงเทพมหานครเพื่อเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชน ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีจุดทิ้งของเสียอันตรายจากชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครถึง 2,718 แห่ง อย่างไรก็ตามยังพบของเสียอันตรายจากชุมชนถูกทิ้งปนกับขยะมูลฝอยทั่วไป เนื่องจากยังมีระบบคัดแยก เก็บ รวบรวม และขนส่งไปกำจัดยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ขาดกฎระเบียบในการคัดแยกของเสียอันตรายจากชุมชนออกจากขยะมูลฝอยทั่วไป ศูนย์รวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชนเพื่อรอส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคกลางและไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ สถานที่บำบัด/กำจัดมีไม่เพียงพอ มีซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์บางประเภทถูกนำไปรีไซเคิลไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และไม่มีการคัดแยกของเสียอันตรายจากบ้านเรือน
แนวทางการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม มีดังนี้
1.การจัดการน้ำเสีย
ควบคุมปริมาณและลดความสกปรกของน้ำเสียที่ต้นทาง อาทิ การผลิตและการบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี และการห้ามระบายมลพิษสู่ภายนอก
คำนึงถึงการจัดการน้ำเสียตั้งแต่ก่อตั้งสถานประกอบการ การต่อใบอนุญาต และระหว่างประกอบกิจการ
การสั่งอนุญาตหรือต่ออายุใบอนุญาตต้องนำมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดไปกำหนดเป็นเงื่อนไขหรือข้อบังคับให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามและควบคุมการระบายน้ำเสียด้วยระบบการอนุญาตระบายมลพิษ (Permit System)
ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียรวมในทุกชุมชนเมืองที่มีประชากรหนาแน่นโดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ริมน้ำ
ปรับรูปแบบการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนในพื้นที่ที่ขาดความพร้อม เช่น ให้องค์การจัดการน้ำเสียหรือเอกชนเข้าไปดำเนินการแทน
ปฏิรูปให้ระบบบำบัดน้ำเสียรวมเป็นหนึ่งในระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐเหมือนไฟฟ้า น้ำประปา
2.การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ
ยกระดับมาตรฐานเพื่อลดการระบายมลพิษจากยานยนต์และน้ำมันเชื้อเพลิงให้เทียบเท่าระดับสากล (EURO 5)
สนับสนุนให้มีการใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ รถยนต์ Eco Car รถยนต์ไฟฟ้า (EV)
สร้างระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อกับเส้นทางหลักเพื่อให้ประชาชนสะดวกในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
ป้องกันและแก้ไขหมอกควันภาคเหนือตามระบบและกลไกที่วางไว้ เพิ่มมาตรการทางสังคมกดดันคนที่จุดไฟแทนการกดดันผู้ที่ทำหน้าที่ดับไฟ
จัดระเบียบการอนุญาตประกอบกิจการเหมืองหิน เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายกับกิจการเหมืองหิน โรงโม่ บดหรือย่อยหินและโรงปูนซิเมนต์ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และให้ผู้ประกอบการเหมืองหินและโรงปูนซิเมนต์ประกาศเจตนารมณ์ต่อสาธารณชนในการประกอบกิจการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม
3.การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายชุมชน
รณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะก่อนทิ้งลงถัง โดยเฉพาะขยะเศษอาหาร ขยะที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ของเสียอันตรายรวมถึงซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
มีการวางระบบการจัดการของเสียอันตรายจากชุมชนให้มีจุดทิ้งของเสียอันตราย (Drop-off)ิ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวบรวมนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง
ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีระบบการคัดแยก รวบรวม และเก็บขนขยะมูลฝอย และมีศูนย์กลางการคัดแยกขยะรีไซเคิล
ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายอย่างครบวงจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการขยะมูลฝอย
การแถลงข่าวสรุปสถานการณ์มลพิษประเทศไทยปี 2560 ในครั้งนี้ มี นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นประธานแถลงข่าว เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2561 ณ ห้องประชุม 301 อาคารกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
People unity news online : post 12 มกราคม 2561 เวลา 20.30 น.