วันที่ 21 พฤศจิกายน 2024

รถรับแลกเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ (Mobile Coin Unit) กรมธนารักษ์ ออกให้บริการเดือน พ.ย. ที่ไหนบ้าง?

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 31 ตุลาคม 2567 กรมธนารักษ์ออกให้บริการรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ (Mobile Coin Unit) แก่ประชาชน ประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 เพื่อกระตุ้นให้เหรียญกษาปณ์เกิดการหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น

กรมธนารักษ์จะออกให้บริการรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ (Mobile Coin Unit) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มีเหรียญกษาปณ์ และมีความต้องการแลกคืนแต่ยังไม่สามารถเข้าถึงในการรับแลกคืนเหรียญได้ ประกอบด้วย เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ทุกชนิดราคา เหรียญกษาปณ์สภาพดี หรือเหรียญกษาปณ์ชำรุด เช่น เหรียญกษาปณ์ดำ ถูกตัด ถูกตอก ถูกตี เจาะรู บิดงอ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2567 รถรับแลกเหรียญคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ (Mobile Coin Unit) จะออกให้บริการตามสถานที่ ดังนี้

วันที่ 4 พฤศจิกายน – สำนักงานธนารักษ์พื้นที่สิงห์บุรี เวลา 09.30 น. – 14.30 น.

วันที่ 6 พฤศจิกายน – สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครนายก เวลา 09.30 น. – 14.30 น.

วันที่ 7 พฤศจิกายน – ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เวลา 09.30 น. – 15.00 น.

วันที่ 12-13 พฤศจิกายน – สถานีบริการน้ำมัน ปตท. หน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี  เวลา 09.30 น. -14.30 น.

วันที่ 27 พฤศจิกายน – ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง เวลา 09.30 น. – 15.00 น.

วันที่ 29 พฤศจิกายน – สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นนทบุรี เวลา 09.30 น. – 15.30 น.

สำหรับการให้บริการรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ (Mobile Coin Unit) เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่กระตุ้นให้ประชาชนที่เก็บเหรียญกษาปณ์ไว้นำออกมาแลกคืน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มีเหรียญกษาปณ์อยู่ ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงในการรับแลกคืนเหรียญได้ ทั้งนี้ ประชาชน สามารถนำเหรียญกษาปณ์มาแลกคืนได้รายละไม่เกิน 10,000 บาท รวมทุกชนิดราคา ต่อราย/ต่อวัน

Advertisement

1 พ.ย.นี้เตรียมเปิดเช็กอินระบบ Biometric เพื่อการเดินทางสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น นำร่องผู้โดยสารในประเทศก่อน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 30 ตุลาคม 2567 เผยยอดผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยาน ทอท. 6 แห่ง เข้าไทยเพิ่มกว่า 120 ล้านคน ในปีงบประมาณ 67 พร้อมเปิดใช้งานเช็กอินระบบ Biometric เพื่อการเดินทางที่สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น นำร่องผู้โดยสารในประเทศก่อนเริ่ม 1 พ.ย. นี้

วันนี้ (วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยินดีกับตัวเลขผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) หรือ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) มียอดผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 119.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 72.67 ล้านคน เพิ่มขึ้น 34.82% และผู้โดยสารภายในประเทศ 46.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.01% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในขณะที่ตารางบินฤดูหนาว 2024/2025 ของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง มีเที่ยวบินได้รับการจัดสรรเวลารวม 370,239 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากฤดูหนาวในปีที่ผ่านมา (W2023/2024) 22.1% และมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้น 23% โดยเส้นทางระหว่างประเทศที่มีผู้โดยสารเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ และฮ่องกง

พร้อมกันนี้ ทอท. ยังขานรับนโยบายรัฐบาลเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เปิดระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition มาใช้ระบุตัวตนของผู้โดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวก สบาย รวดเร็ว และลดระยะเวลาในการรอคิว นำร่องให้ผู้โดยสารภายในประเทศได้ใช้ก่อนในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 นี้ และเปิดใช้งานสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศวันที่ 1 ธันวาคม 2567 แต่ทั้งนี้ ผู้โดยสารจำเป็นต้องยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลด้วย

“รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมาย ในการยกระดับการให้บริการในท่าอากาศยานไทยให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และมีความพร้อมทั้งในด้านระบบ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เน้นความสะดวก สบาย รวดเร็ว และลดระยะเวลาให้กับผู้ใช้บริการ โดยเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะยกระดับศักยภาพเป็นท่าอากาศยานที่ดีในระดับโลกได้” นายจิรายุ กล่าว

Advertisement

“วิทัย” ผอ.ออมสิน ลั่น ตั้งเป้าสร้าง Social Impact ปีละมากกว่า 15,000 ล้านบาท ใน 10 ด้าน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 ตุลาคม 2567 ออมสิน ตั้งเป้าสร้าง Social Impact ปีละมากกว่า 15,000 ล้านบาท เริ่มปี 67 เผยทำได้เพราะรัฐบาลปรับเป้าหมายไม่เน้นกำไรสูงสุด พร้อมเชิญชวนเป็นลูกค้าออมสินเพื่อร่วมกันช่วยสังคม

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ภายในปี 2567 นี้ ธนาคารกำหนดเป้าหมายขยายผลการสร้าง Social Impact หรือผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมให้กว้างขวางขึ้น ผ่านมาตรการและการทำภารกิจ 10 ด้าน ได้แก่ 1) การแก้ไขหนี้/ยกหนี้ให้ครัวเรือน 2) การลดดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย 3) การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ/ผ่อนเกณฑ์อนุมัติ เพื่อดึงประชาชนกลุ่มฐานราก และกลุ่ม SMEs เข้าสู่ระบบการเงิน 4) การสนับสนุนนโยบายรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 5) การช่วยเหลือภัยพิบัติเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน 6) การสร้างอาชีพให้ประชาชนกลุ่มฐานราก 7) การพัฒนาชุมชน 8) การส่งเสริมการออม 9) การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และ 10) การดูแลสิ่งแวดล้อม โดยต้องสามารถเข้าช่วยเหลือสังคม ประเมินเป็นตัวเลขเม็ดเงินผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม (Social Impact) ได้ปีละมากกว่า 15,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การที่ธนาคารสามารถช่วยเหลือสังคมได้ตามแผนงาน เกิดจากการที่รัฐบาลเห็นชอบการปรับตัวชี้วัดให้ธนาคารออมสินไม่เป็นรัฐวิสาหกิจที่มุ่งเน้นกำไรสูงสุด และให้ขยายผลการช่วยเหลือสังคมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแทน โดยมีอัตรากำไรอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Responsible Profit) ทั้งนี้ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายกำไรในปี 2567 ประมาณ 27,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 และกำไรส่วนนี้ยังถูกนำส่งเป็นรายได้ของรัฐต่อไปอีกด้วย ขณะที่ธนาคารยังมีความแข็งแกร่งด้วยปริมาณเงินสำรองส่วนเกินที่เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 80,000 ล้านบาท (General Provision) ในปี 2567 (จากเดิมในปี 2562 มีเพียง 4,000 ล้านบาท เท่านั้น)

นอกจากนี้ ธนาคารได้เร่งขับเคลื่อนแผนขยายผลการช่วยเหลือสังคม และขยายขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว ด้วยการบริหารงานแบบกลุ่มบริษัทผ่าน 4 บริษัท ได้แก่ 1) บริษัท มีที่มีเงิน จำกัด ทำธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่ม SMEs ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด 2) บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC เพื่อแก้ไขหนี้ครัวเรือนด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน ซึ่งได้มีการทำสัญญาโอนหนี้ล็อตแรกแล้วกว่า 140,000 บัญชี 3) บริษัท เงินดีดี จำกัด เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนกลุ่มฐานราก ด้วยการให้สินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน “Good Money by GSB” และ 4) บริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ จำกัด เพื่อช่วยพัฒนายกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัล/AI ของธนาคาร

อนึ่ง ธนาคารออมสินย้ำจุดยืนการเป็นธนาคารเพื่อสังคม ผ่านกระบวนการทำธุรกิจอย่างสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าร่วม (Creating Shared Value : CSV) ที่เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจด้วยการทำกำไรในระดับที่เหมาะสม (Responsible Profit) และยังสามารถขยายการสร้างประโยชน์ต่อสังคม (Social Impact) ตามวัตถุประสงค์ของ Social Bank จึงขอเชิญชวนเป็นลูกค้าธนาคารออมสิน เพราะไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เงินฝาก สลากออมสิน สินเชื่อ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ธนาคารจะนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้คนและสร้างประโยชน์แก่สังคมได้มากขึ้น ตามแนวคิด “เป็นลูกค้าเรา เท่ากับช่วยสังคม”

Advertisement

ออมสิน ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% มีผล 1 พ.ย. 67 ตรึงดอกเบี้ยเงินฝาก ตามภารกิจส่งเสริมการออม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 18 ตุลาคม 2567 ออมสิน ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% มีผล 1 พ.ย. 67 ตรึงดอกเบี้ยเงินฝาก ตามภารกิจส่งเสริมการออม

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี และเพื่อเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในการลดภาระทางการเงินของประชาชนในช่วงนี้ ล่าสุด ธนาคารออมสิน จึงประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ประกอบด้วย ดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา (MLR) ลดลงเหลือ 6.900% ต่อปี และดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ลดลงเหลือ 6.745% ต่อปี ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR) ที่มีการลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจะครบกำหนดมาตรการในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 นี้ ก็จะได้รับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน อยู่ที่อัตรา 6.595% ต่อปี และเป็นอัตราดอกเบี้ย MRR ที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ถือเป็นการปรับลดดอกเบี้ย MRR ครั้งที่ 3 ของปีนี้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก จะยังคงตรึงดอกเบี้ยไว้ในอัตราเดิมให้ได้นานที่สุด เพื่อให้ประชาชนมีรายได้จากอัตราดอกเบี้ย ภายใต้ภารกิจเพื่อสังคมในการมุ่งส่งเสริมการออม ตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล

การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทในครั้งนี้ เป็นการช่วยเหลือลูกค้าเงินกู้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มฐานราก และกลุ่ม SMEs ในการลดภาระต้นทุนทางการเงิน ให้มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยตรง ทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายและมากขึ้น นับเป็นการเดินหน้าตามภารกิจของธนาคารในการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เกิดกับสังคมอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

การบินไทย ประกาศเส้นทางสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ลั่นกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไตรมาส 2 ปี 68

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 ตุลาคม 2567 การบินไทย ประกาศเส้นทางสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนภายใต้แนวคิด “Fly for The New Pride” สู่ขอบฟ้าใหม่แห่งความภูมิใจและจะกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ภายในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 โดยในปีที่ผ่านมา การบินไทยสามารถสร้างผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 28,123.3 ล้านบาท ส่วนครึ่งปีแรกของปี 2567 ยังคงมีผลกำไรต่อเนื่อง ขณะเดียวกันโอกาสที่จะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนในอดีตโอกาสน้อยมาก

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา การบินไทยได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด จนได้รับผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่คาดหวังเป็นอย่างดี แผนฟื้นฟูกิจการนี้เปรียบเสมือนการพลิกโฉมองค์กรครั้งสำคัญ ทั้งในด้านการปรับโครงสร้างองค์กรที่พ้นจากสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ สู่ก้าวใหม่ในฐานะบริษัทเอกชนที่ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คล่องตัว และมีความโปร่งใส

การปรับโครงสร้างองค์กรของการบินไทยมีการดำเนินการที่สำคัญประกอบด้วย การปรับลดขนาดองค์กร โดยลดจำนวนพนักงานลง เหลือประมาณ 14,000 คนในปี 2565 การปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจจากไทยสมายล์ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เช่น แอปพลิเคชัน Thai Airways Mobile App เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสารและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานภายใน และระบบ HR Core Value มาใช้ในการคัดเลือกพนักงาน การปรับโครงสร้างทางการเงิน ได้เจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้โดยไม่ตัดหนี้ (Hair Cut) แต่ปรับปรุงเงื่อนไขการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ บริหารจัดการทรัพย์สิน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน

“ปัจจุบันส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเฉพาะกิจการ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ยังคงติดลบ 40,427 ล้านบาท การบินไทยจึงเร่งดำเนินงานตามแผนปรับโครงสร้างทุนเพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของการบินไทยกลายเป็นบวก ผ่านการแปลงหนี้เป็นทุน 2 ส่วน คือแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้เป็นทุนภาคบังคับ และให้สิทธิแก่เจ้าหนี้เพื่อแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ รวมถึงจะมีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลตามที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนด ได้แก่ ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของทุนให้กับการบินไทย และเตรียมความพร้อมสำหรับการนำหุ้นการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง โดยภายหลังการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ คาดว่ากระทรวงการคลังจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลง เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนรายอื่น ๆ ซึ่งกระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามที่แผนนี้จะเสร็จสิ้นภายในปี 2567 ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ และคาดว่าการบินไทยจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและนำหุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในไตรมาส 2 ปี 2568” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่สำคัญ อาทิ ASK หรือ Available Seat Kilometers ซึ่งเป็นตัวชี้วัดปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร, Aircraft utilization หรืออัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน, และ Cabin factor หรืออัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร ที่ล้วนแล้วแต่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งของการบินไทยในการกลับมาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง ส่งผลให้การบินไทยมีจำนวนผู้โดยสาร ปริมาณการขนส่ง และรายได้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 มีผู้โดยสารรวมประมาณ 13.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 9 ล้านคนในปี 2565 และมีรายได้รวมสูงถึง 165,491.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 105,212.3 ล้านบาทในปี 2565 วันนี้ การบินไทยพร้อมที่ก้าวสู่ขอบฟ้าใหม่แห่งความภูมิใจ “Fly for The New Pride” เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่จะนำพาการบินไทยให้ทะยานโลดแล่นบนท้องฟ้าได้ไกลกว่าเดิม มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการปฏิวัติธุรกิจอย่างมืออาชีพและเรียกความไว้วางใจจากคนไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติให้กลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยความภาคภูมิใจที่เราจะสร้างขึ้นด้วยกัน

นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เสริมว่า ผลประกอบการของบริษัทฯ ในปีที่ผ่านมา นับเป็นปีแห่งความสำเร็จ โดยเราสามารถสร้างผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 28,123.3 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการกิจการ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ นอกจากนี้ ในครึ่งปีแรกของปี 2567 บริษัทฯ ยังคงมีผลกำไรต่อเนื่อง แม้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจสายการบิน บริษัทฯ และบริษัทย่อยยังคงมีรายได้สำหรับงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2567 เพิ่มขึ้น 12,630.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักมาจากการกลับมาให้บริการเที่ยวบินประจำรวมถึงเปิดเส้นทางการบินใหม่เพิ่มขึ้นภายหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คลี่คลายและการยกเลิกมาตรการการจำกัดการเดินทางของหลาย ๆ ประเทศ ทำให้มีผู้โดยสารรวมในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2567 จำนวน 7.68 ล้านคน และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 78.1%

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้บริหารแผนการฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ต้องบอกว่าโอกาสในการกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจของการบินไทยมีโอกาสน้อยมากเพราะถ้ามีการแปลงหนี้เป็นทุนแล้วจะต้องดูสัดส่วนการถือหุ้นด้วยซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะต้องเข้ามาดูและพิจารณาร่วมกันกับผู้บริหารแผนฟื้นฟู อย่างไรก็ตาม การเป็นเอกชนของการบินไทยในเวลานี้ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าทำงานได้คล่องตัวและมีกำไรมากกว่าในอดีต ประเด็นนี้จะต้องนำไปพิจารณาประกอบด้วย

Advertisement

ก.คลัง เผย โอนเงินให้กลุ่มเป้าหมายสำเร็จ 11.86 ล้านราย เม็ดเงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจ 118,642.26 ลบ.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 30 กันยายน 2567 กระทรวงการคลังเผยความคืบหน้าการโอนเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการโอนเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ (โครงการฯ) ซึ่งกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้โอนเงินให้กลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นมา

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า การโอนเงินเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนลงท้ายด้วยเลข 4 – 7 จำนวน 4.51 ล้านราย พบว่า มีการโอนเงินไม่สำเร็จจำนวน 129,373 ราย ทำให้มียอดสะสมของการโอนเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายสำเร็จแล้วรวมทั้งสิ้น 11.86 ล้านราย และการโอนเงินไม่สำเร็จจำนวน 319,8180 ราย

ทั้งนี้ ในภาพรวมมีสาเหตุการโอนเงินไม่สำเร็จของกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม ดังนี้

  1. คนพิการ เช่น บัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด เลขบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้อง เป็นต้น
  2. ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เช่น ยังไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน บัญชีไม่มีการเคลื่อนไหว บัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด เลขบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้อง เป็นต้น

จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน หรือติดต่อธนาคาร เพื่อแก้ไขบัญชีเงินฝากธนาคารที่มีปัญหาข้างต้น ภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2567 เพื่อให้ได้รับการจ่ายเงินซ้ำได้ทันภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2567

นอกจากนี้ สำหรับคนพิการจำนวนประมาณ 9 หมื่นราย ที่บัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ หรือข้อมูลบัตรประจำตัวคนพิการไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการโอนเงินเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ขอแนะนำให้ดำเนินการต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการ ทำบัตรประจำตัวคนพิการ หรือแก้ไขข้อมูลประจำตัวคนพิการที่ศูนย์บริการคนพิการทั่วประเทศให้ถูกต้อง ภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2567 เพื่อให้ได้รับการจ่ายเงินซ้ำได้ทันภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2567

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีเม็ดเงินจากโครงการฯ หมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วจำนวน 118,642.26 ล้านบาท ขอให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับเงินส่วนนี้แล้ว วางแผนการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและครอบครัว

ช่องทางการติดต่อ:

  1. ตรวจสอบสิทธิและผลการโอนเงิน: เว็บไซต์ https://xn--2567-4doaav1an0gvcuc4hcbc3gua9kpb5czewjlb2p.c… (ตรวจสอบผลการโอนเงินได้ในวันถัดไปหลังจากวันที่จ่ายเงิน)
  2. สอบถามข้อมูลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ: ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านระบบตอบรับอัตโนมัติ โทรศัพท์หมายเลข 0 2109 2345 กด 1 กด 5 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์ 24 ชั่วโมง
  3. สอบถามข้อมูลคนพิการ: ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

Advertisement

เงินบาทแตะ 32.14 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือน ครั้งใหม่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 30 กันยายน 2567 เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือน ครั้งใหม่ที่ 32.14 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะกลับมาปิดตลาดที่ระดับ 32.23 บาทต่อดอลลาร์ฯ ยังคงเป็นระดับแข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 32.40 บาทต่อดอลลาร์

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่องแม้ว่า นักลงทุนต่างชาติจะมีสถานะอยู่ในฝั่งขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยในวันนี้ เนื่องจาก Sentiment ของเงินดอลลาร์ฯ ยังคงอ่อนแอในช่วงก่อนถ้อยแถลงของประธานเฟดในคืนนี้ สำหรับทิศทางฟันด์โฟลว์ในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 963 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 780 ล้านบาท

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 32.10-32.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การตอบรับของตลาดต่อถ้อยแถลงของประธานเฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ดัชนี PMI เดือน ก.ย. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐ รวมถึงตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือน ส.ค. ของสหรัฐ

Advertisement

นายกฯ บอกเงินหมื่นเฟส 2 รอก่อน ให้ ก.คลัง ยืนยัน ได้แค่ 5,000 บาทหรือไม่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 กันยายน 2567 ทำเนียบ – “แพทองธาร” นายกฯ บอกเงินหมื่นเฟส 2 รอก่อน ให้ ก.คลัง ยืนยัน ไม่ตอบได้แค่ 5,000 บาทหรือไม่ พร้อมแจงวัน ครม.

ภายหลังพิธีเลี้ยงฉลองชัย มอบเงินรางวัลและแสดงความยินดีแก่นักกีฬา ผู้ฝึกสอน สมาคมกีฬา คณะเจ้าหน้าที่และบุคลากรกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ 2024 ภายในตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 2 จะได้เงินแค่ครึ่งเดียว คือ 5,000 บาทนั้น โดยนายกฯ ระบุเพียงสั้นๆ ว่า “รอก่อน รอก่อน เดี๋ยวให้กระทรวงการคลังมายืนยันก่อน ถ้าให้พูดตอนนี้มันสั้น” ก่อนจะกล่าวว่า “ขอให้สัมภาษณ์วัน ครม.”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ไม่ตอบคำถามถึงกระแสข่าว นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนายวราเทพ รัตนากร ผอ.พรรคพลังประชารัฐ เตรียมลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ และย้ายมาอยู่พรรคเพื่อไทย

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล เพื่อลงพื้นที่ จ.เชียงราย ต่อในเวลา 14.00 น. ทันที

Advertisement

 

ตรึงราคา LPG ต่ออีก 3 เดือน ถึงสิ้นปี 67 ที่ราคา 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 26 กันยายน 2567 กบง. เห็นชอบตรึงราคา LPG ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม อีก 3 เดือน ถึงสิ้นปี 67 และเห็นชอบซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน ระบบโซลาร์บนหลังคาและแบบทุ่นลอยน้ำ จากกลุ่มโรงงานฯ และอาคารธุรกิจ อัตรา 1.00 บาท/หน่วย

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม กบง. ซึ่งมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้พิจารณาสถานการณ์ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของตลาดโลก รวมถึงสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยที่ประชุมได้มีมติให้คงราคาขายส่งก๊าซ LPG หน้าโรงกลั่น ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 และให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป

นายวีรพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน และแบบทุ่นลอยน้ำ ด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 1.00 บาท/หน่วย โดยจะเป็นการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์จากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจที่มีโรงไฟฟ้าที่มีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองหรือเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าโดยตรงหรือบริการให้ผู้ใช้ไฟฟ้าอื่นอยู่แล้ว

ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่มีการลงทุนใหม่ และต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายสามารถรองรับได้ การรับซื้อเป็นรูปแบบ Non-Firm มีกำหนดระยะเวลารับซื้อ ไม่เกิน 2 ปี (เริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม 2568 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2569) โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

Advertisement

นายกฯ Kick Off โอนเงิน 10,000 ย้ำเดินหน้าโครงการ Digital Wallet

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 25 กันยายน 2567 นายกฯ “แพทองธาร” Kick Off โอนเงิน 10,000 ให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรคนพิการ ย้ำเดินหน้าโครงการ Digital Wallet เพื่อสร้างโอกาส สร้างความหวัง ให้ประชาชนมีกิน มีใช้

วันนี้ (25 กันยายน 2567) 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดงาน (Kick Off) โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนเข้าร่วม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังมานานหลายปี ไม่ใช่เพียงแค่จากปัจจัยภายใน แต่ยังมีผลจากเศรษฐกิจทั้งโลกที่ฟื้นตัวช้า ซ้ำเติมด้วยปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค และยังไม่รวมกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้เกิดภัยพิบัติในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงในบ้านเราก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งเหตุอุทกภัยในครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ หลายปัจจัยที่กล่าวมา ทำให้เศรษฐกิจไทยฝืดเคือง ไม่สามารถที่จะเพิ่มการลงทุนได้ จะเห็นได้ชัดว่า การลงทุนใหม่ ๆ ของเราก็หายไปในระบบ เงินไม่หมุนเวียน ทำให้การลงทุนน้อยลง  อุตสาหกรรมใหม่ที่จะมาลงทุนในประเทศไทยน้อยลง  ซึ่งกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สุด คือ กลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อย รวมถึงผู้พิการ ในอนาคต ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจทั้งระบบ  ทำให้เศรษฐกิจต้องมีความพร้อมต่อการลงทุน และอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะทำให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ รัฐบาลจะสร้างรายได้ที่มั่นคงในระยะยาว เพื่อให้คนไทยมีความมั่นคงและหารายได้อย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า นโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลเน้นย้ำตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมา 1 ปี ได้เน้นย้ำนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ซึ่งจะสามารถทำให้ประชาชนมีชีวิตที่พัฒนาได้มากขึ้น แต่นโยบายหลายนโยบายอาจจะต้องใช้เวลา บางเรื่องหลายเดือน บางเรื่องต้องใช้เวลาหลายปี ต้องอาศัยเสถียรภาพทางการเมืองด้วย เพื่อที่จะให้นโยบายมีความพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้คือ ‘ความท้าทาย’ ที่รัฐบาลจะต้องเปลี่ยนให้กลายเป็นโอกาส และความหวังเพื่อประชาชน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจ หลายโครงการได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว สานต่อมายังรัฐบาลนี้ในวันนี้ และมีแผนที่จะทำต่อในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการพักหนี้เกษตรกร การลดดอกเบี้ย ส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านนโยบายฟรีวีซ่า ทำให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งประเทศ

นายกรัฐมนตรีระบุ วันนี้ประเทศไทยจะถูกกระตุ้นครั้งใหญ่ เงินสดถึงมือคนไทย ระบบเศรษฐกิจจะถูกเติมเงินหมุนเวียนกว่า 145,552.40 ล้านบาท  สร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจลูกใหญ่ลูกแรก ที่ทำให้คนไทยได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ต่อลมหายใจให้ประชาชนรายเล็กที่กำลังเดือดร้อน   นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้จะถึงมือประชาชนกลุ่มเปราะบาง จำนวน 14.55 ล้านคน โดยแบ่งเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 12.40 ล้านคน และกลุ่มคนพิการจำนวน 2.15 ล้านคน  ทุกคนจะได้รับเงินสดคนละ 10,000 บาท ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผ่านช่องทางการรับเบี้ยเดิมของผู้พิการ ไม่ว่าจะเคยได้รับเงินผ่านบัญชีธนาคาร หรือได้รับเงินสดผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะได้รับเงินในวิธีการเดิม

“ที่สำคัญเงินจำนวนนี้ไม่มีเงื่อนไขในการใช้จ่ายแต่อย่างใด เมื่อเงินเข้าบัญชีสามารถนำไปใช้จ่ายได้ทันที เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด และถึงมือประชาชนมากที่สุดค่ะ ซึ่งการโอนเงินจะทยอยโอนให้ถึงมือพี่น้องประชาชนภายใน 4 วัน โดยเริ่มที่วันนี้เป็นวันแรก” นโยบายนี้จะช่วยกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ประชาชน สร้างโอกาส สร้างความหวัง นำไปสู่การพัฒนาเพื่อต่อยอดคุณภาพชีวิต ให้พี่น้อง มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี” นายกรัฐมนตรี ย้ำ

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า เงินหนึ่งหมื่นบาทเป็นจำนวนที่จะทำให้ประชาชนหลายคนมีโอกาสสร้างชีวิตใหม่ และเป็นเงินจำนวนที่มากพอเมื่อรวมกันหลายคน สามารถนำไปลงทุนค้าขาย ต่อยอดธุรกิจ พร้อมรับโอกาสดี ๆ ที่จะเข้ามา รัฐบาลเชื่อในศักยภาพของพี่น้องคนไทย เมื่อมีโอกาสมาถึงมือจะไม่ปล่อยโอกาสนี้ให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ รวมถึงพี่น้องหลายคนที่กำลังประสบความเดือดร้อนจากอุทกภัยจะได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม ผ่านนโยบายนี้ได้อีกทางหนึ่ง

“รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีกหลายรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงยังคงเดินหน้าโครงการ Digital Wallet เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประชาชนมี Digital ID เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างรัฐบาลและประชาชน ทำให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ กับหน่วยงานรัฐสะดวกขึ้น โปร่งใสตรวจสอบได้ เช่น การให้เงินช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ การชำระค่าไฟ เป็นต้น ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารและตรวจสอบข้อมูลได้ที่ทุกช่องทางของกระทรวงการคลัง และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งหมดเพื่อเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง มีรอยยิ้ม สร้างความเท่าเทียมทางโอกาส เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาดีอีกครั้ง” นายกรัฐมนตรี กล่าว

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้วิดีโอคอลไปยังตัวแทนผู้ได้รับเงิน 10,000 บาท จากจังหวัดเชียงใหม่ สมุทรสาคร มุกดาหาร และจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยนายกฯ ได้สอบถามพร้อมแสดงกล่าวความยินดีกับผู้ที่ได้รับเงิน ขอให้นำเงินที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้ที่ได้ผลักดันโครงการฯ ทำให้ประชาชนได้รับเงิน 10,000 บาท โดยจะนำเงินที่ได้รับไปใช้ซื้อของอุปโภค บริโภค และของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน รวมถึงนำเงินไปเป็นทุนต่อยอดการค้าขายต่อไป

สำหรับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ เฟส 1 กำหนดแจกกลุ่มเปราะบาง 14.55 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีอยู่กว่า 12.4 ล้านคน และผู้พิการ กว่า 2.15 ล้านคน รวมเป็นงบประมาณที่ใช้อยู่ที่ประมาณ 1.45 แสนล้านบาท โดยจะแจกเป็นเงินสด จำนวน 10,000 บาท โอนเข้าบัญชีผ่านช่องทางที่กำหนด ทั้งระบบพร้อมเพย์ผ่านหมายเลขบัตรประชาชน หรือบัญชีเงินฝากที่แจ้งความประสงค์ไว้ หรือช่องทางการรับเงินเบี้ยคนพิการ ตามที่ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ โดย กรมบัญชีกลาง กำหนดโอนเงินในวันที่ 25 – 27 และ 30 กันยายนนี้ แบ่งการโอนเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ วันที่ 25 กันยายน 2567 โอนเงินให้คนพิการ พร้อมกันทั้ง 2.15 ล้านคน และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนลงท้ายด้วยเลข 0 ประมาณ 1.13 ล้านคน วันที่ 26 กันยายน 2567 เลขประจำตัวประชาชนลงท้าย 1-3 ประมาณ 4.51 ล้านคน วันที่ 27 กันยายน 2567 เลขประจำตัวประชาชนลงท้าย 4-7 ประมาณ 4.51 ล้านคน และวันที่ 30 กันยายน 2567 เลขประจำตัวประชาชนลงท้าย 8-9 ประมาณ 2.26 ล้านคน

Advertisement

Verified by ExactMetrics