วันที่ 4 ธันวาคม 2024

ก.คลัง เผย โอนเงินให้กลุ่มเป้าหมายสำเร็จ 11.86 ล้านราย เม็ดเงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจ 118,642.26 ลบ.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 30 กันยายน 2567 กระทรวงการคลังเผยความคืบหน้าการโอนเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการโอนเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ (โครงการฯ) ซึ่งกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้โอนเงินให้กลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นมา

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า การโอนเงินเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนลงท้ายด้วยเลข 4 – 7 จำนวน 4.51 ล้านราย พบว่า มีการโอนเงินไม่สำเร็จจำนวน 129,373 ราย ทำให้มียอดสะสมของการโอนเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายสำเร็จแล้วรวมทั้งสิ้น 11.86 ล้านราย และการโอนเงินไม่สำเร็จจำนวน 319,8180 ราย

ทั้งนี้ ในภาพรวมมีสาเหตุการโอนเงินไม่สำเร็จของกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม ดังนี้

  1. คนพิการ เช่น บัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด เลขบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้อง เป็นต้น
  2. ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เช่น ยังไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน บัญชีไม่มีการเคลื่อนไหว บัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด เลขบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้อง เป็นต้น

จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน หรือติดต่อธนาคาร เพื่อแก้ไขบัญชีเงินฝากธนาคารที่มีปัญหาข้างต้น ภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2567 เพื่อให้ได้รับการจ่ายเงินซ้ำได้ทันภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2567

นอกจากนี้ สำหรับคนพิการจำนวนประมาณ 9 หมื่นราย ที่บัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ หรือข้อมูลบัตรประจำตัวคนพิการไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการโอนเงินเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ขอแนะนำให้ดำเนินการต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการ ทำบัตรประจำตัวคนพิการ หรือแก้ไขข้อมูลประจำตัวคนพิการที่ศูนย์บริการคนพิการทั่วประเทศให้ถูกต้อง ภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2567 เพื่อให้ได้รับการจ่ายเงินซ้ำได้ทันภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2567

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีเม็ดเงินจากโครงการฯ หมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วจำนวน 118,642.26 ล้านบาท ขอให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับเงินส่วนนี้แล้ว วางแผนการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและครอบครัว

ช่องทางการติดต่อ:

  1. ตรวจสอบสิทธิและผลการโอนเงิน: เว็บไซต์ https://xn--2567-4doaav1an0gvcuc4hcbc3gua9kpb5czewjlb2p.c… (ตรวจสอบผลการโอนเงินได้ในวันถัดไปหลังจากวันที่จ่ายเงิน)
  2. สอบถามข้อมูลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ: ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านระบบตอบรับอัตโนมัติ โทรศัพท์หมายเลข 0 2109 2345 กด 1 กด 5 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์ 24 ชั่วโมง
  3. สอบถามข้อมูลคนพิการ: ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

Advertisement

เงินบาทแตะ 32.14 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือน ครั้งใหม่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 30 กันยายน 2567 เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือน ครั้งใหม่ที่ 32.14 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะกลับมาปิดตลาดที่ระดับ 32.23 บาทต่อดอลลาร์ฯ ยังคงเป็นระดับแข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 32.40 บาทต่อดอลลาร์

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่องแม้ว่า นักลงทุนต่างชาติจะมีสถานะอยู่ในฝั่งขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยในวันนี้ เนื่องจาก Sentiment ของเงินดอลลาร์ฯ ยังคงอ่อนแอในช่วงก่อนถ้อยแถลงของประธานเฟดในคืนนี้ สำหรับทิศทางฟันด์โฟลว์ในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 963 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 780 ล้านบาท

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 32.10-32.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การตอบรับของตลาดต่อถ้อยแถลงของประธานเฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ดัชนี PMI เดือน ก.ย. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐ รวมถึงตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือน ส.ค. ของสหรัฐ

Advertisement

นายกฯ บอกเงินหมื่นเฟส 2 รอก่อน ให้ ก.คลัง ยืนยัน ได้แค่ 5,000 บาทหรือไม่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 กันยายน 2567 ทำเนียบ – “แพทองธาร” นายกฯ บอกเงินหมื่นเฟส 2 รอก่อน ให้ ก.คลัง ยืนยัน ไม่ตอบได้แค่ 5,000 บาทหรือไม่ พร้อมแจงวัน ครม.

ภายหลังพิธีเลี้ยงฉลองชัย มอบเงินรางวัลและแสดงความยินดีแก่นักกีฬา ผู้ฝึกสอน สมาคมกีฬา คณะเจ้าหน้าที่และบุคลากรกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ 2024 ภายในตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 2 จะได้เงินแค่ครึ่งเดียว คือ 5,000 บาทนั้น โดยนายกฯ ระบุเพียงสั้นๆ ว่า “รอก่อน รอก่อน เดี๋ยวให้กระทรวงการคลังมายืนยันก่อน ถ้าให้พูดตอนนี้มันสั้น” ก่อนจะกล่าวว่า “ขอให้สัมภาษณ์วัน ครม.”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ไม่ตอบคำถามถึงกระแสข่าว นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนายวราเทพ รัตนากร ผอ.พรรคพลังประชารัฐ เตรียมลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ และย้ายมาอยู่พรรคเพื่อไทย

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล เพื่อลงพื้นที่ จ.เชียงราย ต่อในเวลา 14.00 น. ทันที

Advertisement

 

ตรึงราคา LPG ต่ออีก 3 เดือน ถึงสิ้นปี 67 ที่ราคา 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 26 กันยายน 2567 กบง. เห็นชอบตรึงราคา LPG ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม อีก 3 เดือน ถึงสิ้นปี 67 และเห็นชอบซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน ระบบโซลาร์บนหลังคาและแบบทุ่นลอยน้ำ จากกลุ่มโรงงานฯ และอาคารธุรกิจ อัตรา 1.00 บาท/หน่วย

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม กบง. ซึ่งมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้พิจารณาสถานการณ์ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของตลาดโลก รวมถึงสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยที่ประชุมได้มีมติให้คงราคาขายส่งก๊าซ LPG หน้าโรงกลั่น ที่ 20.9179 บาทต่อกิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีกรอบเป้าหมายให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 และให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับแนวทางการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป

นายวีรพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน และแบบทุ่นลอยน้ำ ด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 1.00 บาท/หน่วย โดยจะเป็นการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้จากพลังงานแสงอาทิตย์จากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจที่มีโรงไฟฟ้าที่มีการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองหรือเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าโดยตรงหรือบริการให้ผู้ใช้ไฟฟ้าอื่นอยู่แล้ว

ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่มีการลงทุนใหม่ และต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายสามารถรองรับได้ การรับซื้อเป็นรูปแบบ Non-Firm มีกำหนดระยะเวลารับซื้อ ไม่เกิน 2 ปี (เริ่มต้นวันที่ 1 มกราคม 2568 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2569) โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

Advertisement

นายกฯ Kick Off โอนเงิน 10,000 ย้ำเดินหน้าโครงการ Digital Wallet

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 25 กันยายน 2567 นายกฯ “แพทองธาร” Kick Off โอนเงิน 10,000 ให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรคนพิการ ย้ำเดินหน้าโครงการ Digital Wallet เพื่อสร้างโอกาส สร้างความหวัง ให้ประชาชนมีกิน มีใช้

วันนี้ (25 กันยายน 2567) 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดงาน (Kick Off) โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนเข้าร่วม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังมานานหลายปี ไม่ใช่เพียงแค่จากปัจจัยภายใน แต่ยังมีผลจากเศรษฐกิจทั้งโลกที่ฟื้นตัวช้า ซ้ำเติมด้วยปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค และยังไม่รวมกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้เกิดภัยพิบัติในหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงในบ้านเราก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งเหตุอุทกภัยในครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ หลายปัจจัยที่กล่าวมา ทำให้เศรษฐกิจไทยฝืดเคือง ไม่สามารถที่จะเพิ่มการลงทุนได้ จะเห็นได้ชัดว่า การลงทุนใหม่ ๆ ของเราก็หายไปในระบบ เงินไม่หมุนเวียน ทำให้การลงทุนน้อยลง  อุตสาหกรรมใหม่ที่จะมาลงทุนในประเทศไทยน้อยลง  ซึ่งกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่สุด คือ กลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อย รวมถึงผู้พิการ ในอนาคต ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางด้านเศรษฐกิจทั้งระบบ  ทำให้เศรษฐกิจต้องมีความพร้อมต่อการลงทุน และอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะทำให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ รัฐบาลจะสร้างรายได้ที่มั่นคงในระยะยาว เพื่อให้คนไทยมีความมั่นคงและหารายได้อย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า นโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลเน้นย้ำตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมา 1 ปี ได้เน้นย้ำนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ซึ่งจะสามารถทำให้ประชาชนมีชีวิตที่พัฒนาได้มากขึ้น แต่นโยบายหลายนโยบายอาจจะต้องใช้เวลา บางเรื่องหลายเดือน บางเรื่องต้องใช้เวลาหลายปี ต้องอาศัยเสถียรภาพทางการเมืองด้วย เพื่อที่จะให้นโยบายมีความพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้คือ ‘ความท้าทาย’ ที่รัฐบาลจะต้องเปลี่ยนให้กลายเป็นโอกาส และความหวังเพื่อประชาชน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจ หลายโครงการได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว สานต่อมายังรัฐบาลนี้ในวันนี้ และมีแผนที่จะทำต่อในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการพักหนี้เกษตรกร การลดดอกเบี้ย ส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านนโยบายฟรีวีซ่า ทำให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งประเทศ

นายกรัฐมนตรีระบุ วันนี้ประเทศไทยจะถูกกระตุ้นครั้งใหญ่ เงินสดถึงมือคนไทย ระบบเศรษฐกิจจะถูกเติมเงินหมุนเวียนกว่า 145,552.40 ล้านบาท  สร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจลูกใหญ่ลูกแรก ที่ทำให้คนไทยได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ต่อลมหายใจให้ประชาชนรายเล็กที่กำลังเดือดร้อน   นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้จะถึงมือประชาชนกลุ่มเปราะบาง จำนวน 14.55 ล้านคน โดยแบ่งเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 12.40 ล้านคน และกลุ่มคนพิการจำนวน 2.15 ล้านคน  ทุกคนจะได้รับเงินสดคนละ 10,000 บาท ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผ่านช่องทางการรับเบี้ยเดิมของผู้พิการ ไม่ว่าจะเคยได้รับเงินผ่านบัญชีธนาคาร หรือได้รับเงินสดผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะได้รับเงินในวิธีการเดิม

“ที่สำคัญเงินจำนวนนี้ไม่มีเงื่อนไขในการใช้จ่ายแต่อย่างใด เมื่อเงินเข้าบัญชีสามารถนำไปใช้จ่ายได้ทันที เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด และถึงมือประชาชนมากที่สุดค่ะ ซึ่งการโอนเงินจะทยอยโอนให้ถึงมือพี่น้องประชาชนภายใน 4 วัน โดยเริ่มที่วันนี้เป็นวันแรก” นโยบายนี้จะช่วยกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ประชาชน สร้างโอกาส สร้างความหวัง นำไปสู่การพัฒนาเพื่อต่อยอดคุณภาพชีวิต ให้พี่น้อง มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี” นายกรัฐมนตรี ย้ำ

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า เงินหนึ่งหมื่นบาทเป็นจำนวนที่จะทำให้ประชาชนหลายคนมีโอกาสสร้างชีวิตใหม่ และเป็นเงินจำนวนที่มากพอเมื่อรวมกันหลายคน สามารถนำไปลงทุนค้าขาย ต่อยอดธุรกิจ พร้อมรับโอกาสดี ๆ ที่จะเข้ามา รัฐบาลเชื่อในศักยภาพของพี่น้องคนไทย เมื่อมีโอกาสมาถึงมือจะไม่ปล่อยโอกาสนี้ให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ รวมถึงพี่น้องหลายคนที่กำลังประสบความเดือดร้อนจากอุทกภัยจะได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม ผ่านนโยบายนี้ได้อีกทางหนึ่ง

“รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีกหลายรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงยังคงเดินหน้าโครงการ Digital Wallet เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประชาชนมี Digital ID เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างรัฐบาลและประชาชน ทำให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ กับหน่วยงานรัฐสะดวกขึ้น โปร่งใสตรวจสอบได้ เช่น การให้เงินช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ การชำระค่าไฟ เป็นต้น ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารและตรวจสอบข้อมูลได้ที่ทุกช่องทางของกระทรวงการคลัง และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งหมดเพื่อเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง มีรอยยิ้ม สร้างความเท่าเทียมทางโอกาส เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาดีอีกครั้ง” นายกรัฐมนตรี กล่าว

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้วิดีโอคอลไปยังตัวแทนผู้ได้รับเงิน 10,000 บาท จากจังหวัดเชียงใหม่ สมุทรสาคร มุกดาหาร และจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยนายกฯ ได้สอบถามพร้อมแสดงกล่าวความยินดีกับผู้ที่ได้รับเงิน ขอให้นำเงินที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้ที่ได้ผลักดันโครงการฯ ทำให้ประชาชนได้รับเงิน 10,000 บาท โดยจะนำเงินที่ได้รับไปใช้ซื้อของอุปโภค บริโภค และของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน รวมถึงนำเงินไปเป็นทุนต่อยอดการค้าขายต่อไป

สำหรับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ เฟส 1 กำหนดแจกกลุ่มเปราะบาง 14.55 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีอยู่กว่า 12.4 ล้านคน และผู้พิการ กว่า 2.15 ล้านคน รวมเป็นงบประมาณที่ใช้อยู่ที่ประมาณ 1.45 แสนล้านบาท โดยจะแจกเป็นเงินสด จำนวน 10,000 บาท โอนเข้าบัญชีผ่านช่องทางที่กำหนด ทั้งระบบพร้อมเพย์ผ่านหมายเลขบัตรประชาชน หรือบัญชีเงินฝากที่แจ้งความประสงค์ไว้ หรือช่องทางการรับเงินเบี้ยคนพิการ ตามที่ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ โดย กรมบัญชีกลาง กำหนดโอนเงินในวันที่ 25 – 27 และ 30 กันยายนนี้ แบ่งการโอนเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ วันที่ 25 กันยายน 2567 โอนเงินให้คนพิการ พร้อมกันทั้ง 2.15 ล้านคน และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนลงท้ายด้วยเลข 0 ประมาณ 1.13 ล้านคน วันที่ 26 กันยายน 2567 เลขประจำตัวประชาชนลงท้าย 1-3 ประมาณ 4.51 ล้านคน วันที่ 27 กันยายน 2567 เลขประจำตัวประชาชนลงท้าย 4-7 ประมาณ 4.51 ล้านคน และวันที่ 30 กันยายน 2567 เลขประจำตัวประชาชนลงท้าย 8-9 ประมาณ 2.26 ล้านคน

Advertisement

“เอกนัฏ” สั่งเยียวยาเร่งด่วนผู้ประกอบการหลังน้ำท่วม-สนับสนุนเงินทุน-แผนรับมืออุทกภัยในอนาคต

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 22 กันยายน 2567 “เอกนัฏ” สั่งการ “ดีพร้อม” ส่ง 3 มาตรการช่วยผู้ประกอบการหลังน้ำท่วม เยียวยาเร่งด่วน-สนับสนุนเงินทุน-แผนรับมืออุทกภัยในอนาคต

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งเดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยผ่าน 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1) มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย 2) มาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด และ 3) มาตรการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย เพื่อช่วยผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย นอกจากนี้ ยังได้เดินหน้ามาตรการช่วยเยียวยาและฟื้นฟูสถานประกอบการเร่งด่วนผ่านการจัดกิจกรรมทำความสะอาดในสถานประกอบการ (Big Cleaning) พร้อมซ่อมแซม ปรับปรุงอุปกรณ์ และเครื่องจักร รวมถึงผลักดันสถานประกอบการที่ต้องการฟื้นฟูและเยียวยาให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนฯ กว่า 20 ล้านบาท

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่งผลต่อที่อยู่อาศัย และการประกอบอาชีพของประชาชนทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังส่งผลต่อผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งติดตามสถานการณ์ เพื่อช่วยเหลือและหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งติดตามความเสียหายที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย โดยเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งเตรียมมาตรการต่าง ๆ รองรับสถานการณ์หลังน้ำลด ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูในส่วนที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนแผนในการป้องกันหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวอีกครั้งทั้งในระยะฉับพลัน

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้ขานรับนโยบายเร่งด่วนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้ดำเนินการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น พบว่าผู้ประสบอุทกภัยในหลายพื้นที่มีต้องการความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยาในกรณีต่าง ๆ ผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่

1.มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัย ผ่าน “ถุงยิ้มพิมพ์ใจ MIND ไม่ทิ้งกัน” ของอุตสาหกรรมรวมใจ ไปยังผู้ประสบภัยด้วยสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น ประกอบด้วย สิ่งของอุปโภค บริโภค และยารักษาโรค พร้อมเตรียมการรถบรรทุกและรถขนส่งสำหรับการบริจาคสิ่งของจากเครือข่ายดีพร้อม ทั้งผู้ประกอบการและสถาบันต่าง ๆ เพื่อส่งมอบให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย พร้อมส่งทีมวิศวกรและนายช่างเทคนิคช่วยซ่อมแซมอุปกรณ์ในเบื้องต้น รวมทั้งทำกิจกรรมทำความสะอาดในสถานประกอบการ (Big Cleaning) เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว

2.มาตรการฟื้นฟูหลังน้ำลด ผ่านการให้คำปรึกษาปัญหาธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม โดยจัดทีมผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษา เพื่อเข้าประเมินสภาพปัญหาและวางแผน การฟื้นฟูสถานประกอบการ รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรมผ่านศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม (DIPROM Business Service Center : DIPROM BSC) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว การฟื้นฟู และปรับปรุงกระบวนการผลิต โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค หรือ DIPROM CENTER ในพื้นที่ส่วนภูมิภาค จัดกิจกรรมช่วยเหลือ แนะนำในการปรับปรุงซ่อมแซม ฟื้นฟูเครื่องจักร ระบบไฟฟ้า ระบบหล่อลื่น รวมทั้งดำเนินกิจกรรม Re-Layout, Re-Engineering เพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้กลับมาดำเนินการได้ เช่น การให้คำปรึกษา ปรับปรุง ฟื้นฟู เพื่อให้ระบบคุณภาพ GMP/HACCP/GHP กลับมาดำเนินการได้ปกติ พร้อมยกระดับศักยภาพการประกอบอาชีพสู่ธุรกิจอุตสาหกรรม ผ่านส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพด้านการผลิต ด้านการบริการ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ส่งเสริมให้ชุมชนเกิดรายได้ ลดรายจ่าย สามารถสร้างอาชีพใหม่ หรือนำไปประกอบอาชีพเสริมเพิ่ม ก่อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน พร้อมทั้งได้บูรณาการผ่านเครือข่ายดีพร้อม (DIPROM Connection) จับมือกับเครือข่ายทางการพัฒนาของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ของ SMEs เข้าสู่ช่องทางการตลาดทั้งรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์

อีกทั้ง ยังมีการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถได้รับการผ่อนผันการชำระหนี้ ได้รับการลดหย่อนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีสิทธิกู้เงินเพิ่มเติม และการขอกู้เงินเป็นกรณีพิเศษสำหรับลูกค้ารายใหม่ โดยวางกรอบวงเงินการช่วยเหลือกว่า 20 ล้านบาท

3.มาตรการเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ผ่านการจัดทำแผนรองรับการเกิดอุทกภัย เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยจัดทำ Check list เมื่อเกิดเหตุอุทกภัย การสร้างผนังกั้นน้ำ สอนวิธีการป้องกันอุปกรณ์เครื่องจักร เป็นต้น พร้อมติดตามสถานการณ์จากสถานการณ์น้ำท่วม โดยบูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อประเมินสถานการณ์ เตือนภัย และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และทันท่วงที เพื่อรับฟังปัญหาผลกระทบแบบ Real Time พร้อมให้การช่วยเหลือเฉพาะหน้าแก่สถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว

นายภาสกร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ดีพร้อม (DIPROM) ได้เร่งดำเนินการช่วยเหลือสถานประกอบการ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยผ่าน 3 มาตรการดังกล่าว เพื่อให้ความช่วยเหลือนั้นครอบคลุมทุกมิติ และครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป” นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย

Advertisement

“กรุงไทย” แนะผูกพร้อมเพย์ด้วยตัวเองง่ายๆ ผ่านแอปฯ Krungthai NEXT และตู้ ATM

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 กันยายน 2567 “กรุงไทย” แนะผูกพร้อมเพย์ด้วยตัวเองง่ายๆ ผ่านแอปฯ Krungthai NEXT และตู้ ATM กรุงไทยทั่วประเทศ

ธนาคารกรุงไทย พร้อมอำนวยความสะดวกประชาชน ในการผูกพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประชาชน เพื่อเตรียมรับเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่านทุกช่องทางของธนาคาร อย่างไรก็ตาม เพื่อความสะดวก และรวดเร็ว ลูกค้าและประชาชนสามารถสมัครบริการผูกพร้อมเพย์ด้วยตัวเอง ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT และตู้ ATM กรุงไทยทั่วประเทศ ง่ายๆ ดังนี้

สมัครพร้อมเพย์ผ่าน Krungthai NEXT

-กดเมนูบริการ เลือก “พร้อมเพย์” เลือกหมายเลขที่ต้องการสมัคร (พร้อมเพย์รับเงินจากภาครัฐ ต้องผูกกับหมายเลขบัตรประชาชนเท่านั้น)

-ตรวจสอบ และยืนยันข้อมูล

สมัครพร้อมเพย์ ผ่านตู้ ATM สีเงิน

-สอดบัตร ATM / บัตรเดบิต เลือกบริการอื่นๆ และเลือกพร้อมเพย์

-เลือก “สมัครบริการพร้อมเพย์” และเลือกผูกด้วยเลขบัตรประชาชน

-กรอกเบอร์โทรศัพท์มือถือ และยืนยันข้อมูล

สมัครพร้อมเพย์ ผ่านตู้ ATM สีฟ้า

-สอดบัตรแล้วเลือก “บริการพร้อมเพย์” เลือก “สมัครบริการพร้อมเพย์”

-เลือกผูกด้วยเลขบัตรประชาชน กรอกเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อยืนยันการสมัคร

-เลือกประเภทบัญชีในบัตร และยืนยันข้อมูล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Krungthai Contact Center โทร 02-111-1111

Advertisement

“กอบศักดิ์” เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับขึ้นสู่เกณฑ์ “ร้อนแรง” ชี้ดิจิทัลวอลเล็ตกลุ่มเปราะบาง ช่วยหมุนเศรษฐกิจระยะสั้นได้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 10 กันยายน 2567 FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับขึ้นสู่เกณฑ์ “ร้อนแรง” นักลงทุนมองปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ปัจจัยฉุดคือความไม่แน่นอนทางการเมือง-การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ คาดวายุภักษ์-ThaiESG หนุนเม็ดเงินเข้าตลาดกว่า 2 แสนล้านบาท ชี้ดิจิทัลวอลเล็ตในกลุ่มเปราะบาง ช่วยหมุนเศรษฐกิจในระยะสั้นได้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ผลสำรวจในเดือนสิงหาคม 2567 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 132.51 ปรับเพิ่มขึ้นกลับมาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่หนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และสัญญาณบวกจากความชัดเจนของการเมืองในประเทศ ขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และสภาวะเงินเฟ้อ หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพาณิชย์ และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดยานยนต์

ผลสำรวจ ณ เดือนสิงหาคม 2567 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 73.6% มาอยู่ที่ระดับ 144.26 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 28.4% มาอยู่ที่ระดับ 144.44 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 32.0% มาอยู่ที่ระดับ 120.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่ม 275.0% อยู่ที่ระดับ 125.00

ขณะที่ช่วงครึ่งแรกของเดือนสิงหาคม 2567 SET Index มีความผันผวนและปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1,300 จุด จากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ แม้ว่าได้จะรับข่าวดีจากการประกาศ GDP ไทยในไตรมาส 2/2567 เติบโตสูงกว่าคาด โดยขยายตัวที่ 2.3% ได้แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออก

อย่างไรก็ตาม SET Index ในช่วงครึ่งเดือนหลังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 และออกแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐในการแจกเงินสด 10,000 บาท แก่กลุ่มเปราะบางในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รวมถึงท่าทีของ FED ต่อการลดดอกเบี้ย โดย SET Index ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2567 ปิดที่ 1,359.07 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.9% จากเดือนก่อนหน้า ปริมาณซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ 44,404 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 6,133 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิกว่า 123,692 ล้านบาท

ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ นโยบายการเงินของ FED ที่คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า และสถานการณ์ความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ผลการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งคาดหวังว่าจะกระตุ้นการลงทุน ซึ่งรวมถึงผลการออกกองทุนวายุภักษ์ ที่จะมีเม็ดเงิน 1.5 แสนล้านบาท บวกกับ เม็ดเงินจากกองทุน ThaiESG อีก 6 หมื่นล้านบาท รวมประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นตลาดทุนไทย และสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือของไทยที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว

นายกอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสขยายตัว 3% +- แต่โจทย์สำคัญของรัฐบาลในขณะนี้คือความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ เมื่อเป็น รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากพรรคการเมืองเดิม ทำให้เกิดความต่อเนื่องของนโยบายที่สามารถเดินหน้าต่อได้ทันที ทั้งกองทุนวายุภักดิ์ และโครงการเติมเงินหนึ่งหมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

ส่วนปัญหนี้ NPL ที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์และที่อยู่อาศัย มองว่าเมื่อการเมืองชัดเจน ภาพรวมเริ่มคลี่คลายลง แต่เศรษฐกิจฐานรากยังมีปัญหา ซึ่งการเร่งดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตในกลุ่มเปราะบาง จะช่วยหมุนเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ ซึ่งควรมีมาตการที่ง่าย ตรง ไม่ซับซ้อน แต่ในระยะถัดไปรัฐบาลต้องกิโยตินกฎหมายฟื้นเศรษฐกิจโดยไม่ต้องใช้เงิน และมีมาตรการลงทุนขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ได้เตรียมไว้แล้ว โดยเฉพาะโครงสร้างทางเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในอนาคต ขณะเดียวกัน แบงก์พาณิชย์ ที่มีกำไรสูง จากความแข็งแกร่งของลูกค้ารายใหญ่ ควรทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล เพื่อนำกำไรมาช่วยเหลือกลุ่มลูกค้า SMEs และกลุ่มเปราะบาง เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินต่อไปข้างหน้า

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมองว่า ช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการปรับลดคือช่วงต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ และเศรษฐกิจโตต่ำที่สุดไปแล้ว แต่สาเหตุที่ กนง. ไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย อาจเป็นเพราะ กนง.มองว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว อัตราดอกเบี้ยในระดับ 2.50% ต่อปี จึงเหมาะสม ซึ่งส่วนตัวเห็นตรงกันว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.0-2.50% ต่อปีในขณะนี้ อยู่ในระดับที่เหมาะสมเช่นกัน เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจไทย มีเครื่องยนต์เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งการท่องเที่ยว การส่งออก ดั้งนั้นความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจมีไม่มากแล้ว

Advertisement

‘กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง’ เปิดจองซื้อ 16 – 20 ก.ย.นี้ จัดสรรแบบ Small Lot First ชูผลตอบแทนขั้นต่ำ 3.0% ขั้นสูงไม่เกิน 9.0% ต่อปี คงที่ 10 ปี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 10 กันยายน 2567 ‘กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง’ พร้อมเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. แก่ผู้ลงทุนทั่วไป มูลค่ารวม 1 แสน – 1.5 แสนล้านบาท ผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศ จองซื้อ 16 – 20 ก.ย.นี้ จัดสรรแบบ Small Lot First ชูผลตอบแทนขั้นต่ำ 3.0% และขั้นสูงไม่เกิน 9.0% ต่อปี คงที่ 10 ปี

“กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง” พร้อมเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. แก่ผู้ลงทุนทั่วไป มูลค่ารวม 1 แสน – 1.5 แสนล้านบาท ชูอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำ 3.0% ต่อปี และขั้นสูงไม่เกิน 9.0% ต่อปี คงที่ตลอด 10 ปี พร้อมเปิดให้ผู้ลงทุนทั่วไปที่เป็นผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศจองซื้อวันที่ 16 – 20ก.ย.นี้ ที่ราคาหน่วยละ 10 บาท เริ่มต้นที่ 1,000 หน่วย หรือเท่ากับ 10,000 บาท เสนอขายผ่านบริษัทจัดการ และธนาคาร 6 แห่ง ผู้ลงทุนรายย่อยได้รับการจัดสรรด้วยวิธีSmall Lot First เพื่อกระจายหน่วยลงทุนอย่างเท่าเทียมและคาดว่าจะนำหน่วยลงทุนประเภท ก. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในเดือนตุลาคมนี้

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง เปิดเผยว่า “กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง” จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยเป็นกองทุนรวมปิดมีขนาด 100,000 ล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการหลักทรัพย์ที่รัฐถือครองอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนในระยะยาวและมั่นคง โดยลงทุนในกิจการที่มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อประเทศในเชิงเศรษฐกิจ และต้องการการส่งเสริมจากภาครัฐ  ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ และเพิ่มทางเลือกในการออมและการลงทุนให้แก่ประชาชน จากนั้นในปี 2556 บริษัทจัดการได้รับซื้อคืนหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมด และได้แปรสภาพกองทุนเป็นกองทุนรวมเปิด คงเหลือเฉพาะผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ได้แก่ กระทรวงการคลังและนักลงทุนภาครัฐ ล่าสุด ณ วันที่ 6 กันยายน 2567 กองทุนฯ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม (NAV) 353,596 ล้านบาท และปัจจุบันพร้อมเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. แก่ผู้ลงทุนทั่วไป มูลค่ารวม 100,000 – 150,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ นับจากปี 2557 – 2566 กองทุนฯ ได้รับเงินปันผลจากหลักทรัพย์ที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอเฉลี่ยปีละ 12,278 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเงินปันผลรับต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเฉลี่ยร้อยละ 3.75 ซึ่งเพียงพอที่จะจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำต่อปีแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. นอกจากนี้ กองทุนฯ มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 กองทุนฯ มีกำไรสะสม ประมาณ 142,739 ล้านบาท

กองทุนฯ มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ รวมถึงการบริหารทั้งแบบเชิงรุก (Active Investment) และแบบเชิงรับ (Passive Investment) ส่วนใหญ่ลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และจะเน้นลงทุนในหุ้นบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีความมั่นคงในระยะยาว ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี อาทิ บริษัทที่อยู่ใน SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings ระดับ A ขึ้นไป หรือบริษัทนอก SET100 ที่ได้รับคะแนน SET ESG Ratings ที่สูงกว่า เป็นต้น นอกจากนี้ อาจพิจารณาลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่มีอัตราผลตอบแทนดีหรือมีแนวโน้มเติบโตสูง มีสภาพคล่องและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี

นายวราห์ สุจริตกุล ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง กล่าวว่า เงินที่ได้จากการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ส่วนใหญ่จะนำไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนของกองทุนฯ แต่ละปี จะจ่ายให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ในรูปแบบเงินปันผลตามผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนฯ ในอัตราไม่ต่ำกว่า 3% ต่อปี แต่ไม่เกินกว่า 9% ต่อปีโดยผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง คำนวณจากมูลค่าที่ตราไว้ (Par) ของหน่วยลงทุนประเภท ก. ที่ 10 บาทต่อหน่วย ซึ่งไม่ใช่การรับประกันหรือค้ำประกันผลตอบแทน แต่เป็นกลไกคุ้มครองผลตอบแทนของกองทุนฯ ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินปันผลก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จากนั้นผลตอบแทนส่วนที่เหลือจะเป็นของหน่วยลงทุนประเภท ข.

ทั้งนี้ ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. มีสิทธิได้รับคืนเงินลงทุนตามแนวทางการชำระคืนเงินลงทุนแบบ Waterfall ซึ่งผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับคืนเงินลงทุนก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่มูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นที่ 10 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม กลไกดังกล่าวไม่ใช่การรับประกันหรือค้ำประกันว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. จะได้รับเงินลงทุนเท่ากับมูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้น โดยในกรณีที่ NAV รวมของกองทุนฯ ณ วันครบกำหนดระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น (10 ปี) ต่ำกว่ามูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ก. ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. อาจได้รับคืนเงินลงทุนน้อยกว่ามูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้นได้

ทั้งนี้ เมื่อครบระยะเวลาการลงทุนเบื้องต้น 10 ปี หากกองทุนฯ จะระดมทุนต่อ จะให้สิทธิผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก.ขยายระยะเวลาการลงทุน หรือขายคืนหน่วยลงทุน (redeem) ตามแนวทางที่กำหนด อย่างไรก็ตาม หากกองทุนฯ ไม่ประสงค์จะระดมทุนต่อ บริษัทจัดการจะรับซื้อคืนหรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนประเภท ก. ทั้งหมดโดยอัตโนมัติ

ทั้งนี้ กองทุนฯ มีกลไกการบริหารความเสี่ยง จากการกำหนดอัตราส่วนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของทั้งกองทุนฯ ต่อเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. (Asset Coverage Ratio “ACR”) โดยจากข้อมูล NAV รวมของกองทุนฯ ณ วันที่ 6 กันยายน 2567 และในกรณีที่เสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. เป็นมูลค่ารวม 150,000 ล้านบาท ACR จะอยู่ที่ประมาณ 3.36 เท่า ซึ่งกรณีที่ ACR ลดลงต่ำกว่า 2 เท่า ติดต่อกัน 5 วันทำการ บริษัทจัดการจะเพิ่มสัดส่วนของสินทรัพย์สภาพคล่อง หรือกันส่วนสำรองเพื่อการจ่ายเงินปันผลให้เพียงพอต่อการจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี และกรณี ACR ลดลงต่ำกว่า 1.5 เท่า ติดต่อกัน 5 วันทำการบริษัทจัดการอาจพิจารณาเปลี่ยนสินทรัพย์ลงทุนให้เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง จำนวนไม่น้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ก. ภายในระยะเวลา 90 วัน และเก็บไว้เป็นเงินสำรองตามมาตรการชำระคืนเงินลงทุนของหน่วยลงทุนประเภท ก. โดยจะทยอยเปลี่ยนสินทรัพย์เพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. หรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติจากผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก.ทั้งหมดหรือบางส่วน

ดังนั้น จึงเสมือนว่าผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้รับความคุ้มครองจากกลไกการบริหารความเสี่ยงก่อนผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. และเพื่อตอบแทนการให้ความคุ้มครองตามกลไกบริหารความเสี่ยงดังกล่าว ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภท ข. จะได้รับเงินปันผล หรือมีสิทธิขายคืนหน่วยลงทุนตลอดอายุโครงการ จาก NAV ข. ส่วนที่เกินจากNAV เริ่มต้นของหน่วยลงทุนประเภท ข. ที่ 300,000 ล้านบาท

นายธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง กล่าวว่า กองทุนฯ จะเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. แก่ผู้ลงทุนทั่วไป ที่ราคาเสนอขาย 10 บาทต่อหน่วย รวมมูลค่าประมาณ 1 แสน – 1.5 แสนล้านบาท โดยแบ่งผู้ลงทุนเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศ จะต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยที่มีถิ่นที่อยู่ในไทยและมีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือกองทุนส่วนบุคคลของผู้ลงทุนรายย่อยดังกล่าว เบื้องต้นได้กำหนดสัดส่วนการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. แก่ผู้ลงทุนกลุ่มนี้ 3 – 5 หมื่นล้านบาท และ กลุ่มที่ 2 ผู้ลงทุนสถาบันและนิติบุคคลเฉพาะกลุ่ม อีกประมาณ 1 แสน – 1.2 แสนล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทจัดการและผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนมีสิทธิเปลี่ยนแปลงจำนวนหน่วยลงทุนที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนแต่ละประเภท และอาจพิจารณาเพิ่มหรือลดสัดส่วนการเสนอขายหน่วยลงทุนแก่ผู้ลงทุนแต่ละประเภท (Claw back / Claw forward) หรือเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดสรรหน่วยลงทุนตามความเหมาะสม

ปัจจุบันกองทุนฯ ได้รับอนุมัติการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจากผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นที่เรียบร้อย และได้ยื่นหนังสือชี้ชวนฉบับปรับปรุงเพื่อเสนอขายหน่วยลงทุนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และเผยแพร่หนังสือชี้ชวนแก่ผู้ลงทุนทั่วไปแล้วพร้อมเปิดให้ผู้ลงทุนทั่วไปที่เป็นผู้ลงทุนรายย่อยจองซื้อวันที่ 16 – 20 กันยายน 2567จองซื้อขั้นต่ำ 1,000 หน่วย หรือ 10,000 บาท และเพิ่มขึ้นครั้งละ 100 หน่วย หรือ 1,000 บาท ณ สำนักงาน สาขาและ/หรือ ช่องทางออนไลน์ (เฉพาะรายที่เปิดจองซื้อทางออนไลน์) ของบริษัทจัดการและผู้สนับสนุนการขายหน่วยลงทุน รวม 8 ราย ได้แก่ 1) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 2) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 3) ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) 4) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 5) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 6) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 7) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และ8) ธนาคารออมสิน โดยจะจัดสรรด้วยวิธี Small Lot First ซึ่งผู้จองซื้อทุกรายจะมีโอกาสในการได้รับจัดสรรหน่วยลงทุนเท่ากัน

ในการจองซื้อ ผู้จองซื้อจะต้องชำระค่าหน่วยลงทุนครั้งเดียวเต็มตามจำนวนที่จองซื้อ ที่ราคา 10 บาทต่อ 1 หน่วย โดยผู้จองซื้อที่ได้รับจัดสรรหน่วยลงทุน ไม่ครบตามจำนวนที่จองซื้อ จะได้รับเงินคืนภายใน 7 วันทำการหลังสิ้นสุดการจองซื้อของผู้ลงทุนทุกประเภท สามารถติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนและใบจองซื้อได้ที่บริษัทจัดการและผู้สนับสนุนการขายหน่วยลงทุนทุกราย โดยหน่วยลงทุนที่ได้รับการจัดสรรจะเป็นรูปแบบไร้ใบหน่วย (Scripless) ซึ่งสามารถเลือกรับหน่วยลงทุนเข้าบัญชีหลักทรัพย์ของตนเอง หรือฝากหน่วยลงทุนไว้กับนายทะเบียนในบัญชีผู้ออกหลักทรัพย์ (บัญชี600) ก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากฝากหน่วยลงทุนเข้าบัญชี 600 จะไม่สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทันวันแรกที่หน่วยลงทุนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ และหากผู้ลงทุนที่ฝากหน่วยลงทุนเข้าบัญชี 600 ต้องการซื้อหรือขายหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ลงทุนจำเป็นต้องเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ก่อน และทำการโอนหน่วยลงทุนจากบัญชี 600 (ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนด) เข้าบัญชีหลักทรัพย์ของตน เพื่อทำการซื้อหรือขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป นอกจากนี้ ผู้จองซื้อสามารถแจ้งขอออกใบหน่วยลงทุนได้ ภายหลังหน่วยลงทุนเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ และได้ฝากหน่วยลงทุนตามจำนวนที่ได้รับจัดสรรเข้าบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเอง หรือบัญชี 600 แล้ว โดยจะเสียค่าธรรมเนียมตามที่บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TSD กำหนด

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่หน่วยลงทุนประเภท ก. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว ผู้ลงทุน ผู้สนใจลงทุน และผู้ถือหน่วยลงทุน สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทุกวันทำการของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสามารถโอนหน่วยลงทุนประเภท ก. ได้อย่างเสรี โดยราคาหน่วยลงทุนประเภท ก. ในตลาดรองจะเป็นไปตามกลไกของราคาตลาด ซึ่งอาจแตกต่างจากมูลค่าที่ตราไว้ ราคาเสนอขาย หรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของหน่วยลงทุนประเภท ก.

“เชื่อว่าการเสนอขายหน่วยลงทุนประเภท ก. ของกองทุนฯจะได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนทั่วไป ที่ต้องการได้รับผลตอบแทนมั่นคงในระยะยาว ในรูปแบบเงินปันผลตามเงื่อนไขที่กำหนดจากหลักทรัพย์ที่เข้าลงทุน” นายธนโชติกล่าว

คำเตือน: การลงทุนในกองทุนฯ มีความเสี่ยง และผู้จองซื้อควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนอย่างรอบคอบ และทำความเข้าใจลักษณะของสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน กองทุนฯ มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจบริษัทจัดการ ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ กองทุนฯ นี้ ไม่ใช่กองทุนรวมมีประกันเงินลงทุนและผลตอบแทน กองทุนฯ ไม่มีนโยบายนำเสนอการลงทุนผ่านการส่งลิงก์ส่วนตัวใดๆ กรุณาติดตามช่องทางการจองซื้ออย่างเป็นทางการจากกองทุนฯ เท่านั้น

Advertisement

“พีระพันธ์ุ” โพสต์ กม.คุมราคาน้ำมันฉบับใหม่ ให้ผู้ค้าปรับราคาได้เดือนละครั้ง กันขึ้น-ลงตามใจชอบ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 10 กันยายน 2567 “พีระพันธ์ุ” โพสต์ กม.คุมราคาน้ำมันฉบับใหม่ ให้ผู้ค้าปรับราคาได้เดือนละครั้ง กันขึ้น-ลงตามใจชอบ

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว เผยความคืบหน้ากฎหมายด้านพลังงานฉบับใหม่ ให้ผู้ค้าปรับราคาได้เดือนละครั้ง กันขึ้น-ลงตามใจชอบ โดยระบุว่า สวัสดีครับ ผมขออนุญาตเรียนถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับกฎหมายด้านพลังงานฉบับใหม่ให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ ล่าสุดวันนี้ ผมได้เรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและด้านพลังงาน เพื่อตรวจทานรายละเอียดของกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันที่ผมได้ยกร่างขึ้นมาในเบื้องต้นทั้งหมด 180 มาตรา โดยกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดให้การปรับราคาน้ำมันทำได้เดือนละหนึ่งครั้ง ไม่ใช่ปรับทุกวัน และให้ปรับราคาได้ตามความเป็นจริงของต้นทุนน้ำมัน โดยจะนำระบบ Cost Plus ซึ่งหมายถึงระบบที่คิดราคาตามต้นทุนที่แท้จริง เข้าใช้แทนระบบอ้างอิงราคาน้ำมันต่างประเทศ และจะกำกับดูแลไปถึงเรื่องของการจำหน่ายก๊าซหุงต้มด้วย

ในกฎหมายฉบับนี้ยังจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ให้บริการสาธารณะกุศล รวมไปถึงสหกรณ์การเกษตร การประมง สามารถจัดหาน้ำมันมาใช้ได้เอง เพราะถือเป็นการค้าเสรีอย่างแท้จริง ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีในการหาพลังงานของตัวเอง ถ้าหากผู้ประกอบการสามารถจัดหาน้ำมันมาใช้เองได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาจำหน่ายหน้าปั๊ม ก็สามารถดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย และเมื่อภาระต้นทุนน้ำมันของผู้ประกอบการลดลงแล้ว ก็จะอ้างต้นทุนค่าขนส่งแพงไม่ได้ และจะนำไปสู่การปรับลดราคาสินค้าตามมาด้วย ซึ่งจะเป็นการลดภาระของประชาชนในอีกทางหนึ่ง

ผมใช้เวลาร่างกฎหมายฉบับนี้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 หลังจากที่ได้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับต้นทุนราคาน้ำมันที่กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี และคาดว่าการตรวจสอบร่างกฎหมายนี้จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้ภายในปีนี้ พร้อม ๆ กับกฎหมายกํากับดูแลการติดตั้งระบบไฟฟ้าโซลาร์บนหลังคาบ้าน และขอให้เชื่อมั่นว่า ผมจะเร่งผลักดันกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ รวมทั้งกฎหมายด้านพลังงานอื่น ๆ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุดเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และเพื่อให้การ “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ระบบพลังงานไทย เพื่อความมั่นคง เป็นธรรม และยั่งยืน เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมครับ

Advertisement

Verified by ExactMetrics