วันที่ 20 เมษายน 2025

ธ.ก.ส. ปลื้ม! เกษตรกรให้ความสนใจโครงการชำระดีมีคืน จนวงเงินใกล้เต็มแล้ว

People Unity News : ธ.ก.ส. ปลื้ม! เกษตรกรให้ความสนใจโครงการชำระดีมีคืนจนวงเงินเกือบเต็ม แนะเร่งชำระภายใน 17 ก.พ.นี้

ธ.ก.ส. ปลื้ม! เกษตรกรให้ความสนใจชำระหนี้ตามโครงการชำระดีมีคืนแล้วกว่า 1.39 ล้านราย จนวงเงิน 3,000 ล้านบาทที่เตรียมไว้ใกล้ครบจำนวน แนะให้ผู้ที่มีสถานะหนี้ปกติเร่งชำระหนี้ภายใน 17 ก.พ.นี้ เพื่อรับดอกเบี้ยคืนก่อนยุติโครงการวันที่ 18 ก.พ.64 ด้านลูกค้าที่มีสถานะหนี้ NPL หรือมีดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 15 เดือน ยังคงสามารถชำระหนี้ตามโครงการลดภาระหนี้ได้จนถึง 31 มี.ค.64

นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ รักษาการแทนผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธ.ก.ส. ได้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกรในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านโครงการชำระดีมีคืน วงเงินรวมไม่เกิน 3,000 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้เป็นหนี้ปกติ เพื่อลดภาระหนี้ และโครงการลดภาระหนี้ สำหรับลูกค้าที่มีสถานะหนี้เป็นหนี้ค้างชำระหรือสถานะหนี้ปกติที่มีดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 15 เดือน เพื่อเป็นการขอบคุณลูกค้าที่มีประวัติการชำระหนี้ดี รวมถึงช่วยลดความกังวล และสามารถมีเงินกลับคืนเข้าสู่กระเป๋าเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น โดยเมื่อชำระหนี้จะได้รับคืนดอกเบี้ยตามประเภทของลูกค้า ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมานั้น

เนื่องจากขณะนี้มีเกษตรกรลูกค้า ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกร ให้ความสนใจชำระหนี้ตามโครงการชำระดีมีคืน ถึง ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วกว่า 1.39 ล้านราย ดอกเบี้ยรวมจำนวน 14,348 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. ได้คืนดอกเบี้ยให้ลูกค้าแล้วกว่า 2,363 ล้านบาท ทำให้วงเงินใกล้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ 3,000 ล้านบาท ธ.ก.ส. จึงแนะนำให้ลูกค้าสถานะปกติเร่งชำระหนี้ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ตามโครงการภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 โดย ธ.ก.ส. จะปิดโครงการชำระดีมีคืนในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564

อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกค้าที่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการลดภาระหนี้ โดยมีสถานะหนี้ NPL หรือมีดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 15 เดือน ซึ่งมีหนี้คงเหลือ ณ วันที่  31 ตุลาคม 2563 ยังคงสามารถตรวจสอบสิทธิ์และชำระหนี้ตามโครงการ ได้จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 โดย ธ.ก.ส. จะนำดอกเบี้ยที่คืนให้มาลดภาระหนี้ด้วยการตัดชำระต้นเงิน และหลังจากตัดชำระหนี้แล้ว มีเงินคงเหลือจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรในวันถัดไป ซึ่งในกรณีลูกค้าเกษตรกรและบุคคลจะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง และกรณีกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่จำกัดวงเงินที่จะคืน ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555 LINE Official BAAC Family และ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ

Advertising

“ประยุทธ์” ชูเศรษฐกิจ BCG โมเดล เน้น “ไทยลงทุนไทย” ลดความเหลื่อมล้ำ

People Unity News : นายกรัฐมนตรีย้ำเศรษฐกิจ BCG โมเดล เน้น ไทยลงทุนไทยลดความเหลื่อมล้ำ พาไทยหลุดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

วันนี้ (9 ก.พ. 64) เวลา 08.30 น. ณ บริเวณตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เยี่ยมชมนิทรรศการ “ผลงาน BCG : พลังเศรษฐกิจใหม่ พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย “ผลิตภัณฑ์น้ำตาลไอโซโมทูโลส นวัตกรรมช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้สมดุล” “ผลิตภัณฑ์ไบโอเมทานอลจากวัตถุดิบเหลือทิ้ง” และ“ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากสารสกัดตรีผลา” โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมในครั้งนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมช่วยกันขับเคลื่อน BCG Model ทำให้เกิดการพัฒนาวิจัยผลงานต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขยับสถานะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ที่สำคัญคือ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ กระจายรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก  อาทิ การส่งเสริมเกษตรกรด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ มาทำให้เกิดคุณค่าแทนการเผาทิ้ง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และการปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งเป็นวิกฤตระดับโลกอีกด้วย  ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังเสนอให้ดึงทรัพยากรทางชีวภาพที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ทั้ง 6 ภาค มาใช้ประโยชน์เพื่อให้ประชาชนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์จาก BCG Model ให้มากที่สุด ทั้งนี้ ต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล ส่วนราชการและภาคเอกชนด้วย นายกรัฐมนตรียังย้ำในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเดินหน้าปรับหลักเกณฑ์การลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งเสริม “ไทยลงทุนไทย” พร้อมทั้งปรับแก้กฎหมายต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงโอกาสมากยิ่งขึ้น หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลงไทยจะเป็นประเทศที่ “ล้มแล้วลุกไว”

นายกรัฐมนตรียังกล่าวเชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันใช้ผลิตภัณฑ์จาก BCG Model อาทิ น้ำตาลพาลาทีนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรในรูปแบบยาสีฟันและแชมพูสระผม พร้อมยินดีร่วมประชาสัมพันธ์ด้วยนำมาใช้เองด้วย

Advertising

คลังรายงานการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนธันวาคม 63

People Unity News : คลังรายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบประจำเดือนธันวาคม 2563

นายพรชัย  ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 ภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) มีผู้ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 917 ราย ใน 74 จังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (543 ราย) รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง (147 ราย) ภาคเหนือ (115 ราย) ภาคตะวันออก (64 ราย) และภาคใต้ (48 ราย) ตามลำดับ ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 387,706 บัญชี รวมเป็นวงเงิน 9,538.59 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 24,602.64 บาทต่อบัญชี ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

(1) สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์  ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิทั้งสิ้น 870 ราย ใน 74 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 807 ราย ใน 74 จังหวัด (เพิ่มขึ้น 1 จังหวัด คือ จังหวัดปัตตานี) โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (71 ราย) กรุงเทพมหานคร (61 ราย) และขอนแก่น (49 ราย)

(2) สินเชื่อประเภทพิโกพลัส  ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิทั้งสิ้น 136 ราย ใน 45 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 110 ราย ใน 36 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เปิดดำเนินการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (18 ราย) อุดรธานี (8 ราย) อุบลราชธานี (7 ราย) และกรุงเทพมหานคร (7 ราย)

(3) ภาพรวมสถานะสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 มียอดสินเชื่อคงค้างจำนวนทั้งสิ้น 172,974 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 3,878.96 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1 – 3 เดือน สะสมรวมทั้งสิ้น 24,745 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 576.94 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.87 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 28,092 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 645.94 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.65 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังคงดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ซึ่งนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนสะสม 8,289 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2563 จำนวน 542 ราย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ที่เปิดดำเนินการได้ทางเว็บไซต์ www.1359.go.th และสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบที่ผิดกฎหมายได้โดยตรงที่

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599

ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร. 0 2255 1898

ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์การกู้ยืมเงินโดยสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1155

ศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567

ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359

ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) โทร. 0 2575 3344

สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน โทร. สายด่วน 1359

Advertising

ธนาคารออมสินแจ้งสินเชื่อเสริมพลังฐานรากวงเงิน 10,000 ล้านบาท มีผู้ขอกู้เต็มวงเงินแล้ว

People Unity News : ธนาคารออมสินแจ้ง สินเชื่อเสริมพลังฐานรากวงเงิน 10,000 ล้านบาท มีผู้ยื่นขอกู้เต็มวงเงินแล้ว

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนที่เดือดร้อน จากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยได้มอบหมายธนาคารออมสินให้การช่วยเหลือประชาชน ผ่านการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำด้วยเงื่อนไขผ่อนปรน ตามโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนยื่นขอสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน MyMo ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันวงเงินสินเชื่อเสริมพลังฯ ได้มีประชาชนยื่นขอกู้และได้รับอนุมัติเงินกู้จนเต็มวงเงิน และธนาคารได้ปิดระบบลงทะเบียนขอสินเชื่อผ่าน MyMo แล้ว

“นับตั้งแต่เริ่มเปิดให้ประชาชนยื่นขอสินเชื่อตามมาตรการเยียวยาจากการระบาดระลอกใหม่ เมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีผู้กู้ไปแล้วกว่า 4.4 แสนราย จำนวนเงินให้กู้กว่า 11,500 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นลูกค้าสินเชื่อเสริมพลังฐานรากกว่า 3 แสนราย (ให้กู้สูงสุดรายละ 50,000 บาท) และเป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย หรือสินเชื่อฉุกเฉิน จำนวน 1.4 แสนราย (ให้กู้รายละ 10,000 บาท) ซึ่งมาตรการสินเชื่อผ่อนปรนเงื่อนไขครั้งนี้ ธนาคารพิจารณาจากประวัติเครดิตผู้กู้เป็นหลัก โดยได้รับความคุ้มครองการชดเชยความเสียหายบางส่วนจากรัฐบาล อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกของการนำร่องเปิดให้บริการอนุมัติสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน MyMo เพื่อให้สามารถพิจารณาสินเชื่อได้เร็วโดยที่ลูกค้าไม่ต้องไปติดต่อที่สาขา สอดคล้องตามมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19” นายวิทัยกล่าว

ธนาคารฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่า มาตรการสินเชื่อของธนาคารในครั้งนี้ จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนลงได้บ้างไม่มากก็น้อย และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ ธนาคารออมสินขอขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่ยื่นกู้สินเชื่อ และขออภัยผู้กู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณาประวัติเครดิตที่ไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อมา ณ โอกาสนี้

Advertising

“ประยุทธ์” สั่งจัดทำมาตรการเพิ่มเติมหรือยืดมาตรการเดิมเยียวยาเศรษฐกิจจากพิษโควิด 19

People Unity News : นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาจัดทำมาตรการเพิ่มเติม หรือยืดระยะเวลามาตรการเดิม พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอเพื่อช่วยเหลือประชาชนกว่า 40 ล้านคนในทุกพื้นที่

5 ม.ค. 2564 เวลา 12.00 น. ณ โถงตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมอบให้หมายให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาจัดทำมาตรการเพิ่มเติม หรือยืดระยะเวลามาตรการเดิม พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอเพื่อช่วยเหลือประชาชนกว่า 40 ล้านคนในทุกพื้นที่ ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้มีการขอความร่วมมือจากสมาคมโรงแรม ที่พักต่างๆ ในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ไม่ให้มีการเก็บเงินมัดจำเมื่อมีการยกเลิกการจองห้องพัก พร้อมย้ำว่า “โครงการคนละครึ่ง” ไม่ต้องเสียภาษี เพื่อเป็นการผ่อนภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน

นายกรัฐมนตรีย้ำว่ามาตรการต่างๆ คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ ทุกคนต้องร่วมมือกัน “รวมไทยสร้างชาติ ร่วมต้านโควิด-19” ให้ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 โดยทุกคนต้องระมัดระวังตัวเอง ซื่อสัตย์กับตัวเอง เข้าสู่การตรวจสอบคัดกรองโรค ไม่ปิดบังการเดินทางของตัวเองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในสถานที่อื่นเพิ่มเติม คำนึงถึงครอบครัวและสังคมส่วนรวม ที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่ และบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานอย่างหนัก และต้องรับฟังปฏิบัติตามมาตรการของรัฐด้วย

Advertising

“ประยุทธ์” ประชุมเคาะกรอบงบประมาณปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านๆบาท ดูแลกลุ่มเปราะบางต่อเนื่อง

People Unity News : ประยุทธ์ ประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ เคาะกรอบงบประมาณปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท เตรียมนำเสนอ ครม. 5 ม.ค.64 ย้ำพิจารณางบรายจ่ายประจำให้ลดลงเหมาะสม โดยคงการจัดสรรงบดูแลกลุ่มเปราะบาง

23 ธ.ค.63 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เมื่อเวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ร่วมกับ 4 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ภายหลังการประชุม นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ได้แถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

การประชุมร่วม 4 หน่วยงานในวันนี้เป็นไปตามกฎหมายวิธีการงบประมาณเพื่อกำหนดวงเงินงบประมาณในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้สำนักงบประมาณนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาวงเงินงบประมาณปี พ.ศ. 2565 ในวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท โดยเป็นวงเงินที่ลดลงจากงบประมาณปี พ.ศ. 2564 จำนวน 185,900 ล้านบาทเศษ หรือลดลงร้อยละ 5.66 เป็นไปตามประมาณการด้านรายได้ที่กระทรวงการคลังประมาณการไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท โดยจะเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 7 แสนล้านบาท ซึ่งมีสมมติฐานเศรษฐกิจและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ สศช. และ ธปท. ได้นำเสนอต่อที่ประชุม ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2565 ข้อมูลจาก สศช. ได้ประมาณการว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 3.5 โดยในปี 2564 ได้กำหนดไว้ที่ร้อยละ 4 ส่วนอัตราเงินเฟ้อปี 2564 และปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ขณะที่มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ปี 2565 อยู่ที่ 17.328 ล้านบาท  สำหรับงบลงทุนในปี 2565 จะลดลงจากปี 2564 ที่วงเงิน 649,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 19 ของวงเงินงบประมาณ โดยในปี 2565 ได้ตั้งงบลงทุนเบื้องต้นไว้ที่ 620,000 ล้านบาท คงไว้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่ร้อยละ 20 ซึ่งสำนักงบประมาณจะได้นำเสนอรายละเอียดอีกครั้งหลังจากนำผลการประชุมวันนี้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 5 มกราคม 2564

นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้สำนักงบประมาณไปพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำให้ลดลงอย่างเหมาะสม โดยให้คงไว้สำหรับการดูแลงานประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ บัตรสวัสดิการต่างๆ รวมถึงกลุ่มเปราะบางทั้งหมด คนพิการ คนชรา เด็กเล็ก ตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมกำชับให้จัดสรรงบประมาณสำหรับการเยียวยากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำในปี 2564 ได้ตั้งไว้ที่ 2.537 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 77 ของวงเงินงบประมาณ ส่วนในปี 2565 ตั้งไว้ที่ 2.354 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 75 ของวงเงินงบประมาณ ทั้งนี้ สำนักงบประมาณมีนโยบายในการที่จะลดงบประมาณรายจ่ายประจำมาโดยตลอด โดยจะขอให้ส่วนราชการทบทวน โดยสำนักงบประมาณจะพิจารณาผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ประสิทธิภาพในการใช้จ่าย และผลสัมฤทธิ์ของการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่าย ทั้งงบลงทุนและงบประจำ กรณีที่เป็นงบรายจ่ายประจำก็ต้องพิจารณาตามเกณฑ์  สำหรับงบรายจ่ายประจำในปี 2565 ในส่วนของค่าใช้จ่ายในรายการที่เกี่ยวกับด้านสังคมยังคงไว้ตามเดิม ไม่ได้ปรับลด

ทั้งนี้ วงเงินดังกล่าวเป็นวงเงินเบื้องต้นที่จะต้องพิจารณาความจำเป็นและคำขอของส่วนราชการต่างๆอีกครั้ง โดยจะมีการหารือกับส่วนราชการถึงความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประจำหรืองบลงทุน ว่าสามารถชะลอได้หรือไม่ สามารถใช้มาตรการอื่นจากเงินนอกงบประมาณ เงินกองทุนที่มีอยู่ เช่น กองทุน Thailand Future Fund เป็นต้น ได้หรือไม่ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน PPP ที่จะต้องออกเป็นมาตรการ โดยพยายามรักษาวงเงินงบลงทุนในระบบเศรษฐกิจโดยรวมทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ ให้สูงกว่าในปีที่ผ่านๆมา ต้องขอความร่วมมือให้ช่วยกัน ซึ่งเลขาธิการ สศช. ได้ขอให้รัฐวิสาหกิจมีการลงทุนเพิ่ม โดยกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณจะไปพิจารณาว่ามีโครงใดที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะทำร่วมกันได้บ้าง ในภาพรวมแล้ววงเงินงบประมาณปี 2565 และอื่นๆยังคงดีอยู่ เพียงพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ได้

สำหรับงบประมาณในส่วนที่เป็นสวัสดิการต่างๆ มีการตั้งงบประมาณไว้เพียงพออยู่แล้ว สำนักงบประมาณพยายามลดรายจ่ายประจำโดยต้องไม่กระทบต่อสังคม ยังมี พ.ร.ก.กู้เงินฯ ที่สามารถนำมาช่วยดูแลด้านของสังคม สำหรับรายจ่ายประจำที่สามารถชะลอ ลดลงได้ เช่น การเดินทางไปต่างประเทศ การประชุมสัมมนา New Normal ที่เป็นการประชุมทางไกล ที่ลดลงได้บางส่วน โดยส่วนที่จะลดลงได้คือ เงินที่จะสมทบรายการต่างๆ กองทุนที่ส่วนราชการเสนอขอ  ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่ากระทรวงการคลังจะขอคืนเงินกองทุนต่างๆที่ไม่ได้ใช้ มาเก็บชะลอไว้ก่อน  สำหรับงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการที่อาจจะลดลง แต่รายได้ต่อหัวสวัสดิการเด็กนักเรียนยังครบถ้วนอยู่ จำนวนเด็กนักเรียนลดลงร้อยละ 5 – 6 ต่อปีอยู่แล้ว ฉะนั้นวงเงินของกระทรวงฯอาจจะลดลง  ด้านงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขก็อาจจะลดลงเพราะมีส่วนหนึ่งที่ไปเป็นค่าจ้างพนักงานและลูกจ้าง ที่ปีที่ผ่านมาได้ปรับสถานะเป็นข้าราชการ 45,000 อัตรา ทำให้ยกสถานะจากเงินกองทุนเป็นงบบุคลากร เป็นต้น ตามที่มีข่าวว่าอาจจะลด แต่จริงๆแล้วไม่ได้ลด ยังคงเหมือนเดิม ค่ารักษาพยาบาลก็ไม่ได้ลดลง ยืนยันว่าไม่กระทบในส่วนนี้

Advertising

ธอส.ช่วยชาวใต้น้ำท่วมด้วย 7 มาตรการทั้งพักหนี้ ลดดอกเบี้ย ให้กู้ซ่อม/สร้าง จ่ายค่าสินไหมด่วน

People Unity News : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประกาศ 7 มาตรการช่วยเหลือชาวใต้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2563” ประกอบด้วย 1) ลดดอกเบี้ยเหลือ 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรก 2) ให้กู้เพิ่มหรือกู้ใหม่ดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี คงที่ 3 ปีแรก 3) ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน ดอกเบี้ย 0% ต่อปี 4 เดือน ไม่ต้องชำระเงินงวด 4) ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี ดอกเบี้ย 1% ต่อปี 5) เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรให้ผ่อนชำระดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี 6) ที่อยู่อาศัยเสียหายทั้งหลังซ่อมแซมไม่ได้ให้ปลอดหนี้ในส่วนของอาคาร และ 7) พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ จ่ายค่าสินไหมเร่งด่วน และกรณีกรมธรรม์เริ่มคุ้มครองตั้งแต่ 1 พ.ย. 2562 เพิ่มความคุ้มครองตามความเสียหายจริงแต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี ติดต่อขอใช้มาตรการถึง 30 ธันวาคม 2563

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ในบริเวณพื้นที่ภาคใต้ ได้เกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก หลังจากเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจนมีผลให้ที่อยู่อาศัยเกิดความเสียหายและประชาชนได้รับผลกระทบในด้านการประกอบอาชีพ ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” จึงพร้อมบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าประชาชนด้วย “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2563” (กรอบวงเงินรวมของโครงการ 100 ล้านบาท) โดยพิจารณาตามระดับความเสียหาย ซึ่งมีรายละเอียดประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน (ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระ เดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 3.65% ต่อปี เดือนที่ 17-24 อัตราดอกเบี้ย 4.15% ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 5.15% ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR -1.00% ต่อปี กรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR – 0.50% ต่อปี กรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.150% ต่อปี)

มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส. ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัย สามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิม หรือกู้ซ่อมแซมอาคาร ที่ได้รับความเสียหาย คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 3 ปี หลังจากนั้นกรณีลูกค้าสวัสดิการ คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี ส่วนลูกค้ารายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-0.50% ต่อปี

สำหรับลูกค้าผู้ที่ต้องการยื่นกู้ตามมาตรการที่ 2 ธนาคารกำหนดวงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อ 1 หลักประกัน และยังยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ค่าตรวจสอบหลักประกันค่าประเมินราคาหลักประกัน ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้

มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวด จากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือน และเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้

มาตรการที่ 5 ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือตามสัญญากู้

มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคาร และให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น

มาตรการที่ 7 พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติ รวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือ ลมพายุ พิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ โดยผู้เอาประกันยื่นเอกสารแจ้งความเสียหาย จ่ายตามความ เสียหายจริงตามภาพถ่าย รวมทุกภัยธรรมชาติไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี และสำหรับลูกค้าที่มีกรมธรรม์เริ่มความคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 เพิ่มความคุ้มครองภัยธรรมชาติตามความเสียหายจริงจากหลักฐานภาพถ่าย แต่ไม่เกินภัยละ 30,000 บาทต่อปี

ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการของ “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ ปี 2563” สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึงภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส. ทุกสาขาทั่วประเทศหรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์(Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์

Advertising

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะแจงมีหนี้สาธารณะ 7.8 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ 78 ล้านล้านบาท

People Unity News : หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 ที่ระดับ 78 ล้านล้านบาท ไม่เป็นความจริง

ตามที่ได้มีการแชร์รูปภาพและเนื้อข่าวว่า หนี้สาธารณะของประเทศไทย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 สูงถึง 78 ล้านล้านบาท นั้น นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอชี้แจงว่า เนื้อหาข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง  โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 หนี้สาธารณะมีจำนวนทั้งสิ้น 7.8 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เท่ากับร้อยละ 49.34 ประกอบด้วย หนี้รัฐบาล จำนวน 6.73 ล้านล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 795,980 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) จำนวน 309,472 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 7,821 ล้านบาท ทั้งนี้ หนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณโดยตรง จำนวน 6.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.40 ของ GDP สำหรับหนี้ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐ จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท ใช้แหล่งเงินอื่นมาชำระหนี้ จึงไม่เป็นภาระต่องบประมาณ

ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะขอให้ประชาชนมั่นใจว่า กระทรวงการคลังได้บริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างรอบคอบและระมัดระวัง ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด โดยประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ปี 2564 ยังคงอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลังซึ่งกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ทั้งนี้ การเจตนานำเข้า เผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลที่บิดเบือน ปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

Advertising

ธอส. รับรางวัล ITA Awards จาก ป.ป.ช. อันดับที่ 1 ประจำปี 2563 เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน

People Unity News : ธอส. รับรางวัล ITA Awards ในฐานะที่ได้รับคะแนนการประเมินสูงสุด อันดับที่ 1 ประจำปี 2563 เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นผู้แทนธนาคารรับรางวัลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (ITA Awards) ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับคะแนนสูงสุด เป็นอันดับ 1 ที่ 99.60 คะแนน อยู่ในระดับ AA จากจำนวนหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินทั้งสิ้น 8,303 หน่วยงาน และถือเป็นคะแนนประเมินสูงสุดอันดับ 1 เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมีจำนวนผู้มีส่วนร่วมประเมินหรือแสดงความคิดเห็นผ่านการประเมิน ITA จำนวน 1,301,665 คน โดยมีคณะผู้บริหารธนาคาร นำโดย คุณธิดาพร มีกิ่งทอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานสนับสนุน และรักษาการรองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มงานปฏิบัติการ และพนักงานธนาคาร เข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย

ซึ่งคะแนนที่ ธอส. ได้รับในครั้งนี้เป็นผลจากการดำเนินงานภายใต้หลักการ “ผลลัพธ์ที่ดีเกิดจากกระบวนการที่ดี” โดยใช้ 6 Key Success Factors มาใช้ในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง ประกอบไปด้วย 1.Leadership ผู้นำกำหนดนโยบายที่ชัดเจน บริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ และต่อต้านการทุจริต 2.Employee Awareness & Engagement สร้างการรับรู้ให้พนักงานเกิดความตระหนักถึงการปฏิบัติงานด้วยความรักและผูกพันต่อองค์กร 3.Digitized Communication สื่อสารแบบดิจิทัลที่รวดเร็ว 4.Paticipation ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านต่างๆของธนาคาร  5.Technology พนักงานทั้งองค์กรปรับตัวเองในการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงาน และ 6.Learning เรียนรู้จากผลการประเมินในปีที่ผ่านมา พร้อมนำหลักการ 3 Lines of Defense มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงาน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้

ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่ทำให้ ธอส. ยังคงรักษาอันดับ 1 เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน และมีผลคะแนน ITA สูงที่สุดตั้งแต่ได้เข้าร่วมการประเมิน ITA กับสำนักงาน ปปช. ตลอดมาอย่างต่อเนื่อง  ความสำเร็จที่ภาคภูมิใจในครั้งนี้เพราะเป็น “ธอส. หนึ่งเดียว หรือ GHB 1 Team เพื่อบรรลุพันธกิจทำให้ คนไทยมีบ้าน” ทั้งนี้ พิธีมอบรางวัลดังกล่าวจัดขึ้น ณ ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 3 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563

Advertising

แรงงานไทยเนื้อหอม ต่างชาติต้องการ ผลจากการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ดีของไทย

สุชาติ ชมกลิ่น

People Unity News : แรงงานไทยช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ ลดการว่างงาน หลังเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ สาเหตุจากการบริหารจัดการโควิด-19 ที่ดีของไทย

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงการประชุม ครม.ครั้งล่าสุด รมว.แรงงาน (นายสุชาติ ชมกลิ่น) ได้รายงานให้ที่ประชุมซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมเป็นประธาน ได้รับทราบถึงการจัดส่งแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดนและประเทศฟินแลนด์ ฤดูกาล 2020 ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2563 ว่ามีแรงงานไทยที่ได้รับการอนุญาตให้เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในทั้งสองประเทศจำนวนทั้งสิ้น 5,254 คนโดยแยกเป็นประเทศฟินแลนด์ 2,014 คน และประเทศสวีเดน จำนวน 3,210 คน ก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศโดยประมาณขั้นต่ำ 618,341,720 บาท แบ่งเป็นประเทศฟินแลนด์จำนวน 182,655,000 บาท และประเทศสวีเดน จำนวน 435,686,720 บาท โดยในการเดินทางไปในครั้งนี้ กรมการจัดหางานได้วางมาตรการเพื่อคุ้มครองแรงงานไทยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 โดยดำเนินการตามนโยบายของ ศบค. ทุกประการ ซึ่งแรงงานไทยทั้งหมดได้ผ่านการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ก่อนเดินทางไป และหลังจากเดินทางกลับ และจะต้องผ่านการกักตัวเป็นระยะเวลาจำนวน 14 วัน ซึ่งในฤดูกาลนี้แรงงานทั้งหมดได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1-22 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา และได้เข้ารับการกักกันตัวในสถานที่กักกันที่กระทรวงแรงงาน ,กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงกลาโหมได้ร่วมกันจัดขึ้น

สำหรับรายได้ของคนงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศฟินแลนด์และประเทศสวีเดน ฤดูกาลปี 2020 พบว่า แรงงานที่เดินทางไปประเทศสวีเดน จะมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 150,000 – 180,000 บาท โดยมีระยะเวลาเก็บผลไม้ประมาณ 2 เดือน ส่วนคนงานที่เดินทางไปเก็บผลไม้ที่ประเทศฟินแลนด์ มีระยะเวลาการเก็บผลไม้ประมาณ 55 วัน และมีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายประมาณคนละ 90,000 – 150,000 บาท นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการกักตัวของคนงานทั้งหมดที่กลับมานั้น ไม่ได้ใช้งบประมาณของประเทศแต่อย่างใด แต่ใช้เงินของบริษัทต่างประเทศนั้นๆที่พาคนงานไทยไปทำงาน ซึ่งคนงานเหล่านี้ บริษัทต่างประเทศได้ออกค่าใช้จ่ายในการกักตัวโดยมีแบงค์การันตี คนละ 32,000 บาทต่อคน แต่หากค่าใช้จ่ายจริงไม่ถึงจำนวนนี้ กระทรวงแรงงานก็จะคืนให้บริษัทที่ออกค่าใช้จ่ายให้คนงานไทยที่ไปเก็บผลไม้ป่าต่อไป

นายอนุชา กล่าวว่า “แรงงานไทยเป็นที่ต้องการของต่างประเทศเป็นจำนวนมากในขณะนี้ ซึ่งส่วนสำคัญมาจากการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดีของไทย ทำให้ประเทศที่ต้องการนำเข้าแรงงาน มีความมั่นใจแรงงานจากไทยเป็นลำดับต้นๆ ซึ่งเป็นโอกาสดีในการเพิ่มช่องทางให้แรงงานไทยได้มีตลาดทำงานในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้แรงงานไทยมีอาชีพ มีรายได้ ลดปัญหาการว่างงานภายในประเทศไทย อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และนำเงินกลับเข้าประเทศไทย ซึ่งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของแรงงานไทย สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้เป็นจำนวนมาก”

Advertising

Verified by ExactMetrics