วันที่ 24 พฤศจิกายน 2024

รัฐบาลแจ้งข่าวดี เปิดรับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานภาคประมงตามฤดูกาล

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 21 มิถุนายน 2567 “คารม” แจ้งข่าวดี เปิดรับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานภาคประมงตามฤดูกาล ตำแหน่งเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล รายได้ 5.7 หมื่นบาท สัญญา 5 เดือน ทำงานดีต่อสัญญา 3 เดือน สมัครด่วนภายใน 21 มิ.ย นี้ ที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th

วันนี้  21 มิถุนายน 2567  นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งข่าวดี โอกาสมาถึงแล้ว สำหรับแรงงานไทยที่ต้องการทำงานภาคประมงตามฤดูกาล ด้วยวีซ่า E – 8 ไม่ต้องทดสอบทักษะภาษาเกาหลี อำเภอวันโด จังหวัดชอลลานัม สาธารณรัฐเกาหลี  แจ้งความต้องการรับสมัครคนหางานไทยเพื่อไปทำงานภาคประมงตามฤดูกาลในอำเภอวันโด ตำแหน่งการเพาะเลี้ยงสาหร่ายทะเล จำนวน 37 อัตรา เงินเดือน 2,176,720 วอนต่อเดือน หรือประมาณ 57,900 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนเงินวันที่ 14 มิถุนายน 2567)  มีระยะเวลาการจ้างงาน 5 เดือน และสามารถขยายระยะเวลาเพิ่มได้อีก 3 เดือน ผู้สนใจสามารถสมัครทางเว็บไซต์ toea.doe.go.th โดยลงทะเบียนระบบอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรอกข้อมูลเพื่อลงทะเบียนคนหางาน และดำเนินการสมัครไปทำงาน โดยเลือกหัวข้อ “สมัครไปทำงานโดยรัฐ” และเลือกรายการ “การรับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานภาคประมงตามฤดูกาลในอำเภอวันโด จังหวัดชอลลานัม สาธารณรัฐเกาหลี” ภายในวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับคุณสมบัติคนหางานเพื่อไปทำงานภาคประมงตามฤดูกาลในอำเภอวันโด จังหวัดชอลลานัม สาธารณรัฐเกาหลี มีดังนี้

  1. อายุ 25 -50 ปีบริบูรณ์
  2. เป็นแรงงานประมงชาวไทยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสตูล หรือจังหวัดสงขลา หรือจังหวัดอื่น ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานด้านการประมงไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยจะพิจารณาคัดเลือกจากผู้สมัครที่อยู่ในจังหวัดสตูล หรือจังหวัดสงขลา ก่อนตามความต้องการของนายจ้างในสาธารณรัฐเกาหลี และจึงคัดเลือกจากผู้สมัครที่อาศัยในจังหวัดอื่นต่อไป
  3. ร่างกายสมบูรณ์ สุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นโรคที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน
  4. ไม่เป็นบุคคลที่เป็นโรคติดต่อ เช่น วัณโรค ซิฟิลิส และอื่นๆ และไม่เป็นผู้ติดยาเสพติด
  5. ไม่เป็นบุคคลที่มีประวัติอาชญากรรม มีประวัติพำนักผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลีหรือบุคคลที่ถูกห้ามไม่ให้เดินทางเข้าสาธารณรัฐเกาหลี

“การรับสมัครในครั้งนี้เป็นการดำเนินการเพื่อจัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศ โดยวิธีรัฐจัดส่ง ผู้สมัครไม่ต้องเสียค่าสอบภาษาเกาหลี ค่าใช้จ่ายในการสมัคร หรือค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้น ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ไปทำงานจ่ายเพียงค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ได้แก่ ค่าทำหนังสือเดินทาง (กรณียังไม่มี) ค่าตรวจสุขภาพและตรวจสารเสพติด ค่าตรวจประวัติอาชญากรรม ค่าโดยสารเครื่องบินไป-กลับ ค่าประกันการเดินทาง และค่าสมัครสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงาน รวมค่าใช้จ่ายประมาณ 35,000 บาท ทั้งนี้ หากมีผู้แอบอ้างว่าสามารถช่วยเหลือในการจัดหาและส่งแรงงานภาคเกษตรหรือประมงตามฤดูกาลไปทำงานในสาธารณรัฐเกาหลีใด้ โปรดอย่าหลงเชื่อ ขอให้แจ้งและตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางานก่อน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ทางโทรศัพท์หมายเลข 02 245 1034 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694” นายคารม กล่าว

Advertisment

สรรพากรยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 มิถุนายน 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 อนุมัติหลักการการปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่เดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างให้ได้รับการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ดร.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรตระหนักถึงภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อปรับปรุงการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับจากนายจ้างกรณีถูกเลิกจ้าง ให้สอดคล้องกันกับกฎหมายคุ้มครองแรงงานและสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.กำหนดให้ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 400 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 600,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพิ่มจากเดิมที่ค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างของงการทำงาน 300 วันสุดท้าย และไม่เกิน 300,000 บาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

2.ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อกฎกระทรวงฯ มีผลใช้บังคับแล้ว หากผู้มีเงินได้ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีสำหรับค่าชดเชยที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎกระทรวงฯ นี้ไปแล้ว สามารถยื่นปรับปรุงแบบแสดงรายการภาษีเพื่อขอคืนภาษีได้ภายใน 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีดังกล่าว”

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161

Advertisment

​รัฐบาลเพิ่มโอกาส ปชช.มีรายได้จากการประกอบอาชีพ เชิญชวนอบรมออนไลน์ เรียนจบนำวุฒิบัตรไปสมัครงานได้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 15 มิถุนายน 2567 ​รัฐบาลมุ่งมั่นส่งเสริม เพิ่มโอกาสให้ประชาชนมีรายได้จากการประกอบอาชีพ เชิญชวนอบรมออนไลน์ผ่าน www.dsd.go.th เรียนจบนำวุฒิบัตรไปใช้ประกอบการสมัครงานได้

วันที่ 15 มิถุนายน 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมุ่งมั่นส่งเสริม และเพิ่มโอกาสให้ประชาชนมีรายได้จากการประกอบอาชีพ รวมถึงพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะที่เหมาะสมกับการทำงานด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมอนาคต เพื่อเพิ่มรายได้มีการงานที่มั่นคงในอนาคต รัฐบาล โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการประกอบอาชีพ ได้พัฒนาหลักสูตรการฝึกและเพิ่มช่องทางการฝึกอบรม online ตามนโยบายของรัฐบาล เน้นให้สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา เปิดกว้างให้แรงงานทุกเพศทุกวัย ได้ความรู้มีทักษะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น

นายคารม กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ผ่านการฝึกผ่านระบบ online แล้ว จำนวน 62,765 คน และมีผู้เข้าชมหลักสูตรการฝึกอบรมถึง 2,546,380 คน ทั้งนี้ เพื่อตอบรับกระแสความต้องการของแรงงาน กรมพัฒนาฝีมืองแรงงานได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดทำหลักสูตรใหม่ ๆ ขึ้น โดยได้บรรจุไว้ในเว็บไซต์ของกรมฯ เพิ่มอีก 5 หลักสูตรเพื่อบริการประชาชน ได้แก่ (1) หลักสูตร Generative AI สำหรับหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (2) หลักสูตรเทคนิคการขยายธุรกิจและสร้างรายได้บน Meta แพลตฟอร์ม (3) หลักสูตร e- Commerce และพลเมืองดิจิทัล (4) หลักสูตรการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย Generative AI และ (5) หลักสูตร Basic Network     ซึ่งจะมีการพัฒนาและบรรจุหลักสูตรใหม่ที่สอดคล้องกับสถานการณ์และเทคโนโลยีปัจจุบัน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

“ปัจจุบันกำลังแรงงานและประชาชนทั่วไปต่างให้ความสำคัญกับทักษะดิจิทัลมากขึ้น เพื่อใช้ในการทำงานหรือดำเนินชีวิตประจำวัน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการพัฒนาทักษะดิจิทัล โดยจัดฝึกอบรมรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของกรม www.dsd.go.th เมนู DSD Online Training สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ฟรี ตามแนวคิด “เปิดกว้าง สร้างโอกาส ต่อยอดอย่างยั่งยืน” และเมื่อสอบผ่านจะได้รับวุฒิบัตร สามารถนำไปใช้ประกอบการสมัครงานได้ เชิญชวนผู้สนใจเข้ารับการพัฒนาทักษะดิจิทัล หรือหากเคยผ่านฝึกอบรมแล้วแต่ต้องการฝึกอบรมในหลักสูตรอื่นก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน เพียง Click www.dsd.go.th เมนู DSD Online Training หรือโทรสอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4” นายคารม กล่าว

Advertisement

รองโฆษก รบ.เผย บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซื้อตั๋วโดยสารของ บขส.เดินทางได้เดือนละ 750 บาท ณ ช่องขายตั๋วทั่วประเทศ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 15 มิถุนายน 2567 “เกณิกา“เผย กระทรวงคมนาคม แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน สามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซื้อตั๋วเดินทางได้เดือนละ 750 บาท ณ ช่องขายตั๋วทั่วประเทศ และลด 10% อีก 5 กลุ่ม

วันที่ 15 มิ.ย. 67 น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการใช้บริการรถโดยสารของ บขส. โดยประชาชนสามารถใช้สิทธิ์ซื้อตั๋วโดยสารของ บขส. ทัังนี้ ผู้โดยสารสามารถใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามโครงการของรัฐบาลที่ให้ประชาชนสามารถจ่ายค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ 750 บาทต่อคนต่อเดือน โดยสามารถนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อตั๋วโดยสารได้ที่ช่องจำหน่ายตั๋วของ บขส. ทั่วประเทศ

น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในการใช้สิทธิ์เดินทางกับรถโดยสาร บขส. ขอให้ยื่นบัตรแสดงตนในการซื้อตั๋วโดยสาร และต้องเป็นผู้เดินทางเองเท่านั้น  จากนั้นซื้อตั๋วรถโดยสาร บขส. ภายในวงเงิน 750 บาทต่อเดือน กรณีที่ค่าโดยสารเกินวงเงินที่ได้รับต้องจ่ายส่วนต่างเป็นเงินสดเท่านั้น โดยเดินทางไปกับรถโดยสาร บขส. ได้ทุกเส้นทาง ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับสิทธิ์ลดหย่อนอื่น ๆ ได้ตามเงื่อนไขที่ บขส. กำหนด ซึ่งสามารถซื้อตั๋วโดยสารได้ที่ช่องจำหน่ายตั๋วของ บขส.ทั้งนี้เมื่อซื้อตั๋วโดยสารแล้วไม่สามารถคืนตั๋วได้ทุกกรณี แต่สามารถเลื่อนการเดินทางได้ภายใต้เงื่อนไขที่ บขส.กำหนด

กระทรวงคมนาคมต้องการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเป็นการกระตุ้นรายได้จากการใช้บริการรถโดยสารประจำทาง และสร้างสัมพันธ์อันดีกับผู้ใช้บริการ บขส. จึงให้สิทธิ์ส่วนลดพิเศษ 10% (ไม่รวมค่าธรรมเนียม) ในการซื้อตั๋วโดยสาร สำหรับกลุ่มผู้โดยสารจาก 5 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นักเรียนหรือนักศึกษาจากสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) บุคลากรสังกัดบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) บุคลากรสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบุคลากรสังกัดกระทรวงคมนาคม

โดยเงื่อนไขการรับสิทธิ์ จะต้องแสดงบัตรประจำตัวสังกัดหน่วยงานของท่านควบคู่บัตรประชาชน โดยข้อมูลในบัตรต้องเป็นปัจจุบัน ณ วันที่ใช้สิทธิ์ ให้ ผู้ใช้สิทธิ์แจ้งความประสงค์ขอรับส่วนลดในโครงการ พร้อมรอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งสามารถใช้สิทธิ์ส่วนลดได้ ณ จุดบริการจำหน่ายตั๋วโดยสาร บขส. ทั่วประเทศ สามารถรับสิทธิ์ส่วนลดได้ตั้งแต่วันนี้ – 30 กันยายน 2567 ทุกเส้นทางภายในประเทศ และขอสงวนสิทธิ์การเปลี่ยนแปลงโปรโมชัน โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และเงื่อนไขเป็นไปตามที่ บขส. กำหนด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่งานการตลาดและลูกค้าสัมพันธ์ โทร. 0 2537  8737 หรือ Call Center โทร. 1490 เรียก บขส. ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisement

คนไทยใช้ระบบดิจิทัลทางการค้าระหว่างประเทศ อันดับ 32 ของโลก อันดับ 3 ของอาเซียน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 12 มิถุนายน 2567 นายกฯ ปลื้มคนไทยใช้ระบบดิจิทัลทางการค้าระหว่างประเทศ อันดับ 32 ของโลก เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน จากผลสำรวจของ Global Trade Modernization Index 2024 เชื่อเป็นโอกาสเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สะท้อนความก้าวหน้าจากความพยายามของรัฐบาลในการมุ่งผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มทางการค้าระหว่างประเทศ

วันที่ 12 มิถุนายน 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงผลสำรวจของ Global Trade Modernization Index 2024 (GTMI) ดัชนีประเมินความพร้อมทางเศรษฐกิจสำหรับการใช้ระบบดิจิทัลทางการค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศ (https://www.asiaglobalinstitute.hku.hk/global-trade-modernization-index) ประเทศไทยติดอันดับที่ 32 จากทั้งหมด 65 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจทั่วโลก และเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย สะท้อนความสำเร็จของการผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเพิ่มความทันสมัยให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยี ต่อยอดยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผลสำรวจดังกล่าว จัดทำโดย Asia Global Institute, ICC Digital Standards Initiative และ Milken Institute โดยได้รวบรวมข้อมูลของ 65 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจทั่วโลก พิจารณาจากดัชนีชี้วัดสู่ความพร้อมทางการค้าดิจิทัล (Digital Trade) ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมในระบบเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ และลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ 5 ประการ ได้แก่

  1. การลดการใช้กระดาษทางการค้า (Paperless Trade) 30%
  2. การเปิดกว้างทางการค้า (Trade Openness) 10%
  3. สภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบ (Regulatory Environment) 25%
  4. ความพร้อมของภาคธุรกิจ (Business Readiness) 25% และ
  5. ทุนมนุษย์ (Human Capital) 10%

โดยประเทศไทยติดอันดับที่ 32 ด้วยคะแนนรวม 66.4 คะแนน จำแนกเป็น การลดการใช้กระดาษทางการค้า 22.5% การเปิดกว้างทางการค้า 7.2% สภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบ 16.1% ความพร้อมของภาคธุรกิจ 14.5% และทุนมนุษย์ 6.1% ซึ่งเห็นได้ว่าแต่ละดัชนีชี้วัดของไทยล้วนได้รับการประเมินด้วยผลคะแนนที่เกินครึ่งตามเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้ ปัจจุบัน รัฐบาลเน้นย้ำถึงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล สอดรับกับวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Hub) พร้อมดำเนินการเพื่อพัฒนาให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างไร้รอยต่อ เช่น นโยบายรัฐบาลดิจิทัลและการใช้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ (Cloud First Policy) การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อพัฒนาการให้บริการประชาชน โครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ตลอดจน การเสริมสร้างทักษะ เพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ของประเทศด้านดิจิทัล (Human Capital)

“ผลสำรวจดังกล่าวถือเป็นความคืบหน้าในการพัฒนาประเทศที่เกิดจากวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี และการดำเนินนโยบายแบบมีแบบแผนเป็นขั้นเป็นตอน กระจายการทำงานแบบมีการบูรณาการ จึงทำให้เห็นแนวโน้มที่สะท้อนความคืบหน้าในการเร่งพัฒนาและผลักดันการใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยในด้านการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ดังที่นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเสมอว่า ประเทศไทยพร้อมแล้วสำหรับการลงทุน และรัฐบาลจะยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อสร้างเศรษฐกิจมูลค่าสูง (High Value Economy) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนทุกภาคส่วน” นายชัย กล่าว

Advertisment

ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือ SMEs ผ่าน บสย. วงเงินงบประมาณ 7,125 ล้านบาท

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 11 มิถุนายน 2567 ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือ SMEs ผ่านโครงการ PGS ระยะที่ 11 และอนุมัติงบประมาณวงเงินรวม 7,125 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนินโครงการ

วันนี้ (11 มิ.ย. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (11 มิถุนายน 2567) ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (โครงการ PGS) ระยะที่ 11 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และอนุมัติงบประมาณวงเงินรวม 7,125 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อดำเนินโครงการ PGS ระยะที่ 11 โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กำหนดโครงการย่อยภายใต้โครงการ PGS ระยะที่ 11 ที่เน้นให้ความสำคัญและความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่รัฐบาลสนับสนุน และผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินเป็นลำดับแรก พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ เห็นควรให้ บสย. ร่วมกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลผู้ประกอบการ SMEs ในมิติต่าง ๆ จากโครงการ PGS ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่ผ่านมา โดยนำมาปรับปรุงและเร่งพัฒนา Credit Scoring Model และ Risk-based Pricing Model อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. ให้มีการประเมินความเสี่ยงของลูกค้าอย่างแม่นยำถูกต้อง ช่วยให้การกำหนดค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขการค้ำประกันมีความสอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย และพัฒนาไปสู่การพิจารณาอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อเป็นรายลูกค้า (Individual Guarantee) ต่อไป นอกจากนี้ เนื่องจากโครงการ PGS ระยะที่ 11 เป็นการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ดังนั้น เห็นควรให้ บสย. พิจารณางดเก็บหรือเก็บค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการจ่ายค่าประกันชดเชย ค่าจัดการค้ำประกัน ค่าดำเนินการค้ำประกันสินเชื่อ เป็นต้น ด้วยความเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระทั้งทางตรงและทางอ้อมกับผู้ประกอบการ SMEs และสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินอย่างเพียงพอสำหรับการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล IGNITE THAILAND ตลอดจนการปรับตัวเพื่อรับมือให้ทันกับสถานการณ์หรือวิกฤตที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กค. จึงขอเสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการ PGS ระยะที่ 11 โดยมีสาระสำคัญของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสรุปได้ ดังนี้

วัตถุประสงค์

(1) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจและช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่สถาบันการเงินในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SME โดยให้ความช่วยเหลือครอบคลุม ทั้งผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย

(2) เป็นกลไกในการสนับสนุนศักยภาพด้านเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกตามที่รัฐบาลประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND 8 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพ อาหาร การบิน การขนส่งของภูมิภาค การผลิตยานยนต์แห่งอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน

(3) เป็นกลไกในการช่วยเหลือสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเปราะบาง และผู้ประกอบการ SMEs ที่ประกอบธุรกิจทางด้านสนับสนุนสังคมและสิ่งแวดล้อม

วงเงินค้ำประกันโครงการ – 50,000 ล้านบาท โดย บสย. สามารถกำหนดเงื่อนไขวงเงินค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs แต่ละกลุ่ม หรือแต่ละสถาบันการเงิน หรือโครงการย่อยแต่ละโครงการได้ตามความเหมาะสม

รูปแบบการค้ำประกัน – Portfolio Guarantee Scheme / Package Guarantee Scheme

ระยะเวลารับคำขอค้ำประกันสินเชื่อ – นับตั้งแต่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568

อายุการค้ำประกันสินเชื่อ – ไม่เกิน 10 ปี

วงเงินค้ำประกันต่อราย – ไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ทั้งนี้ อยู่ภายใต้ข้อกำหนดหลักเกณฑ์การค้ำประกันสินเชื่อต่อรายและต่อกลุ่มลูกค้า (Single Guarantee Limit : SGL) ของ บสย. และการยื่นขอให้ค้ำประกันขั้นต่ำครั้งละไม่น้อยกว่า 10,000 บาท

ค่าธรรมเนียมการค้ำประสินเชื่อ – รวมทั้งโครงการเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.758 ต่อปี และสามารถจัดสรรอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อที่รัฐบาลจ่ายแทนผู้ประกอบการ SMEs ในแต่ละโครงการย่อยได้ตามความเหมาะสม

กรอบวงเงินค่าประกันชดเชยตลอดโครงการฯ – รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 15,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

(1) บสย. ขอรับเงินงบประมาณชดเชยจากรัฐบาลสำหรับการชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และการชดเชยการจ่ายค่าประกันชดเชยจากรัฐบาลเป็นเงินรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 7,125 ล้านบาท (ร้อยละ 14.25 x 50,000 ล้านบาท)

(2) รายได้จากค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการ SMEs เฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปีของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อในแต่ละปีตามรายรับที่เกิดขึ้นจริง เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 7,875 ล้านบาท (ร้อยละ 15.75 x 50,000 ล้านบาท)

ผลเชิงเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับ

(1) มีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 76,900 ราย (เฉลี่ย 0.65 ล้านบาทต่อราย)

(2) ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท (1.2 เท่า)

Advertisment

“เศรษฐา” มอบนโยบายด้านการท่องเที่ยว 9 ข้อ มุ่งสู่การเป็น Tourism Hub

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 11 มิถุนายน 2567 นายกฯ มอบนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัด 55 จังหวัด (เมืองน่าเที่ยว) และผู้บริหาร ททท. ส่วนภูมิภาค จุดพลังการท่องเที่ยวไทยช่วงครึ่งหลังปี 2567 สู่การเป็น Tourism Hub

วันนี้ (11 มิถุนายน 2567) เวลา 15.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายเพิ่มศักยภาพจังหวัดท่องเที่ยว 55 จังหวัด (เมืองน่าเที่ยว) แก่ผู้ราชการจังหวัด 55 จังหวัด และผู้บริหารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยส่วนภูมิภาค เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังปี 2567 โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นจุดแข็งที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดนโยบาย IGNITE TOURISM THAILAND เพื่อมุ่งผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็น Tourism Hub ที่สำคัญของโลก โดยมีกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนนโยบายด้วยกลยุทธ์ “เมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว” เชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองใกล้เคียงกระจายนักท่องเที่ยวไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ พร้อมทั้งกระจายรายได้สู่เมืองน่าเที่ยว รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยวทั้ง 55 จังหวัด ซึ่งการส่งเสริมเมืองน่าเที่ยวจะต้องมีความพร้อมของปัจจัยขับเคลื่อนต่าง ๆ อาทิ สถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก การเดินทาง อัตลักษณ์ท้องถิ่น การส่งมอบประสบการณ์ร้านอาหารและกิจกรรมการท่องเที่ยวผ่าน 5 Must Do It in Thailand นำเสนอเสน่ห์ไทยด้วย Must Eat : อิ่มอร่อยกับอาหารถิ่น Must See : ละลานตาวัฒนธรรม Must Seek : unseen ถิ่นน่าเที่ยว Must Buy : หัตถกรรมล้ำค่าน่าซื้อฝาก Must Beat : สุดยอดกีฬาท้าทายกายใจ ซึ่งล้วนแสดงถึงเสน่ห์ความเป็นไทยที่มัดใจนักท่องเที่ยว พร้อมเชิญชวนกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเมืองน่าเที่ยวก่อให้เกิดการกระจายรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึง ซึ่งการส่งเสริมเมืองน่าเที่ยวดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกท่าน

นายกฯ มอบนโยบายดังนี้

1.การพัฒนาการเดินทาง ขอให้ทุกจังหวัดพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนระบบขนส่งและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง

2.ด้านการเชื่อมต่อต่าง ๆ เช่น Direct flight วันนี้เราต้องมีการจัดเตรียมความพร้อมมากยิ่งขึ้น ขอให้มีการทำ partnership กับภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น touragent บริษัท credit card สายการบิน เครือโรงแรมต่าง ๆ และร้านอาหาร ให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประสบการณ์การเดินทางอีกด้วย

3.การส่งเสริมและการประชาสัมพันธ์ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดทำแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยว และประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเมืองรองอย่างเข้มข้น แบ่งตามกลุ่มนักเดินทาง โดยการทำเป็น customer journey ให้ชัดว่าแต่ละกลุ่มจะทำการตลาดอย่างไร เช่น สายมู กลุ่ม lGBTQ กลุ่ม festival สายรถไฟหรือตามลักษณะของนักท่องเที่ยวแต่ละกลุ่ม ทั้งสำหรับกลุ่มในประเทศ ในระดับสากล ใช้สื่อสารสังคมออนไลน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

4.การสนับสนุนท้องถิ่น ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพัฒนานโยบายเพื่อสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น เช่น การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การสนับสนุนทางด้านการเงิน และการจัดฝึกอบรมเพื่อยกระดับคุณภาพการบริการ

5.การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ขอให้ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่รักษาสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการให้การมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว เช่น กลุ่มการท่องเที่ยวตลาดน้ำ หรือสวนสาธารณะ เป็นต้น

6.การพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ขอให้สำรวจ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพในจังหวัดของท่าน เพื่อการเพิ่มทางเลือกและความหลากหลายแก่นักท่องเที่ยว

7.การปรับปรุงรักษาระดับระบบรักษาความปลอดภัย  ขอให้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยว และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย และมั่นใจในการเดินทางมาเยือน

8.การผลักดันบางจังหวัดให้เป็นมรดกโลก ซึ่งสามารถนำไปสู่การยกระดับในบางจังหวัดของเรา ให้ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก เพื่อเป็นการผลักดันการท่องเที่ยว และสร้างชื่อเสียงในระดับสากล  ขอให้ทุกจังหวัดที่มีศักยภาพในการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจัดทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งวัฒนธรรมและธรรมชาติ สำรวจและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแหล่งวัฒนธรรมและธรรมชาติที่มีศักยภาพ เพื่อจัดทำเอกสารเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อไป

9. การปรับปรุงกระบวนการทำงาน ต้องมีการตั้ง KPI ที่ชัดเจน ขอให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐบาล ภาคประชาชน และภาคเอกชน เพื่อทำงานให้ได้ผลประโยชน์สูงสุด

“นายกฯ เชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกคน การส่งเสริมเมืองน่าเที่ยวของประเทศไทยจะเจริญเติบโตและมีความยั่งยืนในระยะยาว โดยนายกฯ ได้ขอบคุณทุกคนที่ทำงานอย่างหนัก และมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศไทย พร้อมอวยพรให้ทุกคนประสบความสำเร็จ และมีความสุขในการปฏิบัติหน้าที่” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

“เศรษฐา” เตรียมเปิดกิจกรรม “เปิดเมืองน่าเที่ยว” 5 Must Do in Thailand ที่เชียงใหม่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 7 มิถุนายน 2567 นายกฯลุยเชียงใหม่ เตรียมเปิดกิจกรรม “เปิดเมืองน่าเที่ยว” 5 Must Do in Thailand พร้อม Kick Off Road Trip เปิดเมืองน่าเที่ยว เส้นทางเชียงใหม่ – ลำพูน – ลำปาง

วันนี้  7 มิถุนายน 2567  นางรัดเกล้า อินทวงศ์  สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ระหว่างที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ปฎิบัติภารกิจที่ จ.เชียงใหม่ วันที่ 8 มิถุนายน 2567 เวลา 10.30 น.  นายกรัฐมนตรีจะเดินทาง ไปเปิดกิจกรรม “ททท. เปิดเมืองน่าเที่ยว 5 Must Do in Thailand ที่ตลาดจริงใจมาร์เก็ต อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายนนี้  โดย ททท. ภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย IGNITE TOURISM THAILAND ของรัฐบาล ในการที่จะมุ่งผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็น Tourism Hub ที่สำคัญของโลก โดยหนึ่งใน 5 กลยุทธ์ที่สำคัญในการจุดพลังการท่องเที่ยวไทย ได้แก่ เมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว โดยจะเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองรอง นำเสนอศักยภาพและความพร้อมของสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยวเพื่อเปลี่ยนเมืองรองสู่เมืองน่าเที่ยว พร้อมกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ด้วยแนวคิด 365 วัน มหัศจรรย์เมืองน่าเที่ยว สร้างกระแสการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ พร้อมทั้งกระจายรายได้สู่เมืองน่าเที่ยวและชุมชนท้องถิ่น

นางรัดเกล้า ระบุว่า กิจกรรม “เปิดเมืองน่าเที่ยว 5 Must Do in Thailand” ที่ตลาดจริงใจมาร์เก็ตผู้เข้าร่วมงานจะได้สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวใน 55 เมืองน่าเที่ยวของ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย ผ่านแนวคิด 5 Must Do in Thailand ประกอบด้วย

1.Must Eat: อิ่มอร่อย 5 ภูมิภาค และสาธิตการทำอาหารประจำถิ่น

2.Must See: ละลานตาวัฒนธรรม ด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย 5 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ-ฟ้อนขันดอก ฟ้อนแง้น ภาคใต้ – ระบำชนไก่ โนราห์ ภาคอีสาน – เซิ้งกะลากะโป๋ เซิ้งไข่มดแดง ภาคตะวันออก – Colorful บูรพา ภาคกลาง – ศิลปะการต่อสู้โบราณ และการแสดงดนตรีจากศิลปินที่มีชื่อเสียง ได้แก่ วันที่ 8 มิ.ย. เวลา 16.00 – 17.00 น. อ้อม รัตนัง โฟล์คซองล้านนา เวลา 19.00 – 20.00 น. ซาร่า ซาโลลา วันที่ 9 มิ.ย. เวลา 12.00 – 13.00 น. เดอะ เพอะ 14.00 – 15.00 น. เบล วริศรา17.00 – 18.00 น. ป๊อป ปองกูล

3.Must Seek: แสวงหา unseen ถิ่นน่าเที่ยวด้วยการตั้งบูธประชาสัมพันธ์เส้นทางการท่องเที่ยว ตลอดจนสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของเมืองน่าเที่ยวใน 5 ภูมิภาค ด้วยการให้ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวและโปรโมชั่นพิเศษต่างๆ

4.Must Buy: หัตถกรรมล้ำค่าน่าซื้อฝาก นำเสนอสินค้าและหัตถกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของ 5 ภูมิภาค

5.Must Beat: สุดยอดกีฬาท้าทายกายใจ อาทิ มวย วิ่ง จักรยาน แข่งเรือ นำเสนออีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงกีฬาในพื้นที้เมืองน่าเที่ยวทั่วประเทศ

ภายในบริเวณงานจะมีการออกแบบ Landmark จุดถ่ายรูปเช็คอินที่ประตูสู่เมืองน่าเที่ยวและประตูสิงห์ และตกแต่งด้วยอัตลักษณ์ประจำภูมิภาค อาทิ โคมผ้าปาเต๊ะ ธุงใยแมงมุม ปลาตะเพียนสาน การจัดเวทีการแสดงสาธิตมัดย้อมหม้อฮ่อมแพร่@บ้านมัดใจ จังหวัดแพร่ วันที่ 8 มิถุนายน เวลา 13.00 – 14.00 น. และสาธิตทำอาหารยำผักเชียงดา ครัวหลองข้าว วันที่ 9 มิถุนายน เวลา 13.00 – 14.00 น. และโซนจัดแสดง 5 Must Do in Thailand เรือกอแระ หุ่นกระติ๊บ มวยโบราณ พร้อมจัดเกมแยกแลกโชค ด้วยการนำขยะไปแยกเพื่อแลกรับรางวัล

“ภายหลังพิธีเปิดและการเยี่ยมชมงาน “เปิดเมืองน่าเที่ยว” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะ Kick Off Road Trip เปิดเมืองน่าเที่ยว เส้นทางเชียงใหม่ – ลำพูน – ลำปาง ระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายนนี้” นางรัดเกล้ากล่าว

Advertisment

Agoda ยาหอมไทยมีศักยภาพเป็น Silicon Valley of Asia พร้อมร่วมดันปีแห่งการท่องเที่ยวไทย 2568

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 6 มิถุนายน 2567 นายกฯ เยี่ยมชมสำนักงานบริษัท Agoda ชื่นชมไทยมีศักยภาพเป็น Silicon Valley of Asia พร้อมร่วมผลักดันไทยให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไทย

วันนี้ (6 มิถุนายน 2567) เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานบริษัท อโกด้า เซอร์วิสเซส จำกัด ชั้น 8 อาคาร The Offices at Central World นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษและเยี่ยมชมสำนักงานบริษัทอโกด้า โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้มีโอกาสเยี่ยมชมการทำงานของบริษัทอโกด้าในครั้งนี้ ซึ่งได้เห็นว่าบริษัทอโกด้า ได้พัฒนาไปสู่บริษัทตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์ชั้นนำทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และยังได้พบกับบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากทั่วทุกมุมโลกที่ปฏิบัติงานร่วมกันกับบุคลากรไทยที่กรุงเทพฯ โดยนายกรัฐมนตรีชัดเจนมาตลอดว่า “ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจ และไม่มีเวลาใดที่จะเหมาะต่อการลงทุนในไทยได้เท่าช่วงเวลานี้” โดยรัฐบาลพยายามดึงดูดการลงทุน อำนวยความสะดวกเพื่อทำให้การดำเนินธุรกิจง่ายขึ้น ใช้กระบวนการที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ และการให้บริการภาครัฐดิจิทัล และการจัดตั้งสำนักงานของบริษัทอโกด้าถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงขีดความสามารถที่มีของประเทศไทย

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำถึงปีหน้า 2568 ว่าจะเป็นปีที่สำคัญด้านการท่องเที่ยวของไทย โดยรัฐบาลพร้อมดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ทั้งการจัด Festivals Concerts Events โดยเริ่มจากเชียงใหม่ ไตรมาส 4 เชียงใหม่จะเริ่มมีกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกสัปดาห์ Michelin Food Festival ลอยกระทง Halloween การแข่งขันด้านกาแฟ นายกรัฐมนตรีจึงห่วงว่าจะมีเที่ยวบินพอหรือไม่ และกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาในส่วนของรายละเอียดเหล่านี้ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอรับฟัง และช่วยแก้ไขปัญหาที่มีของอโกด้าร่วมกัน เพราะเชื่อมั่นว่าหากไม่รับฟังก็จะไม่ได้แก้ไขจุดบกพร่อง โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าขอให้ช่วยกันทำงานสู้กับความท้าทาย ทำให้ปีหน้าเป็นปีแห่งการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไทย

ด้านคณะผู้บริหารอโกด้า กล่าวว่า ปัจจุบันอโกด้ามีบุคลากรจำนวนมากที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งล้วนรักในการทำงานในไทย โดยยืนยันว่า อโกด้าพร้อมเป็นพันธมิตรที่ดี พร้อมช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกับไทย ชื่นชมความสามารถของบุคลากรไทยจำนวนมากในด้านเทคโนโลยี รวมทั้งขอบคุณความร่วมมือจากหน่วยงานจากภาครัฐ ที่ร่วมกันทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเป็นผลดีกับการพัฒนาทักษะของบุคลากร โดยเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็น Silicon Valley of Asia ได้อย่างแน่นอน

Advertisment

สมาคมธนาคารไทยขานรับแจกเงินดิจิทัลวอลเลต เร่งพัฒนา Open Loop สำหรับจ่ายเงิน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 5 มิถุนายน 2567 สมาคมธนาคารไทย เร่งประสาน PSO-DGA เพื่อทำความเข้าใจ-ศึกษาแนวทางพัฒนาระบบชำระเงิน Open Loop สำหรับจ่ายเงิน 1 หมื่นบาท โครงการดิจิทัลวอลเลต

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ.กรุงไทย กล่าวถึงเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลจะแจกให้กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มแรก 14.98 ล้านคน ภายในไตรมาส 3 ของปี 2567 ว่าเป็นการดีที่จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะกลุ่มแรกตามข่าวคือกลุ่มเปราะบาง แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะผ่านกลไกใดบ้าง เช่น บางข่าวก็บอกว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบางข่าวบอกว่าผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งก็ต้องรอดูรายละเอียด อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะจ่ายเงินผ่านกลไกใดก็ตาม หากเงินถึงกลุ่มเป้าหมายผลที่ได้ก็น่าจะเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวัง

ส่วนความคืบหน้าการทํา Open Loop ที่กระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือธนาคารรัฐ-ธนาคารพาณิชย์ เชื่อมข้อมูล open loop รองรับใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทนั้น เมื่อสัปดาห์ที่แล้วสมาคมธนาคารไทย ได้มอบหมายให้สำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย (Payment System Office PSO) ร่วมกับประธานชมรมผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (Chief Information Officer :CIO) ของธนาคารพาณิชย์ ประสานกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ผู้พัฒนาระบบเพื่อทำความเข้าใจและดูความสามารถในการพัฒนาระบบที่เป็น Open loop ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพูดคุยประสานงานกัน ส่วนจะทันการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท รอบแรกในไตรมาส 3 ของปี 2567 หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ประเมิน แต่ทั้งนี้ก็ต้องเร่งดำเนินการเพราะทางรัฐบาลกำหนดไทม์ไลน์ชัดเจน

“เราก็พยายามเร่ง แต่ DGA เป็นผู้พัฒนาระบบ เราก็ต้องทำความเข้าใจสถาปัตยกรรมและวิธีการเชื่อมต่อ ซึ่งทุกธนาคารควรจะร่วมหมด แต่มันเป็นเรื่องเทคนิค เพราะฉะนั้นจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญทางชมรม CIO ดูแลไอทีและข้อมูลทั้งหมดของภาคอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ และด้าน PSO เพื่อประสานงานกับ DGA ซึ่งมีการประชุมร่วมกันบ่อย” นายผยง กล่าว

ส่วนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในช่วงนี้มีความเข้มงวดมากขึ้นตามสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น ดังจะเห็นจากตัวเลขสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และยอดผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น อัตราการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ ดังนั้นการปล่อยกู้ของธนาคารจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง ซึ่งการเร่งปรับโครงสร้างหนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มเปราะบางสามารถกลับมาเป็นลูกค้าปกติได้ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งกำลังดำเนินการเรื่องนี้เต็มที่อยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การอัดฉีดสภาพคล่องจะต้องทำในกลุ่มที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้ให้กู้และเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงให้เป็นไปตามมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ของธนาคารแห่งประเทศไทย

ขณะเดียวกันจะต้องเร่งส่งเสริมให้กลุ่มที่อยู่นอกระบบเข้ามาสู่ระบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ ไม่ว่าจะผ่านช่องทางการยื่นชำระภาษี หรือการใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาสินเชื่อ เช่น การจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ซึ่งธนาคารกรุงไทยมีแผนร่วมกับพันธมิตรในการยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank เช่นกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำโมเดล และคาดว่าจะสามารถยื่นได้ทันตามกำหนด 19 กันยายน 2567 ตามที่ ธปท.กำหนดไว้ ส่วนกลุ่มก่อสร้าง-อสังหาริมทรัพย์นั้นถือเป็นหนึ่งเสาหลักทางเศรษฐกิจของไทยเพราะมีความเชื่อมโยงไปถึงการจ้างงานอื่นๆ จึงต้องมองว่า การชะลอหรือชะงักไปนั้นมาจากสาเหตุของอะไร งบประมาณที่ล่าช้าหรือไม่ เพราะฉะนั้นหากไตรมาส 3 เงินงบประมาณออกมาจะช่วยให้ดีขึ้น ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อบริหารหนี้ทั้ง NPL และ NPA นั้น ในส่วนของธนาคารกรุงไทย พิจารณาแล้วว่าการบริหารจัดการเองจะเหมาะสมกว่าการจัดตั้ง AMC.

Advertisment

Verified by ExactMetrics