วันที่ 24 พฤศจิกายน 2024

“ประยุทธ์” บอกรัฐบาลให้ความสำคัญเศรษฐกิจระดับล่าง ขอทุกคนปรับตัวสู่การค้าออนไลน์

People Unity : นายกรัฐมนตรียืนยัน ให้ความสำคัญเศรษฐกิจระดับล่าง ขอทุกคนปรับตัวสู่การค้าออนไลน์ ทันต่อความเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 เวลา 14.10 น. ณ บริเวณห้องโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจระดับล่างมาเสมอ ไม่ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะสูงหรือต่ำ นั่นคือภาคใหญ่ของประเทศ แต่ประเทศเรามีคนรายได้น้อยจำนวนมาก เห็นได้จากยอดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีจำนวนมาก และอาจจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังแก้ปัญหาระดับล่างไม่ได้มากนัก ซึ่งรัฐบาลพยายามหาช่องทาง โอกาส และการใช้ออนไลน์เข้ามาช่วยเสริมในระบบการค้าขาย หากทุกคนไม่ปรับแก้ ไม่พัฒนาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและยุคสมัย มันก็จะถอยหลังไปเรื่อยๆ เพราะขณะนี้สถิติการค้าขายออนไลน์สูงขึ้นถึง 128 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมแค่ 70 เปอร์เซ็นต์

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นอกจากนี้รัฐบาลให้แนวทางสนับสนุนเรื่องรถไฟฟ้า ให้เป็นไปทีละขั้นตอน ทยอยดำเนินการ มีมาตรการส่งเสริม ซึ่งเรายังเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์แบบเดิมในภูมิภาคอยู่ วันหน้าก็ต้องเปลี่ยนแปลงทีละขั้น ขณะเดียวกันตนอยากให้มีรถไฟฟ้าสามล้อ ต้องดูว่าจะสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนได้อย่างไร ทั้งรถเก่าและรถใหม่ ที่ผ่านมามีปัญหาวิ่งบนถนนไม่ได้ ขอทะเบียนไม่ได้ ซึ่งได้มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปหารือกับกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพลังงานแล้ว ส่วนปัญหาเรื่องสถานีสำหรับชาร์ตไฟฟ้าทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ยืนยันว่าไม่มีปัญหา เพราะสามารถชาร์ตไฟฟ้าที่บ้านได้ น่าจะเพียงพอในการวิ่งในเมือง ซึ่งตนได้สั่งการเรื่องดังกล่าวไปแล้ว อีกทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วย

เศรษฐกิจ : “ประยุทธ์” บอกรัฐบาลให้ความสำคัญเศรษฐกิจระดับล่าง ขอทุกคนปรับตัวสู่การค้าออนไลน์

People Unity : post 30 พฤษภาคม 2562 เวลา 11.00 น.

สรรพากร-ธนาคารระบุการส่งข้อมูลดอกเบี้ยต่อสรรพากรเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของบัญชีเงินฝาก

People Unity : ตามที่กรมสรรพากรได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 344) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์และผลตอบแทนเงินฝากตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามตามหลักการวะดีอะฮ์ กรมสรรพากรได้หารือร่วมกันกับธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562 เพื่อกำหนดแนวทางการส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้แก่กรมสรรพากร โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปที่จะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ฝากเงินมากที่สุด

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ได้ชี้แจงการดำเนินการว่า “ที่ประชุมเห็นพ้องกันในการแก้ไขประกาศข้างต้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ฝากเงินบัญชีออมทรัพย์ส่วนใหญ่ทั่วประเทศให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี โดยธนาคารจะนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยแก่กรมสรรพากร แต่หากผู้ฝากเงินไม่ประสงค์จะได้รับยกเว้นภาษีต้องแจ้งแก่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยไม่ให้นำส่งข้อมูล ซึ่งธนาคารจะหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยดังกล่าวไว้ในอัตราร้อยละ 15 ทั้งนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างปรับปรุงประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว”

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “การกำหนดให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยทุกบัญชีต่อกรมสรรพากร จะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าบัญชีเงินฝากส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับลูกค้าที่ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิดังกล่าว และไม่ต้องการให้ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้กรมสรรพากร ต้องกรอกแบบฟอร์มเพื่อแจ้งความประสงค์ที่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยที่ลูกค้ามีบัญชีให้ครบทุกธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป โดยการแจ้งครั้งเดียวจะมีผลตลอดไป จนกว่าลูกค้าจะมาแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น ทั้งนี้ ลูกค้าที่มาแจ้งภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2562 จะมีผลตั้งแต่รอบภาษีดอกเบี้ยจ่ายครึ่งปีแรกในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป”

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร.1161 หรือที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ

เศรษฐกิจ : สรรพากร-ธนาคารระบุการส่งข้อมูลดอกเบี้ยต่อสรรพากร เป็นประโยชน์ต่อเจ้าของบัญชีเงินฝาก

People Unity : post 6 พฤษภาคม 2562 เวลา 15.50 น.

แจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ไทยนิยม ยั่งยืน) ผลิตรอบ 2 ให้ผู้มีสิทธิอีก 78,572 ราย

People Unity : กรมบัญชีกลางมอบหมายให้สำนักงานคลังจังหวัด / ทีมหมอคลังอุ่นใจ แจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ขณะนี้ได้ผลิตบัตรฯสำหรับผู้มีสิทธิที่ข้อมูลคลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้อง ไม่ชัดเจน เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เรียบร้อยแล้ว พร้อมส่งมอบให้แก่ผู้มีสิทธิ 78,572 ราย

18 เมษายน 2562 นางญาณี แสงศรีจันทร์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้มอบหมายให้สำนักงานคลังจังหวัด / ทีมหมอคลังอุ่นใจ 76 จังหวัด แจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้มีสิทธิจากโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ในกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ในปี 2560 ที่ยังไม่ได้ไปรับบัตรสวัสดิการฯ จากทีมไทยนิยม ยั่งยืน และอำเภอ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2562 เป็นต้นมา

โฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวต่อว่า กรมบัญชีกลางได้ผลิตบัตรสวัสดิการฯ ให้แก่ผู้มีสิทธิไปแล้ว จำนวน 3,121,307 ราย โดยผลิตครั้งแรก จำนวน 3,042,735 ราย และผลิตครั้งที่ 2 สำหรับผู้มีสิทธิที่มีข้อมูลคลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้อง ไม่ชัดเจนเพิ่มเติมอีก จำนวน 78,572 ราย โดยได้แจกบัตรสวัสดิการฯ ให้แก่ผู้มีสิทธิซึ่งได้นำไปใช้จ่ายแล้ว จำนวน 2,984,727 ราย คิดเป็นร้อยละ 95.62 (ข้อมูล ณ วันที่ 12 เมษายน 2562) สำหรับผู้มีสิทธิที่ยังไม่ได้รับบัตรสวัสดิการฯ สามารถเดินทางไปรับบัตรสวัสดิการฯด้วยตนเองได้ที่สำนักงานคลังจังหวัด / กรุงเทพมหานคร ตามที่อยู่ปัจจุบันที่ได้ลงทะเบียนไว้ โดยนำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงไปแสดงตน เพื่อขอรับบัตรสวัสดิการฯ และลงลายมือชื่อเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการรับบัตรสวัสดิการฯ หรือกรณีจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นรับบัตรสวัสดิการฯแทน ต้องดำเนินการ ดังนี้ 1. ให้ผู้มีสิทธิทำหนังสือมอบอำนาจและลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจ 2. นำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีสิทธิที่เซ็นรับรองสำเนาแล้ว แนบไปพร้อมกับหนังสือมอบอำนาจ 3. ผู้รับมอบอำนาจนำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว พร้อมแสดงบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้มีสิทธิและของผู้รับมอบ ไปยื่นที่สำนักงานคลังจังหวัด / กรุงเทพมหานคร เพื่อขอรับบัตรสวัสดิการฯแทน สำหรับการใช้งานบัตรสวัสดิการฯจะดำเนินการเช่นเดิม คือ ผู้มีสิทธิจะนำบัตรสวัสดิการฯไปใช้ได้หลังจากวันที่ได้รับบัตรสวัสดิการฯ 2 วัน เนื่องจากต้องดำเนินการ Activate บัตร เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่ไม่มีสิทธินำเงินในบัตรไปใช้

เศรษฐกิจ : แจกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ไทยนิยม ยั่งยืน) ผลิตรอบ 2 ให้ผู้มีสิทธิอีก 78,572 ราย

People Unity : post 18 เมษายน 2562 เวลา 11.50 น.

พาณิชย์รุกหนักวางกิจกรรมเจาะตลาดอินเดีย 7 รัฐสำคัญ

People unity : กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เตรียมแผนจัดกิจกรรมบุกตลาดอินเดียอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2562 เร่งผลักดันการส่งออกไทยให้ขยายตัวร้อยละ 8 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมุ่งเป้าใน 7 รัฐสำคัญของอินเดีย อาทิ รัฐมหาราษฎระ รัฐคุชราต รัฐทมิฬนาฑู รัฐเตลังกานา รัฐเวสต์เบงกอล รัฐเจ็ดสาวน้อย และนิวเดลี เน้นสร้างความสัมพันธ์ในระดับ Strategic Partnership การส่งเสริมการขยายตลาดสินค้าเกษตรและผลไม้ไทย รวมทั้งเร่งผลักดันความร่วมมือกับกลุ่ม On-line Platform อินเดีย เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีช่องทางดำเนินธุรกิจในตลาดอินเดียเพิ่มมากขึ้น

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ด้วยอินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ ประชากรจำนวนมากและมีความหลากหลายแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ มีประชากรกว่า 1,300 ล้านคน และขนาดพื้นที่กว่า 3.2 ล้านตารางกิโลเมตร จัดเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยมีการแบ่งการปกครองออกเป็น 29 รัฐ และ 7 Union Territories กระทรวงพาณิชย์จึงกำหนดยุทธศาสตร์เจาะตลาดอินเดียรายรัฐ โดยเน้นรัฐเป้าหมายสำคัญ 7 รัฐ ประกอบด้วย

-รัฐมหาราษฎระ มีมหานครมุมไบเป็นเมืองหลวงของรัฐ และเป็นเมืองท่าธุรกิจที่สำคัญของอินเดีย  ประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงและมีกำลังซื้อ อีกทั้งยังมีนักธุรกิจต่างชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก ประชากรอินเดียที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวจึงได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ และวัฒนธรรมจากประเทศตะวันตกค่อนข้างมาก สนใจสินค้านำเข้าที่มีสไตล์และทันสมัย สินค้าและบริการไทยที่มีศักยภาพเหมาะกับการเจาะตลาดนี้ คือ อาหารและเกษตรแปรรูป ร้านอาหาร ของตกแต่งบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เฟอร์นิเจอร์บิลด์อินที่มีแบบทันสมัย บริการออกแบบตกแต่งภายใน แฟชั่น เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอางสำหรับสุภาพสตรีวัยทำงาน และสถานบริการด้านเสริมความงามและลดน้ำหนัก

-รัฐคุชราตซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของรัฐมหาราษฎระ เป็นรัฐ Dry State ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ และชำนาญในเรื่องการเจียรไนเพชร สินค้าเป้าหมายของรัฐจึงเน้นเป็นกลุ่มอัญมณี พลอยสี ยา/สมุนไพร และอาหารมังสวิรัติ

-รัฐทมิฬนาฑู เป็นเมืองท่าสำคัญทางอินเดียตอนใต้ และเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ สิ่งทอ และอากาศยานของอินเดีย สินค้าเป้าหมายและบริการเป้าหมาย คือ แป้งมัน ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สด/แปรรูป เครื่องประดับยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และบริการคาร์แคร์

-รัฐเตลังกานา เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยาและไอทีของอินเดีย เหมาะสำหรับเจาะกลุ่มผู้บริโภค Super Rich และมุสลิม สินค้าและบริการเป้าหมาย คือ อาหารฮาลาล วีแกน ไลฟ์สไตล์ แฟชั่นที่มีนวัตกรรมและดีไซน์ กล้วยไม้ การถ่ายทำ/ตัดต่อภาพยนตร์ และบริการรับจัดงานแต่งงาน

-รัฐเวสต์เบงกอล เป็นเมืองท่าธุรกิจทางฝั่งตะวันออกของอินเดีย และเป็นพื้นที่เชื่อมต่อไปยัง     ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย หรือรัฐเจ็ดสาวน้อย สินค้าเป้าหมาย คือ อาหาร วัสดุก่อสร้าง ออกแบบตกแต่งภายใน เครื่องใช้ในครัวเรือน และของตกแต่งบ้าน

-รัฐเจ็ดสาวน้อย เป็นพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ประกอบด้วย 7 รัฐ คือ     อัสสัม เมฆาลัย มณีปุระ มิโซรัม ตรีปุระ อรุณาจัลประเทศ และนากาแลนด์ ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางบกจากอาเซียน-อินเดีย โดยมีสินค้าและบริการเป้าหมาย ได้แก่ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ในบ้าน เสื้อผ้าแฟชั่นที่มีราคาไม่สูงมาก บริการโลจิสติกส์

-นิวเดลี เป็นดินแดนสหภาพอาณาเขตของรัฐบาลกลางอินเดีย และเป็นเมืองหลวงของอินเดีย โดยมีสินค้าเป้าหมาย คือ อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส ของตกแต่งบ้าน แฟชั่นเครื่องประดับ และเครื่องใช้ไฟฟ้า

ด้าน นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวเสริมว่า กรมได้ให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศในอินเดียทั้ง 3 แห่ง สำรวจและศึกษาโอกาสของสินค้าไทยที่มีศักยภาพตามความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละรัฐเพื่อเลือกรัฐเป้าหมาย 7 รัฐดังกล่าว และวางกลยุทธ์เข้าสู่ตลาดโดยใช้การจับคู่สินค้าและธุรกิจบริการไทยที่มีศักยภาพที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละรัฐ เพื่อให้การเจาะตลาดอินเดียเกิดผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

สำหรับในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะมีกิจกรรมที่เป็น Flagship สำคัญในตลาดอินเดีย อาทิ การจัดคณะผู้แทนการค้าธุรกิจบริการ Event Business เดินทางไปเจรจาการค้าในรัฐมหาราษฎระ เมืองมุมไบ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งจะเป็นช่วงเดียวกันกับที่สภาธุรกิจไทย-อินเดีย กำหนดนำคณะนักธุรกิจกลุ่ม Hospitality และวัสดุก่อสร้าง เดินทางไปเจรจาการค้าในเมืองมุมไบ และเตรียมการประชุม ITJBF (Indian-Thai Joint Business Forum) ที่จะจัดในไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562

จากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2562 จะมีกิจกรรมส่งเสริมการขายผลไม้ไทย โดยเฉพาะ ลำไย มังคุด ร่วมกับห้าง Modern Trade รายใหญ่ของอินเดีย อาทิ Reliance และ Future Group ในรัฐมหาราษฎระ รัฐคุชราต รัฐเตลังกานา รัฐทมิฬนาฑู รัฐเวสต์เบงกอล และนิวเดลี รวมกว่า 40 สาขา

นอกจากนี้ กรมยังได้เดินหน้าผลักดันและส่งเสริมความร่วมมือกับ PayTM ซึ่งเป็นหนึ่งใน On-line Platform รายสำคัญของอินเดีย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับบริษัท Trading รายใหญ่ของไทยเพื่อทำหน้าที่รวบรวมสินค้าไทยส่งให้ PayTM ไปกระจายในตลาดอินเดียต่อไป โดยหากความร่วมมือดังกล่าวเป็นบรรลุผลสำเร็จจะส่งผลให้สินค้าไทยสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคตลาดออนไลน์ในอินเดียได้ดีขึ้น

ในปี 2561 การค้าระหว่างไทยและอินเดียมีมูลค่ารวม 12,463.75 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 20.16 แบ่งเป็นไทยส่งออกไปอินเดียมูลค่า 7,600.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 17.34 และไทยนำเข้าจากอินเดีย 4,863.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 24.86 และในเดือนมกราคม 2562 การค้าระหว่างไทยและอินเดียมีมูลค่ารวม 1,074.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4.8 แบ่งเป็นไทยส่งออกไปอินเดีย 639.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.11 และไทยนำเข้าจากอินเดีย 434.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 7.4

ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจดำเนินธุรกิจในตลาดอินเดีย และเอเชียใต้ สามารถดูรายละเอียดกิจกรรมส่งเสริมตลาดได้ที่ http://drive.ditp.go.th หรือสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับตลาดเพิ่มเติมได้ที่สำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 1 กลุ่มงานเอเชียใต้ แอฟริกา และตะวันออกกลาง หมายเลขโทรศัพท์ 02-507-8209 หรือ 02-507-8239 ถึง 8240

เศรษฐกิจ : พาณิชย์รุกหนักวางกิจกรรมเจาะตลาดอินเดีย 7 รัฐสำคัญ

People unity : post 18 มีนาคม 2562 เวลา 23.00 น.

4 ค่ายรถยนต์ยักษ์ยื้อตอบรับนโยบาย 4 ข้อส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล

People unity : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประชุมร่วม 4 ค่ายรถยนต์ เพื่อเปิดรับฟังข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหามาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าระยะแรก หวังยกระดับให้ไทยเป็นฐานที่มั่นการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า

15 มีนาคม 2562 : นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากช่องโหว่ของมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าในระยะแรก ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากการลดอัตราภาษีสรรพสามิตให้กับผู้ผลิตรถยนต์ HEV/PHEV โดยไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Vehicles) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S-Curve ของประเทศ ดังนั้น สศอ. จึงได้นำเสนอมาตรการในการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ “Core Technology” ของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับไปสู่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต รวมทั้งต้องการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ในราคาประหยัด และยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือเรียกว่า “อีโค่อีวี (ECO EV)”

นายณัฐพล เปิดเผยเพิ่มเติมว่า มาตรการ ECO EV มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ (1) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถปรับพลิกโฉมฐานการผลิตรถยนต์ ECO Car ซึ่งเป็นฐานการผลิตรถยนต์นั่งหลักของประเทศไทย ซึ่งถูกกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการภาษีสรรพสามิตของการส่งเสริม EV ระยะแรก และ (2) เพื่อปิดจุดอ่อนของมาตรการส่งเสริม EV ในรอบแรก ซึ่งจากโครงการที่บริษัทเสนอขอรับการสนับสนุนทั้งหมด สศอ. พบว่า มีปัญหาใน 3 ประเด็นหลักคือ ร้อยละ 79.8 ของรถยนต์ทุกคันเป็นการลงทุนผลิต HEV ที่ไม่สามารถชาร์จไฟฟ้าได้ จึงไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าที่จำเป็นต่อการพัฒนาให้ไปสู่ BEV ในอนาคตได้ และกว่าร้อยละ 91.8 ของรถยนต์ที่ทุกบริษัทเสนอขอรับการสนับสนุน ไม่มีการลงทุนใน Core Technology ของ EV ในประเทศไทยเลย โดยเป็นการประกอบขั้นปลายสุด คือ ประกอบตัวถังและทดสอบแบตเตอรรี่  นอกจากนี้ รถยนต์ทุกคันที่ทุกบริษัทเสนอขอรับการสนับสนุน มีราคาสูงกว่าที่ประชาชนผู้ใช้รถยนต์ส่วนใหญ่จะเข้าถึงได้ คือ ราว 1-6 ล้านบาท ซึ่งย่อมจะทำให้จะไม่แพร่หลายหรือมีขนาดการผลิตที่เพียงพอสำหรับการลงทุนผลิต Core Technology ของ EV ในประเทศไทย ประกอบกับ นายกรัฐมันตรีได้มีข้อสั่งการให้มีการเร่งรัดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาจำหน่าย เพื่อเป็นอีกทางเลือกของประชาชนในกานช่วยกันลดฝุ่น pm 2.5 จากการใช้รถยนต์ดีเซล และเบนซิน

นายณัฐพล เปิดเผยอีกว่า ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สศอ. ได้ทำงานร่วมกับ BOI และกระทรวงการคลัง และได้มีการปรับปรุงและสรุปข้อเสนอของมาตรการการ ECO EV จนล่าสุดสามารถตอบวัตถุประสงค์ต่างๆได้ครบทุกข้อ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะได้สรุปและประกาศมาตรการนี้ ได้รับทราบจากกระทรวงการคลังว่า ได้รับหนังสือร่วมลงนามจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่เสนอขอรับการส่งเสริม HEV 3 ราย คือ Toyota Honda และ Nissan และบริษัทผู้จัดจำหน่ายรถปิกอัพ 1 ราย คือ ตรีเพรชอิซูซุ ได้มีข้อท้วงติง และต้องการให้ภาครัฐดำเนินมาตรการในทิศทางอื่น และในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สศอ. จึงได้หารือกับผู้ผลิต HEV ทุกรายอีก ทั้งการหารือแบบรายบริษัท และกลุ่ม 3+1 รายนี้ ซึ่งทั้ง 3 รายรับที่จะเสนอแนวทางในการปรับโครงการการลงทุนของแต่ละบริษัท เพื่อให้ไม่เป็นเพียงโครงการประกอบ HEV ขั้นสุดท้ายดังที่เสนอมาในปัจจุบัน แต่จะเพิ่มให้มีการลงทุนเพื่อพยายามตอบโจทย์ทั้ง 4 ข้อข้างต้น คือ (1) ราคาที่คนไทยต้องเข้าถึง EV ได้ (2) มีกระบวนการผลิตของชิ้นส่วน EV core technology (3) มีการก้าวไปสู่รถยนต์ที่สามารถชาร์ทไฟฟ้าได้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาโครงข่ายการพัฒนาไฟฟ้า และ (4) มีเส้นทางการพัฒนาฐานการผลิต ECO Car ไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต ที่มีการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า

นายณัฐพล เปิดเผยถึงผลการประชุมเปิดรับฟังข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหามาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าระยะแรกในวันนี้ว่า “หลังจากที่ทั้ง 3 บริษัทได้ทราบโจทย์และขอกลับไปหาแนวทางประมาณ 1 เดือน ซึ่งในวันนี้บริษัทได้มารายงานผล ซึ่งสรุปได้ว่า บริษัทไม่มีข้อเสนอที่จะตอบโจทย์ทั้ง 4 ข้อ ในการแก้ปัญหามาตรการ EV ระยะแรกได้ โดยเห็นว่า ในช่วง 6 ปีนี้ ภาครัฐยังไม่ควรมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ควรรอให้มาตรการภาษีสรรพสามิตจบลงในปี 2568 ก่อน จึงควรหามาตรการแก้ไขต่อไป โดยหลังจากนี้ สศอ. จะสรุปสถานการณ์ล่าสุดเสนอกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ industry 4.0 เพื่อทราบสถานะและพิจารณาตัดสินใจต่อไปว่าประเทศไทยและอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จะเดินออกจากข้อติดขัดของการพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้านี้ร่วมกันหรือไม่อย่างไร”

เศรษฐกิจ : 4 ค่ายรถยนต์ยักษ์ยื้อตอบรับนโยบาย 4 ข้อส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล

People unity : post 17 มีนาคม 2562 เวลา 20.40 น.

“สมคิด” สั่งรัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติต่อเนื่อง รักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 62

People unity : “สมคิด” ให้รัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2562

วันนี้ (13 มีนาคม 2562) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดสัมมนาผู้บริหารสูงสุดรัฐวิสาหกิจ หรือ “SOE CEO Forum” ครั้งที่ 3 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้บริหารสูงสุด (CEO) ของรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง เข้าร่วมการสัมมนา SOE CEO Forum ในครั้งนี้ ซึ่ง SOE CEO Forum เป็นการสัมมนาที่ได้จัดให้มีอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารนโยบายต่างๆ รวมทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง CEO ของรัฐวิสาหกิจ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์ระหว่างกัน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงความสำคัญของรัฐวิสาหกิจในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2558 – 2561 อัตราการเติบโตของ GDP ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมากจนทำให้ปี 2561 ประเทศไทยมี GDP เท่ากับ 4.1% จากที่ในปี 2557 ที่ GDP เติบโตต่ำกว่า 1% จากการลงทุนและการดำเนินโครงการที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาลของรัฐวิสากิจ

ทั้งนี้ นายสมคิด ได้มอบนโยบายให้รัฐวิสาหกิจยังคงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานต่างๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติ ดังนี้

1.สานต่อการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานการลงทุนใน EEC และการพัฒนาการให้บริการแก่ประชาชนตามภารกิจ

2.เร่งรัดสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้สามารถสนับสนุนการดำเนินการตามภารกิจ เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการสาธารณะแก่ประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งลงทุนและพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

3.เร่งการพัฒนาการบริหารจัดการโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มากขึ้น และให้มีการใช้ข้อมูลที่มีร่วมกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆแก่ประชาชน

4.ร่วมมือกันให้มากขึ้นในการพัฒนาการทำงาน ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน มีการแบ่งปันความรู้และทรัพยากรและสร้างนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งจะทำให้กลุ่มรัฐวิสาหกิจมีความเข้มแข็งมากขึ้นในการพัฒนาประเทศ

5.ขอให้รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพพิจารณาสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่เกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถต่อยอดในการพัฒนางานต่างๆของรัฐวิสาหกิจ

ด้าน นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สคร. เปิดเผยว่า ในการสัมมนา SOE CEO Forum ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารให้ CEO ของรัฐวิสาหกิจรับทราบสถานการณ์ต่างๆในปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมต่อความท้าทายปัจจุบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งให้รัฐวิสาหกิจเสนอแนะและให้ความเห็นต่อการพัฒนาประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ โดยที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจถือเป็นกลไกหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการลงทุน การดำเนินนโยบายรัฐบาล และการนำส่งรายได้แผ่นดิน รวมทั้งมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 รัฐวิสาหกิจมีสินทรัพย์รวมจำนวน 15 ล้านล้านบาท เติบโต 25% จากปี 2556 และมีผลประกอบการที่ดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิจำนวน 4 แสนล้านบาท เติบโต 21% ทำให้รัฐวิสาหกิจสามารถนำส่งรายได้แผ่นดินสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 23% จากปี 2556 นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจยังเป็นส่วนสำคัญของการลงทุนภาครัฐ โดยในปี 2561 รัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายงบลงทุน 3.8 แสนล้านบาท เติบโต 70% จากปี 2556 อีกทั้งรัฐวิสาหกิจได้ดำเนินโครงการที่สำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นให้แก่เศรษฐกิจของประเทศด้วย เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) การสนับสนุนการท่องเที่ยวของประเทศ และการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 มีความท้าทายต่อการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจ อาทิ เรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง สงครามทางการค้า รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของประชาชน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝากให้รัฐวิสาหกิจร่วมมือกันและเตรียมความพร้อมต่อความท้าทายต่างๆ โดยให้ใช้ Technology และ Big Data ให้มากขึ้น เพื่อให้ยังคงเป็นกำลังสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติต่อไปได้ และให้ สคร. สนับสนุนการทำงานของรัฐวิสาหกิจในเชิงรุกอย่างเต็มที่ในฐานะ Active Partner

เศรษฐกิจ : “สมคิด” สั่งรัฐวิสาหกิจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติต่อเนื่อง รักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 62

People unity : post 13 มีนาคม 2562 เวลา 21.40 น.

13 มี.ค. “บิ๊กตู่” เปิดงาน “One Transportation for all” ที่ขอนแก่น-โคราช เร่งรถไฟทางคู่อีสาน

People unity : รัฐบาลเดินหน้าโครงข่ายคมนาคมรถไฟทางคู่ โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานเปิดงาน “One Transportation for all : ระบบคมนาคมหนึ่งเดียว เพื่อประชาชนทุกคน” ณ จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดนครราชสีมา

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเป็นประธานเปิดงาน “One Transportation for all : ระบบคมนาคมหนึ่งเดียว เพื่อประชาชนทุกคน” โดยกระทรวงคมนาคม เพื่อพัฒนาเครือข่ายคมนาคมและศูนย์กลางคมนาคมขนส่งทางรางและถนน ณ จังหวัดนครราชสีมา และทดลองการเดินรถในโครงการพัฒนาระบบโครงข่ายรถไฟทางคู่ เส้นทางสายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และความก้าวหน้าการดำเนินโครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ณ จังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย โดยในวันพุธที่ 13  มีนาคม 2562  นายกรัฐมนตรีจะปฏิบัติภารกิจสำคัญ ณ จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดนครราชสีมา  ดังนี้

ช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดการใช้งานอาคารสถานีรถไฟขอนแก่น และตรวจเยี่ยมความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่และทดลองเดินรถในโครงการพัฒนาระบบโครงข่ายรถไฟทางคู่ เส้นทางสายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น  ช่วงบ่าย เป็นประธานเปิดงาน “One Transportation for all : ระบบคมนาคมหนึ่งเดียว เพื่อประชาชนทุกคน” ของกระทรวงคมนาคม และตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา จุดเชื่อมต่อการคมนาคมรถไฟทางคู่

ทั้งนี้ การตรวจราชการส่วนภูมิภาคเป็นหนึ่งในภารกิจที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นการติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินนโยบายรัฐบาลด้วยตนเอง อีกทั้งยังทำให้เข้าใจลักษณะพื้นที่ สภาพปัญหา ความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง เพื่อเป้าหมายการพัฒนาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาภาค แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด และแผนพัฒนาจังหวัด ทำให้จัดสรรงบประมาณได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด  นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยสร้างการรับรู้ของประชาชนต่อนโยบายของรัฐบาล และเป็นขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

เศรษฐกิจ : 13 มี.ค. “บิ๊กตู่” เปิดงาน “One Transportation for all” ที่ขอนแก่น-โคราช เร่งรถไฟทางคู่อีสาน

People unity : post 11 มีนาคม 2562 เวลา 10.20 น.

ธ.ออมสินยกระดับอาหารริมทาง จัดแข่งขันพัฒนาอาหารริมทาง “สตรีทฟู้ด 4 มิติ”

People unity : แบงก์ออมสิน พัฒนาร้านอาหารริมทางเท้าทั่วไทย เปิดโครงการ GSB Street Food เปลี่ยนชีวิต (กล้าคิด ชีวิตเปลี่ยน) จัดแข่งขันแสดงความคิดสร้างสรรค์ในหัวข้อ “พัฒนาสตรีทฟู้ด 4 มิติ” ที่ต้องมีดีทั้งรสชาติ นวัตกรรม และหน้าตาอาหาร ชิงเงินรางวัลกล้าเริ่มกว่า 2 ล้านบาท พร้อมเชิญเชียร์และชมการแข่งขันผ่านรายการเรียลลิตี้สตรีทฟู้ด รายการแรกของไทยทางช่อง True4U 24  เปิดรับสมัคร 15 มี.ค.-15 เม.ย.62 นี้

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้ก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนายกระดับอาชีพต่างๆ รวมถึงการค้าขายริมทางเท้า หรือ สตรีทฟู้ด ที่มีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี ตลอดจนสาธารณสุข เข้ามาช่วยยกมาตรฐานทั้งความอร่อย ความสะอาด ถูกสุขอนามัย โดยที่ธนาคารออมสินได้เป็นแหล่งทุนสนับสนุนผู้ประกอบการสตรีทฟู้ดมานานกว่า 16 ปี ผ่านโครงการธนาคารประชาชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับกลุ่มผู้ประกอบการนี้มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวันนี้ ธนาคารออมสินเปิดโอกาสครั้งสำคัญให้กลุ่มผู้ประกอบการสตรีทฟู้ด ด้วยโครงการ GSB Street Food เปลี่ยนชีวิต (กล้าคิด ชีวิตเปลี่ยน) ด้วยการจัดประกวดร้านค้าริมทางเท้า เปิดโอกาสแสดงความคิดเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับธุรกิจร่วมแข่งขันภายใต้หัวข้อ “พัฒนาสตรีทฟู้ด 4 มิติ” หรือ “4 D Street Food Upgrade” โดยเปิดรับสมัครทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม ถึงวันที่ 15 เมษายน 2562 นี้

หัวข้อ “พัฒนาสตรีทฟู้ด 4 มิติ” หรือ “4 D Street Food Upgrade” ประกอบด้วย 1.D Food ด้านอาหาร ที่นอกเหนือจากส่วนผสม วัตถุดิบ ที่นำมาปรุงให้มีรสชาติที่ดีเลิศ รวมถึงกระบวนการปรุงที่ดีด้วยแล้ว จะต้องปรับปรุงอาหารให้มีมิติใหม่ 2.D Innovation ด้านนวัตกรรม นำนวัตกรรมดีๆ ทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยปรับปรุงอาหารให้น่าสนใจ 3.D Design การออกแบบ การใช้ความคิดสร้างสรรค์อาหาร และ 4.D Marketing ด้านการตลาด ต้อมมีมุมมองด้านการตลาดใหม่ๆ ซึ่งการแข่งขันนี้จะมีการนำเสนอภาพการแข่งขันในรายการเรียลลิตี้สตรีทฟู้ด ซึ่งถือเป็นรายการเรียลลิตี้สตรีทฟู้ดรายการแรกของไทย ผ่านสถานีโทรทัศน์ ช่อง True4U 24 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 12.30-13.30 น.

สำหรับผู้สมัครเข้าร่วมโครงการต้องมีสัญชาติไทย มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ และประกอบอาชีพค้าขายอาหารสตรีทฟู้ดเป็นอาชีพหลัก ทั้งอาหารหรือเครื่องดื่มที่พร้อมบริโภค โดยจำหน่ายริมทางเท้า หรือที่สาธารณะ ทั้งร้านตึกแถว ซุ้มขายอาหาร รถเข็นอาหาร หาบเร่ รถเร่ หรือรถบรรทุกอาหาร โดยมีเงินรางวัลรวมกว่า 2 ล้านบาท โดยผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ทางเฟซบุ๊กโครงการ www.facebook.com/gsbstreetfoodtv

“มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสตรีทฟู้ด ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจสตรีทฟู้ดมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับธนาคารออมสินซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาเล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้ประกอบการธุรกิจนี้ โดยมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนในหลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ผู้ประกอบการธุรกิจสตรีทฟู้ดมาแล้วทั่วประเทศ และครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐหลักที่สำคัญ ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันอาหาร และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด

เศรษฐกิจ : ธ.ออมสินยกระดับอาหารริมทาง จัดแข่งขันพัฒนาอาหารริมทาง “สตรีทฟู้ด 4 มิติ”

People unity : post 5 มีนาคม 2562 เวลา 20.40 น.

ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกงเชิญชวนนักธุรกิจฮ่องกงร่วมลงทุนใน EEC

People unity : ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย พร้อมเชิญชวนนักธุรกิจฮ่องกงร่วมลงทุนในโครงการ EEC

เมื่อวานนี้ (28 ก.พ.2562) เวลา 11.30 น. นางแคร์รี หล่ำ (Carrie Lam) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้

นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกงเดินทางมาเยือนไทยเพื่อร่วมพิธีเปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกง (Hong Kong Economic and Trade Office: HKETO) ประจำประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการย้ำความเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีได้เชิญบริษัทฮ่องกงมาร่วมลงทุนในโครงการ EEC ซึ่งสามารถเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจ (Greater Bay Area – GBA) ได้แก่ กวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า รวมถึงอนุภูมิภาค ACMECS ด้วย นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่าไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ยินดีผลักดันความร่วมมือระหว่างอาเซียนและฮ่องกงในมิติต่างๆ

ด้านดิจิทัล ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อความก้าวหน้าของโครงการเคเบิลใต้น้ำของไทยสู่ฮ่องกง เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาค (ASEAN Digital Hub) รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security)

ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงพร้อมเชิญชวนนักธุรกิจฮ่องกงมาลงทุนในไทยมากขึ้น และกล่าวว่า ฮ่องกงถือเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยมีมูลค่าเป็นอันดับ 3 จึงพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีการเงินให้แก่ไทยซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานทางการเงินและการธนาคารของไทยและภูมิภาค สำหรับด้านการศึกษา ฮ่องกงยินดีส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาให้แก่ไทยโดยเฉพาะวิทยาการในสาขาที่ฮ่องกงมีความก้าวหน้า โดยปัจจุบันมีโครงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านวิชาการระหว่างกัน และมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนในระดับปริญญาตรีด้วย

อนึ่ง ก่อนหน้าจะเข้าพบนายกรัฐมนตรี นางแคร์รี หล่ำ (Carrie Lam) ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ได้เข้าพบและหารือกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มาแล้ว

เศรษฐกิจ : ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกงเชิญชวนนักธุรกิจฮ่องกงร่วมลงทุนใน EEC

People unity : post 1 มีนาคม 2562 เวลา 10.00 น.

กบข.จับมือแบงก์กรุงไทย เปิดให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่สมาชิก กบข. ดอกเบี้ยถูกที่สุดในระบบ

People unity : กบข. ร่วมกับธนาคารกรุงไทย เปิดให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยธนาคารกรุงไทยเพื่อสมาชิก กบข. เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิก กบข. อัตราดอกเบี้ยถูกที่สุดในระบบ

นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กบข. ร่วมกับธนาคารกรุงไทย เปิดให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยธนาคารกรุงไทยเพื่อสมาชิก กบข. เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิก กบข. ที่ต้องการซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ปรับปรุง ต่อเติม หรือไถ่ถอนจำนองที่อยู่อาศัยเดิมจากสถาบันการเงินอื่น

จุดเด่นของสินเชื่อดังกล่าว คือ ให้อัตราดอกเบี้ยถูกที่สุดในระบบคือ 0% ในปีแรก อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีอยู่ที่  2.88% ต่อปี ให้วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 100% ของราคาประเมิน หรือ ราคาซื้อขายจริง ผู้ขอกู้ต้องเป็นสมาชิก กบข. และเป็นลูกค้าสินเชื่อรายใหม่ของธนาคารกรุงไทยเท่านั้น

นายวิทัยกล่าวว่า โครงการนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากสมาชิก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยถูกที่สุดในระบบ ช่วยให้สมาชิกสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสิทธิพิเศษนี้มอบให้สำหรับสมาชิก กบข. เท่านั้น ผู้ที่สนใจควรรีบสมัครใช้สิทธิเพราะโครงการจะหมดเขตวันที่ 30 เมษายนนี้แล้ว

สมาชิก กบข. สามารถสมัครใช้สิทธิได้ที่ My GPF Application กดเมนูสิทธิพิเศษ แล้วเลือกแบนเนอร์สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสมาชิก กบข. เมื่อกดใช้สิทธิจะมีเจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับภายใน 1 – 2 วันทำการ หรือ สมัครใช้บริการได้ที่ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ โทรสอบถามข้อมูลได้ที่ Call Center ธนาคารกรุงไทย 0-2111-1111 หรือศึกษาข้อมูลโครงการเพื่อเตรียมเอกสารประกอบการสมัครได้ที่เว็บ กบข. เมนูสวัสดิการลดรายจ่าย เลือกหัวข้อ สินเชื่อกรุงไทยเพื่อสมาชิก กบข.

เศรษฐกิจ : กบข.จับมือแบงก์กรุงไทย เปิดให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่สมาชิก กบข. ดอกเบี้ยถูกที่สุดในระบบ

People unity : post 27 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 14.30 น.

Verified by ExactMetrics