วันที่ 7 เมษายน 2025

ท่องเที่ยวฯจับมือคมนาคม เพิ่มศักยภาพโครงข่ายฯ รองรับนักท่องเที่ยวพุ่ง

People Unity : ท่องเที่ยวฯจับมือคมนาคม เพิ่มศักยภาพโครงข่ายฯ รองรับนักท่องเที่ยวพุ่ง ปรับปรุง SlotCoordination เพื่อรองรับเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศ

วันที่ 22 ตุลาคม 2562 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จับมือกระทรวงคมนาคมร่วมประชุมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถโครงข่ายคมนาคม ทั้งทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ เพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางอากาศ ได้มีการปรับปรุง SlotCoordination เพื่อรองรับเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศ โดยปรับแผนขยายและก่อสร้างสนามบินเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคต ทางบกได้มีการปรับปรุงและเชื่อมโยงเส้นทางหลักสู่แหล่งท่องเที่ยว เช่น การจัดทำป้ายเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวโดยชุมชน

สำหรับทางน้ำ ได้เน้นเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการเพิ่มความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นิยมมายังแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของไทยเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังมีการขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับมาตรการห้ามการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีสำหรับประเทศไทย ในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประเทศไทยควรจะต้องเดินหน้าพัฒนาในด้านที่ควรปรับปรุง ได้แก่ ด้านความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิ่มความเข้มข้นในด้านความปลอดภัย และยกระดับความสะอาดและสุขภาพให้มีความครอบคลุมในทุกสาขาของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย

พร้อมทั้ง เพิ่มมาตรการในการอำนวยความสะดวกต่อการเดินทาง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศให้มีประสิทธิภาพและสามารถรองรับต่อการขยายตัวของคนเดินทางทั่วโลก ประกอบกับยกระดับอันดับที่อยู่ในระดับดีเด่นให้สามารถรักษาระดับให้สูงขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่า อันดับที่อยู่ในเกณฑ์ดีที่สุด แต่ปรับอันดับลดลง อาจจะต้องมีมาตรการในการรองรับโจทย์ในข้อดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ด้านทรัพยากรธรรมชาติ การแข่งขันด้านราคาและโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศ เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งนี้ อาจจะต้องบูรณาการความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเพื่อการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป และเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับทั้ง 4 ด้านหลัก ตามนโยบาย คือ เรื่องความปลอดภัย ความสะอาด ยั่งยืน และการไม่เอาเปรียบ

นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ขีดความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก ลำดับ 35 ในปี 2558 เป็นลำดับ 34 ในปี 2560 และลำดับที่ 31 ในปี 2562 แต่ประเมินว่าขีดความสามารถฯ ยังสามารถเพิ่มขึ้นได้อีกหากได้รับความร่วมมือจากกระทรวงคมนาคมที่มีภารกิจในการพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคม โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพโครงข่ายพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศ หากมีการปรับปรุงคาดว่าศักยภาพโครงข่ายการคมนาคมของไทยจะสูงขึ้นและสามารถรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ประมาณร้อยละ 80 เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยทางอากาศ

ด้าน นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม ได้พัฒนาระบบการอำนวยความสะดวกใน 3 ทาง ได้แก่ 1. การอำนวยความสะดวกทางอากาศ ซึ่งมีการบริหารจัดการ Slot Coordination และน้ำมันเชื้อเพลิง พร้อมทั้งการก่อสร้างและการขยายสนามบินอื่นๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น 2. การอำนวยความสะดวกทางบก เรื่องการผ่านข้ามแดน (รถบัส) บริเวณด่านประเทศมาเลเซีย , การอำนวยความสะดวกในการผ่านข้ามแดนรถยนต์ และการดำเนินโครงการถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ และ 3. การอำนวยความสะดวกทางน้ำ เน้นย้ำด้านการรักษาความปลอดภัยทางน้ำ และการขยายท่าเทียบเรือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งนี้ การพัฒนาด้านการคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานและการบริการนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และรวดเร็วมากขึ้น

“ศักดิ์สยาม”สั่งขบ.ใช้ AIทำงาน-สั่งศึกษาติดGPSรถยนต์ส่วนบุคคล

People Unity : “ศักดิ์สยาม” ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่กรมการขนส่งทางบก สั่งขบ.ใช้ AIทำงาน-สั่งศึกษาติด GPSรถยนต์ส่วนบุคคล

วันที่ 21 ต.ค.2562 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่กรมการขนส่งทางบก พร้อมด้วย นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และนางสาวกอบกุล โมทนา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม โดยมี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และผู้บริหารกรมการขนส่งทางบก ให้การต้อนรับ ที่กรมการขนส่งทางบก

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ได้มอบนโยบายการบริหารงาน ให้กับผู้บริหาร ข้าราชการกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยมีนโยบายหลักๆ11 เรื่อง ทั้งนี้ โดยเน้นหนักเรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกศึกษารายละเอียดเรื่องของการนำเทคโนโลยี (AI) มีปรับใช้เพื่อความสะดวกและแม่นยำมากขึ้น รวมถึงกฎหมายที่มีอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้บังคับใช้อย่างจริงจังหลายเรื่อง ซึ่งทั้งหมดกระทรวงคมนาคมวางเป้าหมายที่จะลดสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนลงให้ได้มากที่สุด

“ประเด็นสำคัญที่ต้องการให้เร่งดำเนินการ คือ การติดตั้งระบบ GPS รถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์จากโรงงาน ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลภาคการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ตั้งแต่ต้นทาง ภาคเอกชนค่ายรถต่าง ๆ รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน เนื่องจากการควบคุมจีพีเอสรถทุกคันจะมีการเข้าถึงสิทธิ์ข้อมูลต่าง ๆ ในการเดินทางต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้รถ และในอนาคตก็จะมีแหล่งข้อมูลการใช้รถขนาดใหญ่ที่กำกับดูแลด้านความปลอดภัย โดยมีกรมการขนส่งทางบกเป็นหน่วยงานที่ monitor ข้อมูลเหล่านี้ ส่วนการปฏิบัติที่จะขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าวไปสู่ผู้กระทำนั้น กรมการขนส่งทางบกจะเริ่มทำการศึกษาและคาดว่าน่าจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เพื่อให้ได้ข้อสรุปกับการนำนโยบายเหล่านี้มาใช้” นายศักดิ์ กล่าว

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวถึงการกระทำผิดกฎหมายจราจรแล้ว จะต้องมีการถูกตัดแต้มนั้น กรณีดังกล่าวมอบให้กรมการขนส่งทางบกเก็บฐานข้อมูลในกรณีของผู้ใช้รถที่มีใบอนุญาตจะมีคะแนน 100 คะแนนเต็ม แต่หากมีการกระทำผิดกฎหมายจราจรก็จะมีการทยอยหักแต้มไปเรื่อย ๆ และเมื่อมีการหักจนครบเพดานขั้นต่ำที่วางไว้จะถูกยึดใบอนุญาตถาวร เช่นเดียวกับรถแต่ละคันหากมีการบันทึกข้อมูลการกระทำผิดซ้ำจะถูกจำหน่ายทะเบียนรถคันนั้นออกจากระบบ ซึ่งทั้งหมดกระทรวงคมนาคมจะนำมาเป็นแนวทางดูแลงานด้านความปลอดภัยและเพิ่มวินัยจราจรให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นกำกับดูแลด้านกฎหมายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่จะนำระบบสินบนนำจับมากำกับดูแลงานความปลอดภัยของรถสาธารณะ โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ หากพบรถของผู้ประกอบการรายใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเงื่อนไขความปลอดภัย สามารถแจ้งดำเนินคดี เช่น กรณีที่ผู้ประกอบการทำผิดและต้องเสียเบี้ยปรับ 50,000 บาท อาจจะหักเงินดังกล่าวเป็นสินบนนำจับ 10% มอบให้แก่ผู้แจ้งเบาะแส ซึ่งเรื่องเหล่านี้ขอให้กรมการขนส่งทางบกไปลองศึกษาข้อมูล เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน

ด้าน นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกพร้อมรับมอบนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติโดยกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลและจัดทำแผนการดำเนินการอย่างรอบด้านและเร่งดำเนินการติดตามประเมินผลการดำเนินการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งปัจจุบันกรมการขนส่งทางบกมีแผนปฏิบัติราชการกรมการขนส่งทางบก ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563-2565) ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายรัฐบาล และแผนปฏิบัติการด้านคมนาคม (พ.ศ. 2563-2565) โดยดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิด 3S ประกอบด้วย S (Safety & Security) คือ ควบคุม กำกับ ดูแลระบบการขนส่งทางถนนทุกรูปแบบให้มีความปลอดภัยและมั่นคง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความมั่นคงและปลอดภัย S (Sustainability) คือ ควบคุม กำกับ ดูแลระบบการขนส่งทางถนนทุกรูปแบบให้สามารถรองรับผู้ใช้งานได้ทุกกลุ่ม

“จุรินทร์”ยันพาณิชย์หนุน SME ให้ทันสมัยเป็นรากฐานสังคม

People Unity : “จุรินทร์” สั่งจัดรับฟังความเห็นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบบัญชีเพื่อขยายอำนาจทีเอ ย้ำบริษัท CSR ที่ถูกต้องทำเพื่อสังคมมากกว่าบริษัทอื่น เน้นก.พาณิชย์ส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจ SME ให้ทันสมัยเป็นรากฐานสังคม

เมื่อเวลา 10.00 น.-11.00 น. วันที่ 20 ตุลาคม 2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ของสมาคมผู้สอบบัญชีภาษีอากรแห่งประเทศไทย ณ รร.ริชมอนด์ ถนนรัตนาธิเบศ จ.นนทบุรี

นายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการพัฒนาและผลักดันเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจ SME ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มีความแข็งแกร่งโดยปรับเปลี่ยนจากผู้ประกอบการ SME ดั้งเดิม (Tradition SME)ไปสู่ผู้ประกอบการที่เน้นนวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น (Smart Enterprise ) ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจเกิดความตระหนัก และมีจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจในการจัดทำบัญชี และการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง รวมถึงลดต้นทุนการประกอบการ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันผมจึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพธุรกิจ SME ของประเทศไทยให้สอดรับกับยุคดิจิตอลเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง

การประกอบธุรกิจเพื่อสังคม CSR นั้นต้องแตกต่างจากธุรกิจ ปกติ แต่ต้องทำเพื่อสังคมเข้มข้นเป็นรูปธรรมกว่า เพราะได้รับสิทธิพิเศษมากกว่านิติบุคคลธรรมดาทั่วไป ดังนั้นต้องนำสิทธิพิเศษนั้นไปแลกกับการทำเพื่อสังคม ตอนนี้มีประกาศที่ลงนามไปทั้งหมด 4 ฉบับประกาศในราช 1.ประกาศเรื่องกำกับดูแลกิจการที่ดีลงนามเองเมื่อ 14 กย.2562 2.ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เรื่องกำหนดรายการอื่นเพื่อสังคม 3.ประกาศเรื่องระยะเวลาดำเนินการแระกอบธุรกิจเพื้อสังคม 24 กย2562 4.ประกาศเรื่องเงื่อนไขการนำกำไรไปใช้เพื่อสังคมต้องเป็นไปตามเงื่อนไข พรบ.วิสาหกิจเพื่อสังคม มาตรา 5

นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องการจดทะเบียนออนไลน์ สามารถดำเนินการได้แล้ว เรื่องต่อมากรณีบริษัทจำกัดคนเดียวเป็นเรื่องตรากฎหมายอยู่ระหว่างกฤษฎีการอกลับมาครมและเข้่สภาฯต่อไป เช่นกันกับบริษัท 2 คนจำกัดและ 3 คนจำกัด อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็ไปทีละขยัก ส่วนเรื่องการขอหนังสือรับรองหรือนำส่งงบการเงินด้วยระบบอิเลคทรอนิคสามารถดำเนินการได้แล้ว 10 ธนาคาร และนำส่งงบการเงินประจำปีทาวอิเลคทรอนิคได้ โดยเมื่อปี 2561 สามารคใช้ได้ถึง ร้อยละ 91 และขณะนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กำลังพัฒนาเรื่องการยืนยันตัวตนผ่านทางออนไลน์

” ส่วนเรื่องขอเพิ่มอำนาจทีเอ ( Tax Auditor) หรือผู้ตรวจสอบบัญชี ให้สามารถตรวจสอบรับรองบัญชีมากกว่าเดิมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีนโยบายขณะนี้เพราะมีทั้งบวกและลบแต่สิ่งที่มีนโยบาย คือ ต้องให้ทุกฝ่ายต้องมีความเห็นสอดคล้องกันเสียก่อน ดังนั้นจึงควรจัดเวทีรับฟังความเห็นทุกสมาคม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ตกผลึกว่าสุดท้ายควรเป็นอย่างไร เมื่อสรุปความเห็นแล้วจึงค่อยดำเนินการ ” นายจุรินทร์ กล่าว

ด้าน ดร.สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย นายกสมาคมผู้สอบบัญชีภาษีอากรแห่งประเทศไทยว่า การประชุมใหญ่สามัญสมาชิกในวันนี้ถือเป็นการครบรอบ 12 ปี ของการก่อตั้งสมาคมซึ่งมีสมาชิกจำนวนมากกว่า 1600 ท่าน ประกอบด้วยผู้สอบบัญชีภาษีอากร นักบัญชีผู้ประกอบการ และกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรจาก 4 สมาคมซึ่งถือเป็นการรวมตัวกันเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและยกระดับวิชาชีพด้านบัญชี ซึ่งมีทั้งผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และผู้สอบบัญชีภาษีอากร เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญที่ร่วมช่วยกันส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจ SME

คลัง”ชิมช้อปใช้”สัญจรโคราช! เข้าครม. 22 ต.ค.ต่อยอดเฟส2

People Unity : คลังเตรียมต่อยอดชิมช้อปใช้เฟส 2 หลังคลังเตรียมเสนอ ครม. 22 ต.ค. หวังสำรวจยอดการจับจ่ายใช้สอยผ่านร้านค้ารายย่อยในโคราช พร้อมกระตุ้นนักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยผ่านกระเป๋า 2

วันที่ 19 ต.ค.2562 นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฎิบัติงานกระทรวงการคลัง) เปิดเผยว่า ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ได้เดินทางลงพื้นที่ที่ตลาดนัดเซฟวัน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นตลาดนัดกลางคืนใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อสำรวจยอดการจับจ่ายใช้สอยของผู้ได้รับสิทธิ์โครงการชิมช้อปใช้ผ่านร้านค้ารายย่อยในจังหวัดนครราชสีมา พร้อมทั้งรณรงค์ให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ออกมาจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะกระเป๋า 2 เพราะสามารถได้รับเงินคืนสูงถึง 15%

พร้อมกันนี้ ยังได้กำชับให้ผู้ประกอบการทุกรายห้ามละเมิดกฎอย่างเด็ดขาด มิฉะนั้นจะถูกปิดแอ๊พถุงเงินทันที และจะถูกขึ้นบัญชีดำ ห้ามเข้าร่วมโครงการต่างๆของรัฐบาลในอนาคต ทั้งนี้เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาว่า ยังมีผู้ประกอบการบางรายที่กล้าฝ่าฝืนคำสั่งของกระทรวงการคลัง ด้วยการเปิดรับแลกสิทธิ์ 1,000 บาท เป็นเงินสดหรือแลกสิทธิ์ข้ามจังหวัด เป็นต้น

สำหรับความคืบหน้าของเฟส 2 นั้น กระทรวงการคลังเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 22 ต.ค. หวังดึงประชาชนร่วมโครงการจาก 10 ล้านคน ประมาณ 2-5 ล้านคน การเพิ่มจำนวนร้านค้าด้วยการดึงเครือข่ายลูกค้าของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมอีกราว 1 แสนร้านค้า หลังจากเฟสแรก มีร้านค้าใหม่มาร่วมโครงการเกือบแสนราย รวมทั้งต้องปรับเวลาการลงทะเบียนเป็นกลางวัน และหวังขยายระยะเวลาสิ้นสุดโครงการออกไปเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 62 เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว เมื่อ ครม.พิจารณาเห็นชอบแล้ว จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียน สิ่งจูงใจในการร่วมลงทะเบียนโครงการชิมช้อปใช้เฟส 2 กระซิบบอกได้เลยว่าน่าสนใจไม่แพ้ชิมช้อปใช้เฟสแรกอย่างแน่นอน

สรุปยอดการใช้จ่ายจนถึงวันที่ 18 ต.ค. 62 มียอดการใช้จ่ายทั้งสิ้น 8,676.8 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดจากกระเป๋า 1 จำนวน 8,537.2 ล้านบาท จากกระเป๋า 2 จำนวน 139.6 ล้านบาท แบ่งเป็นร้านชิม จำนวน 1,241.0 ล้านบาท ร้านช้อป จำนวน 4,847.1 ล้านบาท ร้านใช้ จำนวน 116.4 ล้านบาท และร้านค้าทั่วไป 2,472.3 ล้านบาท

“จุรินทร์”กระชับความสัมพันธ์ไทย-จีน ติดตามการซื้อ-ขายยางพารา

People Unity : “จุรินทร์”กระชับความสัมพันธ์ไทย-จีน หารือความร่วมมือพร้อมติดตามการซื้อ-ขายยางพาราไทย

วันที่ 18 ตุลาคม 2562 เวลา 14.00 น. นายหาน ฉางฟู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทสาธารณรัฐประชาชนจีนและคณะ ได้เข้าพบนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยเบื้องต้นมีการหารือด้านความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านกลไกความร่วมมือด้านการเกษตรทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี การแรกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและการอบรมบุคลากรรวมทั้งความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน ซึ่งโอกาสนี้หลังจากการคารวะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้วทางคณะจะได้ไปพบปะแลกเปลี่ยนในเชิงรายละเอียดกับนายเฉลิมชัยศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรในช่วงเย็นวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ต่อไป

นายหาน ฉางฟู่ กล่าวว่า ทางการจีนเน้นว่าการมาเยือนเพื่อกระชับความสัมพันธ์อันเป็นประโยชน์ของทั้งสองประเทศพร้อมทั้งจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์และผักดันให้เกิดความร่วมมือที่ดีขึ้นทางด้านการเกษตรระหว่างไทยและจีนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตาม นายหานระบุด้วยว่ากระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของจีนมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกระทรวงเกษตรของประเทศต่างไทยภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการเกษตรไทยจีนซึ่งประชุมร่วมกันมาแล้ว 11 ครั้ง รวมทั้งความร่วมมือด้านอาหารและการเกษตรจีน-อาเซียน และความร่วมมือด้านการเกษตรภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งทั้งสองคนไกลนี้ประเทศไทยมีความสำคัญมาก

รายงานข่าวแจ้งว่า นายจุรินทร์ ได้แสดงความขอบคุณและชื่นชมประเทศจีนในการแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศจีนซึ่งประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมโดยเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหาระดับโลกทั้งนี้ไทยเองก็จะได้เรียนรู้เนื่องจากทางการจีนมีความสำเร็จทั้งวิธีการที่ชัดเจน มีกระบวนการแก้ และผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมซึ่งจะได้มีการนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับไทยอย่างไรต่อไป

ในช่วงท้ายของการหารือ นายจุรินทร์ ยังได้ฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯของจีน ช่วยติดตามอีกแรงกรณีพันธะสัญญาที่ทางจีนจะซื้อยางพาราจากทางการยางแห่งประเทศไทยเกือบ 200,000 ตัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้หารือไประดับหนึ่งแล้วภายใต้ กรอบความร่วมมือ( ตามโครงการ One Belt One Road ) ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาราคายาวพาราตกต่ำในประเทศไทย และต้องการช่วยเกษตรกรชาวสวนยางเร่งด่วน ซึ่งนายหาน ฉางฟู่ ได้รับปากจะนำไปติดตามกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป

มท.1 ย้ำมหาดไทยต้องมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ ลดเหลื่อมล้ำ

People Unity : มท.1 ย้ำชัดมหาดไทยต้องมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำให้ ปชช.

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2562 เวลา 13.00 น. ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม อาคารอิมแพ็คฟอรัม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มอบนโยบายและบรรยายพิเศษ เรื่อง “กระทรวงมหาดไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก” โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟังกว่า 1,000 คน

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยเป็นกลไกของรัฐบาล เนื่องจากมีโครงสร้างในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ท้องถิ่น ท้องที่ และส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด อำเภอ ดังนั้น ทุกกระทรวงที่จะดำเนินนโยบายในระดับพื้นที่จะต้องผ่านโครงสร้างของกระทรวงมหาดไทยแทบทั้งสิ้น ดังนั้น บทบาทของพัฒนากรจังหวัด อำเภอ จะต้องพัฒนาชุมชนในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ฯลฯ จึงถือว่านักพัฒนากรคือมือไม้ของรัฐบาลในส่วนภูมิภาค

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้กำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งในด้านเศรษฐกิจฐานรากนั้นได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และหลักประชารัฐคือ การมีส่วนร่วมของรัฐ เอกชน และประชาชน เป็นรากฐานในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ดังนั้น นโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของกรมการพัฒนาชุมชน ต้องทำทั้งในส่วนของอำนาจหน้าที่ของกรมการพัฒนาชุมชน และช่วยสนับสนุนงานของรัฐบาลและกระทรวงอื่นๆที่ลงไปในพื้นที่ด้วย เช่น การพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ OTOP และช่องทางจำหน่าย การขับเคลื่อนหมู่บ้านชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว การพัฒนาตลาดประชารัฐให้เป็นตลาดที่สะอาดและปลอดภัย ผ่านการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โครงการตลาดประชารัฐ และการขับเคลื่อนภาคประชารัฐ (SE) หรือนโยบายของรัฐบาล เช่น การให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การจัดการกองทุนต่างๆในพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และยั่งยืน การป้องกันและแก้ไขยาเสพติด เป็นต้น

ท้ายสุด พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เน้นย้ำว่า ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของกระทรวงมหาดไทย คือ ต้องสร้างโอกาส สร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม กระจายรายได้ และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก  ตรงตามความต้องการของประชาชนและสภาพปัญหาของพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข

เศรษฐกิจ : มท.1 ย้ำมหาดไทยต้องมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาส เพิ่มรายได้ ลดเหลื่อมล้ำ

People Unity : post 18 สิงหาคม 2562 เวลา 13.30 น.

ครม.เศรษฐกิจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน เงินครองชีพ-เงินเที่ยว-สินเชื่อเกษตรกร

People Unity : นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม ครม.เศรษฐกิจ เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน ดูแลภัยแล้ง ดูแลผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ช่วยเหลือค่าครองชีพ เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ 20 ส.ค.นี้

วันนี้ (16 ส.ค.2562) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 1/2562 ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน

ภายหลังการประชุม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน คือ ด้านการดูแลภัยแล้ง การดูแลผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการช่วยเหลือค่าครองชีพ  ซึ่งมีทั้งงบประมาณปี 62 และวงเงินสินเชื่อสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ เพื่อให้มีผลทันทีในเดือนสิงหาคม 2562

สำหรับมาตรการที่สำคัญ คือ การช่วยเหลือค่าครองชีพ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งทุกคนที่ถือบัตรฯจำนวน 14.5 ล้านคน จะได้รับการเติมเงินพิเศษเพิ่มคนละ 500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ระหว่างสิงหาคม – กันยายนนี้ รวม 1,000 บาท ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับเดือนละ 500 บาทเป็นเวลา 2 เดือนเช่นเดียวกัน กลุ่มสุดท้าย คือเงินเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้ที่ถือบัตรฯ ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี ได้เดือนละ 300 บาท เป็นเวลา 2 เดือน

ส่วนมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่ประชุมเห็นชอบให้แจกเงินให้กับผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดนอกเขตภูมิลำเนาจำนวน 1,000 บาท โดยมีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นจำนวน 10 ล้านคน โดยต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ผ่านแอพพลิเคชันที่กระทรวงการคลังจัดทำขึ้น และยังให้ผู้ที่ได้สิทธิ์สามารถนำค่าใช้จ่ายจริงจากการเดินทางท่องเที่ยวมาขอคืนเงินได้อีก 15% ของค่าใช้จ่ายที่ไม่เกินวงเงิน 30,000 บาท ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะมีความชัดเจนหลังจากเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว และยังมีการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน และอินเดีย แต่ต้องหารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อไปว่าจะยกเว้นให้นานเท่าไร

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทั้งปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นเวลา 1 ปี และให้สินเชื่อฉุกเฉินจาก ธ.ก.ส. คนละไม่เกิน 50,000 บาท ปีแรกฟรีดอกเบี้ย รวมวงเงิน 50,000 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูความเสียหายจากผลกระทบภัยแล้งรายละไม่เกิน 5 แสนบาท วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท พร้อมทั้งขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ของ ธ.ก.ส. และช่วยเหลือต้นทุนการผลิตกับชาวนาที่ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 62/63 ให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 3 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ สำหรับผู้ที่ซื้อเครื่องจักรสามารถนำเงินค่าใช้จ่ายหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า รวมทั้งมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็กและกลาง ทั้งการช่วยเหลือผ่านกองทุนของรัฐบาล จากธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ช่วยค้ำประกัน และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน วงเงินรวม 52,000 ล้านบาท สุดท้ายคือการช่วยพักชำระหนี้เงินต้นให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแจงว่ามาตรการต่างๆเหล่านี้ ได้มีการหารือกับสำนักงบประมาณมาโดยตลอด และคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังเป็นสำคัญ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังสามารถเดินหน้าเติบโต และบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ร้อยละ 3 ทั้งปี

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ที่ประชุมตั้งเป้าหมายว่าจะดูแลเศรษฐกิจให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3% ในปีนี้ โดยสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประมาณการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้อยู่ระหว่าง 2.7 – 3.2% และมีค่ากลาง 3% โดยรายละเอียดทั้งหมดจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ ขณะที่ ครม. เศรษฐกิจครั้งต่อไปจะหารือในเรื่องของมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ และมาตรการส่งเสริมการส่งออกโดยกระทรวงพาณิชย์ในปลายเดือนสิงหาคมนี้

เศรษฐกิจ : ครม.เศรษฐกิจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 ด้าน เงินครองชีพ-เงินเที่ยว-สินเชื่อเกษตรกร

People Unity : post 16 สิงหาคม 2562 เวลา 19.30 น.

นายกฯห่วงเศรษฐกิจฐานราก เดินหน้าต่อนโยบายประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

People Unity : นายกฯห่วงเศรษฐกิจฐานราก เร่งเดินหน้านโยบายดูแลช่วยเหลือ พร้อมออกมาตรการหนุนอย่างเป็นรูปธรรม

ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานรากจึงได้กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ เพราะเศรษฐกิจฐานรากเป็นเสาหลักของความมั่นคงประเทศ โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เน้นย้ำว่าจะต้องเร่งดูช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่มีรายได้ไม่เกิน 5,344 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งมีถึง 40% หรือ 26.9 ล้านคน และส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรที่เป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย แต่กลับอยู่ในสภาพที่ง่อนแง่น

“นโยบายประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม โดยจะ 1) สานต่อนโยบายเกษตรประชารัฐซึ่งเป็นแนวทางเกษตรยั่งยืนด้วยมาตรการ 3 เพิ่ม 3 ลด 2) ตั้งกองทุนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่เอกชนและชุมชนร่วมทุนกัน ใช้เป็นกลไกการเงินของชุมชน 3) ส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากมีความหลากหลาย 4) เสริมความแข็งแกร่ง SMEs รายเล็กๆ ด้วยการเติมทุน เติมทักษะ เติมรายได้ และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการกระตุ้นการลงทุน เร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐ การขยายสิทธิบัตรสวัสดิการไปยังกลุ่มอื่น รวมถึงมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากด้วย คาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ในเร็วๆนี้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีใส่ใจในเรื่องนี้มาก โดยพบว่าการบริหารประเทศในอดีตเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจมหภาคที่มุ่งไปสู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ดังนั้น เป้าหมายในการดูแลเศรษฐกิจฐานราก คือ ทำให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองได้ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีคุณธรรม และเป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาด้านอื่นๆ ทั้งเรื่องสังคม ผู้คน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ

นอกจากนี้ ปัญหาของ “ชาวนา” เป็นปัญหา “เชิงโครงสร้าง” มีรากของปัญหา เช่น การถูกกดราคา กฎหมายและตลาดไม่เอื้อต่อชาวนารายย่อย ภัยธรรมชาติ ต้นทุนสูง ไม่มีที่ดินของตนเอง ขาดความรู้ มีภาระหนี้สิน ฯลฯ จึงต้องเร่งแก้ไขที่ต้นตอไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวพันกัน

เศรษฐกิจ : นายกฯห่วงเศรษฐกิจฐานราก เดินหน้าต่อนโยบายประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

People Unity : post 12 สิงหาคม 2562 เวลา 10.10 น.

ครม.เห็นชอบแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงปี 2562 ระยะเร่งด่วน

People Unity : ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (30 กรกฎาคม 2562) มีมติรับทราบสถานการณ์และแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงปี 2562 ระยะเร่งด่วน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้ ตามที่ได้เกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง (มิถุนายน 2562 ถึงปัจจุบัน) ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร ดังนั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการและเหล่าทัพสนับสนุนอากาศยานและกำลังพลร่วมการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง และร่วมแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็ว

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามสถานการณ์ และดำเนินการแก้ไขปัญหาฝนทิ้งช่วง ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร สรุปได้ดังนี้

1.สถานการณ์และแนวโน้ม

สภาพฝน กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนปี 2562 จะมีปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศน้อยกว่าปี 2561 และน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5-10 % (ปีที่แล้วต่ำกว่าค่าปกติ 3%) โดยช่วงต้นเดือนกรกฎาคม บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีปริมาณและการกระจายของฝนลดลง และมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ ก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร

สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่ง ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2562 มีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งประเทศ 10,729 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 23 ของความจุ (น้อยกว่าปริมาณน้ำปี 2561 อยู่ 11,484 ล้านลูกบาศก์เมตร) โดยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรต่ำกว่าร้อยละ 30 ของความจุ รวม 19 แห่ง ปริมาตรระหว่างร้อยละ 30 – 50 รวม 10 แห่ง และปริมาตรมากกว่าร้อยละ 50 รวม 6 แห่ง ซึ่งถือว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำน้อย

สถานการณ์การเพาะปลูกข้าวปี 2562/63 จากข้อมูลการสำรวจของกรมส่งเสริมการเกษตร  ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2562 จำนวน 47.88 ล้านไร่ ยังไม่ปลูกอีก 12.45 ล้านไร่ ประเมินความเสี่ยงและผลกระทบ พบว่า ฝนทิ้งช่วงจะส่งผลต่อปริมาณ คุณภาพ ผลผลิตของเกษตรกรจะลดลงหรือเสียหาย และผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนเกษตรกร ปัจจุบันยังไม่มีรายงานความเสียหายและไม่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯตามระเบียบกระทรวงการคลัง

2.แนวทางบริหารจัดการความเสี่ยงและบรรเทาผลกระทบ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการทันที และเตรียมการแก้ไขในระยะยาว โดยบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อให้ปฏิบัติงานได้ทันที และมีแผนปฏิบัติที่ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาในระยะต่อไป

การเผชิญเหตุระยะเร่งด่วน

1.ปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและพื้นที่การเกษตรที่ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร บูรณาการการปฏิบัติร่วมกับกองทัพ โดยกองทัพสนับสนุนอากาศยานเพิ่ม จำนวน 7 ลำ จากกองทัพบก 1 ลำ กองทัพอากาศ 5 ลำ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 ลำ พร้อมกำลังพล 88 นาย

2.สำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค พร้อมสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือ เช่น รถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ทันที และสร้างการรับรู้ ร่วมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด ดำเนินการ ดังนี้

2.1 ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการสำรวจข้อมูลพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง รวมทั้งจัดทำชุดข้อมูลแนวโน้ม/สถานการณ์น้ำในอนาคต วิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น วิธีการบริหารจัดการความเสี่ยง เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในไร่นา การสะสมน้ำต้นทุน และความชื้นในดิน เป็นต้น เพื่อสื่อสารสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกร และผู้ใช้น้ำได้ตระหนักและเข้าใจสถานการณ์ความเสี่ยง และให้ความร่วมมือในระดับที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูล แนวโน้ม เรียนรู้ที่จะปรับตัวและบรรเทาผลกระทบให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เช่น วิธีการดูแลรักษาพืชในภาวะแห้งแล้งฝนทิ้งช่วง ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยทดแทนการเพาะปลูกข้าวในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2562

2.2 การจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ และเครื่องจักรเครื่องมือสนับสนุนอื่นๆทั้งประเทศ จำนวน 4,850 หน่วย เพื่อสนับสนุนและพร้อมให้การช่วยเหลือทันท่วงที กระจายอยู่ตามโครงการชลประทานทุกจังหวัด และเตรียมพร้อมแหล่งน้ำต้นทุนในพื้นที่ใกล้เคียงระบบชลประทาน สำหรับการแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

2.3 แจ้งเตือนให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้เริ่มทำการปลูกข้าว ให้ชะลอการปลูกไปจนกว่าจะสิ้นสุดภาวะฝนทิ้งช่วง หรือจนกว่าปริมาณและการกระจายของฝนมีความสม่ำเสมอ และหากมีภาวะการขาดแคลนน้ำให้ดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด รวมทั้ง สร้างการรับรู้ ร่วมรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้มีการใช้น้ำประหยัดอย่างต่อเนื่อง

2.4 วางแผนการเพาะปลูกพืชและปฏิทินการเพาะปลูกเป็นการล่วงหน้า โดยเฉพาะในฤดูแล้งปี 2562/63 ให้สอดคล้องกับการคาดการณ์สถานการณ์น้ำ

2.5 จัดตั้ง War room ทุกจังหวัด เร่งสำรวจพื้นที่ประสบฝนทิ้งช่วงทุกจังหวัดพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบฝนทิ้งช่วง และแนะนำให้เกษตรกรมาขึ้นทะเบียนเกษตรกรหรือปรับปรุงทะเบียนก่อนเกิดความเสียหาย

3.ปรับแผนการระบายน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุ และเพิ่มความเข้มงวดติดตาม กำกับ การจัดสรรน้ำในระดับพื้นที่เพื่อให้ใช้น้ำอย่างประหยัด และมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศเพียงพอถึงฤดูแล้งปี 2562/63 ดำเนินการ ดังนี้

3.1 เก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด ไม่ระบายน้ำจากเขื่อนจนกว่าปริมาณน้ำจะมากกว่าเส้นควบคุมตอนล่าง และบริหารปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงสู่ระบบคลองชลประทาน แทนการบริหารน้ำที่ระบายจากเขื่อน

3.2 พื้นที่ดอนที่ยังไม่ได้ปลูก ให้ประชาสัมพันธ์แนะนำให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ หรือสนับสนุนการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายของผลผลิต สำหรับพื้นที่เพาะปลูกแล้ว จะดำเนินมาตรการส่งน้ำแบบประณีตด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง ส่งน้ำแบบรอบเวรหมุนเวียนในแต่ละพื้นที่

3.3 จัดแผนหมุนเวียน/จัดรอบเวรการใช้น้ำในระบบลุ่มน้ำ และบริหารจัดการน้ำที่จัดสรรอย่างเข้มงวด และสอดคล้องกับสถานการณ์

3.4 พิจารณาการใช้น้ำจากแก้มลิงธรรมชาติ และเสริมแหล่งน้ำด้วยบ่อน้ำบาดาล ในพื้นที่ที่เป็นที่ดอน

3.5 การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เมื่อประเมินน้ำฝนที่ตกลงมาแล้ว พบว่ามีความจำเป็นต้องปรับลดแผนการระบายน้ำ เพื่อประหยัดการใช้น้ำตลอดฤดูฝน และให้มีปริมาณน้ำเพียงพอ สำหรับการอุปบริโภค บริโภค ในปี 2563 เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำเป็นไปได้ตามแผนที่วางไว้ จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการควบคุมการบริหารจัดการน้ำ ดังนี้

1) ประตูระบายน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะเปิดรับน้ำเฉพาะการอุปโภคบริโภคเป็นครั้งคราว ทั้งนี้ อาคารเชื่อมต่อที่ดูแลโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ให้จัดทำปฏิทินการรับน้ำส่งให้กรมชลประทาน

2) ลำน้ำหรือคลองส่งน้ำที่มีความจำเป็นต้องรับน้ำเข้าเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลิ่งลำน้ำ ให้รับน้ำเข้าในเกณฑ์ต่ำสุด ซึ่งกรมชลประทานจะกำหนดอัตราการรับน้ำที่เหมาะสมให้

3) ขอความร่วมมือ ไม่ให้เกษตรกร ทำการปิดกั้นลำน้ำหรือสูบน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกเช่นกัน ทั้งนี้ หากพื้นที่ใดมีความจำเป็นจะต้องสูบน้ำเพื่อใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค ให้จัดทำปฏิทินการสูบน้ำ ส่งให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ

4) สถานีสูบน้ำของการประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และการประปาส่วนท้องถิ่นสามารถทำการสูบน้ำได้ตามปกติ ทั้งนี้ให้จัดทำปฏิทินการสูบน้ำ ส่งให้กรมชลประทาน

5) ลดการเพาะเลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำปิง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำท่าจีนและในระบบชลประทาน

6) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำ คูคลอง และแหล่งน้ำต่างๆ เนื่องจากทำให้ต้องระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อเจือจางน้ำเสีย

การช่วยเหลือเยียวยาระยะสั้น

1.การบรรเทาความเดือดร้อนด้านรายได้เพื่อเสริมสภาพคล่องของเศรษฐกิจครัวเรือนเกษตรกรที่ประสบภัยฝนทิ้งช่วง โดยการสนับสนุนเงินทุนแก่สมาชิกสหกรณ์ สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ให้สหกรณ์วงเงิน 1,600 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 เป็นระยะเวลา 3 – 5 ปี โดยมีวงเงินกู้ให้สมาชิกรายละไม่เกิน 30,000 – 50,000บาท ผ่านการดำเนินโครงการ 3 โครงการ ได้แก่

1.1 โครงการส่งเสริมอาชีพสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง วงเงิน 600 ล้านบาท มี 2 กิจกรรม ได้แก่ ให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อพัฒนาอาชีพ และเพื่อจัดหาแหล่งน้ำทำการเกษตร

1.2 โครงการจัดหาแหล่งน้ำให้สมาชิกสหกรณ์ วงเงิน 400 ล้านบาท

1.3  โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ วงเงิน 600 ล้านบาท

2. การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ เกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือ ข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 1,690 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ โดยเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือภายใน 90 วัน

3.โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิงที่ซื้อประกันภัยกับ ธ.ก.ส. จะได้รับการช่วยเหลือ ไร่ละ 1,260 บาท และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิงที่ซื้อประกันภัยกับ ธ.ก.ส. จะได้รับการช่วยเหลือ ไร่ละ 1,500 บาท

4.เตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง (มิถุนายน – สิงหาคม 2562) ตามความต้องการพันธุ์ข้าวของเกษตร โดยต้องคำนึงปริมาณน้ำและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่

การดำเนินการในระยะต่อไป

1.ประเมินความเสี่ยงต่อปริมาณน้ำต้นทุนในอนาคต เพื่อนำไปสู่การบริหารความต้องการน้ำภาคเกษตรและวางแผนการเพาะปลูกพืชที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำ โดยกำหนดปฏิทินการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำ

2.ประเมินความเสี่ยงต่อระดับความมั่นคงด้านอาหาร และผลกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร การดำรงชีวิต และสภาพคล่องทางการเงินของครัวเรือนเกษตรกร รวมทั้งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง

3.ประเมินความเสี่ยง ต่อการปฏิบัติงานเพื่อการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน โดยวิเคราะห์มาตรการ งบประมาณที่จะช่วยเหลือเยียวยา และสนับสนุนเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากพบความเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายต่อผลผลิต เกษตรกรเสียโอกาสในการผลิต และกระทบต่อรายได้ในครัวเรือนจนอาจทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และไม่สามารถดำรงชีพขั้นพื้นฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา มาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ให้สามารถปรับตัวและมีความพร้อมที่จะเผชิญเหตุ และสามารถบริหารความเสี่ยงได้ด้วยตนเองในระดับหนึ่ง เช่น มาตรการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน มาตรการเพิ่มขีดความสามารถการผลิตและการตลาด โดยยึดหลักที่จะไม่สร้างภาระงบประมาณภาครัฐ รวมทั้งเป็นมาตรการที่ส่งเสริมให้เกษตรกรมีศักยภาพ และความพร้อมที่จะรับมือกับภาวะฝนทิ้งช่วง ในอนาคตได้ดีกว่าปัจจุบัน รวมทั้ง เป็นมาตรการที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบได้ในห้วงเวลาที่เหมาะสมหรือทันต่อสถานการณ์ต่อไป

เศรษฐกิจ : ครม.เห็นชอบแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงปี 2562 ระยะเร่งด่วน

People Unity : post 31 กรกฎาคม 2562 เวลา 12.30 น.

Fitch ปรับอันดับความน่าเชื่อถือต่อไทยดียิ่งขึ้น ผลจากได้รัฐบาลพลเรือนและบาทสุดแกร่ง

People Unity : Fitch ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะยาว จากระดับ “มีเสถียรภาพ (Stable outlook)” เป็น “เชิงบวก (Positive outlook)”

19 กรกฎาคม 2562 : กระทรวงการคลังรายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings (Fitch) ว่า ในวันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2562 Fitch ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะยาวจากระดับ “มีเสถียรภาพ (Stable outlook)” เป็น “เชิงบวก (Positive outlook)” และคงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะยาวที่ระดับ BBB+ ตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะสั้นที่ระดับ F1 และเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Country Ceiling) ที่ระดับ A-

(1) ประเทศไทยได้รับการปรับมุมมองความน่าเชื่อถือ เป็นผลมาจากปัจจัยหลักกล่าวคือ Fitch มีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้นว่าความเสี่ยงทางการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารเศรษฐกิจมหภาค โดยสะท้อนจากความเข้มแข็งทางการเงินภาคต่างประเทศ (External Finance) และภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ประเทศไม่อ่อนไหวต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเงิน ในขณะที่ปัญหาทางการเมืองที่สำคัญได้รับการแก้ไขภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ระดับความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงมีอยู่โดยขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของรัฐบาลผสม

(2) ความเข้มแข็งทางการเงินภาคต่างประเทศของไทยเป็นจุดแข็งหลักต่อความน่าเชื่อถือของประเทศสะท้อนได้จากการที่สกุลเงินบาทไทยแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยในปี 2562 ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าร้อยละ 4.5 เนื่องจากการไหลเข้าของเงินทุนและการลงทุนในตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเดือนมิถุนายน 2562

(3) Fitch คาดการณ์ว่าภาคการเงินต่างประเทศของไทยจะยังคงเข้มแข็ง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP จะยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน (กลุ่ม BBB) ที่ร้อยละ 5.6 ในปี 2562 และร้อยละ 4.9 ในปี 2563 ซึ่งได้แรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและการเกินดุลการค้า แม้ว่าการส่งออกจะชะลอตัวลงก็ตาม อย่างไรก็ดี Fitch คาดการณ์ว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประกอบกับเงินทุนที่ไหลเข้ามานั้นส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 205,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 เป็นประมาณ 216,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 นอกจากนี้ สัดส่วนการเป็นเจ้าหนี้สุทธิกับต่างประเทศต่อ GDP ที่ร้อยละ 43 ในปี 2562 สูงกว่าค่ากลางสัดส่วนการเป็นลูกหนี้สุทธิต่อ GDP ของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน (กลุ่ม BBB) ที่ร้อยละ 7 ตามประมาณการของ Fitch รวมถึงสูงกว่าค่ากลางสัดส่วนการเป็นเจ้าหนี้สุทธิของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ A ที่ร้อยละ 9.7

(4) รัฐบาลบริหารทางการคลังได้อย่างเข้มแข็งภายใต้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 Fitch คาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDP (General Government Debt to GDP) จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.3 ในปีงบประมาณ 2561 เป็นร้อยละ 40.7 ในปีงบประมาณ 2566 เนื่องจากรัฐบาลเร่งการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

(5) การขาดดุลงบประมาณของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกันแล้วถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดย Fitch คาดการณ์ว่าการขาดดุลภาครัฐบาล (General government deficit) ตามมาตรฐาน Government Finance Statistics (GFS) จากที่เกินดุลที่ร้อยละ 0.1 ของ GDP ในปลายปีงบประมาณ 2561 เป็นขาดดุลที่ร้อยละ 0.2 ของ GDP ในปี 2562 ในขณะที่การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะล่าช้าไป 3 เดือน อย่างไรก็ตาม Fitch คาดการณ์ว่า การขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP เนื่องจากรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการเพื่อผู้มีรายได้น้อยและโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งนี้ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นช่วยคลี่คลายความไม่แน่นอนทางการเมืองและมีส่วนช่วยสนับสนุนความต่อเนื่องของนโยบายที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน Fitch คาดการณ์ว่าการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามแผนงานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะปานกลาง

(6) อย่างไรก็ดี Fitch จะติดตามสถานการณ์สำคัญซึ่งส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทย ได้แก่ ระดับหนี้ครัวเรือนของไทย การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย และการพัฒนาทุนมนุษย์

เศรษฐกิจ : Fitch ปรับอันดับความน่าเชื่อถือต่อไทยดียิ่งขึ้น ผลจากได้รัฐบาลพลเรือนและบาทสุดแกร่ง

People Unity : post 19 กรกฎาคม 2562 เวลา 23.11 น.

Verified by ExactMetrics