วันที่ 23 พฤศจิกายน 2024

ครม.เห็นชอบ 2 มาตรการภาษีหนุนการท่องเที่ยวในประเทศ ท่องเที่ยว อบรม สัมมนา ลดหย่อนภาษีได้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 มิถุนายน 2567 “รัดเกล้า” เผย ครม. เห็นชอบ สองมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ

วันนี้ (4 มิถุนายน 2567) นางรัดเกล้า อินวงศ์ สุวรรณคีรี  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (4 มิถุนายน 2567) ที่ประชุม ครม. มีมติให้ความเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) และมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season) ซึ่งคือระหว่างเดือนพฤษภาคม 2567 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2567

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากโควิด-19 และ ผลกระทบจากปัญหาเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของจีน ส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทย  ทั้ง 2 มาตรการนี้จะช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับระบบเศรษฐกิจของไทย เพราะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงานอีกด้วย

โดยทั้ง 2 มาตรการ มีระยะเวลาดำเนินงาน ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567- 30 พฤศจิกายน 2567

มาตรการแรก “มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล)”

กลุ่มเป้าหมาย – บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

สิทธิประโยชน์ทางภาษี – ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ที่จ่ายไปตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 – 30 พฤศจิกายน 2567 โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรเท่านั้น ทั้งนี้ สำหรับค่าขนส่ง สามารถจ่ายให้ผู้ที่มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ ซึ่งจะต้องมีใบรับในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ โดยทำผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร

รายละเอียดของการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการหักค่าใช้จ่ายได้ ดังนี้

(1) หักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด (พื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก)

(2) หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่ไม่ได้จัดขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดฯ (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก)

(3) ให้หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง ในกรณีที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใด

พื้นที่ในการให้สิทธิประโยชน์ จังหวัดท่องเที่ยวรอง โดยแบ่งเป็นพื้นที่ทั้งจังหวัด 55 จังหวัด และพื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก 15 จังหวัด (หักรายจ่ายได้ 2 เท่า) และพื้นที่อื่น (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก) (หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า)

มาตรการที่สอง “มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา)”

กลุ่มเป้าหมาย – ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สิทธิประโยชน์ทางภาษี – ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักลดหย่อนค่าบริการได้ ดังนี้ (1) ค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว (2) ค่าที่พักในโรงแรม (3) ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย (4) ค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็ม ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรเท่านั้น

พื้นที่ในการให้สิทธิประโยชน์ จังหวัดท่องเที่ยวรองเท่านั้น

ทั้งนี้ ทั้ง 2 มาตรการดังกล่าว จะรวมอยู่ในการดำเนินการออกร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. … จำนวน 1 ฉบับ

กค. ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ โดยมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 1,200 ล้านบาท ในขณะที่ มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 581.25 ล้านบาท

ในการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าขอให้ทางกฤษฎีกาเร่งดำเนินการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน นอกจากนั้น ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่แต่ละเขต แต่ละจังหวัด ดูแลพื้นที่ตัวเองอย่างใกล้ชิด โดยขอให้ประสานงานกับทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันในการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองรองอย่างมีประสิทธิภาพ

“มาตรการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในและนอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ” รองโฆษกฯ รัดเกล้า ย้ำ

Advertisment

นายกฯ เปิดงาน Thailand Buffalo Heritage ชู Soft Power การพัฒนาสายพันธุ์ควายสวยงาม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 มิถุนายน 2567 นายกฯ เปิดงาน Thailand Buffalo Heritage ชู Soft Power การพัฒนาสายพันธุ์ควายสวยงาม เป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทย ย้ำรัฐบาลยินดีสนับสนุนการจัดงานอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (1 มิถุนายน 2567) เวลา 17.30 น. ณ ลานหลังวัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการ Thailand Buffalo Heritage โดยมี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และคณะเข้าร่วมงาน

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เมื่อนายกฯ เดินทางถึงบริเวณสถานที่จัดงานโซนหมู่บ้านควาย ได้มีแม่หยาดฟ้า และคุณนายกระต่ายทอง (ลูกแม่หยาดฟ้า) จากชัยชนะฟาร์ม ควายงามเมืองย่าโม จ.นครราชสีมา และศรราม (ควายแคระ) มาร่วมต้อนรับพร้อมกับผู้ร่วมงาน จากนั้น นายกฯ ได้เดินเยี่ยมชมเต็นท์ต่าง ๆ ที่มีเกษตรกรและเจ้าของฟาร์มนำควายมาจัดแสดงภายในงาน เช่น นินลนีย์ฟาร์มเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ชนัฐปภาฟาร์ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น วนาสุวรรณฟาร์ม จ.ปทุมธานี ควายงามเมืองพระชนก จ.อุทัยธานี คนควาย ควายฟาร์ม จ.อุดรธานี เป็นต้น โดยนายกฯ ได้สอบถามประวัติความเป็นมาของควายที่นำมาจัดแสดง ชื่อ อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง รวมทั้งมูลค่าของควาย เป็นต้น และนายกฯ ยังได้ยืนเทียบส่วนสูงกับควายเผือกยักษ์ พร้อมพูดคุยกับผู้ดูแลควายอย่างเป็นกันเอง

จากนั้น นายกฯ ได้เข้าไปยังเต็นท์หลัก เพื่อชมการแสดงชุด “มนต์เสน่ห์ควายสยาม” ซึ่งมีควายชื่อดังมาเดินโชว์ตัว เช่น โก้เมืองเพชร โก้สยาม ไส้อั่วและช้างภูแล จ.ปทุมธานี ดาวสยาม จ.อุดรธานี มังกรฟ้า จ.อุทัยธานี ออเจ้า จ.พระนครศรีอยุธยา ไข่มุกและกัปตัน จ.หนองบัวลำภู คิงคอง จ.นครราชสีมา จากนั้น นายกฯ รับฟังรายงานการจัดโครงการ Thailand Buffalo Heritage จากนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรายงานการจัดแฟชั่นโชว์ควาย จากนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ภายหลังจากรับฟังรายงานแล้ว นายกฯ ได้มอบถ้วยรางวัลการประกวดควาย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ 1. ประเภทควายยอดเยี่ยม Grand champion เผือกเพศเมีย ควายที่ได้รับรางวัล ชื่อ ไข่มุก จาก ส. สมพงษ์ฟาร์ม จังหวัดอุทัยธานี และ 2. ประเภทควายยอดเยี่ยม Grand champion สีดำ เพศเมีย ควายที่ได้รับรางวัล ชื่อ หงส์สยาม จากศิริเสนีย์ฟาร์ม จังหวัดเพชรบูรณ์

โอกาสนี้ นายกฯ กล่าวเปิดงาน Thailand Buffalo Heritage โดยรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาเปิดงาน Thailand Buffalo Heritage พร้อมกล่าวว่า คนไทยเราอยู่กับควายมาหลาย ๆ เจเนอเรชั่น ควายเองก็เป็นเพื่อนเรามานานหลายปี ไม่ว่าจะออกศึกด้วยกัน ทำมาหากินด้วยกัน ช่วยกันทำการเกษตร วันนี้ขอขอบคุณคณะทำงานที่ช่วยยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับควาย มีการพัฒนาสายพันธุ์ที่ดี มีการจัดการประกวด มีการหารายได้เสริมพิเศษให้กับผู้ที่เลี้ยงควาย ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง นอกจากนั้น ยังต้องกล่าวถึงเรื่องของ Soft Power ด้วยว่า ถ้าเกิดการพัฒนาสายพันธุ์ควาย ควายสวยงามที่เห็นมาวันนี้ จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีการท่องเที่ยว ให้มีการไปมาหาสู่ระหว่างคนต่างชาติที่จะเข้ามาดูควาย ในวันนี้หากใครได้มาเห็นควายสวยงาม ก็ต้องมีความประทับใจเป็นอย่างมากว่า ไม่เคยเห็นไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะสวยงามขนาดนี้ และไม่ใช่แค่ความสวยอย่างเดียว แววตาของเขาเองก็น่ารัก เมื่อได้สัมผัส ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีงาม ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ และคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น ขอให้งานนี้ดำเนินไปด้วยความราบรื่น เชื่อว่าถ้าปีหน้ามีการจัดงานอีก ก็จะมีควายสวยงามมาเพิ่ม ซึ่งรัฐบาลยินดีให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

จากนั้น นายกฯ พร้อมคณะผู้จัดงานได้ร่วมพิธีกดปุ่มเปิดงาน Thailand Buffalo Heritage อย่างเป็นทางการ สำหรับงาน Thailand Buffalo Heritage จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 2 มิถุนายน 2567 เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย สมาคมพัฒนาพันธุ์ควายไทย และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ตระหนักรู้และเห็นคุณค่าของควายไทย พร้อมกับเล็งเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมควายไทย ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สามารถเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลัก รายได้รอง หรือรายได้เสริมให้แก่ผู้เลี้ยง คาดว่าการจัดงานกล่าว จะมีนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติร่วมงานกว่า 2,000 คน จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดได้

“รัฐบาลมุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของประเทศในทุกมิติ เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยยกระดับและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยควายไทยถือเป็นอีกหนึ่ง Soft Power สำคัญที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมควายไทยจะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน และช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

Advertisment

“เศรษฐา” ประชุม ครม.เศรษฐกิจ เร่งแก้ปากท้อง-ช่วยภาคธุรกิจ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 พฤษภาคม 2567 นายกฯ เร่งแก้ไขปัญหาปากท้อง-ช่วยภาคธุรกิจ สั่งหามาตรการระยะสั้น มาเสนอ ครม.เศรษฐกิจอีก 2 สัปดาห์

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ว่า การประชุมกับกระทรวงและหน่วยงานเศรษฐกิจ เพื่อหามาตรการระยะสั้น ทั้งของภาคเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ส่งออก พลังงาน และการเงินการคลัง ที่จะเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน และช่วยภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งหาแหล่งเงินทุนสำหรับ SMEs เพราะหลายเรื่องจำเป็นต้องทำงานข้ามกระทรวง จึงได้ให้การบ้านกระทรวงเศรษฐกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหามาตรการระยะสั้นที่ทำได้ทันทีมาเสนอในการประชุมในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า

Advertisement

โฆษก รบ.เผย นายกฯ มุ่งพัฒนาร้านค้าส่ง-ค้าปลีกรายย่อย ยกระดับเป็น“สมาร์ทโชห่วย” เพิ่มความสามารถแข่งขัน ขับเคลื่อน ศก.ท้องถิ่น

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 26 พฤษภาคม 2567 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ มุ่งสร้างเครือข่ายร้านค้าส่งค้าปลีกรายย่อย พัฒนาร้านค้าพี่เลี้ยงต้นแบบ ยกระดับร้านค้าเป็น“สมาร์ทโชห่วย” สร้างโอกาส ขยายตลาด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม พัฒนา และยกระดับการค้าของธุรกิจ SME ด้วยความเชื่อมั่นว่า SME จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนา เศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้ง มุ่งยกระดับเศรษฐกิจในชุมชน กระจายความเจริญ ลดช่องว่างของการพัฒนา ทั้งนี้ มีร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบแล้ว 307 ร้านค้า และสมาร์ทโชห่วย 7,375 ร้านค้า ทั่วประเทศ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการตามแนวทางเพื่อยกระดับร้านค้าส่งค้าปลีกรายย่อย สร้างโอกาสทางการตลาด โดยการสร้างเครือข่ายสำหรับผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าส่งค้าปลีกในชุมชน สร้างร้านค้าต้นแบบ เพื่อเป็นร้านค้าตัวอย่างและร้านค้าพี่เลี้ยงสำหรับการช่วยดูแลร้านค้าอื่น ๆ และแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ในการประกอบธุรกิจ โดยได้มีการตั้งเป้าหมาย การพัฒนาร้านค้าต้นแบบในปี 2567 ไม่น้อยกว่า 30 ร้านค้าและขยายผลไปยังร้านค้าส่งค้าปลีกอื่นๆ ให้ได้รับผลประโยชน์ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 250 ร้านค้า สร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี พัฒนาระบบการจัดการของร้านค้าให้มีความทันสมัย ขยายตลาด ขยายกลุ่มลูกค้าและเพิ่มยอดขาย

นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังมีเป้าหมายพัฒนาร้านค้า“สมาร์ทโชห่วย” โดยจะมีการปรับภาพลักษณ์ร้านค้าตามหลัก 5ส (สวย สะอาด สว่าง สะดวก สบาย) ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้โดยการใช้ระบบขายหน้าร้าน (POS: Point of sale) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการขายสินค้าหน้าร้าน การจัดการสต็อกสินค้า การดูรายงานยอดขายเบื้องต้น การสรุปรายรับรายจ่าย และการจัดการใบกำกับภาษี เป็นต้น พร้อมทั้งมีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความรู้อย่างต่อเนื่องผ่านสัมมนาออนไลน์/ออนไซต์ทั่วประเทศ และ สิทธิประโยชน์อื่น ๆ จากหน่วยงานในเครือข่าย โดยทางหน่วยงานมีแผนที่จะลงพื้นที่เบื้องต้นใน 24 จังหวัด 33 ร้านค้า เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำในการปรับภาพลักษณ์ การจัดเรียงสินค้า พร้อมทั้งสอนการใช้งานเทคโนโลยีการขาย จังหวัดละ 1 ร้านค้า ได้แก่ นครสวรรค์ พิษณุโลก ลำปาง ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ยโสธร กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม อุทัยธานี ตรัง พังงา และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 2 ร้านค้า ได้แก่ สุโขทัย ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู อุบลราชธานี และสระแก้ว  จังหวัดละ 3 ร้านค้า ได้แก่ ขอนแก่น และสกลนคร

ทั้งนี้ จากข้อมูลเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 พบว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการยกระดับเพื่อสร้างร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบ (พี่เลี้ยงโชห่วย) ไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 307 ร้านค้า แบ่งเป็น ภาคกลาง 99 ร้านค้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 98 ร้านค้า ภาคเหนือ 66 ร้านค้าและภาคใต้ 44 ร้านค้า และการพัฒนาร้านค้าโชห่วยอื่นๆ ในการปรับภาพลักษณ์ และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี (สมาร์ทโชห่วย) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 7,375 ร้านค้า แบ่งเป็น ภาคกลาง 2,288 ร้านค้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,063 ร้านค้า ภาคใต้ 1,523 ร้านค้า และ ภาคเหนือ 1,501 ร้านค้า

“นายกรัฐมนตรี มุ่งยกระดับร้านค้าส่งค้าปลีกในชุมชน เพื่อร่วมสร้างสรรค์เศรษฐกิจระดับชุมชนร่วมกันภายในท้องถิ่น ปรับเปลี่ยนการพัฒนาร้านค้า นำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น โดยเชื่อมั่นว่าการพัฒนาร้านค้าโชห่วยในโครงการนี้ จะช่วยเพิ่มจำนวนกลุ่มลูกค้าและโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น รวมถึงทำให้เกิดการยกระดับร้านค้า สู่การนำเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายย่อยสามารถดำเนินธุรกิจได้มีประสิทธิภาพ สนับสนุนศักยภาพของประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล สร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น” นายชัย กล่าว

Advertisment

รัฐบาลเผย ล่าสุดส่งแรงงานไทยไปทำงาน ตปท.แล้ว 60,769 คน ใน 139 ประเทศ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 26 พฤษภาคม 2567 ​รัฐบาลเผยผลสำเร็จ คืบหน้าส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศแล้ว กว่า 60,000 คน จากเป้าหมาย 100,000 คน เดินหน้าส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมแรงงานไทยให้มีรายได้มั่นคง และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลสำเร็จความคืบหน้าการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ล่าสุดกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศแล้ว จำนวน 60,769 คน หรือร้อยละ 60.7 ใน 139 ประเทศ ซึ่ง 5 อันดับแรกที่มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสหรัฐอเมริกาตามลำดับ

นายคารม กล่าวว่า แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะต้องผ่านการอบรมคนหางาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้แรงงานไทยได้มีความรู้เข้าใจขั้นตอนการไปทำงานในต่างประเทศและปฏิบัติได้ถูกต้อง ทราบเงื่อนไขตามสัญญาจ้างงาน สภาพการจ้าง และขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี มีความพร้อมในการทำงานและเกิดความมั่นใจ รวมทั้งรู้ช่องทางขอความช่วยเหลือ ทราบสิทธิประโยชน์ และการคุ้มครองคนหางานตามกฎหมาย รวมทั้งแนะนำการสมัครสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อรับความคุ้มครอง และสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายกำหนด หากเกิดเหตุไม่คาดคิด หรือเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินในขณะเป็นสมาชิกกองทุนฯ เช่น กรณีถูกทอดทิ้งในต่างประเทศ กรณีประสบอันตราย ก่อนไปทำงานหรือขณะทำงานในต่างประเทศ กรณีถูกเลิกจ้างจากสาเหตุประสบอันตราย กรณีประสบอันตรายจนพิการ กรณีถูกส่งกลับเนื่องจากเป็นโรคต้องห้าม และกรณีประสบปัญหาจากภัยสงคราม ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด

“สำหรับผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถติดตามข่าวสารการประกาศรับสมัครได้ที่เว็บไซต์ doe.go.th/overseas และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694” นายคารม กล่าว

Advertisment

นายกฯชูจุดยืนความเป็นกลางของไทย ดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่น จากความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 24 พฤษภาคม 2567 นายกฯ หารือสถาบันการเงิน MUFG & Softbank ย้ำจุดยืนความเป็นกลางของไทย ดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นที่พิจารณากระจายกิจการจากความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์

วันที่ 23 พฤษภาคม 2567 เวลา 15.25 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) ณ ห้อง Sky Room ชั้น 24 โรงแรม The Peninsula Tokyo นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบหารือกับผู้บริหารบริษัท MUFG & Softbank MUFG Bank, Ltd. เป็นธนาคารชั้นนำและใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น มีสินค้าและบริการทางการเงินที่ครอบคลุมทั้งในด้านธุรกิจและการลงทุนให้กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ภาครัฐ และลูกค้ารายย่อยทั่วโลก มีสาขาในประเทศ 421 สาขา และสาขาต่างประเทศ 105 สาขา ครอบคลุม 40 ประเทศทั่วโลก ในปี 2566 ได้รับการจัดอันดับจาก S&P rating ให้อยู่ในระดับ A

SoftBank Group Corp. เป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีและโทรคมนาคมของญี่ปุ่น โดยมีการลงทุนในระดับโลก ทั้ง Mobile/Fixed-line communications, Social media, Cashless payment/Finance, Online media, E-commerce ในหลากหลายตลาดทั้งในและต่างประเทศ บริษัทและบริษัทในเครือมีการลงทุนทั่วโลกจำนวน 38 โครงการ ใน 10 ประเทศ

บริษัท MUFG & Softbank พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ผ่านการทำงานร่วมกับทีมนายกรัฐมนตรี และ BOI เพื่อดึงดูดนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่กำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยจะมีการจัดสัมมนา Thailand-Japan Investment Forum เพื่ออัปเดตกลไกที่ภาครัฐได้มีการปรับปรุงเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนในช่วงที่ผ่านมา เช่น การจัดทำกลไกพลังงานสะอาด เป็นต้น รวมถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และกิจการสำนักงานภูมิภาค นอกจากนี้ จะมีการจัด Roundtable Meeting และการตั้งบูธของ BOI เพื่อให้บริการคำปรึกษา โดยกิจกรรมดังกล่าวจะจัดในวันที่ 20 – 21 มิถุนายน 2567 ณ โอซาก้าและโตเกียว คาดว่าจะมีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าร่วมงานประมาณ 600 คน

นายกรัฐมนตรีสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการจัดตั้งธนาคาร MUFG ในไทย ซึ่งบริษัทได้ขอบคุณรัฐบาลที่สนับสนุนให้บริษัทเป็น Partner ซึ่งทำให้บริษัทเกิดการพัฒนา โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำสถานะความเป็นกลางของไทย ซึ่งเป็นพื้นที่การลงทุนที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนที่กำลังมองหาศูนย์การผลิตเพื่อส่งออกไปทั่วโลก รวมทั้งไทยมี Free Visa รองรับนักลงทุนญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Start up และ SMEs

Advertisement

นายกฯ เผยผลสำเร็จหารือภาคเอกชนญี่ปุ่น 5 บริษัท เชื่อมั่นศักยภาพประเทศไทย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 23 พฤษภาคม 2567 นายกฯ ให้สัมภาษณ์ผลสำเร็จการหารือภาคเอกชนญี่ปุ่น 5 บริษัท เชื่อมั่นศักยภาพประเทศไทย ขอบคุณการสนับสนุนของรัฐบาล และมีแผนขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติม พร้อมผลักดันการแก้ปัญหาภาคใต้ร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

วันนี้ (23 พฤษภาคม 2567) เวลา 16.22 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) ณ ห้อง Sky Room ชั้น 24 โรงแรม The Peninsula Tokyo นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงภารกิจในวันนี้ โดยได้หารือกับภาคเอกชนของญี่ปุ่น 5 ราย ดังนี้

1) บริษัท Mitsui & Co., Ltd. ซึ่งเคยพบกันเมื่อตอนนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ (ASEAN – Japan Commemorative Summit) เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 โดยบริษัทมีความคืบหน้าจากที่ได้คุยกันคราวก่อน เรื่องเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดแบบยั่งยืน (sustainable aviation fuel: SAF) ซึ่งมีความคืบหน้า โดยมีการลงนาม MOU แล้ว และคาดว่าจะมีการตั้งฐานการผลิตที่ประเทศไทย โดยจะมีการทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ที่จะให้รัฐบาลทำกับเอกชน ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นก่อน นอกจากนี้ SAF ทำมาจากซากพืชที่เหลือจากไทย โดยเฉพาะอ้อย เป็นประโยชน์มากเพราะจะช่วยลด PM 2.5 ได้อย่างดี รวมถึงมีการสอบถามเรื่องการเจาะหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับ OCA ว่า สัปดาห์หน้าจะมีการตั้งคณะกรรมการฯ นอกจากนี้ บริษัทมีโรงงานทำบรรจุภัณฑ์ที่มาเลเซีย นายกรัฐมนตรีจึงเชิญชวนให้มาสร้างโรงงานและทำการตลาดที่ไทย ซึ่งบริษัทกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ ทั้งนี้ บริษัท Mitsui มีหลายบริษัทและมีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีฝากว่า Mitsui เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่งในญี่ปุ่น เรามีความสัมพันธ์กันมานานมาก ขอให้มั่นใจว่า ประเทศไทยเปิดแล้ว และไม่มีเวลาไหนที่จะดีกว่าเวลานี้ที่จะมาลงทุนในไทย

2) บริษัท Ajinomoto Co., Inc. ซึ่งอยู่ในไทยมานานมากแล้ว มีโรงงานใหญ่ที่ผลิตผงชูรส 3 โรงงาน และจะมีการขยายโครงการในอนาคตอีก 16 โครงการภายในปีหน้า มูลค่าประมาณ 4,400 ล้านบาท ซึ่งจะขยายไปทำสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่เกี่ยวข้องกับ Amino acid ซึ่งจะส่งไปขายในต่างประเทศได้ รวมถึงเรื่อง Health Care เรื่อง Green Economy และทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ ยำ ยำ ตลอดจนสนับสนุนเกษตรกรที่ทำมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำสินค้าของบริษัท โดยนายกรัฐมนตรีต้องการให้บริษัทสนับสนุนพืชผลอื่น ๆ ในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย

3) บริษัท Sony Group Corporation เป็นบริษัทชั้นนำด้านเกม ดนตรี ภาพยนตร์ อิเล็กทรอนิกส์ และเลนส์กล้อง ซึ่งปัจจุบันทำเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ในไทย และอยากให้ไทยเป็นศูนย์กลาง high-tech product ซึ่งปัจจุบันมีหลายโรงงานอยู่แล้ว นายกรัฐมนตรีเชิญให้บริษัทเข้ามาตั้ง Regional Office ในไทยเพราะธุรกิจเขาเยอะ โดยโรงงานที่ตั้งไม่ใช่ขายแค่ในประเทศอย่างเดียว แต่มีการส่งออกไปขายทั่วโลก ทำให้เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของ FTA ซึ่งไทยจะมีการลงนามเร็ว ๆ นี้ กับอีกหลายประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการทำ FTA กับ EU รัฐบาลพยายามเร่งให้มีการลงนามภายในสิ้นปีหน้า (2568) นอกจากนี้ เกี่ยวกับ E-sport นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้บริษัทมาจัด Tournament ที่ไทย สอดคล้องกับที่ไทยพยายามส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว Festival โดยบริษัทรับไปพิจารณา

4) บริษัท MUFG & Softbank ซึ่งมีเครือข่ายที่ดีในไทย โดยหุ้นกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา และเข้าไปลงทุนในหลายบริษัทที่จีน และอยากตั้ง Supply chain ย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย เพราะไทยมี BOI ที่แข็งแกร่ง และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และอีกปัจจัยสำคัญคือความเป็นกลางทางด้านการเมืองของไทย ทำให้ Sony อยากย้ายฐานการผลิตมา โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่าพร้อมให้การสนับสนุน นอกจากนี้ Softbank ยังเป็นเจ้าของ LINE Application และมีประเด็นน่าสนใจที่เข้าไปลงทุนในบริษัทเล็ก ๆ ทั่วโลก และหลาย ๆ บริษัทก็ประสบความสำเร็จอย่างมากจึงอยากให้พิจารณาใช้ไทยเป็นฐานในการพัฒนา start-up ให้แข็งแกร่งขึ้น โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุน

5) บริษัท Nidec Corporation เป็นบริษัทที่ใช้ไทยในการเป็นฐานการผลิต ส่งออกอุตสาหกรรม high-tech โดยเฉพาะมอเตอร์ที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า EV โดรน โรงงานอยู่เยอะมากในไทย และจะมีการลงทุนในปีนี้อีกประมาณ 1,700 ล้านบาท อย่างไรก็ดีบริษัทประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะขั้นสูง และต้องการเพิ่มระยะเวลาการฝึกงานที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทย ให้มีความรู้ในเชิงลึกมากขึ้น นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีขอให้บริษัทให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาปริญญาโทไปศึกษาที่ญี่ปุ่นซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาในอนาคต

ทั้งนี้ ในวันที่ 19-20 มิถุนายน 2567 ประธานผู้แทนการค้าไทย และเลขาธิการ BOI จะนำทีมมาที่เมืองโอซาก้าและกรุงโตเกียวเพื่อมาสานต่อภารกิจที่ได้พูดคุยไป

สำหรับในช่วงเย็น นายกรัฐมนตรีจะมีการหารือกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยจะมีการพูดคุยเรื่องการลงทุนที่ค้างกันไว้ การช่วยเหลือด้านการท่องเที่ยวของมาเลเซีย อาหารฮาลาล และปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ บอกไว้ก่อนหน้าว่าอาจจะลงพื้นที่ไปยังภาคใต้ และจะสอบถามความสะดวกทางนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพราะการที่ผู้นำทั้งสองประเทศลงไป จะทำให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น และปัญหาต่าง ๆ อาจคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น จากนั้น จะมีงานเลี้ยงอาหารค่ำ ซึ่งนายคิชิดะ ฟูโอมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เข้าร่วมด้วย

Advertisement

นายกฯ หารือบริษัทปิโตรเลียมรายใหญ่ของอิตาลี เพิ่มโอกาสความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 พฤษภาคม 2567 นายกฯ หารือ บริษัท Eni บริษัทปิโตรเลียมชั้นนำรายใหญ่ของอิตาลี เพิ่มโอกาสความร่วมมือด้านเทคโนโลยีด้านพลังงาน รวมทั้งพลังงานสะอาด

วันนี้ (20 พฤษภาคม 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ เวลา 14.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโรม ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) ณ ห้อง Earth Lab Creative Event Space โรงแรม Six Senses นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนาย Guido Brusco, Chief Operating Officer Natural Resources บริษัท Eni

บริษัท Eni เป็นบริษัทปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดของอิตาลี และเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก โดยเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจน้ำมันและก๊าซ การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน การกลั่น กิจกรรมทางเคมี และกระบวนการทางเศรษฐกิจหมุนเวียน บริษัทมีกิจการใน 61 ประเทศ

นายกรัฐมนตรีหารือเพื่อโอกาสการลงทุน พร้อมพิจารณาความเป็นไปได้ในการขยายการค้าในประเทศไทยร่วมกัน ซึ่งครอบคลุมธุรกิจ LNG รวมถึงการศึกษาวัตถุดิบในประเทศไทยสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งกิจการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งรวมถึง โอกาสความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือก

Advertisement

นายกฯ หารือผู้บริหาร Formula One ศึกษาความเป็นไปได้จัด F1 ในไทย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 19 พฤษภาคม 2567 นายกฯ พบหารือผู้บริหาร Formula One Group เยี่ยมชมพื้นที่สนามจริง รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดการแข่งขัน F1 ในประเทศไทยซึ่งเป็นอีกหนึ่ง Event ดึงดูดการท่องเที่ยวของรัฐบาล

วันนี้ (19 พฤษภาคม 2567) เวลา 13.00 น. (เวลาท้องถิ่นเมืองมิลาน ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับผู้บริหาร F1 รวมทั้งได้เยี่ยมชมสนามแข่งรถ Autodromo Enzo e Dino Ferrari เมืองโบโลญญา ประเทศอิตาลี

Formula 1 ถือสิทธิ์ในการจัดการแข่งขัน FIA Formula One World Championship ซึ่งเป็นการแข่งขันประจำปี ครอบคลุมระยะเวลาประมาณ 9 เดือน

การแข่งขัน Formula 1 เป็นการแข่งรถที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในซีรีย์กีฬาประจำปีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก โดย 2024 FIA Formula One World Championship จัดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – ธันวาคม ครอบคลุมการแข่งขัน 24 รายการ ใน 21 ประเทศ 5 ทวีป

รัฐบาลสนับสนุนความร่วมมือ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ในการเป็นเจ้าภาพจัด Formula One ที่ กรุงเทพฯ ซึ่งจะสร้างโอกาส ขยายศักยภาพของประเทศ ในการจัดกิจกรรมระดับนานาชาติ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ชุมชน และเยาวชนไทย ถือเป็นอีกหนึ่ง Event ในนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

Advertisement

นายกฯ ขอบคุณข้อเสนอหอการค้าไทย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 15 พฤษภาคม 2567 ทำเนียบ – นายกฯ ขอบคุณข้อเสนอหอการค้าไทย ยินดีรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน เชื่อมั่นความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีแก่คนไทย ยกระดับเศรษฐกิจให้เติบโตเต็มศักยภาพ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วประเทศ ย้ำพร้อมรับฟัง และร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ขอบคุณ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่จัดประชุมใหญ่หอการค้า 5 ภาค ระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าจากการที่หอการค้าไทยได้จัดประชุมใหญ่ หอการค้า 5 ภาค ซึ่งได้ระดมความคิดเห็นผู้ประกอบการ ทบทวนแผนงานเศรษฐกิจภาคเอกชนของหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ และได้เสนอแผนยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาล เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาคร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมั่นช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเต็มศักยภาพโดยแบ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ในแต่ภาค ดังนี้

แผนยุทธศาสตร์ภาคกลาง เสนอแผนการขับเคลื่อน 3 ด้าน ได้แก่ 1. การเป็นศูนย์กลางสุขภาพและศูนย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Hub and Wellness) 2. การยกระดับอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับ Food Valley และ Innovation Hub 3. การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆ สำหรับภาคเหนือ หอการค้าภาคเหนือผลักดันส่งเสริมพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC – Creative LANNA) ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG พร้อมทั้งยกระดับสนามบินพิษณุโลกสู่การเป็นสนามบินนานาชาติ มุ่งเชื่อมโยงให้เกิดการท่องเที่ยวสู่ภูมิภาคอื่น ๆ

ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เสนอให้เป็นดินแดนแห่งการเชื่อมโยงและรุ่งเรืองในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงผ่าน 4 แผน ได้แก่ 1. การค้าและการท่องเที่ยว พื้นที่ชายแดนติดกับประเทศลาว 2. เกษตรและอาหาร ส่งเสริมโครงการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพสูง 3. ท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ ส่งเสริมการท่องเที่ยวสายมู รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่อุดรธานีในปี 2569 และ 4. แผนบริหารจัดการแม่น้ำโขง แม่น้ำเลย แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม และการขาดแคลนน้ำ

ภาคตะวันออก เสนอให้เร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC ครอบคลุมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินภายในปี 2571 โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาภายในปี 2571  และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ภายในปี 2570 ผลักดันการขยายพื้นที่ EEC เพิ่มจังหวัดปราจีนบุรี นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้เกิดการวิจัยในระดับนานาชาติ และเร่งการลงทุนด้านการพัฒนาการศึกษา ยกระดับสมรรถนะกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ภาคใต้ วางแผนขับเคลื่อน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดระนอง ให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าเส้นทางเดินเรือในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ 2. การสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติอันดามัน จังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นศูนย์กลางแสดงสินค้าและแลกเปลี่ยนธุรกิจ 3. การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทย เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเรือสำราญ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและสงขลา 4. การพัฒนาการเชื่อมโยงโลจิสติกส์กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ รองรับการเป็นศูนย์กลางสินค้าฮาลาล

“นายกรัฐมนตรีพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะในการพัฒนาแผนงานเศรษฐกิจจากทุกภาคส่วน และยินดีส่งเสริมการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อดึงศักยภาพของแต่ละภูมิภาคพัฒนาให้ครอบคลุมทุกมิติตามเป้าหมาย ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจักได้นำความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วนมาประกอบกันเป็นแนวทางที่มีประโยชน์ในการทำงาน ขับเคลื่อนไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค” นายชัย กล่าว

Advertisement

Verified by ExactMetrics