วันที่ 6 เมษายน 2025

“เศรษฐา” เตรียมเปิดกิจกรรม “เปิดเมืองน่าเที่ยว” 5 Must Do in Thailand ที่เชียงใหม่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 7 มิถุนายน 2567 นายกฯลุยเชียงใหม่ เตรียมเปิดกิจกรรม “เปิดเมืองน่าเที่ยว” 5 Must Do in Thailand พร้อม Kick Off Road Trip เปิดเมืองน่าเที่ยว เส้นทางเชียงใหม่ – ลำพูน – ลำปาง

วันนี้  7 มิถุนายน 2567  นางรัดเกล้า อินทวงศ์  สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ระหว่างที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ปฎิบัติภารกิจที่ จ.เชียงใหม่ วันที่ 8 มิถุนายน 2567 เวลา 10.30 น.  นายกรัฐมนตรีจะเดินทาง ไปเปิดกิจกรรม “ททท. เปิดเมืองน่าเที่ยว 5 Must Do in Thailand ที่ตลาดจริงใจมาร์เก็ต อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายนนี้  โดย ททท. ภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย IGNITE TOURISM THAILAND ของรัฐบาล ในการที่จะมุ่งผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายการเป็น Tourism Hub ที่สำคัญของโลก โดยหนึ่งใน 5 กลยุทธ์ที่สำคัญในการจุดพลังการท่องเที่ยวไทย ได้แก่ เมืองหลักและเมืองน่าเที่ยว โดยจะเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองรอง นำเสนอศักยภาพและความพร้อมของสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยวเพื่อเปลี่ยนเมืองรองสู่เมืองน่าเที่ยว พร้อมกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวตลอดทั้งปี ด้วยแนวคิด 365 วัน มหัศจรรย์เมืองน่าเที่ยว สร้างกระแสการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ พร้อมทั้งกระจายรายได้สู่เมืองน่าเที่ยวและชุมชนท้องถิ่น

นางรัดเกล้า ระบุว่า กิจกรรม “เปิดเมืองน่าเที่ยว 5 Must Do in Thailand” ที่ตลาดจริงใจมาร์เก็ตผู้เข้าร่วมงานจะได้สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวใน 55 เมืองน่าเที่ยวของ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศไทย ผ่านแนวคิด 5 Must Do in Thailand ประกอบด้วย

1.Must Eat: อิ่มอร่อย 5 ภูมิภาค และสาธิตการทำอาหารประจำถิ่น

2.Must See: ละลานตาวัฒนธรรม ด้วยการแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย 5 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ-ฟ้อนขันดอก ฟ้อนแง้น ภาคใต้ – ระบำชนไก่ โนราห์ ภาคอีสาน – เซิ้งกะลากะโป๋ เซิ้งไข่มดแดง ภาคตะวันออก – Colorful บูรพา ภาคกลาง – ศิลปะการต่อสู้โบราณ และการแสดงดนตรีจากศิลปินที่มีชื่อเสียง ได้แก่ วันที่ 8 มิ.ย. เวลา 16.00 – 17.00 น. อ้อม รัตนัง โฟล์คซองล้านนา เวลา 19.00 – 20.00 น. ซาร่า ซาโลลา วันที่ 9 มิ.ย. เวลา 12.00 – 13.00 น. เดอะ เพอะ 14.00 – 15.00 น. เบล วริศรา17.00 – 18.00 น. ป๊อป ปองกูล

3.Must Seek: แสวงหา unseen ถิ่นน่าเที่ยวด้วยการตั้งบูธประชาสัมพันธ์เส้นทางการท่องเที่ยว ตลอดจนสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของเมืองน่าเที่ยวใน 5 ภูมิภาค ด้วยการให้ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวและโปรโมชั่นพิเศษต่างๆ

4.Must Buy: หัตถกรรมล้ำค่าน่าซื้อฝาก นำเสนอสินค้าและหัตถกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของ 5 ภูมิภาค

5.Must Beat: สุดยอดกีฬาท้าทายกายใจ อาทิ มวย วิ่ง จักรยาน แข่งเรือ นำเสนออีเวนต์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงกีฬาในพื้นที้เมืองน่าเที่ยวทั่วประเทศ

ภายในบริเวณงานจะมีการออกแบบ Landmark จุดถ่ายรูปเช็คอินที่ประตูสู่เมืองน่าเที่ยวและประตูสิงห์ และตกแต่งด้วยอัตลักษณ์ประจำภูมิภาค อาทิ โคมผ้าปาเต๊ะ ธุงใยแมงมุม ปลาตะเพียนสาน การจัดเวทีการแสดงสาธิตมัดย้อมหม้อฮ่อมแพร่@บ้านมัดใจ จังหวัดแพร่ วันที่ 8 มิถุนายน เวลา 13.00 – 14.00 น. และสาธิตทำอาหารยำผักเชียงดา ครัวหลองข้าว วันที่ 9 มิถุนายน เวลา 13.00 – 14.00 น. และโซนจัดแสดง 5 Must Do in Thailand เรือกอแระ หุ่นกระติ๊บ มวยโบราณ พร้อมจัดเกมแยกแลกโชค ด้วยการนำขยะไปแยกเพื่อแลกรับรางวัล

“ภายหลังพิธีเปิดและการเยี่ยมชมงาน “เปิดเมืองน่าเที่ยว” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะ Kick Off Road Trip เปิดเมืองน่าเที่ยว เส้นทางเชียงใหม่ – ลำพูน – ลำปาง ระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายนนี้” นางรัดเกล้ากล่าว

Advertisment

Agoda ยาหอมไทยมีศักยภาพเป็น Silicon Valley of Asia พร้อมร่วมดันปีแห่งการท่องเที่ยวไทย 2568

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 6 มิถุนายน 2567 นายกฯ เยี่ยมชมสำนักงานบริษัท Agoda ชื่นชมไทยมีศักยภาพเป็น Silicon Valley of Asia พร้อมร่วมผลักดันไทยให้ปี 2568 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไทย

วันนี้ (6 มิถุนายน 2567) เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานบริษัท อโกด้า เซอร์วิสเซส จำกัด ชั้น 8 อาคาร The Offices at Central World นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษและเยี่ยมชมสำนักงานบริษัทอโกด้า โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้มีโอกาสเยี่ยมชมการทำงานของบริษัทอโกด้าในครั้งนี้ ซึ่งได้เห็นว่าบริษัทอโกด้า ได้พัฒนาไปสู่บริษัทตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์ชั้นนำทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และยังได้พบกับบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากทั่วทุกมุมโลกที่ปฏิบัติงานร่วมกันกับบุคลากรไทยที่กรุงเทพฯ โดยนายกรัฐมนตรีชัดเจนมาตลอดว่า “ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจ และไม่มีเวลาใดที่จะเหมาะต่อการลงทุนในไทยได้เท่าช่วงเวลานี้” โดยรัฐบาลพยายามดึงดูดการลงทุน อำนวยความสะดวกเพื่อทำให้การดำเนินธุรกิจง่ายขึ้น ใช้กระบวนการที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ และการให้บริการภาครัฐดิจิทัล และการจัดตั้งสำนักงานของบริษัทอโกด้าถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงขีดความสามารถที่มีของประเทศไทย

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำถึงปีหน้า 2568 ว่าจะเป็นปีที่สำคัญด้านการท่องเที่ยวของไทย โดยรัฐบาลพร้อมดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ทั้งการจัด Festivals Concerts Events โดยเริ่มจากเชียงใหม่ ไตรมาส 4 เชียงใหม่จะเริ่มมีกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกสัปดาห์ Michelin Food Festival ลอยกระทง Halloween การแข่งขันด้านกาแฟ นายกรัฐมนตรีจึงห่วงว่าจะมีเที่ยวบินพอหรือไม่ และกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาในส่วนของรายละเอียดเหล่านี้ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอรับฟัง และช่วยแก้ไขปัญหาที่มีของอโกด้าร่วมกัน เพราะเชื่อมั่นว่าหากไม่รับฟังก็จะไม่ได้แก้ไขจุดบกพร่อง โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าขอให้ช่วยกันทำงานสู้กับความท้าทาย ทำให้ปีหน้าเป็นปีแห่งการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไทย

ด้านคณะผู้บริหารอโกด้า กล่าวว่า ปัจจุบันอโกด้ามีบุคลากรจำนวนมากที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งล้วนรักในการทำงานในไทย โดยยืนยันว่า อโกด้าพร้อมเป็นพันธมิตรที่ดี พร้อมช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกับไทย ชื่นชมความสามารถของบุคลากรไทยจำนวนมากในด้านเทคโนโลยี รวมทั้งขอบคุณความร่วมมือจากหน่วยงานจากภาครัฐ ที่ร่วมกันทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเป็นผลดีกับการพัฒนาทักษะของบุคลากร โดยเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็น Silicon Valley of Asia ได้อย่างแน่นอน

Advertisment

สมาคมธนาคารไทยขานรับแจกเงินดิจิทัลวอลเลต เร่งพัฒนา Open Loop สำหรับจ่ายเงิน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 5 มิถุนายน 2567 สมาคมธนาคารไทย เร่งประสาน PSO-DGA เพื่อทำความเข้าใจ-ศึกษาแนวทางพัฒนาระบบชำระเงิน Open Loop สำหรับจ่ายเงิน 1 หมื่นบาท โครงการดิจิทัลวอลเลต

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ.กรุงไทย กล่าวถึงเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลจะแจกให้กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มแรก 14.98 ล้านคน ภายในไตรมาส 3 ของปี 2567 ว่าเป็นการดีที่จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะกลุ่มแรกตามข่าวคือกลุ่มเปราะบาง แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะผ่านกลไกใดบ้าง เช่น บางข่าวก็บอกว่า บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบางข่าวบอกว่าผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งก็ต้องรอดูรายละเอียด อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะจ่ายเงินผ่านกลไกใดก็ตาม หากเงินถึงกลุ่มเป้าหมายผลที่ได้ก็น่าจะเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดหวัง

ส่วนความคืบหน้าการทํา Open Loop ที่กระทรวงการคลังได้ขอความร่วมมือธนาคารรัฐ-ธนาคารพาณิชย์ เชื่อมข้อมูล open loop รองรับใช้จ่ายเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทนั้น เมื่อสัปดาห์ที่แล้วสมาคมธนาคารไทย ได้มอบหมายให้สำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย (Payment System Office PSO) ร่วมกับประธานชมรมผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (Chief Information Officer :CIO) ของธนาคารพาณิชย์ ประสานกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ผู้พัฒนาระบบเพื่อทำความเข้าใจและดูความสามารถในการพัฒนาระบบที่เป็น Open loop ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพูดคุยประสานงานกัน ส่วนจะทันการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท รอบแรกในไตรมาส 3 ของปี 2567 หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ประเมิน แต่ทั้งนี้ก็ต้องเร่งดำเนินการเพราะทางรัฐบาลกำหนดไทม์ไลน์ชัดเจน

“เราก็พยายามเร่ง แต่ DGA เป็นผู้พัฒนาระบบ เราก็ต้องทำความเข้าใจสถาปัตยกรรมและวิธีการเชื่อมต่อ ซึ่งทุกธนาคารควรจะร่วมหมด แต่มันเป็นเรื่องเทคนิค เพราะฉะนั้นจะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญทางชมรม CIO ดูแลไอทีและข้อมูลทั้งหมดของภาคอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ และด้าน PSO เพื่อประสานงานกับ DGA ซึ่งมีการประชุมร่วมกันบ่อย” นายผยง กล่าว

ส่วนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในช่วงนี้มีความเข้มงวดมากขึ้นตามสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น ดังจะเห็นจากตัวเลขสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และยอดผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น อัตราการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ ดังนั้นการปล่อยกู้ของธนาคารจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง ซึ่งการเร่งปรับโครงสร้างหนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มเปราะบางสามารถกลับมาเป็นลูกค้าปกติได้ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งกำลังดำเนินการเรื่องนี้เต็มที่อยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การอัดฉีดสภาพคล่องจะต้องทำในกลุ่มที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้ให้กู้และเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงให้เป็นไปตามมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ของธนาคารแห่งประเทศไทย

ขณะเดียวกันจะต้องเร่งส่งเสริมให้กลุ่มที่อยู่นอกระบบเข้ามาสู่ระบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ ไม่ว่าจะผ่านช่องทางการยื่นชำระภาษี หรือการใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาสินเชื่อ เช่น การจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ซึ่งธนาคารกรุงไทยมีแผนร่วมกับพันธมิตรในการยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank เช่นกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำโมเดล และคาดว่าจะสามารถยื่นได้ทันตามกำหนด 19 กันยายน 2567 ตามที่ ธปท.กำหนดไว้ ส่วนกลุ่มก่อสร้าง-อสังหาริมทรัพย์นั้นถือเป็นหนึ่งเสาหลักทางเศรษฐกิจของไทยเพราะมีความเชื่อมโยงไปถึงการจ้างงานอื่นๆ จึงต้องมองว่า การชะลอหรือชะงักไปนั้นมาจากสาเหตุของอะไร งบประมาณที่ล่าช้าหรือไม่ เพราะฉะนั้นหากไตรมาส 3 เงินงบประมาณออกมาจะช่วยให้ดีขึ้น ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) เพื่อบริหารหนี้ทั้ง NPL และ NPA นั้น ในส่วนของธนาคารกรุงไทย พิจารณาแล้วว่าการบริหารจัดการเองจะเหมาะสมกว่าการจัดตั้ง AMC.

Advertisment

ครม.เห็นชอบ 2 มาตรการภาษีหนุนการท่องเที่ยวในประเทศ ท่องเที่ยว อบรม สัมมนา ลดหย่อนภาษีได้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 มิถุนายน 2567 “รัดเกล้า” เผย ครม. เห็นชอบ สองมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ

วันนี้ (4 มิถุนายน 2567) นางรัดเกล้า อินวงศ์ สุวรรณคีรี  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (4 มิถุนายน 2567) ที่ประชุม ครม. มีมติให้ความเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) และมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season) ซึ่งคือระหว่างเดือนพฤษภาคม 2567 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2567

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากโควิด-19 และ ผลกระทบจากปัญหาเกี่ยวกับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของจีน ส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทย  ทั้ง 2 มาตรการนี้จะช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับระบบเศรษฐกิจของไทย เพราะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง รวมทั้งสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงานอีกด้วย

โดยทั้ง 2 มาตรการ มีระยะเวลาดำเนินงาน ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567- 30 พฤศจิกายน 2567

มาตรการแรก “มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล)”

กลุ่มเป้าหมาย – บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

สิทธิประโยชน์ทางภาษี – ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ที่จ่ายไปตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 – 30 พฤศจิกายน 2567 โดยจะต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรเท่านั้น ทั้งนี้ สำหรับค่าขนส่ง สามารถจ่ายให้ผู้ที่มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ ซึ่งจะต้องมีใบรับในรูปแบบใบรับอิเล็กทรอนิกส์ โดยทำผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร

รายละเอียดของการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการหักค่าใช้จ่ายได้ ดังนี้

(1) หักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด (พื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก)

(2) หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่ไม่ได้จัดขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดฯ (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก)

(3) ให้หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง ในกรณีที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใด

พื้นที่ในการให้สิทธิประโยชน์ จังหวัดท่องเที่ยวรอง โดยแบ่งเป็นพื้นที่ทั้งจังหวัด 55 จังหวัด และพื้นที่บางอำเภอในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก 15 จังหวัด (หักรายจ่ายได้ 2 เท่า) และพื้นที่อื่น (จังหวัดท่องเที่ยวหลัก) (หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า)

มาตรการที่สอง “มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา)”

กลุ่มเป้าหมาย – ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สิทธิประโยชน์ทางภาษี – ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักลดหย่อนค่าบริการได้ ดังนี้ (1) ค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว (2) ค่าที่พักในโรงแรม (3) ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย (4) ค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็ม ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) ของกรมสรรพากรเท่านั้น

พื้นที่ในการให้สิทธิประโยชน์ จังหวัดท่องเที่ยวรองเท่านั้น

ทั้งนี้ ทั้ง 2 มาตรการดังกล่าว จะรวมอยู่ในการดำเนินการออกร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. … จำนวน 1 ฉบับ

กค. ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ โดยมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล) จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 1,200 ล้านบาท ในขณะที่ มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ (สำหรับบุคคลธรรมดา) จะทำให้รัฐบาลสูญเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 581.25 ล้านบาท

ในการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าขอให้ทางกฤษฎีกาเร่งดำเนินการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน นอกจากนั้น ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่แต่ละเขต แต่ละจังหวัด ดูแลพื้นที่ตัวเองอย่างใกล้ชิด โดยขอให้ประสานงานกับทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันในการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองรองอย่างมีประสิทธิภาพ

“มาตรการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการทั้งในและนอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ” รองโฆษกฯ รัดเกล้า ย้ำ

Advertisment

นายกฯ เปิดงาน Thailand Buffalo Heritage ชู Soft Power การพัฒนาสายพันธุ์ควายสวยงาม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 มิถุนายน 2567 นายกฯ เปิดงาน Thailand Buffalo Heritage ชู Soft Power การพัฒนาสายพันธุ์ควายสวยงาม เป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวไทย ย้ำรัฐบาลยินดีสนับสนุนการจัดงานอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (1 มิถุนายน 2567) เวลา 17.30 น. ณ ลานหลังวัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการ Thailand Buffalo Heritage โดยมี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และคณะเข้าร่วมงาน

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า เมื่อนายกฯ เดินทางถึงบริเวณสถานที่จัดงานโซนหมู่บ้านควาย ได้มีแม่หยาดฟ้า และคุณนายกระต่ายทอง (ลูกแม่หยาดฟ้า) จากชัยชนะฟาร์ม ควายงามเมืองย่าโม จ.นครราชสีมา และศรราม (ควายแคระ) มาร่วมต้อนรับพร้อมกับผู้ร่วมงาน จากนั้น นายกฯ ได้เดินเยี่ยมชมเต็นท์ต่าง ๆ ที่มีเกษตรกรและเจ้าของฟาร์มนำควายมาจัดแสดงภายในงาน เช่น นินลนีย์ฟาร์มเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ชนัฐปภาฟาร์ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น วนาสุวรรณฟาร์ม จ.ปทุมธานี ควายงามเมืองพระชนก จ.อุทัยธานี คนควาย ควายฟาร์ม จ.อุดรธานี เป็นต้น โดยนายกฯ ได้สอบถามประวัติความเป็นมาของควายที่นำมาจัดแสดง ชื่อ อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง รวมทั้งมูลค่าของควาย เป็นต้น และนายกฯ ยังได้ยืนเทียบส่วนสูงกับควายเผือกยักษ์ พร้อมพูดคุยกับผู้ดูแลควายอย่างเป็นกันเอง

จากนั้น นายกฯ ได้เข้าไปยังเต็นท์หลัก เพื่อชมการแสดงชุด “มนต์เสน่ห์ควายสยาม” ซึ่งมีควายชื่อดังมาเดินโชว์ตัว เช่น โก้เมืองเพชร โก้สยาม ไส้อั่วและช้างภูแล จ.ปทุมธานี ดาวสยาม จ.อุดรธานี มังกรฟ้า จ.อุทัยธานี ออเจ้า จ.พระนครศรีอยุธยา ไข่มุกและกัปตัน จ.หนองบัวลำภู คิงคอง จ.นครราชสีมา จากนั้น นายกฯ รับฟังรายงานการจัดโครงการ Thailand Buffalo Heritage จากนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรายงานการจัดแฟชั่นโชว์ควาย จากนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ภายหลังจากรับฟังรายงานแล้ว นายกฯ ได้มอบถ้วยรางวัลการประกวดควาย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ 1. ประเภทควายยอดเยี่ยม Grand champion เผือกเพศเมีย ควายที่ได้รับรางวัล ชื่อ ไข่มุก จาก ส. สมพงษ์ฟาร์ม จังหวัดอุทัยธานี และ 2. ประเภทควายยอดเยี่ยม Grand champion สีดำ เพศเมีย ควายที่ได้รับรางวัล ชื่อ หงส์สยาม จากศิริเสนีย์ฟาร์ม จังหวัดเพชรบูรณ์

โอกาสนี้ นายกฯ กล่าวเปิดงาน Thailand Buffalo Heritage โดยรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาเปิดงาน Thailand Buffalo Heritage พร้อมกล่าวว่า คนไทยเราอยู่กับควายมาหลาย ๆ เจเนอเรชั่น ควายเองก็เป็นเพื่อนเรามานานหลายปี ไม่ว่าจะออกศึกด้วยกัน ทำมาหากินด้วยกัน ช่วยกันทำการเกษตร วันนี้ขอขอบคุณคณะทำงานที่ช่วยยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับควาย มีการพัฒนาสายพันธุ์ที่ดี มีการจัดการประกวด มีการหารายได้เสริมพิเศษให้กับผู้ที่เลี้ยงควาย ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง นอกจากนั้น ยังต้องกล่าวถึงเรื่องของ Soft Power ด้วยว่า ถ้าเกิดการพัฒนาสายพันธุ์ควาย ควายสวยงามที่เห็นมาวันนี้ จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีการท่องเที่ยว ให้มีการไปมาหาสู่ระหว่างคนต่างชาติที่จะเข้ามาดูควาย ในวันนี้หากใครได้มาเห็นควายสวยงาม ก็ต้องมีความประทับใจเป็นอย่างมากว่า ไม่เคยเห็นไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะสวยงามขนาดนี้ และไม่ใช่แค่ความสวยอย่างเดียว แววตาของเขาเองก็น่ารัก เมื่อได้สัมผัส ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีงาม ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ และคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น ขอให้งานนี้ดำเนินไปด้วยความราบรื่น เชื่อว่าถ้าปีหน้ามีการจัดงานอีก ก็จะมีควายสวยงามมาเพิ่ม ซึ่งรัฐบาลยินดีให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

จากนั้น นายกฯ พร้อมคณะผู้จัดงานได้ร่วมพิธีกดปุ่มเปิดงาน Thailand Buffalo Heritage อย่างเป็นทางการ สำหรับงาน Thailand Buffalo Heritage จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 2 มิถุนายน 2567 เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมอนุรักษ์และพัฒนาควายไทย สมาคมพัฒนาพันธุ์ควายไทย และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ตระหนักรู้และเห็นคุณค่าของควายไทย พร้อมกับเล็งเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมควายไทย ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สามารถเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลัก รายได้รอง หรือรายได้เสริมให้แก่ผู้เลี้ยง คาดว่าการจัดงานกล่าว จะมีนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติร่วมงานกว่า 2,000 คน จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดได้

“รัฐบาลมุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของประเทศในทุกมิติ เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยยกระดับและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยควายไทยถือเป็นอีกหนึ่ง Soft Power สำคัญที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมควายไทยจะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน และช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

Advertisment

“เศรษฐา” ประชุม ครม.เศรษฐกิจ เร่งแก้ปากท้อง-ช่วยภาคธุรกิจ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 27 พฤษภาคม 2567 นายกฯ เร่งแก้ไขปัญหาปากท้อง-ช่วยภาคธุรกิจ สั่งหามาตรการระยะสั้น มาเสนอ ครม.เศรษฐกิจอีก 2 สัปดาห์

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ว่า การประชุมกับกระทรวงและหน่วยงานเศรษฐกิจ เพื่อหามาตรการระยะสั้น ทั้งของภาคเกษตร อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ส่งออก พลังงาน และการเงินการคลัง ที่จะเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน และช่วยภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งหาแหล่งเงินทุนสำหรับ SMEs เพราะหลายเรื่องจำเป็นต้องทำงานข้ามกระทรวง จึงได้ให้การบ้านกระทรวงเศรษฐกิจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหามาตรการระยะสั้นที่ทำได้ทันทีมาเสนอในการประชุมในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า

Advertisement

โฆษก รบ.เผย นายกฯ มุ่งพัฒนาร้านค้าส่ง-ค้าปลีกรายย่อย ยกระดับเป็น“สมาร์ทโชห่วย” เพิ่มความสามารถแข่งขัน ขับเคลื่อน ศก.ท้องถิ่น

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 26 พฤษภาคม 2567 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ มุ่งสร้างเครือข่ายร้านค้าส่งค้าปลีกรายย่อย พัฒนาร้านค้าพี่เลี้ยงต้นแบบ ยกระดับร้านค้าเป็น“สมาร์ทโชห่วย” สร้างโอกาส ขยายตลาด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม พัฒนา และยกระดับการค้าของธุรกิจ SME ด้วยความเชื่อมั่นว่า SME จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนา เศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้ง มุ่งยกระดับเศรษฐกิจในชุมชน กระจายความเจริญ ลดช่องว่างของการพัฒนา ทั้งนี้ มีร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบแล้ว 307 ร้านค้า และสมาร์ทโชห่วย 7,375 ร้านค้า ทั่วประเทศ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการตามแนวทางเพื่อยกระดับร้านค้าส่งค้าปลีกรายย่อย สร้างโอกาสทางการตลาด โดยการสร้างเครือข่ายสำหรับผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าส่งค้าปลีกในชุมชน สร้างร้านค้าต้นแบบ เพื่อเป็นร้านค้าตัวอย่างและร้านค้าพี่เลี้ยงสำหรับการช่วยดูแลร้านค้าอื่น ๆ และแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ในการประกอบธุรกิจ โดยได้มีการตั้งเป้าหมาย การพัฒนาร้านค้าต้นแบบในปี 2567 ไม่น้อยกว่า 30 ร้านค้าและขยายผลไปยังร้านค้าส่งค้าปลีกอื่นๆ ให้ได้รับผลประโยชน์ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 250 ร้านค้า สร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี พัฒนาระบบการจัดการของร้านค้าให้มีความทันสมัย ขยายตลาด ขยายกลุ่มลูกค้าและเพิ่มยอดขาย

นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังมีเป้าหมายพัฒนาร้านค้า“สมาร์ทโชห่วย” โดยจะมีการปรับภาพลักษณ์ร้านค้าตามหลัก 5ส (สวย สะอาด สว่าง สะดวก สบาย) ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้โดยการใช้ระบบขายหน้าร้าน (POS: Point of sale) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการขายสินค้าหน้าร้าน การจัดการสต็อกสินค้า การดูรายงานยอดขายเบื้องต้น การสรุปรายรับรายจ่าย และการจัดการใบกำกับภาษี เป็นต้น พร้อมทั้งมีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความรู้อย่างต่อเนื่องผ่านสัมมนาออนไลน์/ออนไซต์ทั่วประเทศ และ สิทธิประโยชน์อื่น ๆ จากหน่วยงานในเครือข่าย โดยทางหน่วยงานมีแผนที่จะลงพื้นที่เบื้องต้นใน 24 จังหวัด 33 ร้านค้า เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำในการปรับภาพลักษณ์ การจัดเรียงสินค้า พร้อมทั้งสอนการใช้งานเทคโนโลยีการขาย จังหวัดละ 1 ร้านค้า ได้แก่ นครสวรรค์ พิษณุโลก ลำปาง ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ยโสธร กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม อุทัยธานี ตรัง พังงา และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 2 ร้านค้า ได้แก่ สุโขทัย ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู อุบลราชธานี และสระแก้ว  จังหวัดละ 3 ร้านค้า ได้แก่ ขอนแก่น และสกลนคร

ทั้งนี้ จากข้อมูลเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 พบว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการยกระดับเพื่อสร้างร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบ (พี่เลี้ยงโชห่วย) ไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 307 ร้านค้า แบ่งเป็น ภาคกลาง 99 ร้านค้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 98 ร้านค้า ภาคเหนือ 66 ร้านค้าและภาคใต้ 44 ร้านค้า และการพัฒนาร้านค้าโชห่วยอื่นๆ ในการปรับภาพลักษณ์ และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี (สมาร์ทโชห่วย) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 7,375 ร้านค้า แบ่งเป็น ภาคกลาง 2,288 ร้านค้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,063 ร้านค้า ภาคใต้ 1,523 ร้านค้า และ ภาคเหนือ 1,501 ร้านค้า

“นายกรัฐมนตรี มุ่งยกระดับร้านค้าส่งค้าปลีกในชุมชน เพื่อร่วมสร้างสรรค์เศรษฐกิจระดับชุมชนร่วมกันภายในท้องถิ่น ปรับเปลี่ยนการพัฒนาร้านค้า นำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น โดยเชื่อมั่นว่าการพัฒนาร้านค้าโชห่วยในโครงการนี้ จะช่วยเพิ่มจำนวนกลุ่มลูกค้าและโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น รวมถึงทำให้เกิดการยกระดับร้านค้า สู่การนำเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายย่อยสามารถดำเนินธุรกิจได้มีประสิทธิภาพ สนับสนุนศักยภาพของประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล สร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น” นายชัย กล่าว

Advertisment

รัฐบาลเผย ล่าสุดส่งแรงงานไทยไปทำงาน ตปท.แล้ว 60,769 คน ใน 139 ประเทศ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 26 พฤษภาคม 2567 ​รัฐบาลเผยผลสำเร็จ คืบหน้าส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศแล้ว กว่า 60,000 คน จากเป้าหมาย 100,000 คน เดินหน้าส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมแรงงานไทยให้มีรายได้มั่นคง และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลสำเร็จความคืบหน้าการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ล่าสุดกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศแล้ว จำนวน 60,769 คน หรือร้อยละ 60.7 ใน 139 ประเทศ ซึ่ง 5 อันดับแรกที่มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสหรัฐอเมริกาตามลำดับ

นายคารม กล่าวว่า แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะต้องผ่านการอบรมคนหางาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้แรงงานไทยได้มีความรู้เข้าใจขั้นตอนการไปทำงานในต่างประเทศและปฏิบัติได้ถูกต้อง ทราบเงื่อนไขตามสัญญาจ้างงาน สภาพการจ้าง และขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี มีความพร้อมในการทำงานและเกิดความมั่นใจ รวมทั้งรู้ช่องทางขอความช่วยเหลือ ทราบสิทธิประโยชน์ และการคุ้มครองคนหางานตามกฎหมาย รวมทั้งแนะนำการสมัครสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ เพื่อรับความคุ้มครอง และสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายกำหนด หากเกิดเหตุไม่คาดคิด หรือเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินในขณะเป็นสมาชิกกองทุนฯ เช่น กรณีถูกทอดทิ้งในต่างประเทศ กรณีประสบอันตราย ก่อนไปทำงานหรือขณะทำงานในต่างประเทศ กรณีถูกเลิกจ้างจากสาเหตุประสบอันตราย กรณีประสบอันตรายจนพิการ กรณีถูกส่งกลับเนื่องจากเป็นโรคต้องห้าม และกรณีประสบปัญหาจากภัยสงคราม ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด

“สำหรับผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สามารถติดตามข่าวสารการประกาศรับสมัครได้ที่เว็บไซต์ doe.go.th/overseas และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694” นายคารม กล่าว

Advertisment

นายกฯชูจุดยืนความเป็นกลางของไทย ดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่น จากความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 24 พฤษภาคม 2567 นายกฯ หารือสถาบันการเงิน MUFG & Softbank ย้ำจุดยืนความเป็นกลางของไทย ดึงดูดนักลงทุนญี่ปุ่นที่พิจารณากระจายกิจการจากความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์

วันที่ 23 พฤษภาคม 2567 เวลา 15.25 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) ณ ห้อง Sky Room ชั้น 24 โรงแรม The Peninsula Tokyo นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบหารือกับผู้บริหารบริษัท MUFG & Softbank MUFG Bank, Ltd. เป็นธนาคารชั้นนำและใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น มีสินค้าและบริการทางการเงินที่ครอบคลุมทั้งในด้านธุรกิจและการลงทุนให้กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ภาครัฐ และลูกค้ารายย่อยทั่วโลก มีสาขาในประเทศ 421 สาขา และสาขาต่างประเทศ 105 สาขา ครอบคลุม 40 ประเทศทั่วโลก ในปี 2566 ได้รับการจัดอันดับจาก S&P rating ให้อยู่ในระดับ A

SoftBank Group Corp. เป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีและโทรคมนาคมของญี่ปุ่น โดยมีการลงทุนในระดับโลก ทั้ง Mobile/Fixed-line communications, Social media, Cashless payment/Finance, Online media, E-commerce ในหลากหลายตลาดทั้งในและต่างประเทศ บริษัทและบริษัทในเครือมีการลงทุนทั่วโลกจำนวน 38 โครงการ ใน 10 ประเทศ

บริษัท MUFG & Softbank พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ผ่านการทำงานร่วมกับทีมนายกรัฐมนตรี และ BOI เพื่อดึงดูดนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่กำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยจะมีการจัดสัมมนา Thailand-Japan Investment Forum เพื่ออัปเดตกลไกที่ภาครัฐได้มีการปรับปรุงเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนในช่วงที่ผ่านมา เช่น การจัดทำกลไกพลังงานสะอาด เป็นต้น รวมถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และกิจการสำนักงานภูมิภาค นอกจากนี้ จะมีการจัด Roundtable Meeting และการตั้งบูธของ BOI เพื่อให้บริการคำปรึกษา โดยกิจกรรมดังกล่าวจะจัดในวันที่ 20 – 21 มิถุนายน 2567 ณ โอซาก้าและโตเกียว คาดว่าจะมีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าร่วมงานประมาณ 600 คน

นายกรัฐมนตรีสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการจัดตั้งธนาคาร MUFG ในไทย ซึ่งบริษัทได้ขอบคุณรัฐบาลที่สนับสนุนให้บริษัทเป็น Partner ซึ่งทำให้บริษัทเกิดการพัฒนา โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำสถานะความเป็นกลางของไทย ซึ่งเป็นพื้นที่การลงทุนที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนที่กำลังมองหาศูนย์การผลิตเพื่อส่งออกไปทั่วโลก รวมทั้งไทยมี Free Visa รองรับนักลงทุนญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Start up และ SMEs

Advertisement

นายกฯ เผยผลสำเร็จหารือภาคเอกชนญี่ปุ่น 5 บริษัท เชื่อมั่นศักยภาพประเทศไทย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 23 พฤษภาคม 2567 นายกฯ ให้สัมภาษณ์ผลสำเร็จการหารือภาคเอกชนญี่ปุ่น 5 บริษัท เชื่อมั่นศักยภาพประเทศไทย ขอบคุณการสนับสนุนของรัฐบาล และมีแผนขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติม พร้อมผลักดันการแก้ปัญหาภาคใต้ร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

วันนี้ (23 พฤษภาคม 2567) เวลา 16.22 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโตเกียว ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 2 ชั่วโมง) ณ ห้อง Sky Room ชั้น 24 โรงแรม The Peninsula Tokyo นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงภารกิจในวันนี้ โดยได้หารือกับภาคเอกชนของญี่ปุ่น 5 ราย ดังนี้

1) บริษัท Mitsui & Co., Ltd. ซึ่งเคยพบกันเมื่อตอนนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน – ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ (ASEAN – Japan Commemorative Summit) เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2566 โดยบริษัทมีความคืบหน้าจากที่ได้คุยกันคราวก่อน เรื่องเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดแบบยั่งยืน (sustainable aviation fuel: SAF) ซึ่งมีความคืบหน้า โดยมีการลงนาม MOU แล้ว และคาดว่าจะมีการตั้งฐานการผลิตที่ประเทศไทย โดยจะมีการทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) ที่จะให้รัฐบาลทำกับเอกชน ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นก่อน นอกจากนี้ SAF ทำมาจากซากพืชที่เหลือจากไทย โดยเฉพาะอ้อย เป็นประโยชน์มากเพราะจะช่วยลด PM 2.5 ได้อย่างดี รวมถึงมีการสอบถามเรื่องการเจาะหาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับ OCA ว่า สัปดาห์หน้าจะมีการตั้งคณะกรรมการฯ นอกจากนี้ บริษัทมีโรงงานทำบรรจุภัณฑ์ที่มาเลเซีย นายกรัฐมนตรีจึงเชิญชวนให้มาสร้างโรงงานและทำการตลาดที่ไทย ซึ่งบริษัทกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ ทั้งนี้ บริษัท Mitsui มีหลายบริษัทและมีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีฝากว่า Mitsui เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่งในญี่ปุ่น เรามีความสัมพันธ์กันมานานมาก ขอให้มั่นใจว่า ประเทศไทยเปิดแล้ว และไม่มีเวลาไหนที่จะดีกว่าเวลานี้ที่จะมาลงทุนในไทย

2) บริษัท Ajinomoto Co., Inc. ซึ่งอยู่ในไทยมานานมากแล้ว มีโรงงานใหญ่ที่ผลิตผงชูรส 3 โรงงาน และจะมีการขยายโครงการในอนาคตอีก 16 โครงการภายในปีหน้า มูลค่าประมาณ 4,400 ล้านบาท ซึ่งจะขยายไปทำสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่เกี่ยวข้องกับ Amino acid ซึ่งจะส่งไปขายในต่างประเทศได้ รวมถึงเรื่อง Health Care เรื่อง Green Economy และทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ ยำ ยำ ตลอดจนสนับสนุนเกษตรกรที่ทำมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำสินค้าของบริษัท โดยนายกรัฐมนตรีต้องการให้บริษัทสนับสนุนพืชผลอื่น ๆ ในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย

3) บริษัท Sony Group Corporation เป็นบริษัทชั้นนำด้านเกม ดนตรี ภาพยนตร์ อิเล็กทรอนิกส์ และเลนส์กล้อง ซึ่งปัจจุบันทำเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ในไทย และอยากให้ไทยเป็นศูนย์กลาง high-tech product ซึ่งปัจจุบันมีหลายโรงงานอยู่แล้ว นายกรัฐมนตรีเชิญให้บริษัทเข้ามาตั้ง Regional Office ในไทยเพราะธุรกิจเขาเยอะ โดยโรงงานที่ตั้งไม่ใช่ขายแค่ในประเทศอย่างเดียว แต่มีการส่งออกไปขายทั่วโลก ทำให้เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของ FTA ซึ่งไทยจะมีการลงนามเร็ว ๆ นี้ กับอีกหลายประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยเฉพาะการทำ FTA กับ EU รัฐบาลพยายามเร่งให้มีการลงนามภายในสิ้นปีหน้า (2568) นอกจากนี้ เกี่ยวกับ E-sport นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้บริษัทมาจัด Tournament ที่ไทย สอดคล้องกับที่ไทยพยายามส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว Festival โดยบริษัทรับไปพิจารณา

4) บริษัท MUFG & Softbank ซึ่งมีเครือข่ายที่ดีในไทย โดยหุ้นกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา และเข้าไปลงทุนในหลายบริษัทที่จีน และอยากตั้ง Supply chain ย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย เพราะไทยมี BOI ที่แข็งแกร่ง และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และอีกปัจจัยสำคัญคือความเป็นกลางทางด้านการเมืองของไทย ทำให้ Sony อยากย้ายฐานการผลิตมา โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่าพร้อมให้การสนับสนุน นอกจากนี้ Softbank ยังเป็นเจ้าของ LINE Application และมีประเด็นน่าสนใจที่เข้าไปลงทุนในบริษัทเล็ก ๆ ทั่วโลก และหลาย ๆ บริษัทก็ประสบความสำเร็จอย่างมากจึงอยากให้พิจารณาใช้ไทยเป็นฐานในการพัฒนา start-up ให้แข็งแกร่งขึ้น โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุน

5) บริษัท Nidec Corporation เป็นบริษัทที่ใช้ไทยในการเป็นฐานการผลิต ส่งออกอุตสาหกรรม high-tech โดยเฉพาะมอเตอร์ที่ใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า EV โดรน โรงงานอยู่เยอะมากในไทย และจะมีการลงทุนในปีนี้อีกประมาณ 1,700 ล้านบาท อย่างไรก็ดีบริษัทประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะขั้นสูง และต้องการเพิ่มระยะเวลาการฝึกงานที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทย ให้มีความรู้ในเชิงลึกมากขึ้น นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีขอให้บริษัทให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาปริญญาโทไปศึกษาที่ญี่ปุ่นซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาในอนาคต

ทั้งนี้ ในวันที่ 19-20 มิถุนายน 2567 ประธานผู้แทนการค้าไทย และเลขาธิการ BOI จะนำทีมมาที่เมืองโอซาก้าและกรุงโตเกียวเพื่อมาสานต่อภารกิจที่ได้พูดคุยไป

สำหรับในช่วงเย็น นายกรัฐมนตรีจะมีการหารือกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยจะมีการพูดคุยเรื่องการลงทุนที่ค้างกันไว้ การช่วยเหลือด้านการท่องเที่ยวของมาเลเซีย อาหารฮาลาล และปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ บอกไว้ก่อนหน้าว่าอาจจะลงพื้นที่ไปยังภาคใต้ และจะสอบถามความสะดวกทางนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพราะการที่ผู้นำทั้งสองประเทศลงไป จะทำให้มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น และปัญหาต่าง ๆ อาจคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น จากนั้น จะมีงานเลี้ยงอาหารค่ำ ซึ่งนายคิชิดะ ฟูโอมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เข้าร่วมด้วย

Advertisement

Verified by ExactMetrics