วันที่ 21 พฤศจิกายน 2024

เร่งรัดพัฒนา 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ

People Unity News : 11 เมษายน 2566 พลเอกประวิตร เร่งรัดโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำใน 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ให้ประชาชนมีน้ำกิน น้ำใช้ ไม่แล้ง กินดีอยู่ดี

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้กำชับหน่วยงานต่าง ๆ ให้เร่งรัดดำเนินการโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำจำนวน 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ

ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และพระราชกฤษฎีกา กำหนดลุ่มน้ำ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดลุ่มน้ำ จำนวน 22 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วย ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำโขงเหนือ ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำวัง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำโตนเลสาบ ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยกำหนดทิศทางการพัฒนาไปสู่เป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่บ้านมีน้ำกินน้ำใช้ที่สะอาดและเพียงพอ ไม่มีน้ำท่วม ไม่มีแล้ง และสำคัญที่สุดคือ “คนไทยต้องไม่จน”

โดยตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีได้กำกับดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศภายใต้แผนแม่บทการบริการจัดการน้ำ 20 ปี โดยบูรณาการส่วนราชการต่างๆ มากกว่า 48 ส่วนราชการและสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรน้ำในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยปัญหาหลักที่มักจะพบในลุ่มน้ำต่าง ๆ แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ อุทกภัย ภัยแล้ง และคุณภาพน้ำ ซึ่งปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนโครงการสำคัญๆ ทั้งที่เป็นสิ่งก่อสร้างและไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง ซึ่งมีขนาดเล็ก ได้แก่ การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน 5,005 แห่ง รวมทั้งโครงการสำคัญขนาดกลาง และขนาดใหญ่ รวม 255 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักรวม 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 1.42 ล้านไร่ พื้นที่ป้องกันน้ำท่วม 1.25 ล้านไร่ และครัวเรือนรับประโยชน์กว่า 500,000 ครัวเรือน

สำหรับตัวอย่างโครงการสำคัญๆ ใน 22 ลุ่มน้ำ เช่น ลุ่มน้ำยม ได้แก่ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบน การพัฒนาและปรับปรุงคลองผันน้ำยม-น่านในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนกลาง และการพัฒนาพื้นที่แก้มลิงและก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ โครงการเพื่อเพิ่มพื้นที่หน่วงน้ำและพื้นที่เก็บกักน้ำต้นทุน โครงการเพื่อลดความเสียหายน้ำท่วมพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่หน่วงน้ำและการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำพื้นที่บึงบอระเพ็ด ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ได้แก่ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ได้แก่ การพัฒนาระบบระบายเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนควนขนุน จังหวัดพัทลุง และพื้นที่ชุมชนควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2566 มีโครงการสำคัญๆ ที่ได้รับจัดสรรงงบประมาณแล้ว 15 โครงการ อาทิ อ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง จ.ตราด อ่างเก็บน้ำ ธารประเวศ จ.สุราษฎร์ธานี ระบบระบายน้ำหลักพื้นที่ชุมชนเมืองสตูล ระยะที่ 1

จ.สตูล พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร พื้นที่ ส.ป.ก. จ.กระบี่ เป็นต้น ซึ่งจะได้ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้ให้แล้วเสร็จตามแผน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่มุ่งการพัฒนาทรัพยากรน้ำเพื่อให้เกิดความยั่งยืน สามารถแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบให้ประชาชนได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป

Advertisement

“บวรศักดิ์” แถลงความคืบหน้าปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ให้เร่งจัดตั้ง 1 นักกฎหมาย 1 ตำบล

People unity news online : เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ศ.ดร.บวรศักดิ์  อุวรรณโณ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย แถลงความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศ ในหัวข้อ “กฎหมายยุคใหม่ เท่าเทียมและเป็นธรรม” มีสาระสำคัญ ดังนี้

การกำหนดกรอบการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายพิจารณาจากเรื่องที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน โดยยึดหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้มีการกำหนดกลไกที่สำคัญไว้หลายประการเพื่อให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายโดยเฉพาะหลักการตามมาตรา 77 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2560 โดยจะมีปรับเปลี่ยนกฎหมายที่มีความล้าหลัง เพื่อให้เป็นกฎหมายที่ดี และสอดคล้องกับสภาพความต้องการที่แท้จริงของสังคมปัจจุบัน

อีกทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและติดตามตรวจสอบทั้งในขั้นตอนของการจัดทำร่างกฎหมายและการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย และสร้างการรับรู้และเข้าถึงกฎหมายได้โดยง่าย เพื่อสื่อถึงความต้องการของสังคมและเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และเข้าใจถึงสาระของกฎหมาย ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับประเด็นการปฏิรูปและผลอันพึงประสงค์ของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายนั้นมุ่งเน้นการสร้างเพื่อให้เกิดการพัฒนาตามหลักการ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” สอดคล้องกับบริบทของการพัฒนาสู่ THAILAND 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นไปตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยกำหนดประเด็นปฏิรูปด้านกฎหมายเพื่อรองรับตามหลัก “ทวิยุทธศาสตร์” ทั้งในเรื่องของการกำหนดให้มีกลไกทางกฎหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการกำหนดให้มีกลไกทางกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายกล่าวย้ำว่า เป้าหมายหรือผลอันพึงประสงค์ของการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย 10 ประการ ดังต่อไปนี้ 1. มีกลไกให้การออกกฎหมายที่ดีและเท่าที่จำเป็นรวมทั้งมีกลไกในการทบทวนกฎหมายที่มีผลใช้บังคับแล้วเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2. ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัย และเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน 3. มีกลไกทางกฎหมายเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม 4. มีกลไกให้มีการตรากฎหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 5. พัฒนากระบวนการจัดทำและตรวจพิจาณาร่างกฎหมายให้ รวดเร็ว รอบคอบ และสอดคล้องกับเงื่อนเวลาในการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 6. มีกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายที่มีความสำคัญ และจัดให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน 7. มีกลไกให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายโดยสะดวกและเข้าถึงกฎหมายได้โดยง่าย 8. ปฏิรูปการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมวิชากฎหมายเพื่อพัฒนานักกฎหมายให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่ดี 9. พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนติดต่อกับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายได้โดยสะดวก และ 10 มีกลไกส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้จะต้องมีการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้รู้เรื่องเกี่ยวกับกฎหมาย โดยได้กำหนดให้เร่งดำเนินการตั้งยุติธรรมชุมชนในระดับท้องถิ่นทั่วทั้งประเทศ ซึ่งจะมี 1 นักกฎหมาย ต่อ 1 ตำบล ช่วยให้คำปรึกษาแก่ประชาชนที่ต้องการคำปรึกษาด้านกฎหมายให้เข้าใจได้โดยง่าย เนื่องจากปัจจุบันอาจจะมีสภาทนายความฯ สำนักอัยการสูงสุด และมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งอาจจะมีการช่วยเหลืออยู่แล้วแต่อาจจะเข้าไปไม่ทั่วถึงยังประชาชนทุกตำบล โดยจะมีการจัดอบรมให้แก่ยุติธรรมชุมชนในเรื่องของกฎหมายใหม่ๆ 1 ตำบล 1 นักกฎหมาย เพื่อส่งเสริมและขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

People unity news online : post 3 เมษายน 2561 เวลา 07.30 น.

รัฐบาลเชิญชวนประชาชน-ผู้ประกอบการใช้บริการ e-Service ภาครัฐ ครอบคลุมงาน 3 ด้าน 725 บริการ

People Unity News : 15 มกราคม 2566 รัฐบาลเชิญชวนประชาชนและผู้ประกอบการใช้บริการ e-Service ภาครัฐ สำนักงาน ก.พ.ร. รวบรวม 725 งานบริการ ครอบคลุมงาน 3 ด้าน บริการเพื่อประชาชน แรงงาน และบริการผู้ประกอบธุรกิจ/เอสเอ็มอี ไว้ให้ครบจบในที่เดียว

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัลตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งภายใต้แผนดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มีนโยบายให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ นำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้สำหรับบริการ รวมถึงการปรับปรุงระบบการติดต่ออนุญาตต่างๆ ให้อยู่ในรูปบริการอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Service เพื่ออำนวยความสะดวกลดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้รวบรวมระบบบริการ e-Service ที่ส่วนราชการและหน่วยงานรัฐได้พัฒนาขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ไว้ในที่เดียวรวม 725 งานบริการ ครอบคลุมงานบริการ 3 ด้านหลัก ซึ่งรัฐบาลขอเชิญชวนประชาชนและผู้ประกอบการเลือกใช้บริการได้เพียงคลิ๊กเข้าไปที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ลิงค์ http://bit.ly/3veQn5L หรือสแกนคิวอาร์โค้ด แล้วเลือกใช้บริการได้ตามความต้องการ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า e-Service ภาครัฐทั้ง 725 งานบริการ แยกเป็นบริการ 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย ด้านที่ 1 งานบริการเพื่อประชาชน รวม 82 บริการ แยกเป็นงานบริการย่อยอีก 8 ด้าน ได้แก่ 1)ด้านสวัสดิการภาครัฐและการขอความช่วยเหลือ 10 งานบริการ 2)ด้านการขนส่ง คมนาคม และการเดินทาง 13 งานบริการ 3)ด้านที่ดิน ภาษี และธนาคาร 10 งานบริการ 4)ด้านสาธารณูปโภคและการขอใช้ที่สาธารณประโยชน์ 11 งานบริการ 5)ด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม 15 งานบริการ 6)ด้านการสอบ การศึกษา 4 งานบริการ 7)ด้านทะเบียนราษฎรและตรวจสอบข้อมูล 16 งานบริการ และ 8)ด้านสุขภาพ 3 งานบริการ

สำหรับด้านที่ 2 บริการด้านแรงงานหรือส่งเสริมการมีงานทำรวม 98 งานบริการ แยกเป็นงานบริการย่อย 4 ด้าน ได้แก่ 1) บริการด้านประกันสังคม 12 งานบริการ 2) ด้านการส่งเสริมอาชีพ และการฝึกอบรม 15 งานบริการ 3) บริการด้านการขึ้นทะเบียนและการขอใบประกอบวิชาชีพ 39 งานบริการ และ 4)ด้านการสอบ การศึกษา 32 งานบริการ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ด้านที่ 3 งานบริการผู้ประกอบธุรกิจ/SMEs รวม 545 งานบริการ แยกเป็นงานบริการย่อย 6 ด้าน ได้แก่ 1)ด้านการขออนุญาตและจดทะเบียน 248 งานบริการ 2)ด้านการขออนุญาตเกี่ยวกับวัตถุอันตราย 68 งานบริการ 3)งานบริการด้านสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า 9 งานบริการ 4)ด้านการเงิน ภาษี และสิทธิประโยชน์ 82 งานบริการ 5)บริการด้านการส่งออก-นำเข้า 86 งานบริการ และ 6)ด้านการรับรองมาตรฐานและตรวจสอบข้อมูล 52 งานบริการ

Advertisement

นายกฯระบุการปฏิรูปต้องอาศัยเวลา โดยดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน

People unity news online : นายกรัฐมนตรียืนยันแผนงานปฏิรูปประเทศจะถูกขับเคลื่อนไปในทิศทางที่แก้ปัญหาได้ มุ่งมั่นทำให้ประเทศเดินหน้า ดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทุกภาคส่วนมีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติ เน้นย้ำการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยระยะเวลา

เมื่อวานนี้ (15 พฤษภาคม 2561) เวลา 12.50 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโน ประธานปฏิรูปกฎหมายระบุว่าการปฏิรูปจะสำเร็จยากเพราะให้ส่วนราชการเป็นผู้ปฏิบัติแต่ไม่มีแผนงานว่า อยากให้ทุกคนทบทวนในส่วนของข้าราชการควรมีบทบาทอย่างไรในฐานะผู้ปฏิบัติ เพราะข้าราชการเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อน ทั้งนี้ ต้องพิจารณาการปฏิรูปในภาพรวมที่มีรายละเอียดอยู่ในแผนปฏิรูป และยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นระดับนโยบาย ส่วนในระดับปฏิบัติเป็นเรื่องของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงภาคเอกชน และประชาชนทุกคนต้องร่วมมือกันปฏิรูปประเทศ โดยรัฐบาลได้พยายามดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างๆ มีผลงานปรากฎในหลายๆด้าน ซึ่งที่ผ่านมาทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ช่วยกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาการอำนวยความสะดวก ปัญหาการลงทุน หรือด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ  เป็นต้น ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็นำนโยบายต่างๆเหล่านี้ไปสู่การปฏิบัติ โดยมีข้าราชการเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เป็นไปตามกฎระเบียบ กฎหมายต่างๆ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลได้ดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ อาทิ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม การเดินทาง การขนส่ง และอื่นๆ เช่น การแก้ไขปัญหาประปาหมู่บ้าน ได้ดำเนินการแล้วกว่า 7,000 หมู่บ้าน และจะดำเนินการให้เรียบร้อยทั่วประเทศในเร็วๆนี้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาหรือปฏิรูปในด้านต่างๆนั้น ได้ดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน และเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน สิ่งสำคัญคือต้องไม่ให้ปัญหาต่างๆนำมาซึ่งความวุ่นวายมากขึ้นกว่าเดิม ต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้โดยอาศัยระยะเวลาและสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจกับประชาชนโดยสื่อมวลชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ยืนยันว่าคณะทำงานของรัฐบาลทุกคณะนำนโยบายลงสู่การขับเคลื่อนเพื่อการปฏิบัติในทิศทางที่สามารถแก้ปัญหาได้ และลดผลกระทบที่จะเกิดจากความขัดแย้ง

People unity news online : post 16 พฤษภาคม 2561 เวลา 11.10 น.

“พล.อ.ประวิตร“ ลงใต้ กำชับบริหารน้ำทั้งระบบกันน้ำท่วม-แล้งไปพร้อมกัน

People Unity News : 13 มีนาคม 2566 “พล.อ.ประวิตร“ ลงใต้ เร่งติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำ ย้ำต้องดูทั้งระบบ ป้องกันทั้งน้ำท่วม-น้ำแล้ง ทักทายประชาชนอย่างอารมณ์ดี พร้อมรับฟังปัญหา

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ เดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ ที่ จ.ชุมพร จ.ระนอง และ จ.สุราษฎร์ธานี ติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาพื้นที่และรับฟังความเดือดร้อนประชาชน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ให้การต้อนรับ ณ ศาลาอเนกประสงค์พรุเฉวง ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี

พล.อ.ประวิตร รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ภาพรวม พัฒนาการแผนงานและโครงการน้ำในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ปี 2561-2565 คืบหน้า 870 โครงการ ใช้งบประมาณ 4,469.40 ล้านบาท ประชาชนได้รับประโยชน์ 45,687 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับประโยชน์ 92,101 ไร่ ป้องกันความเสียหายได้ 15,975 ไร่ และอยู่ระหว่างดำเนินโครงการสำคัญ 6 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองสีสุก คลองลิปะใหญ่ ระบบป้องกันน้ำท่วม ตลาดไชยา ชุมชนเชิงมนต์ ชุมชนเฉวง และชุมชนวัดประดู่ ติดตามโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนบางรัก และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมพรุเฉวง จ.สุราษฎร์ธานี

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอให้ สทนช. และส่วนราชการจังหวัด ให้ความสำคัญกับพื้นที่เกิดน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงที่สร้างความเดือดร้อนเสียหายของชุมชนที่ผ่านมา โดยให้เร่งขับเคลื่อนแผนงานโครงการในพื้นที่เสี่ยงที่ประสบปัญหาน้ำท่วม บริเวณ ต.ท่าอุแท ต.ปากแพรก ต.ไชยคราม ต.สมอทอง ต.เขานิพนธ์ ต.พรุพี และ อ.บ้านนาสาร อ.พุนพิน อ.คีรีรัฐนิคม อ.บ้านขุนตาล และ อ.ดอนสัก พร้อมขอให้เร่งรัดกำกับโครงการชุมชนบางรัก ระยะที่ 1 การพัฒนาแหล่งน้ำทุ่งจอ การก่อสร้างสถานีสูบน้ำสหกรณ์นิคมนครพนม และการขยายระบบประปา ต.เกาะพะงัน ให้เป็นไปตามแผน เพื่อลดผลกระทบความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยของจังหวัดในภาพรวม ทั้งนี้ ให้เตรียมการ 10 มาตรการ รองรับฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำบริโภคกับประชาชนในฤดูแล้งไปพร้อมกัน

พล.อ.ประวิตร กล่าวทักทายพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างอารมณ์ดีและเป็นกันเอง พร้อมรับฟังปัญหาจากประชาชนโดยตรง

Advertisement

เชิญชวน ปชช.ลงทะเบียนพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล

People Unity News : 19 มีนาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาลเชิญชวนประชาชนลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ให้สามารถใช้ Digital ID ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริง ใช้ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มั่นคง ปลอดภัย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ตามที่ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ซึ่งเป็นกฎหมายกลางส่งเสริมให้การบริการของภาครัฐใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก มีผลบังคับใช้ทั้งฉบับ และรัฐบาลได้เปิดให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ 10 ม.ค. 66 ที่ผ่านมานั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ประชาชนลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ให้สามารถใช้ Digital ID ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริง เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการใช้บริการต่าง ๆ ที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเป็นการใช้ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มั่นคงปลอดภัย

นายอนุชากล่าวเพิ่มเติมว่า การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกัน แทนระบบเดิมที่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ต้องมาเผชิญหน้าและแสดงตน เพื่อยืนยันตัวตนด้วยเอกสารทางราชการ เป็นการสร้างมิติใหม่ของการทำธุรกรรมภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีความสะดวก รวดเร็ว ผ่านช่องทางดิจิทัล และมีความปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งยังลดความเสี่ยงในการใช้เอกสารราชการปลอมในกระบวนการยืนยันตัวตนของระบบเดิม และเพื่อสนับสนุนการบริการประชาชนของภาครัฐ และภาคเอกชน ที่จะต้องปรับตัวและวิธีการเพื่อตอบสนองงานบริการแนวใหม่ที่ไม่ต้องเผชิญหน้า หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมอีกด้วย โดยขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่ได้อนุญาตให้สามารถใช้บัตรประชาชนดิจิทัล เพื่อติดต่อทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ เช่น กรมสรรพากรที่ได้มีการเชื่อมโยงแอปพลิเคชัน D.DOPA กับเว็บไซต์กรมสรรพากร เพื่อเป็นช่องทางยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ภ.ง.ด. 90/91/94 ได้ และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ที่ได้อนุญาตให้ประชาชนที่โดยสารเครื่องบิน สามารถแสดงเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงบัตรประชาชนดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน D.DOPA เพื่อยืนยันผ่านจุดตรวจค้น และเป็นเอกสารประกอบกับบัตรผ่านขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) ก่อนขึ้นเครื่องได้ด้วย ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี

“ในปัจจุบันบริการจากภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่ต่างก็ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล รัฐบาลจึงขอเชิญชวนประชาชนลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ให้สามารถใช้ Digital ID ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริง เพื่อใช้ในการติดต่อทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน ใช้พิสูจน์และยืนยันสถานะของตัวบุคคลเมื่อต้องทำธุรกรรมหรือนิติกรรมต่าง ๆ รวมทั้งใช้ยืนยันสถานภาพการเป็นคนไทยของตัวบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการใช้ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ มั่นคงปลอดภัย” นายอนุชา กล่าว

สำหรับแอปพลิเคชัน D.DOPA ได้พัฒนาเวอร์ชันล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดและลงทะเบียนด้วยตัวเองเพิ่มอีกหนึ่งช่องทาง จากเดิมต้องลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่ในการขอรับบริการการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน ที่สำนักทะเบียน ได้แก่ สำนักงานเขตทุกเขตในกรุงเทพมหานคร และที่ว่าการอำเภอทุกจังหวัด โดยลงทะเบียนด้วยตัวเอง จะใช้วิธีถ่ายรูปบัตรประจำตัวประชาชนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จากนั้นสแกนใบหน้าเพื่อประมวลผลผ่านเทคโนโลยีชีวมิติ แล้วตั้งรหัสผ่าน 8 หลักเพื่อเข้าใช้งาน เป็นอันเสร็จสิ้น โดยผู้ประสงค์ขอลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “D.DOPA” ของกรมการปกครอง ได้ทั้งระบบ ios และ Android โดยสามารถลงทะเบียนด้วยตนเอง หรือลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่ ซึ่งภายหลังลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อต้องติดต่อรับบริการจากหน่วยงานรัฐ หรือมีเจ้าพนักงานเรียกตรวจบัตรประชาชนในกรณีต่าง ๆ ประชาชนสามารถใช้สมาร์ทโฟนที่ได้รับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแล้วข้างต้นแสดงต่อเจ้าพนักงานที่เรียกตรวจแทนการใช้บัตรประชาชนได้

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมคาดว่าในปี 2566 จะมีประชาชนใช้ Digital ID แทนบัตรประจำตัวประชาชนประมาณ 10 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังกรมการปกครองได้พัฒนาระบบการลงทะเบียนทั้งหมดไปอยู่ในรูปแบบออนไลน์ และกระทรวงดิจิทัลฯ ยังคาดว่า Digital ID จะเข้ามาแทนที่การยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชน ด้วยความปลอดภัยที่สูงกว่า เนื่องจาก Digital ID จะมีลักษณะเป็นคิวอาร์โค้ด ขณะที่บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงจะเกิดโอกาสที่มิจฉาชีพเห็นข้อมูลหน้าบัตรจากการทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแลกบัตร การติดต่อหน่วยงาน การใช้ประกอบการทำธุรกรรมการเงิน หรือ ธุรกิจต่างๆ โดย Digital ID จะช่วยลดการปลอมแปลงบัตรประชาชน หรือสวมรอยเจ้าของที่แท้จริงได้

Advertisement

นายกฯระบุจำเป็นต้องจ้างครูที่ไม่ได้จบครูในสาขาที่ครูไม่ชำนาญ

People unity news online :  เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 เวลา 14.00 น. ณ บริเวณห้องโถงชั้นล่าง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีการคัดค้านการสอบบรรจุครูผู้ช่วยที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูว่า ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าเรามีการปรับปรุง การพัฒนา และปฏิรูประบบการศึกษา ซึ่งจะต้องเริ่มดูตั้งแต่ครู ว่ามีเพียงพอหรือไม่ มีคุณภาพหรือไม่ สาขาที่เป็นความต้องการของประเทศมีเพียงพอหรือไม่ ถ้าพูดถึงจำนวนคนที่จบครูออกมามีมากพอสมควร แต่บางวิชาสอนไม่ได้ เพราะไม่ได้จบด้านนั้นมา จึงต้องหาครูที่จบมาตรงกับวิชาเหล่านั้นที่ยังขาดอยู่ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการมีความเห็นเสนอมาว่าถ้าต้องการผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของประเทศ เช่น ด้านเคมี วิทยาศาสตร์ ซึ่งคนที่จบด้านครูอาจไม่มีความชำนาญ ดังนั้น บุคคลด้านนี้จะมีจำนวนไม่มาก เฉพาะที่ขาดแคลนอยู่ ซึ่งเมื่อเข้ามาทำงานแล้วไม่ใช่ว่าบรรจุได้เลย ก็ต้องมีการทดลองงานก่อนประมาณ 2 ปี ระหว่างการทดลองงานก็ต้องมีการประเมิน จึงต้องไปสอบให้ผ่านกฎเกณฑ์ถึงจะได้รับการบรรจุให้เป็นข้าราชการ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลจะไม่ทำอะไรให้ใครเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครู เรื่องแพทย์ คือทุกคนต้องยอมรับว่าเรากำลังขาดแคลนบางสาขาวิชาอยู่ เราต้องเตรียมคนให้พร้อม รองรับตลาดแรงงาน ไม่เช่นนั้นก็จะถูกต่างชาติแย่งงานไปหมด

People unity news online : post 30 มีนาคม 2560 เวลา 20.18 น.

ก.ศึกษาฯเตรียมมอบของขวัญปีใหม่ “Hi-Speed Internet” เร็วแรงส่งตรงถึงโรงเรียนทั่วไทย

People unity news online : เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ได้พบปะพูดคุยและรับฟังปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนและสถานศึกษาสังกัด ศธ. ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายสำคัญที่จะเริ่มต้นปรับปรุงระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ทุกโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ สามารถใช้ Hi-speed Internet ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยบริหารจัดการเพื่อลดความซ้ำซ้อนของการใช้บริการอินเทอร์เน็ต ทั้งจากภาครัฐ (UniNet, เน็ตประชารัฐ) ภาครัฐวิสาหกิจ (TOT, CAT) และภาคเอกชน (TRUE, SAMART, TELECOM, AIS, 3BB) พร้อมจะยกเลิก MOENet ซึ่งไม่ถือเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service provider) แต่เป็นผู้ซื้อสัญญาณจากเอกชนส่งไปยังสถานศึกษาต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้โรงเรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น แถมยังใช้งานได้ไม่คุ้มค่าและไม่เต็มศักยภาพด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดสุโขทัยครั้งนี้ จึงต้องการมาพบปะพูดคุยและรับฟังปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตจากผู้บริหารและครูในพื้นที่เอง มาดูให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของโรงเรียนและสถานศึกษา หลังจากที่ไปดูโรงเรียนบ้านประชาสุขสันต์เป็นจุดแรก และถือเป็นโรงเรียนตัวอย่างขนาดเล็กที่ดี ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนให้ความสำคัญและมีข้อมูลในการบริหารงาน รู้สภาพปัญหาอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนอย่างแท้จริง พร้อมหาแนวทางแก้ไข และเลือกสิ่งที่ดีทีสุดต่อการเรียนการสอนของโรงเรียน

ดังนั้น ตั้งแต่ปีใหม่ปี 2561 เป็นต้นไป จะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของโครงการ “Hi speed Inernet” ด้วยการบริหารจัดการอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนทั่วประเทศอย่างถูกต้องก่อน คือการให้ผู้อำนวยการโรงเรียน/สถานศึกษา ซึ่งเป็นผู้รู้ข้อมูลในพื้นที่มากที่สุด มีอำนาจตัดสินใจเลือกเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ดีที่สุดต่อนักเรียนและโรงเรียน และช่วยให้สามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเติมเต็มความรู้แก่บุคลากรเกี่ยวกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเบื้องต้น เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้ดีขึ้น, การจัดหาอุปกรณ์รับและกระจายสัญญาณ เช่น Router Access point เพื่อแปลงสัญญาณให้มีความแรงและเร็วมากขึ้น ตลอดจนหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างทันท่วงที โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและศึกษาธิการจังหวัดเป็นผู้กำกับช่วยเหลือ พร้อมกำหนดให้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดหนึ่งของการทำงาน ที่จะต้องรู้ข้อมูลด้านอินเทอร์เน็ตในพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ของตนเอง, โรงเรียนใช้บริการอะไรอยู่บ้าง, โรงเรียนสามารถใช้ของผู้ให้บริการรายใดได้บ้าง เป็นต้น

ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการ จะเร่งวางรากฐานก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยจะเสนอโครงการขยายรากฐานเครือข่าย UNINet  ไปยังโรงเรียนอีก 20,000 แห่ง งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท  เพิ่มเติมจากที่ UNINet  ได้วางรากฐานไปยังโรงเรียน สพฐ. กว่า 10,000 แห่ง และในสถานศึกษาอาชีวศึกษาทั้ง 426 แห่งแล้ว เพื่อให้เป็น High way internet ที่มีความเร็วและแรงเพียงพอต่อการเรียนรู้ของเด็กไทยทุกคน ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงสื่อดีทันสมัย องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ช่วยลดช่องว่างและสร้างโอกาสในชีวิต ให้ไทยก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างมั่นคง สำหรับประชาชน ศธ.มีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของ UNINet เพื่อร่วมใช้หนังสือและสื่อ e-Book ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ เพื่อพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ด้วยระบบดิจิทัลมากขึ้น เช่น Smart farmer, การค้าขายออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งจะได้มีการหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

และขอยืนยันว่า การยกเลิก MOENet  ไม่เพียงจะช่วยประหยัดงบประมาณถึงกว่า 1,000 ล้านบาท แต่จะช่วยให้ ศธ. บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ ให้เกิดคุณค่าสูงที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ ซึ่งการประหยัดงบประมาณไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริง เมื่อเทียบกับโอกาสที่เด็กไทยทุกคนจะได้รับ ที่คาดว่าจะมีค่ามากกว่าเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานของโรงเรียนและสถานศึกษาตลอดจนหน่วยงานในสังกัด ศธ.ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ทั้ง 452 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียน สพฐ. 328 แห่ง สถานศึกษา สอศ. 16 แห่ง และหน่วยงาน สถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ของสำนักงาน กศน. 108 แห่ง พบว่าส่วนใหญ่ใช้บริการจากอินเทอร์เน็ตจากทั้งของภาครัฐ (UNINET, MOENET) ดาวเทียม ภาครัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เช่น TOT Triple CAT 3BB เป็นต้น โดยปัญหา/อุปสรรคส่วนใหญ่เกิดจากความเร็วของอินเทอร์เน็ต ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องใช้บริการจากผู้ให้บริการหลายราย, บุคลากรขาดความรู้ความชำนาญในการบริหารงานเครือข่าย และขาดความรู้ความเข้าใจในการเลือกเช่าสัญญาณจากผู้ให้บริการ (ISP) ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพที่สุดในพื้นที่ให้บริการ, ขาดช่องทางการสื่อสารกับผู้รับผิดชอบในการดูและรักษาระบบ, เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้งาน เป็นต้น

People unity news online : post 25 ธันวาคม 2560 เวลา 14.10 น.

ผบ.ทบ. ตรวจเยี่ยมคัดเลือกทหารกองเกินระบบออนไลน์

People Unity News : 28 มกราคม 66 ผบ.ทบ.ตรวจเยี่ยมคัดเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ระบบออนไลน์ ณ มทบ.11

วันนี้ (28 ม.ค.66) พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.ตรวจเยี่ยมการรับสมัครและการคัดเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ โดยมี พล.ต.ปัญญา ตั้งความเพียร ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ให้การต้อนรับ ณ มณฑลทหารบกที่ 11

ในการนี้ผู้บัญชาการทหารบกได้รับฟังการบรรยายสรุปขั้นตอนการปฏิบัติการคัดเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ จากนั้นผู้บัญชาการทหารบก ได้ตรวจเยี่ยมการคัดเลือกฯ ขั้นตอนที่ 1 ได้แก่ การตรวจหลักฐานและวัดขนาดร่างกาย และได้ตรวจเยี่ยมขั้นตอนที่ 2 ได้แก่ การตรวจร่างกาย นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมการปฏิบัติตามสถานีต่างๆ จากนั้นจึงพบปะพูดคุยกับทหารกองเกินรวมทั้งครอบครัวที่มาร่วมติดตามการรับสมัครและคัดเลือกฯครั้งนี้

การรับสมัครและคัดเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการ โดยวิธีร้องขอ (กรณีพิเศษ) ด้วยระบบออนไลน์ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 64 ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบกมีนโยบายมุ่งพัฒนาการตรวจเลือกทหารกองเกินฯ (Control) ไปสู่ระบบทหารกองประจำการอาสาสมัคร (Volunteer) หรือระบบสมัครใจเพื่อทดแทนการเรียกเกณฑ์ให้เป็นรูปธรรมในอนาคต อีกทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการเกณฑ์ทหารแก่สังคมโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน

สำหรับการรับสมัครและคัดเลือกฯในปี 66 เริ่มตั้งแต่ 29 ส.ค.65 และสิ้นสุดในวันที่ 29 ม.ค.66 โดยมณฑลทหารบกทั้ง 35 หน่วยทั่วประเทศเป็นหน่วยรับผิดชอบดำเนินการ ทั้งนี้ในปี 66 ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในความดูแลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้ด้อยโอกาส รวมถึงผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กองทัพบกกำหนดได้มีโอกาสสมัครเข้ารับราชการทหารกองประจำการได้ด้วย

Advertisement

“พล.อ.ประวิตร” ยันจะไม่ให้มีพื้นที่ภัยแล้งในอีสานอีก

People Unity News : 24 กุมภาพันธ์ 2566 “พล.อ.ประวิตร” ลงพื้นที่อุดรฯ-หนองคาย-เลย กำชับบูรณาการบริหารจัดการน้ำ 10 มาตรการฤดูแล้งให้เข้มงวด ยันจะไม่ให้มีพื้นที่ภัยแล้งในอีสานอีก

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พร้อมคณะ ตรวจราชการในพื้นที่ จ.อุดรธานี จ.หนองคาย และ จ.เลย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด

โดยช่วงเช้า พล.อ.ประวิตร และคณะ ไปที่โรงเรียนภูพานวิทยา ต.ขอนยูง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี รับฟังการบรรยายสรุปภาพรวมการบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ที่พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือและลุ่มน้ำชี ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการปี 61-65 ประชาชนได้รับประโยชน์ 55,586 ครัวเรือน จากงบกลางปี 65 ได้รับประโยชน์ 1,045 ครัวเรือน งบบูรณาการฯ ปี 66 จะได้รับประโยชน์ 6,955 ครัวเรือน งบตามแผนปฏิบัติการปี 67 ประชาชนจะได้รับประโยชน์ 53,175 ครัวเรือน และโครงการสำคัญอีก 6 แห่ง ประชาชนจะได้รับประโยชน์ 43,500 ครัวเรือน

พล.อ.ประวิตร มอบนโยบายเร่งบูรณาการบริหารจัดการน้ำให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะ 10 มาตรการฤดูแล้ง ให้เข้มงวดตามนโยบาย พร้อมเร่งรัดโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเชียง (ตอนบน) เพื่อช่วยยกระดับความมั่นคงด้านน้ำ ให้ชาวบ้านและเกษตรกรมีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดปีอย่างยั่งยืน

พล.อ.ประวิตร พบปะพร้อมรับฟังข้อคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนที่มาให้การต้อนรับจำนวนมากอย่างใกล้ชิด ด้วยบรรยากาศที่เป็นกันเอง พร้อมขอถ่ายรูปเซลฟี่กับ พล.อ.ประวิตร เป็นที่ระลึก สร้างความประทับใจให้ชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรม ชูป้ายให้กำลังใจ พล.อ.ประวิตร และสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีของคนอีสาน ซึ่งพล.อ.ประวิตร ยืนยันกับชาวบ้านว่าจะไม่ให้มีพื้นที่ประสบภัยแล้งในอีสานอีกต่อไป

Advertisement

Verified by ExactMetrics