วันที่ 21 พฤศจิกายน 2024

รู้ยัง?? มาตรการช่วยเหลือน้ำท่วมของรัฐบาลมีอะไรบ้าง

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 15 ตุลาคม 2567 มาตรการช่วยน้ำท่วม ลดภาษี – ลดค่าใช้จ่าย – เพิ่มสินเชื่อฟื้นฟูบ้านเรือน

วันนี้ (15 ต.ค. 67) ณ ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือที่ประกาศและมีผลบังคับใช้แล้ว ดังนี้

ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล เท่ากับจำนวนเงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แก่บริษัทและห้างหุ้นส่วนสำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันเพื่อชดเชยความเสียหายจากอุทกภัย หรือสรุปแบบง่าย ๆ คือ เงินช่วยเหลือที่ได้รับจากรัฐบาล และเงินชดเชยที่ได้จากบริษัทประกันภัย ไม่ต้องนำไปนับรวมเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษี รวมถึง การยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับสิ่งของที่นำเข้ามาเพื่อบริจาคแก่ผู้ประสบอุทกภัย

กรมธนารักษ์ ลดค่าเช่าที่ราชพัสดุแก่ผู้ประสบอุทกภัย โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

การเช่าเพื่ออยู่อาศัย หากที่พักเสียหายบางส่วน ยกเว้นค่าเช่า 1 ปี แต่หากที่พักเสียหายทั้งหลัง, ยกเว้นค่าเช่าให้ 2 ปี การเช่าเพื่อการเกษตร, ยกเว้นค่าเช่าให้ 1 ปี การเช่าเพื่อประโยชน์อย่างอื่น หากไม่สามารถทำกิจการได้ตามปกติเกิน 3 วัน ยกเว้นค่าเช่าเป็นรายเดือน  ยกเว้นการคิดเงินเพิ่มเติม ให้แก่ผู้เช่าที่จ่ายค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากประสบอุทกภัย

สินเชื่อ Soft loan เพื่อช่วยเหลือ ซ่อมแซมและฟื้นฟูอาคารบ้านเรือน กิจการการ ตลอดจนมาตรการลดภาระหนี้สิน ลดอัตราดอกเบี้ย และพักหนี้ให้แก่ผู้กู้ที่ประสบอุทกภัย ดังนี้

โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5 % ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี โดยให้วงเงินรายละไม่เกิน 40 ล้านบาท โดยสามารถขอรายละเอียดของสินเชื่อก้อนนี้ได้จากธนาคารที่ใช้บริการอยู่ หรือธนาคารใกล้บ้าน (มี 16 ธนาคารที่เข้าร่วม)

โครงการ SMEs No One Left Behind ของ บสย. ที่เป็นวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 1,000 ล้านบาท โดยมีวงเงินค้ำประกันต่อราย 10,000 – 2 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม 1.25 % ต่อปี และระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี

ธนาคารออมสิน ช่วยเหลือลูกหนี้เดิม ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและไม่คิดดอกเบี้ย 6 เดือน สำหรับสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท และช่วยเหลือผู้ถือบัตรเครดิต ด้วยการปรับลดอัตราชำระขั้นต่ำเป็น 3% ให้ 3 รอบบัญชี

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีสถานะปกติ หรือค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน สามารถขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้สูงสุดถึง 20 ปี โดยมีระยะปลอดชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และยกเว้นดอกเบี้ยปรับทั้งจำนวน และมีมาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน สำหรับเสริมสภาพคล่องและใช้จ่ายค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น วงเงินต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี โดย 6 เดือนแรกอัตราดอกเบี้ย 0% ที่เหลือ อัตราดอกเบี้ย MRR  และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าลงทุนซ่อมแซมบ้าน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนเป็นค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ให้การช่วยเหลือแก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ด้วยการลดเงินงวดที่ชำระ 50% และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 2% เป็นเวลา 6 เดือน

สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่หลักประกันได้รับความเสียหาย ให้ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี 6 เดือน โดย 6 เดือนแรกอัตราดอกเบี้ย 0% ระยะเวลาที่เหลืออัตราดอกเบี้ย 1%

สำหรับลูกค้าสถานะ NPL ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้ไม่เกิน 1 ปี โดย 6 เดือนแรกอัตราดอกเบี้ย 0% และผ่อน 1,000 บาทต่องวด ระยะเวลาที่เหลืออัตราดอกเบี้ย 1%

สำหรับการขอสินเชื่อใหม่หรือสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย สามารถขอกู้ได้ถึง 2 ล้านบาทต่อ 1 หลักประกัน อัตราดอกเบี้ย 3 เดือนแรก 0% ระยะเวลาที่เหลือตามเงื่อนไขของการผ่อนชำระ (โดยมีตั้งแต่ 2% – 6%) และยังมีการให้ค่าสินไหมทดแทนเร่งด่วนแก่ผู้ทำกรมธรรม์ประกันภัยที่อยู่อาศัย โดยจ่ายตามความเสียหายจริงไม่เกิน 20,000 บาท

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มีมาตรการพักหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะอัตรากำไร ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย มีมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย กรณีกู้ยืมเงิน Fixed Loan พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน ในกรณีตั๋วสัญญาใช้เงิน จะขยายระยะเวลาชำระตั๋วสัญญาใช้เงินไปอีกไม่เกิน 180 วัน และยังมีมาตรการเติมทุนฉุกเฉินฟื้นฟูกิจการ หากมีธุรกิจอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ให้วงเงินเพิ่ม 10% ของวงเงินอนุมัติสินเชื่อ

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงินสูงสุด 180 วัน

สำหรับนโยบายที่อยู่ระหว่างการออกระเบียบกฎหมายเพิ่มเติม

  1. มาตรการลดหย่อนภาษี โดยจะกำหนดให้รายจ่ายการซื้ออุปกรณ์และวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้านในพื้นที่น้ำท่วม สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของประชาชน
  2. มาตรการขยายระยะเวลาการยื่นแบบชำระภาษี รวมถึงการยกเว้นอากรขาเข้า สำหรับเครื่องจักรและชิ้นส่วน ที่เกิดจากการลงทุนเพื่อทดแทนความเสียหายจากน้ำท่วม
  3. มาตรการสินเชื่อ Soft Loan เพิ่มเติมอีก 50,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม โดยเน้นไปที่กลุ่มผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้ฟื้นฟูทันช่วง High Season

ทั้ง 3 มาตรการ อยู่ระหว่างการออกประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) และประกาศ BOI คาดว่าจะสามารถนำเสนอเข้า ครม. ได้ภายในเดือนตุลาคม

Advertisement

นายกฯกำชับเร่งจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยให้แล้วเสร็จภายในตุลาคมนี้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 15 ตุลาคม 2567 นายกฯ “แพทองธาร” กำชับเร่งจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยให้แล้วเสร็จภายในตุลาคมนี้ มอบหมายคณะทำงานฯ เตรียมรับมือภัยธรรมชาติ ขอบคุณทุกภาคส่วนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เผยเตรียมประชุม ครม.สัญจร “เชียงราย-เชียงใหม่” ปลายปี สร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นเศรษฐกิจ

วันนี้ (15 ตุลาคม 2567) เวลา 14.45 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.)  ครั้งที่ 2/2567 โดยมีคณะกรรมการ คอส. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมฯ ตอนหนึ่ง ว่า ความจริงมีแพลนที่เคยพูดคุยกันไว้ว่า ต้องการที่จะแก้ปัญหาระยะยาว ทั้งกรณีน้ำท่วม หรือปัญหาดินโคนถล่มที่เกิดขึ้น ณ จังหวัดเชียงราย   ดูเหมือนว่าปีหน้าหรือปีต่อ ๆ ไป  ยังอาจมีปัญหาเหล่านี้อยู่ ซึ่งกังวลว่า อาจจะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ 100% แต่ต้องมีวิธีรับมือที่ดีขึ้น  รวมถึงจะต้องหาวิธีการแก้ปัญหาให้จบเร็วขึ้น  ซึ่งขอให้ร่วมมือกันในการศึกษาตรงนี้อย่างจริงจังภายในปีนี้ก่อนที่จะถึงปีหน้า ที่สำคัญต้องชื่นชมทุกภาคส่วนทางราชการ จิตอาสา มูลนิธิต่าง ๆ ที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวขอบคุณรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วย  ที่ลงพื้นที่อย่างใกล้ชิด  โดยเฉพาะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมที่ลงไปอยู่ในพื้นที่ อยู่กับประชาชน  ทำให้ประชาชนรู้สึกมั่นใจ ซึ่งรัฐมนตรีอยู่หน้างานสามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที  ปัจจุบันนี้สถานการณ์คลี่คลายไปมากแล้วเมื่อเช้าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้หารือเพื่อทำให้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ เสร็จภายในปลายเดือนตุลาคม หรือก่อนเดือนพฤศจิกายน นี้  สำหรับการประชุมในวันนี้ เพื่อรับทราบสถานการณ์และการช่วยเหลือเยียวยาในการป้องกันปัญหาและแก้ไขปัญหาที่ต้องรอรับเหตุการณ์ในปีหน้าต่อไป

ที่ประชุม รับทราบการเร่งฟื้นฟูสถานการณ์อุทกภัย การพิจารณาแนวทางบริหารจัดการน้ำระยะยาว การเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม การพิจารณาแนวทางเยียวยาให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติ และการติดตามประเด็นการหารือความร่วมมือด้านน้ำกับเมียนมา

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาแผน/ผลการดำเนินงานของคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และดินโคลนถล่มส่วนหน้า ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินการจ่ายเงินช่วยเยียวยาผู้ประสบภัย/ความก้าวหน้าการปรับปรุงระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย รวมถึงแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาในปี 2568 ระยะกลาง และระยะยาว

นายจิรายุ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีขอให้คณะทำงานฯ ประชุมติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำและสถานการณ์ดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ยังคงประสบปัญหาอยู่  ทุกหน่วยงานติดตามอย่างใกล้ชิด และเร่งให้ความช่วยเหลือ ในส่วนของศปช.ส่วนหน้า ให้สรุปความต้องการของแต่ละพื้นที่ ทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ รวมถึงงบประมาณในการดำเนินการสร้าง หรือการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในปีต่อ ๆ ไป เพื่อจะได้จัดสรรงบประมาณเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นอีก เพื่อลดความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ในการประชุม นายกรัฐมนตรียังมอบหมายกรมบัญชีกลาง เร่งรัดปรับปรุงระเบียบการเยียวยา ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว พร้อมกับมอบปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้อง ในส่วนคณะทำงานฯ ให้เร่งรัดพิจารณาโครงการก่อสร้างป้องกันน้ำท่วมให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 สำหรับการช่วยเหลือของ ศปช.ส่วนหน้าในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ และในช่วงปลายปีจะจัดประชุม ครม.สัญจร ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายหรือเชียงใหม่เพื่อเป็นกำลังใจให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ประกอบกับเป็นช่วงไฮซีซั่น รัฐบาลต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวในการเดินทางมาเที่ยวภาคเหนือในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่

นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรีทำหนังสือขอบคุณจากใจนายกรัฐมนตรี มอบให้กับทุกภาคส่วนที่ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยจะเป็นผู้ลงนามเองทั้งหมด พร้อมย้ำการเยียวยาให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้

Advertisement

 

ศปช. แนะประชาชนที่เอกสารสำคัญหาย ติดต่อ อปท. ขอออก “หนังสือรับรองผู้ประสบภัยฯ”

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 13 ตุลาคม 2567 ศปช. แนะประชาชนที่เอกสารสำคัญหาย ติดต่อ อปท. ขอออก “หนังสือรับรองผู้ประสบภัยฯ” ส่วนลำพูนระบายน้ำต่อเนื่องคาดอีก 5 วันแห้งทุกพื้นที่ เร่งล้างโคลนบ้านเรือนเชียงราย คืบ 97 %

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า การฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยของจ.เชียงราย ได้รับรายงานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ภาพรวมคืบหน้าถึงร้อยละ 97 โดยนอกเขตเทศบาลนครเชียงราย ทั้ง 6 ตำบล 1,285 ครัวเรือน เจ้าหน้าที่เข้าล้างทำความสะอาดถนน  ล้างทำความสะอาดบ้านเรือน จัดเก็บขยะ เสร็จทั้งหมดแล้ว เหลือในพื้นที่เทศบาลนครเชียงราย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและท้องถิ่นในพื้นที่ ยังคงล้างถนนและบ้านเรือน อีก 40 ครัวเรือน จากทั้งหมด 82 ครัวเรือนก็จะแล้วเสร็จตามเป้าหมาย ส่วนที่ อ.แม่สาย เฟส2  ภาพรวมคืบหน้าร้อยละ 80 โดยที่ชุมชนหัวฝาย เหมืองแดงใต้และปิยะพร ดำเนินการล้างทำความสะอาดบ้านเรือนให้ประชาชนเรียบร้อยแล้ว  เหลือพื้นที่เหมืองแดง  ไม้ลุงขน เกาะทราย และสายลมจอย กำลังพลของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม ยังเร่งดำเนินการต่อเนื่อง

ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จ.ลำพูนขณะนี้ นายจิรายุ กล่าวว่า ภาพรวมระดับน้ำลดลงทุกจุดแล้ว โดย นายสุภรณ์วัฒน์ สุรการ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำพูน รายงานว่า สามารถระบายน้ำที่ไหลเข้ามา ลงสู่ลำน้ำสายหลักได้แล้วร้อยละ 60 ยังเหลืออีกร้อยละ 40 คาดว่าจะใช้เวลาอีก 5 วันสถานการณ์คลี่คลาย และได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจเส้นทางน้ำ เพื่อเร่งเปิดทางน้ำ ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มบางจุด ไม่ได้ถอนเครื่องสูบน้ำออกจากพื้นที่ จนกว่าสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนกรณีน้ำท่วมขังเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นในพื้นที่บางจุด วันนี้ (13 ต.ค.) สถานีพัฒนาที่ดินลำพูน กรมพัฒนาที่ดิน แจกน้ำหมักและสารเร่งซุปเปอร์พด.6 ที่เป็นเชื้อจุลินทรีย์ ช่วยบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น จำนวน 500 ขวดและ500 ซอง ให้ผู้ประสบภัยหมู่ 1 , 2 และ 4 ต.หนองช้างคืน อ.เมือง ณ อาคารเอนกประสงค์ วัดหนองช้างคืน พร้อมแนะนำวิธีการใช้ด้วย

“ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ประสานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำนันและผู้ใหญ่บ้านอย่างเร่งด่วน โดยการสูบน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังโดยเร็ว บำบัดน้ำเสีย กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ หากเกินขีดความสามารถในพื้นที่ ให้ประสานศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับอำเภอและจังหวัด เพื่อประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายจิรายุ กล่าว

นายจิรายุ กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ประสบภัย ที่เอกสารสำคัญชำรุดหรือสูญหาย ไม่ว่าจะเป็นบัตรประจำตัวประชาชน  โฉนดที่ดิน ใบรับรอง หรือหนังสือสำคัญของทางราชการ สามารถติดต่อขอรับใหม่ได้ โดยขอรับ “หนังสือรับรองผู้ประสบภัยประเภทบุคคลธรรมดา” จาก อปท.ในพื้นที่ก่อน แล้วนำหนังสือรับรองดังกล่าวไปดำเนินการขอรับเอกสารสำคัญในขั้นตอนต่อไปได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ “หนังสือรับรองผู้ประสบภัยประเภทบุคคลธรรมดา” จำเป็นต้องใช้ในการประกอบเพื่อขอรับเงินเยียวยาตามนโยบายรัฐบาล ทั้งการเยียวยาเหมาจ่ายครัวเรือนละ 9,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าล้างดินโคลน หลังละ 10,000 บาท

“เงินเยียวยาครัวเรือนละ 9,000 บาท คาดว่าจะโอนเข้าบัญชีผู้ประสบภัยเร็วๆนี้ ส่วนเงินค่าล้างโคลน  เทศบาล/อบต.ในแต่ละพื้นที่จะต้องลงพื้นที่สำรวจ ก่อนจะดำเนินการตามขั้นตอนประชุมพิจารณาและจ่ายเงินให้ผู้ประสบภัยต่อไป เน้นย้ำผู้ประสบภัย ขอให้ตรวจสอบข้อมูลครัวเรือนว่าอยู่ในการสำรวจของเทศบาลหรือไม่ ป้องกันรายชื่อที่่อาจตกหล่น” นายจิรายุ กล่าว

ขณะที่ความคืบหน้าการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จ.เชียงใหม่ นายจิรายุ กล่าวว่า ได้รับรายงาน ที่ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดเชียงใหม่ (ก.ช.ภ.จ.เชียงใหม่) ครั้งที่ 2 ล่าสุดมี 2 อำเภอได้รวบรวมเอกสารครัวเรือนที่ประสบอุทกภัย ส่งมาให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติขอรับเงินช่วยเหลือแล้ว คือ อ.ฝาง จำนวน 1,257 ครัวเรือน เป็นเงิน 11,313,000 บาท และอ.สันทราย จำนวน 443 ครัวเรือน เป็นเงิน 3,987,000 บาท  ยอดรวมครั้งนี้ 1,700 ครัวเรือน เป็นเงินทั้งสิ้น 15,300,000 บาท จากนี้จะส่งเอกสารคำร้องไปให้ ปภ.เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและพิจารณาอนุมัติเงินจากรัฐบาล ก่อนจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารของประชาชนโดยตรง ยืนยันไม่มีผู้ประสบอุทกภัยที่เข้าหลักเกณฑ์ตกหล่นแม้แต่รายเดียว ในส่วนของอำเภอที่เหลือ ให้เร่งสำรวจ รวบรวมและยื่นเอกสารให้คณะกรรมการฯพิจารณาโดยเร็ว ซึ่งจะประชุมพิจารณาทันที ไม่เว้นวันหยุดราชการ กำชับต้องให้ความสำคัญและเร่งช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเร็วที่สุด

Advertisement

นายกฯ ประชุมขันนอตความปลอดภัยทางถนน คมนาคมตั้ง คกก. ยกระดับรถโดยสารสาธารณะเร่งด่วนภายใน 15 วัน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 7 ตุลาคม 2567 นายกฯ ประชุมขันนอตความปลอดภัยทางถนน ยกระดับการเดินทางทุกประเภท ของไทยต้องดีขึ้น สั่งการทุกหน่วยงานต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ด้านคมนาคมตั้ง คกก. เพื่อยกระดับรถโดยสารสาธารณะกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาเร่งด่วนภายใน 15 วัน

วันนี้ (7 ตุลาคม 2567)  นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าวันนี้  (7 ตุลาคม 2567)  เวลา 10.40 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือเรื่องความปลอดภัยทางถนน โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนการประชุมว่า  เหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567  เป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดใจ  ทำให้รัฐบาลต้องกลับมามองทุกกรอบอีกครั้ง  โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางถนน  รวมทั้งกฎหมายหลายฉบับที่ไม่ทันสมัย ต้องมีการพูดคุยหารือเพื่อปรับแก้กฎหมาย ข้อบังคับใช้ ต่าง ๆ ให้เข้ากับยุคสมัยเป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย   กระทรวงสาธารณสุข  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และกระทรวงศึกษาธิการ  ต้องการพูดคุยกันในวันนี้  ทั้งการบังคับใช้ในทุกเรื่อง ทั้งนี้มีข้อเสนอเกี่ยวกับ “รถบัส“ ว่าควรมีการแนะนำเหมือนการโดยสารบนเครื่องบินว่าทางออกไปทางไหน  ใช้ อุปกรณ์นั้นความปลอดภัยต่างๆ อย่างไร  โดยในโซเชียลก็มีการนำเสนอเรื่องการแนะนำประตูทางออกฉุกเฉินที่ค่อนข้างดี  ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลองศึกษาและดูตัวอย่างที่ประชาชนเสนอแนะมาถือว่าได้ประโยชน์

นายกรัฐมนตรี  กล่าวต่อว่า อยากให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน  โดยเฉพาะโครงการร่วมกับทางสหประชาชาติหรือยูเอ็น คือ Mr. Jean Todt ในนาม UN Special Envoy for Road Safety ที่จะเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้   และจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกได้เห็น ถึงการคมนาคม  การใช้รถใช้ถนน   ระบบความปลอดภัยต่าง ๆ  โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน   ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐ   ผู้ประกอบการที่เป็นภาคเอกชน จะได้บอกได้ว่าปัญหาจริง ๆ ที่พบคืออะไร ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างไร  หรือมองเห็นสิ่งที่จะพัฒนาร่วมกันได้อย่างไร

นายจิรายุฯ  กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบการดำเนินการของกระทรวงคมนาคมที่ได้ตั้งคณะกรรมการฯ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหายกระดับรถโดยสารสาธารณะอย่างเร่งด่วนภายใน 15 วัน พร้อมทั้งมอบหมายกรมการขนส่งทางบกเรียกตรวจสอบสภาพรถโดยสารสาธารณะที่ติดตั้งแก๊ส NGV ซึ่งจากข้อมูล  มีทั้งหมด จำนวน 13,426 คัน ประกอบด้วย รถบัสจ้างเหมา จำนวน 1,336 คัน รถบัสประจำทาง จำนวน 5,967 ค้น และรถตู้/รถมินิบัส จำนวน 6,123 คัน หากพบสภาพไม่พร้อมใช้งานให้สั่งห้ามการนำรถออกใช้งาน หากพร้อมใช้งานให้ออกหนังสือรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการตรวจสอบต้องตรวจสอบอย่างละเอียด คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ

“ขอให้ทุกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบสภาพรถ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อประชาชน และสร้างความปลอดภัยต่อการใช้รถใช้ถนน” นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำ

 Advertisement

นายกฯไปเป็น ปธ.ประชุม ก.ตร.พรุ่งนี้ ชี้ใครมาเป็น ต้องปราบยาเสพติด ลดอาชญากรรมตามนโยบายรัฐบาลให้ได้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 6 ตุลาคม 2567 นายกรัฐมนตรียืนยันไปเป็น ปธ.ประชุม กตร.พรุ่งนี้ ชี้ใครมากุมบังเหียน ตร. ต้องปราบยาเสพติด ลดอาชญากรรมทุกประเภทตามนโยบายรัฐบาลให้ได้

วันนี้ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  นายกรัฐมนตรีจะไปเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ตร.ครั้งที่ 8/2567 ในวันพรุ่งนี้ (7 ตุลาคม)  เวลา 14.30 น. ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีวาระสำคัญที่สื่อมวลชนให้ความสนใจ คือการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยมีชื่อผู้มีอาวุโส 3 คน ได้แก่พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตำรวจและ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร.

สำหรับขั้นตอนการคัดเลือก ผบ.ตร. ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2565 มาตรา 78 ระบุว่า ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้คัดเลือกรายชื่อเสนอ ก.ตร. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยการประชุมเมื่อเข้าพิจารณาวาระนี้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พล.ต.อ.ไกรบุญ และพล.ต.อ.ธนา จะต้องออกจากห้องประชุม เนื่องจากถือว่ามีส่วนได้เสียองค์ประชุมจึงมีเพียง นางสาวแพทองธาร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. นายปิยะวัฒน์ ศิวะรักษ์ เลขาธิการ ก.พ. ในฐานะก.ตร. โดยตำแหน่ง และ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก  พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ รองศาตราจารย์ประทิต สันติประภพ และศาสตราจารย์ศุภชัย ยาวะประภาษ เป็นคณะกรรมการพิจารณา

“ไม่ว่าท่านใดจะมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป้าหมายสำคัญตามนโยบายรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาคือการดูแลทุกข์สุข พิทักษ์สันติราษฎร์ ให้กับพี่น้องประชาชน แก้ไขปัญหายาเสพติดและลดอาชญากรรมทุกประเภทให้ได้”

ส่วนเรื่องอื่น ๆ ของ ก.ตร จะเป็นวาระการพิจารณาหาแนวทางการดำเนินการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ  เรื่องการขอขยายระยะเวลาการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เรื่องการคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งเฉพาะทาง  และเรื่องเพื่อทราบ อาทิ การรายงานการดำเนินการของ อ.ก.ตร.วินัย การรายงานการดำเนินการของ อ.ก.ตร. กฎหมาย ที่ ก.ตร. มอบหมายให้ทำ  การรายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 การรายงานผลการดำเนินการพิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรมตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี  เป็นต้น

Advertisement

นายกฯ รู้สึกเป็นเกียรติ ติดโผผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 ตุลาคม 2567 นายกฯ รู้สึกเป็นเกียรติติดโผผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต รัฐกาตาร์ – นายกฯ รู้สึกเป็นเกียรตินิตยสารไทม์ ยกเป็นผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต

วานนี้ เมื่อเวลา 13.50 น. ตามเวลาท้องถิ่นรัฐกาตาร์ ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 4 ชั่วโมง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนิตยสารไทม์ (Time) ประกาศรายชื่อ น.ส.แพทองธาร เป็นหนึ่งใน 100 รายชื่อผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต ว่า รู้สึกเป็นเกียรติมาก เพราะเป็นสื่อต่างประเทศ ตอนแรกไม่ทราบรายละเอียด เห็นแต่ภาพข่าว นึกว่ามีคนแกล้ง แต่พอเห็นรายละเอียดก็รู้สึกดีใจ รู้สึกเป็นเกียรติ เพราะไม่ได้คิดไว้

Advertisement

นายกฯ ย้ำ ทัศนศึกษาไม่ได้ทำร้ายเด็ก แต่รถที่ไม่พร้อมทำเกิดอุบัติเหตุ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 ตุลาคม 2567 นายกฯ ประชุมร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปคืบหน้าช่วยเหลือเหตุการณ์รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ ย้ำ ทัศนศึกษาไม่ได้ทำร้ายเด็ก แต่รถที่ไม่พร้อมทำเกิดอุบัติเหตุ สั่งการคมนาคม วางกฎ-กรอบ รถเดินทางไกล

วานนี้ (2 ต.ค. 67) เวลา 12.00 น. ณ ห้องรับรอง ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ก่อนที่จะออกเดินทางเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 3 (3rd Asia Cooperation Dialogue: ACD) ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกับ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงเหตุการณ์รถบัสทัศนศึกษาของคณะครูและเด็กนักเรียนเกิดเหตุเพลิงไหม้

พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ทั้ง 22 ศพ ทางสถาบันนิติเวชได้ตรวจอัตลักษณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงรายสุดท้ายที่คุณแม่ ต้องการมาพิสูจน์ด้วยตัวเอง แต่ความจริงได้พิสูจน์ผ่านทางพี่สาวทั้งหมดแล้ว คาดว่าเวลา 15.00 น. วันนี้ การตรวจอัตลักษณ์ทั้งหมดจะเสร็จสิ้น จากนั้นประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำรถขบวน เพื่อนำร่างของผู้เสียชีวิตทั้งหมดกลับภูมิลำเนา ส่วนคนขับตอนนี้ได้ควบคุมตัวอยู่ที่ สถานีตำรวจภูธรคูคต เพื่อทำการสอบสวนต่อไป ซึ่งได้เข้ามอบตัวตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังจากส่งเจ้าหน้าที่ไปกดดัน แต่ต้องสอบสวนในรายละเอียดทั้งหมดก่อน ขณะเดียวกัน พิสูจน์หลักฐานอยู่ระหว่างการตรวจสอบรถคันที่เกิดเหตุ ซึ่งหลังจากนี้จะนำไปวางมาตรฐานและกฎเกณฑ์ รวมถึงมีมาตรการเรื่องการตรวจสอบรถให้ฝ่ายปกครอง ขนส่ง เอกชน และส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเคร่งครัด

ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้รับทราบรายงานจากตำรวจที่มีความคืบหน้าการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล จากนั้น จะลำเลียงส่งศพกลับจังหวัดอุทัยธานี ขณะที่กระทรวงคมนาคม ก็มีมาตรการเยียวยา และการตรวจสอบ กฎเกณฑ์ ระเบียบ ขนส่ง โดยเรื่องนี้จะต้องประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งนักจิตแพทย์ลงไปในพื้นที่ โดยได้แบ่งการทำหน้าที่กระจายไปให้ครอบคลุม ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วมากพอสมควร

ส่วนที่มีข้อเสนอว่าอยากให้รถโรงเรียนในไทยใช้เหมือนกับรถโรงเรียนในประเทศยุโรป นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ได้พูดคุยกับกระทรวงคมนาคมแล้ว เพราะต้องวางแผน ทั้งนี้ การทัศนศึกษาเป็นการเปิดโลกให้กับเด็ก ซึ่งไม่อยากแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การทัศนศึกษาไม่ได้ทำร้ายเด็ก แต่รถที่ไม่มีการดูแล หรือถูกตรวจสอบสภาพ คือสิ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้ปัญหา ทั้งในส่วนของกระทรวงคมนาคมจะวางกฎ และกรอบอย่างไร ดังนั้นจะใช้โอกาสนี้มาวางแผน วางระบบให้ชัดเจนมากขึ้นได้

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รถทุกคันก่อนที่รถจะออกเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางไกล ต้องตรวจสอบสภาพ และต้องมีสภาพที่พร้อมออกเดินทาง พร้อมกำชับให้วางแนวปฏิบัติ ในการเดินทาง จะต้องมีการซักซ้อมความปลอดภัย และคำแนะนำในการปฏิบัติตนเช่นเดียวกับการโดยสารเครื่องบิน

ทั้งนี้ ให้บังคับใช้แนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัด พร้อม กำชับให้กระทรวงคมนาคม เรื่องตรวจสภาพรถโดยสารจะต้องไม่ไช่เฉพาะรถบัส ต้องรวมไปถึงรถโดยสารทุกประเภท ทุกขนาด รวมถึงตรวจความพร้อมของบุคคลผู้ขับขี่ ผู้ช่วยประจำรถ ต่าง ๆ ด้วย

Advertisement

นายกฯ ยอมรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เกิดสะดุด ปรับขึ้นไม่ทัน 1 ตุลาคมนี้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 24 กันยายน 2567 นายกฯ “แพทองธาร” ยอมรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เกิดสะดุด ปรับขึ้นไม่ทัน 1 ตุลาคมนี้ เผยจะมีการหารืออีกครั้ง พร้อมเดินหน้าผลักดันให้เกิดขึ้นภายในปีนี้

วันนี้ (24 กันยายน 2567) เวลา  09.50 น. ณ บริเวณด้านหน้า ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็น 400 บาท เกิดการสะดุดและขับเคลื่อนต่อไปไม่ได้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เกิดการสะดุดแต่ว่าในตอนนี้ นโยบายดังกล่าวจะมีการนำเข้าที่ประชุมอีกครั้ง โดยผู้สื่อข่าวได้ถามต่อไปว่านโยบายดังกล่าวจะสามารถทำได้ภายในปีนี้อย่างแน่นอนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ควรจะเป็นอย่างนั้น

ต่อมา เวลา 12.10 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ที่ล่าช้าออกไปว่า นโยบายของรัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องการขึ้นค่าแรง แต่ต้องอาศัยไตรภาคี ว่าจะให้ความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งมีการพยายามนัดหมายกันเพื่อเร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด และพยายามจะพูดคุยกัน พร้อมยืนยันที่จะเดินหน้านโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท และจะคอยผลักดันเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าไม่ได้มีการเตะถ่วง อะไรในฝั่งผู้ประกอบการใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องคุยกันก่อนทั้งหมด ไม่ได้เตะถ่วงอะไร และทั้ง 3 ภาคส่วนก็ต้องพูดคุยกันในรายละเอียด และทุกอย่างต้องกฎหมาย

ส่วนได้มีการวางกรอบว่าจะดำเนินการได้เมื่อไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจะทำให้เร็วที่สุด และต้องดูว่าติดอะไรบ้าง เมื่อถามว่าจะดำเนินการได้ภายในปีนี้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่านั่นคือความตั้งใจว่าเป็นปีนี้

Advertisement

ครม.เห็นชอบ งดเก็บค่าไฟฟ้า เดือน ก.ย. และลด 30% ในเดือน ต.ค. พื้นที่ประสบอุทกภัย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 24 กันยายน 2567 นายกฯ “แพทองธาร” เผย ครม.เห็นชอบ งดเก็บค่าไฟฟ้า เดือน ก.ย. และลด 30% ในเดือน ต.ค. ให้ ปชช. พื้นที่ประสบอุทกภัย พร้อมอนุมัติฟื้นฟูช่วยเหลือลูกหนี้ ธ.ก.ส.ระยะ 2 – 3

วันนี้ (24 กันยายน 2567) เวลา 12.10 น. ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ในเรื่องของมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับค่าไฟฟ้าในเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม 2567 โดยที่เดือนกันยายน จะไม่เรียกเก็บค่าไฟฟ้า และในเดือนตุลาคมจะให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 30 โดยกำหนดให้เป็นส่วนลดก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม. ยังได้อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เรื่องของมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 2 และระยะที่ 3 และการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธกส. เพื่อให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมมาตรการดังกล่าว ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยระยะที่ 2 ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 – 30 กันยายน 2568 ระยะที่ 3 1 ตุลาคม 2568 – 30 กันยายน 2569

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า จากการเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร จึงได้สั่งการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะอนุกรรมการ คอส. และ ศปช. ดำเนินการศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการใช้แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากเหตุการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ เพื่อใช้สำหรับการรายงานตัวของอาสาสมัคร เพื่อแบ่งหน้าที่ และความรับผิดชอบ และใช้ในการรายงานเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งได้รับคำแนะนำมาว่า การรายงานตัวของอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน มีการรายงานซ้ำซ้อน ทำให้เสียเวลา และเตรียมจะใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวในการลงทะเบียนรับเงินเยียวยา และการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ให้เกิดการบูรณาการกัน เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในส่วนของภาครัฐ ภาคประชาชน รวมถึงเร่งรัดให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย หรือ ปภ. เร่งดำเนินการใช้ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast Service เพื่อให้การเตือนภัยให้ประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในอนาคตที่จะใช้แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ในการจ่ายเงินเยียวยา และเช็คสิทธิต่าง ๆ ประชาชนควรโหลดแอปฯ ดังกล่าวเก็บไว้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องนี้ได้เคยประชาสัมพันธ์ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว ว่าให้โหลดแอปฯ ดังกล่าวไว้ เพราะนอกจากการลงทะเบียน และชื่อยังเป็นการต่อยอด เพื่ออำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเยียวยา รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ซึ่งรัฐบาลพยายามพัฒนาระบบนี้ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลถึงประชาชนโดยตรง ให้ได้มากที่สุด เวลาที่เราจ่ายเงินเพื่อความรวดเร็วในเวลาที่รัฐบาลต้องจ่ายเงินเยียวยา ก็จะรวดเร็วขึ้น จึงขอให้ประชาชนโหลดแอปฯ ดังกล่าวไว้ และลงทะเบียนใส่ข้อมูลสำคัญให้ครบถ้วน

Advertisement

รมว.ดีอีเอสแจงเล็งปรับปรุงกฎหมายยึดทรัพย์มิจฉาชีพ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 23 กันยายน 2567 รัฐสภา – “ประเสริฐ” แจง เตรียมปรับปรุงกฎหมายยึดทรัพย์มิจฉาชีพ หลังใช้มา 5 ปี เผย 3 ต.ค.เริ่มระบบ ผู้ขายของออนไลน์จะได้รับเงินต่อเมื่อผู้ซื้อได้ดูสินค้าแล้ว พร้อมชะลอการจ่ายเงินเป็นระยะเวลา 5 วัน เตรียมหารือธนาคารควบคุมลิ้งก์ดูดเงิน

การประชุมวุฒิสภา มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถาม นายกรัฐมนตรี เรื่องการฉ้อโกงออนไลน์ ของนาวาตรีวุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สว. ถามว่า เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งในโลกออนไลน์และปกติมีการหลอกขายของล่าสุดมีการขายทองออนไลน์ เมื่อเอาไปขายร้านทองก็ไม่รับ ถือเป็นการฉ้อโกงในรูปแบบหลอกให้เชื่อหรือหลอกขายของ มูลค่าการซื้อขายของออนไลน์แต่ละปีเป็นจำนวนนับแสนล้านบาท เมื่อเกิดเหตุการณ์หลอกขายของเกิดขึ้นจะทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องฉ้อโกงออนไลน์หมีเห็นทั่วไปเพราะมีการหลอกลวงกันเป็นจำนวนมาก ทุกวันนี้ถ้าใครไม่ได้รับโทรศัพท์จากแก๊งก์คอลเซ็นเตอร์ถือว่าไม่รับโทรศัพท์เลยหรือไม่ทำทุรกรรมใดๆ บางคนทำธุรกรรมกับธนาคารไม่ถึงชั่วโมงก็มีคนโทรไปแล้ว ซึ่งตนยังโดนเลย และคิดว่าทุกคนที่อยู่ในห้องนี้ล้วนแล้วแต่มีประสบการณ์อันเจ็บปวดกับแก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้ หลายคนถูกล่อหลวงให้กดลิ้งก์ เมื่อเร็วๆเร็วๆนี้เป็นของกรมบัญชีกลาง ซึ่งเมื่อช่วงเช้านี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ดูแลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล บุกจับเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง ที่เอาข้อมูลไปขาย

“ทุกวันนี้มีการแอบอ้างทั่วไปหมด แต่ที่แย่คือการจับกุมผู้ที่ดำเนินการไปล่อลวงคนอื่นไม่ค่อยมีข่าว ยิ่งทำให้คนที่บางครั้งเป็นคนดี ก็อยากมาเป็นคนไม่ดีเหมือนกันเพราะไม่เคยเห็นคนไม่ดีโดนลงโทษ รัฐมนตรีอาจจะบอกว่าคนที่เป็นมิจฉาชีพอยู่ต่างประเทศ มีการต่อสายสัญญาณไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่คนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นคนไทย บางทีเขาอาจจะทำในประเทศไทยด้วยซ้ำไป ซึ่งคดีเหล่านี้ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้รับการพิจารณา หากเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ คดีก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจะทำอย่างไรเพื่อให้การดำเนินคดีเร็วขึ้น จึงอยากให้ทีมงานของกระทรวง ดีอีเอส ปรับกระบวนการแก้ปัญหาให้รวดเร็วขึ้น ทันต่อความต้องการของประชาชนและทันต่อยุคสมัย ยิ่งใกล้การเกษียณอายุอาจทำให้ผู้ที่เกษียณอายุถูกหลอกมากยิ่งขึ้น” นาวาตรีวุฒิพงศ์ กล่าว

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงแทนนายกฯ ว่า ผลของการดำเนินการในรอบปีที่ผ่านมาคดีต่างๆของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มาในรูปแบบต่างๆ ประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ หลักๆ มีประมาณ 5-6 เรื่อง คือ 1. หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการคิดเป็น 29.73% คือการซื้อสินค้าไม่ตรงปก ซึ่งขณะนี้กระทรวงดีอีเอส ทำงานร่วมกับ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค และได้ออกมาตรการ COD ขึ้นมา นับตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 67 เรื่องการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ผู้ขายจะได้รับเงินต่อเมื่อผู้ซื้อได้ดูสินค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วและมีการชะลอการจ่ายเงินเป็นระยะเวลา 5 วัน เพราะฉะนั้น ว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการหลอกลวงได้ในระดับที่มีนัยยะ เนื่องจากคดีนี้สูงสุด แต่มีความเสียหายไม่มากนัก 2.การหลอกลวงหารายได้พิเศษคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.44% 3. การหลอกลวงการลงทุนทางระบบคอมพิวเตอร์ คิดเป็น 16% แต่มูลค่าความเสียหายจำนวนมาก รวมถึงการหลอกลวงที่เรียกว่าโรแมนซ์สแกม คือหลอกให้หลงรักก่อนแล้วชวนให้ลงทุนต่อ 4. การหลอกลวงโอนเงินเพื่อให้รับรางวัล 7% 5.หลอกให้กู้เงิน 7 % และ 6.คดีอื่นๆ 14%

“ยอมรับว่าคดีมีอยู่ 5 แสนกว่าเรื่อง ขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) รับดำเนินคดีได้ประมาณ 6 หมื่นเรื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยผมจะรับข้อเสนอนี้ไปทำการปรับปรุงการดำเนินการเพื่อที่จะทำอย่างไรให้คดีมีความคืบหน้าและประชาชนสามารถติดตามสถานะของบัญชีได้ว่าขณะนี้เรื่องที่ร้องไป สตช. สถานะคดีเป็นอย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้ทางกระทรวงฯ ได้จัดตั้งศูนย์เอโอซี 1441 เป็นศูนย์ที่บริการพี่น้องประชาชนตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันพี่น้องประชาชนที่รับความเดือดร้อนเรื่องการถูกหลอกลวงสามารถติดตามสถานะของท่านได้ที่ 1141 เราก็จะติดตามให้” นายประเสริฐ กล่าว

ส่วนเรื่องการต่อสายสัญญาณไปประเทศเพื่อนบ้านนั้น นายประเสริฐกล่าวว่า จริงๆเราได้ทำการปราบปรามอย่างหนักพอสมควรขณะนี้ตนได้ออกตรวจตามพื้นที่ในเขตชายแดนหลายแห่งและกำจัด แต่มิจฉาชีพก็มีความพยายาม ต่อสัญญาณเข้าไปเรื่อยๆเรื่องนี้ได้ประสานงานกับกระทรวงกลาโหม กสทช. สตช. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในการดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มิจฉาชีพเริ่มใช้เทคโนโลยีใหม่ใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะการใช้สัญญาณดาวเทียมที่เกิดจากดาวเทียมโคจรในระยะต่ำ ที่มีจานรับสัญญาณโดยตรงซึ่งผิดกฎหมายในประเทศไทยในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กสทช.จะได้ดำเนินการแก้ไขต่อไป

นายประเสริฐกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการปรับปรุงกฎหมายขณะนี้มีกฎหมายหลายฉบับที่มีอายุครบ 5 ปีและมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ มาตรฐานความปลอดภัยด้านไซเบอร์และโทษต่างๆ ตนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับปรุง ซึ่งได้มีการพูดคุย กับปปง.ในเรื่องการเพิ่มมูลฐานความผิด การกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน เกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ต่อไปจะเป็นมูลฐานความผิดหนึ่ง ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งหมายถึงการนำไปสู่การที่เราสามารถที่จะยึดทรัพย์กลุ่มมิจฉาชีพต่างๆ ได้

“ส่วนกรณีลิ้งก์ที่มากับเอสเอ็มเอสนั้น เมื่อวันที่ 20 ก.ย. มาหลังจากที่นายกฯ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาที่มีข้อความตอนหนึ่ง ว่า ในส่วนที่ประชาชนเกิดความเสียหาย ให้บริษัทโทรคมนาคม และธนาคารพาณิชย์ในอนาคตต้องมีความร่วมมือในการรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ตนได้สั่งการให้ที่ประชุมศูนย์ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้ร่างข้อกำหนด และระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและเชิญธนาคารโอเปอเรเตอร์มาซึ่งสิ่งที่แนบมากับเอสเอ็มเอสนั้น ต่อไปจะต้องมีการควบคุมเพราะแอปดูดเงินหรือลิ้งก์ต่างๆ ที่มากับเอสเอ็มเอสนั้นมีเป็นจำนวนมากและเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงดีอีเอสจะต้องทำงานร่วมกับโอเปอเรเตอร์ และธนาคารแห่งประเทศไทยในการปราบปรามต่อไป” นายประเสริฐ กล่าว

Advertisement

Verified by ExactMetrics