วันที่ 21 พฤศจิกายน 2024

“ลุงตู่” ระบาย “วันนี้ไม่ใช่ทำงาน 100% เเต่ทำงาน 200%”

People unity news online : 16 พฤษภาคม 2560 เวลา 13.30 น. ณ บริเวณห้องโถง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงการทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า วันนี้ตนไม่ใช่ทำงาน 100 เปอร์เซนต์ เเต่ทำงานเต็ม 200 เปอร์เซนต์ เพราะต้องกำกับดูเเล ติดตามนโยบายทั้งหมด ตามรูปแบบของตน ขอถามคนที่จะเข้ามาทำงานในวันข้างหน้าว่าจะทำอย่างไร จะปรับสิ่งที่ผิดพลาดจากครั้งที่เเล้วอย่างไร

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “เอาคำถามที่จะถามว่าผมยังทำไม่เสร็จ ไม่มีผลงานบ้างล่ะ ไปถามเขาสิว่าที่ผ่านมาเขามีผลงานอะไร ผลงานนั้นถูกต้องเท่าเทียมจริงหรือเปล่า ทำไมยังเหลือให้ผมทำอีกเยอะเเยะ เเล้วมาบอกว่าทำไม่เสร็จ เเล้วที่ทำมา 30 ปี กี่สิบปีกันมากี่รัฐบาล ก็เลยต้องมียุทธศาสตร์ชาติไงล่ะ ต้องทำต่อไป 20-30 ปี นโยบายรัฐบาลที่ทำดีเเล้วก็ทำต่อ ผมไม่ได้ไปล้มทั้งหมด เเต่ต่อไปจะล้มหรือเปล่าไม่รู้ ทำให้มันดีขึ้น เเกะมันออกมา เเต่จะดีขึ้นทันใจไม่ได้ ต้องใช้การทำงาน การมีส่วนร่วม หลายอย่างต้องไปดู อะไรที่ไม่ก้าวหน้าก็บอกมา ผมจะไปตามให้ มีรัฐบาลไหนฟังเเบบนี้บ้าง”

ส่วนผลการดำเนินงานของรัฐบาลในช่วงครบรอบ 3 ปี นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ส่วนตัวไม่พอใจเพราะทำงานให้เสร็จตามเวลาไม่ได้ แต่ได้ทำทุกอย่างให้ดีที่สุดตราบเท่าที่มีงบประมาณและเวลาให้ทำ ส่วนใครจะทำต่อก็เป็นเรื่องของวันข้างหน้า และต้องการให้ทุกอย่างต่อเนื่องในวันข้างหน้า ซึ่งหลายคนไม่เข้าใจ และไม่พอใจกล่าวหาว่ารัฐบาลจะสืบทอดอำนาจ แต่ผมจะสืบทอดปัญหาที่แก้ไขไม่เสร็จให้รัฐบาลชุดต่อไปทำงานแก้ไขปัญหาเพื่อประเทศชาติ

People unity news online : post 16 พฤษภาคม 2560 เวลา 22.43 น.

นายกฯสั่งเตรียมแถลงผลงานรัฐบาลครบ 3 ปี พร้อมทั้งแจงการใช้งบประมาณที่ผ่านมาใช้อะไรไปบ้าง?

People unity news online : เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 เวลา 13.00 น. ณ บริเวณห้องโถงตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงการทำงานของรัฐบาลที่ใกล้จะครบ 3 ปีในเดือนหน้าว่า ได้ชี้แจง และมอบหมายให้ทุกหน่วยงานสรุปผลงานความคืบหน้าต่างๆ ทั้งในเรื่องของงานฟังก์ชั่น และงานบูรณาการให้มีความชัดเจนมากขึ้น ในการใช้จ่ายงบประมาณที่ผ่านมาว่า ได้มีการดำเนินการ และใช้อะไรไปบ้าง อีกทั้งการวางพื้นฐานในอนาคตต่างๆที่ยังทำไม่เสร็จก็ต้องวางแผนไว้ให้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลหน้าจะตัดสินใจอย่างไร สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ ในเรื่องของการต่างประเทศเรามีความสัมพันธ์ที่ดี มีการเพิ่มมูลค่าการค้าขาย การท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้ไขในเชิงรุกทุกๆมิติ

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการดำเนินงานในด้านของกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาว่า เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันติดตามและมองในสิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่าไปมองแต่สิ่งเล็กๆ จนเกิดความรู้สึกว่าไว้ใจ บางเรื่องบางคดีเป็นเรื่องของคนเพียงกลุ่มเดียว ซึ่งถ้าผิดก็ต้องถูกดำเนินคดี แต่ไม่ได้หมายความว่าคนทั้งหมด 70 ล้านคนในประเทศไทยจะต้องถูกดำเนินคดีไปด้วย อย่าลืมว่าแต่ละวันมีคดีเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งที่รู้และไม่รู้ แต่ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่ขยายข่าวไปต่างๆนานา แล้วแต่ใครจะคิดอย่างไร ซึ่งกระบวนการยุติธรรมมีขั้นตอน มีหลักฐาน และรัฐบาลพยายามสร้างความชัดเจนให้เกิดขึ้น อย่างเช่น คดีการหลอกลวง ที่ผ่านมาจับไม่ได้ และไม่เป็นข่าว แต่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญและใส่ใจจึงทำให้เป็นข่าวขึ้นมา แต่ทุกสังคมย่อมมีทั้งคนดี และไม่ดี เราต้องแยกแยะให้ออก และชั่งน้ำหนักให้ได้ การจะให้ไม่มีเรื่องเลยเป็นไปไม่ได้ วันนี้คนไทยจำเป็นต้องผนึกกำลังให้ได้ ขอให้ยืนอยู่ตรงกลางอย่าโอนเอียงไปซ้ายทีขวาที ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหา

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้การเมืองกำลังเดินหน้าไปสู่การเป็นประชาธิปไตย ขอร้องว่าอย่าให้เป็นประเด็นการเมืองทุกเรื่อง ไม่เช่นนั้นจะทำงานกันไม่ได้ ถ้าทำงานไม่ได้ เท่ากับ 3 ปีที่รัฐบาลทำมาก็ล้มเหลว กลายเป็นว่าทำไม่ดีสักเรื่อง ทั้งหมดขอให้ติดตาม และดูกันต่อไป พร้อมขอให้รับฟังรัฐบาลบ้าง

People unity news online : post 3 พฤษภาคม 2560 เวลา 22.03 น.

เผยกำหนดการนายกฯนำ ครม.ลงพื้นที่สุพรรณ-อยุธยา ประชุม ครม.สัญจร

People unity news online : นายกรัฐมนตรีเตรียมนำคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ภาคกลาง และประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี มีกำหนดประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 19 กันยายน 2560 พร้อมลงพื้นที่ทั้งจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อพบปะประชาชนและติดตามผลการดำเนินงานของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดต่างๆในพื้นที่ภาคกลาง

สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรีในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ คณะรัฐมนตรีมีวาระพิจารณาแผนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์และทิศทางการพัฒนาภาคกลาง เพื่อเร่งรัดโครงการต่างๆให้บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ในรอบเวลาที่กำหนดคือ พัฒนาภาคกลางสู่มหานครทันสมัยและเป็นฐานการเชื่อมโยงประเทศไทยสู่เส้นทางขนส่งสองฝั่งทะเล โดยมียุทธศาสตร์การพัฒนาประกอบไปด้วย

1.พัฒนากรุงเทพฯ เป็นมหานครทันสมัยระดับโลกควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเมือง

2.พัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติและสร้างความเชื่อมโยงเพื่อกระจายการท่องเที่ยวทั่วทั้งภาค

3.ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมโดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

4.บริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และคงความสมดุลของระบบนิเวศอย่างยั่งยืน

5.เปิดประตูการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย – ภาคกลาง – ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

และ 6.พัฒนาความเชื่อมโยงเศรษฐกิจและสังคมกับทุกภาคเพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะได้ติดตามประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และทิศทางการพัฒนาของภาคกลาง พร้อมทั้งโครงการตามแผนบูรณาการการส่งเสริมความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ (Local Economy) โดยเฉพาะโครงการสำคัญขนาดใหญ่ในพื้นที่ด้วย

สำหรับประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีกำหนดการดังนี้

วันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2560 เวลาประมาณ 07.00 น. นายกรัฐมนตรีเดินทางจากสนาม ฮ. พล.ม. 2 รอ. เขตพญาไท ไปยังจุดจอด ฮ. ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี จากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินทางไปสักการะหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลย์วรวิหาร และพบปะประชาชน พร้อมตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการก่อสร้างพระเมรุมาศจำลอง ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินทางต่อไปยังโรงเรียนเกษตรกรชาวนา สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ตำบลรั้วใหญ่ อำเภอเมือง เพื่อเยี่ยมชมผลการดำเนินงานของโรงเรียนเกษตรกรชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรี ข้าวนาแปลงใหญ่ ศูนย์เรียนรู้เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร และโครงการ 9101 โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับนักเรียนชาวนาและชาวสุพรรณบุรี ณ โรงเรียนเกษตรชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรี

ช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีเดินทางโดย ฮ. จากศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี ไปยังจุดจอด ฮ. สำนักงานเทศบาลตำบลสามกอ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเดินทางต่อไปยังหมู่ที่ 1 ตำบลบ้านแพน อำเภอเสนา เพื่อตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการทุ่งรับน้ำ “โครงการเปิดน้ำเข้านา – ปล่อยปลาเข้าทุ่ง” และเปิดประตูระบายน้ำบ้านแพนเข้านา พร้อมรับฟังบรรยายสรุปโครงการทำนาเหลื่อมปีและโครงการขุดดินแลกน้ำ และพบปะประชาชนที่มาให้การต้อนรับ จากนั้นเวลาประมาณ 16.30 น. ณ โรงแรมคลาสสิค คามิโอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา นายกรัฐมนตรีจะประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคกลาง ผู้แทนภาคเอกชน และผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อมอบนโยบาย รับฟังการนำเสนอทิศทางการพัฒนาภาคกลาง และรับฟังโครงการสำคัญที่ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์

วันอังคารที่ 19 กันยายน 2560 เวลาประมาณ 07.00 น. นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และชาวอยุธยาร่วมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 89 รูป ณ บริเวณหน้าวัดมหาธาตุ พร้อมเยี่ยมชมตลาดกรุงศรี และนั่งรถรางเยี่ยมชมมรดกโลก (กิจกรรมเผยแพร่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว) ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากนั้น เวลา 09.00 น. โดยประมาณ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2560 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา

ช่วงบ่ายเวลาประมาณ 13.30 น. ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการพบปะประชาชน ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินทางต่อไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา เพื่อเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา และเวลาประมาณ 17.10 น. นายกรัฐมนตรีออกเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร จากจุดจอด ฮ. สนามกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปยังสนาม ฮ. พล. ม  2 รอ. เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร

People unity news online : post 15 กันยายน 2560 เวลา 22.30 น.

ทำไมพลังประชารัฐเสนอชื่อ ประยุทธ์-สมคิด-อุตตม เป็นนายกฯ

People unity : เมื่อวาน (30 มกราคม 2562) ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ มีมติเสนอชื่อ 3 ชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค คือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ 3.นายอุตตม สาวนายน โดยหลังจากนี้ ผู้บริหารพรรคจะเข้าไปเชิญอย่างเป็นทางการต่อไป

ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นไปตามคาดของคนทั่วไป เพราะเป็นที่รู้กันทั่วไปตั้งแต่ตั้งพรรคพลังประชารัฐแล้วว่า พรรคพลังประชารัฐตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯหลังการเลือกตั้ง

ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ กับชื่อพรรคพลังประชารัฐ จึงคู่กันมาตลอด โดยชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเสมือนแบรนด์ของพรรคพลังประชารัฐ

ทว่า เหตุผลสำคัญมากไปกว่านั้นที่ทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นชื่อแรกในบัญชีนายกฯของพรรค หรือเป็นชื่อแรกที่พรรคจะเสนอชื่อในสภาเป็นนายกฯ ก็เพราะ ตลอด 4 ปีกว่าที่ผ่านมา จากการสำรวจของโพลล์สำนักต่างๆ คะแนนความนิยมจากประชาชนในตัว พล.อ.ประยุทธ์ ครองอันดับ 1 ตลอดมา พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นจุดขายที่สำคัญที่สุดของพรรคพลังประชารัฐ ตั้งแต่พรรคยังมีแต่ชื่อ ยังไม่มีการจัดตั้ง และยังไม่มีนโยบายใดๆ แสดงให้เห็นว่าแบรนด์ พล.อ.ประยุทธ์ แข็งแกร่งและยอดนิยมจริงๆ จึงไม่แปลกที่แกนนำกลุ่มสามมิตรแสดงความวิตกว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตอบรับเข้ามาเป็นบัญชีนายกฯของพรรค ก็ไม่รู้ว่าจะหาเสียงอย่างไร หรือเอาอะไรไปหาเสียง

ชื่อที่สองที่พรรคพลังประชารัฐเสนออยู่ในบัญชีนายกฯของพรรค คือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ชื่อของนายสมคิด เป็นชื่อที่คนทั่วไปส่วนใหญ่ไม่คาดคิดมาก่อน การที่จู่ๆมีชื่อนายสมคิดโผล่มาด้วย จึงสร้างความแปลกใจให้คนทั่วไปไม่น้อย

แต่สำหรับคนที่อยู่ในวงในรัฐบาล หรืออยู่ในวงการเมือง รวมทั้งสื่อ ไม่แปลกใจที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อนายสมคิดเป็นนายกฯของพรรคด้วย เพราะในวงในหรือในวงการเมืองรู้ดีว่า คนที่เป็นต้นคิดและเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐคือนายสมคิดนั่นเอง เพียงแต่นายสมคิดไม่ออกหน้า และมอบหมายให้เด็กในคาถาของตน 4 คน คือ 4 กุมารการเมือง เป็นผู้ขับเคลื่อนพรรคพลังประชารัฐแทน

ชื่อของนายสมคิดถูกเสนอขึ้นมาด้วยเหตุผลอะไร

1.แน่นอนว่าเพื่อตอบแทนนายสมคิดในฐานะผู้ต้นคิดก่อตั้งพรรค จาก 4 กุมารการเมือง

2.เพื่อเป็นจุดขายด้านโยบายเศรษฐกิจของพรรคว่าจะเป็นนโยบายที่สืบต่อจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับนักธุรกิจและนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ

3.เพื่อเป็นรายชื่อนายกฯสำรองของพรรค กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถเป็นนายกฯได้ หรือตัดสินใจไม่เป็นนายกฯต่อไป

อย่างไรก็ดี ถ้าจะพูดกันตรงๆ ชื่อของนายสมคิดในเวลานี้ไม่สามารถเป็นจุดขายทางด้านความนิยมจากประชาชนได้เหมือนกับชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากประชาชนทั่วไปยังไม่พอใจกับการแก้ไขปัญหาภาวะเศรษฐกิจให้พ้นจากความฝืดเคือง การที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อนายสมคิดจึงเหมือนดาบสองคม คือ ได้ความเชื่อมั่นจากนักลงทุนนักธุรกิจรายใหญ่ทั้งไทยและต่างชาติ แต่ขณะเดียวกันก็อาจทำให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่พอใจกับปัญหาเศรษฐกิจ พาลไม่เลือกพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งตรงนี้แกนนำพรรคพลังประชารัฐและตัวนายสมคิดเองจะต้องคิดให้ดีๆว่าได้หรือเสีย คุ้มหรือไม่คุ้ม เพราะในตอนนี้ทุกพรรคล้วนพุ่งเป้าโจมตีไปที่ปํญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง ดังนั้น ถ้าจะเอาชื่อนายสมคิดไปแปะไว้เฉยๆในบัญชีรายชื่อนายกฯของพรรค ก็จะมีแต่ผลเสีย แต่ควรจะต้องหาวิธีการทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในตัวนายสมคิดและให้โอกาสนายสมคิดทำงานต่อไป ด้วยการลงคะแนนเลือกพรรคพลังประชารัฐ

ชื่อที่สามที่พรรคพลังประชารัฐเสนออยู่ในบัญชีนายกฯของพรรค คือ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค

การมีชื่อของนายอุตตม เป็นเรื่องปกติ เพราะนายอุตตมรับบทเป็นหัวหน้าพรรค จึงต้องได้รับเกียรติให้เป็นบัญชีนายกฯของพรรค

แต่หากมองในแง่ชื่อชั้น จะพบว่านายอุตตม ยังห่างไกลทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และนายสมคิดอยู่หลายขุม ดังนั้น ชื่อของนายอุตตมจึงไม่มีความหมายในสนามเลือกตั้ง เพราะยังไม่เป็นแม่เหล็กแรงสูงพอที่จะดูดความนิยมจากประชาชนได้

ถ้าจะให้ดี นายอุตตมควรถอนตัว ไม่รับเป็นบัญชีรายชื่อนายกฯของพรรค แล้วปล่อยให้บิ๊กเนมสองคน คือ พล.อ.ประยุทธ์ และนายสมคิด เป็นจุดขายคู่หูดูโอ จะเป็นการดีกว่า

โดย : พูลเดช กรรณิการ์

นักวิชาการอิสระด้านการเมือง

31 มกราคม 2562

การเมือง : ทำไมพลังประชารัฐเสนอชื่อ ประยุทธ์-สมคิด-อุตตม เป็นนายกฯ

People unity : post 31 มกราคม 2562 เวลา 02.10 น.

กลุ่ม “เบญจรงคกุล” และสมาคมการค้าไทย-จีน มอบเงินบริจาคแก่นายกรัฐมนตรี

People unity news online : เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2560 เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี รับมอบเงินบริจาคจาก นายวิชัย เบญจรงคกุล ประธานบริหารบริษัท เบญจจินดา โฮลดิ้ง จำกัด พร้อม นางจุฑามาศ เบญจรงคกุล จำนวน 2,000,000 บาท และ นาย Zhuang jia ประธานสมาคมการค้าไทย-จีน และคณะ จำนวน 1,500,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 3,500,000 บาท เพื่อสบทบเข้ากองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบสาธารณภัยต่อไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากองทุนเงินช่วยเหลือฯได้มีการนำเงินบริจาคไปช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยในด้านต่างๆ ได้แก่ ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต 37 ราย ค่าประกอบอาหารเลี้ยง และถุงยังชีพ ปัจจุบันกองทุนฯมียอดเงินคงเหลือจำนวน 705,854,795.98 บาท

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณและชื่นชมประธานบริหารบริษัท เบญจจินดา โฮลดิ้ง จำกัด รวมทั้งประธานสมาคมการค้าไทย-จีน และคณะ ที่ได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อนำไปช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบสาธารณภัยต่างๆ ทั้งนี้ไม่ว่าคนไทยจะอยู่ในที่ใดของประเทศหรือต่างประเทศ และคนต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยไม่ว่าจะเชื้อชาติใด รวมถึงคนจีนก็ล้วนแสดงน้ำใจช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆในประเทศไทยอยู่เสมอ รวมทั้งการร่วมบริจาคเงินสบทบเข้ากองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ด้วย ซึ่งประเทศไทยและจีนถือเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาโดยตลอด พร้อมกล่าวว่าจะนำเงินที่ได้รับบริจาคดังกล่าวไปบริหารจัดการและใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยและให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดอย่างแท้จริง

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการทำงานของรัฐบาลในตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมาว่า รัฐบาลได้ดูแลประชาชนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงตามศักยภาพของแต่ละกลุ่ม ทั้งภาคธุรกิจ เอกชน ภาคประชาชน SMEs รวมถึงประชาชนในระดับฐานราก โดยขอให้ทุกคนได้นึกถึงและสร้างโอกาสให้กับคนที่มีรายได้น้อยหรือคนระดับฐานรากได้มีโอกาสเติบโตอย่างเข้มแข็ง ให้สามารถมีอาชีพ รายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ในส่วนของรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนและร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมถึงมิตรประเทศต่างๆ เพื่อร่วมมือกันขับเคลื่อนประชาคมโลก และประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งขอให้ทุกคนได้น้อมนำพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป

People unity news online : post 14 กันยายน 2560 เวลา 22.30 น.

“บิ๊กตู่” กำลังสร้างบรรทัดฐานใหม่นโยบายหาเสียงพรรคการเมือง?

People unity : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำถูกต้องแล้ว ที่สั่งห้ามมิให้พรรคพลังประชารัฐไปหาเสียงกับชาวบ้านว่า จะแก้กฎหมายให้ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 สามารถเปลี่ยนมือซื้อขายได้ เพื่อให้เป็น “ที่ดินทองคำ” ของชาวบ้าน

ประการที่ 1 เพราะที่ดิน ส.ป.ก.4-01 มีสถานะเป็นที่ดินของรัฐ ยังมิใช่ที่ดินของเอกชนหรือประชาชน ดังนั้น จึงไม่อาจเปลี่ยนมือด้วยการซื้อขายได้ เพียงแต่รัฐได้ให้สิทธิแก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินทำกินหรือคนยากจน ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ทำกิน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งกฎหมายที่ดิน ส.ป.ก.ก็ได้ห้ามมิให้แบ่งแยกหรือโอนสิทธิไปให้บุคคลอื่น เว้นแต่ทายาท ทั้งนี้เพื่อมิให้ที่ดินตกไปเป็นสิทธิของบุคคลอื่นที่มิใช่เกษตรกร หรือนำไปทำอย่างอื่นที่มิใช่เกษตรกรรม การที่นักการเมืองในพรรคพลังประชารัฐไปหาเสียงกับชาวบ้านว่าจะแก้ไขกฎหมายให้ซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ได้ จึงทำไม่ได้ ตราบใดที่ยังเป็นที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ซึ่งก็คือยังเป็นที่ดินของรัฐอยู่ นอกจากนี้ ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 มีเจตนารมณ์ให้สิทธิแก่เกษตรกรและคนยากจนใช้ทำกินในอาชีพเกษตรกรรม หากที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ซื้อขายได้ ก็จะถูกนำไปใช้ทำอย่างอื่นได้ และเชื่อแน่ว่าที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ส่วนใหญ่หรือจำนวนมากจะตกไปอยู่ในมือของนายทุนและทุนต่างชาติรวมทั้งนักการเมืองเอง ด้วยการเข้าไปกว้านซื้อหรือใช้วิธีการใดๆเพื่อให้ได้ที่ดินจากเกษตรกรมาเป็นของตนเอง “ที่ดินทองคำ” ของชาวบ้าน ก็จะกลายเป็น “ที่ดินทองคำ” ของนายทุนหรือนักการเมืองในที่สุด

ประการที่ 2 การหาเสียงด้วยนโยบายจะทำให้ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เปลี่ยนมือซื้อขายได้ เป็นการหาเสียงด้วยนโยบายที่เลวร้ายที่สุด เพราะเอาที่ดินของรัฐ เอาทรัพยากรของรัฐ ไปแลกกับคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็นที่สุดของที่สุดแห่งนโยบายประชานิยม เพราะสิ่งที่เอาไปแลกกับคะแนนเสียงคือที่ดินของรัฐ หากยอมให้นักการเมืองหรือพรรคการเมืองหาเสียงด้วยการเอาที่ดินของรัฐไปแจกได้ การเลือกตั้งก็ไม่ใช่การเลือกตั้งอีกต่อไป การหาเสียงก็ไม่ใช่การหาเสียงอีกต่อไป แต่เป็นการซื้อขายเสียงด้วยมูลค่าราคาสูงสุดดีๆนี่เอง

ประการที่ 3 การหาเสียงด้วยการเอาที่ดินหรือทรัพย์สินของแผ่นดินไปแลกกับคะแนนเสียง เป็นการใส่ความคิดและค่านิยมอันตรายให้กับประชาชนอย่างน่ากลัวที่สุด เพราะทำให้ประชาชนเกิดค่านิยมยอมรับหรือเห็นดีเห็นงามกับการได้รับสิ่งตอบแทนแลกกับการลงคะแนนให้มากยิ่งขึ้น เพราะแม้แต่ที่ดินของรัฐก็ยังหาทางเอามาแจกให้ได้ นอกเหนือจากการนำเงินของรัฐมาแจกในรูปแบบต่างๆในการเลือกตั้งทุกครั้งระยะหลังที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องปกติไปแล้ว และเป็นเรื่องจิ๊บๆทันทีเมื่อเทียบกับการแจกที่ดินทองคำ ค่านิยมและความเคยชินที่ประชาชนได้รับแจกด้วยมูลค่ามากขึ้นๆเพื่อแลกกับการลงคะแนนเสียงให้ จะทำให้ทุกรัฐบาลต้องสรรหาสิ่งต่างๆที่มีมูลค่าสูงมากขึ้นๆเพื่อนำไปแจกทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง งบประมาณและผลประโยชน์ของส่วนรวม ไปจนถึงทรัพย์สินของแผ่นดิน จะถูกนำไปใช้เป็น “กระสุนเลือกตั้ง” ของฝ่ายรัฐบาลมากยิ่งขึ้น ภายใต้การเล่นแร่แปรธาตุหรือการใช้ข้ออ้างต่างๆนานา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน หรือเพื่อสวัสดิการต่างๆ ไปจนถึงเพื่อทำให้ประชาชนรวยทางลัดดังเช่นนโยบายหาเสียงแจก “ที่ดินทองคำ” เมื่อประชาชนถูกสร้างให้มีค่านิยมผิดๆ ประชาธิปไตยก็จะเป็นประชาธิปไตยแบบผิดๆ รัฐบาลก็จะเป็นรัฐบาลแบบผิดๆ และบริหารประเทศแบบผิดๆ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เมื่อรัฐบาลแจกได้ พรรคการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่เคยเป็นรัฐบาล หรือเคยมีผลงานด้านการแจก ก็จะต้องคิดค้นนโยบายแจกแหลกราญกว่ามาใช้หาเสียง ดังเช่นที่บางพรรคจะแจกบัตรคนรวย เพื่อเกทับบัตรคนจนของฝ่ายรัฐบาล ประชาชนจะยิ่งมัวเมากับการได้รับแจก เห็นดีเห็นงามและเรียกร้องหาประชาธิปไตย เพราะกินได้ โดยไม่สนใจว่าสิ่งที่ได้รับแจกนั้นเป็นเงินหรือเป็นทรัพย์ของนักการเมืองหรือเป็นของชาติ อีกทั้งไม่คิดไม่สนใจด้วยว่า นักการเมืองนักเลือกตั้งจะเข้ามาโกงหรือไม่

ประการที่ 4 พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาเตือนนักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆบ่อยครั้งว่า นโยบายหาเสียงต้องเป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่เพ้อฝัน และต้องไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาเบรกนโยบายเอาที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ไปซื้อขายได้ของพรรคพลังประชารัฐ คือ รูปธรรมทางการกระทำว่าสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาพูดเตือน ไม่ใช่แค่ลมปาก หรือเป็นการสกัดจุดพรรคการเมืองอื่น แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เอาด้วยกับการหาเสียงด้วยนโยบายลักษณะนี้จริงๆ และต้องการให้เป็นบรรทัดฐานของการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ทุกพรรคจะต้องปฏิบัติ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องตรวจสอบนโยบายหาเสียงของทุกพรรคการเมืองอย่างจริงจัง เพราะแม้แต่พรรคพลังประชารัฐเอง ซึ่งเป็นพรรคที่ผู้ก่อตั้งพรรคเป็นคนในรัฐบาล และเป็นพรรคที่คาดว่าจะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ก็ยังถูก พล.อ.ประยุทธ์ เบรกนโยบายหาเสียงหัวทิ่ม

และล่าสุด นโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ไปพูดหาเสียงว่า จะเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจาก 500 บาท เป็น 1,000 บาท ก็ถูกโฆษกกระทรวงการคลังเบรกตาม พล.อ.ประยุทธ์ ไปอีกหนึ่งนโยบาย

จึงมองได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำลังพยายามสร้างบรรทัดฐานใหม่ของการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้จริงๆ และนโยบายของพรรคการเมืองใดจะถูกหวยเป็นรายต่อๆไป

โดย : พูลเดช กรรณิการ์ นักวิชาการอิสระด้านการเมือง 17 มกราคม 2562

การเมือง : “บิ๊กตู่” กำลังสร้างบรรทัดฐานใหม่นโยบายหาเสียงพรรคการเมือง?

People unity : post 17 มกราคม 2562 เวลา 01.40 น.

“ปนัดดา”ชี้บ้านเมืองเผชิญภัยจากผู้ทะเยอทะยานการเมืองสุดโต่งที่ใช้การแบ่งแยกแล้วปกครอง

People unity : ม.ล.ปนัดดา บรรยายพิเศษเรื่อง “การแบ่งแยกแล้วปกครอง” (divide and rule) ที่ถือเป็นปัญหาสำคัญของชาติ เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน ๑ เมษายน ๒๕๖๒

เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๒ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม ข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี ๒๕๓๒ และผู้บริหารราชการพลเรือนดีเด่นครุฑทองคำ ประจำปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ บรรยายพิเศษเรื่อง “การแบ่งแยกแล้วปกครอง” (divide and rule) ที่ถือเป็นปัญหาสำคัญของชาติ เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน ๑ เมษายน ๒๕๖๒ แก่ผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานราชการ ครูอาจารย์ นักสังคมสงเคราะห์ ฝ่ายปกครอง บุคลากรในสังกัดกระทรวงยุติธรรม และลูกหลานเยาวชน ณ ห้องประชุม บ้านกรุณา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

ม.ล.ปนัดดา กล่าวตอนหนึ่งว่า  “ตั้งแต่จำความได้ บุพการีสอนเรามาตั้งแต่เด็กให้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเพียร เคารพบุพการีชน และมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เคยสักเวลาเดียวที่คำสอนอันเป็นตรรกะแห่งชีวิตคนไทยประการนี้ จะขาดหายไปจากความสำนึกของลูกหลานไทย มีแต่จะสถิตเสถียรอยู่ในดวงใจของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นใคร อาชีพอะไร ครอบครัวของใครผู้ใด หรืออายุในวัยไหน สิ่งที่บรรดาเหล่าข้าราชการยึดมั่น อันถือเป็นหลักแห่งมโนสุจริตของข้าราชการย่อมไม่ต่างไปจากที่ได้กล่าวแล้ว อันหมายรวมถึงพ่อแม่ ครูอาจารย์ ที่ต่างอบรมลูกหลานและศิษย์เพื่อให้เป็นคนดีของชาติบ้านเมือง

นับเป็นเวลาร่วม ๒๐ ปีที่ผ่านพ้น บุคคลผู้นำความคิดอันก่อให้เกิดความแบ่งแยกจนกระทั่งกลับกลายเป็นความแตกแยกของคนไทย กลายเป็นเกิดขึ้นจากกลุ่มบุคคลที่แสวงหาอำนาจทางการเมืองอย่างปราศจากคุณธรรมจริยธรรม แน่นอนว่าย่อมไม่ใช่ข้าราชการประจำ แต่กลายเป็นกลุ่มบุคคลผู้มีความทะเยอทะยานทางการเมืองชนิดสุดโต่ง กระทั่งลืมรากเหง้าในความเป็นชาติ พระคุณใหญ่หลวงแห่งบรรพชนที่ได้ร่วมกันดำรงรักษาแผ่นดินไทยให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุขมาได้ตราบทุกวันนี้ กลุ่มบุคคลดังกล่าวแม้มีจำนวนไม่มาก แต่อาศัยความมั่งคั่งทางฐานะของครอบครัว ผสานเข้ากับความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและหลงทางจากการไปศึกษาในต่างประเทศ กับอีกเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ขาดการพิจารณาเลือกเฟ้นที่เหมาะสมกับสังคมหนึ่งๆ ที่ทำให้สังคมเกิดขึ้นซึ่งสิ่งที่เรียกว่าภาพลวงตา บ้างเรียกว่าสร้างภาพในการหลอกลวงผู้คน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากความตั้งใจก็ดีหรือความรู้เท่าไมถึงการ และการสุ่มเสี่ยงในการให้ทัศนคติที่เป็นเท็จ ให้ร้ายว่ากล่าวบรรพชนและบุคคลอื่นที่มีความเห็นไม่ตรงกับตน ชนิดที่อารยประเทศใดๆจะไม่กระทำอะไรเช่นนี้ กลับกลายเป็นความอับอายขายหน้าต่อการกระทำในสิ่งดังกล่าวของผู้ใดก็ตามอย่างไม่เกรงกลัวต่อบาป และหลักคุณธรรมจริยธรรมของประเทศ

มองในเชิงผลลัพธ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากต้นเหตุและที่มาของปัญหา ย่อมมีคำตอบได้โดยไม่ยากประมาณ ๒-๓ ข้อที่สมควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขเสียที่ต้นเหตุอย่างไม่ชักช้า เพราะการที่จะไม่ให้เกิดการให้ร้ายแก่บุคคล ใช้วาจาเพื่อสร้างความแตกแยกชนิดยากที่จะหันหน้าเข้าหากัน และการใช้ทรัพย์สินอันมหาศาลเพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงบุคคลและเพิ่มพูนปัญหาให้กับสังคมของคนในชาติ เข้าลักษณะความมุ่งมั่นให้เกิดการแบ่งแยกแล้วปกครอง (divide and rule) อย่างแยบยล ที่ถือเป็นภยันตรายอันดับแรกของการบ่อนทำลายประเทศ ที่ภาครัฐและเอกชนทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ไขให้แล้วเสร็จเป็นอันดับแรกในระบบรัฐปัจจุบัน ก่อนที่จะลงมือทำเรื่องอื่นๆต่อไป”

การเมือง : ม.ล.ปนัดดาชี้บ้านเมืองเผชิญภัยจากผู้ทะเยอทะยานการเมืองสุดโต่งที่ใช้การแบ่งแยกแล้วปกครอง

People unity : post 2 เมษายน 2562 เวลา 18.00 น.

รายละเอียดนายกฯตรวจราชการที่ระนอง-ชุมพร และประชุม ครม.นอกสถานที่ 20-21 ส.ค.

People unity news online : พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางไปตรวจราชการจังหวัดระนอง และจังหวัดชุมพร และประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 6/2561 ณ จังหวัดชุมพร ระหว่างวันที่ 20 – 21 สิงหาคม 2561

สำหรับการตรวจราชการในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับประเด็นดังต่อไปนี้

จังหวัดระนอง 1.การส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดระนองให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พร้อมทั้งการส่งเสริมแพทย์ทางเลือกโดยการบำบัดและฟื้นฟูสุขภาพแบบดุลยภาพบำบัดด้วยน้ำพุร้อนตามธรรมชาติ  2.การผลักดันท่าเรือระนองเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ชายแดนฝั่งอันดามันเพื่อรองรับ IMT-GT และกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอ่าวเบงกอล เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมโยง เส้นทางคมนาคมทั้งทางบก ทางรถไฟ ทางอากาศ และท่าเรือ 3.การรักษาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลโดยการใช้ปะการังเทียม เพื่อเป็นแหล่งพักอาศัย แหล่งอาหารและแหล่งสืบพันธุ์ของสัตว์น้ำ อันจะเป็นการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำตามธรรมชาติ

ในส่วนของจังหวัดชุมพร 1.การบริหารจัดการน้ำตามโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริที่เป็นการพัฒนาแก้มลิงธรรมชาติให้สามารถใช้ในการบรรเทาอุทกภัยของชุมพรและสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรและอุปโภคบริโภค 2.การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและสนับสนุนแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นโดยการนำองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร บนแนวความคิดอย่างสร้างสรรค์ และสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของการรวมกลุ่มเชื่อมโยงเครือข่ายแลกเปลี่ยน เรียนรู้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ทั้งนี้มีรายละเอียดงานดังต่อไปนี้

วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม 2561 เวลาประมาณ 08.45 น. นายกรัฐมนตรีพบประชาชน ณ หอประชุมพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นสักขีพยานพิธีมอบสมุดประจำตัวผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายรัฐบาลในลักษณะแปลงรวม ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าคลองลำเลียง – ละอุ่น” เนื้อที่ 511 – 3 – 33 ไร่ จำนวน 84 ราย 98 แปลง จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปต่อยังโรงพยาบาลระนอง ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมือง เพื่อเยี่ยมชมบ่อน้ำพุร้อนรักษะวาริน รวมทั้งเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์ฟื้นฟูสภาพด้วยการแพทย์ทางเลือก พร้อมรับฟังบรรยายสรุปการดำเนินงานของศูนย์ฯ และเยี่ยมชมศูนย์ธาราบำบัด และคลินิกแพทย์แผนไทยและฝังเข็ม เสร็จแล้ว นายกรัฐมนตรีเดินทางต่อไปยังท่าเรือระนอง บ้านเขานางหงส์ ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง เพื่อเยี่ยมชมการบริหารจัดการท่าเรือระนอง พร้อมรับฟังบรรยายสรุปทิศทางการพัฒนาท่าเรือระนอง และมอบปะการังเทียมให้แก่ผู้แทนประชาชน

ช่วงบ่าย ณ จังหวัดชุมพร เวลาประมาณ 15.30 น. นายกรัฐมนตรีพบปะประชาชน และเยี่ยมชมการบริหารจัดการน้ำ พร้อมทั้งเยี่ยมชมโครงการแก้มลิงหนองใหญ่และสะพานไม้เคี่ยม ณ โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร จากนั้น นายกรัฐมนตรีสักการะอุนสรณ์สถานพลเรือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และเยี่ยมชมทิวทัศน์หาดทรายรี ณ ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

วันอังคารที่ 21 สิงหาคม 2561 เวลา 08.30 น. ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง) และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ตรัง และสตูล) จากนั้น นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 6/2561 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร

ช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีร่วมกิจกรรมปล่อยลูกปูม้าจำนวน 10 ล้านตัว คืนสู่ทะเล เพื่อประกาศความอุดมสมบูรณ์ของทะเลและชายฝั่งภาคใต้ตอนบนร่วมกับพี่น้องชาวประมง กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล กลุ่มท่องเที่ยวทางทะเล และชุมชน ณ บริเวณชายหาดพระจอมเกล้าฯ จากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินทางต่อไปเพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ตำบลทะเลทรัพย์ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เสร็จแล้วนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร

People unity news online : post 18 สิงหาคม 2561 เวลา 21.10 น.

พล.อ.ประยุทธ์ แถลงชี้แจงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 จำนวน 3 ล้านล้านบาท ต่อ สนช.

People unity news online : พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงชี้แจงงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จำนวนไม่เกิน 3,000,000,000,000 บาท (สามล้านล้านบาท) ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ณ ห้องประชุมรัฐสภา อาคารรัฐสภา 1 ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพฯ วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน 2561

………………………………………………………..

ท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เคารพ

คณะรัฐมนตรีขอเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562  โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้

หลักการ

ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เป็นจำนวนไม่เกิน  3,000,000,000,000 บาท (สามล้านล้านบาท)

เหตุผล

เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ได้มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สำหรับใช้เป็นหลัก ในการจ่ายเงินแผ่นดิน

ท่านประธานที่เคารพ

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่รัฐบาลนำเสนอต่อท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันนี้ เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนประเทศให้ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ที่มีความสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน สำหรับคำแถลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้นำเสนอต่อท่านสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นเอกสารแล้ว โดยกระผมขออนุญาตนำเสนอสาระสำคัญโดยสรุป ดังต่อไปนี้

ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป

เศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 – 4.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในปี 2559 และร้อยละ 3.9 ในปี 2560 สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในปี 2561 อยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าการปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภายในประเทศและการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ  0.7 – 1.7 ในขณะที่ ดุลบัญชีเดินสะพัด  คาดว่าจะเกินดุลร้อยละ 8.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.9 – 4.9  โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชนที่มีการขยายตัวสูงขึ้น รวมทั้งความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐที่เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้าง ในขณะที่การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวยังมีการขยายตัวดีตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2562 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วง ร้อยละ 0.9 – 1.9 ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 6.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ฐานะและนโยบายการคลัง

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2,673,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 จากปีก่อน เมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอน  การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 123,000 ล้านบาท คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,550,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่คณะรัฐมนตรีได้นำเสนอต่อสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ในวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,000,000 ล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิ จำนวน 2,550,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 450,000 ล้านบาท

ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 317,166 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

ฐานะและนโยบายการเงิน

เศรษฐกิจไทยในปี 2561 มีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนและต่อเนื่องมากขึ้น จากแรงขับเคลื่อนของภาคส่งออกที่ขยายตัวดีและการใช้จ่ายภายในประเทศที่ปรับดีขึ้นเป็นลำดับ  ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำ แต่มีทิศทางปรับสูงขึ้นตามการขยายตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.5 ในการประชุม 2 ครั้งแรกของปี 2561     เพื่อรักษาภาวะการเงินให้อยู่ในระดับผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ

สำหรับฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน อยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 30 เมษายน 2561 มีจำนวน 215,152.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นประมาณ 3.6 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

ท่านประธานที่เคารพ

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติฉบับนี้ รัฐบาลได้จัดทำขึ้นโดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อให้ประเทศไทย มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี และมีความสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 กรอบแนวคิดการพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และนโยบายรัฐบาล รวมทั้งได้น้อมนำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ โดยกำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณที่สำคัญ ดังนี้

1.จำแนกงบประมาณเป็น 6 กลุ่ม เพื่อแสดงประเภทค่าใช้จ่ายแต่ละกลุ่มงบประมาณให้ชัดเจนและสามารถจัดสรรงบประมาณตามลำดับความสำคัญได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ กลุ่มงบประมาณรายจ่ายกระทรวง/หน่วยงาน (Function) กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) จำนวน 21 เรื่อง กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area) จำนวน 3 เรื่อง กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ และกลุ่มงบกลาง

2.พิจารณาการใช้จ่ายครอบคลุมทุกแหล่งเงิน ทั้งเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ และแหล่งเงินอื่น โดยให้นำเงินรายได้และเงินสะสมคงเหลือ มาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยงานเป็นลำดับแรก รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

3.ยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน จัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ มีการกระจายตัวอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง และตั้งอยู่บนพื้นฐานความต้องการของประชาชน  มีรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน สมเหตุสมผล โปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมทั้งสนับสนุนโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วน มีความพร้อมสูง มีความคุ้มค่า ตลอดจนนำผล  การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และ 2561 มาประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับศักยภาพการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงาน

4.ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ  พ.ศ. 2561 กำหนดไว้เกี่ยวกับการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีครบถ้วนแล้ว

สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

ท่านประธานที่เคารพ

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่คณะรัฐมนตรีนำเสนอต่อสมาชิกผู้ทรงเกียรติ มีวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,000,000 ล้านบาท จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,261,488.7 ล้านบาท  หรือคิดเป็นร้อยละ 75.4  ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน จำนวน 660,305.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของวงเงินงบประมาณ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 78,205.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.6 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งจะได้เรียนให้ทราบถึงสาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โดยสรุปดังนี้

1.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณรายจ่าย 6 กลุ่มงบประมาณรายจ่าย สรุปได้ดังนี้

1.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 1,060,869 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 35.4 ของวงเงินงบประมาณ ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายตามสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของบุคลากรภาครัฐด้วยแล้ว

2.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายกระทรวง/หน่วยงาน (Function) รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวน 764,128.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 25.5 ของวงเงินงบประมาณ จำแนกเป็น 2 แผนงานหลัก ประกอบด้วย

2.1 แผนงานพื้นฐาน จำนวน 311,267.9 ล้านบาท

2.2 แผนงานยุทธศาสตร์ จำนวน 452,860.9 ล้านบาท

3.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 487,791.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 16.3 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อดำเนินงานเรื่องสำคัญ จำนวน 21 เรื่อง

4.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area) รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 325,600.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.8  ของวงเงินงบประมาณ เพื่อดำเนินงานบูรณาการในระดับพื้นที่ จำนวน 3 เรื่อง

5.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็น จำนวน 259,609.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.6 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 78,205.5 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 181,404.4 ล้านบาท

6.กลุ่มงบกลาง รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้ จำนวน 102,000  ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง และสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

2.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ

รัฐบาลได้ริเริ่มการจัดทำร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จำแนก 6 ด้าน เพื่อเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ซึ่งการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้จัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สอดคล้องตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดยได้กำหนดไว้จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ด้านความมั่นคง

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 329,239.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของวงเงินงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 406,496 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.5 ของวงเงินงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 560,884.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.7 ของวงเงินงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการเติบโตจากภายใน

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 397,581.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.3 ของวงเงินงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 : ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 117,266 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.9 ของวงเงินงบประมาณ

ยุทธศาสตร์ที่ 6 : ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 838,422.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 27.9 ของวงเงินงบประมาณ

รายการค่าดำเนินการภาครัฐ

รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่าย ไว้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 350,109.9 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.7 ของวงเงินงบประมาณ

ท่านประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เคารพ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ

กระผมขอสรุปสาระสำคัญของการดำเนินการของรัฐบาล ภายใต้ร่างพระราชบัญญัตินี้ ในบางประเด็นสำคัญ ดังนี้

การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ รัฐบาลมุ่งเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ รักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศควบคู่กับผลประโยชน์ของชาติ และบริหารจัดการภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ อำนวยความปลอดภัยและเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ   ความมั่นคงทางไซเบอร์ การก่อการร้าย และภัยคุกคามทุกรูปแบบ โดยให้มีระบบการกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคลที่ไม่มีสถานภาพ เสริมสร้างประสิทธิภาพงานด้านข่าวกรองทั้งในประเทศและต่างประเทศ ป้องกันการตกเป็นเหยื่อ การค้ามนุษย์ ไม่น้อยกว่า 1.1 ล้านคน คุ้มครองช่วยเหลือและฝึกอาชีพแก่เหยื่อผู้เสียหาย จากขบวนการค้ามนุษย์เพื่อให้สามารถกลับคืนสู่สังคมอย่างปลอดภัย

การแก้ไขปัญหาและลดจำนวนเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา มุ่งเน้นการดำเนินงานในมิติด้านความมั่นคง ด้านการพัฒนา และด้านการสร้างความเข้าใจ ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม มุ่งเน้นงานการข่าวและการมี ส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่พึ่งพาตนเองได้ด้วยหลักประชารัฐ ส่งเสริมโอกาสและมาตรฐานในการศึกษา การประกอบอาชีพเพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้ครัวเรือน รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ความไม่สงบ

การเกษตร ผลักดันให้การผลิตภาคเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ที่ผ่านมา  ในปีการผลิต 2556/57 ครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้เงินสดทางการเกษตรสุทธิ 48,500 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 58,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และจะยกระดับรายได้เงินสดทางการเกษตรสุทธิในปีการผลิต 2561/62 เป็น 61,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ผ่านนโยบายและมาตรการของรัฐบาลที่ริเริ่มขึ้นหรือดำเนินการต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง พัฒนาเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmers) เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 100,000 ราย ยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรสู่เกษตรสมัยใหม่ 4.0 ส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ ไม่น้อยกว่า 4,600 แปลง ปรับเปลี่ยนพื้นที่การผลิตที่ไม่เหมาะสมตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) ไม่น้อยกว่า 220,000 ไร่ และส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 700,000 ไร่

อุตสาหกรรม สร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ ยกระดับผลิตภาพและเพิ่มประสิทธิภาพของสถานประกอบการ แรงงาน ผู้ประกอบการ รวมทั้งส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศ พัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติโดยการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ (Center of Robotic Excellence : CORE) สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง “CLMV” เพื่อยกระดับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมศักยภาพ พัฒนาและส่งเสริม SME โดยปรับปรุงข้อมูล พัฒนาผู้ให้บริการ  แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และขับเคลื่อนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล เพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและบริการดิจิทัล โดยจัดให้มีการให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน 10,000 ชุมชน พัฒนาทักษะดิจิทัลเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรม 4.0 พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น สนับสนุนการจัดระบบแรงงานต่างด้าวแบบไป-กลับ และระบบการจัดการด้านความมั่นคงตรวจคนเข้าเมืองที่ได้มาตรฐาน จัดกิจกรรมการค้าชายแดน บริการออกใบอนุญาตทำงานในศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จด้านแรงงานต่างด้าว เพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประเทศ ที่ขับเคลื่อนและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างเต็มศักยภาพ

รัฐบาลได้ริเริ่มการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ได้ขับเคลื่อนต่อเนื่องในทุกด้าน เพิ่มมูลค่า การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จัดตั้งสถาบันไอโอทีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการให้กับนักลงทุน พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่ง ทั้ง ทางถนน ทางราง สร้างสถานีรถไฟอู่ตะเภา ปรับปรุงทางเข้าท่าเรือจุกเสม็ด และศึกษาความเหมาะสมรถไฟทางคู่ สายชุมทางศรีราชา – ระยองและมาบตาพุด – จันทบุรี – คลองใหญ่ ทางน้ำ ปรับปรุงร่องน้ำและบริเวณพื้นที่จอดเรือท่าเรือจุกเสม็ด และท่าเทียบเรือน้ำมันเพื่อเป็น ท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ พัฒนาพื้นที่ธุรกิจและบริการเชื่อมต่อพื้นที่ท่าเทียบเรือเฟอร์รี่  และท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นบริเวณเกาะจระเข้ ทางอากาศ พัฒนาพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา และในด้านอื่น ๆ อาทิ การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำประปารองรับความต้องการของภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม และจัดทำระบบการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมและเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

การท่องเที่ยวและบริการ เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว กีฬา และวัฒนธรรมให้มีมูลค่า ไม่น้อยกว่า 3 ล้านล้านบาท สนับสนุนการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับนานาชาติจากทุกภาคส่วน สนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาอาชีพระดับโลกและมหกรรมกีฬานานาชาติ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ความเป็นไทย ยกระดับสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐาน พัฒนาและขยายแหล่งท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรองให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการสร้างแบรนด์การค้าประเทศไทยสู่ประเทศไทย 4.0 พัฒนาช่องทางการตลาดหลายรูปแบบ สร้างความเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศไทยและประเทศในอาเซียน พัฒนาและส่งเสริมครัวไทยสู่ครัวโลก

เพิ่มศักยภาพระบบโลจิสติกส์ สนับสนุนการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง ให้โครงข่ายคมนาคมมีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ จาก 1.876 ล้านล้านบาท  ในปี 2557 เป็น 1.913 ล้านล้านบาท ในปี 2558 และจะเป็น 1.640 ล้านล้านบาทในปี 2564  ด้วยการเชื่อมโยงจากถนนสู่ทางราง    ทางน้ำ และทางอากาศให้ทั่วถึง ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า สนับสนุนการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ และพัฒนาระบบการขนส่งสาธารณะทางราง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางอากาศด้วยการติดตั้งระบบจัดการรักษาความปลอดภัยพื้นที่การบินตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และเพิ่มประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการและผู้ประกอบการ อำนวยความสะดวกทางการค้าด้วยระบบ National Single Window (NSW) ที่ช่วยลดเวลาการนำเข้า – ส่งออก

การวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมเป้าหมายและการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมตามโปรแกรมยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ซึ่งเป็นโปรแกรมวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมสูง รวมทั้งส่งเสริมการจัดการและการถ่ายทอดองค์ความรู้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

การศึกษา สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยต่อเนื่องไปจนตลอดชีวิต ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาโดยพัฒนาคุณภาพและเตรียมความพร้อมให้กับเด็กปฐมวัย จำนวน 980,900 คน   เด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาไม่น้อยกว่า 829,600 คน  การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี แก่ประชากรวัยเรียน รวมถึงเด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาในทุกสังกัด ไม่น้อยกว่า 12 ล้านคน สนับสนุนการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้แก่โรงเรียน ส่งเสริมการจัดการศึกษาทางไกลไม่น้อยกว่า 30,400 โรง พัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาโรงเรียนประชารัฐ ไม่น้อยกว่า 4,500 โรง สนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับเด็ก เยาวชน และครู ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์  หรือมีความสามารถพิเศษในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา ปริญญาตรี ถึงปริญญาเอก     ทั้งในและต่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 10,600 คน ส่งเสริมสถานศึกษาอาชีวศึกษาให้จัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี โดยมีสถานประกอบการเข้าร่วม ไม่น้อยกว่า 46,100 แห่ง สนับสนุนให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นปราชญ์แห่งการพัฒนาท้องถิ่น สามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความรู้ ทัศนคติที่ดี และมีอาชีพที่มั่นคง ยกระดับผลสัมฤทธิ์การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-net) ในทุกระดับ ครูผู้สอน 50,000 คน  ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานทุกสังกัดได้รับการพัฒนาในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์และศิลปศาสตร์ (STEM & STEAM Education) จัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา) 58,461 คน สร้างความร่วมมือการพัฒนาทักษะวิชาชีพผ่านประสบการณ์ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานหรือองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อตอบสนองภาคการผลิตและบริการใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก (New Engine of Growth) จำนวน 2,500 คน ผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น จำนวน 5,337 คน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างให้คนไทยมีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ความมีวินัย จิตสาธารณะ จิตสำนึกและค่านิยมที่ดีงาม โดยนำหลักธรรมทางศาสนาเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต

การสาธารณสุข ระบบประกันสุขภาพมีคุณภาพ ทั่วถึง เท่าเทียม และครอบคลุมกลุ่มประชากรไทยประมาณ 66 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 99.95 ของประชากรทั้งประเทศ โดยอยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 48.6 ล้านคน ระบบประกันสังคม 12.7 ล้านคน และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ 4.5 ล้านคน สำหรับระบบประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านเป้าหมายและอัตราค่าใช้จ่ายของผู้รับบริการทั้งกรณีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ส่งเสริมให้ชุมชนเป็นฐานในการสร้างสุขภาวะที่ดี โดยให้บริการสุขภาพ        แก่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงผู้ป่วยติดเชื้อ เอช.ไอ.วี และผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง การบริการสาธารณสุขเพื่อควบคุมความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และขยายผลการให้บริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัวที่ได้ริเริ่มขึ้น รวมทั้งให้บริการทางการแพทย์สำหรับบุคคลที่ปัญหาสถานะสิทธิ ไม่น้อยกว่า 570,000 คน จัดสรรเบี้ยยังชีพผู้ป่วยเอดส์ ไม่น้อยกว่า 387,600 คน  ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนและวิกฤต สามารถเข้ารับบริการในโรงพยาบาลเอกชนนอกเครือข่ายได้ทุกแห่ง ภายใต้นโยบายลดความเหลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินของรัฐบาลทั้งกรณีผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน สนับสนุนการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านครั้ง เพิ่มประสิทธิภาพและลดความเหลื่อมล้ำของคุณภาพบริการ โดยพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์หลัก/กลาง ในเรื่องนโยบายสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัยสนับสนุนให้สามารถขึ้นทะเบียนสัตว์และฉีดวัคซีนได้ไม่น้อยกว่า 12 ล้านตัว

สวัสดิการสังคมและเศรษฐกิจฐานราก ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินงานโครงการไทยนิยมยั่งยืน ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สำหรับงบประมาณ 2562 มุ่งขยายผลด้านการพัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ ลดหนี้สิน โดยวางแนวทางการพัฒนาส่งเสริมอาชีพสำหรับประชาชน ไม่น้อยกว่า 280,000 ครัวเรือน บริหารแผนชุมชนระดับตำบล จำนวน 6,766 ตำบล พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 7,600 ผลิตภัณฑ์ พัฒนาผู้ประกอบการชุมชน จำนวน 3,800 กลุ่ม ส่งผลให้ปัญหาหนี้สินลดลง ในขณะที่ศูนย์ดำรงธรรมในระดับจังหวัด 76 จังหวัด และอำเภอ 878 อำเภอ จะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม ประโยชน์และความพึงพอใจ ผ่านการรับเรื่องราวร้องทุกข์ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การบริการข้อมูลข่าวสารทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง จำนวนเป้าหมายเรื่องเข้าสู่กระบวนการ 2,350,000 เรื่อง และมีการแก้ไขปัญหาและยุติเรื่องได้ จำนวน 1,880,000 เรื่อง สร้างความมั่นคงทางการเงินแก่ผู้มีรายได้น้อยตามแนวทางการจัดประชารัฐสวัสดิการ ไม่น้อยกว่า 11.4 ล้านคน วงเงิน 40,000 ล้านบาทอย่างต่อเนื่อง

พัฒนาศักยภาพของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการพัฒนาศักยภาพด้านการสร้างครอบครัวเข้มแข็ง ไม่น้อยกว่า 112,000 คน ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว 40,000 คน ส่งเสริมสนับสนุนให้ครอบครัวเข้าถึงการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อนำไปสู่การสร้างหลักประกันความมั่นคงของครอบครัวที่ครอบคลุมในทุกมิติ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนไร้ที่พึ่ง คนขอทาน ราษฎรบนพื้นที่สูง และสมาชิกนิคมสร้างตนเอง ไม่น้อยกว่า 298,200 คน ป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณีและลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนทางสังคม ไม่น้อยกว่า 1,246,700 คน คุ้มครองเยียวยาผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา ไม่น้อยกว่า 5,900 คน สนับสนุนการพัฒนาและสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่ประชาชนจัดตั้งขึ้น ไม่น้อยกว่า 1,150,000 คน  แก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทให้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและสิทธิในที่ดินเป็นของตนเองเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 18,000 ครัวเรือน สนับสนุนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมีที่อยู่อาศัย ไม่น้อยกว่า 21,700 ครัวเรือน พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและสนับสนุนการจัดหาที่ดินทำกินให้กับประชาชนผู้ยากไร้

การพัฒนาตลอดช่วงอายุ กลุ่มเด็กแรกเกิดและปฐมวัย มีการเตรียมความพร้อมครอบครัว  ก่อนมีบุตร สนับสนุนเบี้ยเด็กแรกเกิดจนถึง 3 ปี ในครอบครัวยากจน ไม่น้อยกว่า 463,800 คน   กลุ่มเด็กนักเรียนได้รับการสนับสนุนอาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม) ไม่น้อยกว่า 6  ล้านคน กลุ่มแรงงานได้รับการส่งเสริมและการจัดการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในสถานประกอบการ ไม่น้อยกว่า 16,200 แห่ง และได้รับการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคม ไม่น้อยกว่า 15 ล้านคน ต่างด้าวเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่น้อยกว่า 943,600 คน จัดทำประวัติและออกบัตรประจำตัวแก่บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย 133,000 คน กลุ่มผู้สูงอายุ สนับสนุนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่น้อยกว่า 9.10 ล้านคน    มีการจัดสวัสดิการพื้นฐานให้แก่ผู้สูงอายุในภาวะยากลำบาก 15,000 คน และค่าใช้จ่ายจัดงานศพ ผู้สูงอายุตามประเพณี ไม่น้อยกว่า 12,600 คน  เตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุให้กับประชาชน 121,800 คน ส่งเสริมให้มีการออมผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ ไม่น้อยกว่า 700,000 คน สนับสนุนนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อการดูแลสุขภาพให้แก่ผู้สูงอายุ เช่น ไม้เท้าช่วยเดิน หุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย/ผู้พิการ จากระบบประสาทส่วนกลางในผู้สูงอายุ และการดูแลสุขภาพช่องปาก จำนวน 205,700 คน พัฒนาอาสาสมัครในการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งจัดให้มีศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ  มีมาตรฐานและครบวงจร เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงระบบดูแลสุขภาพและการคุ้มครองทางสังคม 118,000 คน  และได้เริ่มดำเนินโครงการศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ  เพื่อให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศในการศึกษาอบรมด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุแบบสหวิชาชีพ เป็นศูนย์กลางในการผลิตงานวิชาการด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ได้มีการปรับปรุงที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวก ให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนทุกวัยเพื่อให้มีสุขภาวะที่ดี ไม่น้อยกว่า 3,700 แห่ง สนับสนุนเบี้ยยังชีพความพิการ ไม่น้อยกว่า 1.98 ล้านคน ส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพให้กับคนพิการที่ต้องการทำงาน เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพอย่างยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อัตราการลดลงของพื้นที่ป่าไม้   มีแนวโน้มดีขึ้น สนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ในพื้นที่เป้าหมายเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 55,000 ไร่ จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือเฝ้าระวังทรัพยากรป่าไม้ สร้างจิตสำนึกประชาชน ในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการสร้างป่าไม้ชุมชน การปลูกป่าเศรษฐกิจ   ไม่น้อยกว่า 27,000 ไร่ ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐทั้งในเขตป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติแบบบูรณาการ ไม่น้อยกว่า 14,500 ระวาง การจัดเตรียมร่างประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 12 พื้นที่ ฟื้นฟูทรัพยากรปะการัง จัดหาและกำหนดแหล่งทางทรัพยากรธรณีที่สำคัญของประเทศ บริหารจัดการข้อมูลที่ดินบนแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 4,000 ตลอดจนจัดทำผังเมือง เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และรองรับการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการลดการเกิดขยะมูลฝอยที่ต้นทางและการนำขยะไปใช้ประโยชน์เพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการการจัดเก็บ ขนส่ง การกำจัดขยะมูลฝอยชุมชน ของเสียอันตราย  มูลฝอยติดเชื้อและกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายให้ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง  ไม่น้อยกว่า 19.3 ล้านตัน ส่งเสริมให้มีระบบการกำจัดขยะมูลฝอยและการบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้น 24 แห่ง และบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ ตลอดจนควบคุมคุณภาพอากาศในพื้นที่วิกฤตและเขตควบคุมมลพิษให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ตลอดจนพัฒนาและยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ทรัพยากรน้ำ มีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพและยั่งยืน   โดยการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน เพิ่มพื้นที่ชลประทาน จาก 30.3 ล้านไร่ในปี 2557 เป็น 33.1 ล้านไร่ ในปี 2561 สำหรับในปี 2562 จะขยายพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 272,400 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 3.5 ล้านคน ขยายเขตระบบประปาให้ทุกหมู่บ้านและชุมชนเมืองมีน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคและบริโภค และประชาชนเข้าถึงระบบประปาเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 362,300 ครัวเรือน โรงเรียนมีระบบน้ำดื่มสะอาดเพิ่มขึ้น 519 แห่ง และขยายเขตระบบประปาเมือง ก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน 1,197 แห่ง และปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านให้มีมาตรฐาน จัดหาแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับภาคเกษตรและอุตสาหกรรม อนุรักษ์ ฟื้นฟู เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ 345 แห่ง ปฏิบัติการฝนหลวง 230 ล้านไร่ เชื่อมโยงระบบเครือข่าย/ลุ่มน้ำ และก่อสร้างระบบกระจายน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนไปยังพื้นที่เกษตรกรได้อย่างทั่วถึง พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 709,000 ไร่ ลดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และพื้นที่การเกษตร ไม่น้อยกว่า 418,000 ไร่ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ 24 ร่องน้ำ และป้องกันตลิ่ง 106,900 เมตร พื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมได้รับการฟื้นฟูระบบนิเวศ 60,000 ไร่ ควบคุมคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศอยู่ในระดับดีขึ้น ป้องกันระดับความเค็มของดินไม่เกินมาตรฐานของการเกษตร ตลอดจนพัฒนาระบบฐานข้อมูลการบริหารจัดการลุ่มน้ำอย่างสมดุลทั้ง 25 ลุ่มน้ำ

พลังงาน มีการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น และประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงขึ้น โดยส่งเสริมการจัดหาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน สร้างความร่วมมือ ด้านพลังงานทั้งในและต่างประเทศ      สร้างเครือข่ายสนับสนุนการจัดหาพลังงานในพื้นที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกและอ่าวไทย ตลอดจนขับเคลื่อนประเด็นปฏิรูปพลังงาน เพื่อสร้างการบริหารกิจการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และวางรากฐานรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านไฟฟ้า ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางพลังงานและเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขัน ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในทุกรูปแบบ  ด้วยการกำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชน สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตพลังงานทดแทน จัดทำมาตรฐานเชื้อเพลิง ชีวมวลที่มีคุณภาพเหมาะสมกับเทคโนโลยี พัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่ง และส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์พลังงานเพิ่มมากขึ้น ไม่น้อยกว่า 550 แห่ง

ด้านบริหารจัดการในระดับพื้นที่ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้เงินอุดหนุนแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ 7,852 แห่ง วงเงินงบประมาณ 276,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 12,978 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.9 เพื่อให้ประชาชน จำนวน 28.58 ล้านคน ได้รับการบริการสาธารณะในด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง

การจัดสรรงบประมาณเพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระดับพื้นที่ ตั้งแต่ระดับภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัด ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 – 2562 จะมีความแตกต่างจากที่ผ่านมาซึ่งยังขาดความชัดเจนในทิศทางและเป้าหมายในการพัฒนามีการดำเนินงานแบบแยกส่วน ส่งผลให้การกระจายงบประมาณในระดับพื้นที่เกิดปัญหาไม่เป็นธรรม  ไม่ตอบสนองต่อสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ มีการกระจุกตัวของงบประมาณในบางพื้นที่ การพัฒนาพื้นที่ขาดความต่อเนื่อง ขาดความเชื่อมโยงกับทิศทางการพัฒนาระดับชาติ ได้เพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณของจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ซึ่งเดิมจะได้รับการจัดสรรงบประมาณ ปีละ 18,000 ล้านบาท เป็นปีละกว่า 20,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนงบประมาณตั้งแต่  ปี 2558 – 2562 เป็นจำนวน 279,335.7 ล้านบาท โดยเป็นของกลุ่มจังหวัด 90,929.4 ล้านบาท และจังหวัด 188,406.3 ล้านบาท

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยยกระดับเป็นการบูรณาการระดับภาคเป็นครั้งแรก  ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกลไก การบริหารเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ จากเดิมที่มีเฉพาะกลไกระดับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด     ได้เพิ่มกลไกระดับภาคเพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาระดับพื้นที่ตั้งแต่หมู่บ้าน/ชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด กลุ่มจังหวัด ไปยังระดับภาค โดยใช้ร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งมีการกำหนดยุทธศาสตร์ระดับภาคเป็นครั้งแรก เป็นกรอบในการจัดทำแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ระดับต่าง ๆ ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2560 ดังนั้น การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีมิติพื้นที่ ทั้งระดับภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงมีความชัดเจน ซึ่งจะสร้างความเป็นธรรมในการกระจายงบประมาณเพื่อการพัฒนาตามศักยภาพและทิศทางการพัฒนาพื้นที่ที่ชัดเจน โดยในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ฉบับนี้   ได้จัดสรรเพิ่มเติมอีก 20,799.3 ล้านบาท

และเมื่อพิจารณาด้านการลงทุนสู่ภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ จะพบว่าได้กระจายการจัดสรรรายจ่ายลงทุน จำนวน 411,552.3 ล้านบาท ลงสู่พื้นที่ตามภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นรายภาค 6 ภาค ปรากฏสัดส่วนดังนี้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 27.5 (113,479.6 ล้านบาท) ได้แก่

– ออกแบบ/พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง

– บริหารจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐานสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย

– จัดระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการให้เพียงพอและมีคุณภาพ

– ส่งเสริมบุคลากร เรียนรู้นวัตกรรม เพื่อพัฒนาด้านสินค้า/พัฒนา OTOP

ภาคใต้ ร้อยละ 13.8 (56,802.3 ล้านบาท) ได้แก่

– พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้เพียงพอและมีมาตรฐาน

– พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ และปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเดิมที่มีศักยภาพ

– ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว

– พัฒนาเมืองภูเก็ต เมืองหาดใหญ่ และเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคใต้เป็นเมืองน่าอยู่และเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

– ป้องกันทรัพยากรและรักษาสมดุลของระบบนิเวศให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่แหล่งต้นน้ำ

ภาคเหนือ ร้อยละ 19 (78,144.4 ล้านบาท) ได้แก่

– พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว อารยธรรมล้านนา และกลุ่มชาติพันธุ์

– พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก และธรรมชาติ

– พัฒนาระบบดูแลและยกระดับการให้บริการด้านสาธารณสุข

– อนุรักษ์และป้องกันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ภาคกลาง ร้อยละ 23 (94,562 ล้านบาท) ได้แก่

– โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนากรุงเทพมหานครและเมืองปริมณฑล

– สนับสนุนการรวบรวม ขนส่ง และจัดจำหน่ายผลผลิตการเกษตร

– พัฒนาและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวและโครงสร้างพื้นฐาน

– ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ

ภาคตะวันออก ร้อยละ 13.3 (54,658.1 ล้านบาท) ได้แก่

– พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

– พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมืองสำคัญและเมืองน่าอยู่ภาคตะวันออก

– ส่งเสริมการตลาดผลไม้ภาคตะวันออก

– อนุรักษ์และป้องกันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก

ภาคใต้ชายแดน ร้อยละ 3.4 (13,905.9 ล้านบาท) ได้แก่

– พัฒนาและส่งเสริมโครงข่ายคมนาคม

– เพิ่มประสิทธิภาพการเกษตร

– เพิ่มศักยภาพช่องทางการตลาดเพื่อการท่องเที่ยว

– โครงการส่งเสริมการพัฒนาสุขภาวะของประชาชนทุกช่วงวัย

ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนประชากร พื้นที่ และนโยบายสำคัญของรัฐบาลในแต่ละภาคอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งทำให้เศรษฐกิจระดับภาคเติบโตตามศักยภาพ ประชาชนมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตดีขึ้น

ท่านประธานที่เคารพและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ

สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ. 2562 ตามที่รัฐบาลได้แถลงมานั้น เป็นเพียงส่วนสำคัญที่ควรนำมาแถลงให้ทราบ สำหรับรายละเอียดปรากฏอยู่ในเอกสารงบประมาณที่ได้นำเสนอต่อท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านแล้ว จากที่กล่าวมารัฐบาลเชื่อมั่นว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่นำเสนอนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงเจตนาอันแน่วแน่ของรัฐบาลในการใช้จ่ายงบประมาณ  เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูปประเทศ แก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญทุกภาคส่วนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ให้สามารถพึ่งตนเอง และเกิดความยั่งยืนในการพัฒนาปประเทศ บนพื้นฐานของความพอเพียงในระยะยาว และสามารถแข่งขัน ในเวทีโลกได้ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการบูรณาการเชิงพื้นที่โดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นลำดับแรก

กระผมจึงหวังว่าท่านประธานและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติจะให้การสนับสนุนและรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อจะได้ยึดถือเป็นหลักในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนสืบไป

People unity news online : post 7 มิถุนายน 2561 เวลา 13.20 น.

กรณี “เสธ.นิมิตติ์” กับกรณีบทบาทของทหารในพรรคพลังประชารัฐ

People Unity : เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีข่าวว่า “เสธ.นิมิตติ์” พล.ต.นิมิตติ์ สุวรรณรัฐ นายทหารคนสนิทของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจยื่นใบลาออกจากราชการทหาร เพื่อไปช่วยงานการเมืองให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ เต็มตัว พล.ต.นิมิตต์ ถือเป็น เสธ.ทหารคนสนิทของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไว้วางใจมาก ว่ากันว่าเป็น “ลูกรัก” ของ พล.อ.ประยุทธ์ เลยทีเดียว ทำหน้าที่ประสานงานด้านการเมืองและติดตาม พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการมาโดยตลอด

ข่าว พล.ต.นิมิตต์ ลาออกจากทหาร เกิดขึ้นไล่หลังจากที่มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้าไปเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จึงทำให้คาดกันว่า พล.ต.นิมิตต์ จะเข้าไปทำงานการเมืองในพรรคพลังประชารัฐตาม พล.อ.ประยุทธ์

แต่ทว่าล่าสุด มีข่าวว่า พล.ต.นิมิตต์ ได้เปลี่ยนใจไม่ลาออกจากทหารแล้ว ซึ่งนั่นอาจหมายถึงว่า พล.อ.ประยุทธ์ อาจตัดสินใจไม่เข้าไปเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแล้ว

ผมเห็นว่า พล.ต.นิมิตต์ ตัดสินใจถูกต้องแล้วที่ไม่ลาออกจากทหาร และคงไม่ลงไปเล่นการเมืองเต็มตัว เพราะหาก พล.ต.นิมิตต์ ประสงค์จะช่วยงาน พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไป ก็สามารถทำได้โดยการมาช่วยราชการหรือมาติดตามนายกฯดังเช่นที่ผ่านมา ไม่จำเป็นต้องลาออกจากราชการ แต่หาก พล.ต.นิมิตต์ ตัดสินใจลาออกจากทหารเพื่อไปเล่นการเมืองหรือไปทำการเมืองเต็มตัว ก็ถือว่าตัดสินใจผิดมหันต์ในแง่ส่วนตัว และมีผลเสียกระทบต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อกองทัพ ต่อรัฐบาลใหม่ และต่อพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่ พล.ต.นิมิตต์ เท่านั้นที่ไม่ควรเปิดตัวเข้าไปทำการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐ ทหารคนอื่นๆในสายของ คสช. ทั้งที่ยังรับราชการอยู่หรือเกษียณไปแล้ว ก็ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ แต่ควรปล่อยให้นักการเมือง นักวิชาการและบุคคลอื่นที่มิใช่ทหารเป็นผู้ดำเนินการพรรคและขับเคลื่อนพรรค ทั้งนี้เพื่อลบภาพพรรคของ คสช.ออกไป เพราะภาพลบของพรรคพลังประชารัฐตั้งแต่ก่อตั้งคือ ถูกโจมตีว่าเป็นพรรคทหาร หรือเป็นพรรคสืบทอดอำนาจของ คสช.

พล.ต.นิมิตต์ ซึ่งเป็นนายทหารที่ใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่สมควรเข้าไปเล่นหรือไปทำการเมืองเต็มตัวเปิดเผย เพราะจะทำให้ภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการเป็นนายกฯรอบสองครั้งนี้ ถูกมองว่ามีทหารสนับสนุนหรือมีทหารทำการเมืองให้ ซึ่งภาพแบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งต่อกองทัพหรือทหาร และต่อรัฐบาลใหม่ โดยจะเป็นจุดอ่อนให้พรรคฝ่ายตรงข้ามนำไปโจมตีได้ต่อไป และจะทำให้ประชาชนอีกส่วนหนึ่งของประเทศที่ไม่ชอบ คสช.และทหารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มีทัศนคติที่เป็นลบและต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งกองทัพหรือทหาร และรัฐบาลใหม่มากยิ่งขึ้น ส่วนพรรคพลังประชารัฐนั้น ขนาดวันนี้ไม่มีทหารเป็นผู้บริหารพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคแม้แต่คนเดียว ก็ยังถูกโจมตีเป็นพรรคทหารหรือพรรคของ คสช. หากมีทหารเข้าไปเปิดตัวทำงานกับพรรคหรือเป็นผู้บริหารพรรค ก็จะกลายเป็นพรรคทหารขึ้นมาทันทีอย่างปฏิเสธไม่ได้  และภาพของพรรคจะเป็นพรรคเฉพาะกิจ ซึ่งจะทำให้พรรคพลังประชารัฐไม่สามารถเติบโตไปได้มากกว่านี้ และอาจมีนักการเมือง นักวิชาการ หรือนักธุรกิจในพรรคถอยออกไป เพราะรับแรงเสียดทานหรือแรงกระทบจากการเป็นพรรคทหารไม่ไหว ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น พรรคพลังประชารัฐจบเห่แน่นอนในการเลือกตั้งครั้งหน้า

อีกด้านหนึ่ง ปัญหาภายในของพรรคพลังประชารัฐในขณะนี้คือ ทหารบางกลุ่มเข้าไปมีบทบาทในการบริหารจัดการและการตัดสินใจทางการเมืองในพรรคพลังประชารัฐมากเกินไป ส่งผลทำให้กลุ่มการเมือง กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มนักธุรกิจผู้สนับสนุนพรรค และกลุ่มภาคประชาสังคมในพรรค รู้สึกอึดอัด เพราะไม่สามารถเสนอแนะความคิดเห็นต่อพรรคได้ และหลายกรณีไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของทหาร นอกจากนี้ยังเห็นว่าปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลที่วุ่นมาตลอดและไม่สามารถลงตัวกับพรรคร่วมได้อย่างราบรื่นนั้น และส่งผลทำให้เกิดปัญหาคุกรุ่นไม่พอใจและปริแยกภายในพรรคพลังประชารัฐ ในกรณีโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีที่ต้องเสียกระทรวงสำคัญไปให้กับพรรคร่วมหลายกระทรวง จนพรรคพลังประชารัฐเหลือกระทรวงสำคัญดูแลไม่กี่กระทรวง และเสียการดูแลกระทรวงเศรษฐกิจทั้งระบบไป ก็เพราะความผิดพลาดของทหารในพรรคที่ไปรีบร้อนดีลกับพรรคร่วมโดยไม่หารือกับแกนนำพรรคหรือกลุ่มต่างๆในพรรคให้ดีเสียก่อน

นอกจากนี้ อีกประการหนึ่ง ขณะนี้ต่างชาติก็มองว่ารัฐบาลใหม่ของไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่เป็น “รัฐบาลทหารแปลงร่าง” ซึ่งตรงนี้จะทำให้ต่างชาติใช้ประเด็นนี้เป็นเงื่อนไขกดดันประเทศไทยต่อไป หรือเรียกร้องเอาผลประโยชน์จากประเทศไทย ซึ่งจะทำให้รัฐบาลใหม่ทำงานด้วยความยากลำบาก

ผมเห็นว่า นาทีนี้ เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว ก็ควรเป็นเวลาของประชาธิปไตย ควรหมดเวลาของ คสช. และทหาร ไม่ควรที่ทหารจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองอีก ทั้งโดยเปิดเผยหรือโดยลับหลัง ยิ่งโดยเฉพาะในพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลที่ พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเป็นนายกฯโดยการเสนอชื่อของพรรค  ไม่ควรที่ทหารจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพรรค เพื่อทำให้ภาพของพรรค ของนายกฯ และของรัฐบาล สลัดพ้นจากภาพของทหารและ คสช.  เพราะเวลานี้เป็นเวลาที่ไทยจะต้องแสดงให้โลกเห็นว่า ไทยเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มตัวแล้ว เพื่อที่ไทยจะได้ยืนอยู่ในเวทีโลกอย่างมีสง่าราศี และมีอำนาจที่จะพูดจาเต็มปากเต็มคำกับต่างชาติ ไม่ถูกกดดันหรือตกเป็นเบี้ยล่างดังเช่น 5 ปีที่ผ่านมาในยุคของ คสช.

สำหรับในแง่ส่วนตัวของ พล.ต.นิมิตต์ ผมเห็นว่า การเป็นทหารอาชีพย่อมดีกว่าเข้าไปเล่นการเมือง เพราะอนาคตทางทหารของ พล.ต.นิมิตต์ นั้นน่าจะไปได้อีกไกลและสดใส ส่วนการเมืองไม่มีอะไรแน่นอน มีขึ้นมีลง หากลาออกจากราชการไปเล่นการเมืองแล้ว วันหน้า พล.อ.ประยุทธ์ วางมือการเมือง พล.ต.นิมิตต์ คิดจะกลับเข้ารับราชการต่อ ก็แทบหมดโอกาสเจริญก้าวหน้าในราชการ เพราะเพื่อนร่วมรุ่นไปไกลแล้ว ขณะที่รุ่นน้องก็ไล่หลังขึ้นมาเบียดเส้นทางเติบโตของ พล.ต.นิมิตต์

วิเคราะห์การเมือง : กรณี “เสธ.นิมิตติ์” กับกรณีบทบาทของทหารในพรรคพลังประชารัฐ

โดย : พูลเดช กรรณิการ์ นักวิชาการอิสระด้านการเมือง

ขอบคุณภาพจากมติชน

People Unity : post 28 มิถุนายน 2562 เวลา 12.00 น.

Verified by ExactMetrics