วันที่ 25 พฤศจิกายน 2024

ครม.เห็นชอบร่างเอกสาร รมต.อาเซียนด้านพลังงาน

People Unity News : 23 สิงหาคม 2566 ทำเนียบ – ครม.เห็นชอบต่อร่างเอกสารสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน สร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายไฟฟ้า-ท่อก๊าซ เป็นกลางคาร์บอน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างเอกสารสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 41 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 22-25 สิงหาคม 2566 ณ เมืองบาหลี อินโดนีเซีย ประกอบด้วย ถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid: APG) การเชื่อมโยงโครงข่ายท่อก๊าซอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline: TAGP) และโครงสร้างพื้นฐานด้านก๊าซธรรมชาติเหลว รวมถึงข้อริเริ่มด้านยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอนของอาเซียน เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาค

ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน การสร้างเสถียรภาพของโครงข่ายไฟฟ้าและห่วงโซ่อุปทานพลังงาน ร่างถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 20 ด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน โดยใช้เทคโนโลยีพลังงานของแต่ละประเทศและภูมิภาค การใช้ประโยชน์จากทางเลือกนวัตกรรมและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน และลดการปล่อยคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมและภาคการขนส่ง

ร่างถ้อยแถลงร่วมของโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป. ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ฉบับที่ 4 : มีสาระสำคัญ คือ ต่อยอดความสำเร็จในการเริ่มต้นโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป. ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งได้ริเริ่มการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนแบบพหุภาคีจาก สปป. ลาว ไปยังสิงคโปร์ ผ่านไทยและมาเลเซีย รวมถึงหารือถึงศักยภาพและแผนของโครงการฯ ในอนาคต และมุ่งมั่นพัฒนาการซื้อขายไฟฟ้าข้ามพรมแดนแบบพหุภาคีในอาเซียน

การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 41 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน จัดประชุมเพื่อหารือกรอบความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งการประชุมหารือกับประเทศคู่เจรจา และองค์กรระหว่างประเทศด้านพลังงาน ผลักดันความร่วมมือเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายของแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานของอาเซียน ระยะที่ 2 พ.ศ. 2564-2568 (ค.ศ. 2021-2025) มีเป้าหมายเปลี่ยนผ่านพลังงานของอาเซียนไปสู่พลังงานที่ยั่งยืนในอนาคต

Advertisement

“เศรษฐา ทวีสิน” แถลง จะนำความสามัคคีกลับคืนสู่คนในชาติ นำพาประเทศไทยไปข้างหน้า สร้างอนาคตที่ดีกว่าให้ลูกหลาน

People Unity News : 23 สิงหาคม 2566 เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 23 ส.ค.2566 ที่พรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน เข้าพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วมพิธีฯ โดยเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อัญเชิญพระบรมราชโองการมาถึงและได้อ่านพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี

จากนั้น นายเศรษฐา ได้ถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ ก่อนแถลงความว่า

เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้กระผมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นศุภสิริมงคล แก่ชีวิตและขวัญกำลังใจอันสูงสุด แก่กระผมและครอบครัว อย่างหาที่สุดมิได้

กระผมมีความปลื้มปิติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น และขอเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ทั้งจักมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และความวัฒนาสถาพรของประเทศชาติ สนองพระราชปณิธานตามพระปฐมบรมราชโองการ และตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทุกประการ

ในวาระที่ผมได้เข้ามาดำรงตำแหน่งในวันนี้ ผมขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่ทำหน้าที่ที่ผ่านมา ขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวไทย ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานทุกภาคส่วน ขอขอบคุณพรรคร่วมรัฐบาลที่สนับสนุน ตลอดจนภาคประชาสังคม เอกชน สำหรับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้ผมได้มีโอกาสในการบริหารราชการแผ่นดิน

พี่น้องประชาชนคนไทยที่เคารพ ผมขอยืนยันว่าผมจะทุ่มเททำงานตามมาตรฐานจริยธรรมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ผมมั่นใจว่า 4 ปีต่อจากนี้ จะเป็น 4 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง

ประเทศไทยวันนี้อยู่ท่ามกลางจุดเปลี่ยนสำคัญ เรามีวิกฤตและปัญหาที่ต้องการทางออกอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ รายได้ รายจ่าย ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ความมั่นคง สังคม การต่างประเทศ สิ่งแวดล้อม กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การทุจริตประพฤติมิชอบ และอื่นๆอีกมากมายที่ล้วนก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม ความยากลำบาก

ผมมีความประสงค์ที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ได้เตรียมไว้เพื่อแก้ไขวิกฤต บรรเทาปัญหา สร้างการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาค ไปจนถึงในภาคของครัวเรือน ขับเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้า บริหารงบประมาณภาครัฐอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ สร้างความร่วมมือเชิงบวกกับภาคเอกชน ภาคการต่างประเทศ ทำให้ทั้งภาคประชาชนและราชการเติบโตไปพร้อมๆกัน

ผมมีความตั้งใจที่จะประสานประชาชนคนไทยทุกภาคส่วน สร้างสังคมที่เคารพอัตลักษณ์ เคารพความแตกต่างทางความคิด และเคารพกฎกติกาในกรอบระเบียบและกฎหมาย สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงและตรงไปตรงมา

ในฐานะของตัวแทนรัฐบาล ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน ร่วมกันเป็นพลังที่จะคอยผลักดัน ร่วมแรงร่วมใจกับรัฐบาลเพื่อนำพาประเทศไทยของเราไปข้างหน้า

พี่น้องประชาชนที่เคารพ ผมขอให้คำมั่นว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย จะทำงานอย่างหนักเพื่อบำบัดความทุกข์ สร้างความสุข นำพาความเจริญให้กับประชาชนคนไทยและคนทุกกลุ่ม อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งความหวังของคนรุ่นใหม่ เป็นดินแดนแห่งความสุขของคนทุกวัย เป็นประเทศที่มีเกียรติและศักดิ์ศรีในเวทีนานาชาติอีกครั้งหนึ่ง

ผม นายเศรษฐา ทวีสิน จะขอทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีที่ไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย เป็นรัฐบาลที่จะทุ่มเท ทำงานหนัก รับฟังเสียงของประชาชน นำความสามัคคีกลับคืนสู่คนในชาติ นำพาประเทศไทยไปข้างหน้า และสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับลูกหลานของพวกเราทุกคน นับจากวันนี้เป็นต้นไป

Advertisement

“ทักษิณ” ถึงไทย ก้มกราบพระบรมฉายาลักษณ์

People Unity News : 22 สิงหาคม 2566 ดอนเมือง-“ทักษิณ” อดีตนายกฯ ถึงไทยแล้ว ก้มกราบพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมทักทายนักการเมืองและมวลชนที่มารอรับ

บรรยากาศที่อาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคล MJET ภายหลังจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินเข้ามาปรากฏตัว หลังเดินทางถึงประเทศไทยเวลา 09.00 น. ตามเวลา พร้อมกับ บุตรชายและบุตรสาว นายพานทองแท้ ชินวัตร นางสาวพินทองธา ชินวัตร คุณากรวงศ์ นางสาว แพทองธาร ชินวัตร รวมถึงหลานๆ

โดยนายทักษิณ ได้โค้งคำนับพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี พร้อมเปิดกรวย ถวายสักการะ จากนั้นเดินไปทักทายแกนนำพรรคเพื่อไทย นักการเมืองสมัยพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน รวมถึงนักการเมืองคนอื่นที่มารอต้อนรับ ก่อนที่จะเดินกลับมายืนบริเวณหน้าประตูเพื่อให้สื่อมวลชนได้เก็บภาพ รวมเวลาประมาณ 5 นาที

ขณะที่บรรดาคนเสื้อแดงที่มารอให้กำลังใจ ต่างส่งเสียงโห่ร้อง ปรบมือด้วยความดีใจ “บางส่วนตะโกนเรารัก “ทักษิณ” “ทักษิณสู้ๆ” บางคนถึงกับปาดน้ำตาด้วยดีใจ และบอกว่าแม้ไม่ได้เห็นแต่ก็ดีใจที่นายทักษิณ ได้กลับประเทศไทย

Advertisement

“พล.อ.ประวิตร” ประชุมสั่งการเตรียมรับมือผลกระทบจาก “เอลนีโญ”

People Unity News : 16 สิงหาคม 2566 ทำเนียบรัฐบาล-“พล.อ.ประวิตร” ประชุม กอนช. สั่งเตรียมรับมือผลกระทบจากสภาวะ “เอลนีโญ” เพิ่มมาตรการลดเสี่ยงพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค พร้อมรณรงค์ทุกภาคส่วน ใช้น้ำประหยัดคุ้มค่า

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ครั้งที่ 2/2566 ณ ห้องประชุม มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยที่ประชุมรับทราบสถานการณ์จากอิทธิพลของปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาเป็นอย่างมาก สืบเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยในหลายพื้นที่ และแหล่งน้ำมีปริมาณน้ำจำกัดโดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค แม้ว่าปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการตาม “12 มาตรการรับมือฤดูฝน” อย่างต่อเนื่องและเต็มที่ จึงยังคงต้องเฝ้าระวังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบและก่อให้เกิดปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงได้ และขณะเดียวกันปรากฏการณ์เอ็นโซ่ (ENSO) อยู่ในสภาวะเอลนีโญ และจะมีแนวโน้มที่มีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.66  ทำให้ประเทศไทยช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.66 จะมีปริมาณฝนต่ำกว่าปกติ

จากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเห็นชอบร่างมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 เพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์ ”เอลนีโญ” ซึ่งประกอบด้วย 3 มาตรการที่สำคัญ ได้แก่มาตรการที่ 1)การจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เกี่ยวกับการวางแผนการระบายน้ำ มาตรการที่ 2) ให้ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง (ตลอดช่วงฤดูฝน) และให้มีการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร และมาตรการที่ 3) ให้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ (ตลอดช่วงฤดูฝน) ได้แก่การใช้น้ำภาคการเกษตร เช่น การปลูกพืชใช้น้ำน้อย  การปรับปรุงระบบการให้น้ำพืช และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น รวมถึงการประหยัดน้ำของทุกภาคส่วน ส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมใช้ระบบ 3R เพื่อลดการใช้น้ำจากแหล่งต่างๆ และการลดการสูญเสียน้ำในระบบประปา และระบบชลประทาน ด้วย

พล.อ.ประวิตร กำชับ สทนช.และหน่วยงานต่าง ๆ เร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจให้ประชาชน รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง ทันเวลา เพื่อเตรียมความพร้อมและจัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค อย่างเพียงพอของประชาชนเป็นอันดับแรก น้ำที่เหลือจึงใช้เพื่อการอื่นๆ รวมถึงพื้นที่ EEC ที่มีความสำคัญด้วยต่อไป พร้อมรณรงค์ขอให้ประชาชน เกษตรกรและทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด และคุ้มค่าในโอกาสนี้ด้วย

Advertisement

ขยายเวลาแรงงานต่างด้าวทำงานถึง 30 ก.ย.

People Unity News : 8 สิงหาคม 2566 นายกฯ เผย ครม.ตามความคืบหน้างานด้านต่างๆ พร้อมเห็นชอบขยายเวลาแรงงานต่างด้าวทำงานต่อถึง 30 ก.ย. ป้องกันผู้ประกอบการขาดแรงงาน บอกเรื่องดีๆ มีอีกมาก ขอให้ ปชช.เข้าใจ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า  ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีมี 5 กลุ่มงานนำเสนอผลงานตัวเอง ซึ่งมีความก้าวหน้า ทั้งในส่วนของกองทุนหมู่บ้าน ด้านเอไอ ด้านสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าที่ได้นำนโยบายของรัฐบาลไปดำเนินการและประสบผลสำเร็จนระยะหนึ่งแล้ว ขณะเดียวกันขอชื่นชมเด็กและเยาวชนของไทยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันประกวดร้องเพลง นอกจากนั้นยังมีซอฟพาวเวอร์ของไทย ทั้งการผลิตแปรรูปสินค้า เสื้อผ้าทั้งกระเป๋าเสื้อผ้าเหล่านี้ ล้วนเป็นซอปพาวเวอร์ที่ไทยได้ส่งต่อ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมครม.ติดตามความคืบหน้าการจัดสรรที่ดินของ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ(คทช.) ซึ่งผมย้ำให้ดูแลที่ทำกินของประชาชนภายใต้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการให้เช่าที่ดินทำกิน ซึ่งสามารถส่งต่อให้ลูกหลานได้ ทุกอย่างต้องยึดหลักการ ถ้าไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหาในอนาคต เรื่องดี ๆ ในประเทศมีอีกมากมาย  ขอให้ประชาชนเข้าใจ ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายมาตรการแรงงานต่างด้าวให้อยู่ในราชอาณาจักรได้ถึง 30 กันยายน จากเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ เพื่อให้แรงงานต่างด้าวทำงานได้ต่อ ไม่เช่นนั้นกลุ่มผู้ประกอบการจะขาดแคลนแรงงาน

ส่วนความคืบหน้าเหมืองทองอัครา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้จบไปนานแล้ว ซึ่งเรื่องที่จบไปแล้วไม่อยากให้นำขึ้นมาใหม่ โดยทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตทองคำอย่างครบวงจร และมีคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ทุกอย่างเป็นไปตามอนุญาโตตุลาการ ขอให้ทุกคนเข้าใจด้วย

Advertisement

“วราวุธ” ยัวะ เตือนผู้ประกอบการทิ้งคราบน้ำมันลงทะเล กระทบท่องเที่ยว

People Unity News : 6 สิงหาคม 2566 “วราวุธ” เดือด! ปม ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทางทะเลทิ้งคราบน้ำมันบริเวณอุทยานฯ สิรินาถ เตือนให้มีสำนึกรับผิดชอบ อย่าทุบหม้อข้าวตัวเอง ขู่ อย่าให้ถึงขั้นต้องปิดเพื่อฟื้นฟู

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ตนได้รับรายงานจาก นายสรศักดิ์ รณนันทน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ อุทยานแห่งชาติสิรินาถ สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช ถึงผลการปฏิบัติงานการจัดเก็บคราบน้ำมัน บริเวณหน้าหาดในพื้นที่อุทยานฯ ตามที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปีหาดท้ายเหมือง เจ้าหน้าทหารเรือกองทัพเรือภาค 3 เจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจิตอาสา ร่วมกันดำเนินการ จัดเก็บและทำความสะอาด บริเวณหน้าหาดดังกล่าว ได้ดำเนินการจัดเก็บ คราบน้ำมันสีดำ บริเวณหน้าหาด ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ซึ่งประกอบไปด้วย หาดไม้ขาว ระยะทางประมาณ 5.42 กม. หาดในยาง ระยะทางประมาณ 3.66 กม. หาดในทอนระยะทางประมาณ 1 กม. หาดลายัน ระยะทางประมาณ 1 กม. ซึ่งทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการจัดเก็บคราบน้ำมันสีดำตั้งแต่วันที่ 4-5 ส.ค.ที่ผ่านมา และดำเนินการจนกว่าจะแล้วเสร็จ

นายวราวุธ กล่าวว่า จากที่ได้รับรายงาน ได้รับผลกระทบในหลายพื้นที่ ทั้งภูเก็ต และเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งแน่นอนว่าบางส่วนไม่ได้อยู่ในพื้นที่อุทยานฯ แต่ก็ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศไทย

“ผมขอเตือนผู้ประกอบการทุกคนที่ทำกิจกรรม เกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งบนบกและในทะเล ขอให้ประกอบการอย่างมีความรับผิดชอบกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลที่เรามีความสวยงามอยู่อย่างจำกัด อย่าให้ถึงกับขั้นที่ว่าเราต้องมาปิดแหล่งท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟู เพราะความมักง่ายของผู้ประกอบการบางรายจนทำให้เกิดความเสียหายในระยะยาวอย่างที่เราเคยต้องทำมาแล้วในอ่าวมาหยา จ.กระบี่ ที่ต้องปิด 3-4 ปี ซึ่งก็ได้รับผลกระทบกันหมด นั่นก็มาจากความมักง่ายของผู้ประกอบการบางคนที่ขาดจิตสำนึก” นายวราวุธ กล่าว

นายวราวุธ กล่าวว่า วันนี้การท่องเที่ยวไทยกำลังฟื้นตัวขึ้นมา นักท่องเที่ยวกำลังมาประเทศไทยกันอย่างมหาศาล ขอเตือนผู้ประกอบการการท่องเที่ยวทุกคน ทุกๆบริษัท ให้กำชับพนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้บังคับเรือ ให้ทำงานอย่างมีจิตสำนึกถึงความสวยงาม และความรับผิดชอบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เช่นนั้นเมื่อเกิดความเสียหาย ย่อมเกิดกับผู้ประกอบการเอง ที่วันนี้เหมือนกำลังทุบหม้อข้าวตัวเองอยู่ คุณมีเพชรเม็ดงามอยู่ในมือแทนที่จะช่วยกันรักษา กลับทิ้งคราบน้ำมันลงในอ่าวลงในทะเลอย่างนี้ทำให้เมื่อนักท่องเที่ยวไปแล้วมีคราบน้ำมันติดตัวมา ถามว่าแล้วอย่างนี้เป็นการส่งเสริมท่องเที่ยวประเทศไทยอย่างไร

นายวราวุธ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตนรู้สึกไม่พอใจมาก ขออย่าให้ได้เจอ ตนจะสั่งจับ สั่งแบนให้หมด เพราะผู้ประกอบการ ด้านการท่องเที่ยวอย่างนี้ไม่ควรมีอยู่ในประเทศไทย จึงขอฝากทุกๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมเจ้าท่า กรมการท่องเที่ยว และทุกหน่วยงานที่อยู่นอกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้มงวดกับผู้ประกอบการเหล่านี้ก่อนที่จะสายเกินไป

นายวราวุธ กล่าวว่า เมื่อครั้งที่เราประสบวิกฤติ โควิด-19 เป็นช่วงที่ทำให้แหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยได้มีโอกาสพัก และฟื้นฟู แต่วันนี้กลับมีบางคนที่กำลังมักง่าย ทำให้สิ่งต่างๆ ที่เรารักษากันมาตลอด พังลงไปอีกครั้ง ดังนั้นขอเตือนด้วยความหวังดีและเป็นห่วงว่าอย่าให้เห็นสภาพแบบนี้เกิดขึ้นอีกเลยในประเทศไทย

นายวราวุธ กล่าวว่า ตนได้ให้กรมอุทยานฯ กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งตรวจสอบดีเอ็นเอของน้ำมันก่อนว่ามาจากไหน จากเรือ หรืออุตสาหกรรมอะไร เราจะต้องสืบหาต้นตอให้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่อยู่นอกพื้นที่เขตอุทยานฯ ต้องขอฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยดูคุณภาพผู้ประกอบการที่ประกอบการท่องเที่ยวเหล่านี้ เพราะ ทส. เรามีอำนาจปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายจำกัดอยู่ในระดับหนึ่ง หาก ทส. มีอำนาจครอบคลุมในการปฏิบัติหน้าที่คงจับหมดแล้ว และไม่ให้ประกอบกิจการได้อีกสำหรับคนมักง่ายเช่นนี้

Advertisement

“ประยุทธ์” ห่วงผู้ประสบภัยเหนือ-อีสาน ย้ำช่วยเต็มที่แม้เป็นรัฐบาลรักษาการ

People Unity News : 5 สิงหาคม 2566 นายกฯ ห่วงใยผู้ประสบภัยเหนือ-อีสาน ย้ำรัฐบาลให้ความช่วยเหลือเต็มที่ แม้เป็นรัฐบาลรักษาการก็ทำเต็มที่

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการและกำชับให้หน่วยงานต่างๆ บูรณาการความร่วมมือเข้าช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทุกจุดได้มีทหารและส่วนราชการในพื้นที่เข้าดูแล และรายงานสถานการณ์ให้นายกฯ ทราบทุกระยะ ขณะที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ รายงานคาดว่า พื้นที่ประสบอุทกภัยใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ตาก อำนาจเจริญ นครพนม และอุดรธานี สถานการณ์น้ำจะคลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้

สำหรับพื้นที่ จ.นครพนม ในช่วงที่ผ่านมามีปริมาณน้ำฝนสะสมในพื้นที่เป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมขังในที่ลุ่ม และน้ำล้นตลิ่งตามลำห้วยสาขาต่างๆ ที่ไหลระบายลงแม่น้ำโขงไม่ทัน ถนนหลายสายถูกน้ำท่วมขังและชำรุดเสียหาย อีกทั้งมีพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง กินพื้นที่หลายพันไร่ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ได้บูรณาการความร่วมมือเข้าช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและสัตว์เลี้ยงในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และเมื่อน้ำลด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งเข้าสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือฟื้นฟูต่อไป

น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า สถานการณ์น้ำ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเผชิญน้ำป่าไหลหลากและดินสไลด์ ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 1,000 คนนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้การช่วยเหลือเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และเปิดเส้นทางการจราจรแล้ว

“นายกรัฐมนตรี ห่วงใยผู้ประสบภัยทุกคนในทุกพื้นที่ แม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการ ก็จะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด โดยให้ความมั่นใจว่า การช่วยเหลือจากภาครัฐ การปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา จะได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับสู่การดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว” น.ส.รัชดา กล่าว

Advertisement

จิตแพทย์ชี้โรคเลื่อนทางการเมืองทำสังคมว้าวุ่นใจ

People Unity News : 4 สิงหาคม 2566 “หมอยงยุทธ” ชี้ปมโรคเลื่อนทางการเมืองในการเลือกนายกฯ ทำให้คนในสังคมว้าวุ่นใจ แนะเลือกเสพโซเชียล เพื่อรักษาสภาพจิตใจ และความเป็นกลาง ลงถนนแสดงออกทางการเมืองเป็นสิทธิ หลัก 2 ไม่ 1 เตือน ยังใช้ได้ดี

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองที่มีการทอดระยะเวลาออกไป ทั้งการเลื่อนโหวตนายกรัฐมตรี และศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการพิจารณากรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี รอบ 2 ว่า การทอดเวลา หรือทิ้งเวลาออกไปในการตัดสินเรื่องการเมือง ยิ่งสร้างความว้าวุ่นใจให้กับบรรดาคนที่สนใจการเมือง ดังนั้น ทางแก้ที่ดีในการลดความว้าวุ่นใจ คือ การลดการติดตามรับรู้ทางการเมือง เพื่อลดความเกลียดชังไม่ให้มีมากขึ้น และควรบริโภคหรือรับรู้สื่อที่เป็นกลางๆ ไม่ฟังทั้งเสียงเชียร์หรือเสียงของคนเกลียดชัง อย่าไปสนใจความเห็นในโลกโซเชียล เพราะจะยิ่งสร้างความว้าวุ่นใจ เพื่อรักษาความเป็นกลางของจิตใจเอาไว้ และอย่าไปรับรู้เรื่องทางการเมืองมากจนเสียการเสียงาน อยากให้ทุกคนเข้าใจว่า เรื่องการเมืองเป็นของการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย มีการยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ เป็นเรื่องธรรมดา ฉะนั้น การรักษาความเป็นกลางในจิตใจสำคัญมาก

นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่คนไม่พอใจแล้วลงถนน เป็นเรื่องของสิทธิการแสดงออกส่วนบุคคล ที่จะแสดงเจตจำนงทางการเมือง การชุมนุมสามารถทำได้ แต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรง และต้องเปิดกว้าง ใช้เหตุใช้ผลกัน

ส่วนที่นักสื่อสารมวลชนอย่าง ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ออกมาระบุพัฒนาการของภาษาที่ใช้ในการทางเมืองว่า ในปัจจุบันไม่สร้างสรรค์ และรุนแรง โดย นพ.ยงยุทธ ระบุว่า สามารถแก้ไขได้ด้วย 2 ไม่ 1 เตือน คือ ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข้อความรุนแรง และเตือนกันหากในกลุ่มเพื่อนมีการใช้ความรุนแรง

Advertisement

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งต่อศาล รธน.ตีความปมมติรัฐสภา 19 ก.ค.

People Unity News : 28 กรกฎาคม 2566 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความ การตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างเที่ยงธรรมและเป็นกลางของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา

พ.ต.ท. กีรป (กี-รป) กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกรัฐสภาและประชาชนยื่นเรื่องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 213 ว่ามติของรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน นอกจากนี้ในคำร้องเรียนได้มีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดมาตรการชั่วคราว โดยขอให้มีคำสั่งชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีการวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งนอกจากบทบาท หน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 มาตรา 22 แล้วนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 วินิจฉัยว่าคำร้องดังกล่าว เข้าองค์ประกอบ เงื่อนไข และหลักเกณฑ์ ในการเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเพื่อให้เป็นที่ยุติ และที่สำคัญในคำร้องเรียนผู้ร้องเรียนได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งชะลอการให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่สามารถใช้ดุลยพินิจพิจารณามาตรการหรือวิธีการใดๆ เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยได้โดยเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุอันมีน้ำหนักรับฟังได้ มีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอและเป็นคำขอที่อยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 71 จึงเห็นพ้องกับคำร้องเรียนที่จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณามีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับการเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญมีข้อวินิจฉัยในเรื่องนี้ออกมา ซึ่งก็เป็นดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่อไป

Advertisement

ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2

People Unity News : 25 กรกฎาคม 2566 ครม. พร้อมผลักดันแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชนสากล

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี รับทราบแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 – 2570) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ แผนปฏิบัติการฉบับนี้ จัดทำขึ้นตามแนวทางตามคู่มือว่าด้วยแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ การคุ้มครอง การเคารพ และการเยียวยา รวมทั้งเป็นหนึ่งในข้อเสนอแนะสำคัญที่ประเทศไทยรับมาปฏิบัติตามกระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 3 เมื่อปี 2564 ซึ่งเป็นรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน

สำหรับสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 – 2570) ประกอบด้วย 4 แผน ได้แก่ แผนปฏิบัติการด้านแรงงาน แผนปฏิบัติการด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม//แผนปฏิบัติการด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และแผนปฏิบัติการด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ กลไกการกำกับดูแลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฉบับนี้ จะดำเนินการผ่านคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน //กระทรวงยุติธรรม จะเป็นผู้รวบรวมและจัดทำรายงานประเมินผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ 2 ระยะ คือ ระยะครึ่งรอบ (ระหว่าง พ.ศ.2566 – 2568) และระยะเต็มรอบ (ระหว่าง พ.ศ.2566 -2570) เสนอต่อคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย และนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและเผยแพร่ต่อไป

Advertisement

Verified by ExactMetrics