วันที่ 23 พฤศจิกายน 2024

“เศรษฐา” ตอบกระทู้ในสภาฯ เผยเตรียมกวาดล้างยาเสพติดครั้งใหญ่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 11 กรกฎาคม 2567 นายกฯ ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหายาเสพติด เตรียมกวาดล้างยาเสพติดครั้งใหญ่ ยืนยันรัฐบาลดูแลทุกมิติ

วันนี้ (11 กรกฎาคม 2567) เวลา 11.40 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 2 ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจากรณีเรื่องยาเสพติด ว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่า ถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ มีการนำอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เข้ามา แต่หากประชาชนยังถูกมัวเมาด้วยยาเสพติดก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการลงพื้นที่หลายครั้งจะต้องเกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วย นอกจากปัญหาปากท้อง ปัญหายาเสพติดก็มีมาก ปัจจุบันนี้ก็ยังมีคนบ่นเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติดอยู่ทั้งหมด

นายกฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา  ได้ไปตรวจเยี่ยมกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ทุกคนอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้เล็งเห็นปัญหาของการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยตำรวจตระเวนชายแดนเป็นผู้รักษาตระเข็บชายแดน เป็นผู้ที่ดูแลชายแดนควบคู่ไปกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อไม่ให้มีการลักลอบยาเสพติดเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งตนได้สอบถามว่าทำไมเวลามีการต่อสู้กันแล้วเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ ไม่มีการเสนอข่าว ซึ่งตนหวังให้มีการเสนอข่าว พร้อมถามถึงเรื่องการบาดเจ็บของเจ้าหน้าที่จะได้รับขวัญกำลังใจเท่าไร โดยทางกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน แจ้งว่าได้รับจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นจำนวน 10,000 บาท และได้ขอร้องไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ต้องให้จำนวนเงิน 50,000 บาท เนื่องจากปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ และจะมีการกวาดล้างครั้งใหญ่ ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่รัฐบาลดูแลในทุกๆ มิติ โดยการลงพื้นที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้หารือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่หน้างานจริงๆ ซึ่งมีความสำคัญมาก

นายกฯ กล่าวอีกว่าเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ กอ.รมน. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สภาผู้แทนราษฎรในที่นี้ไม่ค่อยเห็นด้วย อยากให้มีการยุบ แต่ตนเชื่อว่ายังมีบทบาทในการช่วยเหลือประเทศได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นมิติในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงน้ำท่วม เรื่องการกันพื้นที่ของเขตทหารให้ประชาชนมีที่ดินทำกิน การดูแลชายแดนซึ่งส่วนนี้มีการทำงานร่วมกันกับ ฝ่ายปกครอง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะขจัดปัญหายาเสพติดนี้ออกไป

Advertisement

รัฐบาลดึงเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ให้ความช่วยเหลือกลับสู่สถานศึกษาภาค 1 ปีการศึกษา 67

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 กรกฎาคม 2567 อนาคตของชาติ อยู่ในมือทุกคน คุณสามารถช่วยป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้!! จนถึง 1 ส.ค. 67 เปิดให้สถานศึกษาบันทึกข้อมูลกลุ่มที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบและยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเข้าสู่ระบบ ตามมาตรการ Thailand Zero Dropout

วันนี้ (9 กรกฎาคม 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญ และได้สั่งการสั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) เพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ปีการศึกษา 2566 มีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3 – 18 ปีกว่า 1,025,514 คน ที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 23-26 กรกฎาคม 2567 นี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จะได้ทยอยจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มต่อเนื่องใน 6 สังกัดทั่วประเทศ จำนวนกว่า 8 แสนคน ซึ่งนับเป็นหนึ่งมาตรการสำคัญของรัฐบาลในการป้องกันการหลุดจากระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนจากครัวเรือนยากจนระดับรุนแรง โดยในปีนี้ เป็นปีแรกของการจัดสรรอัตราใหม่ตามที่ กสศ. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษาตอนต้นจากอัตรา 3,000 บาท เป็น 4,200 บาท/คน/ปี และระดับชั้นอนุบาลคงเดิม อัตราจำนวน 4,000 บาท/คน/ปี  ซึ่งเงินอุดหนุนที่เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนค่าอาหารเช้าให้แก่กลุ่มนักเรียนทุนเสมอภาคเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนยากจน

สำหรับเด็กและเยาวชนกลุ่มที่มีความยากจนเสี่ยงหลุดจากระบบและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ระหว่างวันที่  8 ก.ค.- 1 ส.ค.  2567 นี้ กสศ.  ได้เปิดระบบทุนเสมอภาคให้สถานศึกษาบันทึกข้อมูลนักเรียนกลุ่มนี้เข้ามา (นร./กสศ.01) ผ่านระบบ cct.eef.or.th เพื่อคัดกรองความยากจนและให้ได้รับการช่วยเหลือ ในปีการศึกษา 2567 ภาคเรียนที่ 1 นี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษกลุ่มใหม่ได้รับความช่วยเหลืออีกราว 5 แสนคน  ทำให้ในปีการศึกษา 2567 กสศ.จะสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงของนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษารวมกลุ่มต่อเนื่อง ราว 1.3 ล้านคน

ทั้งนี้ หากประชาชนท่านใดพบนักเรียนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบ และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ สามารถแจ้งกับโรงเรียนที่นักเรียนกำลังศึกษาอยู่ หรือ โรงเรียนใกล้เคียงจุดที่พบ ใน 6 สังกัดดังนี้  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ( พศ.)  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และกรุงเทพมหานคร เพื่อบันทึกข้อมูลเข้าในระบบเพื่อให้ได้รับช่วยเหลือจากทุนเสมอภาค ของ กสศ. ทั้งนี้ สามารถติดตามและสอบสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก กสศ. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยที่ผ่านมา กสศ. ให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งสิ้น 1,200,161 คน และพบว่าทุนเสมอภาค ส่งผลให้นักเรียนทุนร้อยละ 95.95 ยังคงอยู่ในระบบการศึกษา

“นายกฯ ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา สั่งการให้ทุกหน่วยงานเดินหน้ามาตรการ Thailand Zero Dropout ต้องไม่มีเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา พร้อมย้ำว่าเด็กและเยาวชนคือผู้กำหนดอนาคตของประเทศชาติ ทุกคนจะต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องได้รับการส่งเสริมการเรียนรู้ ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถนั้นให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และประเทศชาติ” นางรัดเกล้า กล่าว

Advertisement

นายกฯเผยแต่งตั้ง “บิ๊กต่อ” เป็น ผบ.ตร. มติเอกฉันท์ ตนมีหน้าที่เสนอชื่อ ไม่ได้ออกเสียงโหวต

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 กรกฎาคม 2567 นายกรัฐมนตรี มั่นใจการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ทำถูกต้องตาม พ.ร.บ.ตำรวจ-รับฟังความเห็นทุกคน เชื่อ “บิ๊กต่อ” มีผลงาน มีความรู้ความสามารถ

วันนี้ (4 กรกฎาคม 2567) เวลา 13.15 น.  ณ อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินหน้าร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  เอาผิดนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 157 กรณีแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่า รับทราบ แต่หากจะให้ย้อนความไปในวันแต่งตั้ง ได้รับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางของทุกคน รวมถึงอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติด้วย พร้อมยืนยันว่า ทำตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติทุกประการ มีทั้งเรื่องอาวุโส ความรู้ความสามารถเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย รวมถึงเรื่องของการสอบสวน พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็มีความสามารถในเรื่องนี้ ดูจากชีวิตการทำงานที่ผ่านมาได้รับการเลื่อนตำแหน่งต่าง ๆ เป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ หน้าที่ของตนเองคือเสนอและวันนั้นก็เป็นเอกฉันท์ ในส่วนของตนเองไม่ได้ออกเสียงโหวต แต่เมื่อยื่น ป.ป.ช. ไปแล้วก็ต้องชี้แจง

ผู้สื่อข่าวมีความกังวลเรื่องการฟ้องร้องหรือไม่ นายกฯ ระบุว่า มั่นใจทำถูกต้องทุกอย่างด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ได้โน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง เพราะตนเองไม่ได้รู้จักกับทั้ง 4 ท่านเป็นการส่วนตัว

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า จะมอบหมายให้ใครดูแลเป็นพิเศษ หรือจะให้นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี  ดูเรื่องนี้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ ต้องขอไปดูก่อนเพราะเพิ่งยื่นมาเมื่อวานนี้ และยังมีเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้ยื่นเรื่องเพิ่มเติมไปแล้ว ตอนนี้ต้องโฟกัสเรื่องการบริหารจัดการประเทศ และปัญหาของประชาชน

Advertisment

นายกฯมั่นใจความจริงใจ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่โน้มเอียง และปฏิบัติตามหลักกฎหมาย ปมตั้ง “พิชิต ชื่นบาน”

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 4 กรกฎาคม 2567 นายกฯ เผย ส่งหลักฐานเพิ่มเติมให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ปม 40 สว. ร้องตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” มั่นใจความจริงใจ ความซื่อสัตย์สุจริต การไม่โน้มเอียง และการปฏิบัติตามหลักของกฎหมาย

วันนี้ (4 กรกฎาคม 2567) เวลา 13.15 น.  ณ อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเที่ยงวานนี้ ได้ส่งหลักฐานเพิ่มเติมไปยังศาลรัฐธรรมนูญครบถ้วนแล้ว กรณี 40 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ร้องนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน  เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญให้ยื่นหลักฐานเพิ่มเติมภายใน 15 วัน

ผู้สื่อข่าวถามว่ามั่นใจใช่หรือไม่ ทั้งเรื่องขั้นตอนความจริงใจ นายกฯ กล่าวว่าตนมั่นใจในความจริงใจ ความซื่อสัตย์สุจริต การไม่โน้มเอียง และการปฏิบัติตามหลักของกฎหมาย

Advertisment

นายกฯขีดเส้นทุกหน่วยงาน วัดผลป้องกัน-ปราบปรามยาเสพติด เป็นรูปธรรมภายใน 1 ก.ย.นี้

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 กรกฎาคม 2567 นายกฯ เป็นประธานประชุมหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. (วาระพิเศษ) เผย รัฐบาลเตรียมวัดผลการป้องกันและการปราบปรามยาเสพติด อย่างเป็นรูปธรรมภายใน 1 ก.ย. 67 สั่งการ กอ.รมน. สนับสนุนการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติดอย่างเต็มที่

วันนี้ (3 กรกฎาคม 2567) เวลา 14.30 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารรื่นฤดี สำนักงาน กอ.รมน. ถนนนครราชสีมา เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. (วาระพิเศษ) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คณะกรรมการอำนวยการ และส่วนราชการที่ร่วมบูรณาการ ร่วมประชุมด้วย

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมว่า เดือนนี้เป็นเดือนมหามงคล เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม ขอให้ทุกส่วนราชการร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ในการจัดโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและความสามัคคี สำหรับเรื่องยาเสพติด เป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลจะวัดผลเป็นรูปธรรมให้ได้ภายในวันที่ 1 กันยายน 2567 นี้ และจะมีการรายงานผล มีสถิติในแง่การป้องกันและการปราบปรามที่สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพื่อแสดงให้ถึงความพยายามของทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าปัจจุบันยาเสพติดยังมีปริมาณมาก นับเป็นเรื่องยากไม่น้อยกว่าการปราบปราม คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม ทั้งด้านการบำบัดรักษา เพื่อเปลี่ยนผู้เสพยาเสพติดให้เป็นพลเมืองที่ดี มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ พร้อมกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและสังคม ทั้งนี้ ขอให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายในด้านความมั่นคงภายใน สนับสนุนการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอย่างเต็มที่ เต็มกำลังความสามารถ

จากนั้น ภายหลังการประชุมฯ นายกฯ กล่าวมอบนโยบายว่า ขอให้เร่งดำเนินการเรื่องการบริหารจัดการที่ดินในการครอบครองของกองทัพเพื่อให้ประโยชน์แก่ประชาชน โดยที่ดินทำกินเป็นต้นทุนที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคน โดยขณะนี้ใกล้จะถึงฤดูฝน ขอให้ กอ.รมน. เตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้น สำหรับเรื่อง PM2.5 แม้จะหมดฤดู PM2.5 ขอให้เตรียมความพร้อมที่จะรับมือ PM2.5 ในฤดูแล้งที่จะเริ่มต้นขึ้นในต้นปีหน้า นอกจากนั้น ขอให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพ จัดระเบียบ กำหนดเป้าหมายการดำเนินการที่ชัดเจนทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ หากมีปัญหาในทางปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับพื้นที่ ให้อาศัยโครงสร้าง กอ.รมน. เป็นกลไกในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาแรงงาน ขอให้ ผู้อำนวยการ กอ.รมน. จังหวัด ใช้กลไก กอ.รมน. สนับสนุนการทำงานเรื่องการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะให้มีการลงทะเบียนต่อไปเร็ว ๆ นี้ จะเป็นการแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์ในเมียนมาที่แรงงานครบวาระการจ้างงานแต่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ โดยให้ดำเนินการในมิติที่ไม่ซ้ำซ้อนกับภารกิจที่กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพที่ดำเนินการอยู่

นายกฯ กล่าวอีกว่า ปัญหายาเสพติดมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ต้องยอมรับว่ามีอยู่อย่างแพร่หลายทั่วทุกจังหวัด การแก้ปัญหาเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนสำคัญของรัฐบาล ซึ่งได้มีการลงพื้นที่ติดตามงานหลายภาคทั้งในภาคเหนือ ภาคอีสาน ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดน่าน เป็นโมเดลในการแก้ปัญหายาเสพติดให้เป็นจังหวัดสีขาว โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ บูรณาการการทำงานกับผู้บังคับการจังหวัด และร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ เพื่อดำเนินการ ดังนี้

  1. การป้องกันและปราบปราม ให้หน่วยงานปราบปราม X-ray ในพื้นที่ เพื่อแยกผู้เสพ นำออกมารับการบำบัด ขยายผลการจับกุมผู้ขายเพื่อดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด
  2. การบำบัด ให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ร่วมกันจัดหาสถานที่บำบัดให้เพียงพอ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงานเข้ามาช่วยการส่งตัวคืนชุมชน ต้องฝึกอาชีพและหางานทำให้มีรายได้เพียงพอเลี้ยงชีวิต
  3. การดูแลเยาวชน ให้กระทรวงศึกษาธิการหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อสอดส่องดูแลสถานศึกษา และร่วมกันในการปลูกฝังค่านิยมใหม่ เด็กและเยาวชนต้องไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เช่น การปฏิญาณตนหน้าเสาธงตอนเช้า เป็นต้น
  4. ให้สำนักงาน ป.ป.ส. กำหนดเป้าหมายและ KPI ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เน้นการสร้างการมีส่วนร่วมและความเชื่อมั่นให้กับประชาชน
  5. ตามข้อเสนอของ กอ.รมน. ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. ไปพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง ว่ารูปแบบการทำงานควรเป็นอย่างไร จึงจะสอดคล้องกับการทำงานที่ดำเนินการอยู่ ในระยะสั้นขอสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ที่ร่วมปฏิบัติงานกับศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์ฯ จากโครงสร้างและอัตราที่มีอยู่เดิม ทั้งงานในมิติการป้องกันปราบปราม บำบัด และสร้างความเชื่อมั่น โดยให้มีการกำหนดเป้าหมาย และตัวชี้วัดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมของ กอ.รมน. ที่สอดคล้องกับตัวชี้วัดของ ป.ป.ส. และรายงานผลการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

Advertisment

นายกฯไม่กังวล ปมแก้สัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำ ย้ำไม่ห่วงเรื่องกฎหมาย มีกฤษฎีกาตรวจสอบ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 กรกฎาคม 2567 นายกฯ เผย กห. ยังไม่ส่งเรื่องแก้สัญญาจัดซื้อเรือดำน้ำให้รัฐบาล ย้ำไม่ห่วงเรื่องกฎหมาย มีกฤษฎีกาตรวจสอบ ทุกอย่างต้องถูกต้อง

วันนี้ (3 กรกฎาคม 2567) เวลา 15.30 น. ณ อาคารรื่นฤดี สำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)  เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. (วาระพิเศษ) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องถึงความคืบหน้าการจัดซื้อเรือดำน้ำ ว่ายังไม่ได้มีการหารือกับนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ากระทรวงกลาโหมได้ส่งมาให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเตรียมนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณานั้น นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ จากนั้นนายกฯ ได้หันไปสอบถามนายสุทินว่า “ส่งมาหรือยังครับ” ก่อนที่นายสุทินจะตอบว่า “ยังไม่ได้ส่ง” จากนั้นนายกรัฐมนตรีจึงฝายมือที่นายสุทิน ก่อนบอกว่า  “นี่ไงยังไม่ได้ส่ง ซึ่งถ้ายังไม่ส่งก็ยังไม่เห็น”

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นห่วงเรื่องข้อกฎหมายหรือไม่  ว่าทางกระทรวงกลาโหมได้ตรวจสอบมาดีหรือยัง เพราะอาจมีข้อผิดพลาดในเรื่องของการเปลี่ยนเครื่องยนต์ และการขยายกรอบเวลาการต่อเรือดำน้ำ นายกฯ ระบุว่า ทุกเรื่องที่นำเข้า ที่ประชุม ครม. ต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบอย่างละเอียดอยู่แล้ว และมีคณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งเราให้ความสำคัญเรื่องของความถูกต้อง และความชอบธรรมตามกฎหมาย

ส่วนที่ พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือออกมาระบุว่า  อยากให้จบเรื่องเรือดำน้ำก่อนที่ ผบ.ทร. จะเกษียณอายุราชการนั้น นายกฯ กล่าวว่า หากมีขั้นตอนที่สามารถทำได้ก็จะดำเนินการ

Advertisment

รัฐบาลเตรียมเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้มีภาวะพึ่งพิง จาก 6,000 บาท เป็น 10,442 บาท

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 กรกฎาคม 2567 รัฐบาลเตรียมเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้มีภาวะพึ่งพิง จาก 6,000 บาท/คน/ปี เพิ่มเป็นจำนวน 10,442 บาท/คน/ปี พร้อมขยายกลุ่มเป้าหมาย คาดครอบคลุมผู้มีภาวะพึ่งพิง 6 แสนคน

วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า  ในแต่ละปีจะมีผู้มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลจากภาครัฐอยู่ที่จำนวน 320,000 คนต่อปี แต่พบว่ายังมีผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงกลุ่มอื่น ๆ ในชุมชนเพิ่มเติมอีก เช่น กลุ่มที่มีภาวะสมองเสื่อม กลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care) เป็นต้น ซึ่งมีความจำเป็นหรือความต้องการที่ต้องได้รับการดูแลเหมือนกับกลุ่มที่มี ADL เท่ากับหรือต่ำกว่า 11 ดังนั้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้มีภาวะพึ่งพิงให้ได้รับบริการที่บ้านหรือในชุมชนเพิ่มขึ้น คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบให้ขยายกลุ่มเป้าหมาย โดยให้ครอบคลุมกลุ่มที่มีภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่ระยะปานกลางและกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วย โดยคาดการณ์ว่า จะทำให้มีผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงที่ได้รับการดูแลในระบบเพิ่มรวมเป็นจำนวนประมาณ 6 แสนคน

นายคารม กล่าวว่า นอกจากนี้ บอร์ด สปสช. ได้อนุมัติเพิ่มงบประมาณค่าบริการจากเดิมเหมาจ่ายการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ จากจำนวน 6,000 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มเติมเป็นจำนวน 10,442 บาทต่อคนต่อปี (เพิ่มขึ้น 4,442 บาทต่อคนต่อปี) ซึ่งจะทำให้ อปท. มีงบประมาณสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นในการดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ ทำให้หน่วยบริการสามารถจัดบริการได้ดีขึ้น รวมถึงจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นให้กับผู้ป่วย ขณะเดียวกันยังทำให้เกิดแรงจูงใจหน่วยบริการที่มีศักยภาพ เช่น สถานชีวาภิบาลที่อยู่กระจายในชุมชนเข้าร่วมให้การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงในระบบ

“รัฐบาลมุ่งดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย ผ่านการจัดสรรงบประมาณ โดยมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานดำเนินการให้ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) โดยได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผ่านกลไก “ระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่” (Long Term Care : LTC )” นายคารม กล่าว

Advertisment

เผย ครม.รับทราบรายงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีผลกระทบ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 2 กรกฎาคม 2567 ครม.รับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินงานของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีผลกระทบ ในห้วงวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2566

วันนี้ (2 กรกฎาคม 2567) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินงานของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญในห้วงวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2556  ดังนี้

1)สถิติเหตุการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ได้ดำเนินการสถิติเหตุการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ได้ดำเนินการและตรวจพบมากที่สุดได้แก่ 1. การโจมตีด้วยการแฮ็กเว็บไซต์การพนันออนไลน์ การโจมตีเว็บไซต์เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลเผยแพร่หน้าเว็บไซต์ การปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์จริงเพื่อหลอกเอาข้อมูล การฝังมัลแวร์อันตรายบนหน้าเว็บไซต์หน่วยงานที่อาจหลอกให้ผู้เข้าดาวน์โหลดไปติดตั้งได้ จำนวน 1,056 เหตุการณ์ 2. เว็บไซต์ปลอมจำนวน เว็บไซต์ปลอมจำนวน 310 เหตุการณ์  3. หลอกลวงการเงิน จำนวน  101 เหตุการณ์ 4. ข้อมูลรั่วไหลจำนวน  103 เหตุการณ์  5. จุดอ่อนช่องโหว่จำนวน  84 เหตุการณ์ 6. การละเมิดข้อมูล จำนวน 50 เหตุการณ์  7. การโจมตี จำนวน 33 เหตุการณ์ 8.มัลแวร์เรียกค่าไถ่ จำนวน 30 เหตุการณ์ และ 9. อื่นๆ จำนวน 31 เหตุการณ์ รวมทั้งหมด จำนวน 1,808 เหตุการณ์

2)ประเภทหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยแบ่งตามภารกิจหรือบริการของหน่วยงานสรุปได้ดังนี้ 1.หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ จำนวน 202 เหตุการณ์2.หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแลจำนวน 50 เหตุการณ์ 3.หน่วยงานของรัฐจำนวน 1,309 เหตุการณ์4.หน่วยงานเอกชน จำนวน 247 เหตุการณ์

3)ผลการปฏิบัติงานเพื่อสนับสนุนหน่วยงานในการช่วย แก้ไขปัญหาและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์โดยเป็นการปฏิบัติตามมาตรการเชิงรุก เชิงรับ และบริหารจัดการคุณภาพ สรุปได้ดังนี้ 1.การแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ จำนวน 71 รายงาน 2.การเผยแพร่ข้อมูลภัยคุกคามทางไซเบอร์และข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จำนวน 557 รายงาน3.การทดสอบความปลอดภัยของระบบเครื่องแม่ข่ายและเว็บไซต์เพื่อหาจุดอ่อนช่องโหว่ จำนวน 115 หน่วยงาน 4.การแจ้งเตือนเหตุการณ์และให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาจำนวน 1,808 หน่วยงาน 5.การตอบสนองและรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ จำนวน 45 เหตุการณ์ 6.การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่กระทบต่อหน่วยงานและประชาชน โดยการขอปิดกั้นการเข้าถึงหน้าเว็บไซต์ที่ปลอมแปลงเป็นหน่วยงานสำคัญจำนวน 426 เว็บไซต์ 7.การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ จำนวน 38 ครั้ง มีจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 5,874 คนและ 8.การทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จำนวน 5 หน่วยงาน

“แนวโน้มสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในปี พ.ศ. 2567 มีแนวโน้มว่าการโจมตีแบบ Hacked Website ยังคงเป็นภัยคุกคามที่มีโอกาสพบเป็นจำนวนมาก กลุ่มที่เป็นภัยคุกคามจะทำการฝั่งเนื้อหาเว็บไซต์การพนันออนไลน์เปลี่ยนแปลงหน้าเว็บไซต์เพื่อทำเว็บไซต์ฟิชชิ่งและฝังมัลแวร์สำหรับกรณีการโจมตีแบบ Fake Website ซึ่งผู้ไม่หวังดีจะทำการปลอมหน้าเว็บไซต์ให้มีความคล้ายกับเว็บไซต์จริงเพื่อหลอกให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่เป็น Android Remote Acces Trojan ซึ่งหากมีผู้หลงเชื่อทำการดาวน์โหลดแอพพลิเคชันและติดตั้งโปรแกรมที่เป็นอันตรายดังกล่าวลงในอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ Android ก็จะถูกขโมยข้อมูลที่มีความ Sensitive ออกไปได้ และรูปแบบการโจมตีประเภท Ransomware มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการโจมตีเป็นรูปแบบบริการในลักษณะ Ransomware โดยนักพัฒนาจะปรับแต่ง  Ransomware ตามความต้องการของผู้โจมตีที่จะนำไป  เพื่อบล็อกผู้ใช้งานไม่ให้เข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของตนเพื่อแลกกับค่าไถ่ และจะมีการสร้างคำขู่เพื่อแลกค่าไถ่เกี่ยวกับการชำระเงินทางการเงินเพื่อแลกกับการถอดรหัส ส่วนใหญ่กลุ่มที่เป็นเป้าหมายจะเน้นที่องค์กรภาครัฐมากกว่าบุคคล ดังนั้น ผู้ดูแลระบบควรทำการรหัสส่วนใหญ่กลุ่มที่เป็นเป้าหมายจะเน้นที่องค์กรภาครัฐมากกว่าบุคคลดังนั้นผู้ดูแลระบบควรทำการสำรองข้อมูลเป็นประจำและเพื่อป้องกันข้อมูลที่ Backup ถูกเข้ารหัสไปด้วย ผู้ใช้งานควรสำรองข้อมูลลงอุปกรณ์สำหรับจัดเก็บข้อมูลภายนอกเครือข่าย อัพเดทซอฟต์แวร์ในเครื่องอย่างสม่ำเสมอซึ่งการอัพเดทระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์จะช่วยป้องกันการโจมตีที่ต้องอาศัยช่องโหว่ของซอฟต์แวร์ได้และควรติดตามข่าวสารช่องโหว่หรือภัยคุกคามต่าง ๆ รวมถึงศึกษาวิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีและเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ใช้งานเอง” นายคารม ย้ำ

Advertisement

ประธานศาล รธน. เผย คดีนายกฯเศรษฐา-คดียุบก้าวไกล จะเสร็จก่อนเดือนกันยายน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 กรกฎาคม 2567 ประธานศาล รธน. รับทำงานบนความกดดัน แต่ยึดหลักเที่ยงธรรม ประธานศาล รธน. เชื่อ “คดียุบก้าวไกล-นายกฯ ตั้งพิชิต” จบก่อนเดือน ก.ย. ยอมรับทำงานบนความกดดัน แต่ทุกอย่างยึดหลักเที่ยงธรรม ไม่หนักใจ ไม่ขอตอบโต้ก้าวไกลเหตุไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ส่วนจะผิดคำสั่งศาลหรือไม่ ขอหารือองค์คณะตุลาการก่อน

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธที่ 3 ก.ค. นี้ว่า จะมีการพิจารณาคดีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมยตรี กรณีตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคดีการยุบพรรคก้าวไกล ในส่วนของการพิจารณาหลักฐานและหลักฐานที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง และพรรคก้าวไกล ยื่นต่อศาล ก่อนจะเปิดให้คู่ความมาตรวจเอกสารในวันที่ 9 ก.ค.

ส่วนมีอะไรหนักใจอะไรหรือไม่ นั้น ยืนยันว่า ไม่มีอะไรหนักใจ และพิจารณาตามปกติ

ทั้งนี้จะมีข้อสรุปว่าจะเปิดการไต่สวนพยานหรือไม่นั้น นายนครินทร์ ขอให้เป็นการหารือกับองค์คณะไต่สวน หากพูดว่าจะเปิดไต่สวนจะกลายเป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระของตุลาการแต่ละคน แต่ยืนยันว่าทั้ง 2 คดี จะเสร็จก่อนเดือนกันยายน แต่ตอบไม่ได้ว่าคดีไหนจะเสร็จก่อน

นายนครินทร์ ยอมรับว่า ศาลทำงานบนความกดดัน ทั้งการกดดันตัวเองและสังคมกดดันศาล ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้เพราะเป็นคดีสำคัญ แต่ทุกอย่างก็อยู่บนความเที่ยงธรรม พอเหมาะพอควร ชี้แจงจนหมดข้อสงสัยแล้วค่อยวินิจฉัย การตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการตัดสินใจขององค์คณะซึ่งมีความเป็นอิสระ ไม่ใช่การตัดสินใจโดยบุคคลเดียว ซึ่งจากนี้จะไปหารือกับองค์คณะว่านอกจากจะเปิดเผยผลการลงคะแนนแล้ว จะใส่ชื่อตุลาการเสียงข้างมากข้างน้อยด้วย

ส่วนกรณีคดีของพรรคก้าวไกลคู่กรณีออกมาเคลื่อนไหวมา 2 ครั้งแล้ว จะมีปัญหาอะไรหรือไม่ นายนครินทร์ กล่าวว่า จะต้องให้องค์คณะเป็นผู้พิจารณา ส่วนตัวคิดว่าไม่มี เมื่อถามย้ำว่ากรณีที่พรรคก้าวไกลมีการแถลงข่าว จะถือว่าผิดคำสั่งศาลที่ให้หยุดเคลื่อนไหวหรือไม่ นายนครินทร์ กล่าวว่า เป็นคำแนะนำ และคำเตือนของศาล ต้องดูความพอเหมาะพอดีพอควร ขอย้ำว่าศาลไม่ใช่คู่ขัดแย้ง ตนหนึ่งในฐานะองค์คณะตุลาการจึงขอไม่ตอบโต้อะไร ส่วนเขาจะออกมาอธิบายอะไรได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับองค์คณะที่จะพิจารณา

“สื่อมวลชนเห็นว่าทำได้หรือไม่ สังคมเสรีก็เป็นเช่นนี้ สังคมไทยมีสิทธิเสรีภาพพอสมควร เขาก็ดำเนินการไปในสิ่งที่เขาเห็นว่าพอเหมาะพอควร ยืนยันว่าศาลไม่ใช่คู่ขัดแย้งเพราะฉะนั้นศาลจะไม่ตอบโต้กับเรื่องเหล่านี้” นายนครินทร์ กล่าว

Advertisment

“เศรษฐา” ลงพื้นที่ อุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-สุรินทร์ ติดตามการบริหารจัดการน้ำ ปัญหายาเสพติด

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 26 มิถุนายน 2567 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ เตรียมลงพื้นที่ 3 จังหวัด อุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-สุรินทร์ 28-30 มิ.ย.นี้ ติดตามการบริหารจัดการน้ำ เตรียมการป้องกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำท่วม น้ำแล้ง ติดตามประเด็นยาเสพติด

วันนี้ (26 มิถุนายน 2567) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเดินทางไปตรวจราชการจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์ ระหว่างวันที่ 28 – 30 มิถุนายน 2567 เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ติดตามประเด็นยาเสพติด เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ 72 ล้านต้น พลิกฟื้นผืนป่าฯ ประชุมหารือแผนพัฒนาจังหวัด และพบปะประชาชน โดยมีภารกิจตามกำหนดการ ดังนี้

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 17.20 น. นายกรัฐมนตรีกราบนมัสการพระเจ้าใหญ่อินทร์แปง และชมกรรมวิธีการจัดทำต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ณ วัดมหาวนาราม พระอารามหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชานี จังหวัดอุบลราชธานี ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรีจะพบปะพ่อค้าแม่ค้าและประชาชน ณ ถนนคนเดินเลียบน้ำมูล เทศบาลนครอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า วันเสาร์ที่ 29 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 09.35 น. นายกรัฐมนตรีจะติดตามโครงการก่อสร้าง “แยกต่างระดับคำน้ำแซบ” ณ แยกคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปยังห้วยน้ำจาง บ้านผึ้งตก หมู่ที่ 4 ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อติดตามสถานการณ์ สั่งการเตรียมการป้องกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัย และพบปะประชาชน เสร็จแล้วจะเดินทางต่อไปยังที่ว่าการอำเภอกันทรลักษ์ ตำบลน้ำอ้อม อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเป็นประธานการประชุมติดตามประเด็นยาเสพติดและปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ

สำหรับในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานพิธีเปิดโครงการ 72 ล้านต้น พลิกฟื้นฝืนป่า และปลูกต้นไม้ และกราบสรีระสังขาร หลวงปู่สรวง ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีหลวงปู่สรวงวัดไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ จากนั้น จะไปติดตามปัญหาแหล่งน้ำและพบปะประชาชน ณ วัดสระบานสนวน อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ นอกจากนี้ ในช่วงเย็น นายกรัฐมนตรีจะไปเยี่ยมชมการฝึกซ้อมฟุตบอลเยาวชนและพบปะเยาวชน ที่ศูนย์ฝึกกีฬาฟุตบอลสโมสรศรีสะเกษยูไนเต็ด อำเภอเมืองศรีสะเกษ ด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 10.00 น. นายกรัฐมนตรีจะติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ณ อ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมหารือแผนพัฒนาจังหวัดสุรินทร์ ณ ที่ว่าการอำเภอรัตนบุรี อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ โดยนายกรัฐมนตรี จะเดินทางจากท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ตำบลร่อนทอง อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ กลับถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 13.45 น. ทั้งนี้ กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

“การเดินทางไปตรวจราชการ จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ และ จ.สุรินทร์ ของนายกฯ ครั้งนี้ เป็นการติดตามงานตามนโยบายรัฐบาล ที่มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนในทุกด้าน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง อย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลเน้นย้ำทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการวางแผนให้ชัดเจน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว มีความรอบคอบ รวมถึงการทำงานต้องประสานสอดคล้องกันและมีความเป็นเอกภาพ มุ่งผลประโยชน์ที่เกิดต่อประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง อีกทั้งนายกฯ ยังจะติดตามงานในเรื่องประเด็นยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญเช่นกัน ตลอดจน เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ 72 ล้านต้น พลิกฟื้นฝืนป่า ซึ่งเป็น 1 ใน 10 โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในนามรัฐบาล ที่เป็นการรวมพลังจิตอาสาของทุกภาคส่วนในการร่วมกันปลูกป่าและบำรุงรักษาต้นไม้ คืนธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

Advertisment

Verified by ExactMetrics