วันที่ 26 ธันวาคม 2024

“ตั๊น จิตภัสร์”เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนว่าด้วยเท่าเทียมทางเพศ

People Unity News :  “ตั๊น จิตภัสร์”เข้าร่วมการประชุมสุดยอดว่าด้วยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและชนชั้นของเพศหญิงในสังคมในหลากหลายมิติ WO=MEN SUMMIT 2019

ช่วงค่ำวันที่ 2 พ.ย. 2562 นางสาวจิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรแบบบัญชีรายชื่อ และรองเลขาพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อเรื่อง ‘Not Just Another Pretty Face’ โดยเป็นส่วนหนึ่งของงาน Dragonfly 360 Summit การประชุมสุดยอดที่ว่าด้วยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและชนชั้นของเพศหญิงในสังคมในหลากหลายมิติ ณ เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์

ซึ่งนางสาวจิตภัสร์ได้กล่าวว่า ตนเองทำงานการเมืองมาเกือบ 10 ปี มีความตั้งใจที่จะเข้ามาทำงานตรงจุดนี้ มีความใฝ่ฝันที่จะเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติและเข้ามาพัฒนาประเทศ กำลังใจจากคนรอบข้างและพี่น้องประชาชนทำให้ผ่านพ้นอุปสรรคมาได้ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอนาคตเราจะแข่งขันกันที่ความสามารถและความรู้ มากกว่าว่า วันนี้เราจะแต่งตัวยังไง คนนี้หน้าตาเป็นยังไง

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของผู้หญิง สิทธิในการลาคลอดเป็นนโยบายที่พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก การขยายระยะเวลาสิทธิลาคลอดเป็น 6 เดือนรับเงินเดือนเต็ม เกิดปั๊บรับสิทธิ์เงินเเสนเพื่อเป็นค่าเลี้ยงดูที่ช่วยให้ลูกที่เกิดมีความสมบูรณ์แต่วันแรก นโยบายนี้กำลังได้รับการผลักดันภายใต้ท่านจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ท้ายสุดนางสาวจิตภัสร์ได้กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เราเห็นในทุกวันนี้ หลายอย่างเริ่มจากรากฐานที่มั่นคง นั่นก็คือเรื่องของการศึกษา หากทุกคนได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกัน และเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ตนเชื่อว่า สิ่งต่างๆเหล่านี้จะเป็นรากฐาน ให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กที่มีอนาคตที่มีคุณภาพ

“มาดามเดียร์”หนุน”อาเซียน”เจ้าภาพบอลโลก2034

People Unity News : “มาดามเดียร์”หนุน”อาเซียน”เจ้าภาพบอลโลก2034 ชี้เป็นความท้าทายของประเทศสมาชิก แต่หากทำได้ ช่วยกระตุ้น ศก.ทั้งระยะสั้น-ยาว ยกระดับอาเซียนในเวทีโลก

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ FB ส่วนตัว”เดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี” ระบุว่า หลังจากที่สมาชิกอาเซียนประกาศจับมือเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2034 ที่เกิดขึ้นในการประชุมอาเซียนซัมมิท ทำให้เดียร์และเชื่อว่าแฟนบอลอีกหลายคนต้องดีใจเป็นพิเศษ เพราะฟุตบอลโลกนอกจากจะเป็นความฝันสูงสุดของวงการฟุตบอลทีมชาติ แต่การจัดงานยังช่วยกระตุ้นระบบหมุมเวียนเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและยาวให้กับประเทศ ยกระดับกลุ่มอาเซียนให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลก แต่เป้าหมายจะไปได้ถึงจริงหรือไม่ นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ 1. จากตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะได้รับเทียบกับมูลค่าการลงทุน หากเราดูกรณีตัวอย่างเจ้าภาพในรอบ 3 ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่า ทั้งกรณีแอฟริกาใต้ บราซิลและรัสเซีย ต่างล้วนอยู่ในสภาวะที่ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งมาจากสาเหตุหลายปัจจัย เช่น ทั้ง 3 ประเทศล้วนมีต้นทุนค่าก่อสร้างสนามแข่งขัน และพื้นฐานสาธารณูปโภคอื่นๆที่สูงมาก โดยเฉพาะหากเราย้อนดูกรณีเมื่อครั้งที่เยอรมันเป็นเจ้าภาพปี 2006 ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการกอบโกยรายได้เข้าประเทศเพราะมีความพร้อมอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับบราซิลที่งบประมาณก่อสร้างบานปลาย มีปัญหาคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นมากมาย จนสร้างสนามเสร็จวินาทีสุดท้ายก่อนพิธีเปิด

2. ความเป็นเอกภาพของประเทศในอาเซียน ในการร่วมกันจัดงาน ยกตัวอย่างงานพิธีเปิด-ปิด ของฟุตบอลโลกที่จะถือเป็นไฮไลท์สำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เราจะมีมาตรการอย่างไรในการคัดเลือกประเทศที่มีความพร้อมที่สุดในการเป็นเจ้าภาพ ซึ่งถ้าดูจากความพร้อมสนามปัจจุบันที่ต้องมีจำนวนที่นั่งอย่างน้อย 80,000 ที่นั่งตามข้อกำหนดของฟีฟ่า ก็ดูเหมือนจะมีเฉพาะ 2 ประเทศในอาเซียนที่มีความพร้อมปัจจุบันคือ อินโดนีเซียและมาเลเซีย เพราะสนามรัชมังคลาฯของไทยที่ใหญ่ที่สุดสามารถจุคนได้เพียงประมาณ 49,000 คนเท่านั้น ดังนั้นหากไทยต้องการคว้าพิธีเปิด หรือปิดฟุตบอลโลกมาจัดเองก็ต้องมีการลงทุนสนามแข่งเพิ่มเติม

น.ส.วทันยา ระบุด้วยว่า ยังมีความท้าทายอีกหลายจุดโดยเฉพาะในการเตรียมทีมชาติเพื่อให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้ หากอาเซียนต้องการเป็นเจ้าภาพจริง การพัฒนาวงการกีฬาฟุตบอลก็คงต้องทุ่มเทความสำคัญนับเป็นวาระหลักของประเทศอีกหนึ่งวาระ ส่วนจะคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหนก็คงอยู่ที่ความสามารถของรัฐบาลที่จะวางแผนควบคุมต้นทุนไม่ให้เกิดปัญหาดังเช่นในกรณีประเทศบราซิล แต่ที่สำคัญแน่ๆคือ การลงทุนครั้งนี้สิ่งหนึ่งที่ประเมินค่าไม่ได้คือ ความสุขและความภูมิใจของแฟนบอลอาเซียนทุกคน และอีกสิ่งสำคัญนั่นคือความสามัคคีของคนในชาติที่สามารถสร้างได้ด้วยกีฬา

ถกผู้นำอาเซียนบวกสาม “บิ๊กตู่”ขอเสียงหนุนตั้ง “ศูนย์อาเซียนศึกษาและผู้สูงวัย”ที่ไทย

People Unity News : ถกผู้นำอาเซียนบวกสาม”บิ๊กตู่”ขอเสียงหนุน ตั้ง”ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการ หารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน” และ ” ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม”ที่ประเทศไทย

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 เวลา 08.30 น. ณ ห้อง Sapphire 204 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 22 ภายหลังเสร็จสิ้น ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 22 ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น โดยจัดขึ้นเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม โดยเน้นแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนของไทย และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกัน


นายกรัฐมนตรีกล่าวในนามรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 22 พร้อมแสดงความเสียใจกับรัฐบาลและประชาชนชาวญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นฮากิบิสเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยประเทศไทยหวังว่า กระบวนการฟื้นฟูพื้นที่และประชาชนที่ประสบภัยให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว

โดยความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสามเป็นกรอบความร่วมมือที่มีพลวัตมากที่สุดกรอบหนึ่ง ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นเสาหลักที่สำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือเฉพาะด้าน รวมทั้งการสร้างแนวคิดการเป็น ประชาคมในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในทั้ง 13 ประเทศ ความร่วมมือดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ 3M ได้แก่ ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน และการเคารพซึ่งกันและกัน

ภายใต้กระแสความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่าง ๆ ในปัจจุบัน ทั้งการแข่งขันทางการค้า และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ซึ่งอาเซียนบวกสามจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เราควรเตรียมความพร้อมให้อาเซียนบวกสามในการรับมือ และมุ่งมั่นที่จะสร้างโอกาสจากความท้าทายเหล่านั้น

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม 2 ประการ ได้แก่

ประการที่หนึ่ง ความเชื่อมโยงในภูมิภาค ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเชื่อมโยง ในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย-แปซิฟิกมาโดยตลอด ซึ่งการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง ต่าง ๆ ของภูมิภาคจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้เป็นกลไกที่สำคัญของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปอย่างต่อเนื่อง

ประการที่สอง ความยั่งยืนในทุกมิติ ไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องการพัฒนา ที่ยั่งยืนขอให้ประเทศบวกสามสนับสนุนความมุ่งมั่นของอาเซียน ทั้งนี้ ขอให้ประเทศบวกสามสนับสนุนอาเซียน โดยเฉพาะในการจัดตั้ง “ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการ หารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน” และ” ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม” ที่ประเทศไทย

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าความร่วมมืออาเซียนบวกสามจะเป็นกลไกที่สำคัญนำไปสู่หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันของภูมิภาคเอเชียตะวันออก พร้อมขอบคุณประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสำนักเลขาธิการอาเซียนที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทยมาโดยตลอดทั้งปี

“อาเบะ”หารือ”บิ๊กตู่” พร้อมจับมือพัฒนาอีอีซี-แก้รัฐยะไข่

People Unity News : “อาเบะ”หารือ”บิ๊กตู่”ชมบทบาทผู้นำไทยในการประชุมอาเซียนจนเกิดผลสำเร็จในการพัฒนาภูมิภาค พร้อมหารือพัฒนาอีอีซี-สถานการณ์รัฐยะไข่-กีฬา

วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2562 เวลา 08.00 น. ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พบหารือกับนายชินโซ อาเบะ (Mr. Shinzo Abe) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยือนประเทศไทยในรอบ 6 ปี ยินดีที่อาเซียนและญี่ปุ่นบรรลุการเจรจาถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 ว่าด้วยความเชื่อมโยง พร้อมหวังว่าอาเซียนจะได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นภายใต้ ASEAN Outlook on Indo-Pacific โดยเฉพาะในประเด็นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การเข้าถึงบริการทางการเงิน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการจัดการขยะทะเล นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนการส่งเสริมความเชื่อมโยง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งชื่นชมญี่ปุ่นในฐานะประธาน G20 ในการจัดทำเอกสารผลลัพธ์สำคัญต่างๆ ของการประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง G20 Principles on Quality Infrastructure Investment ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง เพื่อสอดประสานข้อริเริ่มด้านความเชื่อมโยงทั้งระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นชื่นชมบทบาทการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย โดยเฉพาะบทบาทผู้นำของนายกรัฐมนตรีที่สามารถผลักดันให้บรรลุผลการประชุมที่สำคัญต่อการพัฒนาภูมิภาคประสบความสำเร็จ โดยญี่ปุ่นจะเดินหน้าร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป รวมถึงความร่วมมือการแก้ไขปัญหาประเด็นท้าทายสำคัญในภูมิภาคด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองต่างยินดีต่อความร่วมมือในการส่งเสริม SMEs และ Startups โดยมีการ การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างบริษัทขนาดใหญ่และ Startups ของไทยและญี่ปุ่น จำนวน 6 ฉบับ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจของทั้งสองฝ่าย และการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการจัดตั้ง Startups ที่มีนวัตกรรมของรัฐบาลไทยภายใต้โครงการ Innospace (Thailand) รวมทั้ง ความร่วมมือไทย – ญี่ปุ่น ในการพัฒนาประเทศที่สาม ซึ่งมีการลงนามบันทึกช่วยจำว่าด้วยกรอบความร่วมมือแบบหุ้นส่วนระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ระยะที่สาม (Memorandum on Japan-Thailand Partnership Programme Phase 3) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 เพื่อต่อยอดความร่วมมือที่มีอยู่ในด้านการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในประเทศที่สาม โดยเฉพาะประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และอาเซียน โดยใช้ประสบการณ์ องค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศของไทยและญี่ปุ่น

นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายยังได้หารือประเด็นความร่วมมือในภูมิภาคสำคัญ เช่น ความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียนและกรอบ G20 ซึ่งไทยและญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ความร่วมมือภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (ACMECS) และกรอบลุ่มน้ำโขง – ญี่ปุ่น ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายและโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สถานการณ์ในรัฐยะไข่ และ ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและกีฬาระหว่างไทยกับญี่ปุ่น

ก่อนจบการหารือ นายกรัฐมนตรีได้อวยพรให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกใน ปี 2563

โฆษกปชป.ไม่กังวลผลซูเปอร์โพลยันรมต.ของพรรคมีผลงาน

People Unity News : โฆษกปชป.ไม่กังวลผลซูเปอร์โพลยันรมต.ของพรรคมีผลงาน ย้ำประโยชน์ที่ประชาชนได้รับคือประจักษ์พยานที่ดีที่สุด

วันที่ 4 พ.ย.2562 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีผลสำรวจของ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีความกังวลใด ๆ ต่อเรื่องดังกล่าวเพราะการทำงานทุกอย่างของรัฐมนตรีของพรรคฯ มีความชัดเจนด้วยผลสำเร็จของงาน และประโยชน์ที่ประชาชนได้รับก็เป็นประจักษ์พยานให้กับพี่น้องประชาชนดีที่สุด โดยตลอดระยะเวลาที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคฯ เข้ารับตำแหน่งก็มุ่งหน้าทำงานตั้งแต่วินาทีแรกจนถึงวินาทีนี้ก็มีสิ่งที่ปรากฏชัดอยู่มากมาย

อีกทั้งนโยบายประกันรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรได้มีการขับเคลื่อนจนเกิดผลสำเร็จ และทำให้ความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรก็ดีขึ้น รวมไปถึงการเปิดตลาดในต่างประเทศเพื่อเพิ่มความสามารถในการส่งออกสินค้าเกษตรของประชาชนให้มีพื้นที่ทางการตลาด เพิ่มช่องทางการขายมากขึ้น อันจะส่งผลดีต่อราคาพืชผลในอนาคต การมุ่งแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบและยั่งยืนโดยการมุ่งเน้นแก้ที่เศรษฐกิจฐานราก และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยผลงานดังกล่าวที่ผ่านมา จึงอยากชี้ให้เห็นว่าทั้งหมดเป็นผลสำเร็จของงาน และเป็นประจักษ์พยานที่จะนำไปสู่ความอยู่ดีกินดีของพี่น้องประชาชนต่อไป โดยข้อมูลของโพลแต่ละโพลนั้นก็เป็นเพียงข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ซึ่งทางพรรคฯ ก็มีข้อมูลที่ได้จากเสียงสะท้อนจากประชาชนเช่นกัน โดยทีมโฆษกฯ ได้ริเริ่มดำเนินการโครงการ “โฆษกสัญจร” ลงพื้นที่ไปจังหวัดต่าง ๆ และจากการสอบถามและเก็บข้อมูลทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าประชาธิปัตย์ทำงานจริงมีผลงานออกมาให้เห็นเด่นชัด โดยนโยบายที่ประชาชนพูดถึงมากที่สุดก็คือ นโยบายประกันรายได้พี่น้องเกษตรกร

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นพรรค จึงไม่จำเป็นต้องมีความกังวลใดๆ เกี่ยวกับกับผลโพลดังกล่าว และเมื่อติดตามจากข่าวสารการทำงานของรัฐมนตรีของพรรคฯ ทุกคนจะเห็นได้ว่ามีผลงานปรากฏออกมาให้เห็นต่อเนื่องตลอดเวลา โดยล่าสุดประชาชนชาวสวนยางทั้งประเทศได้ขอบคุณ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถึงการจ่ายเงินส่วนต่างครั้งประวัติศาสตร์ในการประกันรายได้ยางพาราให้พี่น้องชาวสวนยางอีกด้วย ดังนั้นรัฐมนตรีของพรรคฯ รวมถึง ส.ส. ของพรรคจึงไม่มีความกังวลแต่อย่างใด และยังคงตั้งใจ มุ่งหน้าทำงานต่อไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างเต็มที่

เจ้าคุณเทียบต้อนรับนายกฯรัสเซียชมวัดโพธิ์ โอกาสเยือนไทยหารือ”บิ๊กตู่”

People Unity News : เจ้าคุณเทียบต้อนรับนายกฯรัสเซียชมวัดโพธิ์ โอกาสเยือนไทยหารือ”บิ๊กตู่” ระหว่างประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 35

วันที่ 3 พ.ย.2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย หลังจากเข้าพบปรึกษาหารือกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ได้เดินทางไปที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ เพื่อชมโบราณสถานและโบราณวัตถุทางพระพุทธศาสนา โดยมีพระราชปริยัติมุนี หรือเจ้าคุณเทียบ สิริญาโณ ป.ธ.9 ผู้ช่วยเจ้าอาวาส คณบดีคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ให้การต้อนรับพาเยี่ยมชม

Cr.ภาพจากเพจ Phra Rajapariyattimuni Thiab

รมว.พาณิชย์สหรัฐเข้าพบ”บิ๊กตู่” พร้อมทบทวนตัด”จีเอสพี”บางส่วน

People Unity News : รมว.พาณิชย์สหรัฐเข้าพบ “บิ๊กตู่” พร้อมเจรจาทบทวนประเด็นการตัดจีเอสพีบางส่วนแก่ไทย ขณะที่นายกฯรัสเซียเข้าหารือด้วยโดยไทยหวังกระชับความร่วมมือด้านพลังงาน

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 นายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายวิลเบอร์ได้นำคณะนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ ร่วมเดินทางมาไทย ซึ่งสหรัฐฯ นับเป็นนักลงทุนที่สำคัญของไทยและมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยมายาวนาน ทั้งนี้รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯ ในไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อากาศยานและอวกาศ ดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์

ด้าน รมว.พณ.สหรัฐฯ แสดงความชื่นชมการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ที่มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการพัฒนาภูมิภาคอาเซียน พร้อมกล่าวว่าการมาเยือนครั้งนี้นำภาคเอกชนจากสาขาต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของไทยมาร่วมประชุม Indo Business Forum ที่หอการค้าไทยและหอการค้าสหรัฐฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน เชื่อมั่นว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจสำหรับภาคเอกชน

“นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายหารือถึงการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกัน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไทยมีนโยบายส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่การลงทุนของภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างชาติ รวมทั้งได้พัฒนากฎระเบียบต่างๆ และผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง จึงขอเชิญชวนภาคเอกชนสหรัฐฯ มาร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคของอาเซียนด้วย”นางนฤมล กล่าวและว่า

สำหรับประเด็นการพักสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) บางส่วนแก่ไทย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลห่วงกังวลเรื่องผลกระทบต่อภาคเอกชนและสาธารณชน แต่เข้าใจดีเรื่องกติกาของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามในฐานะมิตรอันใกล้ชิด ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาทบทวนอีกครั้ง ซึ่งรมว.พณ.สหรัฐฯ พร้อมเปิดให้มีการเจรจาทบทวนระหว่างกันก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือน

นางนฤมล กล่าวด้วยว่า พลเอกประยุทธ์ได้ร่วมหารือกับนายดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย โดยมีความยินดีที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองประเทศมีความก้าวหน้าอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ท่านนายกฯ ยังได้กล่าวเชิญบริษัทรัสเซียเข้ามาลงทุนใน EEC ในสาขาที่รัสเซียเชี่ยวชาญ อาทิ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เทคโนโลยีดิจิทัล การเมือง ระบบเมืองอัจฉริยะ และการผลิตเครื่องมือแพทย์ พร้อมกล่าวว่าไทยมีความสนใจที่จะส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังตลาดรัสเซียเพิ่มขึ้น และขอบคุณรัสเซียที่นำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ทางประเทศไทยยินดีที่มีการตรวจสอบโรงงานสินค้าประมงไทย โดยหวังว่าจะนำไปสู่การค้าขายสินค้าระหว่างกันมากขึ้น นอกจากนี้ ไทยหวังที่จะกระชับความร่วมมือด้านพลังงานกับรัสเซีย โดยหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะใช้ประโยชน์จากคณะทำงานร่วมด้านพลังงานเป็นกลไกขับเคลื่อนความร่วมมือดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมต่อไป

ด้านนายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซียยินดีกับประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุม อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย โดยรัสเซียยินดีและพร้อมส่งเสริมความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญกับไทย อาทิ ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม พลังงาน และการเกษตร เป็นต้น

โดยทั้งสองประเทศเห็นพ้องที่จะกระชับความสัมพันธ์กันอย่างรอบด้าน ทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ขอบคุณรัสเซียที่มูลนิธิสโกลโกโว (Skolkovo Foundation) ของรัสเซียได้ทูลเกล้าฯ ถวายทุนการศึกษาแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงคัดเลือกนักศึกษาไทยไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ซึ่งถือเป็นการช่วยพัฒนาบุคลากรด้านวิชาการและวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศไทย

“อาเซียน-อินเดีย”ร่วมเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์พัฒนาทุกมิติเป็นรูปธรรม

People Unity News : “อาเซียน-อินเดีย” ร่วมผลักดันความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ “อาเซียน-ยูเอ็น” พร้อมสร้างความร่วมมือบริหารชายแดนในอาเซียน

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 เวลา 11.15 น. ณ ห้อง Sapphire 203 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน และนายกรัฐมนตรีนเรนทร โมที (His Excellency Shri Narendra Modi) ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด อาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 16 ภายหลังเสร็จสิ้น ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 16 จัดขึ้นเพื่อทบทวนความร่วมมือในกรอบอาเซียน-อินเดียในมิติการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรมในรอบปีที่ผ่านมา รวมทั้งเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางของความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดียในอนาคต และเพื่อหารือ แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ

โดยประเทศอินเดียถือเป็นมิตรประเทศที่ใกล้ชิดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอาเซียนที่จะร่วมมือกันในการส่งเสริมเสถียรภาพในภูมิภาค ขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนสร้างความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมมาโดยตลอด อาเซียนยินดีที่นายกรัฐมนตรีอินเดียให้ความสำคัญกับอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านนโยบายมุ่งตะวันออกของอินเดีย เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญทำให้ยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียน-อินเดียมีพลวัตมากยิ่งขึ้น

ด้านความมั่นคง อาเซียนชื่นชมที่อินเดียสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนบนพื้นฐานของภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) และผ่านกลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำหลากหลาย อาทิ การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก(ARF) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา(ADMM plus) ซึ่งนำไปสู่การรักษาสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญก้าวหน้าในภูมิภาค ตลอดจนชื่นชมอินเดียที่ให้การสนับสนุนมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก โดยเป็นมุมมองที่ตั้งอยู่บนหลักการ 3M ได้แก่ ความเคารพซึ่งกันและกัน(Mutual Respect) ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน(Mutual Respect) ผลประโยชน์ร่วมกัน(Mutual Benefit) และความร่วมมือนี้จะช่วยส่งเสริมหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-อินเดียให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ตลอดจนย้ำถึงความร่วมมือกันต่อต้านการก่อการร้าย แนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง อาชญากรรมข้ามชาติและความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์

ด้านการค้าการลงทุน เน้นย้ำการพยายามเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันเพื่อบรรลุตัวเลขการค้าร่วมกันที่ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2022 โดยใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ในการนี้ ไทยยินดีที่ได้ริเริ่มการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย (AITIGA) เพื่อทำให้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียสามารถใช้ประโยชน์ได้สะดวกและง่ายในทางปฏิบัติและอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งขจัดอุปสรรคทางการค้า พร้อมเน้นย้ำความสำคัญในการบูรณาการเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านการสรุปการเจรจา RCEP ภายในปี 2019

ด้านวัฒนธรรม ชื่นชมกับความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองระหว่างอาเซียนกับอินเดีย ส่งเสริมให้มีความร่วมมือด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การท่องเที่ยว การศึกษา การแลกเปลี่ยนนักวิชาการและเยาวชน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม และไอซีที ทั้งนี้ ไทยส่งเสริมให้อาเซียนและอินเดียเพิ่มความพยายามในการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการอาเซียน-อินเดียปี ค.ศ. 2016-2020 และยินดีต่อความสำเร็จของปีความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอาเซียน-อินเดีย 2019

ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณอินเดียในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอาเซียน และให้การสนับสนุนไทยและอาเซียนมาโดยตลอด โดยเชื่อมั่นว่าความสัมพันธ์ระหว่างกันจะพัฒนาในมิติที่หลากหลายเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองภูมิภาคร่วมกัน

อาเซียน-ยูเอ็นพร้อมสร้างความร่วมมือบริหารชายแดนในอาเซียน

ต่อมาเวลา 14.00 น. ที่ห้อง Sapphire 203 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 10 ภายหลังเสร็จสิ้น นางนฤมล สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่ 10 เพื่อรับทราบความคืบหน้าและทบทวนความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหประชาชาติ รวมทั้งการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี เพื่อดำเนินการตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ ปี ค.ศ. 2016-2020 รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและวิสัยทัศน์ และร่วมกำหนดทิศทางและเป้าหมายในการดำเนินความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ โดยเฉพาะการสร้างความยั่งยืนในทุกมิติตามแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” โดยมีผู้นำ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และเลขาธิการสหประชาชาติเข้าร่วมประชุม

นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมว่า อาเซียนและสหประชาชาติควรร่วมกันสนับสนุนและเสริมสร้างระบบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค และขอบคุณเลขาธิการสหประชาชาติที่สนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการเสริมสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

โดยไทยได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนและสหประชาชาติอย่างรอบด้าน อาทิ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนอย่างมีประสิทธิภาพ การเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ การส่งเสริมบทบาทและสิทธิของสตรี เยาวชน ผู้พิการ และกลุ่มเปราะบาง และการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ เป็นต้น เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชน และความยั่งยืนในทุกมิติแก่อาเซียนและระบบพหุภาคีนิยม

นายกรัฐมนตรีกล่าวในนามอาเซียน ยินดีและชื่นชมที่ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามปฏิญญาร่วมว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติปี ค.ศ. 2016-2020 ไปกว่าร้อยละ 93 และเห็นว่า แผนปฏิบัติการฉบับใหม่ควรมุ่งเน้นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติผ่านการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ การส่งเสริมศักยภาพของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 การเสริมสร้างความแข็งแกร่งและการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ การยกระดับการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาเทคโนโลยี และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย

ทั้งสองฝ่ายควรร่วมกันรับมือกับความท้าทายข้ามพรมแดน ผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนในอาเซียน เสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับภัยพิบัติ ผ่านความร่วมมือระหว่างศูนย์ และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ตลอดจนผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งรวมถึง การอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางทะเล ปัญหาขยะทะเลและการประเมินผลกระทบต่อสุขภาวะและสิ่งแวดล้อม ขยะพลาสติก รวมถึง มลพิษและหมอกควัน

สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งสองฝ่ายควรร่วมมือกันในการอำนวยความสะดวกทางการค้า สร้างเครือข่ายความเชื่อมโยง การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ตลอดจนส่งเสริมการบริโภค การผลิต การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อให้บรรลุความพยายามในการสร้าง “ประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต”

“ผู้กองมาร์ค”เตือน”บิ๊กตู่”เร่งแก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตร

People Unity News : “ผู้กองมาร์ค”เตือน”บิ๊กตู่”เร่งแก้ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตร หากช้าระวังจะอยู่ได้ไม่ยาว

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช เลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมาธิการสารเคมีฯ ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นจังหวัดที่ยากจนลำดับที่ 76 และมีหนี้สินครัวเรือนอยู่ลำดับที่ 71 ของประเทศไทย รายได้ต่อคน ต่อปี เท่ากับ 53,416 บาท และอายุเกษตรกรค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ปี ซึ่งถือว่าสูงมาก ประชากรนิยมไปทำงานต่างถิ่น เพราะทำเกษตร แล้วรายได้น้อย ไม่มั่นคง ว่างงานนอกฤดูเก็บเกี่ยว การเกษตรที่นี้ใช้สารเคมีเยอะมาก การที่จะปรับเปลี่ยนวิธีในการ ทำเกษตรเป็นไปค่อนข้างยาก และยังพบสารเคมีตกค้างจำนวนมากในสิ่งแวดล้อม ทั้งในดิน น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และ พืชผัก ก่อให้เกิดโรคเนื้อเน่าถึง 49 ต่อแสนของจำนวนประชากร (ทั่วโลกอยู่ที่ 1 ต่อแสน) ซึ่งส่งผลให้มีคนต้องตัดขา ตัดแขน และพบโรคที่เกี่ยวพันอีกมากมาย จากรายงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู พบว่า 71.7% เกี่ยวข้องกับสารเคมี เด็กมี IQ ต่ำเฉลี่ย 91 คะแนน จัดเป็นลำดับที่ 73 ของประเทศ ซึ่งเชื่อว่าอาจมีสาเหตุมาจากสารเคมีพิษหลายชนิด เพราะจากข้อมูลของ Thai-Pan ในปี 2560 จากการสุ่มตรวจการตกค้างของสารกำจัดวัชพืชใน ผัก ผลไม้ พบว่า มีการตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึงร้อยละ 55

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ กล่าวอีกว่า ในขณะนี้เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 30 วัน ที่เกษตรกรไทยจะต้องหยุดใช้สารเคมีพิษทั้ง 3 ชนิดคือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซล โดยรวมเรายังไม่เห็นการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ที่เป็นรูปธรรม เลย ดังนั้น หาก บิ๊กตู่ปล่อยทิ้งปัญหาไว้นานไม่รีบแก้ไข อาจจะทำให้รัฐบาลอยู่ได้ไม่ยาว

ซึ่งจากจำนวนเกษตรกรไทยที่มีเกือบ 6 ล้านคน หากเรามาคำนวนก็เกือบ 10% ของจำนวนประชากรไทย หากเกษตรกรละทิ้งอาชีพของตนไปทำงานต่างถิ่น อาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา อาทิ เช่น ปัญหายาเสพติด แลปัญหาสังคมเพราะครอบครัวขาดความอบอุ่น ดังนั้น รัฐบาลควรที่จะส่งเสริมให้ทำเกษตรอินทรีย์และ ใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร เพื่อยกระดับพืช ผัก ผลไม้ไทยให้ปลอดสารพิษ และได้มาตรฐานโลก เพื่อที่จะสามารถ ส่งออกไปได้ทั่วโลก และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องหาตลาดให้กับเกษตรกร เพราะปัจจุบัน เกษตรกรไทยที่ปลูกพืช ผัก ผลไม้ แบบออร์แกนิค แต่ไม่มีตลาดขาย พอมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อก็กดราคา ได้ราคาสูงกว่า พืชผัก และผลไม้ปรกติ เพียงแค่ 15% เท่านั้น ซึ่งทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าต้นทุนการปลูกแบบออร์แกนิคนั้นมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงกว่าปกติ เยอะ ดังนั้นหากเกษตรกรปลูกแล้วกลับทำให้มีรายได้ที่ลดลง แล้วจะมีใครยอมมาทำ ซึ่งตลาดในต่างประเทศนั้นพืช ผัก ผลไม้ แบบออร์แกนิค สามารถขายได้ราคาสูงกว่าเกือบ 3 เท่า ดังนั้นเราควรจะต้องส่งเสริมและจัดระบบ ให้สหกรณ์ เพื่อทำหน้าที่ทางการตลาดให้แก่เกษตรกร ซึ่งในต่างประเทศสหกรณ์มีหน้าที่ส่งเสริมการตลาด แต่ในประเทศไทยสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นเหมือนธนาคาร ดังนั้น เราจึงควรจัดสรรให้สหกรณ์ของตำบลดำเนินการทำหน้าที่ประสานงานไปยังสหกรณ์อำเภอ และสหกรณ์อำเภอ มีหน้าที่ประสานงานไปสหกรณ์จังหวัด เพื่อส่งสินค้าไปยังสหกรณ์กลางเพื่อจำหน่ายผลิตผลทั้งในและต่างประเทศ

รองโฆษกพท.ชี้ยิ่งรัฐบาลอัดฉีดชิมช็อปใช้ ยิ่งสะท้อนสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ

People Unity News : “สรัสนันท์ อรรณนพพร”รองโฆษกเพื่อไทยชี้ยิ่งรัฐบาลอัดฉีดชิมช็อปใช้ ยิ่งสะท้อนสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ

วันที่ 3 พฤศจิกายน น.ส. สรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ขอนแก่น ในฐานะรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ให้สัมภาษณ์ถึงผลโพลล์การจัดอันดับโครงการที่ประชาชนชื่นชอบในไตรมาสแรกของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์คือชิมช๊อปใช้นั้น สะท้อนถึงความอ่อนแอทางการเงินของประชาชนอย่างชัดเจนที่ต้องพึ่งเงินสนับสนุนจากภาครัฐ เพราะไม่มีรายรับที่มั่นคง

จึงขอสอบถามพลเอกประยุทธ์ฯ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลเศรษฐกิจ ว่า “เงินหนึ่งพันบาท รัฐบาลต้องแจกอีกกี่ครั้ง ต้องอัดงบประมาณอีกกี่หมื่นแสนล้าน ประชาชนถึงจะกินดีอยู่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน และแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้นอกจากแจกเงินแล้วคืออะไร?”

และนอกจากนี้ น.ส. สรัสนันท์ อรรณนพพร ได้ชี้ว่า รัฐบาลนี้ยังเพิ่มรายจ่ายให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยกรมสรรพากรได้มีการขยายฐานการจัดเก็บภาษีและประเภทภาษีต่างๆเช่น ภาษีของเค็ม-หวาน-มัน ภาษีรถบิ๊กไบค์ และ แนวคิดที่จะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพื่อเพิ่มรายรับให้รัฐบาล สุดท้ายภาระนี้ก็มาตกที่ประชาชนอยู่ดี

Verified by ExactMetrics