วันที่ 23 พฤศจิกายน 2024

นายกฯเผยเริ่มนับการเรียนการสอน 1 ก.ค.63 – 16 พ.ค.64 กรณีเปิดสอนในโรงเรียนตามปกติ

People Unity News : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เผยเริ่มนับการเรียนการสอนตั้งแต่ 1 ก.ค. 2563 – 16 พ.ค. 2564 กรณีเปิดสอนในโรงเรียนตามปกติ ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม มีมาตรการรองรับตามที่ กศจ. และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดกำหนด พร้อมจัดงบฯให้ครูออกไปเยี่ยมบ้านนักเรียน พร้อมพิจารณาจ่ายเงินสดให้ผู้ปกครองนักเรียนพิการและด้อยโอกาส

2 มิถุนายน 2563 นายกรัฐมนตรีแถลงถึงแนวทางการเรียนการสอนในช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19  โดยได้ชี้แจงถึงการนับเวลาการเรียนการสอนตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึง 16 พฤษภาคม 2564  พร้อมให้สถานศึกษาเปิดสอนชดเชยให้ครบตามโครงสร้างเวลาเรียน โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสมทั้งในระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และสถานศึกษาต่างๆ รวมทั้งการเรียนการสอนทางไกล ให้จัดตารางเวลาเรียนที่ชัดเจนเพื่อที่จะสามารถนับชั่วโมงการเรียนได้

สำหรับการจัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ศธ.ได้นำผลการดำเนินการในระยะที่ 1 (เตรียมความพร้อม) ซึ่งเสร็จสิ้นในวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 และระยะที่ 2 (การตรวจสอบความพร้อมการเรียนการสอนผ่านโทรทัศน์ดิจิทัลและระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม-30 มิถุนายน 2563) มาดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อดำเนินการในระยะที่ 3 ในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึง 30 เมษายน 2564 แยกออกเป็น

สถานการณ์ที่ 1 หากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย จะต้องจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัย ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ระบบดาวเทียม ระบบเคเบิลทีวี และระบบ IPTV จำนวน 17 ช่อง รวมถึงหาวิธีการที่เหมาะสม จัดเตรียมความพร้อมสำหรับอุปกรณ์ ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีการนำระบบการเรียนออนไลน์เข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอน

สถานการณ์ที่ 2 หากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย จะมีการเรียนการสอนปกติในโรงเรียน โดยจะต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) มีมาตรการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

สำหรับการวัดและการประเมินผล จะต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย อาจใช้วิธีการสังเกต การสัมภาษณ์ ให้ข้อมูล ตรวจเยี่ยมบ้านนักเรียน ประสานความร่วมมือจากผู้ปกครอง ใช้การทดสอบรูปแบบต่างๆ อาทิ การประเมินทางอีเมล จัดทำตารางนัดหมายเป็นกลุ่มขนาดเล็ก

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เห็นชอบลดภาระค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (เพิ่มเติม) ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม ในการใช้จ่ายการติดตามและเยี่ยมบ้านนักเรียน อาทิ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า จะพิจารณาดำเนินการจ่ายเงินสดให้แก่ผู้ปกครอง สำหรับนักเรียนพิการ เด็กด้อยโอกาส ทั้งนักเรียนประจำและนักเรียนไป-กลับ อีกด้วย

Advertising

Advertising

การประปาส่วนภูมิภาคยกเว้นเก็บเงินค่าประกันการใช้น้ำ ขอคืนเงินประกันได้ทางออนไลน์

People Unity News : การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ขานรับนโยบายของรัฐบาลและมติคณะกรรมการ กปภ. ยกเว้นการเรียกเก็บเงินค่าประกันการใช้น้ำประปา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานให้แก่ผู้ใช้น้ำ ตั้งแต่ 14 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป

นายกฤษฎา ศังขมณี รองผู้ว่าการ (วิชาการ) รักษาการแทนผู้ว่าการ กปภ. เปิดเผยว่า การประปาส่วนภูมิภาค เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีภารกิจในการจัดหาแหล่งน้ำดิบ ผลิตจัดส่งและจำหน่ายน้ำประปาทั่วประเทศ ยกเว้น (กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ) ขานรับนโยบายรัฐบาลและมติคณะกรรมการ กปภ. ช่วยเหลือผู้ใช้น้ำที่ประสบความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วยการยกเว้นการเรียกเก็บเงินค่าประกันการใช้น้ำประปา เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ใช้น้ำประเภท 1 ที่อยู่อาศัย และสถานที่ทำการหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถานทูต และสถานกงสุล

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ใช้น้ำที่มีความประสงค์ขอรับคืนเงินประกันการใช้น้ำ แต่ยังไม่ได้ลงทะเบียนสามารถยื่นความประสงค์ผ่านช่องทางออนไลน์ของ กปภ. โดยเลือกทำรายการผ่านเว็บไซต์ของ กปภ. www.pwa.co.th,Application PWA 1662 และ Application Line Official Account: @pwathailand ทั้งนี้ ผู้ใช้น้ำสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ PWA Contact Center1662   อ่านต่อที่: https://www.pwa.co.th/news/view/82515

Advertising

Advertising

ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ให้ความมั่นใจกระบวนการผลิตวัคซีนโควิด 19 ของไทยคืบหน้า

People Unity News : ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ให้ความมั่นใจกระบวนการผลิตวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทยคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ผนึกกำลังหลายหน่วยงานได้ผลก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาชาติ เชื่อว่าหากการทดสอบในแต่ละขั้นตอนประสบผลสำเร็จจะได้วัคซีนที่มีคุณภาพให้คนไทยได้ใช้ในกรอบระยะเวลา 12-18 เดือน เผยต้องคิดค้นวิจัยเองเพื่อให้คนไทยมีใช้รวดเร็ว หากรอซื้อจากต่างประเทศอาจไม่ได้ใช้ทันเวลา ส่วนภาคการผลิตพร้อมขยายกำลังการผลิตจำนวนมาก รอแค่ผลวิจัยวัคซีนตัวไหนดีที่สุด

24 พฤษภาคม 2563 ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ได้มีการแถลงความก้าวหน้าวัคซีนโควิด-19 โดย นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาวิจัยวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ว่า ประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม, สถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง รวมทั้งไบโอเทค สวทช. และบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ขณะนี้มีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ผลการวิจัยในรูปแบบวัคซีน mRNA ประสบความสำเร็จในการทดลองในหนูและเริ่มทดลองในลิง ขณะที่นานาชาติมีการวิจัยวัคซีนอีก 114 ชนิด ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองในสัตว์ทดลอง และมีวัคซีนอีก 10 ชนิด ที่มีการทดลองในคน ประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในเวลานี้ ได้แก่ จีน สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมัน และออสเตรเลียทั้งนี้ การจะผลิตวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้คนไทยเข้าถึง ต้องนำศักยภาพของแต่ละหน่วยงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศรวมทั้งการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัยและผู้ผลิตทั้งในและนอกประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมด้วย ถ้าได้ผลการวิจัยออกมาดีและเป็นไปตามแผน คาดว่าจะได้วัคซีนที่ดีและเหมาะสมกับคนไทยและผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ ภายในเวลา 12-18 เดือน

ขณะที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการวิจัยวัคซีนโควิด 19 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเตรียมวัคซีนให้กับประชากรโลกนั้น หากมีประเทศใดที่ผลิตได้สำเร็จ แน่นอนว่าต้องให้ประชากรของประเทศตัวเองก่อน ตอนนี้มีจีนและสหรัฐฯที่มี่ความก้าวหน้าไปมาก 2 ประเทศนี้ประชากรรวมกันประมาณ 1.8 พันล้านคน แค่ผลิตเพียงครึ่งเดียวอาจมากถึง 800-900 ล้านโด๊ส กว่าจะส่งให้ประเทศอื่นจึงต้องรอเวลา สำหรับประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ที่มีความสามารถสูง มีความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเพลซิวาเนียที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีล่าสุด และการได้เห็นตัวอย่างของเทคโนโลยีการวิจัยจากประเทศต่างๆที่ประสบความสำเร็จ จึงมั่นใจว่าเราจะวิจัยและพัฒนาวัคซีนได้ไม่ช้าไปกว่าประเทศอื่นๆมากนัก และอยู่ในกรอบเวลาที่ประมาณ 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง ขณะนี้จึงได้ประสานโรงงานขนาดเล็กเพื่อผลิตวัคซีนที่ได้มาตรฐานสำหรับการวิจัยในคนเอาไว้แล้ว พร้อมกับการเจรจาเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทวัคซีนในประเทศไทยหากผลการทดสอบวัคซีนในแต่ละขั้นตอนประสบความสำเร็จ

ส่วนนายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนของบริษัทฯ มีประสบการณ์ มีนักวิจัยที่มีความสามารถและมีความพร้อมที่จะรองรับการผลิตวัคซีนโควิด 19 ในระดับอุตสาหกรรมได้หลากหลายรูปแบบตามผลสำเร็จของการวิจัย และพร้อมทำความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยว่าจะได้วัคซีนตัวไหนที่ดีและเหมาะสมที่สุด ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้บริษัทสามารถดำเนินการการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ขึ้นมาได้เองได้อย่างรวดเร็วกว่าวัคซีนปกติทั่วไป และเริ่มทำการทดสอบในหนูไปแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการรอผล อีกทั้งยังมีความร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนเพื่อวางแผนความร่วมมือกันถือว่าระบบการผลิตเรามีความพร้อมที่จะสามารถขยายกำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นสำหรับวัคซีนที่ผ่านการทดสอบแล้วว่าสามารถป้องกันโรคได้ให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศไทยได้เมื่อถึงเวลานั้น

Advertising

Advertising

ศธ.เตรียมจ้างผู้ช่วยครูปฐมวัย 6 เดือน กว่า 1 หมื่นคน

People Unity News : รมว.ศธ. เผย ศธ.เตรียมช่วยเหลือครูตกงาน จ้างเป็นครูปฐมวัยชั่วคราว 6 เดือน รับเงินเดือน 9,000 บาท

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ การจัดสรรงบประมาณทุกกระทรวงเพื่อช่วยเหลือผู้ไม่มีงานทำ

รมว.ศธ. กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้แต่ละกระทรวงจัดสรรงบประมาณตามความต้องการ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ยังไม่มีงานทำ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองถึงความต้องการให้บุตรหลานในระดับปฐมวัย ได้กลับมาเรียนที่โรงเรียน หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโนา (โควิค-19) ดีขึ้น ซึ่งหากมีการรับนักเรียนในระดับชั้นดังกล่าวกลับมาเรียนที่โรงเรียนในสภาวการณ์ขณะนี้ มีความจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนครูต่อนักเรียนมากขึ้น จากเดิม นักเรียน 20 คน ต่อครู 1 คน เป็นสัดส่วนนักเรียน 7 คน ต่อครู 1 คน หรือนักเรียน 20 คน ต่อ ครู 3 คน

ดังนั้น ศธ. จะต้องจัดหาผู้ช่วยครูในการดูแลนักเรียน โดยอาจคัดเลือกจากครูระดับปฐมวัยที่สอบบรรจุในตำแหน่งครูผู้ช่วย และได้ขึ้นบัญชีไว้แล้วเพื่อรอการบรรจุแต่งตั้ง

ทั้งนี้ ศธ.จะรวบรวมข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป เช่น การจ้างเป็นผู้ช่วยครู เป็นระยะเวลา 6 เดือน ได้รับอัตราเงินเดือนๆละ 9,000 บาท  ซึ่ง ศธ.มีงบประมาณดำเนินการไว้แล้วกว่า 500 ล้านบาท สามารถจ้างครูช่วยสอนได้ประมาณ 10,000 คน

โฆษณา

ธอส.ทำสายคล้องหน้ากาก 1 ล้านชิ้นแจกบุคลากรทางการแพทย์และผู้ปฏิบัติงานดูแลประชาชน

People Unity News : ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารบ้านของคนไทย เปิดตัวโครงการ “ร้อยพลังเล็ก สู่ล้านพลังยิ่งใหญ่ โดย ธอส.” ร่วมประดิษฐ์สายคล้องหน้ากากอนามัย จำนวน 1,000,000 ชิ้น โดยแบ่งเป็นผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานของ ธอส. และหน่วยงานพันธมิตร จำนวน 600,000 ชิ้น ผู้สูงอายุ/ผู้พิการในความดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนที่ธนาคารสนับสนุน จำนวน 400,000 ชิ้น ภายใน 1 เดือน ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม – 15 มิถุนายน 2563 หวังบรรเทาความเจ็บจากการกดทับของสายหน้ากากอนามัยเมื่อใส่เป็นเวลานานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และทุกสาขาอาชีพที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชนในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

นายปริญญา พัฒนภักดี ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ตามที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในหลายประเทศทั่วโลกจนทำให้มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ขณะที่ในประเทศไทยซึ่งปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลจากความสามัคคีของประชาชนที่ต่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมพร้อมกับให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆของภาครัฐ รวมถึงกลุ่มบุคคลที่สำคัญที่สุด นั่นคือการปฏิบัติหน้าที่อย่างทุ่มเทและเต็มกำลังเพื่อดูแลรักษาให้บริการประชาชนของบรรดาบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข และผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการประชาชน ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจทำให้คนไทยมีบ้าน ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและความเจ็บจากการใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานานของผู้ที่เสียสละปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระหว่างการทำงาน จึงได้จัดทำโครงการ “ร้อยพลังเล็ก สู่ล้านพลังยิ่งใหญ่ โดย ธอส.” ขึ้นมา โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของคุณยายประเพ็ญ ฮั่นตระกูล วัย 92 ปี ที่เผยแพร่ในรายการ “คนค้นฅน” ซึ่งตัดเย็บสายคล้องหน้ากากอนามัยด้วยตัวเอง เพื่อหวังบรรเทาความเจ็บจากการกดทับของสายหน้ากากอนามัยเมื่อใส่เป็นเวลานานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ธนาคารจึงได้เชิญชวนผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงานของธนาคาร หน่วยงานพันธมิตร และผู้สูงอายุร่วมกันประดิษฐ์สายคล้องหน้ากากอนามัยให้ได้จำนวน 1,000,000 ชิ้น โดยแบ่งเป็นการประดิษฐ์โดยผู้ปฏิบัติงานของ ธอส.และหน่วยงานพันธมิตร จำนวน 600,000 ชิ้น ผู้สูงอายุ/ผู้พิการในความดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนที่ธนาคารให้การสนับสนุน จำนวน 400,000 ชิ้น โดยมีระยะเวลาจัดทำสายคล้องหน้ากากอนามัย 1 เดือน ตั้งแต่วันนี้ (15 พฤษภาคม 2563) ซึ่งถือเป็นวัน Kick Off โครงการไปถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2563

“โครงการ ร้อยพลังเล็ก สู่ล้านพลังยิ่งใหญ่ โดย ธอส. ถือเป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริมให้คนในองค์กรและประชาชนทั่วไปเกิดความรัก ความสามัคคี เห็นถึงความสำคัญของการช่วยเหลือดูแลกันและกัน พร้อมทั้งตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของการจัดทำโครงการ CSR ของ ธอส.คือ “ไม่ใช่แค่หน้าที่ แต่คือความห่วงใย” และเมื่อครบ 1,000,000 ชิ้นแล้ว ธอส. จะนำไปอบฆ่าเชื้อก่อนนำไปส่งมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และทุกกลุ่มอาชีพที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชนต่อไป” นายปริญญากล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังพิธีเปิดโครงการฯ ธอส. ยังได้จัดสถานที่ ณ ห้องวิมานเมฆ ชั้น 3 อาคาร 2 สำนักงานใหญ่ ให้คณะผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานของธนาคาร ร่วมกันประดิษฐ์สายคล้องหน้ากากอนามัยโดยคำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing จำกัดผู้เข้าร่วมกิจกรรม และทุกคนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยอีกด้วย ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบ 67 ปี ธอส. ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางให้สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองตามควรแก่อัตภาพมาแล้วมากกว่า 3.7 ล้านครอบครัว ตามพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ CSR ทั้งด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา สังคมและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสถาบันพระมหากษัตริย์/ศาสนา/ศิลปวัฒนธรรม และกีฬา โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน และปลูกจิตอาสาช่วยเหลือสังคมของพนักงานในองค์กร รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชุมชน และสร้างสังคมไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเติบโตอย่างยั่งยืน

โฆษณา

สำนักพุทธฯร่วมกับวัดทั่วประเทศตั้งโรงทานช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

People Unity News : พศ.ร่วมกับวัดทั่วประเทศ ตั้งโรงทานช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ช่วยประชาชนได้กว่า 2.7 แสนคน/วัน เผยเตรียมช่วยเหลือผ่านระบบ Drive Thru ในทุกพื้นที่ชุมชน

วันนี้ (13 พ.ค.63) เวลา 12.00 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อํานวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แถลงการจัดตั้งโรงทานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น คณะสงฆ์ไทยได้นำพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชฯ ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบความยากลำบากจากสถานการณ์ฯ โดยมีพระบัญชาให้จัดตั้งโรงทาน โดยให้สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ประสานงานกับวัดทั่วราชอาณาจักรที่มีศักยภาพเพียงพอในการจัดตั้งโรงทานช่วยเหลือผู้ประสบความยากลำบากจากสถานการณ์ฯ โดยกำหนดแนวทางประสานความร่วมมือที่คำนึงถึงความพร้อมเป็นปัจจัยสำคัญ ร่วมกับการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนในชุมชนนั้นๆ และให้ปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการ คำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด

ปัจจุบันมีการดำเนินการจัดตั้งโรงทานไปแล้ว 77 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร รวมเป็น 914 ศูนย์ ซึ่งมีพี่น้องประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 274,000 คนต่อวัน สำหรับวัดขนาดเล็กที่ยังมีศักยภาพไม่มากแต่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ให้มีการจัดตั้งโรงทานในลักษณะตู้แบ่งปันความสุข ผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด ทั้งการเข้ารับการตรวจ ณ จุดคัดกรอง ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง 1.5 – 2 เมตร ไม่ให้เกิดความแออัด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ขณะที่ผู้ให้ความร่วมมือในการเป็นแม่ครัวจิตอาสาต้องวัดอุณหภูมิก่อนเข้าไปประกอบอาหาร สวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม และล้างมือก่อนการประกอบอาหาร ถือเป็นมาตรการหลักที่ต้องปฏิบัติตาม ขณะเดียวกันมีโรงทานที่เปิดทำการแล้วคือ โรงทานวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นโรงทานต้นแบบ ที่ได้เปิดตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลามากกว่า 1 เดือน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทั้งผู้ได้รับผลกระทบที่อาศัยอยู่ในชุมชน รวมทั้งผู้ประกอบอาชีพต่างๆที่ได้รับผลกระทบด้วย สำหรับโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือ การช่วยเหลือผ่านระบบ Drive Thru เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ทุกพื้นที่ชุมชน

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งโรงทานเคลื่อนที่สำหรับประชาชนที่ไม่ได้อยู่ใกล้บริเวณพื้นที่วัด โดยการสื่อสารผ่านผู้นำชุมชน เพื่อจัดทำอาหารที่ปรุงสดใหม่ส่งไปยังชุมชนนั้นๆ โดยผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือให้รออยู่ที่บ้านเพื่อเป็นการแก้ปัญหาความแออัด ขณะเดียวกันได้มีแนวทางการต่อยอดในการใช้วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ปลูกผักปลอดสารพิษ “สวนวิถีพุทธ วิถีเกษตร” ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วในบางพื้นที่ เช่น วัดทรงเสวย วัดพรหมมหาจุฬามณี วัดประดู่ วัดอินทาราม รวมถึงการเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่ยังไม่ได้กลับไปประกอบอาชีพ ช่วยกันปลูกผักและนำมาจำหน่ายให้แก่วัดเพื่อนำมาปรุงอาหารแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังสามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อีกด้วย

สำหรับโครงการจัดตั้งโรงทานได้มีการต่อยอดดำเนินการไปยังพื้นที่วัดไทยในต่างประเทศ ทั้งทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงโอเชียเนีย เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ ตัวอย่างเช่น วัดอรุณสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังมีการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ด้วย ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการใช้วัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนอย่างแท้จริง เพื่อเป็นการเปลี่ยนแนวคิดทัศนคติของคนในประเทศในเรื่องของการช่วยเหลือเผื่อแผ่ ทำให้พี่น้องประชาชนเข้าใจคำว่าพอเพียงและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ในสังคม ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงทาน สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ประสานงานไปยังพื้นที่จังหวัดต่างๆ ผ่านสํานักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด เพื่อประชาสัมพันธ์จุดจัดตั้งโรงทานของแต่ละพื้นที่จังหวัดนั้นๆ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง

โฆษณา

องค์การเภสัชกรรมพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์รักษาไวรัสโคโรนา 2019 คาดสำเร็จปลายปี 64

People Unity News : อภ.พัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ รักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระดับห้องปฏิบัติการ พร้อมก้าวสู่กระบวนการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบจนเป็นเม็ดยาสำเร็จรูป คาดสำเร็จปลายปี 64 พึ่งพาตนเองรองรับผู้ป่วยระยะยาว

ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า อภ.ได้วิจัยและพัฒนา ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) มาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 โดยในระยะแรกนี้ได้จัดซื้อตัวอย่างวัตถุดิบมาทดลองพัฒนาสูตรเบื้องต้น 100 กรัมและสั่งซื้อเพิ่มอีก 5 กิโลกรัม จะมาถึงเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อนำมาพัฒนาสูตรตำรับ และขยายขนาดการผลิต ตลอดจนศึกษาความคงสภาพ และประสิทธิผลทางชีวสมมูล คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จะมีข้อมูลพร้อมยื่นขึ้นทะเบียน

ดร.ภญ.นันทกาญจน์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า อภ.ได้มีการวางแผนบริหารจัดการเพื่อให้มียาฟาวิพิราเวียร์ เพียงพอต่อความต้องการรองรับการรักษาผู้ป่วยภายในประเทศอย่างยั่งยืนทั้งในภาวะวิกฤติและระยะยาว ซึ่ง ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นหนึ่งในยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามแนวทางการรักษาของประเทศไทย และจากการคาดการณ์ว่าจะมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานประมาณ 1-2 ปี การดำเนินการเพื่อให้มียาไว้ใช้ในยามจำเป็นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก อภ.มีการดำเนินงานพร้อมกันใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์ ในระยะเร่งด่วน มีการนำเข้ายาต้นแบบ จาก บริษัท FujiFilm Toyama Chemical Co.,Ltd. ประเทศญี่ปุ่น และบริษัท Zhejiang Hisun Pharmaceutical Company ประเทศจีน ซึ่งได้รับใบอนุญาตผลิตจากญี่ปุ่น เพื่อกระจายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งไทยได้มีการนำเข้ามาแล้ว จำนวน 187,000 เม็ด และในเดือนพฤษภาคมนี้ นำเข้าจากจีนและญี่ปุ่นอีกจำนวน 303,860 เม็ด ส่วนด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ ที่ได้ดำเนินการคู่ขนานกับการนำเข้านั้น ได้มีการจัดหาวัตถุดิบเพื่อใช้พัฒนาและผลิตยาเม็ดฟาวิพิราเวียร์ได้เองภายในประเทศ สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยคัดเลือกแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาตรฐานจากประเทศจีน ซึ่งขณะนี้ได้จัดซื้อตัวอย่างวัตถุดิบมาเพื่อทดลองผลิตในเบื้องต้นและอยู่ระหว่างการสั่งซื้อวัตถุดิบในปริมาณที่มากขึ้น เพื่อนำมาพัฒนาสูตรตำรับ และขยายขนาดการผลิต ตลอดจนศึกษาความคงสภาพ และศึกษาประสิทธิผลทางชีวสมมูล (Bioequivalence study) เพื่อศึกษาระดับยาในเลือดเทียบกับยาต้นแบบต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จะมีข้อมูลพร้อมยื่นขึ้นทะเบียน การดำเนินการด้านวิจัยพัฒนาการสังเคราะห์วัตถุดิบยาฟาวิพิราเวียร์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ได้ดำเนินการคู่ขนานไปด้วยช่วงเวลานี้เช่นกัน โดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการในกระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบ โดยอภ.ได้สนับสนุนทุนวิจัยแก่ สวทช. จำนวน 4.28 ล้านบาทสำหรับดำเนินการในกระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบระดับห้องปฏิบัติการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 3 – 6 เดือน จากนั้น อภ.นำมาขยายขนาดการสังเคราะห์สู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรมคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตวัตถุดิบในระดับกึ่งอุตสาหกรรมได้ในเดือนมิถุนายน 2564

ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสิทธิบัตรยานั้น บริษัท FujiFilm Toyama Chemical Co.,Ltd. ประเทศญี่ปุ่น ได้มายื่นคำขอสิทธิบัตรด้านการผลิตเม็ดยา favipiravir ที่ประเทศไทยในปี พ.ศ.2553 แต่ปัจจุบันยังเป็นเพียงคำขอสิทธิบัตรเท่านั้น หากยาดังกล่าวได้รับสิทธิบัตร จะได้ระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปี โดยนับย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอสิทธิบัตรในไทย อย่างไรก็ตามการพัฒนาสูตรภายในประเทศสามารถทำได้โดยไม่ถูกฟ้องร้อง แต่หากผลิตจำหน่ายในท้องตลาด อาจโดนฟ้องเพราะละเมิดสิทธิบัตรได้ ดังนั้น อาจต้องมีการเจรจาทำ Voluntary Licensing กับบริษัทเจ้าของสิทธิบัตร เพื่อให้ อภ.สามารถผลิตและจำหน่าย

“องค์การเภสัชกรรมมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการคิดค้น วิจัย และพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์ ที่จำเป็นต่อการรักษา ให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ เพื่อให้มีความยั่งยืนในการสำรองยาไว้ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 ภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ รองรับการแพร่ระบาดทั้งในภาวะวิกฤติและเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยในระยะยาวต่อไป” ดร.ภญ.นันทกาญจน์ กล่าว

โฆษณา


มท.สั่งการทุกจังหวัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค (ศปก.) ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และ อปท.

People Unity News : มท.สั่งการทุกจังหวัด ตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค (ศปก.) กำกับ ดูแล ตามมาตรการป้องกันโรคในทุกระดับ

วันนี้ (8 พ.ค.63) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเปิดเผยว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้มีคำสั่งที่ 2/2563 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กำหนดให้ ศปก.จังหวัด ศปก.อำเภอ ศปก.ตำบล และ อปท. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ กำกับ ดูแล ตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นายฉัตรชัย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปยังทุกจังหวัด ให้ดำเนินการตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค (ศปก.) ในแต่ละระดับ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้แต่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัด (ศปก.จ.) นายอำเภอ เป็นผู้แต่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) และศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคตำบล (ศปก.ต.) และนายกเทศมนตรีเทศบาลนคร/เทศบาลเมือง เป็นผู้แต่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคเทศบาลนคร/เทศบาลเมือง (ศปก.ทน./ศปก.ทม.) ตามโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด พร้อมทั้งให้กำกับ ดูแล และติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคในพื้นที่โดยเคร่งครัด

นายฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น จะมีทั้งมาตรการควบคุมหลัก เช่น การทำความสะอาดในบริเวณสถานที่สำหรับให้บริการประชาชน การสวมหน้ากากอนามัย การให้มีจุดบริการล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อโรค การให้เว้นระยะห่างระหว่างโต๊ะและระหว่างที่นั่ง รวมถึงระยะห่างระหว่างการเดินอย่างน้อย 1 เมตร และการให้ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการมิให้แออัด เป็นต้น และมาตรการเสริม อาทิ มาตรการคัดกรองอาการป่วย มาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้ให้บริการ มาตรการป้องกันการชุมนุมของคนหมู่มาก การลดเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น การงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในสถานที่จำหน่ายอาหาร การจัดให้มีพื้นที่ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร และอาจเพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชั่นติดตามตัวทางโทรศัพท์เคลื่อนที่มาใช้ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น หรือใช้มาตรการควบคุมด้วยการบันทึกข้อมูลและรายงานในบางพื้นที่ก็ได้

โฆษณา

กระทรวงดีอีเอสแจก “เน็ตอยู่บ้าน” ฟรี 3 เดือน

People Unity News : “ดีอีเอส” เพิ่มมาตรการเน็ตบ้านฟรี เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนช่วงโควิด-19

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แถลงข่าวเกี่ยวกับการเพิ่มมาตรการเน็ตบ้านฟรีช่วยประชาชนลดภาระค่าใช้จ่ายช่วงโควิด-19 ภายใต้กิจกรรม “ดีอีเอสช่วยประชาชนสู้ภัยโควิด-19” โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประจำที่ (Fixed Broadband) แพ็กเกจ “เน็ตอยู่บ้าน” ความเร็ว 100/50 Mbps ให้กับประชาชนที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตบ้าน โดยจะติดตั้งและให้บริการแก่ประชาชนฟรีเป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับแพ็กเกจ “เน็ตอยู่บ้าน” ความเร็วสูงสุด 100/50 Mbps ระยะเวลาสัญญาใช้บริการ 12 เดือน ได้จัดเตรียมรองรับประชาชนจำนวน 100,000 ราย ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนใช้งานฟรี 3 เดือน โดยฟรีค่าใช้จ่ายแรกเข้าและค่าติดตั้งสำหรับผู้ใช้บริการต่อเนื่องจนครบตามระยะเวลาในอัตรา 390.- บาท/เดือน ประชาชนที่สนใจสามารถสมัครรับสิทธิ์แพ็กเกจดังกล่าวได้ตั้งแต่ 15 พ.ค. – 31 ก.ค.63  ณ สำนักงานบริการลูกค้า CAT และ TOT, ช่องทางออนไลน์เว็บไซต์ www.CinternetBYCAT.com  Facebook : CinternetBYCAT  และ www.tot.co.th หรือสอบถามที่ CAT Contact Center 1322 และ TOT Contact Center 1100

ทั้งนี้ กระทรวงดีอีเอสคำนึงถึงการรองรับสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ที่คาดว่าจะส่งผลกระทบไปอีกระยะหนึ่ง โดยประชาชนที่ยังคงอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ยังคงมีความจำเป็นต้องใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนอินเทอร์เน็ตบ้านจึงมีความจำเป็นโดยนอกจากรองรับการทำงานที่บ้าน (WFH) ยังรวมถึงกลุ่มนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเรียนตามปกติจะต้องเรียนออนไลน์เพิ่มขึ้น

โฆษณา

โฆษก ศบค. เผยคลินิกเสริมความงาม ผับ บาร์ ยังคงปิดบริการต่อไป

People Unity News : โฆษก ศบค. เผยคลินิกเสริมความงาม ผับ บาร์ ยังคงปิดบริการ เนื่องจากใช้เวลาทำกิจกรรมในสถานที่ดังกล่าวนาน วอนประชาชนยังคงเน้นการควบคุมโรคเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย

4 พ.ค. 63 เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนผ่านโซเซียลมีเดียช่วงการแถลงข่าวของศูนย์ข่าวโควิด-19 ดังนี้

โฆษก ศบค. ย้ำการให้บริการของสถานเสริมความงาม แม้บางแห่งได้มีการจดทะเบียนเวชรกรรมถูกต้อง ตามราชกิจจานุเบกษา ข้อกำหนดฉบับที่ 5 (6) ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 63 ว่า คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม เป็นหนึ่งในกิจการที่ต้องมีคำสั่งปิดสถานที่เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากอธิบดีกรมควบคุมโรคมีความเห็นว่า กิจการ/กิจกรรมที่ทำในคลินิกเวชกรรมเสริมความงามนั้นใช้เวลานาน และถือว่ามีความจำเป็นน้อย จึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับ โรงมหรสพ สถานบริการ ผับ บาร์ เป็นต้น ยืนยันว่ายังไม่สามารถให้กลับมาให้บริการได้

โฆษก ศบค. ยังชี้แจงถึงข้อมูลและความแม่นยำผลการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 18 รายที่จังหวัดสงขลาว่า หลักการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น หากมีการตรวจในคนหมู่มาก ย่อมมีโอกาสพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงเพิ่มศักยภาพในการตรวจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับทุกคนจะเป็นการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก เช่น กรณีจังหวัดยะลาที่ตรวจไป 3,000 กว่าคน แต่บางอำเภอไม่พบผู้ป่วยเลย โฆษก ศบค. ยืนยันการใช้ชุดข้อมูล สถิติ เพื่อระบุกลุ่มเสี่ยงในการตรวจเป็นวิธีที่ยอมรับระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อดำเนินการในส่วนนี้

โฆษก ศบค. ยังแสดงความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนที่ได้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ที่มีความแออัด ขอให้เข้าใจว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวัน จะต้องสร้างความปลอดภัยได้ เช่นเดียวกับการปฏิบัติตนตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา  หากร่วมมือกัน ยึดหลักมาตรการป้องกันโรคตามประกาศ ทั้งการเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ เจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค การเว้นระยะห่าง และลดความแออัด มาตรการดังกล่าวเหล่านี้จะทำให้ประสบสำเร็จได้  ซึ่งยังต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนให้ได้ร้อยละ 100 เพื่อทำให้จำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อกลายเป็นศูนย์ ติดต่อกันอย่างน้อย 14 วัน จึงจะมั่นใจว่าจะไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ เพื่อเราจะเข้าสู่ระยะต่อไปได้และมีอิสระในการดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้น

โฆษก ศบค. ยังตอบหากพบว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จะมีมาตรการเข้มงวดขึ้นหรือไม่นั้น โดยชี้แจงว่า ศบค. มีการจัดเก็บชุดข้อมูลในรูปแบบของสถิติ ข้อมูลชุดพฤติกรรมที่มีการผ่อนปรนจะสอดคล้องกับชุดข้อมูลยืนยันผู้ติดเชื้อจากห้องปฏิบัติการ เมื่อปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนแล้ว หากพบจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อลดลง ก็สามารถขยับมาตรการผ่อนปรนต่อไปได้ แต่หากจำนวนตัวเลขของผู้ติดเชื้อมีเพิ่มขึ้น จะต้องทบทวนมาตรการต่างๆอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ผู้รับบริการและผู้กำกับติดตามของภาครัฐ ช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน จะสร้างความปลอดภัยให้แก่เราได้

โฆษณา

Verified by ExactMetrics