วันที่ 22 พฤศจิกายน 2024

หากเราใส่หน้ากากผ้าอยู่ มีผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 มาจามใส่ จะส่งผลให้เราติดโรคหรือไม่??

People Unity News : หากเราใส่หน้ากากผ้าอยู่ และมีผู้ป่วยจากการติดไวรัสโควิด-19 มาจามใส่ จะส่งผลให้เราติดโรคหรือไม่??

Q: หากเราใส่หน้ากากผ้าอยู่ และมีผู้ป่วยจากการติดไวรัสโควิด-19 มาจามใส่ จะส่งผลให้เราติดโรคหรือไม่??

A: มีโอกาสติดโรค เพราะว่าปัจจุบันหลักฐานทางการแพทย์ที่มาสนับสนุนว่าการป้องกันการติดเชื้อแบบ 100 % นั้นยังไม่พบ ดังนั้นแม้จะใส่หน้ากากผ้าเพื่อป้องกัน แต่เมื่อเราไปสัมผัสฝอยละอองแบบตรงๆ เช่นนี้ ก็มีโอกาสติดโรคได้ แต่ทั้งนี้การใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้เป็นอย่างดีจึงควรใส่เมื่อต้องออกไปในที่สาธารณะ

ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

COVID-19

โฆษณา

ผู้ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องเสียชีวิตทุกรายหรือไม่??

People Unity News : ผู้ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องเสียชีวิตทุกรายหรือไม่??

Q: ผู้ได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องเสียชีวิตทุกรายหรือไม่??

A: ไม่ทุกราย โดยพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 80 สามารถหายจากอาการป่วยได้เอง และพบผู้มีอาการป่วยหนักอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4 เท่านั้น ทั้งนี้พบว่าผู้ที่มีความเสี่ยงจากการได้รับเชื้อไวรัสฯแล้วอาจถึงขั้นเสียชีวิต คือกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ

ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

COVID-19

โฆษณา

ครม.มีมติยืดเวลานำส่งเงินสมทบตามมาตรา 47 และผู้ประกันตนตามมาตรา 39

People Unity News : ครม.ออกมาตรการเยียวยาท่องเที่ยว แรงงาน ก.พาณิชย์ยืนยันไข่ไก่เพียงพอ ไม่ต้องกักตุน

วันนี้ (24 มี.ค.2563) ณ ศูนย์แถลงข่าวฯ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายประโยชน์ เพ็ญสุต รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าภายใน ได้ร่วมแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 และมาตรการการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า จากนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพียงที่เดียวเท่านั้น พร้อมกล่าวประชาสัมพันธ์การเจริญพระพุทธมนต์บทรัตนสูตร ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 25 มี.ค. 63 เวลา 16.00 น. เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลและเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 6 วัดและเมืองหลักๆ 3 วัดในแต่ละภาค ซึ่งจะไม่มีเปิดให้ประชาชนเข้าไปร่วมฟังที่พระอุโบสถ แต่จะถ่ายทอดสดทางวิทยุกระจายเสียง และทางสถานีโทรทัศน์ NBT โดยพระทุกรูปจะนั่งห่างกันเกิน 1 เมตร ล้างมือและการทำความสะอาดพระอุโบสถ ก่อนการปฏิบัติกิจสงฆ์ ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขด้วย

จากนั้น  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ได้มีการอนุมัติหลักการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะมีการประกาศใช้ในวันมะรืนนี้คือ 26 มีนาคม เนื่องจากต้องมีระยะเวลาเตรียมการสื่อสารกับพี่น้องประชาชน ให้เข้าใจถึงหลักการและเหตุผลและความจำเป็นในขนาดนี้ รวมทั้งเตรียมการจัดโครงสร้างศูนย์อำนวยการฉุกเฉิน เมื่อประกาศใช้แล้วจะมีการประชุมศูนย์อำนวยการฉุกเฉินฯ ณ ทำเนียบรัฐบาลทุกเช้า ทั้งนี้ ขอให้รอความชัดเจนโดยนายกรัฐมนตรีจะได้ชี้แจงรายละเอียดมาตรการต่างๆต่อไป โดยจะเป็นการแถลงข่าวผ่านศูนย์แถลงข่าวโควิด-19 ทำเนียบ ช่องทางนี้เพียงที่เดียว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังเปิดเผยมติคณะรัฐมนตรีมีเห็นชอบมาตรการเยียวยาผู้ประสบผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เสนอโดยกระทรวงการคลังเป็นมาตรการระยะที่สองเพิ่มเติมจากมาตรระยะที่หนึ่งเมื่อวันที่ 10 มีนาคม และคงจะมีมาตรการระยะอื่นๆตามมาเพื่อดูแลพี่น้องให้ครบทุกกลุ่มทุกภาคส่วนของไทย

สำหรับหน่วยงานราชการอื่นๆที่เสนอเพิ่มเติม โดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ให้ยกเลิกกฎกระทรวง กำหนดจำนวนเงินหลักประกัน พ.ศ. 2555  โดยผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะต้องวางหลักประกันต่อนายทะเบียน ในวันที่มารับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวที่สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กลางหรือสาขาที่มีอำนาจหน้าที่ มีรายละเอียดของหลักประกันมี ดังนี้ 1) การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทเฉพาะพื้นที่ ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 3,000 บาท  2) การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทภายในประเทศ ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 15,000 บาท 3) การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภทนำเที่ยวจากต่างประเทศ ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท และ 4) การประกอบธุรกิจนำเที่ยวประเภททั่วไป ต้องวางหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 60,000 บาท  ซึ่งเป็นการบางเบาภาระให้กับผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์

กระทรวงแรงงานเสนอการผ่อนปรนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวปี 2562 – 2563 ให้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ซึ่งนายจ้างหรือผู้ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวกับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงาน หรือยื่นผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 และไม่สามารถดำเนินการขอตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปเพื่อการทำงานได้ทันภายในกำหนด รวมถึงผู้ติดตามให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ต่อไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563  ในส่วนของกระทรวงแรงงาน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุดสามารถทำงานไปพลางก่อนได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563  แต่หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าวขอให้หน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบปราบปราม จับกุมดำเนินคดีนายจ้าง แรงงานผิดกฎหมายที่ลักลอบทำงานและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

อีกฉบับหนึ่งที่จะรองรับมาตรการโควิด-19 คือ ร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. …. ซึ่งมีการกำหนดบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563 จึงมีการแก้ไข คำนิยาม “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า อัคคีภัย  วาตภัย อุทกภัย  ธรณีพิบิติภัย หรือภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ตลอดจนภัยอื่นๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชนและถึงขนาดผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ  กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราเต็มจำนวนของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยดังกล่าว  ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ  แต่ทั้งนี้ไม่เกิน 180 วัน  และกำหนดให้กรณีหน่วยงานภาครัฐมีคำสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค  ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่ไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 79/1 ในอัตราเต็มจำนวนของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการตามคำสั่ง ไม่เกินหกสิบวัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการชดเชยกำลังซื้อที่ลดลงจากการไม่ได้รับค่าจ้างระหว่างการหยุดการประกอบกิจการ  และร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตน พ.ศ. ….  ให้นายจ้างที่ขึ้นทะเบียนนายจ้างและขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้รับการขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ดังนี้ ค่าจ้างงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ค่าจ้างงวดเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ค่าจ้างงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ให้ยื่นแบบรายการแสดงเงินนำส่งเงินสมทบและนำส่งเงินสมทบ ภายในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563 (2) ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้รับการขยายกำหนดเวลานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนมาตรา 39 วรรคสาม ดังนี้ เงินสมทบงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนภายในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เงินสมทบงวดเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เงินสมทบงวดเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 ให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน ภายในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563

ในช่วงท้าย นายประโยชน์ เพ็ญสุต รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าภายใน ได้กล่าวถึงการมาตรการรองรับสินค้าอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะไข่ไก่ที่ว่า สถานการณ์ในการผลิตสินค้าของประเทศไทยขณะนี้นั้น มีวัตถุดิบและกำลังการผลิตอย่างเพียงพอ แต่เมื่อประชาชนเริ่มซื้อสินค้าสำรองเนื่องจากการปิดห้างสรรพสินค้า อาจทำให้สินค้าบางชนิดขาดหายจากการวางตลาดไป โดยทางกรมการค้าภายในสั่งให้ผู้ตรวจราชการลงพื้นที่โรงงานเพื่อตรวจสอบว่ายังมีสินค้าอยู่เพียงพอ ขอยืนยันว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าด้านอุปโภคและบริโภคของประเทศไทย ทั้งยังขอความร่วมมือกับบริษัทผู้ค้าที่บริการส่งสินค้าด้วยตนเองหรือบริษัทขนส่งสินค้าให้เตรียมความพร้อม หากประชาชนไม่สะดวกไปซื้อด้วยตนเอง หรือจำเป็นจะต้องเฝ้าสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน สำหรับไข่ไก่  มีปริมาณการผลิตไข่ไก่ในปีนี้ยังคงเพียงพอ แต่ด้วยความต้องการซื้อที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อสำรองไว้ อาจทำขาดตลาดได้บางเวลา จึงอยากขอความร่วมมือของประชาชนอย่ากักตุนไข่ สำหรับราคาไข่ไก่นั้น ทางกรมการค้าภายในนั้นยืนยันว่าหากผู้ใดที่จำหน่ายไข่ไก่เกินราคา จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

โฆษณา

รัฐบาลขอประชาชนอย่าไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 เองหากไม่เข้าเกณฑ์เสี่ยง

People Unity News : รัฐบาลขอความร่วมมือประชาชน อย่าไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 เอง หากไม่เข้าเกณฑ์เสี่ยง ร่วมใจกันสงวนทรัพยากรเพื่อผู้ป่วยจำเป็น

ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง  ไม่มีอาการไข้  ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย  ไม่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ประกาศเป็นพื้นที่ติดโรคหรือพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่อง  อย่าตัดสินใจไปโรงพยาบาลเองเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพราะขณะนี้ มีคนจำนวนมาก ไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งที่โรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถให้บริการได้ และน้ำยาที่ใช้ในการตรวจเชื้อไม่เพียงพอ ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งจัดหาให้สถานพยาบาลเป็นการด่วน

ทั้งนี้ อยากให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่า หากคนปกติทั่วไป ไม่มีอาการไข้ ไม่ไปอยู่ร่วมหรือมีประวัติสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยงหรือเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพราะเมื่อไม่มีอาการอะไร ไม่มีไข้  ไปตรวจ เมื่อรู้ผล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัย เพราะต้องกักตนเองอีก 14 วัน  จึงอยากขอให้เก็บน้ำยาให้สำหรับคนหรือผู้ป่วยที่แพทย์ประเมินว่ามีโอกาสสูงในการมีเชื้อโควิดดีกว่า

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังยืนยันตามคำแนะนำของแพทย์และกระทรวงสาธารณสุขว่า  ประชาชนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง สามารถใช้หน้ากากผ้าแทนได้  เพื่อที่จะได้เก็บสำรองหน้ากากอนามัยให้หมอ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานในด่านหน้ากับผู้ป่วยจริงในโรงพยาบาลขณะนี้ได้มีไว้ใช้ มั่นใจคนไทยจะร่วมมือร่วมใจฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

โฆษณา

รัฐบาลสั่งธนาคารเตรียมเงินสดให้เพียงพอรองรับความต้องการของประชาชนในช่วงโควิด-19

People Unity News : รัฐบาลสั่งธนาคารเตรียมเงินสดเพียงพอ รองรับความต้องการของประชาชนในสถานการณ์โควิด-19

เมื่อวานนี้ (23 มี.ค.2563) เวลา 13.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล COVID-19 ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ นายสมคิด จันทมฤก  โฆษกกระทรวงมหาดไทย ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร และนางภานิณี มโนสันติ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานกิจการนโยบายสินเชื่อและภาครัฐ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้พำนักอยู่ที่บ้าน งดการเดินทางไปต่างจังหวัด  อย่างไรก็ตาม การประกาศปิดถานที่ต่างๆเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม – 12 เมษายน 2563 ส่งผลให้พี่น้องประชาชนหรือแรงงานต่างด้าวที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการปิดสถานบันเทิง สถานที่ต่างๆ เดินทางกลับยังภูมิลำเนาของตนเอง  ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถห้ามประชาชนเดินทางกลับได้ แต่ได้มีมาตรการการรองรับคือคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้จัดทำแผนปฏิบัติการค้นหาเฝ้าระวัง ป้องกันโรคระดับจังหวัด อำเภอและหมู่บ้าน คัดกรองผู้ที่เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้คัดแยกตัวและสังเกตการณ์ 14 วันตามหลักของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมกันนี้ ขอความร่วมมือประชาชนที่ยังไม่เดินทางกลับยังภูมิลำเนาให้อยู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปก่อน เพราะอาจไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ หากกลับไปภูมิลำเนาอาจนำเชื้อกลับไปยังครอบครัวของตนเอง ในส่วนของการเยียวยานั้น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ากระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการต่างๆในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ เพื่อเยียวยาดูแลพี่น้องประชาชน สำหรับนายจ้างและลูกจ้าง ผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมมีมติลดอัตราสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนเหลือ 4% เป็นระยะเวลา 6 เดือน ขยายระยะเวลาส่งเงินสมทบงวดเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ไปอีก 3 เดือน และเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน สำนักงานประกันสังคมจ่ายอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 80 วัน

โอกาสนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณรัฐบาลจีนได้มีการบริจาคเวชภัณฑ์ให้กับทางรัฐบาลไทยมีการบริจาคชุดตรวจเชื้อ จำนวน 20,000 ชุด หน้ากากอนามัย จำนวน 100,000 ชิ้น หน้ากากอนามัย ประเภท N 95 จำนวน 20,000 ชิ้น ชุดอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย (PPE : Personal Protective Equipment) จำนวน 20,000 ชุด

จากนั้น ร.ต.อ. พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เรากำลังเข้าสู่ช่วงเวลาสุดท้ายหรือช่วงเวลาทองคำ (golden period) ซึ่งจะชี้ชะตาว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้หรือไม่ ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงเร่งออกมาตรการสกัดการเคลื่อนย้ายหรือห้ามคนไม่ให้ออกมาทำกิจกรรม โดยปิดสถานที่ รวมทั้งหมด 4 คำสั่ง โดยคำสั่งที่ 1 สั่งปิด 8 สถานที่ เช่น สนามมวย สถานบริการ และเพิ่มเติมปิดสถานที่ตามคำสั่งที่ 2 รวมทั้งหมด 26 สถานที่ คำสั่งที่ 3 เป็นการขยายความคำสั่งที่ 2  และคำสั่งที่ 4 เป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการต่อไป โดยขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน โฆษกกรุงเทพมหานครยังอธิบายเพิ่มเติมถึง ประเด็น “ห้างสรรพสินค้า” เป็นภาษากฎหมายครอบคลุมถึง ห้างทุกประเภท ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์  ส่วนธนาคารในหรือนอกห้างเปิดบริการตามปกติ ประเด็นร้านอาหาร ทุกๆที่สามารถเปิดบริการได้เหมือนเดิมเพียงแต่ต้องซื้อกลับไปทานที่บ้านเท่านั้น ยกเว้นสนามบินเนื่องจากต้องรองรับผู้โดยสาร แต่ให้ใช้มาตรการเว้นระยะห่าง กรณีภาพคนแออัดที่สถานีขนส่งหมอชิตหลังคำสั่งปิดสถานที่ต่างๆ เพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนานั้น พบว่าร้อยละ 90 เป็นชาวลาว พม่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดด่าน อีกร้อยละ 10 เป็นชาวไทยผู้ที่เดินทางกลับต่างจังหวัด พบว่าเพิ่มเพียงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่ใช้บริการสถานีขนส่งหมอชิตในแต่ละวันแล้ว โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกท่านที่ให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการไม่ออกจากบ้าน

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่ปรึกษากรมการแพทย์และกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดครั้งนี้รุนแรงและแพร่กระจายไปทั่วโลก คาดว่า ยังคงระบาดเป็นเวลาระยะยาว ดังนั้น ต้องช่วยกันบรรเทาสถานการณ์ อยากเห็นความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องประชาชน ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆที่ทางการแพทย์ได้กลั่นกรอง สำหรับการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ทางอากาศระยะไกลในรูปแบบละอองฝอย โอกาสเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ กลุ่มผู้ป่วย เช่น ไอรุนแรง โรคหอบ ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมีการใส่เครื่องช่วยหายใจ แพทย์จะแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยแบบ N95  ขณะที่คนส่วนมากมีการแพร่กระจายเชื้อโรคทางอากาศจะเป็นแบบละอองใหญ่ อยู่ในระยะ 1 – 2 เมตร จึงได้รณรงค์เว้นระยะห่างทางสังคม ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้แนะนำผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ขอให้ทยอยกลับ อย่ากลับเป็นกลุ่มก้อน เพราะจะเกิดความแออัด ง่ายต่อการแพร่กระจายเชื้อ เมื่อถึงบ้านขอให้ล้างมือเป็นอันดับแรก จากนั้นอาบน้ำเปลี่ยนชุดใหม่แล้ว ใส่หน้ากากอนามัย จึงค่อยทักทายญาติผู้ใหญ่ในบ้าน พร้อมระวังตนเอง เฝ้าสังเกตอาการกักตัว 14 วัน หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที

โอกาสนี้ นายสมคิด จันทมฤก  โฆษกกระทรวงมหาดไทย ยังได้แถลงแผนรองรับประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงนี้ว่า กระทรวงมหาดไทยประสานงานร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แต่งตั้งคณะทำงานประกอบไปด้วย กำนัน แพทย์ประจำตำบล คณะกรรมการหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและนายอำเภอ ซึ่งจะกระจายไปทุกหมู่บ้าน ทุกชมชน โดยมีแนวทางทำงานขั้นตอนแรก จัดทำข้อมูลเพื่อเป็นฐานข้อมูลว่าประชาชนเดินทางมาจากส่วนไหนของกรุงเทพมหานครและภูมิลำเนาอยู่ที่ใด ขั้นตอนถัดมาจะ ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ที่เดินทางกลับมา เว้นระยะห่างทางสังคม งดใช้สิ่งของร่วมกัน หมั่นล้างมือ สวมใส่หน้ากากอนามัย เฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน รวมถึงคนในพื้นที่ชุมชนช่วยกันดูแล หากสงสัยว่าผู้ที่อยู่ในช่วงเฝ้าสังเกต มีอาการป่วยให้รีบแจ้งคณะทำงาน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณะสุขรีบเข้าไปดำเนินการทันที นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยยังมอบหมายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ดูแลกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ อุปกรณ์วัดไข้ให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย สำหรับบุคคลที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในการเฝ้าสังเกตอาการ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย และจะถูกดำเนินคดี

จากนั้น นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ยืนยันมีเงินสดมีเพียงพอให้บริการแก่ประชาชนในสภาวะฉุกเฉิน โดยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ให้บริการในหลายช่องทาง อาทิ ระบบตู้เอทีเอ็ม ธนาคารพาณิชย์ ประมาณ 54,000 ตู้ ทั่วประเทศมีปริมาณเพียงพอสำหรับประชาชนที่จะมาทำการ เบิก-ถอน หรือทำธุรกรรมต่างๆ โดยจะเติมเงินอย่างสม่ำเสมอ สาขาธนาคารเปิดให้บริการตามปกติทั้งในห้างสรรพสินค้าและนอกห้างสรรพสินค้า โดยเน้นเฝ้าระวัง กำหนดระยะห่างเข้าแถวที่ชัดเจน เนื่องจากบางสาขาสถานที่ไม่กว้างขวาง  นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ Internet Mobile Banking ในการทำธุรกรรมต่างๆ ซึ่งมีประชาชนหันมาใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ไม่มีค่าบริการ รวมทั้งสามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้อีกด้วย  นอกจากนี้ ยังพิจารณาสถานะทางการเงินของลูกค้าที่ถดถอย จากสภาวะ การค้าขายมีหยุดชะงัก ให้เจ้าหน้าที่ของธนาคารมีการเจรจากับลูกค้าถึงมาตรการต่างๆ เช่น กรณีพักชำระเงินต้นนั้น เพิ่มสภาพคล่อง ฟื้นฟูธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์กับภาครัฐ โดยภาครัฐจัดสินเชื่อ Soft Loan ผ่านทางธนาคารออมสินสำหรับธนาคารพาณิชย์กู้เพื่อนำไปปล่อยสินเชื้อให้ประชาชน ในวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี หากประชาชนมีข้อสงสัย หรือต้องการความช่วยเหลือ เช่น เพิ่มวงเงินบัตรเครดิตชั่วคราว รับมาตรการด้านสินเชื่อ สามารถติดต่อ  Call Center ของธนาคารพาณิชย์ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ นางภานิณี มโนสันติ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานกิจการนโยบายสินเชื่อและภาครัฐ ธนาคารอาคาสงเคราะห์ กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณโควิด-19 ว่า  ธนาคารฯได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ให้สามารถผ่อนชำระหนี้กับธนาคารต่อไปได้ โดยลูกหนี้รายย่อยในส่วนของการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมาก่อนนั้น ได้ออกมาตรการผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ย ในอัตราดอกเบี้ย 1% ระยะเวลา 4 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มท่องเที่ยวให้ผ่อนชำระต่อไปได้และสามารถมีเงินเหลือในการดำรงชีวิต โดยจะต้องแสดงหลักฐานในการถูกลดค่าจ้างหรือวันทำงานให้ธนาคารฯสามารถพิสูจน์  สามารถยื่นความประสงค์ได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563  สำหรับกรณีได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น กรณีกรุงเทพมหานครออกประกาศปิดห้างสรรพสินค้า ฯลฯ ทำให้มีผู้ค้าบางส่วนหรือลูกจ้างของผู้ค้าบางส่วน ถูกลดวันทำงานหรือการจ้างลง หากลูกค้าอยู่ในช่วงของการใช้อัตราดอกเบี้ยโปรโมชั่นคือดอกเบี้ยพิเศษของธนาคารฯ สามารถผ่อนชำระเฉพาะดอกเบี้ยได้ 6 เดือน แต่ถ้าอยู่ในช่วงปรับอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ธนาคารก็จะมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษให้ โดยระยะเวลาในการผ่อนชำระอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 6 เดือนเช่นกัน สามารถยื่นความประสงค์เข้าร่วมมาตรการได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563  ทั้งนี้ สองมาตรการมีกรอบวงเงินอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังเพิ่มความสะดวกในการผ่อนชำระหนี้เงินกู้ ที่เป็นลูกหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ผ่านบริการ GHB ALL Mobile Application Banking เพื่อชำระหนี้ผ่านโทรศัพท์มือถือแทนการชำระหนี้ที่ธนาคารหรือชำระหนี้ตามร้านค้าสะดวกซื้อต่างๆ เพื่อลดความแออัดไม่ให้คนไปรวมกันจำนวนมากเมื่อชำระหนี้แล้วสามารถดูการชำระตัดต้นตัดดอกจากใบเสร็จบนมือถือได้ทันที

ปัจจุบันธนาคารฯมีลูกค้าประมาณ 1 ล้านราย ส่วนมากลูกค้าปล่อยกู้เป็นระดับล่างถึงปานกลาง วงเงินกู้สูงสุดส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 10 – 20 ล้านบาท และระดับทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 3 – 5 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ต้องใช้เงินจากมาตรการดังกล่าวประมาณ 20% – 30% และลูกค้าส่วนใหญ่เป็นในลักษณะการกู้ร่วม ซึ่งผู้กู้ร่วมบางรายยังมีอาชีพหรือมีรายได้ที่เพียงพอสามารถผ่อนชำระได้ จึงอาจไม่ได้ใช้มาตรการนี้ทั้งหมด

ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่านายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการยกระดับมาตรการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ โดยให้ยาเบาจนกระทั่งเป็นยาแรง หากมีความจำเป็นก็จะใช้ยาแรงมากกว่านี้  โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมตัดสินใจใช้มาตรการที่เข้มข้นสูงสุด โดยจะรับข้อมูลรอบด้านเพื่อพิจารณาประกอบการตัดสินใจ

นอกจากนี้  นายกรัฐมนตรียังย้ำถึงมาตรการเยียวยาช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชน โดยธนาคารรัฐและธนาคารเอกชนร่วมกันแก้ปัญหาด้านสินเชื่อ พักชำระหนี้ ขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ยต่างๆ เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยกระทรวงการคลังจะมีมาตรการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการและบุคคลธรรมดาตั้งแต่เดือน เม.ย.-ก.ย.นี้ หลังจากนั้นผู้ประกอบการที่ใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) จะจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย ส่วนมาตรการลดค่าครองชีพ ค่าน้ำ ค่าไฟ วันพุธนี้จะมีการลงทะเบียนขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าและน้ำประปา อีกทั้ง กระทรวงที่เกี่ยวข้องนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ลงไปดูแลลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานที่ต่างๆ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาคณะกรรมการประกันสังคมได้ประชุมหารือกันมีแนวทางช่วยเหลือลูกจ้างผู้ประกันตนจาก COVID-19 การดูแลรักษาพยาบาลตามสิทธิ์  ไม่เสียค่าใช้จ่าย การจ่ายเงินชดเชยในช่วงที่ไม่มีการจ้างงาน สิทธิในการลางาน วันพรุ่งนี้จะมีมาตรการเยียวยาส่วนลูกจ้างที่ไม่ใช่ผู้ประกันตน ซึ่งกระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการเหล่านี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ เพื่อจะดูแลลูกจ้างที่เรียกว่า หาเช้ากินค่ำหากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถโทรสายด่วนประกันสังคม 1506

โฆษณา

ผู้สูงอายุมีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่าคนในวัยอื่นๆหรือไม่?

People Unity News : ผู้สูงอายุมีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่าคนในวัยอื่นๆหรือไม่?

ผู้สูงอายุมีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากกว่าคนในวัยอื่นๆจริงไหม

Q: ผู้สูงอายุมีโอกาสติดเชื้อ COVID-19 มากกว่าคนทั่วไปหรือไม่??

A: ทุกคนมีสิทธิจะติดโรคได้เท่ากัน ในทุกอายุ เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ ทุกคนจึงยังไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคนี้ ไม่ว่าจะร่างกายแข็งแรง จะเป็นเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ แต่ความรุนแรงของโรคอาจแตกต่างกัน โดยผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงดี หรือในอายุน้อย ความรุนแรงของโรคก็จะน้อยกว่าผู้ที่มีอายุมากหรือมีโรคประจำตัวร่วมด้วย

ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

COVID-19

โฆษณา

เชื้อไวรัส COVID-19 สามารถเข้าทางบาดแผลในร่างกายได้หรือไม่??

People Unity News : เชื้อไวรัส COVID-19 สามารถเข้าทางบาดแผลในร่างกายได้หรือไม่??

ติดเชื้อไวรัสจากบาดแผลได้จริงหรือ ?

Q: เชื้อไวรัส COVID-19 สามารถเข้าทางบาดแผลในร่างกายได้หรือไม่ ??

A: จากการตรวจสอบ ยังไม่พบหลักฐานว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถติดต่อเชื้อทางบาดแผลได้แต่อย่างใด

ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

COVID-19

โฆษณา

ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีโอกาสหายป่วยสูงหรือไม่??

People Unity News : ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีโอกาสหายป่วยสูงหรือไม่??

ถ้าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีโอกาสจะหายไหม?

Q: ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีโอกาสหายป่วยสูงหรือไม่ ??

A: ผู้ป่วยทั่วไปมีโอกาสหายจากโรคได้เอง สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่หากพบว่ามีอาการป่วยรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยทันที

ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

COVID-19

โฆษณา

ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าประกันน้ำ-ไฟ

People Unity News : คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563 รับทราบมาตรการช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับประชาชน ดังนี้

โฆษณา

“ประยุทธ์” ระบุสนามกีฬา สนามมวย ผับต่างๆ เมื่อถึงเวลาจำเป็นก็อาจต้องปิดทั้งหมด

People Unity News : ประยุทธ์ ย้ำรัฐบาลเตรียมมาตรการรับมือโควิด -19 ระบุยังไม่ถึงขั้นต้องไปกักตุนสินค้า เผยหากสถานการณ์เข้าสู่ระยะที่ 3 จะมีการจัดตั้งโรงพยาบาล เป็นศูนย์เฉพาะกิจในการรักษาพยาบาล ส่วนสนามกีฬา สนามมวย ผับต่างๆ เมื่อถึงเวลาจำเป็นก็อาจต้องปิดทั้งหมด เผยข้อเสนอให้ประชาชนตรวจหาเชื้อฟรี เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด มีการเสนอเข้ามาแล้ว โดยจะใช้กฎหมายกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ หรือยูเซ็ป (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP)

เมื่อวานนี้ (15 มีนาคม 2563) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) เยี่ยมชมและให้กำลังใจเจ้าหน้าผู้ปฏิบัติงานประจำศูนย์ฯ โดยเดินทักทายพร้อมกล่าวให้กำลังใจ ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกคนดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ร่วมมือกันก้าวผ่านเหตุการณ์นี้ไปให้ได้ จากนั้น นายกรัฐมนตรีรับฟังการบรรยายสรุปความคืบหน้าการทำงานของส่วนราชการต่างๆ เพื่อรับฟังข้อเสนอหารือแนวทางปฏิบัติร่วมกันอย่างเหมาะสมต่อไป

ภายหลังการรับฟังบรรยายสรุป และมอบนโยบายการทำงาน นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่า ที่เดินทางมาประชุมในวันนี้เพราะมีความห่วงใย ต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน วันนี้จึงมานั่งหารือสอบถามหน่วยงานตามมาตรการที่ได้ประกาศออกไปแล้ว ว่า เดินหน้าแค่ไหนอย่างไรและปัญหาอยู่ที่ไหน รวมทั้งทบทวนถึงการทำงานต่างๆ รวมถึงหน้ากากอนามัยได้สั่งการให้รวบรวมข้อมูลจำนวนหน้ากากอนามัยส่วนหนึ่งที่นำเข้าว่ามาจากประเทศใด และให้ตรวจสอบปริมาณที่นำเข้ามา เพื่อดูว่าปริมาณที่นำเข้ามากับปริมาณที่ผลิตในประเทศรวมแล้วมีจำนวนเท่าไหร่ พอเพียงหรือไม่ ขณะเดียวกันก็สั่งเพิ่มมาตรการเกี่ยวกับการผลิตตามสายผลิตของโรงงานต่างๆให้มากขึ้นผ่านมาตรการส่งเสริมต่างๆ โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการหารือกับประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบ โดยเฉพาะการประสานกับประเทศจีนเนื่องจากวัตถุดิบส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน ส่วนที่สอง คือ กำลังเร่งพัฒนาหน้ากากอนามัยทางเลือกซึ่งสามารถใช้กับบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะบุคคลที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง หรือในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งต้องร่วมมือกันรณรงค์สร้างความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกให้ทุกคนมีความรับผิดชอบ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงการเตรียมมาตรการรองรับหากสถานการณ์ที่เข้าสู่ระยะสาม โดยได้มีการพูดคุยว่ากระทรวงการต่างประเทศจะต้องดำเนินการอะไร เตรียมการส่วนใดบ้าง ฝ่ายความมั่นคงต้องพิจารณาดูว่าจะต้องใช้กฎหมายใดเพิ่มเติมเป็นพิเศษ ทั้งนี้ การประกาศบังคับใช้ไม่ยาก สิ่งสำคัญคือ ต้องดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ต้องเตรียมทำอย่างไร ทั้งประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ และสุขภาพ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญทั้งสิ้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เข้าใจวันนี้ประชาชนเดือดร้อน อย่างไรก็ตามอยากขอร้องว่า ยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะต้องไปกับตุนสินค้า ไม่ต้องกลัว รัฐบาลมีมาตรการเพิ่มเติม เช่น การติดตามตัว การใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ และกำลังพิจารณาดูว่าจะบังคับใช้กับทุกคนได้หรือไม่ เพราะมีประเด็นสิทธิส่วนบุคคล จะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าตัวเสียก่อน วันนี้ต้องแยกการปฏิบัติในส่วนของคนไทย และชาวต่างประเทศ ทั้งหมดเป็นมาตรการที่เสนอมาโดยคณะแพทย์  นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหาร ก็ฟังหมอเป็นหลัก วันนี้ที่มาร่วมประชุมไม่เพียงเฉพาะแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข แต่มีทั้งแพทย์จากภายนอก แพทย์อาวุโส ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ประเทศไทยเผชิญกับโรคระบาดเกิดขึ้นหลายโรคแล้ว วันนี้ทุกฝ่ายได้เข้ามาช่วยกันทั้งหมดแล้ว

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอความร่วมมือจากทุกคนต้องฟังเหตุฟังผล รัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกคน คนไทยที่กลับจากต่างประเทศก็มีมาตรการดูแล เช่น นักศึกษาทุนเอเอฟเอส เพราะทุกคนต้องการกลับบ้าน มีมาตรการการคัดกรอง สถานที่ เช่น ศูนย์สัตหีบ ก็ยังมีการใช้งาน ยามจำเป็นต้องเข้าไปใช้ก็ต้องใช้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงแนวทางการเตรียมโรงพยาบาลรองรับว่า หากสถานการณ์เข้าสู่ระยะที่ 3 จะมีการจัดตั้งโรงพยาบาล เป็นศูนย์เฉพาะกิจในการรักษาพยาบาลโรคไวรัสโคโรนา ขณะนี้มีสถานที่แล้วเป็นโรงพยาบาลที่สร้างใหม่แต่ยังไม่ได้เปิดใช้งาน มีจำนวนเตียงประมาณ 100 เตียง จะใช้เป็นโรงพยาบาลศูนย์เฉพาะกิจสำหรับโรคโควิด 19 โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นมาตรการรองรับในอนาคต สำหรับอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆรัฐบาลพร้อมสนับสนุนทุกเรื่องที่เป็นความต้องการของหน่วยงานภาครัฐตามมติของคณะกรรมการโรคระบาดแห่งชาติ

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อเสนอให้มีการปิดผับและสถานบันเทิงในพื้นที่เสี่ยง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวตอบว่า สำหรับสถานบันเทิงได้มีการหารือแล้ว หากขอความร่วมมือได้ก็จะขอความร่วมมือ กรณีที่มีปัญหาก็ต้องดูว่าพร้อมที่จะปิดตัวเองหรือไม่ เมื่อถึงเวลาจำเป็นก็อาจต้องปิดทั้งหมด แต่เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ทุกมาตรการต้องคำนึงถึงหลายหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬา สนามมวย ผับต่างๆ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังไปหารือกันว่าควรมีมาตรการอย่างไรต้องฟังจากหมอว่าจะควบคุมอย่างไร

นายกรัฐมนตรียังตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงข้อเสนอให้ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด 19 ฟรี เพื่อเป็นอีกวิธีในการป้องกันการแพร่ระบาดได้ว่า มีการเสนอแล้วโดยจะมีการใช้กฎหมายกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ หรือยูเซ็ป (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ที่เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 โดยให้ผู้ป่วยในทุกสิทธิ์การรักษาที่เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดในที่จุดเกิดเหตุได้ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน ในช่วงเวลา 72 ชั่วโมงแรก ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้นายกรัฐมนตรีบูรณาการภาพรวมทั้งหมดตั้งแต่ต่างประเทศ สนามบิน พื้นที่ควบคุม ภาคปฏิบัติมีการบูรณาการกันแล้ว พร้อมยอมรับว่าสถานการณ์ไม่เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาย่อมมีความยุ่งยาก สับสนพอสมควร เนื่องจากต้องดูแลคนจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ มีการเข้าและการออก ยืนยันว่าการบริหารจัดการรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ล่าช้า หลายอย่างต้องอาศัยความเข้าใจเนื่องจากมีคนจำนวนมากในการทำงานร่วมกัน ทุกวันนี้มีคนเข้าประเทศลดลงมากสถิติก็มีอยู่แล้ว เที่ยวบินก็ลดลงจำนวนคนที่เคยเข้ามาวันละ 60,000- 70,000 คน เหลือเพียง 6,000 คน ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาที่ตามมาในอนาคต ต้องมาคิดดูว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป อย่างไรก็ตาม วันนี้สุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

โฆษณา

Verified by ExactMetrics