วันที่ 23 พฤศจิกายน 2024

เอฟเอโอ ชื่นชมความก้าวหน้าการปฏิรูปภาคเกษตรของไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

People Unity News : เอฟเอโอ ชื่นชมความก้าวหน้าการปฏิรูปภาคเกษตรของไทยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ยืนยันพร้อมสนับสนุนไทยด้านเกษตรปลอดภัยอาหารปลอดภัยรับมือโควิด19

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมาย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางอุมาพร พิมลบุตร นายพิศาล พงศาพิชณ์ ตัวแทนหน่วยราชการในกระทรวง ให้การต้อนรับ นายจอง จิน คิม (Mr. Jong-Jin Kim) ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีการหารือครอบคลุมประเด็นความร่วมมืออย่างใกล้ชิด (Hand in Hand initiative) และความร่วมมือแบบหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (South-South Cooperative Programmed) การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ และการสนับสนุนโครงการในการพัฒนาด้านการเกษตร ระหว่าง FAO กับประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวมทั้งโครงการความร่วมมือด้านการเกษตรภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 (FAO/RAP) ในการประเมินผลกระทบของโรคที่มีต่อภาคการเกษตร (the COVID-19 country assessment of impact and response option on food system, food security and nutrition and livelihoods) โดย FAO มีโครงการสนับสนุนไทยในการแก้ไขปัญหาหลัง COVID และสนับสนุนโครงการความร่วมมือที่มีอยู่เดิมได้แก่ การลดการสูญเสียอาหาร (National Food loss baseline) การจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (Center of Excellence on Soil Research in Asia : CESRA) และการขึ้นทะเบียนพื้นที่มรดกการเกษตรโลกที่จังหวัดพัทลุงและเพชรบุรี โดย FAO ชื่นชมความก้าวหน้าของการปฏิรูปภาคเกษตรของไทยและยืนยันว่า FAO ยินดีสนับสนุนพร้อมทั้งขยายความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศไทย

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้เน้นย้ำถึงนโยบายปฏิรูปภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อการผลิตอาหารปลอดภัย (Food Safety) การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านเกษตร (Excellence center) ทั่วทั้งประเทศเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับแนวทางของ FAO เพื่อรับมือโจทย์สำคัญในด้านความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยทางอาหารและพร้อมขยายความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับ FAO ตามข้อเสนอที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงร่วมกัน

สำหรับการพบหารือของผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ FAO เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเดินทางเข้าร่วมประชุมความร่วมมือกับทาง FAO ที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงโรมของที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯเมื่อปลายปีที่แล้ว ตามมาด้วยการเดินทางมาเยือนไทยของผู้อำนวยการใหญ่ FAO (นายฉู ตงหยู) เมื่อวันที่ 17 -18 กุมภาพันธ์ 2563 โดยหารือความร่วมมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

Advertising

รัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำ FTA ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

People Unity : ไทยและรัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เวลา 15.00 น. ณ ห้องรับรองรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ชั้น 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายเยฟเกนี โตมีฮิน เอกอัครราชทูตสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ สรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบเอกอัครราชทูตฯ ชื่นชมบทบาทของเอกอัครราชทูตฯตั้งแต่เข้ารับหน้าที่ ซึ่งได้กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับรัสเซียเป็นอย่างดี มีการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยหวังว่าไทยจะได้มีโอกาสต้อนรับผู้แทนระดับสูงของรัสเซียในปีนี้

เอกอัครราชทูตฯชื่นชมรองนายกรัฐมนตรีที่เป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาล รับผิดชอบต่อนโยบายของไทยในหลายด้าน และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียมีพลวัตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รัสเซียในฐานะที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และมีทรัพยากรด้านพลังงาน เชื่อว่ายังมีช่องทางที่เป็นโอกาสอีกหลากหลายในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยพร้อมส่งเสริมกลไกที่ให้ผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งหวังว่าจะร่วมมือผลักดันให้การค้าขยายตัวเพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ต่อไป ฝ่ายรัสเซียยืนยันว่าพร้อมผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย โดยฝ่ายไทยขอบคุณที่รัสเซียนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้ากลุ่มเกษตรกรรม และขอบคุณที่รัสเซียดูแลนักลงทุนไทยเป็นอย่างดี ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีขอให้ฝ่ายรัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และสนับสนุนความร่วมมือผ่านอุตสาหกรรม S-Curves ในสาขาต่างๆที่รัสเซียเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ ยินดีจัดการหารือระหว่างรัสเซียและฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้องเพื่อหาช่องทางลดข้อจำกัด เพื่อเพิ่มการลงทุนระหว่างกัน

ในโอกาสนี้ ฝ่ายรัสเซียได้ชื่นชมไทยด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยมีชาวรัสเซียที่เดินทางมาเที่ยวไทยจำนวนมาก จึงขอให้ไทยพิจารณาสนับสนุนการเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อเป็นส่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และขอให้ไทยพิจารณาความร่วมมือระหว่างระดับจังหวัดของไทยกับภูมิภาคของรัสเซียเป็นอีกช่องทางความร่วมมือด้วย

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : รัสเซียยินดีผลักดันการจัดทำ FTA ไทยกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

People Unity : post 21 สิงหาคม 2562 เวลา 11.30 น.

“หวัง อี้” รมว.ต่างประเทศจีนเข้าพบ “ประยุทธ์” หารือความร่วมมือทุกด้าน

People Unity : ไทย–จีนกระชับความร่วมมืออย่างรอบด้าน พร้อมผลักดันความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างกัน

วันนี้ (1 สิงหาคม 2562) เวลา 14.30 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 52 สรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับนายหวัง อี้ ในโอกาสเดินทางเยือนไทย พร้อมแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 70 ปี แห่งการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปีนี้ ซึ่งจีนมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ประสบความสำเร็จด้านการขจัดความยากจน และการพัฒนาประเทศ ซึ่งไทยหวังที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากจีน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย แสดงความเสียใจต่อการถึงแก่อสัญกรรมของอดีตนายกรัฐมนตรี หลี่ เผิง ที่มีบทบาทสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอย่างมาก

นายหวัง อี้ ประทับใจที่ไทยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทวิภาคี และความร่วมมือระหว่างไทย-จีน เสมอมา ยืนยันว่าจีนพร้อมสานต่อความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีอย่างนี้ไปโดยตลอด เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือให้พัฒนาก้าวหน้าต่อไป โดยเชื่อมั่นว่า ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีไทยจะพัฒนาประเทศให้มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคและในโลก นอกจากนี้ จีนยังยินดีที่จะพัฒนาความร่วมมือในด้านใหม่ๆ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยี 5G เป็นต้น พร้อมหวังว่าทั้งสองประเทศจะสามารถสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัลระหว่างกันได้โดยเร็ว

นายกรัฐมนตรี และนายหวัง อี้ เห็นพ้องที่จะพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจให้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ผ่านการผลักดันโครงการและแนวคิดสำคัญต่างๆ อาทิ โครงการรถไฟไทย-จีน การเชื่อมโยงเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area: GBA) กับโครงการ EEC ของไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในอนาคต นายหวัง อี้ เน้นย้ำว่า จีนพร้อมมีส่วนร่วมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนจีนเข้ามาลงทุนใน EEC โดยเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย-จีน และภูมิภาค พร้อมกระชับความร่วมมืออย่างรอบด้าน

ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในแม่น้ำโขง ถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญสำหรับการดำรงชีวิตของประชาชนในบริเวณนั้นอย่างมาก โดยไทยหวังที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำจากจีน

ประเด็นความขัดแย้งทางการค้าจีน – สหรัฐฯ ไทยยินดีที่ผู้นำทั้งสองประเทศได้หารือเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ และหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะยังคงรักษาช่องทางการหารือและร่วมมือกันเดินหน้าเพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย

นอกจากนี้ จีนยังยินดีที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยมากขึ้น และหวังว่ามูลค่าการค้าระหว่างกันจะเพิ่มขึ้นในอนาคต นายกรัฐมนตรียินดีกับความสำเร็จในการจัดงานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติ (China International Import Expo: CIIE) เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งสะท้อนความตั้งใจจริงของจีนที่จะส่งเสริมการเปิดกว้างและการค้าเสรี พร้อมกล่าวขอบคุณสำหรับคำเชิญของรัฐบาลจีนให้ไทยเข้าร่วมการจัดงานครั้งที่ 2 ในปลายปีนี้ ในฐานะประเทศเกียรติยศ

ทั้งนี้ จีนสนับสนุนการมีบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในเวทีต่างๆ รวมถึงบทบาทการเป็นประธานอาเซียน ในปี 2562 หวังว่า จีนจะสานต่อความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีกับไทยและในภูมิภาคนี้ต่อไป

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : “หวัง อี้” รมว.ต่างประเทศจีนเข้าพบ “ประยุทธ์” หารือความร่วมมือทุกด้าน

People Unity : post 1 สิงหาคม 2562 เวลา 22.30 น.

จากถูกติดธงแดง วันนี้ ICAO หนุนไทยเป็นศูนย์อบรมผู้ตรวจสอบด้านการบินของภูมิภาค

People Unity : ICAO พร้อมสนับสนุนไทยเป็นศูนย์การอบรมผู้ตรวจสอบด้านการบินของภูมิภาค

วันนี้ (26 กรกฎาคม 2562) เวลา 13.30 น. ณ ห้องโดมทอง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ดร.อลูมูยีหวา เบนาร์ด อลิว (Dr.Olumuyiwa Benard Aliu) ประธานคณะมนตรีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และคณะเข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุม ICAO Global Aviation Cooperation Symposium (GACS) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 22 – 24 กรกฎาคม 2562 ณ จังหวัดภูเก็ต

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับประธานคณะมนตรี ICAO และคณะ พร้อมทั้งขอบคุณ ICAO ที่ให้คำแนะนำและประสานงานทำให้การบินพลเรือนของไทยยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยสู่ระดับสากล การนี้นายกรัฐมนตรียินดีที่การประชุม GACS ครั้งที่ 3 ประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการบินระหว่างกัน และพัฒนาความร่วมมือในระดับภูมิภาคเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆในอนาคต

ประธานคณะมนตรี ICAO ขอบคุณไทยที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการจัดการประชุม GACS ครั้งที่ 3 เป็นอย่างดี พร้อมทั้งชื่นชมการดำเนินการของรัฐบาลไทยในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการบินพลเรือนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่ง ICAO ยินดีสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ไทยตั้งไว้ ทั้งนี้ ICAO ขอให้ไทยรักษาระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินให้ดียิ่งขึ้นไป พร้อมทั้งหวังว่าไทยจะสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงาน ICAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่จัดตั้ง ณ กรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของภูมิภาค

ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทย – ICAO มีความใกล้ชิดมากขึ้น โดยไทยถือเป็นประเทศสมาชิกแรกเริ่มของ ICAO ซึ่งไทยยืนยันว่าจะพัฒนาระบบการกำกับดูแลการบินพลเรือนให้เป็นมาตรฐานสากล อย่างไรก็ตามยังมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการพัฒนาผู้ตรวจสอบด้านการบิน (Inspector) ที่ยังขาดแคลน จึงจะร่วมมือกับ ICAO ในการฝึกฝนบุคลากร เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การอบรมผู้ตรวจสอบด้านการบินของภูมิภาค ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ทุกประเทศต่อไปในอนาคต

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : จากถูกติดธงแดง วันนี้ ICAO หนุนไทยเป็นศูนย์อบรมผู้ตรวจสอบด้านการบินของภูมิภาค

People Unity : post 26 กรกฎาคม 2562 เวลา 21.20 น.

ไทยถูกยกให้เป็นต้นแบบของอาเซียนในการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย

People Unity : รู้หรือไม่? ว่าประเทศไทยถูกยกให้เป็นต้นแบบของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย

รู้หรือไม่? ว่าประเทศไทยถูกยกให้เป็นต้นแบบของอาเซียน ในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing ด้วยนะ และในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหม ระหว่าง 10-12 ก.ค.2562 นี้ ก็จะยกเรื่องนี้มาพูดคุยถึงบทบาทของทหารในการช่วยแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : ไทยถูกยกให้เป็นต้นแบบของอาเซียนในการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย

People unity : post 8 กรกฎาคม 2562 เวลา 13.40 น.

รู้หรือไม่? กลาโหมอาเซียน 10 ประเทศ มีฮอตไลน์สายตรง ไว้ติดต่อกันยามฉุกเฉิน

People Unity : รู้หรือไม่? กลาโหมอาเซียน 10 ประเทศ มีฮอตไลน์สายตรง ไว้ติดต่อกันยามฉุกเฉินด้วยนะ

รู้หรือไม่? กลาโหมอาเซียน 10 ประเทศ มีฮอตไลน์สายตรง ไว้ติดต่อกันยามฉุกเฉินด้วยนะ และในการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน 10-12 ก.ค.2562 นี้ ก็จะมีการหารือให้ขยายไปยังประเทศคู่เจรจาอีก 8 ประเทศอีกด้วย

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : รู้หรือไม่? กลาโหมอาเซียน 10 ประเทศ มีฮอตไลน์สายตรง ไว้ติดต่อกันยามฉุกเฉิน

People unity : post 8 กรกฎาคม 2562 เวลา 13.10 น.

“บิ๊กตู่”เปิดประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียนครั้งที่ 5 ชูการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3 ด้านของไทย

People Unity : นายกรัฐมนตรีเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาในโอกาสการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 “The Future of Thailand and ASEAN”

วันนี้ (21 มิถุนายน 2562) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและกล่าวปาฐกถาในโอกาสการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 “The Future of Thailand and ASEAN” ณ ห้อง Magnolia ballroom ชั้น 10 โรงแรม Waldorf Astoria กรุงเทพมหานคร โดยในการประชุมครั้งนี้มี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมด้วยผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูต ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนกว่า 400 คน เข้าร่วมงาน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติได้มาร่วมงานการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน ครั้งที่ 5 และกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “The Future of Thailand and ASEAN” ที่สำนักข่าว Bloomberg จัดขึ้น ในช่วงเวลานี้ที่มีความสำคัญกับประเทศไทยเพราะจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ในช่วงสุดสัปดาห์นี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงวิสัยทัศน์ของไทยว่ามีศักยภาพและความพร้อมในหลายด้านที่จะเดินหน้าไปสู่การพัฒนาพร้อมกับภูมิภาค ไทยได้ก้าวพ้นสถานการณ์ความไม่สงบ มีความปรองดอง และสามารถแก้ปัญหาคั่งค้างที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศหลายประการ ไทยได้ผ่านพ้นการเลือกตั้งทั่วไปตามกระบวนการประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อย เป็นไปตาม roadmap ที่กำหนด และนายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อสืบสานนโยบาย และการพัฒนาประเทศให้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ระบุถึงดัชนีทางเศรษฐกิจต่างๆที่เป็นตัวบ่งชี้ว่า สถานการณ์ในประเทศดีขึ้นมาก เศรษฐกิจขยายตัวได้ร้อยละ 4.1 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.8 ซึ่งทั้งสองตัวชี้วัดนี้ถือเป็นอัตราที่สูงที่สูดในรอบ 6 ปี และมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ระดับ 2.53 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญในการดูแลขั้นตอนกระบวนการในการทำธุรกิจ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้ลำดับที่ดีขึ้นในการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจในปี 2561 ของธนาคารโลก

ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 27 จากทั้งหมด 190 ประเทศ สูงขึ้นจากปีก่อนถึง 19 อันดับ และเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน สำหรับภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญกับประเทศก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนประเทศไทยถึง 38 ล้านคน ในปี 2561 เพิ่มขึ้น 2.9 ล้านคนจากปีก่อนหน้า และปีนี้คาดว่าเราจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวถึง 40 ล้านคน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีนโยบายพัฒนาด้านเทคโนโลยี พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศให้เอื้อต่อการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม และรองรับอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการเป็นระเบียงเศรษฐกิจแห่งเอเชีย

อย่างไรก็ดี รัฐบาลส่งเสริมให้ประเทศไทยเข้มแข็งจากภายใน มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจมั่นคงกระจายลงไปถึงระดับรากหญ้า โดยให้ภาคเอกชนไทย และอาเซียนเป็นจุดแข็งที่จะลดช่องว่าง สร้างการเติบโตไปสู่รากหญ้า ทั้งนี้ ผู้มีรายได้น้อย และ SMEs และช่วยให้สามารถเชื่อมโยงเข้ากับห่วงโซ่มูลค่าของโลกได้ ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันผลกระทบจากความท้าทายภายนอก ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการค้า ความขัดแย้งทางการค้า รวมทั้งความท้าทายจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งรัฐบาลไทยเชื่อว่าเป็นหลักการที่สามารถนำไปปรับใช้ในบริบทการพัฒนาของอาเซียนได้ด้วย

ในส่วนของอาเซียนซึ่งมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เพราะตลาดขนาดใหญ่อันดับ 6 ของโลก มีประชากรกว่า 650 ล้านคน และอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศที่สำคัญ จึงช่วยเพิ่มศักยภาพของอาเซียนในการที่จะพัฒนาไปเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของโลกภายในปี 2573 รวมถึงจะเพิ่มอำนาจการต่อรองของภูมิภาคด้วย แม้ว่า ปัจจุบันโลกเผชิญกับความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรม นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยและอาเซียนมีศักยภาพสูงที่จะรับมือ และเป็นสนามการค้าการลงทุนที่มีเสถียรภาพ ตอบโจทย์นักลงทุนทั่วโลก

ไทยนำเสนอแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ คือ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” และมีเป้าหมายที่จะบรรลุความสำเร็จในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ที่ไทยต้องการผลักดันให้เป็นรูปธรรมภายในปี 2562 ได้แก่ 1) การมุ่งสู่อนาคต คือ ความพร้อมในการเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 2) การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน และ 3) การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้าให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีขอให้ภาคเอกชนมั่นใจและใช้ประโยชน์จากความพร้อมของไทย และอาเซียนทั้งทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางการเมืองที่นำไปสู่ความต่อเนื่องทางนโยบาย โดยนายกรัฐมนตรีได้อวยพรให้การจัดงานในวันนี้ประสบความสำเร็จตามที่หวังไว้ทุกประการ

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : “บิ๊กตู่” เปิดประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียนครั้งที่ 5 ชูการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3 ด้านของไทย

People Unity : post 21 มิถุนายน 2562 เวลา 11.40 น.

รัฐบาลยันแก้ปัญหา IUU ถูกทางแล้ว แนะ “ธนาธร” ตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้อง

People Unity : รัฐบาลยืนยันแก้ไขปัญหา IUU ถูกทางแล้ว แนะ หน.พรรคอนาคตใหม่ตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้อง

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2562 พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเสวนารับฟังปัญหาชาวประมงที่ตลาดมหาชัยมั่นคง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยมีการกล่าวโจมตีว่านโยบายการแก้ไขปัญหา IUU หรือการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ของรัฐบาล ทำให้ชาวประมงเดือดร้อนและสูญเสียรายได้ ว่า “ขอตั้งข้อสังเกตว่า จากภาพและคลิปที่เจ้าหน้าที่รวบรวมมาพบว่ากลุ่มคนที่มาให้ข้อมูลกับนายธนาธรนั้นส่วนใหญ่เข้าข่ายทำผิดกฎหมาย บางคนถูกศาลสั่งลงโทษปรับกว่า 500 ล้านบาท หลายคนถูกสั่งยึดเรือเพราะไปทำความผิดในน่านน้ำสากล ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาการค้ามนุษย์ ฟอกปลา ขโมยปลา ดังนั้นจึงเป็นการรับฟังข้อมูลด้านเดียว และดูเหมือนจะจงใจลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ตามที่นายธนาธรเคยพูดไว้ว่าจะทำงานนอกสภา แต่กลับฟังข้อมูลไม่ครบถ้วน”

รองโฆษกฯ กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้วและยืนยันว่า หากรัฐบาลไม่แก้ไขปัญหา IUU อย่างจริงจัง ประเทศไทยจะเจอวิกฤตด้านการประมงอย่างใหญ่หลวง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงใครจะรับผิดชอบ ในทางตรงกันข้าม ปี 2561 เราจับปลาได้เพิ่มขึ้นถึง 2 แสนตัน ในจำนวนนี้ปลาที่ชาวประมงพื้นบ้านรายย่อยจับได้มีถึง 15,000 ตัน ส่วนเรือประมงพาณิชย์ ได้เพิ่มวันจับปลาให้กว่า 100 วัน สะท้อนว่าจำนวนสัตว์น้ำของไทยเริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ ไม่มีปัญหาเรื่องเรือเถื่อน ชาวประมงมีโอกาสทางอาชีพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความร่วมมือของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะพี่น้องขาวประมงที่ทำถูกกฎหมาย ทำให้อันดับการค้ามนุษย์ของไทยเลื่อนจากเทียร์ 3 มาเป็นเทียร์ 2 แล้ว ดังนั้น การออกมาคัดค้านต่อต้านของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขปัญหาหรืออยากให้แก้ไขกฎหมายเพื่อกลับไปทำผิดเหมือนเดิมนั้น เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ขึ้นอีกหรือไม่ จึงอยากให้สังคมตรึกตรองในเรื่องนี้

ความสัมพันธ์ต่างประเทศ : รัฐบาลยันแก้ปัญหา IUU ถูกทางแล้ว แนะ “ธนาธร” ตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้อง

People Unity : post 4 มิถุนายน 2562 เวลา 10.30 น.

เผยกำหนดการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไทย-ลาว ครั้งที่ 3 13-14 ธ.ค.

People unity news online : นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการไทย – ลาว ครั้งที่ 3

พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเข้าประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat : JCR) ไทย – ลาว ครั้งที่ 3 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ระหว่างวันที่ 13-14 ธันวาคม 2561

โดยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เข้าร่วมการประชุมฯอาทิ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

การประชุม JCR ไทย-ลาว เป็นกลไกการหารือทวิภาคีระหว่างนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสองฝ่าย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศและแสวงหาแนวทางความร่วมมือในการรับมือกับความท้าทายในอนุภูมิภาค/ภูมิภาคร่วมกัน โดยประเด็นสำคัญที่นายกรัฐมนตรีจะหยิบยกในการประชุมฯ ได้แก่ ย้ำการยกระดับความสัมพันธ์เป็น “หุ้นส่วนเพื่อความเจริญและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เน้นการร่วมส่งเสริมพลวัตการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสองประเทศ การเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ประกอบด้วย 3 เสาความร่วมมือ ได้แก่

1.ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ไม่ให้ผู้ไม่หวังดีใช้ไทยและลาวเป็นฐานบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยของอีกประเทศ การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และการยกระดับจุดผ่านแดนระหว่างสองฝ่ายให้เท่าเทียมกัน

2.ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันผ่านการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อตามแผนแม่บท ACMECS ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันเพื่อรับมือความท้าทายในภูมิภาค เสริมสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ (ถนน/ สะพาน) ควบคู่กับความเชื่อมโยงทางกฎระเบียบ สนับสนุนนักลงทุนไทยไปลงทุนในลาว โดยตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 2 เท่า (11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2564

3.ความร่วมมือด้านสังคมและการพัฒนา สนับสนุนให้ลาวหลุดพ้นจากการเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ให้ลาวใช้ประโยชน์จากโครงการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในลาวมากขึ้น จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย – ลาว ยืนยันการดูแลแรงงานลาวอย่างเต็มที่ตามกฎหมายไทย

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีจะได้พบหารือกับนายบุนยัง วอละจิด ประธานประเทศของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  โดยจะได้หารือเกี่ยวกับการฉลองครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ไทย – ลาว ในปี 2563 การส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อไทย – ลาว (เปลี่ยนลาวจาก Land-locked เป็น Land-linked) และการร่วมจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย – ลาว (ไม่ให้เขตแดนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา

กำหนดการที่สำคัญของนายกรัฐมนตรีมีดังนี้

วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม 2561

16.25 น. –  นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี  จังหวัด อุดรธานี โดยเครื่องบินของกองทัพอากาศ ไปยังนครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะเข้าเยี่ยมคารวะนายบุนยัง วอละจิด (H.E. Mr. Bounnhang Vorachit) ประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยในช่วงค่ำนายทองลุน สีสุลิด (H.E. Mr. Thongloun Sisoulith) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนลาว และภริยา เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2561

09.00 น. – การหารือทวิภาคีกลุ่มเล็กระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

09.45 น. – การประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat – JCR) ไทย – ลาว ครั้งที่ 3

ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

-พิธีมอบความช่วยเหลือเหตุอุทกภัยในแขวงอัตตะปือเพิ่มเติมในระยะฟื้นฟู

-พิธีมอบโครงการพัฒนาวิทยาลัยพลศึกษานครหลวงเวียงจันทน์

11.00 น. – นายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวแถลงข่าวร่วม

11.45 น. – นายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวรับฟังการบรรยายสรุปและเยี่ยมชมห้องแสดงผลงานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าครบรอบ 50 ปี

15.00 น. – นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมด้วยคณะ เดินทางออกจากท่าอากาศยานนานาชาติวัดไต กลับประเทศไทย โดยจะเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) เวลา 16.05 น.

People unity news online : post 13 ธันวาคม 2561 เวลา 08.24 น.

GBC ไทย-ลาว ม่วนซื่น ร่วมมือจัดการบุคคลเป็นภัยต่อความมั่นคงไทย-ลาว

People unity news online : GBC ไทย – ลาว ม่วนซื่น เห็นชอบเพิ่มความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดร่วมกันอย่างจริงจัง โดยให้กองทัพเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม.และ รมว.กห. ได้ให้การต้อนรับ พล.ท.จันสะหมอน จันยาลาด รมว.กระทรวงการป้องกันประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ณ ศาลาว่าการกลาโหม

โดย พล.ท.จันสะหมอน ได้แสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้ง ที่ไทยได้ให้ความช่วยเหลือกรณีเหตุอุทกภัย จากเขื่อนแตกในลาวอย่างทันท่วงที ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้แสดงความขอบคุณ สปป.ลาวเช่นกัน ที่ส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยมาร่วมภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่าไทย ทั้งสองฝ่ายต่างตระหนักถึงภัยความมั่นคงที่สำคัญและหารือร่วมกันในการแก้ปัญหาภัยจากยาเสพติดและกลุ่มบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของทั้งสองประเทศ โดยเห็นชอบร่วมกันที่จะดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและตรงไปตรงมาให้เกิดผลเป็นที่ประจักษ์กับสังคมโลก

ต่อจากนั้น พล.อ.ประวิตร และ พล.ท.จันสะหมอน ได้ทำหน้าที่ ประธานร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไป ไทย – ลาว ( GBC ครั้งที่ 25 ) ซึ่งฝ่ายไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ โรงแรมเชอราตัน กทม. ด้วยบรรยากาศแห่งไมตรีจิตและมีมิตรไมตรี โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ทั้งสองฝ่ายได้ปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทบทวนและประเมินผลการปฏิบัติร่วมที่ผ่านมา โดยแสดงความยินดีต่อผลสำเร็จและความคืบหน้าของการปฏิบัติงานในรอบปี ทั้งการแลกเปลี่ยนข่าวสาร การเยือน การศึกษาทางทหาร รวมทั้งวัฒนธรรมและกีฬาระหว่างกันที่ผ่านมา โดยร่วมแก้ปัญหาพื้นที่ชายแดนที่เกิดขึ้นให้ยุติลงโดยเร็วและจำกัดอยู่ในระดับท้องถิ่น พร้อมทั้งเห็นพ้องกันว่า ความสัมพันธ์ ไทย – ลาว นับวันจะมีความผูกพันใกล้ชิดกันมากขึ้น

ที่ประชุมเห็นชอบ ความร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไป ไทย – ลาว โดยสนับสนุนให้ทุกกลไกที่เกี่ยวข้อง เพิ่มพูนความร่วมมือและปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงชายแดนที่ได้ลงนามร่วมกัน, แนวทางการวางกำลังและการลาดตระเวนของกองกำลังติดอาวุธตามแนวชายแดน เพื่อมิให้เกิดการกระทบกระทั่งตามแนวชายแดน, ความร่วมมือกรณีบุคคลของแต่ละฝ่ายถูกจับกุมคุมขัง, ความร่วมมือกันจัดระเบียบชายแดน เพื่อป้องกัน สกัดกั้นและปราบปราม การลักลอบเข้าเมือง แรงงานผิดกฎหมาย การต่อต้านการค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติดและสินค้าผิดกฎหมาย, ความร่วมมือกันแก้ปัญหาบุคคลสองสัญชาติ รวมทั้งบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงไทย – ลาว, ความร่วมมือในการรักษาเส้นเขตแดน และที่สำคัญที่สุด ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันที่จะเพิ่มความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อให้กองทัพเข้ามามีบทบาทแก้ปัญหามากขึ้น

ต่อจากนั้น ทั้งสองฝ่าย ได้ลงนามในบันทึกการประชุมร่วมกัน ซึ่งการเดินทางเยือนไทยและเข้าร่วมประชุมของ รมว.กระทรวงการป้องกันประเทศ สปป.ลาว ครั้งนี้ แสดงถึงความเข้าใจ ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจระหว่าง กห.และคณะกรรมการความร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างและกระชับความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นและขยายตัวยิ่งขึ้น ส่งผลให้ชายแดนทั้งสองประเทศ เป็นชายแดนแห่งสันติภาพ มิตรภาพและความร่วมมืออย่างแท้จริงตลอดไป

People unity news online : post 11 ธันวาคม 2561 เวลา 23.24 น.

Verified by ExactMetrics