วันที่ 21 พฤศจิกายน 2024

“ปานปรีย์” เตือนเมียนมาอย่ารุกล้ำ หลังกระสุนปืนหนักข้ามมาฝั่งไทย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 21 เมษายน 2567 “ปานปรีย์” เตือนเมียนมาอย่ารุกล้ำ หลังกระสุนปืนหนักข้ามมาฝั่งไทย เผย คกก. ติดตามสถานการณ์พรุ่งนี้ (22 เม.ย.) ก่อนนายกฯ บินแม่สอด

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งมีผู้อพยพหนีภัยสงครามมายังแม่สอดเป็นจำนวนมากว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาข้ามมาฝั่งไทย ก่อนหน้านี้เราเคยมีกรณีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาข้ามฝั่งมาไทย จำนวน 10,000 คน พอเหตุการณ์สงบ ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาก็ข้ามฝั่งกลับไป

นายปานปรีย์ กล่าวต่อว่า กรณีดังกล่าวก็เช่นเดียวกัน คาดว่า หากเหตุการณ์ในเมียนมาเริ่มสงบ ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่ข้ามมาฝั่งไทยก็จะทยอยกลับไป ซึ่งตอนนี้ได้รับรายงานว่า มีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาข้ามมาฝั่งไทย จำนวน 3,000 คน ซึ่งในจำนวน 3,000 คนนี้ อยู่ในการดูแลของกระทรวงมหาดไทย

ส่วนกรณีที่มีกระสุนปืนหนักตกมายังบริเวณกลางแม่น้ำเมย ใกล้กับฝั่งประเทศไทย จนส่งผลให้เกิดกลุ่มควัน และมีกระสุนปืนจากฝั่งเมียนมายิงเข้ามายังฝั่งไทย กระสุนถูกยิงทะลุหน้าต่างมุ้งลวดบ้านหลังหนึ่ง ในพื้นที่บ้านวังตะเคียนใต้ หมู่ 7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด ทั้งสองกรณีนี้จะมีการตักเตือนทางการเมียนมา หรือป้องกันอย่างไร นายปานปรีย์ ตอบว่า เป็นกระสุนจากฝั่งเมียนมา หลุดมาทางฝั่งไทย แต่ก็ไม่ได้สร้างความเสียหาย และไม่ได้รับรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บ และเราได้ทำการเตือนทางฝั่งเมียนมาว่า ให้ระมัดระวัง เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์รุกล้ำข้ามเขตแดน ไม่ว่าจะทางบก หรือทางอากาศ รวมถึงการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ อย่าให้เข้ามาในประเทศไทย รวมถึงห้ามให้ประชาชนไทยได้รับอันตราย

สำหรับความคืบหน้าหลังจากนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์เมียนมา มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง นายปานปรีย์ กล่าวว่า จะประชุมติดตามความคืบหน้า ในวันพรุ่งนี้ (22 เม.ย.) ก่อนที่นายกฯ จะบินไป อ.แม่สอด จ.ตาก คงจะได้คำตอบ และข้อสรุปในวันพรุ่งนี้ ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร

เมื่อถามถึงความพร้อมในการเป็น Peace broker นายปานปรีย์ กล่าวว่า เบื้องต้นเราได้เรียกร้องผ่านทางอาเซียน กดดันให้ทางเมียนมากลับสู่ความสงบโดยเร็ว ส่วนเรื่องของการที่ไทยจะเป็นตัวกลางในการเจรจานั้น ตอนนี้กำลังเร่งทำงานกันอยู่ เพราะยังไม่ทราบว่าต้องเจรจาผ่านกลุ่มใด และการสู้รบยังเกิดขึ้นตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็มีการพูดคุยในระดับหนึ่ง

Advertisement

ไทยพร้อมประสาน-ส่งเสริมความร่วมมือให้เกิดสันติภาพในเมียนมา

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 เมษายน 2567 ทำเนียบ – นายกฯ โพสต์หารือฝ่ายความมั่นคง-กต. ถึงสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ระบุไทยพร้อมประสานและส่งเสริมความร่วมมือให้เกิดสันติภาพในเมียนมาโดยเร็วที่สุด พร้อมตั้งคณะทำงานดูในทุกมิติ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ถึงการหารือสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา กับฝ่ายความมั่นคงและกระทรวงการต่างประเทศ ข้อความว่า

“สถานการณ์ในเมียนมา มีความสำคัญต่อไทยเป็นอย่างมาก การทำงานด้านนโยบายเมียนมา ก็เพื่อสันติภาพและเสถียรภาพของเมียนมา เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ

การประชุมด่วนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีชายแดนเมียนมาเช้านี้ คือประเทศไทยพร้อมประสานและส่งเสริมความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมาโดยเร็วที่สุด ขณะเดียวกันให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบ และพร้อมดูแลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทยในด้านต่าง ๆ รวมถึงการค้าชายแดน

และเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะมีการตั้งคณะทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบหลัก โดยมีเลขาธิการสำนักงานความมั่นคงทำงานร่วมด้วย เพื่อสนับสนุนการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งประเด็นการเมือง สังคม และเศรษฐกิจครับ”

Advertisement

“สุทิน” ประชุม คกก.ชายแดนทั่วไปไทย – กัมพูชา

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 22 มีนาคม 2567 กัมพูชา  – “สุทิน” ประชุม คกก.ชายแดนทั่วไปไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 16 ยกปัญหาหมอกควันข้ามแดน คอลเซ็นเตอร์ หารือ พร้อมสานต่อเก็บกู้ระเบิดแนวชายแดน

นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอก เตีย เซ็ยฮา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา เป็นประธานร่วม ในการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 16 ณ โรงแรมการ์เด้น ซิตี้ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือชายแดนระหว่างราชอาณาจักรไทย และราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความสงบเรียบร้อยและมั่นคงปลอดภัยในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยและกัมพูชาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างกองทัพทั้งสองประเทศในทุกระดับ อันจะนำมาซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงตลอดแนวชายแดน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบถึงความก้าวหน้าความร่วมมือในพื้นที่ชายแดน โดยทั้งสองฝ่ายได้พิจารณาทบทวนผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามโครงการความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายจากการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป กัมพูชา – ไทย ครั้งที่ 15 ที่จัดขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 เช่น ความร่วมมือในการผ่านแดนและการสัญจรข้ามแดน ความร่วมมือด้านแรงงาน ความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ายาเสพติด การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยกับหน่วยทหารและตำรวจของกัมพูชาในพื้นที่ชายแดน ความร่วมมือด้าการเกษตร ความร่วมมือด้านสาธารณสุข และความร่วมมือด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งที่ประชุมสรุปว่าที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางและมาตรการที่กำหนดไว้ในบันทึกการประชุม ครั้งที่ 15 ทุกประการ รวมทั้งความจริงจังในความร่วมมือจะเห็นได้จากการนำผู้บริหารระดับสูงทั้งในภาคทหาร ตำรวจ และพลเรือน มาร่วมประชุมครั้งนี้ ซึ่งสื่อถึงความแนบแน่นที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างยั่งยืนตลอดไป

ที่ประชุมได้เพิ่มเติมความร่วมมือด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดน การแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน การลักลอบค้าอาวุธ และปัญหาคอลเซ็นเตอร์ อีกด้วย ทั้งสองฝ่ายจะดำรงความสัมพันธ์และมุ่งมั่นเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงชายแดนในทุกๆ ด้าน อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พื้นที่ชายแดนของสองประเทศมีความสงบสุข มั่นคง และได้รับการพัฒนาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย – กัมพูชา ครั้งที่ 17 โดยจะแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ให้ทราบต่อไป

Advertisement

นายกฯ หารือ รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 14 มีนาคม 2567 นายกฯ หารือคณะผู้แทน PEC ย้ำศักยภาพเศรษฐกิจไทย ฝ่ายสหรัฐฯ ชื่นชมบทบาทควาทเป็นผู้นำ วิสัยทัศน์นายกฯ สองฝ่ายเชื่อ การพบกันจะเป็นโอกาสยกระดับความร่วมมือทางเศรษกิจ

วันนี้ (14 มีนาคม 2567) เวลา 16.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือร่วมกับ นางจีนา เอ็ม. เรมอนโด (The Honorable Gina M. Raimondo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยนาย Mark Ein ประธานสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (The President’s Export Council: PEC) และคณะ รวม 10 ราย ซึ่งมาจากภาคเอกชนและองค์กรชั้นนำของสหรัฐฯ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและส่งเสริมโอกาสขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยภายหลังเสร็จสิ้น นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับและยินดีอย่างยิ่งที่ รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ได้พาคณะผู้แทน PEC เยือนไทยในครั้งนี้ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันมาอย่างยาวนาน และไทยถือเป็นฐานการผลิตและการลงทุนที่เชื่อถือได้สำหรับสหรัฐฯ โดยทราบว่า คณะผู้แทน PEC ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่ง มล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า การหารือร่วมกันของทั้งสองฝ่ายเป็นไปด้วยดี โดยมีการพูดคุยถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ การส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาค การส่งเสริมความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในด้านเทคโนโลยี AI ความมั่นคงทางไซเบอร์ (CyberSecurity) รวมถึงการสนับสนุนไทยด้านการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (Digital Transformation) นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้แสดงความมุ่งมั่นของไทยในการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ โดยการหารือเป็นไปด้วยดี สะท้อนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีมาอย่างยาวนาน และทั้งสองฝ่ายพร้อมแสวงหาโอกาสในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้นอีก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ฯ ชื่นชมบทบาทความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี การทำงานเชิงรุกในการส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกมายังประเทศไทย และการเพิ่มความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ พร้อมย้ำถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งระหว่างไทยและสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ เห็นพ้องเดินหน้าความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกันใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งวันนี้ ได้นำประธานสภา PEC และคณะร่วมเดินทางมาไทย เป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน

โอกาสนี้ นาย Mark Ein ประธาน PEC และคณะผู้แทน ได้แนะนำตัวต่อนายกรัฐมนตรีและต่างชื่นชมในบทบาทการดำเนินงานของนายกรัฐมนตรี ซึ่งผลักดันและดึงดูดให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศมายังประเทศไทย พร้อมอำนวยความสะดวกในการลงทุน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในประเด็นที่แต่ละฝ่ายให้ความสนใจ โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือในด้านพลังงานสะอาด การเปลี่ยนผ่านสีเขียว และเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยและสหรัฐฯ ให้ความสำคัญร่วมกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีต้องการส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวของไทย ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมสำคัญ รวมถึงการสนับสนุนด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และความร่วมมือด้านการศึกษา ตลอดจนเพิ่มพูนความร่วมมือในระดับภูมิภาคมากขึ้น

โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า จะยังดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมากขึ้นต่อไป ไม่เพียงเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่รวมถึงความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่มีศักยภาพ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีหวังว่าการเยือนของคณะ PEC ซึ่งเป็น fact-finding visit จะทำให้สหรัฐฯ เห็นถึงโอกาสและศักยภาพของไทย พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันอย่างเต็มที่ ผ่านการยกระดับการค้าการลงทุน สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของไทยในฐานะหุ้นส่วนที่พึ่งพาได้ในห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นของสหรัฐฯ พร้อมเชื่อมั่นว่า การประชุม IPEF Clean Economy Investor Forum ที่สิงคโปร์ จะเป็นอีกหนึ่งเวทีในการส่งเสริมโอกาสการขยายความร่วมมือระหว่างกัน

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (The President’s Export Council: PEC) ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงจากภาคเอกชนและองค์กรสหรัฐฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีภารกิจสำคัญในฐานะที่ปรึกษาของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในด้านนโยบายและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการค้า โดยการเยือนของคณะ PEC ครั้งนี้เป็น fact-finding visit เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการให้คำแนะนำแก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พร้อมทั้งจะมีการเผยแพร่รายงานผลการเยือนต่อสาธารณชน

Advertisement

“เศรษฐา” เตรียมคุยนายกฯ กัมพูชา แก้ปัญหาฝุ่น

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 กุมภาพันธ์ 2567 นายกฯ ย้ำจะหารือนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ช่วงเยือนไทย 7 ก.พ.นี้ แก้ปัญหาฝุ่น พร้อมสนับสนุนเครื่องมือ ชี้เป็นเพื่อนบ้านกันต้องช่วยเหลือกัน เตรียมสั่งการใน ครม. ใช้มาตรการหนัก ใครฝ่าฝืนเผาถูกลงโทษ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการหารือกับ นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ถึงความคืบหน้าปัญหาฝุ่น หมอกควัน ว่า เรื่องนี้คุยกันตลอด และช่วงเช้าวันนี้ได้คุยกับ ผู้ช่วยของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งต้องยอมรับว่า กระทรวงเกษตรและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของกัมพูชา ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีปัจจัยที่เทียบเท่าเรา แต่เขาใส่ใจเหมือนกับเรา และในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาจะเดินทางเยือนไทย จะมีการพูดคุยว่ามีเรื่องใดที่เราต้องช่วยเหลือ ยืนยันว่า ประเทศไทยพร้อมสนับสนุน เพราะหากเราเป็นเพื่อนบ้านกันไม่ช่วยเหลือกัน เราก็เดือดร้อนด้วย เราเป็นเพื่อนบ้านที่ดีมาโดยตลอด ก็ต้องช่วยเหลือกัน

ส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าปัญหาฝุ่นมีความรุนแรงมากขึ้นได้สั่งการอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 6 กุมภาพันธ์ นี้ จะมีการสั่งการหลายเรื่อง โดยเฉพาะมาตรการ หากใครไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกลงโทษ สินค้าต่างๆ หากพิสูจน์ทราบได้ว่า ผลิตผลออกมามีการเผาเกิดขึ้นก็จะไม่ได้รับมาตรการการช่วยเหลือ

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ดีใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกคนพยายามอย่างเต็มที่ แต่ปัญหานี้ ไม่ใช่ปัญหาจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจ บางคนมีรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น หากไม่เผา ไม้ขีดก้านเดียวมันง่ายต่อการกำจัดซากวัชพืช แต่ให้องค์ความรู้ไปแล้วในสิ่งที่เขาทำไม่ถูก และตนได้ขอความร่วมมือไปยังกองทัพไปเยอะ ในการช่วยลำเลียงซากวัชพืชออกมา โรงงานทำไบโอดีเซล การทำถ่านอัด หรือทำปุ๋ย

Advertisement

“ปานปรีย์” เสนอเนเธอร์แลนด์ ขอฟรีวีซ่าเชงเก้นให้คนไทย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 กุมภาพันธ์ 2567 เบลเยียม – “ปานปรีย์” หารือ รมว.กต.เนเธอร์แลนด์ ขอเสียงโหวตหนุนไทยนั่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน-ขอฟรีวีซ่าเชงเก้นให้คนไทย

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอินโด-แปซิฟิก (EU Indo-Pacific Ministerial Forum-IPMF) ครั้งที่ 3 ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือทวิภาคีกับนางสาวฮังเกอ แบร็วนส์ สโลต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์

โดยทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยแนวทางการผลักดันความร่วมมือทวิภาคีเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น การจัดการน้ำ การเกษตรอัจฉริยะ พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ภูมิภาคและระหว่างประเทศ รวมถึงแนวทางการสนับสนุนบทบาท และยุทธศาสตร์ของเนเธอร์แลนด์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของอาเซียน

ในโอกาสนี้ นายปานปรีย์ ได้ขอรับการสนับสนุนจากเนเธอร์แลนด์สำหรับการสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ของไทย วาระปี ค.ศ. 2025-2027 การสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) การเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป และการขอยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเกนให้แก่ผู้ถือหนังสือ เดินทางธรรมดาของไทย

Advertisement

ประธานาธิบดีเยอรมนี เยือนไทย เป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี 24 – 26 มกราคม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 23 มกราคม 2567 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ พร้อมให้การต้อนรับ หารือทวิภาคีประธานาธิบดีเยอรมนี เดินหน้ากระชับความสัมพันธ์สองประเทศ พร้อมผลักดันความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในทุกมิติ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมให้การต้อนรับและหารือทวิภาคีกับ ดร. ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในห้วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ระหว่างวันที่ 24 – 26 มกราคม 2567 ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีจะให้การต้อนรับประธานาธิบดีเยอรมนี ภริยาและคณะอย่างเป็นทางการ วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม 2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีกำหนดพบหารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีเยอรมนี พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน พร้อมทั้งร่วมหารือร่วมกับภาคเอกชนของเยอรมนี หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเยอรมนี จะร่วมแถลงข่าว และภายหลังเสร็จสิ้น นายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดีเยอรมนี และภริยา พร้อมด้วยคณะผู้แทนเยอรมนี

นายชัย กล่าวว่า การเยือนครั้งนี้จะเป็นโอกาสการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมนีให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยประธานาธิบดีเยอรมนี พร้อมคณะ จะเดินทางไปศึกษาดูงานในหลายภาคส่วนที่มีศักยภาพของไทย อาทิ โรงงานผลิตรถยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริด โครงการผลิตข้าวที่ยั่งยืนแบบครบวงจร อุทยานแห่งชาติผาแต้ม และพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งในด้านการค้า การลงทุน พลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอาชีวศึกษา

“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า การเยือนในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่สำคัญของไทยและเยอรมนี ในการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตร ขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติให้มีความก้าวหน้า บนพื้นฐานของค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์สู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ตลอดจนส่งเสริมภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของไทยในเวทีระหว่างประเทศ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

สำหรับการเยือนในครั้งนี้ ถือเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของประธานาธิบดีฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง และเป็นการเยือนประเทศไทยในระดับประธานาธิบดีของเยอรมนีเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่การเยือนของประธานาธิบดีโยฮันเนส เรา เมื่อปี 2545 นอกจากนี้การเยือนในครั้งนี้ ยังถือเป็นการต้อนรับผู้นำรัฐจากต่างประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรกของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน

ครม. มีมติเห็นชอบร่างคำมั่นของประเทศไทยสำหรับการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 18 ธันวาคม 2566 ครม. มีมติเห็นชอบร่างคำมั่นของประเทศไทยสำหรับการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (12 ธ.ค.2566) มีมติเห็นชอบต่อร่างคำมั่นของประเทศไทยสำหรับการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

ซึ่งการประกาศคำมั่นโดยสมัครใจในเวทีการประชุมผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 จะช่วยกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้หนีภัยและกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่อยู่ในประเทศไทย

ซึ่งนอกจากจะช่วยส่งเสริมความมั่นคงของประเทศและสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในมิติด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำร่างคำมั่นสำหรับการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 โดยพัฒนามาจากประเด็นที่ไทยเคยให้คำมั่นไว้ในการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 1 หรือในกรอบอื่นที่เกี่ยวข้อง

โดยเสนอคำมั่น 8 ข้อต่อที่ประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก ครั้งที่ 2 ดังนี้ เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคัดกรอง แก้ปัญหา คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ทบทวนและปรับปรุงการใช้มาตรการทางเลือกแทนการกักตัวเด็กและครอบครัวในห้องกักตรวจคนเข้าเมือง ส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาและการพัฒนาทักษะตามช่วงวัยของเด็กผู้หนีภัยกลุ่ม ต่าง ๆ พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนต่างด้าวกลุ่มต่าง ๆ ในไทย

รวมถึงผู้หนีภัย คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ผู้ได้รับความคุ้มครองตามระเบียบคัดกรองฯ ขยายความร่วมมือกับประเทศที่สามในการหาทางออกที่ยั่งยืนให้แก่ผู้หนีภัยกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศไทย ให้ความช่วยเหลือ ชาวโรฮีนจาผ่านการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวโรฮีนจาในบังคลาเทศอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีข้างหน้า รวมถึงการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่เมียนมา และการดำเนินการถอนข้อสงวนต่อข้อ 22 (เรื่องการคุ้มครองเด็กผู้ลี้ภัยและเด็นแสวงหาที่พักพิง) ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

Advertisement

แม่ทัพภาค 4 พบสื่อฯ 3 ประเทศ สร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจเยือนพื้นที่ จชต.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 ธันวาคม 2566 แม่ทัพภาคที่ 4 ร่วมพบปะสื่อฯ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย พร้อมสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัย ยินดีต้อนรับ นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเข้ามาเยือนพื้นที่ จชต.

พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และคณะ ร่วมพบปะคณะสื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่เดินทางมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อร่วมกิจกรรมสานสัมพันธ์สื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งที่ 1 การจัดบรรยากาศที่เป็นกันเอง ซึ่งจัดโดยสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว พร้อมหารือเรื่องการสร้างความเชื่อมั่น การดูแลความปลอดภัย ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการและสื่อมวลชนในโครงการนี้

พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวว่า ได้ทราบจากนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยถึงกิจกรรม สานสัมพันธ์สื่อมวลชน และผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งนี้ นับว่าเป็นกิจกรรมที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่ ในฐานะที่เป็นบ้านพี่เมืองน้อง มีความหลากหลายในการนับถือศาสนา และเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กันในภูมิภาคอาเซียน การมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อว่าสื่อมวลชนทุกท่านได้มาเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ห้วงสองสามปีที่ผ่านมาทั่วโลกได้เกิดภาวะโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักไป และปัจจุบันนี้สถานการณ์ดีขึ้นและทุกอย่างได้กลับมาดำเนินการเดินหน้าเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งปัจจุบันนี้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึงจังหวัดสงขลามีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเดินทางเข้ามาทำธุรกิจ มาท่องเที่ยวในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพี่น้องประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซีย อินโดนีเซีย เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาเรื่องเศรษฐกิจ แม้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น 20 กว่าปี แต่ปัจจุบันเหตุการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเรื่องของความมั่นคง และเรื่องการท่องเที่ยวการพัฒนาได้มีการขับเคลื่อนควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง ขอให้ความมั่นใจต่อนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่เข้ามาในพื้นที่ ขอให้ท่านมีความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย ส่วนเรื่องหลากหลายไม่ใช่ปัญหา ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้เพราะทุกวัฒนธรรมทุกศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข และในฐานะแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ขอให้ทุกคนมั่นใจได้ทั้งเรื่องความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจที่เดินทางมาเข้ามาให้ท่านเชื่อมั่นวางใจได้ เราพร้อมที่จะดูแลช่วยเหลือในทุกด้านโดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยเมื่อมาเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้

โครงการ “สานสัมพันธ์สื่อมวลชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวคาบสมุทรมลายูครั้งที่ 1 กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2566 นำโดย นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมโดยสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยที่นำเครือข่ายผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว สื่อมวลชนในกลุ่มมาเลเซีย และอินโดนีเซีย มาเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมเข้าพบปะบุคคลสำคัญต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ หารือความร่วมมือในด้านต่างๆ รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์แลกเปลี่ยนข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวรู้สึกให้มั่นใจถึงความปลอดภัยเมื่อมาเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักโดยเฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจ IMTGT เชื่อมสัมพันธ์และกระชับมิตรระหว่างสื่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสื่อไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระชับมิตรระหว่างสื่อมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสื่อไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความสัมพันธ์ที่ดี และร่วมกันพัฒนาขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ ร่วมกันต่อไปในอนาคต

Advertisement

“ปานปรีย์” เข้าพบ ปธน.อิสราเอล ขอบคุณดูแลคนไทยเป็นอย่างดี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 29 พฤศจิกายน 2566 อิสราเอล – “ปานปรีย์” เข้าพบ “ปธน.อิสราเอล” ขอบคุณดูแลคนไทยเป็นอย่างดี “ปธน.อิสราเอล” ชื่นชมความพยายามของรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือตัวประกันจนได้รับการปล่อยตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ทำเนียบประธานาธิบดีอิสราเอล  นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะนาย Isaac Herzog ประธานาธิบดีอิสราเอล

โดยประธานาธิบดีอิสราเอลแสดงความเสียใจต่อการที่มีแรงงานไทยเสียชีวิต บาดเจ็บ และถูกจับเป็นตัวประกัน โดยกล่าวชื่นชมความพยายามของรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือตัวประกันจนได้รับการปล่อยตัว

ขณะที่นายปานปรีย์ ขอบคุณฝ่ายอิสราเอลที่ให้การดูแลคนไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการดูแลช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ตัวประกันชาวไทยที่ได้รับการปล่อยตัว และแจ้งว่าแม้ภารกิจในครั้งนี้เดินทางมาเพื่อดูแลคนไทยเป็นการเฉพาะ แต่ก็ขอให้ฝ่ายอิสราเอลพิจารณาดำเนินการเรื่องสวัสดิภาพ สิทธิและสวัสดิการอันพึงได้สำหรับแรงงานไทยด้วย เพื่อให้แรงงานไทยสามารถกลับมาทำงานในอิสราเอลในอนาคต เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย

ประธานาธิบดีอิสราเอล แสดงความชื่นชมประเทศไทยและคนไทย และย้ำถึงความสำคัญของแรงงานไทยต่อภาคการเกษตรอิสราเอล โดยรับปากดูแลสิทธิและสวัสดิการของแรงงานไทยต่อไป

Advertisement

Verified by ExactMetrics