วันที่ 22 พฤศจิกายน 2024

“ปานปรีย์” ระบุไทยยึดกลไกอาเซียนแก้ปัญหาการเมืองเมียนมา ย้ำไทยให้ความสำคัญการทูตเชิงมนุษยธรรม

People Unity News : 14 กันยายน 2566 นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีสถานการณ์ทางการเมืองของเมียนมาว่า ประเทศไทย และเมียนมา ถือเป็นมิตรประเทศกัน ซึ่งสถานการณ์เมียนมานั้น ถือเป็นปัญหาภายใน ที่ควรได้รับการแก้ไขตามกระบวนการกฎหมายของเมียนมา และตามกลไกของอาเซียน โดยไม่ควรละเลยอาเซียน เพราะอาเซียนก็ยังคงมีเอกภาพอยู่ และยังคงมี 5 ฉันทามติร่วมของอาเซียน ที่มอบหมายให้เมียนมาดำเนินการตามฉันทามตินั้น ซึ่งรัฐบาล ก็ยังคงยึดถือตามฉันทามติดังกล่าวด้วย

แต่ปัญหาที่ประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบจากเมียนมา เช่น ปัญหายาเสพติด การลักลอบข้ามแดนนั้น นายปานปรีย์ ยืนยันว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศจะต้องมีการพูดคุยกัน แต่ปัญหาภายในเมียนมา ทั้งความขัดแย้ง กระบวนการทางประชาธิปไตย รวมไปถึงกรณีที่เกี่ยวข้องกับนางอองซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติพม่า เป็นเรื่องที่เมียนมาจะต้องบริหารจัดการ โดยที่ไทยจะต้องไปหารือร่วมกับอาเซียน เพื่อช่วยให้เกิดสันติภาพในเมียนมา

ส่วนจะมีการพูดคุยกับเมียนมานอกรอบที่ไม่ได้อยู่ในกรอบอาเซียนเหมือนรัฐบาลชุดก่อนหรือไม่นั้น นายปานปรีย์ ระบุว่า จะต้องพิจารณาตามความจำเป็น และปรึกษาประธานอาเซียนก่อน ซึ่งตอนนี้ก็สามารถประชุมผ่านทางออนไลน์ได้ ไม่จำเป็นจะต้องบินไปพบปะหารือกันโดยตรง ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องยากหากไทยจะหารือกับอาเซียนก่อนที่จะมีการพูดคุยกับเมียนมา แต่หากเป็นเรื่องระหว่างประเทศ เช่น ปัญหายาเสพติด ลักลอบข้ามแดน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งไทย และเมียนมา ก็สามารถพูดคุยกันได้อยู่แล้ว

นายปานปรีย์ ยังกล่าวถึงการทูตเชิงมนุษยธรรมว่า ไทยทำเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นแนวทางอาเซียนที่ไทยสนับสนุน ดังนั้นเรื่องประชาธิปไตย และการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ประเทศไทยสนับสนุนอยู่แล้วไม่มีปัญหา

Advertisement

ประธานสภาที่ปรึกษาซาอุฯ พบนายกรัฐมนตรี

People Unity News : 20 กรกฎาคม 2566 ประธานสภาที่ปรึกษาแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะ “พล.อ.ประยุทธ์” พร้อมส่งเสริมการค้าการลงทุนโดยเฉพาะในเขตอีอีซี

ดร.อับดุลเลาะห์ โมฮัมเหม็ด อิบราฮิม อัล-ชีค ประธานสภาที่ปรึกษาแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยทั้งสองฝ่ายยินดีจะสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างกัน พร้อมส่งเสริมการค้าการลงทุนโดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย มีแนวทางที่จะยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับหนังสือเดินทางพิเศษ และสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศ

Advertisement

“วราวุธ” เผย “พลายศักดิ์สุรินทร์” อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ทำคนไทยคลายใจหายกังวลเรื่องจะถูกส่งกลับ

People Unity News : 5 กรกฎาคม 2566 “วราวุธ” เผย “กัญจนา” พร้อมทีมแพทย์จะไปศรีลังกาอีกครั้งต้นเดือน ก.ย.นี้ ถ่ายทอดการดูแลรักษาพยาบาลช้าง ระบุ “พลายศักดิ์สุรินทร์” อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ทำคนไทยคลายใจหายห่วง หวั่นต้องส่งกลับ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ขณะนี้กลุ่มแฟนคลับพลายศักดิ์สุรินทร์ และบรรดาคนรักช้าง มีความห่วงใย ช้างอีก 2 เชือกของไทยที่ยังอยู่ที่ประเทศศรีลังกาและสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมากต่อความเป็นไปได้ที่จะนำกลับมาประเทศไทยด้วยหรือไม่ ว่า ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยจะส่งทีมสัตวแพทย์ไปพร้อมกับ น.ส. กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้นเดือนกันยายนนี้ เพื่อดูแนวทางความร่วมมือในการทำงานระหว่างหน่วยงานของไทยและหน่วยงานของศรีลังกา ในการถ่ายทอดความรู้ เทคนิคเรื่องการดูแลรักษาพยาบาลช้าง เพราะศรีลังกาเป็นประเทศที่มีช้างเลี้ยงและช้างป่าจำนวนมาก

“สอดคล้องกับการที่มีคณะสัตวแพทย์ ของมหาวิทยาลัยเมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นเมืองที่พลายประตูผาอยู่  ได้ติดต่อมายังกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยแสดงเจตจำนงว่ามีความพร้อมที่จะช่วยดูแลและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลช้าง ดังนั้น จากนี้ไปการทำงานด้านสุขภาพช้างระหว่างไทยกับศรีลังกาจะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น” นายวราวุธ กล่าว

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับประเด็นของพลายประตูผาเป็นเรื่องที่แตกต่างจากพลายศักดิ์สุรินทร์ เพราะพลายศักดิ์สุรินทร์อายุเพียง 30 ปี ยังหนุ่ม ขณะที่พลายประตูผาอายุเกือบ 50 ปีแล้ว ซึ่งสัตวแพทย์มีความเห็นว่าการเคลื่อนย้ายพลายประตูผาข้ามประเทศมีความเสี่ยงและเป็นอันตรายกับตัวช้างเอง วิธีที่ดีที่สุดคือให้ประตูผาได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องยั่งยืน ด้วยการทำโครงการความร่วมมือกันระหว่างไทยกับศรีลังกาในการแลกเปลี่ยนความรู้ บุคลากร เกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลช้าง

“การทำเช่นนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาการดูแลช้างระยะยาวในประเทศศรีลังกาได้ และเชื่อว่า จะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยคลายความห่วงกังวลต่อช้างไทยที่ยังอยู่ในศรีลังกาได้ ซึ่งโครงการแลกเปลี่ยนดังกล่าวอาจทำ MOU ขึ้น ซึ่งต้องให้กรมอุทยานฯ และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เป็นผู้ลงนามร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศศรีลังกา เพื่อทำความตกลงแลกเปลี่ยน เทคโนโลยี และความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับการดูแลช้าง ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้การดูแลช้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องยาวนาน” นายวราวุธ กล่าว

นายวราวุธ กล่าวว่า สำหรับพลายศรีณรงค์ จากการที่ น.ส.กัญจนาได้ไปเยี่ยมมาด้วยตัวเอง ได้เห็นว่ามีสภาพความเป็นอยู่ที่ดี สุขภาพปกติดีอยู่ และการเดินทางไปศรีลังกาในต้นเดือนกันยายนนี้ น.ส.กัญจนาจะไปเยี่ยมพลายศรีณรงค์อีกครั้ง นายวราวุธ กล่าวว่า ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบรายละเอียดเรื่องการนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับไทย รวมทั้งกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับพลายศักดิ์สุรินทร์ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นที่ปลื้มปิติของชาวกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ทีมงานทุกคนและปวงชนชาวไทย ต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ได้อนุมัติและช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของกระทรวง ทส.จนทุกอย่างราบรื่น ซึ่งการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณรับพลายศักดิ์สุรินทร์ไว้พระบรมราชานุเคราะห์ ทำให้ความกังวลเรื่องที่จะต้องส่งพลายศักดิ์สุรินทร์กลับศรีลังกาหรือไม่นั้นหายไป ส่วนทีมแพทย์จะรักษาอาการบาดเจ็บของพลายศักดิ์สุรินทร์อย่างเต็มที่

Advertisement

ไทย–กัมพูชา บรรลุข้อตกลงจ้างแรงงาน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

People Unity News : 5 พฤษภาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ยินดี ไทย – กัมพูชา บรรลุข้อตกลงการจ้างแรงงาน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ พร้อมแก้ไขปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบความคืบหน้าประเด็นการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ณ โรงแรมอังกอร์พาราไดซ์ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อวันที่ 19 – 21 เมษายน 2566 เชื่อมั่นจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอีกด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้เข้าร่วมการประชุมระดับวิชาการกัมพูชา – ไทย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยเรื่องการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีผลประชุมที่สำคัญ ดังนี้

การออกเอกสารประจำตัวให้แก่แรงงานกัมพูชาในประเทศไทย แรงงานกัมพูชาสามารถเดินทางไปทำเอกสารเดินทาง (TD) ณ ศูนย์ One Stop Services ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ พระตะบอง และบันเตียเมียนเจย

กรณีแรงงานกัมพูชาไม่มีเอกสารเดินทาง สามารถขอเอกสารข้ามแดนได้ที่สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำราชอาณาจักรไทยเพื่อเดินทางไปกัมพูชาและขอบัตรแรงงานกัมพูชาในต่างแดน (Overseas Cambodia Worker Card : OCWC) และเอกสารเดินทาง (TD) ณ ศูนย์ One Stop Services โดยฝ่ายไทยจะแจ้งข้อมูลของแรงงานกัมพูชาที่จำเป็นต้องจัดทำเอกสาร เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการตรวจสอบและยืนยันข้อมูล เพื่อพิจารณาออกเอกสารเดินทาง (TD) ฉบับใหม่

การปรับปรุงแก้ไขบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันเรื่องการตรวจสุขภาพในประเทศต้นทาง ต้องกำหนดโดยหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศผู้รับ โดยแรงงานจะต้องตรวจสุขภาพจากประเทศต้นทางก่อนเดินทางเข้ามาในประเทศไทย

“นายกรัฐมนตรีรับทราบ และขอบคุณการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง จนสามารถลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยเรื่องการจ้างแรงงานจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการจ้างแรงงานที่มีประสิทธิภาพได้สำเร็จ เชื่อมั่นว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนแก่แรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง ได้รับการดูแลคุ้มครองตามมาตรฐานสากล จะเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง และผู้ประกอบการ รวมไปถึงแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน รวมถึงจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

 

ความร่วมมือการค้าไทย-อินเดียก้าวหน้า จัดประชุม JTC ครั้งแรกในรอบ 20 ปี

People Unity News : 4 พฤษภาคม 2566 โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ ยินดีความร่วมมือด้านการค้าไทย-อินเดีย ก้าวหน้า รื้อฟื้นการจัดประชุม JTC ร่วมกันในรอบ 20 ปี ผลักดันการแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า เปิดตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันความร่วมมือด้านการค้าระหว่างไทยกับอินเดีย จนมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา คณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ไทย-อินเดีย ครั้งที่ 13 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งแรกในรอบ 20 ปี นับจากการประชุมเมื่อปี 2546

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุม JTC ถือเป็นกลไกสำคัญในการหารือแนวทางการส่งเสริมการค้าและการลงทุน และแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ซึ่งในปี 2563 ไทยและอินเดียตกลงรื้อฟื้นการประชุม JTC ขึ้นใหม่ ภายหลังว่างเว้นมานานเกือบ 2 ทศวรรษ เนื่องจากทั้งสองประเทศเข้าสู่การเจรจา FTA ไทย-อินเดีย และ FTA อาเซียน-อินเดีย โดยการประชุม JTC ในครั้งนี้ มีวาระการหารือที่สำคัญเกี่ยวกับการลดอุปสรรคทางการค้า และส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอินเดีย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลลัพธ์การประชุมในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในหลักการที่จะใช้การลงนามและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า รวมทั้งผลักดันการใช้ QR Code ผ่านการเชื่อมโยงระบบ Unified Payments Interface (UPI) ของอินเดีย กับระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของไทย เพื่อรองรับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านการถ่ายทำภาพยนตร์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

นอกจากนี้ไทยได้ขอให้อินเดียพิจารณาคำขอเปิดตลาดสินค้ามะพร้าวอ่อนของไทย พร้อมทั้งพิจารณายกเลิกมาตรการจำกัดการนำเข้ายางล้อและโทรทัศน์สี มาตรการห้ามนำเข้าเครื่องปรับอากาศที่มีสารทำความเย็น และการจำกัดด่านนำเข้ายางพาราและไม้ตัดดอก ซึ่งอินเดียพร้อมพิจารณา

ทั้งนี้ ไทยและอินเดียถือเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่สำคัญของกันและกัน มีมูลค่าการค้าระหว่างกันในปี 2565 รวมกว่า 17,702.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอินเดียถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ และถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้อีกมาก

“นายกรัฐมนตรีขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ผลักดันให้มีการประชุม JTC จนเห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้อีกครั้ง มุ่งหวังว่าการประชุมนี้จะสามารถหารือเพื่อทางออกสู่แนวทางแก้ไขอุปสรรคทางการค้า และเปิดตลาดในส่วนที่มีศักยภาพร่วมกันได้ และมั่นใจว่าการประชุมนี้จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญเพื่อผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอินเดียให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น จะช่วยต่อยอดเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งสองประเทศ” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

ไทย-รัสเซียทำสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน

People Unity News : 15 มีนาคม 2566 รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.วานนี้อนุมัติให้ลงนามร่างสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ไทย-รัสเซีย ต้องเป็นผู้กระทำผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี ถึงจะส่งตัวได้

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (14 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมอนุมัติลงนามร่างสนธิสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการดำเนินการให้สนธิสัญญามีผลใช้บังคับ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองประเทศในการปราบปรามอาชญากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เนื้อหาสาระและหลักเกณฑ์การส่งผู้ร้ายข้ามแดนคล้ายคลึงกับสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันกับที่ประเทศไทยได้จัดทำกับประเทศต่าง ๆ และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551

“สำหรับข้อกำหนดเงื่อนไขและขั้นตอนในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน อาทิ 1.ความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กันได้ ต้องเป็นความผิดที่ลงโทษได้ตามกฎหมายของทั้งสองประเทศ (Double Criminality) และเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกเกินกว่า 1 ปี 2.ผู้ประสานงานกลางของฝ่ายไทยตามสนธิสัญญานี้ คือ อัยการสูงสุด และฝ่ายสหพันธรัฐรัสเซีย คือ สำนักงานอัยการสูงสุด 3.ภาคีที่ได้รับการร้องขอ ไม่ต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนบุคคลซึ่งกระทำความผิดทางการเมืองและความผิดทางทหาร ทั้งนี้ ความผิดต่อประมุขของรัฐ หรือหัวหน้ารัฐบาล หรือสมาชิกในครอบครัวของบุคคลดังกล่าว และการกระทำหรือการละเว้นการกระทำซึ่งเป็นความผิดอาญาตามพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาพหุภาคีที่ทั้งสองฝ่ายเป็นภาคี ไม่ถือว่าเป็นความผิดทางการเมือง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 4.ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อมีเหตุต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายของภาคีแต่ละฝ่าย อาทิ ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง หรือเป็นความผิดทางทหาร ซึ่งรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับอายุความ 5.ภาคีที่ได้รับการร้องขอ สามารถปฏิเสธไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อภาคีที่ได้รับการร้องขอมีเขตอำนาจเหนือความผิดที่มีการร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือการส่งบุคคลนั้นเป็นผู้ร้ายข้ามแดนจะกระทบต่ออำนาจอธิปไตย ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ หรือภาคีที่ได้รับการร้องขอกำลังดำเนินคดีอาญากับบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวในความผิดนั้นอยู่ 6.สนธิสัญญานี้ไม่กำหนดให้คู่ภาคีมีพันธกรณีใด ๆ ที่จะต้องส่งคนชาติของคนข้ามแดน อย่างไรก็ดี กรณีที่มีการปฏิเสธการส่งคนชาติข้ามแดน ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะต้องเสนอคดีนั้น ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของตนเพื่อฟ้องคดีต่อไป เว้นแต่ว่าภาคีที่ได้รับการร้องขอไม่มีอำนาจเหนือความผิดนั้น ก็จะไม่ต้องเสนอคดีนั้นต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเพื่อฟ้องคดี

“7.กรณีเร่งด่วน ภาคีคู่สัญญาแต่ละฝ่ายสามารถร้องขอให้มีการจับกุมตัวชั่วคราว (Provisional Arrest) บุคคลที่ต้องการ เพื่อให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อไปได้ 8.ให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยวิธีการแบบย่อ (Simplified procedure) ในกรณีที่บุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัวยินยอมต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือศาลแห่งภาคีที่ได้รับการร้องขอ 9.กรณีที่ได้รับคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศผู้ร้องขอตั้งแต่สองประเทศขึ้นไป ให้ภาคีที่ได้รับการร้องขอพิจารณาว่าจะส่งบุคคลนั้นข้ามแดนให้แก่ประเทศใด โดยนำเหตุผลดังต่อไปนี้มาพิจารณาทั้งหมด 1)ประเทศผู้ร้องขอมีหรือไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับประเทศไทย 2)สัญชาติของบุคคลที่ถูกขอให้ส่งตัว 3)เวลาและสถานที่กระทำความผิด 4)ความร้ายแรงของความผิด 5) ลำดับคำร้องขอที่ได้รับจากประเทศผู้ร้องขอ” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า 10.กำหนดหลักการว่าบุคคลที่ถูกส่งตัวไป จะไม่ถูกลงโทษในความผิดอื่น นอกเหนือจากในความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 11.กำหนดขั้นตอนการวินิจฉัยคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนและการส่งมอบตัวบุคคลในความผิดที่ขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 12.ภาคีที่ได้รับการร้องขอจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจนกระทั่งถึงเวลาส่งมอบตัว

“ร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ ถือเป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนการลงนามและการดำเนินการให้มีผลผูกพัน แต่ไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากร่างสนธิสัญญาไม่ได้มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

ผบ.ทร.เยือนญี่ปุ่นกระชับสัมพันธ์ยาวนาน

People Unity News : 15 กุมภาพันธ์ 2566 ผบ.ทร.เยือนญี่ปุ่น ในฐานะแขกของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น ย้ำสัมพันธ์ทหารเรือสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน

พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์  ผู้บัญชาการทหารเรือ เยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 12 – 16 กุมภาพันธ์ 2566 โดยผู้บัญชาการทหารเรือและคณะได้เยี่ยมชมฐานทัพเรือโยโกสุกะและฐานทัพเรือฟูนาโกชิ พร้อมทั้งเยี่ยมชมเรือเตรุสึกิ (JS Teruzuki  DD-116) ซึ่งเป็นเรือรบชั้น Destroyer ของญี่ปุ่น

ทั้งนี้ กองทัพเรือไทยและกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์อันดีมาอย่างต่อเนื่อง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้บังคับบัญชาเพื่อสร้างความร่วมมือและความเข้าใจอันดีอยู่เสมอ ล่าสุด ระหว่างวันที่ 5-10 พฤศจิกายน 2565 กองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Western Pacific Naval Symposium (WPNS) ครั้งที่ 18 โดยจัดให้มีพิธีสวนสนามทางเรือ เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปี กองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลญี่ปุ่น ณ อ่าวซากามิ จังหวัดคานางาว่า ซึ่งผู้บัญชาการทหารเรือได้ไปร่วมประชุมและชมการสวนสนามทางเรือ รวมทั้งกองทัพเรือได้จัดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เข้าร่วมการสวนสนามทางเรือด้วย

Advertisement

นายกฯ ไทย-มาเลเซีย แถลงร่วม มุ่งพัฒนาพื้นที่ชายแดนเป็น “แผ่นดินทอง”

People Unity News : 9 กุมภาพันธ์ 2566 แถลงร่วม นายกฯ ไทย – มาเลเซีย มุ่งพัฒนาพื้นที่ชายแดนเป็นเสาหลักแห่งความมั่งคั่ง และ “แผ่นดินทอง” สร้างความสุขสงบและความเป็นอยู่ที่ดีแก่ประชาชาชนทั้งสองประเทศ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการแถลงข่าวร่วมกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วม นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียถือเป็นมิตรที่เข้าใจไทย มีส่วนสำคัญในการสานสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียให้แนบแน่น

ในระหว่างการหารือ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและมุมมองครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อความมั่นคงและก้าวหน้าให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน เห็นพ้องถึงการผสานความร่วมมือ ผลักดันความเชื่อมโยงทุกมิติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนไทยและมาเลเซีย ให้เป็นเสาหลักแห่งความมั่งคั่ง เพื่อให้พื้นที่ชายแดนร่วมเป็น “แผ่นดินทอง” ที่มีความสุขสงบ ซึ่งมีผลลัพธ์สำคัญ ดังนี้

ด้านการส่งเสริมการเชื่อมโยงกันในทุกมิติ ทั้งสองฝ่ายมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะสนับสนุนการไปมาหาสู่และการค้าขายระหว่างไทยและมาเลเซีย โดยเฉพาะการสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ของไทยกับด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย ตลอดจนการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งใหม่ รวมถึงการเชื่อมโยงที่ครอบคลุม ทั้งในกรอบทวิภาคีและไตรภาคีอย่าง IMT-GT ที่ช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน และสามารถยังประโยชน์ถึงประชาชนได้ทุกระดับถึงรากหญ้า

ด้านการยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับมาเลเซียยังมีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาได้อีกมาก จึงต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเพิ่มมูลค่าและพลวัตของการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้า คือ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568

ด้านการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายหารือถึงแนวทางการเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และรัฐชายแดนภาคเหนือของมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนระยะยาว และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ในสาขาที่มีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น

ด้านการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับประชาชน โดยเฉพาะด้านสังคมและวัฒนธรรม ผ่านความร่วมมือ ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งชาวมาเลเซีย ถือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มาท่องเที่ยวไทยในปี 2565 และคนไทยจำนวนไม่น้อยต่างชื่นชอบที่จะไปท่องเที่ยวที่มาเลเซีย

ด้านการร่วมมือกันในระดับภูมิภาคและในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อรักษาสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองของการพัฒนาในภูมิภาคและในระดับโลก พร้อมย้ำความมุ่งมั่นในการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนและการมีเอกภาพในการทำงานร่วมกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมของโลก

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และรัฐบาลมาเลเซียอย่างเต็มที่ในทุกระดับ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในสาขาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ มาเลเซียมาดานี (Malaysia Mandani) ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่มุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่ความก้าวหน้าอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเช่นกัน รวมทั้งได้สนับสนุนให้เอกชนมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ช่วยดูแลนักลงทุนไทยในมาเลเซียเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างกัน

ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วม นายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เยี่ยมชมนิทรรศการศิลปหัตถกรรม ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี และนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียและภริยา ณ ตึกสันติไมตรีหลังนอก

อนึ่ง นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนความตกลง 4 ฉบับ ได้แก่

1.บันทึกความเข้าใจระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ Tenaga Nasional Berhad (TNB) ในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของข้อเสนอในการเสริมสร้างศักยภาพการเชื่อมต่อโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าระหว่างคาบสมุทรมาเลเซียและไทย

2.บันทึกความเข้าใจระหว่าง TNB Renewable Sdn. Bhd. (“TRe”) และ Planet Utility Co., Ltd. (“Planet Utility”) เกี่ยวกับข้อเสนอในการร่วมมือสำรวจศักยภาพของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและการผลิตพลังงานในประเทศไทย

3.บันทึกความตกลงระหว่าง TNB Power Generation Sdn. Bhd. (“GenCo”) และ B Grimm Power Public Co. Ltd. (“B Grimm”) ซึ่งเกี่ยวกับข้อเสนอในการแสวงหาโอกาสในการทำงานร่วมกัน การมีส่วนร่วม และการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

4.บันทึกความเข้าใจระหว่าง Malaysia Digital Economy Corporation SDN. BHD. (MDEC) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

Advertisement

ผบ.ทร.ลงเรือตรวจพื้นที่ทางยุทธวิธีสามเหลี่ยมทองคำ

People Unity News : 5 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้บัญชาการทหารเรือ ตรวจเยี่ยมหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง เขตเชียงราย

พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมคณะนายทหารระดับสูงของกองทัพเรือ เดินทางไปตรวจเยี่ยมหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง ณ กองบังคับการหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง เขตเชียงราย อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยมี พลเรือตรี สมาน ขันธพงษ์ ผู้บัญชาการหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง และ นาวาเอก ศราวุธ เถื่อนบุญ ผู้บังคับหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง เขตเชียงราย ให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบโอวาทแก่กำลังพล รวมทั้งกล่าวชื่นชมหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง เขตเชียงราย ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้สร้างผลงานให้เป็นที่ปรากฏสร้างชื่อเสียงให้แก่กองทัพเรือและประเทศชาติเป็นอย่างมาก ทั้งยังขอให้กำลังพลทุกนายเตรียมพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง โดยยึดถือผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งเสริมสร้างและรักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ต่อมาในเวลา 10.50 น. ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เดินทางต่อไปยังสถานีเรือเชียงแสน หน่วยเรือรักษาความสงบตามลำแม่น้ำโขง เขตเชียงราย อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยผู้บัญชาการทหารเรือได้ลงเรือตรวจการณ์ลำน้ำ เพื่อตรวจพื้นที่ทางยุทธวิธี บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ

สำหรับ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง หรือ นรข. มีภารกิจในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมาย คุ้มครองและช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติต่าง ๆ ตามหลักมนุษยธรรมในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง รวมทั้งสนับสนุนกำลังทางบก ในการรักษาความมั่นคงและป้องกันประเทศ มีพื้นที่ปฏิบัติการตามริมฝั่งแม่น้ำโขงครอบคลุม 8 จังหวัด คือ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และ อุบลราชธานี เป็นระยะทางรวมทั้งสิ้น 928 กิโลเมตร และแบ่งความรับผิดชอบเป็น นรข.เขต 4 เขต ได้แก่ 1.นรข.เขตเชียงราย 2.นรข.เขตหนองคาย 3.นรข.เขตนครพนม 4.นรข.เขตอุบลราชธานี รวมทั้ง 4 เขตมีสถานีเรือทั้งสิ้น 14 สถานีเรือ และ 1 หน่วยเรือ โดย นรข.เขตเชียงราย มีพื้นที่รับผิดชอบตามลำแม่น้ำโขงตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ ที่บ้านสบรวก ต.เวียง อ.เชียงแสน ไปสิ้นสุดที่แก่งผาได บ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น รวมระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 3 อำเภอ 8 ตำบล 39 หมู่บ้านมีหน่วยในบังคับบัญชา 2 สถานีเรือ คือ 1.สถานีเรือเชียงแสน และ 2.สถานีเรือเชียงของ โดยผลการดำเนินการที่ผ่านมามีผลการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอาทิ การจับกุมผู้กระทำความผิด รวมถึงการจัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัย หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง เพื่อพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนในกรณีเกิดสาธารณภัยในพื้นที่รับผิดชอบ อาทิ ภัยหนาว ภัยแล้ง อัคคีภัย และอุทกภัย

Advertisement

นายกฯ ปลื้มผลสำเร็จ เวทีอาเซียน – อียู

People Unity News : 15 ธันวาคม 2565 บน. 6 ดอนเมือง – “พล.อ.ประยุทธ์” ปลื้มผลสำเร็จเวทีอาเซียน-อียู ชี้หลายภูมิภาคหันมาให้ความสนใจไทยเนื้อหอม ลั่นเมื่อใดประเทศชาติยากลำบากต้องร่วมมือกันสู้ข้าศึก ไม่ใช่คนไทยมาสู้กันเอง โต้อย่าบอกรัฐบาลนี้ไม่ทำอะไร โวเจรจา FTA คืบหน้า ถ้าง่ายคงเสร็จมาหลายรัฐบาลแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังกลับจากเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป ที่ราชอาณาจักรเบลเยียม ว่า การไปประชุมในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเป็นการประชุมครั้งพิเศษ ได้พบปะกับอียู 27 ประเทศในเวลาเดียวกัน นอกจากมีการประชุมตามวาระแล้ว มีโอกาสพบภาคธุรกิจและภาคธุรกิจของอียู ซึ่งต่างพร้อมร่วมมือกับไทย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังหารือถึงปัญหาอุปสรรต่างๆ ซึ่งการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ต้องเตรียมความพร้อมของเรา บางครั้งการเดินหน้าทางธุรกิจไปได้ยาก จึงต้องพยายามปรับเปลี่ยนพอสมควร แต่เราต้องไม่เสียเปรียบและต้องได้ประโยชน์ต่างตอบแทนเท่าๆกัน ขอให้ช่วยกันติดตามด้วย นอกจากนี้ยังหารือทวิภาคีกับผู้บริหารอียูหลายประเทศที่ต่างให้ความสนใจ ซึ่งวันนี้หลายภูมิภาคกลับมาให้ความสนใจอาเซียน เนื่องจากเราเป็นภูมิภาคที่มีความพร้อม มีความสงบสุข โลกกำลังเปิดกว้างเราต้องเตรียมการอาเซียนให้พร้อม ซึ่งในครั้งนี้ได้ย้ำนโยบายเศรษฐกิจของไทยเจริญเติบโตควบคู่กับความยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้เราหวังพึ่งใครฝ่ายเดียวโดยไม่สนับสนุนไม่ร่วมมือก็ไม่สำเร็จ จึงขอให้ทุกคนมีส่วนร่วมโดยให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับความยั่งยืน โดยไม่ผลีผลามว่าจะให้เท่านั้นเท่านี้ เราต้องให้ทั้งปลาและเบ็ดตกปลา ฝากประชาชนด้วย ยืนยันรัฐบาลสนุบสนุนทุกวิถีทางให้ประชาชนอยู่ดีกินดียิ่งขึ้น ถ้าเปิดใจให้กว้างจะเห็นหลายอย่างเกิดขึ้นในประเทศไทย ถ้าเปิดตาให้กว้างจะเห็นว่าหลายอย่างเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นหลายอย่างอาจไม่ทันใจแต่เมื่อถึงเวลาไม่มีอะไรสำเร็จเริ่มได้วันเดียว ตนพยายามทำเต็มที่ให้สำเร็จลงได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ยังมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน ที่จากการติดตามสถานการณ์ถือว่าดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาเราได้เอาเงินส่วนหนึ่งมาชดเชยไว้เป็นจำนวนมากที่จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนชดเชยในส่วนที่ลดลงและส่วนที่ขาดทุนเนื่องจากใช้เงินกู้มาเติมเต็มในส่วนนี้ทั้งสิ้น ส่วนราคาก๊าซวันนี้มีราคาสูงขึ้นในขณะที่ราคาน้ำมันลดลง ซึ่งมีความเกี่ยวพันกันทั้งคู่ เพราะเป็นแหล่งผลิตพลังงานซึ่งในยุโรปและหลายๆประเทศก็มีความเดือดร้อนทั้งหมดจากราคา 10 กว่าเหรียญก็ขึ้นเป็น 30 เหรียญ 50 เหรียญ 100 เหรียญ ซึ่งมีปัญหามากกว่าประเทศไทยพอสมควรจากอากาศพื้นที่อากาศหนาว แต่ประเทศไทยไม่เคยเจอสภาพนี้เราได้แต่ให้ความเห็นใจ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องก๊าซยังคงมีปัญหาอยู่เยอะเนื่องจากเป็นพลังงานที่จะนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าฉะนั้นไฟฟ้าจะราคาสูงขึ้น แต่รัฐบาลจะพยายามทำให้ค่า FT ต่ำที่สุดซึ่งก็ต้องใช้การหาเงินมาทดแทนไม่มีอะไรที่ได้มาเปล่าๆ จึงขอให้พยายามใช้จ่ายอย่างประหยัดวันนี้พยายามจะปรับเรื่องการจ่ายพลังงานให้ถูกวัตถุประสงค์ เช่น พลังงานสีเขียวจะให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย ส่วนพลังงานที่มีต้นทุนแพงจะมีไว้สำหรับผู้ที่มีผลประกอบการสูง ถ้าเราร่วมมือกันทุกอย่างจะไปได้จะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันขอให้เสียสละกันบ้าง

“การทำอะไรก็ตามไม่ได้ง่ายมากนัก แต่ถ้าเราร่วมมือกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันก็ไปได้ หลายคนชื่นชมประเทศไทยแล้วเราภูมิใจกันบ้างหรือไม่ หลายอย่างดีขึ้น โรงแรมเต็ม หากินดีขึ้น แต่เรายังไม่พอใจ ตนจำเป็นต้องเล่าให้ฟังว่าไปต่างประเทศมามันเป็นอย่างไร หลายประเทศไม่มีคนเดินถนนเพราะอากาศหนาว แต่ประเทศไทยไปไหนได้ทั้งวันทั้งคืน ขอให้เข้าใจเมื่อไหร่ที่ประเทศชาติมีความยากลำบากเราต้องร่วมมือกัน เหมือนสมัยโบราณมีข้าศึกมาตีเราต้องร่วมมือต้องสู้กัน ไม่ใช่มาสู้กันเอง ขณะเดียวกันวันนี้โลกใหม่แล้วใม่อย่ามัวขัดแย้งเรื่องไม่เป็นเรื่องคิดเรื่องใหม่ๆ มาร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ผมจะโทษใครไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน เรามุ่งเน้นไปสู่การเจรจาเพื่อนำไปสู่ FTA ซึ่งหลายคนก็พูดว่ารัฐบาลนี้ไม่ให้ความสนใจ FTA เราเจรจามากว่า 10 ปีแล้วที่ไม่มีความก้าวหน้า ซึ่งตนก็ถามว่าทำไมไม่ก้าวหน้าก็เพราะกติกาละเอียดมากจนเราปฏิบัติไม่ได้ แต่วันนี้ได้ไปพูดคุยกันว่าบางอย่างลดระดับลงได้หรือไม่ มันต้องเจรจาแบบนี้ไม่ใช่ว่ารัฐบาลนี้ไม่เคยไปเดินหน้า FTA เลย ตั้งแต่มาเจรจาไป 5 รอบแล้ว ทั้งนี้รอบที่ 6 และมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นจนวันนี้สามารถลงนาม PCA เพื่อเดินหน้าไปสู่ FTA ต่อไปในอนาคต ไม่ใช่ใครจะไปพูดอะไรก็ได้ทุกอย่างที่ไปคุยเป็นมติคณะรัฐมนตรีจำไว้ ไม่เช่นนั้นใครพูดกันคนละทางสองทางก็หาทางลงไม่เจอ เราใช้เวลาเดือนหน้าแค่เฉพาะ PCA ใช้เวลาเดินหน้ามาถึง 18 ปี แต่เพิ่งสำเร็จเมื่อเช้านี้ ดังนั้นอย่าพูดว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย 18 ปี ไม่เคยเจรจา FTA ถ้ามันง่ายนะคงสำเร็จมาหลายรัฐบาลแล้ว

Advertisement

Verified by ExactMetrics