วันที่ 22 พฤศจิกายน 2024

ประยุทธ์ แถลงข่าวร่วมนายกฯมาเลเซีย การหารือประเด็นสำคัญร่วมกัน 4 ด้าน

People Unity News : ประยุทธ์ แถลงข่าวร่วมนายกฯมาเลเซีย พร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือรอบด้าน ยึดประโยชน์ประชาชนของทั้งสองประเทศ

25 ก.พ. 65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการแถลงข่าวร่วมกับ ดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล โดยนายกฯ มาเลเซีย ถือเป็นผู้นำรัฐบาลต่างประเทศคนแรกที่เยือนประเทศไทย หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 สะท้อนความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ

นายกฯ ไทย ชื่นชมความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของนายกฯ มาเลเซีย ในการขับเคลื่อนประเทศท่ามกลางความท้าทายต่างๆ พร้อมยืนยันความตั้งใจเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งแก่ประชาชนทั้งสองประเทศ บนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจ เสมือน “ครอบครัวเดียวกัน”

ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นสำคัญร่วมกันใน 4 ประเด็น ดังนี้

1.การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในทุกมิติ การเดินทางระหว่างประชาชนของสองประเทศ โดยเฉพาะการเดินทางของผู้ที่ฉีดวัคซีนครบแล้วโดยไม่ต้องกักกันโรค ทั้ง Vaccinated Travel Lane (VTL) ของมาเลเซีย และระบบ Test and Go ของไทย รวมถึงการเดินทางผ่านพรมแดนทางบกเพิ่มเติม

2.การกระตุ้นเศรษฐกิจและแสวงหาความร่วมมือสาขาใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมามีปริมาณการค้าชายแดนและผ่านแดนเพิ่มสูงขึ้น และคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีก โดยตั้งเป้ามูลค่าการค้าระหว่างกันที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2568 รวมถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG

3.การพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และความมั่นคงชายแดน โดยนายกฯ เชิญชวนให้มาเลเซียร่วมลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงอุตสาหกรรมยางพาราและฮาลาล พร้อมชี้แจงสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งฝ่ายมาเลเซียสนับสนุนท่าทีของไทยในการแสวงหาทางออกด้วยสันติวิธี

4.การรื้อฟื้นกลไกหารือทวิภาคี ที่ครั้งนี้จะเป็นการปูทางสู่การแลกเปลี่ยนการเยือนและการประชุมหารือฯระหว่างกันต่อไป โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย – มาเลเซีย ครั้งที่ 14 ในเดือน มี.ค. นี้

Advertising

รัฐบาลไทย-ไมโครซอฟท์ ลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการนำร่องในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

People Unity News : รัฐบาลไทย – ไมโครซอฟท์ฯ พร้อมร่วมมือพัฒนาทักษะดิจิทัลให้ “คนไทย” ทุกระดับอย่างต่อเนื่อง

24 ก.พ. 65 วันนี้ นาย Ahmed Mazhari ประธานบริษัท ไมโครซอฟท์ เอเชีย และคณะผู้บริหารบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ณ ทำเนียบรัฐบาล

ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ในวันนี้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไมโครซอฟท์ โอเปอเรชั่น จำกัด สิงคโปร์

มีเป้าหมายดำเนินโครงการนำร่องในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งจะเสริมสร้างความเชื่อมั่น และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและภาคเอกชนในการประสานกับหน่วยงานของรัฐ

นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ เช่น ขอให้พิจารณาสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของไทย โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลให้ครอบคลุมทุกระดับอย่างต่อเนื่องต่อไป การเดินหน้าสู่เศรษฐกิจ/อุตสาหกรรมสีเขียว และความยั่งยืน เป็นต้น

Advertising

สธ. เผย EU รับรอง Thailand Digital Health Pass ใช้เดินทางเข้าได้ 60 ประเทศ

People Unity News : สธ. เผย EU รับรอง Thailand Digital Health Pass ใช้เดินทางเข้าได้ 60 ประเทศ

12 ก.พ. 65 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยถึงการใช้ Digital Health Pass บนระบบหมอพร้อม ที่สามารถใช้เดินทางในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (EU) ได้กว่า 60 ประเทศ/ดินแดน หลังประเทศไทยได้พัฒนาเอกสารรับรองเกี่ยวกับโควิด-19 ให้เท่าเทียมกับเอกสารของ EU (EU Digital COVID Certificate) ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเอกสารรับรองฯ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา

ส่งผลให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยสามารถใช้ Thailand Digital Health Pass แสดงสถานะสุขภาพเกี่ยวกับโควิด-19 ก่อนเดินทางสู่กลุ่มประเทศ EU รวมถึงใช้แสดงข้อมูลก่อนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆในประเทศเหล่านั้น เป็นการอำนวยความสะดวกประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่ต้องขอเอกสารรับรองอื่นๆอีก ขณะที่ สธ. สามารถติดตามและตรวจสอบสถานะสุขภาพของนักเดินทางจากประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปที่เดินทางเข้ามาในไทยได้เช่นกัน

Thailand Digital Health Pass จะแสดงข้อมูลสำคัญ 2 ส่วน คือ

1.ข้อมูลจำเป็นในการยืนยันตัวตน ได้แก่ ชื่อ – นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน อายุ สัญชาติ หมายเลขหนังสือเดินทาง (ถ้ามี)

2.ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ได้แก่ ข้อมูลการฉีดวัคซีน ข้อมูลการตรวจหาเชื้อโควิด ข้อมูลการหายป่วยจากโควิด ในรูปแบบ QR Code ที่มีลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์กำกับ

Advertising

ศอ.บต.เตรียมจัดเวทีระดมสมองทุกภาคส่วน ต่อยอดไทย-ซาอุฯ ฟื้นความสัมพันธ์

People Unity News : ศอ.บต.เตรียมจัดเวทีระดมสมองจากทุกภาคส่วน “โอกาสและศักยภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังไทย-ซาอุฯ ฟื้นความสัมพันธ์” ก.พ.นี้ ข้อมูลเสนอต่อรัฐบาลเพื่อจัดทำนโยบายและแนวทางการพัฒนาร่วมกับซาอุดีอาระเบีย

31 ม.ค. 65 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา นำไปสู่การเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบียอย่างสมบูรณ์ และการส่งเสริมความร่วมมือในมิติต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน ในการนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รายงานต่อนายกรัฐมนตรีว่า ได้กำหนดแนวทางต่อยอดโอกาสจากการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ดังกล่าว เพื่อเร่งขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างเป็นรูปธรรม และผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยจะมีการจัดประชุมสัมมนา หัวข้อ “โอกาสและศักยภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายหลังไทย-ซาอุฯ ฟื้นความสัมพันธ์” ประมาณกลางเดือน ก.พ.นี้ เพื่อระดมความคิดเห็นและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น-ท้องที่ ข้าราชการ แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานที่ซาอุฯ และประชาชนทุกสาขาอาชีพ กว่า 500 คนที่มีประสบการณ์ทั้งการเรียน การทำงานและการใช้ชีวิตในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่ง ศอ.บต. จะรวบรวมข้อมูลที่ได้เสนอต่อรัฐบาล เพื่อใช้ประกอบการจัดทำนโยบายและแนวทางการพัฒนาร่วมกับซาอุดีอาระเบียต่อไป อีกทั้ง จะได้นำเสนอต่อการประชุมเอกอัครราชทูตและทูตานุทูตโลกอิสลามประจำประเทศไทยและเครือข่ายองค์กรนานาชาติด้านโลกอิสลาม ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.ด้วย

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า การจัดประชุมเอกอัครราชทูตโลกอิสลามและเครือข่ายองค์กรนานาชาติด้านโลกอิสลามดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามแผนการทำงานของ ศอ.บต ปี 2565 ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยฟาตอนี และสมาคม ชมรมและกลุ่มนักเรียน นักศึกษาเก่าจากโลกมุสลิม ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยจะมีการนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทุกมิติ ครอบคุลมด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข การมีส่วนร่วมของประชาชนและอื่นๆ รวมทั้ง การเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปในพื้นที่ทั้งที่สำเร็จการศึกษาจากโลกมุสลิมแล้ว ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยและสานสัมพันธ์กับผู้นำประเทศที่ตนเองสำเร็จการศึกษา การนำชมพื้นที่การทำงานที่ประสบความสำเร็จจากการสร้างทรัพยากรบุคคลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

“จากการเปิดศักราชใหม่ความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ ครั้งนี้ นำไปสู่ความร่วมมือและประโยชน์ในด้านต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและพลังงานหมุนเวียน การศึกษาและวิจัย ความมั่นคง การท่องเที่ยวและกีฬา และยังส่งผลบวกต่อความรู้สึกของชุมชนมุสลิมในประเทศที่มองซาอุดีอาระเบียเป็นศูนย์กลางศาสนาอิสลาม ขณะเดียวกันจะทำให้การประสานงานและการขับเคลื่อนงานพัฒนาระหว่างจังหวัดชายแดนใต้กับซาอุดีอาระเบียที่มีมาอย่างต่อเนื่อง สามารถขยายขอบเขตและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ เพราะจะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับความร่วมมือในทุกๆด้าน” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertising

จีนเปิดด่านรถไฟผิงเสียง นำเข้าทุเรียน ลำไย ผลไม้ไทย 4 มกราคมนี้

People Unity News : จีนเปิดด่านรถไฟผิงเสียง นำเข้าทุเรียน ลำไย ผลไม้ไทย 4 มกราคมนี้

2 ม.ค. 65 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยว่า จากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เข้มงวดของด่านนำเข้าจีน ส่งผลต่อการส่งออกผลไม้ของไทยในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ตนได้สั่งการทูตเกษตรเร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและตนได้หารือเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกการขนส่งผลไม้ไทย

ล่าสุดได้รับรายงานจากกงสุล (ฝ่ายเกษตร) ของไทยประจำนครกว่างโจว ว่า ด่านรถไฟผิงเสียง (เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง) ประเทศจีนได้เปิดด่านแล้ว โดยกำหนดเปิดนำเข้าผลไม้ไทยตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 17 มกราคม 2565 เพื่อคลี่คลายปัญหากรณีด่านตงซิง (เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน) ปิดด่าน ทําให้ทุเรียนและลําไยสดของประเทศไทยที่มีปริมาณมากต้องติดค้างอยู่ที่ด่านตงซิงซึ่งไม่สามารถยื่นคําร้องขอผ่านพิธีการศุลกากรเข้าประเทศจีนได้ ทางการจีนจึงประสานเป็นหนังสือขอความอนุเคราะห์ฝ่ายเกษตรฯกว่างโจวแจ้งมายังหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อํานวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการผลไม้ทําการเปลี่ยนแปลงใบรับรองสุขอนามัยพืชในช่วงวันที่ 1 – 3 มกราคม 2565 สินค้าผลไม้ไทยจะได้ยื่นคําร้องขอผ่านพิธีการศุลกากรผ่านด่านรถไฟผิงเสียงเพื่อขนส่งเข้าประเทศจีนได้

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ กล่าวว่า ผู้ส่งออกต้องรีบยื่นขอเปลี่ยนแปลงใบรับรองสุขอนามัยพืชจากด่านตงชิงเป็นด่านรถไฟผิงเสียงและต้องระมัดระวังอย่าให้มีการปนเปื้อนโควิด-19 ทั้งคนขับ รถและสินค้า เพราะถ้าพบทางการจีนจะปิดด่านทันที จึงขอความร่วมมือทุกฝ่ายให้ช่วยกันเข้มงวดกวดขันอย่างเต็มที่

Advertising

ประยุทธ์ เสนอแนวทาง 5P เพื่อความกินดีอยู่ดี การพัฒนาที่ยั่งยืน ก้าวผ่านวิกฤต ต่อที่ประชุม ASEM 13

People Unity News : ประยุทธ์ ชูแนวทาง 5P เพื่อความกินดีอยู่ดี การพัฒนาที่ยั่งยืน และก้าวผ่านวิกฤตต่างๆ ในพิธีเปิดการประชุมเอเชีย – ยุโรป ครั้งที่ 13

วันนี้ 25 พ.ย.64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มอาเซียน สำหรับพิธีเปิดการประชุมผู้นำเอเชีย – ยุโรป ครั้งที่ 13 (The 13th ASEM Summit: ASEM13) ผ่านระบบการประชุมทางไกล สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

การประชุมครั้งนี้มีหัวข้อหลักคือ “Strengthening Multilateralism for Shared Growth” ที่มุ่งสร้างพหุภาคีนิยมที่เข้มแข็งและยั่งยืน โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีในโอกาสครบรอบ 25 ปี ของ ASEM ซึ่งไทยเชื่อมั่นว่าพหุภาคีนิยมเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือที่จะนำพาโลกผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ

พร้อมเสนอความร่วมมือตามแนวทาง 5P ของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ ดังนี้

1.People ต้องสร้างความมั่นคงให้ประชาชน ASEM กว่าสี่พันล้านคน ทั้งด้านสุขภาพ ความกินดีอยู่ดี และความปลอดภัยในชีวิต

2.Partnership เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมบนพื้นฐานความเชื่อใจ เคารพซึ่งกันและกัน และมีผลประโยชน์ร่วมกัน

3.Peace ความร่วมมือระหว่าง ASEM ต้องเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่เอื้อต่อสันติภาพ ไม่ให้เกิดการแข่งขันหรือขัดแย้ง

4.Prosperity ต้องเติบโตร่วมกัน ยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีบนกฎกติกาขององค์การการค้าโลก

5.Planet ต้องร่วมมือกันรักษาโลกใบนี้ สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ. 2030

Advertising

ประยุทธ์ จะร่วมประชุม ASEM ครั้งที่ 13 พร้อมเสนอวิสัยทัศน์ ขับเคลื่อนความร่วมมือพหุภาคี

People Unity News : ประยุทธ์ เตรียมร่วมการประชุม ASEM ครั้งที่ 13 พร้อมเสนอวิสัยทัศน์ ขับเคลื่อนความร่วมมือพหุภาคี รับมือกับวิกฤตต่างๆของโลก 25 – 26 พ.ย.นี้

ระหว่างวันที่ 25 – 26 พฤศจิกายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย – ยุโรป ครั้งที่ 13 (Asia-Europe Meeting : ASEM 13) ภายใต้หัวข้อหลัก “Strengthening Multilateralism for Shared Growth” ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ ทำเนียบรัฐบาล

การประชุมครั้งนี้ นอกจากนายกฯจะเข้าร่วมในนามผู้นำประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการเข้าร่วมในนามผู้ประสานงานกลุ่มอาเซียน ระหว่างปี พ.ศ. 2564 – 2565 และประเด็นที่นายกฯจะนำสนอต่อที่ประชุม เช่น

1.การถอดบทเรียนจากประสบการณ์ ประมวลเป็นข้อแนะนำที่เป็นรูปธรรม

2.ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างเอเชียกับยุโรป

3.ความสำคัญของการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค Next Normal

4.ความสำคัญของกรอบความร่วมมือพหุภาคีในการรับมือกับวิกฤตต่างๆของโลก

รวมทั้ง จะร่วมยืนยันสนับสนุนความร่วมมือระดับพหุภาคีนิยม ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้ประเทศทั้งเล็กและใหญ่ มีส่วนร่วมในการรับมือกับความท้าทายของโลก

Advertising

ไทยรับมอบวัคซีน Moderna จากสหรัฐฯ 1 ล้านโดส ให้คนไทยฉีดวัคซีนได้อย่างครอบคลุม

People Unity News : ไทยรับมอบวัคซีน Moderna จากสหรัฐฯ 1 ล้านโดส ให้คนไทยฉีดวัคซีนได้อย่างครอบคลุม

23 พฤศจิกายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีรับมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัท Moderna จากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยมี นายไมเคิล ฮีต อุปทูตรักษาราชการชั่วคราว สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ เข้าร่วมพิธี

นายกรัฐมนตรีขอบคุณรัฐบาลสหรัฐฯ ประธานาธิบดีไบเดน และอุปทูตฯ ผ่านการสนับสนุนวัคซีนโควิด-19 เป็นครั้งที่ 2 ของบริษัท Moderna จำนวน 1,000,000 โดส สะท้อนถึงความเป็นมิตรแท้ ช่วยสนับสนุนให้ไทยรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนสถานการณ์ดีขึ้น และสามารถเปิดประเทศได้อีกครั้ง โดยไทยจะนำวัคซีนที่ได้รับครั้งนี้ไปกระจายฉีดอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันและเพื่อความปลอดภัยของคนไทย

ด้านนายไมเคิล ฮีต กล่าวยินดีที่มีส่วนสำคัญและภูมิใจที่ได้ร่วมสนับสนุนการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ไทยกลับมาเปิดประเทศ และดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากการสนับสนุนวัคซีนแล้ว สหรัฐฯจะพิจารณาให้การสนับสนุนด้านการรักษาต่อไปด้วย

Advertising

ประยุทธ์ หารือทางโทรศัพท์กับ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่

People Unity News : ประยุทธ์ หารือทางโทรศัพท์กับ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนใหม่

วันนี้ 22 พ.ย.64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้หารือทางโทรศัพท์กับ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ณ ทำเนียบรัฐบาล

รัฐบาลไทยพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย – ญี่ปุ่นรอบด้าน พร้อมเชิญ นายคิชิดะ เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่นต่อไป

นายคิชิดะ ชื่นชมและเชื่อมั่นวิสัยทัศน์ในการดำเนินนโยบายของนายกรัฐมนตรี และยินดีในความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่นที่เป็นไปอย่างแนบแน่น ราบรื่น พร้อมชื่นชมบทบาทไทยในการเป็นประเทศผู้ประสานงานอาเซียน – ญี่ปุ่น

โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นต่างๆ เพื่อโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์ เช่น การควบคุมโรคโควิด-19 การค้าการลงทุน เป็นต้น

Advertising

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยไทยให้สัตยาบัน RCEP แล้ว ทำให้ได้ประโยชน์ยกเลิกภาษี

People Unity News : อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยไทยได้ให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการยกเลิกภาษี

19 พ.ย.64 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากที่ไทยได้ให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งความตกลง RCEP นี้ เป็นความตกลงการค้าเสรี (FTA) ฉบับที่ 14 ของประเทศไทย และเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีสมาชิกจาก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้งประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีประชากร 2,300 ล้านคน จึงเป็นโอกาสดีที่ไทยเข้าไปค้าขายในตลาดใหญ่และมีการเปิดกว้าง เมื่อความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2565 จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์จากการยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บจากสินค้าไทยเกือบ 4 หมื่นรายการ และมีการลดภาษีเหลือ 0% ทันทีอีกจำนวน 30,000 รายการ

ในส่วนของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทยเพิ่มเติมจาก FTA  ที่มีอยู่ในสินค้า เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ รวมทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่สมาชิก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เตรียมรองรับการบังคับใช้ความตกลง RCEP  อย่างเต็มที่ เพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากความตกลงฯ  โดยเปิดศูนย์ RCEP Center เพื่อให้ข้อมูลเรื่องต่างๆ  รวมทั้งการจัดทำอีบุ๊ครายละเอียดของความตกลง  RCEP ทั้งไทยและอังกฤษ ซึ่งผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th

Advertising

Verified by ExactMetrics