People Unity News : “ชวน”พร้อมจับเข่าคุยทุกกลุ่มแก้ รธน.เน้นสร้างสรรค์ ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า เพื่อตกผลึกความคิด แนะเชิญฝ่ายที่ได้รับผลกระทบร่วมหารือ เพราะทุกฝ่ายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ
วันที่ 29 ต.ค.2562 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร กล่าวถึงที่ภาคประชาสังคมจะมายื่นเรื่องต่อสภาเพื่อให้แก้รัฐธรรมนูญว่า ตนยินดีที่จะหารือกับทุกคณะ เพราะถือว่าเป็นประโยชน์ ซึ่งขณะนี้มี 2-3 คณะ ส่วนคณะของนายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ยังไม่ได้นัดวันที่จะมาพบ เพียงแต่เป็นข่าวเท่านั้น ส่วนกลุ่มอื่นตนนัดไว้สัปดาห์ก่อน แต่ฝ่ายผู้นัดไม่ว่าง แต่ละคนจะได้มารับรู้รับทราบ และหากมีอะไรที่เป็นประโยชน์ก็ยินดีให้ความร่วมมือและรับฟัง ซึ่งตนคิดว่าแต่ละฝ่ายคงมีความคิดเห็นที่สอดคล้องกันได้ในบางเรื่อง เช่น ความคิดเรื่องประชาธิปไตย ก็คงไม่ต่างกันมากนัก ฉะนั้นความคิดเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญก็สามารถทำความเข้าใจกันได้ว่าในสภาไปถึงไหนแล้ว เพราะเมื่อเปิดสมัยประชุมมา ญัตติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะเข้าสู่สภาเป็นเรื่องแรก ฉะนั้นก็จะได้คุยกันว่าเบื้องต้นขณะนี้เขาพยายามหาทางที่จะวางแนวว่าทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญนี้สามารถแก้ได้ ส่วนแก้อะไรนั้นยังไม่พูดถึง
เมื่อถามว่าจะทำอย่างไรให้ทุกอย่างมาอยู่ในระบบของสภาเพราะภาคประชาชนไปเคลื่อนไหวข้างนอก นายชวนกล่าวว่า การรณรงค์ข้างนอกเพื่อให้ความรู้กับประชาชนนั้นไม่เป็นไร แต่ต้องให้ความจริงและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ส่วนที่ว่าโครงสร้างที่วางไว้คล้ายกับสสร.นั้น ตนคิดว่าต้องคุยกัน รวมถึงฝ่ายที่จะได้รับผลกระทบ เช่น ส.ว. ก็ต้องเชิญมาคุยว่าหากจะแก้ไขปรับปรุงจะกระทบเขาจริงหรือไม่ หรือควรจะมีเงื่อนเวลาอย่างไร ดังนั้นคิดว่าทุกฝ่ายควรจะพูดคุยกัน ซึ่งก็คงไม่ง่ายนักแต่ดีกว่าไม่คุยกัน แม้กระทั่งรัฐบาลเองเพราะทุกฝ่ายก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศนี้เหมือนกัน
เมื่อถามว่าหากเป็นเช่นนี้ใครควรที่จะเป็นแม่งานในการนัดหมายทั้งหมดมาพูดคุยกัน นายชวนกล่าวว่าต้องรอดูคณะกรรมาธิการที่สภาจะตั้งขึ้นมา โดยญัตติที่จะเข้าสภาวาระแรกนั้นจะเป็นแนวทางว่าทำอย่างไรถึงจะสามารถกำหนดแนวทางในการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นไปได้หรือมีประเด็นว่าจะต้องแก้ ส.ส.หรือ ส.ว.อย่างไร
“ผมคิดว่าการคิดอย่างนี้เป็นการคิดในเชิงสร้างสรรค์ แบบไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า เช่น ยกเลิกรัฐธรรมนูญไม่เอานั่นเอานี่ ซึ่งไม่ถึงขนาดนั้นแต่โดยบทรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทำได้ยาก จึงต้องหาทางว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเป็นได้”
เมื่อถามว่าโดยส่วนตัวจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมาพูดถึง ม.256 เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่าย นายชวนกล่าวว่า แล้วแต่คณะกรรมาธิการฯจะหารือกัน ส่วนความเป็นไปได้ที่จะให้ภาคประชาชนเช่นนายโคทมเข้ามาเป็นกรรมาธิการด้วย นายชวนกล่าวว่าแล้วแต่เขาจะตั้งเพราะกรรมาธิการชุดนี้สามารถตั้งคนนอกได้
ขณะที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน ที่ยึดแนวทาง วิชาการนำการเมือง โดยให้กลุ่มนักวิชาการเป็นหัวหอกในการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด เพราะกลุ่มนักวิชาการเป็นกลุ่มที่ไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองแอบแฝง สังคมจะได้ไม่หวาดระแวงว่ามีวาระซ่อนเร้นเพื่อกลุ่มของตัวเอง ซึ่งผิดกับการเคลื่อนไหวของนักการเมือง หรือพรรคการเมือง ที่จะตกเป็นเป้าโจมตีของฝ่ายไม่เห็นด้วยว่าทำเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเท่านั้น ทำให้ขาดการยอมรับและเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยทั่วไป ที่มองภาพนักการเมืองในทางลบ ดังนั้นอยากให้นักการเมืองเคลื่อนไหวเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเวทีรัฐสภาจะเป็นการเหมาะสมที่สุด โดยการขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำลังจะตั้งขึ้นในสมัยประชุมสมัยที่จะถึงนี้ เพราะมีสัดส่วน ส.ส.จากทุกพรรคการเมืองเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ด้วย ส่วนการเคลื่อนไหวภายนอกสภา ก็ให้เป็นบทบาทของกลุ่มเครือข่ายภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ที่จะต้องเคลื่อนไหวคู่ขนานกับการเคลื่อนไหวในรัฐสภาไปจนประสบผลสำเร็จ
ถ้าให้นักการเมืองหรือพรรคการเมืองตั้งเวทีเคลื่อนไหวในภูมิภาคต่างๆ เหมือนที่ผ่านมา ก็สุ่มเสี่ยงกับการถูกฝ่ายต่อต้านหยิบยกเอาประเด็นบางเรื่องมาเป็นเหยื่อทางการเมือง และขยายผลสร้างแรงต่อต้านขึ้นมาได้ เช่น กรณีวาทกรรม รัฐธรรมนูญเฮงซวยทุกมาตรา หรือการพูดถึงมาตรา1สามารถแก้ไขได้ เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นเพื่อขจัดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในสังคม แต่ละฝ่ายควรจะแบ่งบทบาทการเคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนจะดีกว่า เพื่อเป้าหมายที่สูงสุดคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง