People Unity : “จุรินทร์”เชื่อมจีนบุกตลาดขายสินค้าเกษตร ทำความสัมพันธ์ให้ความสำคัญ เป็นต้นแบบแก้ความยากจนในไทย
วันที่ 28 ต.ค.2562 เวลา 09.10-9.40 น. ณ ห้องบอลรูม 1 โรงแรมดิเอมเมอรัล-รัชดา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “7 ทศวรรษจีนใหม่ ก้าวต่อไปที่โลกเฝ้ามอง” โดยใช้เวลาร่วมชั่วโมงปาฐกถาพิเศษการพัฒนาจีน แบบอย่างที่โลกเรียนรู้ โดยมีผู้เข้าร่วมฟังจากทั้งสมาคม สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับ อสมท. สถานทูตจีน และผู้สนใจเกี่ยวข้อง
นายจุรินทร์ กล่าวว่า นับเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งกับการที่สื่อมวลชนไทยและจีนได้ร่วมกันจัดการสัมมนานี้ขึ้นมาในวันนี้ เมื่อพูดถึงความเจริญก้าวหน้า 70 ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในทุกๆด้าน ในระดับที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นความมหัศจรรย์ โดยความมหัศจรรย์ที่ผมอยากจะพูดถึงในวันนี้คือความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ ที่จีนได้แสดงให้ชาวโลกเห็น ในห้วง 70 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการทางเศรษฐกิจที่มั่นคงของจีนส่งผลให้ชาวจีนมีรายได้เฉลี่ยสูงขึ้นราว 60 เท่า โดยเมื่อ 70 ปีที่แล้ว รายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวจีนอยู่ที่เพียง 49.7 หยวน หรือราว 250 บาท ในขณะที่เมื่อปี 2561 มีจำนวน 28,200 หยวน หรือราว 1.41 แสนบาท และการเติบโตอย่างมั่นคงของรายได้ส่งผลให้อัตราการใช้จ่ายเติบโตขึ้นตามไปด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงกำลังซื้ออันมหาศาล และความต้องการวัตถุดิบ ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน การค้า และการลงทุนอันมหาศาล ที่ช่วยสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก
และที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง คือการลดความยากจน ซึ่งตอนนี้ จีนมีคนจนประมาณต่ำกว่าร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมด นั่นหมายถึงประชากรประมาณ 700 ล้านคนของจีนได้ถูกยกออกจากความยากจน ตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ในวันนี้ประเทศจีนคือขุมพลังทางอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ เหล็ก ปูนซีเมนต์ ถ่านหิน ยานยนต์ เรือ รถไฟความเร็วสูง หุ่นยนต์ สะพาน อุโมงค์ ถนน เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และที่สำคัญคือจีนมีสถิติการสมัครเพื่อจดทะเบียนสิทธิบัตรมากที่สุดในโลก ซึ่งมากกว่าสหรัฐอเมริกาถึง 1.5 เท่า และปัจจุบันนี้ จีนได้กลายเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ของโลก ทั้งด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การชำระเงินออนไลน์ อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of things) ปัญญาประดิษฐ์ และบล็อกเชน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้จีนจะยังคงรักษาบทบาทการเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลกต่อไปในอนาคต
ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามใกล้ชิด คือประเทศจีนทำอย่างไรในการเปลี่ยนแปลงประเทศ จากประเทศยากจนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียงหนึ่งในสามของรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศในแถบทวีปแอฟริกา ให้กลายเป็นขุมพลังทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของโลก และที่สำคัญคือประเทศนี้มีประชากรถึง 1.4 พันล้านคน
1.จีนให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางการเมือง 2.การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก 3.เน้นการปฏิรูปจากล่างสู่บน 4.ส่งเสริมอุตสาหกรรม โครงสร้างต่างๆ ในท้องถิ่น การส่งเสริมให้แรงงานมีทักษะอยู่อาศัยและทำงานในท้องถิ่น การลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาลในด้านโครงสร้างพื้นฐาน 5.ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาลกับเอกชน 6.ในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นักลงทุนจีนได้ก้าวออกไปลงทุนทั่วโลก ทั้งนี้ เห็นว่าจีนเน้นเพื่อส่งเสริมการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศ รับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ ที่เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเดินหน้าเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ หวังยุติความขัดแย้งสงครามการค้า
สำหรับไทยพวกเราย่อมให้ความสำคัญเรียนรู้จากประสบการณ์ในการพัฒนาประเทศของจีน และสามารถก้าวและเติบโตไปพร้อมกับจีนได้ เราเป็นเอเชียด้วยกัน กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับตลาดจีนเป็นอย่างมาก เพราะจีนเองก็เป็นประเทศคู่ค้าลำดับ 1 ของไทย โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2552 – 2561 มูลค่าการค้าระหว่างไทยและจีนขยายตัวสูงมาก ถึงร้อยละ 10.3 โดยเฉลี่ยต่อปี โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทย ครองสัดส่วนการค้าร้อยละ 16 ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย และไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 14 ของจีน ครองสัดส่วนการค้าราวร้อยละ 2.1
ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับจีน มี 2-3 รูปแบบกลไกแรกคือ JC คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (JC เศรษฐกิจไทย-จีน, กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง (Mekong – Lancang Cooperation – MLC) , ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ใน 3 กรอบความร่วมมือสำคัญเราทำงานร่วมกัน และอีกอันคือ กรอบ FTA อาเซียน-จีน ระหว่างประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจนี้ตนก็เป็นประธานรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ในระหว่างนี้ ก็ได้มีแนวทางและดำเนินการประชุมจะได้จาต่อเนื่อง
ตนได้จัดคณะเดินทางไปเยือนนครหนานหนิง ระหว่างวันที่ 20-21 กันยายน 2562 และได้พบหารือกับรองนายกรัฐมนตรี หาน เจิ้ง และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ประจำเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง (นายลู่ ซิน เซ่อ) ในประเด็นความร่วมมือรอบด้าน โดยเน้นสินค้าเกษตร และมีการลงนาม MOU สินค้ามันสำปะหลังด้วย รวมถึงได้พบหารือกับผู้แทนภาครัฐ/เอกชนไทย-จีน ในกลุ่มยางพารา มันสำปะหลัง และผลไม้ และเร็วๆนี้ ผมจะพาคณะเดินทางไปยังนครเซี่ยงไฮ้ เพื่อเข้าร่วมงาน China International Import Expo 2019 หรือ CIIE 2019 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ที่ดี ประเทศไทยให้ความสำคัญกับจีน และสานต่อความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีน ตลอดจนขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ ที่มีมาอย่างยาวนานในอดีตให้พัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในอนาคต
ในช่วงหนึ่งนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปไทยเรามีเอ็มโอยูหรือข้อตกลง อยู่กับจีนในเรื่องของข้าวกับยางพาราซึ่งในเรื่องของข้าวนั้นเราได้ทำเอ็มโออยู่กับจีนที่จะจีนช่วยเราซื้อข้าวเราประมาณ 2,000,000 ตันซึ่งขณะนี้เข้าใจว่ายังขาดอยู่อีก 1,300,000 ตัน รวมทั้งยาพาราเรามีเอ็มโออยู่กับจีนอีก 2 แสนตันจีนซื้อแล้ว 16,800 ตันยังขาดอยู่ส่วนหนึ่ง ทั้งนี้เรื่องนี้ตนก็ได้ประสานงานผ่านท่านทูตจีนไปแล้วรวมทั้งได้ฝากท่านรองฯหานเจิ้งของจีนไปด้วย ตนในฐานะเซลล์แมนประเทศก็จึงขอทำหน้าที่ไปด้วย
และ ในฐานะกำกับกระทรวงพาณิชย์ ไทยเรายังให้ความสำคัญกับการใช้กลไกทูตพาณิชย์ทั่วโลกในการทำหน้าที่เซลล์แมนประเทศ หรือในการเจาะลึกรายบุคคลต้องยอมรับว่าประเทศจีนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกระจายไปทั่วทุกมณฑลมีความต้องการใช้สินค้าเกษตรอาหารอะไรรูปและสินค้าจากประเทศไทย จึงเป็นจุดสำคัญในการที่ทูตพาณิชย์ไทยต้องทำงานหนักในการร่วมมือแต่ละมณฑลเพื่อส่งสินค้าไปจีนมากขึ้นลดการขาดดุลการค้าลงมาให้แคบลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผมรับหน้าที่สิ่งที่ผมตั้งเป็นนวัตกรรมใหม่ในทางเศรษฐกิจของกระทรวงก็คือเราจะตั้ง กรอ.พาณิชย์เพื่อเป็นเวทีสำหรับความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับผู้ส่งออกและพ่อค้าเช่นเดียวกันที่จีนทำอยู่และประสบความสำเร็จคือการให้ความสำคัญทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชน
อย่างไรก็ตามการทำงานนั้น ตนเพิ่งประกาศไปว่าเราต้องทำงานเชิงรุกไปทุกตลาดทั่วโลก ก็เพิ่งประกาศไป เรากับจีนต่างกันที่รูปแบบการปกครองแต่เงื่อนไขความสำเร็จคือหลักใหญ่ต้องใช้หลักการบริหารรัฐกิจที่ชัดเจนจะทำให้เดินหน้าไปได้ เช่นที่ประธานาธิบดีสีได้ทำก็เป็นแบบอย่างก็เป็นเรื่องดี
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า เวลา 70 ปี เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อันยาวนานนับพันปีของอาณาจักรจีนที่มีเรื่องราวมากมาย แต่ 70 ปีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนก็เป็นกรณีศึกษาของโลกยุคปัจจุบัน และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอิทธิพลต่อโลกในอนาคต ดังนั้นการสัมมนาเรื่อง “ 7 ทศวรรษจีนใหม่ ก้าวต่อไปที่โลกเฝ้ามอง” ที่ สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับ อสมท. จัดในวันนี้ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านในการนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆในอนาคต