วันที่ 25 พฤศจิกายน 2024

นายกฯ กำชับดูแลรถรับส่งนักเรียนปฏิบัติตามกฎหมายเคร่งครัด

People Unity News : 21 พฤษภาคม 2566 โฆษกรัฐบาล เผยนายกฯ ห่วงใยความปลอดภัยนักเรียนเดินทางช่วงเปิดเทอม กำชับโรงเรียน สถานศึกษา กรมการขนส่งทางบก กำกับดูแลรถที่ให้บริการรับส่งนักเรียน ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยความปลอดภัยของนักเรียนในช่วงเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 ภายหลังกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นกับรถรับส่งนักเรียน ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ปี 2563-2565 เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 27 ครั้ง บาดเจ็บและต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 485 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยนายกรัฐมนตรีกำชับให้โรงเรียน สถานศึกษา กรมการขนส่งทางบก กำกับดูแลรถที่ให้บริการรับส่งนักเรียน ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถรับส่งนักเรียน

นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ได้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน โดยอนุญาตให้นำรถที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน ทั้งรถสองแถวและรถตู้ มาใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนได้ โดยต้องมีการรับรองการใช้รถดังกล่าวจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา ซึ่งต้องได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด อาทิ ห้ามติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกรอบคัน ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นอย่างมั่นคงแข็งแรง และต้องไม่มีพื้นที่สำหรับนักเรียนยืนในห้องโดยสารเด็ดขาด กรณีเป็นรถสองแถว ต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก ส่วนรถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถเท่านั้น โดยต้องนำรถเข้าตรวจสอบ ณ สำนักงานขนส่งจังหวัดที่โรงเรียนหรือสถานศึกษาตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ซึ่งจะได้รับอนุญาตเป็นครั้งคราว คือ ครั้งละ 1 ภาคการศึกษาเท่านั้น

นอกจากนี้ รถรับส่งนักเรียนทุกคันที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก ต้องติดแผ่นป้ายพื้นสีส้ม มีข้อความตัวอักษรสีดำว่า “รถโรงเรียน” ติดอยู่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถให้เห็นชัดเจน มีไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันหรือสีแดงเปิดปิดเป็นระยะติดไว้ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถ เพื่อให้รถคันอื่นมองเห็นได้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน พร้อมมีอุปกรณ์ส่วนควบตามที่กำหนด ต้องมีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่น เครื่องดับเพลิง ค้อนทุบกระจก วัสดุภายในรถส่วนของผู้โดยสารต้องไม่มีส่วนแหลมคม ทางประตูทางขึ้นลงหรือเป็นช่องเปิดต้องมีความปลอดภัย ห้ามมีที่ยืนบนรถ โครงสร้างหลังคามั่นคงแข็งแรง และที่สำคัญผู้ขับรถโรงเรียนต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ หรือเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ซึ่งต้องไม่เคยมีประวัติเสียหายอันเกิดจากการขับรถมาก่อน รวมถึงต้องมีผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน เพื่อดูแลความปลอดภัยให้นักเรียนตลอดการรับส่ง หากพบการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด สั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้ใช้รถทันที และไม่สามารถขออนุญาตได้อีก จนกว่าจะพ้น 1 ปีไปแล้ว

“นายกฯ เป็นห่วงความปลอดภัยของนักเรียนที่โดยสารรถรับส่งนักเรียน กำชับให้กรมการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ ประสานความร่วมมือกับสถานศึกษาในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำกับดูแลรถโรงเรียนและรถรับส่งนักเรียนร่วมกันอย่างเข้มงวด คุมเข้มมาตรการควบคุมดูแลคนขับรถและสภาพรถ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุให้ได้มากที่สุด รวมทั้งขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่ให้บุตรหลานขึ้นรถรับส่งนักเรียน ช่วยกันสังเกตตรวจดูรถทุกคันว่าได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หากพบไม่ได้มาตรฐานให้แจ้งกับทางโรงเรียน หรือกรมการขนส่งทางบก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

ทั้งนี้ นอกจากการตรวจสอบความปลอดภัยของตัวรถและพนักงานขับรถแล้ว ขอเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับรถรับส่งนักเรียนอย่างต่อเนื่อง พนักงานขับรถ ผู้ควบคุมนักเรียน และนักเรียน ควรสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง จัดให้มีแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือไว้ประจำรถ ทำความสะอาดรถรับส่งนักเรียนก่อนและหลังการให้บริการ โดยเฉพาะจุดที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ เช่น ราวจับ ที่เปิดประตู เบาะนั่ง ที่วางแขน เป็นต้น เปิดหน้าต่างและประตูเพื่อถ่ายเทระบายอากาศภายในตัวรถ เพื่อความปลอดภัยและความมั่นใจในการใช้บริการรถรับส่งนักเรียนของนักเรียนและผู้ปกครอง” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

รับทราบการพัฒนาพื้นที่เก็บกักน้ำทดแทนบึงเสือดำ

People Unity News : 16 พฤษภาคม 2566 “ทิพานัน” เผย ครม. รับทราบแนวทางการพัฒนาพื้นที่เก็บกักน้ำทดแทนบึงเสือดำ ในพื้นที่บริเวณสถานีแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบแนวทางการพัฒนาพื้นที่เก็บกักน้ำทดแทนบึงเสือดำในพื้นที่บริเวณสถานีแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน (พื้นที่ TOD มักกะสัน) เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน (มักกะสัน) ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เสนอ โดยเป็นไปตามหลักการให้ปรับปรุงความจุของบึงข้างโรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากร จากเดิม 12,800 ลูกบาศก์เมตร เพิ่มอีก 17,250 ลูกบาศก์เมตร รวมทั้งสิ้น 30,050 ลูกบาศก์เมตร

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า การดำเนินงานเพื่อพัฒนาพื้นที่เก็บกักน้ำทดแทนบึงเสือดำจะขุดเพิ่มความลึกของบึงให้สามารถรองรับความจุน้ำที่เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนพื้นที่กักเก็บน้ำของบึงเสือดำ และพัฒนาระบบระบายน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่ของ รฟท. เพื่อเพิ่มปริมาตรกักเก็บน้ำของบึงของโรงพยาบาลฯ และระบบระบายน้ำเพิ่มเติม การขุดลอกคลองและการก่อสร้างแนวคลองระบายน้ำใหม่เชื่อมบึงมักกะสัน ขนาด 3.50×4.00 เมตร ความยาวประมาณ 250 เมตร ซึ่งทำให้มีปริมาตรกักเก็บน้ำและระบบระบายน้ำไม่น้อยกว่าเดิม ทั้งนี้ ในการปรับปรุงความจุของบึงข้างโรงพยาบาลฯ เอกชนคู่สัญญาจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และ กทม. จะเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อขยายความจุของบึงข้างโรงพยาบาลฯ โดยไม่กระทบต่องบฯ และเงินร่วมลงทุนของรัฐ

“นอกจากนี้การดำเนินการดังกล่าวจะเป็นไปตามความเห็นของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่คำนึงถึงความมั่นคงของลาดตลิ่ง และการบริหารจัดการน้ำเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการระบายน้ำของบึงในอนาคต และขอให้ รฟท. ประสานการดำเนินงานร่วมกับ กทม. อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ของการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว” น.ส.ทิพานัน กล่าว

Advertisement

นายกฯ ห่วงสถานการณ์โควิด แม้องค์การอนามัยโลกยุติภาวะฉุกเฉิน

People Unity News : 8 พฤษภาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ติดตามสถานการณ์โควิด– 19 ต่อเนื่อง ห่วงใยประชาชนทุกกลุ่ม แม้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินแล้ว แต่ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มภูมิคุ้มกันเพื่อร่วมกันดูแลกลุ่มเปราะบาง

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยประชาชนต่อกรณีโควิด – 19 ที่แม้องค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินในวิกฤตโควิด-19 ไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 แต่ยังไม่ได้ประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น ยังแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังการปฏิบัติตัวและรับวัคซีนป้องกันเพิ่มภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากข้อมูลศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า มีข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก ดร.ไมค์ ไรอัน กรรมการบริหารโครงการฉุกเฉินด้านสุขภาพขององค์การอนามัยโลก และ ดร.มาเรีย ฟาน เคอร์โคฟ หัวหน้าด้านเทคนิคสำหรับการตอบสนองของโควิด-19 ประจำองค์การอนามัยโลก ชี้แจงภายหลังองค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินในวิกฤตโควิด-19 ไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 โดยอธิบายไว้ ดังนี้

1.ยังไม่สามารถกำจัดไวรัสโคโรนา 2019 ให้หมดไปจากโลก (eradication) หรือหมดไปจากท้องถิ่น (elimination) ได้เพราะโคโรนา 2019 สามารถติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน และจากคนกลับสู่สัตว์ (zoonotic infection) จึงยากมากที่จะกำจัดไวรัสที่แพร่ระบาดในสัตว์และข้ามไปมาในคน

2.องค์การอนามัยโลกยังถือว่าโควิด-19 ระบาดทั่วโลก (Pandemic) ยังไม่ใช่โรคประจำถิ่น (Endemic)

3.การระบาดของโควิด-19 ยังไม่ใช่โรคที่ระบาดตามฤดูกาล (Seasonal infectious disease) เหมือนไข้หวัดใหญ่ เพราะองค์การอนามัยโลกยังไม่พบรูปแบบการระบาดในแต่ละช่วงของปี ดังนั้น หากไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์เมื่อใด ก็สามารถเกิดการระบาดได้เมื่อนั้นในทุกช่วงของปี

4.องค์การอนามัยโลกยังไม่มีข้อมูลพอเพียงในขณะนี้ที่จะกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม หรือความถี่ห่างในการฉีดวัคซีนและเข็มกระตุ้น แต่ยังคงสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนในกลุ่มเปราะบางเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อมีการระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ระบุว่า องค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขโลกเกี่ยวกับโควิด-19 เมื่อเดือนมกราคม 2563 และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 จึงถือว่าได้ประกาศภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขโลกเป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี

“นายกรัฐมนตรีห่วงใยต่อสถานการณ์โควิด – 19 ติดตามสั่งการ ประเมิน คาดการณ์สถานการณ์ และปรับการทำงาน ให้คำแนะนำ อย่างต่อเนื่อง ด้วยความห่วงใยประชาชน ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศไทยและในโลกจะดีขึ้นมากแล้วตามลำดับ แต่รัฐบาลไม่ได้ลดความเข้มข้นของการทำงาน เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิต ภาวะเศรษฐกิจน้อยที่สุด เพื่อความสุข และความมั่นคงของประชาชนไทยทุกคน อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกเข้ารับวัคซีนเพื่อร่วมกันดูแลกลุ่มเปราะบางในประเทศ” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

กสม. ชี้แรงงานทุกกลุ่มต้องเข้าถึงระบบประกันสังคม

People Unity News : 1 พฤษภาคม 2566 กสม. ชี้แรงงานทุกกลุ่มต้องเข้าถึงระบบประกันสังคม และมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอและเหมาะสม

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติส่งสาร เนื่องในวันแรงงานสากล ว่าสิทธิแรงงานเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนที่สำคัญ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงาน เพื่อให้ได้รับสิทธิการเข้าถึงการจ้างงานโดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ สิทธิในการได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี สิทธิที่จะมีหลักประกันสังคมอย่างทั่วถึง ครอบคลุมแรงงานทุกคน ทุกประเภท ทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แรงงานภาคบริการ รวมทั้งได้รับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ก่อตั้งสหภาพแรงงานหรือองค์กรของแรงงาน เพื่อให้สามารถเจรจาต่อรองกับนายจ้างและรัฐ จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

สังคมปัจจุบันได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในสังคม โดยมีการจ้างงานในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น อาชีพรับส่งสินค้าหรืออาหาร (ไรเดอร์) ซึ่งเป็นอาชีพอิสระ และมีข้อถกเถียงกันว่ารูปแบบการจ้างงานเช่นนี้ถือว่าเป็นนิติสัมพันธ์ที่เข้าข่ายเป็นลูกจ้าง-นายจ้างหรือไม่ และแรงงานเหล่านี้ควรได้รับการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิแค่ไหน อย่างไร ซึ่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เห็นว่ารัฐต้องดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าระบบประกันสังคมจะครอบคลุมแรงงานที่ไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างเพียงพอโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานอิสระ

เนื่องในวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม ประจำปี 2566 กสม. ขอเน้นย้ำความสำคัญของสิทธิแรงงาน โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคีเครือข่ายด้านแรงงาน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ในการขับเคลื่อนให้เกิดการยกระดับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน และมาตรฐานสากล ส่งเสริมการมีงานทำของแรงงานที่ว่างงาน รวมทั้งผลักดันให้รัฐบาลให้การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 เพื่อให้แรงงานทุกกลุ่มเข้าถึงระบบประกันสังคมและมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอและเหมาะสมต่อไป

Advertisement

 

ชำระหนี้ กยศ.ใช้สิทธิลดหย่อน 2 เดือนสุดท้าย

People Unity News : 26 เมษายน 2566 รัฐบาลเชิญชวนผู้อยู่ระหว่างชำระคืนหนี้ กยศ. ใช้สิทธิตามมาตรการลดหย่อน 2 เดือนสุดท้าย ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 0.01 ลดเงินต้น เบี้ยปรับสำหรับผู้ปิดบัญชีถึง 30 มิ.ย.นี้

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)  ได้มีมาตรการลดหย่อนหนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นในวันที่ 30 มิ.ย.ที่จะถึงนี้แล้ว จึงขอเชิญชวนผู้กู้ยืมกองทุน กยศ. ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ ใช้สิทธิเพื่อรับประโยชน์จากมาตรการตามกรอบเวลาดังกล่าว

ทั้งนี้ มาตรการลดหย่อนการชำระหนี้ กยศ. ประกอบด้วย การลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากเดิมร้อยละ 1 ต่อปี เหลือร้อยละ 0.01 ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้, ลดเงินต้นร้อยละ 5 สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า พร้อมกันนี้ มีการลดเบี้ยปรับร้อยละ 100 สำหรับผู้กู้ยืมเงินทุกกลุ่มที่ชำระหนี้ปิดบัญชี โดยแยกเป็น ผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี สามารถชำระได้ที่ธนาคารกรุงไทยและธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยทุกสาขา ส่วนผู้กู้ยืมเงินที่ถูกดำเนินคดีแล้ว ต้องลงทะเบียนขอรับสิทธิและนัดหมายวันที่ประสงค์จะชำระหนี้ปิดบัญชีได้ที่ https://www.studentloan.or.th/promotion เนื่องจากมีขั้นตอนที่ผู้กู้ยืมต้องชำระค่าทนายความและค่าฤชาธรรมเนียมศาลให้เสร็จสิ้นก่อนปิดบัญชี และลดเบี้ยปรับร้อยละ 80 สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ

“กยศ.ได้ออกมาตรการลดหย่อนเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมมาตลอดช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในวันที่ 30 มิ.ย. 66 มาตรการต่างๆจะสิ้นสุดลง เหลือเวลาตามมาตรการอีกประมาณ 2 เดือน จึงขอเชิญชวนผู้กู้ กยศ. เลือกชำระหนี้เพื่อรับสิทธิตามมาตรการทั้งได้ลดดอกเบี้ย เงินต้น หรือเบี้ยปรับเมื่อดำเนินการตามเงื่อนไข” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

Advertisement

ตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลเท่าเทียม 7 ขั้นตอน

People Unity News : 19 เมษายน 2566 รัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาระบบหลักประกันสุขภาพ ผลักดันเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล แนะคนไทยที่ยังไร้สิทธิ ตรวจสอบสิทธิอย่างเท่าเทียม ด้วย 7 ขั้นตอน

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัญหา “คนไทยไร้สิทธิ” เป็นความเลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก  เพราะการไม่มีสิทธิสถานะทางทะเบียนทำให้ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิพลเมืองที่บุคคลคนหนึ่งๆ ควรจะได้รับ โดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎรอย่างถูกต้อง เวลาเจ็บป่วยก็ไม่สามารถเข้าสู่ระบบรักษาได้ รัฐบาลมุ่งแก้ไขให้ปัญหา ให้ความสำคัญต่อระบบหลักประกันสุขภาพ ผลักดันการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทยทุกคนจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า สำหรับคนไทยที่ยังไร้สิทธิ์สามารถตรวจสอบสิทธิ์ เพื่อให้ได้สิทธิอย่างเท่าเทียม ด้วย 7 ขั้นตอน ดังนี้ 1. ตรวจสอบสถานะทางทะเบียน  2. รวบรวมเอกสารทางทะเบียน ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งบัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดา  สูติบัตร  ทะเบียนบ้านที่เคยมีชื่อ  ใบแจ้งการย้ายที่อยู่  เอกสารอื่นๆ ที่ราชการออกให้  กรณีที่ไม่มีเอกสารใด ๆ ที่ใช้อ้างอิงก็สามารถยื่นคำร้องได้ 3. ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ฯ สำนักทะเบียนอำเภอ หรือ สำนักทะเบียนท้องถิ่น (ที่มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ปัจจุบัน) 4. ตรวจสอบเอกสารส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารเบื้องต้น  5.เจ้าหน้าที่พิจารณาตรวจสอบหลักฐาน  สอบสวนพยานบุคคล

6.แจ้งผลฯให้ผู้ร้องทราบ และ 7. ถ้าไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้จะได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติเป็นบุคคลประเภท 0 (มาตรา 19/2)

“สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง 0-2791-7312-6 กรณีที่มีหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก แต่ติดทะเบียนบ้านกลางหรือถูกจำหน่ายรายการต้องการใช้สิทธิ์ในการรักษาพยาบาล โทร.สายด่วน สปสช. 1330 สำหรับบุคคลทะเบียนประวัติประเภท 0 มาตรา (19/2) สอบถามสิทธิรักษาพยาบาล ติดต่อ กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ เบอร์ 02-590-1577 ในวันและเวลาราชการ” นางสาวรัชดา กล่าว

Advertisement

ประสานวัดเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์

People Unity News : 13 เมษายน 2566 “อนุชา” สั่งการสำนักพุทธประสานวัดเตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวเข้าวัดหนาแน่นช่วงสงกรานต์ ขอประชาชนขับขี่ปลอดภัย เมาไม่ขับ ถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ประชาชนเดินทางเข้าวัดทำบุญ ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างคึกคัก เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว ซึ่งถือเป็นประเพณีดีงามที่ชาวพุทธถือปฏิบัติมาเป็นระยะเวลานาน ตนในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนา สั่งการให้มีการเตรียมความพร้อมรองรับประชาชน และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาทำบุญ ซึ่งคาดว่าปีนี้วัดจะเป็นสถานที่ที่พุทธศาสนิกชนจำนวนมากนิยมเดินทางภายหลังจากสถานการณ์แพร่พระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ผ่อนคลายลง ส่งผลให้การท่องเที่ยวทั่วประเทศกลับมาคึกคัก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวสายวัฒนธรรม โดยปีนี้หลายจังหวัดได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐิจในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น ในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้เปิดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัยปลอดเครื่องดื่มแอลกอลฮอล์ จำนวน 40 แห่ง ในพื้นที่ 29 เขต ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ มีชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวร่วมเข้าวัดทำบุญ และเล่นน้ำสงกรานต์อย่างคึกคักหลังจากที่ไม่ได้จัดงานมาเป็นระยะเวลา 3 ปี จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา

“เทศกาลสงกรานต์ เป็นวันหยุดยาว มีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก ขอให้ใช้เวลาวันหยุดพักผ่อนอยู่กับครอบครัว ร่วมเข้าวัดทำบุญ ทำกิจกรรมตามประเพณี ในช่วง 7 วันอันตรายนี้ รัฐบาลขอให้ประชาชนเคารพ ปฏิบัติตามกฎจราจร และมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมทาง เพื่อลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุทางถนน ขอให้ประชาชนระลึกไว้เสมอว่า “เมาไม่ขับ” ในนามของรัฐบาลขออำนวยพรให้ทุกท่านเดินทางถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ และประสบแต่ความสุขในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

Advertisement

นายกฯ อวยพรสงกรานต์ ขอให้คิดดี ทำจิตใจบริสุทธิ์

People Unity News : 12 เมษายน 2566 นายกรัฐมนตรีพร้อมภริยา เปิดทำเนียบรัฐบาล ให้ ‘ครม.-ขรก.’ อวยพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ขอให้คิดสิ่งดีๆ สวดมนต์ทำจิตใจบริสุทธิ์ ไม่โกรธ ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน แต่งดรดน้ำขอพรเหตุมือเจ็บ อย่าสนุกสนานจนเกินเลย และไม่ดื่มสุราแล้วขับรถ เห็นใจเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกจราจรช่วงวันหยุด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา สวมชุดผ้าไทย เป็นประธานงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2566

โดยมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ นายสุพัฒนพงษ์  พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา  รมว.มหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์  รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  นายนริศ ขำนุรักษ์ รมว.มหาดไทย  พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม นายอนุชา นาคาศัย รมต. ประจำสำนักนายกฯ และนายธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมในพิธีด้วย

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์  พร้อมถวายผ้าไตรพระสงฆ์ 10 รูป พร้อมสรงน้ำพระพุทธรูป  โดยในปีนี้ไม่ได้จัดพิธีให้รัฐมนตรี และข้าราชการรดน้ำขอพร  และไม่ได้แจกของที่ระลึกในโอกาสเทศกาลสงกรานต์  เนื่องจากอยู่ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง และมือนายกรัฐมนตรียังเจ็บอยู่และยังต้องปิดพลาสเตอร์กันน้ำ อยู่ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง

จากนั้นนายกรัฐมนตรี กล่าวอวยพรในเทศกาลวันสงกรานต์ ว่า วันนี้ถือเป็น วันมงคลใกล้เริ่มต้นปีใหม่ของไทย คือ วันสงกรานต์ทุกคนมีความหวังความหวัง มีความปรารถนาให้ทุกวันดีขึ้น  ขอบคุณพวกเราทุกคน ในฐานะที่เป็นข้าราชการ และข้าราชการการเมืองขอให้ช่วยกันทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อย ซึ่งได้วาดหวังอนาคตร่วมกันทำมาหลายปีแล้ว โดยทำก่อนที่ตนเองจะเข้ามาด้วยซ้ำ วันนี้ถือเป็นวันมงคลอีกครั้ง และวันนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี เราจะต้องทำอะไรให้สำเร็จไปเรื่อยๆ  โดยขอให้ข้าราชการทำเนียบรัฐบาลและทุกคนตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด และสมปรารถนาทุกประการ

ต่อมานายกรัฐมนตรีร่วมถ่ายภาพร่วมกับครม. และข้าราชการ พร้อมเดินทักทายทุกคนที่มาร่วมภายในงานอย่างอารมณ์ดี ก่อนกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า นายกรัฐมนตรี ให้พรทุกวันอยู่แล้ว เราคุยกันทุกวัน และเราก็ไหว้พระขอพรทุกวัน  พรก็ถึงพวกเราทุกคน เราไหว้พระอธิษฐานทุกคืน อิสลามก็ได้ด้วย คนไทยอยู่ด้วยกันหลายศาสนา

เมื่อถามว่า ช่วงนี้นายกรัฐมนตรี อธิฐานขอพรอะไรเป็นพิเศษ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอพรพระ ให้บ้านเมืองสงบปลอดภัยนำไปสู่การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ และยุติธรรม รวมถึงได้รัฐบาลที่ดี อย่างที่ทุกคนต้องการ ประเทศชาติจะได้ก้าวหน้า แต่ไม่ใช่ก้าวไปเดินหน้า 2 ก้าว ถอยหลัง 2 ก้าว มันก็ไม่ได้ไปไหน  เข้าใจหรือไม่ ฉะนั้นต้องไปคิดใคร่ครวญให้ดี วันนี้เป็นวัน สงกรานต์เราอย่าพูดถึงสิ่งที่ไม่ดี

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 13 เม.ย.นี้ ทุกคนจะต้องเดินทางกลับบ้านไปพักผ่อน ขอให้เดินทางด้วยความปลอดภัย และกลับไปอย่างมีสติ อย่าสนุกสนานจนเกินเลย  ต้องกลับไปกราบคุณพ่อ คุณแม่ ปู่ ย่า ตาและยายก่อน แต่ขอให้ทุกคนปลอดภัยก็แล้วกัน การขับรถเราเตือนกันมาตลอด  การทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกคนในช่วงนี้เหน็ดเหนื่อย 4-5 วันไม่ได้พักต้องตั้งจุด ทหารที่อยู่ชายแดนก็ไม่ได้กลับบ้าน ไม่ว่าจะวันอะไรก็ตามคนพวกนี้เขาไม่ได้กลับบ้าน นี่คือความสำคัญของงานที่จะต้องมีทุกฝ่าย ทั้ง ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายพลเรือน ตำรวจและทหาร ต้องมีถึงจะอยู่กันได้คนในประเทศ จะขาดส่วนหนึ่งส่วนใด เป็นไปไม่ได้  ไม่นึกถึงทหารอยู่ชายแดนกี่หมื่นคน ที่ทำให้พวกเราข้างในอยู่กันได้แบบนี้  ไม่เช่นนั้นชายแดนจะมีปัญหากันเยอะมากกว่านี้

“ขอให้ทุกคนให้ความสำคัญกันด้วย จะรักใครชอบใครในทางการเมืองก็ว่ากันไปก็ดูว่าเราจะได้อะไรจะเสียอะไรในวันข้างหน้า ก็ไม่รู้ แต่ผมจะพยายามทำให้ดีที่สุดในนามของรัฐบาลชุดนี้   เราคุยกันอยู่ทุกวัน เพื่อนกันอยู่แล้ว (สื่อมวลชน)” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามต่อว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นายกรัฐมนตรีจะไปลงพื้นที่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “เดี๋ยวต้องดูจังหวะและเวลาก่อนแต่ไปไหนก็วุ่นวาย โกลาหล อลหม่านกันไปหมด เดี๋ยวแอบๆ ไป แต่จะไปไหนไม่บอก”

เมื่อถามว่า วันเดียวกันนี้จะไปส่งประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมหรือไม่เหมือนเช่นทุกปีที่เคยทำ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไปก็ยุ่งวุ่นวาย เราไม่อยากให้คนเขาต้องมาวุ่นกังวลกับเรา  ถ้าเราเป็นคนธรรมดาก็อยากไป แต่ไปทีไรก็วุ่นทุกที ทั้งที่ไม่อยากจะกวนเขา แต่เขาก็ให้เกียรติเรา ก็เลยกลายเป็นวิธีการ แต่เราก็ส่งใจให้พวกเขาอยู่แล้วทุกวัน  ใจส่งถึงท่านอยู่แล้ว และสวดมนต์ให้เขา คิดดีปรารถนาดี

“ถ้าเราคิดถึงคนอื่นดีๆ จะไปไหนเสียประเทศชาติของเรา พรใดเลิศ พรใดประเสริฐ ทุกคนก็พร้อมจะรับอยู่แล้วและมีทั่วไปในอากาศก็มี  ถ้ามีศีลมั่นที่ดีก็รับพรทั้งหมด พระก็สวด คนทั้งโลกสวดมนต์กันเท่าไหร่กี่พันล้านคน ฉะนั้นพรอยู่บนท้องฟ้าเต็มไปหมด แล้วจะไม่รับพรทำให้จิตใจบริสุทธิ์หรือ เดินไปก็ภาวนาบ้างคิดสิ่งดีๆ พรก็จะมาหมดแต่ถ้าทะเลาะเบาะแว้งกัน มันก็ไม่ได้อะไรกลับมาสักอย่าง มันได้แต่ความโกรธ ไม่ดีหรอก” นายกรัฐมนตรี กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า มือของนายกรัฐมนตรีหายดีแล้วใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี  กล่าวติดตลกว่า มือยังอยู่ พร้อมชูฝ่ามือด้านที่เป็นแผลว่า ดีขึ้นเยอะแล้ว เอาพลาสเตอร์ปิดกันเชื้อโรคไว้

“ขอบคุณที่เป็นห่วง ฝ่ามือ เป็นแผล เพราะผ่ายาว ขี้สงสัยถามทุกเรื่อง ทีหลังจัดเวรไปนอนบ้านฉันคนหนึ่ง แต่ต้องไปอยู่อีกตึกนึง เพราะพวกเธอเป็นผู้หญิง” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ขอให้นึกถึงเจ้าหน้าที่และลูกเมียที่บ้าน อย่าเอาแต่สนุกสนานรื่นเริงอย่างเดียว ดื่มสุราเมาแล้วขับรถ  และนึกถึงเจ้าหน้าที่ที่เหนื่อยต้องมาดูแล ถ้าพวกเราดูแลตัวเองกันได้ก็จะเบาภาระ เขาจะได้มีความสุขและ มีเวลาพักผ่อนกับเขาบ้างไม่เช่นนั้นก็จะนัวเนียกันอยู่แบบนี้ทุกเรื่อง

Advertisement

“พล.อ.ประวิตร” เร่งอินเทอร์เน็ตชุมชนขยายบริการ รร.-รพ.

People Unity News : 7 เมษายน 2566 “พล.อ.ประวิตร” ประชุม กก.กองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ ดันอินเทอร์เน็ตชุมชน  24,654 แห่ง มุ่งขยายบริการหมู่บ้าน โรงเรียนและโรงพยาบาล ภายใน 3 ปี

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผ่านระบบ VTC  ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ โดยที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการและคณะทำงานภายใต้คำสั่งแต่งตั้งของคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ  ระบบบริหารความเสี่ยง  ระบบบริหารจัดการสารสนเทศ และระบบบริหารทรัพยากรบุคคล

ที่ประชุมร่วมพิจารณาและเห็นชอบหลักการ การใช้จ่ายเงินตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.2560 และพิจารณาอนุมัติโครงการ ตามมาตรา 26 ( 3 ) ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  โดยอนุมัติโครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะและบำรุงรักษา โครงข่ายเน็ตชุมชนและส่วนต่อขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยจัดให้มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสาธารณะ ( WI-FI ) ประจำหมู่บ้านในพื้นที่ที่มีการใช้งานจริง จำนวน 24,654 แห่ง และขยายโครงข่ายต่อไปยังโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและสุขศาลาพระราชทาน จำนวน 1,671 แห่ง มุ่งสนับสนุนชุมชนผู้มีรายได้น้อยและแออัดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และโครงการสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวะ ภายในปี 69

ที่ประชุมเห็นชอบการขอยินยอมขยายผลโครงการพัฒนากลไกการสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของระดับความพร้อมอุตสาหกรรมตามแนวคิด Industry 4.0 เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนโรงงานอุตสาหกรรม ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และการดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารทุนหมุนเวียน

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขอให้ร่วมพิจารณา มุ่งเตรียมความพร้อมสู่แนวโน้มเทคโนโลยีหลักและร่วมกันขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เร็วขึ้น โดยให้สามารถปรับเปลี่ยนทันเหตุการณ์และเปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ โครงการต่าง ๆ ขอให้พิจารณากลั่นกรองให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน ที่มุ่งเสริมสร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงเทคโนโลยีของชุมชนให้มากขึ้น เพื่อโอกาสและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในยุคดิจิทัลให้เร็วขึ้น

Advertisement

“พล.อ.ประวิตร” อนุมัติตั้งประชาคมไซเบอร์แห่งชาติ สู้ภัยคุกคามทางไซเบอร์

People Unity News : 30 มีนาคม 2566 “พล.อ.ประวิตร” อนุมัติตั้ง”ประชาคมไซเบอร์แห่งชาติ” ระดมความร่วมมือ ภาครัฐ-เอกชน-ต่างประเทศ  เน้นให้ความรู้/ลดเสี่ยงภัยคุกคาม  หนุน MOU ”อุ่นใจไซเบอร์” ให้ความเชื่อมั่น ปชช.

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ครั้งที่ 2/2566  โดยมี รมว.ดีอีเอส  เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

โดยที่ประชุมได้รับทราบ รายงานเหตุการณ์ภัยคุกคาม และผลการดำเนินงานที่มีผลกระทบ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีสถิติการปฎิบัติงานรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ห้วง ต.ค.65 – ก.พ.66 จำนวน 694 เหตุการณ์ หน่วยงานที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ได้แก่ หน่วยงานด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และด้านการเงิน ตามลำดับ มีการปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่การแจ้งเตือนและให้คำแนะนำ จำนวน 615 ครั้ง การทดสอบความปลอดภัยระบบเครื่องแม่ข่ายและเว็บไซต์ จำนวน 56 หน่วยงาน การดำเนินงานด้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ ที่กระทบต่อประชาชนจำนวน 61 เหตุการณ์ และรับทราบรายงานผลการลงนามบันทึกความเข้าใจ ของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และโครงการอาเซียน-ญี่ปุ่น เมื่อ 17 ก.พ.66 ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีกิจกรรมต่างๆ รองรับการพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อย่างเป็นรูปธรรม ต่อไป

จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ การจัดตั้ง ”ประชาคมไซเบอร์แห่งชาติ” เพื่อให้สอดคล้องตามมาตรา 9(6) และ42 (4) พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 โดยต้องมีการประสานความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐ เอกชน และความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อปิดช่องว่าง ลดความเสี่ยงภัยไซเบอร์ และเห็นชอบ (ร่าง) บันทึกความเข้าใจระหว่าง สกมช. กับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ 10 สถาบันการศึกษา รวมทั้งความร่วมมือด้านการส่งเสริมการพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัล และการเรียนรู้ หน้าที่พลเมืองดิจิทัล สำหรับ ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และประชาชนทั่วประเทศ ด้วยสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล หลักสูตร ”อุ่นใจไซเบอร์”

พล.อ.ประวิตร  ยังได้กำชับ สกมช. ให้เฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์ และช่วยเหลือหน่วยงานที่เกิดเหตุเพื่อจำกัดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งย้ำ ก.ดีอีเอส ให้กำกับ การดำเนินงาน ให้เป็นไปตามทิศทาง ของ กมช. เพื่อให้การพัฒนาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ เกิดผลเป็นรูปธรรม และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนต่อไป

Advertisement

Verified by ExactMetrics