วันที่ 25 พฤศจิกายน 2024

“พล.อ.ประวิตร” อนุมัติตั้งประชาคมไซเบอร์แห่งชาติ สู้ภัยคุกคามทางไซเบอร์

People Unity News : 30 มีนาคม 2566 “พล.อ.ประวิตร” อนุมัติตั้ง”ประชาคมไซเบอร์แห่งชาติ” ระดมความร่วมมือ ภาครัฐ-เอกชน-ต่างประเทศ  เน้นให้ความรู้/ลดเสี่ยงภัยคุกคาม  หนุน MOU ”อุ่นใจไซเบอร์” ให้ความเชื่อมั่น ปชช.

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ครั้งที่ 2/2566  โดยมี รมว.ดีอีเอส  เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

โดยที่ประชุมได้รับทราบ รายงานเหตุการณ์ภัยคุกคาม และผลการดำเนินงานที่มีผลกระทบ อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีสถิติการปฎิบัติงานรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ห้วง ต.ค.65 – ก.พ.66 จำนวน 694 เหตุการณ์ หน่วยงานที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ได้แก่ หน่วยงานด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และด้านการเงิน ตามลำดับ มีการปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่การแจ้งเตือนและให้คำแนะนำ จำนวน 615 ครั้ง การทดสอบความปลอดภัยระบบเครื่องแม่ข่ายและเว็บไซต์ จำนวน 56 หน่วยงาน การดำเนินงานด้านอาชญากรรมทางไซเบอร์ ที่กระทบต่อประชาชนจำนวน 61 เหตุการณ์ และรับทราบรายงานผลการลงนามบันทึกความเข้าใจ ของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และโครงการอาเซียน-ญี่ปุ่น เมื่อ 17 ก.พ.66 ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีกิจกรรมต่างๆ รองรับการพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อย่างเป็นรูปธรรม ต่อไป

จากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบ การจัดตั้ง ”ประชาคมไซเบอร์แห่งชาติ” เพื่อให้สอดคล้องตามมาตรา 9(6) และ42 (4) พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 โดยต้องมีการประสานความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐ เอกชน และความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อปิดช่องว่าง ลดความเสี่ยงภัยไซเบอร์ และเห็นชอบ (ร่าง) บันทึกความเข้าใจระหว่าง สกมช. กับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ 10 สถาบันการศึกษา รวมทั้งความร่วมมือด้านการส่งเสริมการพัฒนาอาสาสมัครดิจิทัล และการเรียนรู้ หน้าที่พลเมืองดิจิทัล สำหรับ ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และประชาชนทั่วประเทศ ด้วยสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล หลักสูตร ”อุ่นใจไซเบอร์”

พล.อ.ประวิตร  ยังได้กำชับ สกมช. ให้เฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์ และช่วยเหลือหน่วยงานที่เกิดเหตุเพื่อจำกัดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งย้ำ ก.ดีอีเอส ให้กำกับ การดำเนินงาน ให้เป็นไปตามทิศทาง ของ กมช. เพื่อให้การพัฒนาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ เกิดผลเป็นรูปธรรม และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนต่อไป

Advertisement

“อนุทิน” เผยคนเหนือเจอฝุ่นพิษเข้า รพ. 4,000 คน/สัปดาห์ ยัน รพ.-ยาเวชภัณฑ์ พร้อมรับมือ

People Unity News : 28 มีนาคม 2566 “อนุทิน” เผยคนเหนือเจอฝุ่นพิษเข้าโรงพยาบาล 4,000 คน/สัปดาห์ ยัน สธ.รับมือได้ รพ.-ยาเวชภัณฑ์พร้อม

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง สถานการณ์ฝุ่น  PM 2.5 ที่เข้าขั้นวิกฤติในหลายพื้นที่ว่า เมื่อเช้า (28 มี.ค.) ได้คุยกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทราบว่าในพื้นที่ภาคเหนือได้รับการยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมเรื่องยาเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะยาขยายหลอดลม หน้ากากอนามัยที่ป้องกัน PM 2.5 โดยเฉพาะ ซึ่งจะสนับสนุนในพื้นที่สุ่มเสี่ยง ซึ่งหากกรณีฉุกเฉินปลัดกระทรวงสาธารณสุขสามารถตัดสินใจได้ทันที

“ในส่วนของโรงพยาบาล มีความพร้อมเช่นกัน มีพื้นที่ปลอดฝุ่น โดยผู้ป่วยที่มีอาการจะมีห้องแยกโดยเฉพาะ ที่ติดตั้งเครื่องกรองอากาศมากเป็นพิเศษ ซึ่งขณะนี้จำนวนผู้ป่วยที่มารักษายังโรงพยาบาลยังไม่มีมากนัก ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือมีผู้ป่วยประมาณ 4,000 รายต่อสัปดาห์ โรงพยาบาลยังสามารถใช้บริการได้โดยไม่มีปัญหา เรื่องทรัพยากร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะดูแลในส่วนของปลายเหตุให้ไม่มีปัญหามากขึ้น”

Advertisement

“อนุทิน” ยืนยัน สธ.พร้อมดูแลประชาชนหลัง PM 2.5 วิกฤติ

People Unity News : 27 มีนาคม 2566 “อนุทิน” ยืนยันกระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อม ยา เวชภัณฑ์ ดูแลโรคทางเดินหายใจ หลังฝุ่น PM 2.5 วิกฤติในหลายพื้นที่ แม้เป็นรัฐบาลรักษาการก็พร้อมทำงาน ย้ำเลี่ยงสั่งการ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงปัญหาฝุ่นละออง PM.2.5 ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญดูแลปัญหา และดูแลปัญหามลพิษค่าฝุ่น  PM 2.5  ที่หลายฝ่ายวิจารณ์รัฐบาลไม่มีความเข้มแข็ง ทำให้เกิดการเผาในหลายจุดว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมในเรื่องของการรักษาพยาบาลดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ สั่งเวชภัณฑ์ดูแลเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ ได้เตรียมพร้อมไว้แล้ว

เมื่อถามว่าจังหวัดเชียงรายขณะนี้ เป็นจังหวัดที่น่ากังวลสุดหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่าตอนนี้สภาพน่ากังวลทั่วประเทศ แต่เรื่องการรักษาพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมไว้อยู่แล้ว ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการเต็มที่ เพราะในช่วงรัฐบาลรักษาการเราจะระวังเรื่องการสั่งการ  แต่จะคอยสนับสนุนการทำงานของข้าราชการ แต่หากเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นต่อประชาชนก็จะพร้อมที่จะลงไปทำงานกับข้าราชการประจำอย่างเต็มที่

เมื่อถามว่าแต่ละพรรคมีนโยบายในการแก้ปัญหา PM 2.5 พรรคภูมิใจไทยมีนโยบายในเรื่องนี้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยทำแล้ว  คือ ปรับมาใช้รถเมล์ไฟฟ้า EV ที่วิ่งอยู่ 1200 คัน ช่วยลดการปล่อยมลพิษได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งกำลังเร่งให้ออกมาบริการประชาชนในระบบขนส่งมวลชนประมาณอีกประมาณ 4-5 พันคัน ในระยะ 1  ปี ถึงปีครึ่งนี้  เพื่อทดแทนรถมีน้ำมันที่ใช้น้ำมันอยู่ นี่คือสิ่งที่เราได้ทำไปแล้ว

Advertisement

ข่าวดี รัฐบาลเปิดให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปกู้ยืมเงินทุน ปลอดดอกเบี้ย

People Unity News : 26 มีนาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย รัฐบาลโดยกองทุนผู้สูงอายุ พม. เดินหน้าช่วยเหลือผู้สูงอายุประกอบอาชีพ เปิดให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปกู้ยืมเงินทุนรายบุคคล-รายกลุ่ม ปลอดดอกเบี้ย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย รัฐบาลโดยกองทุนผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เดินหน้าดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง เปิดให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ รายบุคคลวงเงินไม่เกินคนละ 30,000 บาท รายกลุ่ม 5 คนขึ้นไปวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุผ่านกองทุนผู้สูงอายุ เป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายด้านสวัสดิการผู้สูงอายุที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้สูงอายุได้นำเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยดังกล่าว มาเป็นเงินทุนหรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ รวมถึงเป็นการหมุนเวียนสภาพคล่องทางการใช้จ่ายให้กับผู้สูงอายุ ทดแทนการเป็นหนี้นอกระบบ

นายอนุชากล่าวว่า กองทุนผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ พม. ได้เปิดให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ รายบุคคล วงเงินไม่เกินคนละ 30,000 บาท รายกลุ่ม วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ผู้ร่วมกู้จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน จะต้องมีผู้ค้ำประกัน การกู้ยืมทุกประเภทต้องชำระคืนเป็นรายงวด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย สำหรับคุณสมบัติของผู้กู้มีดังนี้ มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป มีความจำเป็นขอรับการสนับสนุนเงินกู้ยืมประกอบอาชีพ มีความสามารถในการประกอบอาชีพ มีสภาพร่างกายแข็งแรงประกอบอาชีพได้ มีปัจจัยในการสนับสนุนการประกอบอาชีพ มีสถานที่ประกอบอาชีพอยู่จังหวัดเดียวกันกับที่ยื่นขอกู้ยืม และไม่เป็นผู้ค้างชำระเงินกองทุนผู้สูงอายุ

ส่วนคุณสมบัติของผู้ค้ำประกัน คือ มีอายุไม่เกิน 59 ปีบริบูรณ์ เป็นผู้มีรายได้หรือเงินเดือนประจำ มีภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎร์อยู่จังหวัดเดียวกันกับผู้กู้ยืม ไม่อยู่ระหว่างเป็นผู้กู้ยืม ไม่อยู่ระหว่างเป็นผู้ค้ำประกันให้กับบุคคลอื่นที่ขอกู้ยืม เอกสารประกอบการยื่นคำร้อง ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน (ผู้กู้-ผู้ค้ำ) ทะเบียนบ้าน (ผู้กู้-ผู้ค้ำ) หนังสือรับรองเงินเดือนผู้ค้ำประกัน ใบสำคัญการสมรส หรือใบสำคัญการหย่า (ถ้ามี) ใบมรณะบัตรกรณีคู่สมรสเสียชีวิต (ถ้ามี) ใบเปลี่ยนชื่อ สกุล (ถ้ามี) กรณีผู้ยื่นคำร้องมีอายุ 80 ปีขึ้นไป ควรมีใบรับรองแพทย์ และรูปถ่ายเต็มตัวขณะประกอบอาชีพ สามารถกู้ยืมเงินผ่านช่องทางออนไลน์เว็บไซต์กองทุนผู้สูงอายุผู้สูงอายุ olderfund.dop.go.th ผู้สูงอายุที่สนใจ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2354 6100 กองทุนผู้สูงอายุ (กรมกิจการผู้สูงอายุ) กรุงเทพมหานคร หรือต่างจังหวัด ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ทุกจังหวัด

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 มีผู้กู้ยืมเงินประกอบอาชีพที่ผ่านการอนุมัติ จำนวน 579 ราย และมีโครงการที่ขอรับการสนับสนุนผ่านการอนุมัติ จำนวน 8 โครงการ โดยกองทุนผู้สูงอายุจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุให้มีศักยภาพ ความมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสนับสนุนผู้สูงอายุให้มีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

ชวนทุกคนร่วมมืออนุรักษ์-ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า

People Unity News : 22 มีนาคม 2566 นายกฯ อ่านสารเนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี 2566 ย้ำ “น้ำ” เป็นทรัพยากรสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เชิญชวนทุกคนร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ยั่งยืน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อ่านสารผ่านบันทึกวีดิทัศน์ เนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี 2566 ออกอากาศทางเพจไทยคู่ฟ้า Facebook และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย  ว่า “น้ำ” เป็นทรัพยากรสำคัญที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็นวันน้ำโลก เพื่อกระตุ้นให้ประชาคมโลกร่วมกันรณรงค์ให้เกิดการฟื้นฟูและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน โดยในปี 2566 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นสำคัญในหัวข้อ “เร่งการเปลี่ยนแปลง” ด้วยการลงมือปฏิบัติเพื่อลดวิกฤติด้านน้ำและสุขาภิบาล โดยรณรงค์ให้ทุกคนร่วมกันเป็นผู้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่อยากเห็นในโลกใบนี้

“ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกมิติให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน ขับเคลื่อนภารกิจด้านทรัพยากรน้ำโดยคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านจากการวิเคราะห์ข้อมูลของหน่วยงานและองค์กร รวมทั้งสภาพปัจจุบันและแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ได้วางแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบพลวัต โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ด้าน คือ การบริการน้ำอุปโภคบริโภคที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม การสร้างความมั่นคงและเพิ่มผลิตภาพของน้ำ การลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากภัยพิบัติด้านน้ำ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำและคุณภาพน้ำ และการเสริมความเข้มแข็งในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม บนพื้นฐานของการรักษาสมดุลนิเวศ วิถีทางสังคม เศรษฐกิจของพื้นที่ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างสมดุลการอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งนํ้าด้วยการบริหารจัดการพื้นที่ในลักษณะลุ่มนํ้าอย่างเป็นระบบ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ด้าน คือ การบริการน้ำอุปโภคบริโภคที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม การสร้างความมั่นคงและเพิ่มผลิตภาพของน้ำ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความมุ่งมั่นดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำของประเทศที่เป็นกลไกหลักในการเชื่อมโยงและขับเคลื่อนทุกพื้นที่ ร่วมกับภาคีหน่วยงานและองค์กร นักวิชาการและปราชญ์ท้องถิ่น ควบคู่กับการทำความเข้าใจและขยายเครือข่ายแนวร่วมภาคประชาชน และเดินหน้าไปพร้อมกับประเทศสมาชิกในการประกาศคำมั่นโดยสมัครใจ เพื่อยืนยันความร่วมมือ เร่งการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีส่วนร่วม ในการประชุมสหประชาชาติทบทวนการดำเนินงานด้านน้ำในห้วงครึ่งแรกของทศวรรษระหว่างประเทศแห่งการดำเนินการ “น้ำสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดการประชุมระหว่างวันที่ 22 – 24 มีนาคม 2566 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เนื่องในโอกาส “วันน้ำโลก” ประจำปี 2566 ขอเชิญชวนประชาชนทุกคน ร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า รวมทั้งมีส่วนร่วมเป็นภาคีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน

Advertisement

ครม.รับทราบผลการร้องทุกข์ พบปัญหาเสียงดังรบกวน ไฟฟ้าขัดข้อง หวยแพง ติดอันดับ

People Unity News : 21 มีนาคม 2566 ครม.รับทราบการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนประจำไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2566 พบปัญหาเสียงดังรบกวน ไฟฟ้าขัดข้อง และหวยแพง ติดอันดับ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนประจำไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2566 ตามที่สำนักงานปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ ซึ่ง สปน. ได้ประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความร่วมมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชนและการบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์ต่อไป

ทั้งนี้ ในไตรมาสที่1 ของปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค.-31 ธ.ค. 65) ประชาชนได้ยื่นเรื่องผ่านช่องทางการร้องทุกข์ 1111 รวม 14,439 เรื่อง สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ  12,133 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 84.03 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานเกี่ยวข้อง 2,306 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 15.97 โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้า พบว่าเรื่องร้องทุกข์ลดลง 1,039 เรื่อง

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หน่วยได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมาก 5 อันดับแรก สำหรับส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,430 เรื่อง, กระทรวงคมนาคม 383 เรื่อง, กระทรวงการคลัง 302 เรื่อง, กระทรวงสาธารณสุข 285 เรื่อง และกระทรวงมหาดไทย 279 เรื่อง

รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 615 เรื่อง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 127 เรื่อง, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 124 เรื่อง การไฟฟ้านครหลวง 109 เรื่อง และการประปาส่วนภูมิภาค 70 เรื่อง ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 ลำดับแรกได้แก่ กรุงเทพมหานคร 767 เรื่อง จังหวัดนนทบุรี 237 เรื่อง สมุทรปราการ 212 เรื่อง ปทุมธานี 203 เรื่อง และชลบุรี 177 เรื่อง ตามลำดับ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อแยกตามเรื่องที่ประชาชนมีการยื่นเรื่องมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่

1) เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน เช่น การเปิดเพลงเสียงดัง เล่นดนตรีสดของร้านอาหาร สถานบันเทิง การจับกลุ่มสังสรร เสียงดังจากการแข่งรถจักรยานยนต์ รวม 1,576 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 1,487 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ  94.35

2) ไฟฟ้า เช่น แก้ไขปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้อง ไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นต้น รวม 696 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 595 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 85.49

3) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เช่น ขอให้พิจารณาจัดสรรโควตา แจ้งเบาะแสการจำหน่ายเกินราคา ขอให้ตรวจสอบการกว้านซื้อสลากของเอกชนเจ้าของแพลตฟอร์มจำหน่ายสลากออนไลน์ รวม 644 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 623 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ  96.74

4) อุทุกภัย เช่น ขอความช่วยเหลือกรณีได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉบับพลัน การระบายน้ำจากที่น้ำท่วม เงินเยียวยา เป็นต้น รวม 556 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ  512 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 93.71

5) โทรศัพท์ เช่น การให้บริการผ่านโทรศัพท์ของหน่วยงานรัฐ เช่น รอสายนาน คู่สายเต็ม รวม 543 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 474 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 87.29

6) ยาเสพติด เช่น แจ้งเบาะแสการจำหน่าย 490 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 452 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 92.24

7) การเมือง เช่น แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่อยู่ในกระแสสังคม รวม 487 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 479 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 98.36

8) ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ขอให้แก้ไขปัญหามิจฉาชีพหลอกลวงประชาชน ตรวจสอบเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน รวม 473 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 314 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 66.38

9) ถนน เช่น ขอให้ซ่อมแซมถนนที่เป็นหลุมบ่อจากสาเหตุต่างๆ รวม 473 เรื่อง แก้ไขจนได้ข้อยุติ 319 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 82.66

10) ประเด็นเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย  ชื่อเสียง และเสรีภาพ เช่น ขอความช่วยเหลือจากการถูกข่มขู่ คุกคาม ถูกทำร้ายร่างกาย รวม 320 เรื่อง ดำเนินการได้ข้อยุติ 281 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 87.81

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สปน. ได้ประมวลปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์พบว่าประชาชนมีความคาดหวังต่อการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว จึงขอความร่วมมือทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการกำหนดระยะเวลาแก้ไขปัญหาตลอดจนการตอบความคืบหน้าต่อผู้ร้องทุกข์  ขณะเดียวกันประเด็นการร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องซ้ำๆ เช่น เสียงดังรบกวน การแข่งจักรยานยนต์ ร้านอาหารเสียงดัง แต่หน่วยงานยังไม่มีมาตรการรับมือ ไม่มีแผนเผชิญเหตุ หรือมีแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนี้ จึงได้ขอให้หน่วยงานมีการเน้นการทำงานเชิงรุก วิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ เฝ้าระวังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิม มีการจัดทำแนวทาง มาตรการและแผนเผชิญเหตุรองรับการแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบ ตลอดจนมีการบูรณาการฐานข้อมูลและการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป ทางด้านสถานการณ์โควิด19 ที่คลี่คลายแม้จะทำให้เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโรคระบาดลดลงแล้ว แต่ยังคงต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหลายประเทศได้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว หน่วยงานต่างๆ ยังต้องร่วมกันมีมาตรการเฝ้าระวังที่เข้มงวด ขณะเดียวกันประชาชนได้ขอให้หน่วยงานรัฐมีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เข้มงวด ได้แก่ ปัญหายาเสพติด ที่มีการแพร่ระบาดหลายพื้นที่ เข้าถึงเยาวชนมากขึ้น รวมถึงปัญหามิจฉาชีพที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบกลวิธีต่างๆ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับเรื่องดำเนินการเพื่อให้ปัญหาของประชาชนได้รับการแก้ไขต่อไป

Advertisement

ทบ.จับมือ 5 หน่วยงานแก้ภัยแล้ง

People Unity News : 17 มีนาคม 2566 ผบ.ทบ.ร่วม 5 หน่วยงานเปิดโครงการราษฎร์-รัฐร่วมใจช่วยภัยแล้ง ประจำปี 66 เป็นความร่วมมือกันต่อเนื่องกว่า 20 ปี ช่วยกันแก้ปัญหาจากภัยแล้ง ภัยธรรมชาติอื่น ๆ  ลดความเดือดร้อน ปชช. ให้ประเทศอยู่อย่างผาสุข

พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานเปิดโครงการราษฎร์-รัฐร่วมใจช่วยภัยแล้ง ประจำปี 2566 ที่บริเวณกำแพงอนุสรณ์กองทัพบก ภายในกองบัญชาการกองทัพบก โดยมีผู้แทนองค์กรภาคีเครือข่าย 5 หน่วยงานร่วมยืนยันความพร้อมผลึกกำลังแก้ปัญหาภัยแล้ง

ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้ง ภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ไฟป่า เป็นปัญหาที่ประเทศไทยต้องเผชิญ โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้ง ซึ่งที่ผ่านมากองทัพบกได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย 5 หน่วยงานแก้ปัญหาภัยแล้งมาเป็นปีที่ 25 แล้ว ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มดีขึ้นมาก เพราะมีหลายหน่วยงานร่วมมือกันดูแลสถานการณ์น้ำทุกด้าน รวมไปถึงการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ

“การบริหารจัดการน้ำถือเป็นพระบรมราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นับเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาที่นำมาสู่ความเจริญในด้านต่าง ๆ ซึ่งปีนี้คาดการณ์ว่าปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่อาจมีความรุนแรงเช่นเดียวกับปัญหาไฟป่า หมอกควัน จึงนับเป็นความร่วมมือที่ดีของหน่วยที่จะได้ร่วมกันตอบสนองพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 และสืบสานมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน” พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าว

ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันช่วยเหลือประชาชน ถือเป็นมือเล็ก ๆ ที่จะมาช่วยกันเติมเต็มให้ประเทศชาติและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีให้มากที่สุด เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาภัยแล้ง เพราะประเทศยังมีปัญหาเรื่องอื่น ๆ อีกมาก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยโชคดีที่มีหลายหน่วยงานเข้าใจความต้องการและความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อช่วยกันทำให้ประเทศอยู่กันอย่างผาสุข จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันในหลายด้าน เพื่อให้ประชาชนผ่านภาวะต่าง ๆ ที่เผชิญอยู่ได้

Advertisement

ครม.เห็นชอบรายงานพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน

People Unity News : 14 มีนาคม 2566 ครม.เห็นชอบ รายงานความคืบหน้าการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน บูรณะอาคารศาลากลาง จ.น่านหลังเก่าเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก หวังอนุรักษ์และพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบ

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบรับทราบรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อเป็นพื้นที่อนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า พ.ศ.2546 และมีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการและพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าเสนอขอทบทวนแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าน่านในส่วนของพื้นที่เมืองเก่าน่านต่อไป

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 คณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าน่านได้มีมติเห็นชอบโครงการการบูรณะปรับปรุงอาคารศาลากลางจังหวัดน่านหลังเก่าเพื่อเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก ซึ่งต่อมาคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าได้มีมติการประชุมเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 เห็นชอบในหลักการการขอเปลี่ยนแปลงแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าน่านโดยให้ปรับปรุงอาคารศาลากลางดังกล่าวเป็นหอศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านและแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก พร้อมกับให้จังหวัดน่านจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าน่านฉบับใหม่ โดยทบทวนแผนแม่บทฉบับเดิมในภาพรวม และการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณต่าง ๆ ในเมืองเก่าให้เหมาะสม โดยจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ

“จากฐานข้อมูล ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2565 มี 36 เมืองที่ได้รับการประกาศเป็นเขตพื้นที่เมืองเก่า ได้แก่  น่าน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พิษณุโลก กำแพงเพชร ลพบุรี พิมาย นครศรีธรรมราช สงขลา แพร่ เพชรบุรี จันทบุรี ปัตตานี เชียงราย สุพรรณบุรี ระยอง บุรีรัมย์ ตะกั่วป่า พะเยา ตาก นครราชสีมา สกลนคร สตูล ราชบุรี สุรินทร์ ภูเก็ต ระนอง แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี ยะลา นราธิวาส ร้อยเอ็ด อุทัยธานี ตรัง ฉะเชิงเทรา โดยพื้นที่ดังกล่าวจะมีแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะมีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อให้พื้นที่เมืองเก่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดความเจริญทางวัฒนธรรมของประเทศไทย” น.ส.ทิพานัน กล่าว

Advertisement

นายกฯห่วงเด็กไทยน้ำหนักเกิน-อ้วน ติด 1 ใน 3 อาเซียน แนะใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมออกกำลังกาย

People Unity News : 12 มีนาคม 2566 โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ห่วงสุขภาพเด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ติด 1 ใน 3 ของอาเซียน ขอพ่อแม่ ผู้ปกครอง ดูแลให้เด็กบริโภคอาหารถูกหลักโภชนาการ ใช้เวลาว่างช่วงปิดเทอมให้เป็นประโยชน์ ด้วยกิจกรรมออกกำลังกายป้องกันภาวะอ้วน

วันที่ 12 มีนาคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยสุขภาพเด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน หลังกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลพบ เด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ติด 1 ใน 3 ของอาเซียน ซึ่งสหพันธ์โรคอ้วน (World Obesity Federation) คาดการณ์ภายในปี 2573 ประชากรอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนสูงขึ้นอีกเกือบร้อยละ 50 โดยนายกรัฐมนตรีฝากความห่วงใยมายังเด็ก ๆ ขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ช่วยดูแลสุขภาพของลูกหลาน ให้รับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ เสริมการออกกำลังกายเพื่อป้องกันภาวะอ้วนโดยเฉพาะในช่วงปิดภาคเรียนนี้

นายอนุชากล่าวถึงข้อมูลของกรมอนามัย จากการเฝ้าระวังภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในเด็กของกระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า เด็กอายุ 0-5 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 9.13 เด็กวัยเรียน 6-14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.4 และเด็กวัยรุ่น 15-18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.2 รวมทั้งจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (อาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง) ในเด็ก พบว่า เด็กประมาณ 1 ใน 3 คน ดื่มนมรสหวานทุกวัน กินขนมกรุบกรอบทุกวัน และดื่มน้ำอัดลมทุกวัน เด็กประมาณ 1 ใน 5 คนดื่มน้ำหวาน น้ำผลไม้ทุกวัน รวมทั้งเด็กยังมีภาวะในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารน้อย เด็กส่วนใหญ่ยังซื้ออาหารตามความชอบ มีเพียงส่วนน้อยที่คำนึงถึงคุณค่าทางอาหาร ซึ่งสาเหตุภาวะอ้วน ส่วนใหญ่เกิดพฤติกรรมการกินจากอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง

ทั้งนี้ กรมอนามัยแนะนำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และโรงเรียน คือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด ควรสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพเด็กในการเลือกซื้ออาหาร และส่งเสริมโภชนาการที่ดี จากการเลือกอาหารที่ดีมีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ ลดการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง ลดขนมหวาน และเสริมอาหารที่ถูกหลักโภชนาการให้ครบ 5 หมู่ กินอาหารกลุ่มข้าว แป้ง เนื้อสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม เลือกเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยการบริโภคที่ดีให้กับเด็ก เน้นผักและผลไม้ นอกจากนี้ ปริมาณอาหารที่เด็กได้รับในแต่ละมื้อควรเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับอายุ ให้ได้รับสารอาหารที่พอดี ไม่มากหรือน้อยเกินไป รวมทั้งควรให้เด็กออกกำลังกายง่าย ๆ เช่น เต้นแอโรบิก วิ่ง ปั่นจักรยาน กระโดดตบ กระโดดเชือก ซิทอัพ ดันพื้น ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ อย่างน้อย 60 นาทีทุกวัน (สะสมต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป) เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง ให้เด็กได้พัฒนาร่างกาย กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อต่าง ๆ และเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีร่างกายที่แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ใหญ่ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขณะออกกำลังกาย หรือพ่อแม่ควรเพิ่มกิจกรรมการออกกำลังกายร่วมกัน ที่สำคัญควรให้เด็กนอนหลับสนิทเพียงพอ เพื่อช่วยพัฒนาสมรรถภาพของหัวใจ สมอง การเจริญเติบโต ให้สมวัย สูงสมส่วน และแข็งแรงอีกด้วย

“พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง ทั้งขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงนั้น เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กไทยอ้วนเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากกลยุทธ์การตลาด ลด แลก แจก แถม ชิงโชค ชิงรางวัล ที่กระตุ้นให้เด็กบริโภคอาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และเด็กส่วนใหญ่ยังซื้ออาหารตามความชอบ ซึ่งอาจส่งผลไปยังสุขภาพในอนาคตของเด็กไทย โดยพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรฝึกให้เด็กกินหวานลดลง ให้กินขนมไทยน้ำตาลน้อย หวานน้อย หรือฝึกให้เด็กเลือกผลไม้เป็นของว่าง ควบคู่กับการดื่มนมรสจืดและไขมันศูนย์เปอร์เซ็นต์หรือไขมันต่ำเป็นการทดแทน ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เด็กเรียนรู้และมีวินัยในการกิน และสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีคาดหวังในการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อสุขภาพของเด็กไทยอย่างยั่งยืน โดยเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมกันทำให้เด็กไทยปลอดภัยจากการตลาดอาหาร ให้ความรู้ด้านโภชนาการกับเด็ก ให้เด็กรู้เท่าทันสื่อ สามารถเลือกกินขนมหรืออาหารที่ดีต่อสุขภาพของตนเองได้ เพื่อลดความเสี่ยงโรคอ้วน รวมทั้งในช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมใหญ่ จึงเป็นโอกาสในการส่งเสริมให้เด็ก ๆ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ลดพฤติกรรมเสี่ยงโรคอ้วน ด้วยกิจกรรมการออกกำลังกายที่เพียงพอและเหมาะสม ทำให้เด็กสามารถดูแลสุขภาพตนเองให้มีสุขภาพแข็งแรงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายอนุชา กล่าว

Advertisement

นักวิชาการระบุฝุ่น PM 2.5 มาจากเครื่องยนต์ดีเซล 80%

People Unity News : 12 มีนาคม 2566 นักวิชาการวิศวกรรมเคมี สจล. ระบุฝุ่น PM 2.5 มาจากเครื่องยนต์ดีเซล 80% เจ้าของรถบางราย ยอมขายตัดท่อแคทดักฝุ่น เพิ่มความแรงเครื่องยนต์

ผศ.ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันติ์ นักวิชาการภาควิชาวิศวกรรมเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยนับว่าร้ายแรงมาก มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างมาก จากการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษ ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล พบว่า PM 2.5 มาจากรถยนต์ประเภทเครื่องยนต์ดีเซล มีปริมาณถึง 80% ของ PM 2.5 จากการจราจรบนท้องถนนทั้งหมดเลยทีเดียว ยอมรับว่าหากว่าจะให้เลิกใช้รถยนต์ดีเซลในปัจจุบัน คงเป็นไปไม่ได้

จึงต้องกวดขันของการตรวจสภาพรถยนต์ดีเซลเป็นประจำ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยต้องมีอุปกรณ์ช่วยลดปริมาณ PM 2.5 นั่นก็คือ Catalytic converter ซึ่งติดตั้งมาในรถยนต์ดีเซลทั้งหลาย หากแต่ระบบนี้มีราคาค่างวดค่อนข้างแพง เนื่องจากทำมาจากวัสดุมีราคาแพงอย่างเช่น Platinum จึงทำให้เกิดพ่อค้าหัวใส รับซื้อท่อแคท และผู้ใช้รถยนต์ดีเซลจำนวนมากยินดีตัดท่อแคทดังกล่าวออกไป เพราะมีความเชื่ออย่างไม่ถูกต้อง มองว่าการตัดท่อแคทจะทำให้รถแรงขึ้น และที่สำคัญได้เงินแถมมาด้วย นั้นจึงเป็นส่วนหนึ่งของต้นตอหรือสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM 2.5 จำนวนมากในปัจจุบัน

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียน อยากให้ความเห็นคือ เรื่องสิ่งแวดล้อม ไทยควรมีมาตรการจริงจังเด็ดขาด เหมือนกับสหภาพยุโรป ในการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์จากค่ายยุโรป เครื่องยนต์น้ำมันดีเซล จะดูแลระบบไอเสียออกจากรถยนต์อย่างมาก เนื่องจากมีกฎหมายดูแลสภาพอากาศเข้มงวดมากกว่าเมืองไทย จึงเห็นได้ว่า รถยนต์จากค่ายยุโรปที่เติมน้ำมันดีเซล จะเติมน้ำยาบางอย่างลงไประหว่างการเช็กระยะ เพื่อเพิ่มความสะอาดให้กับไอเสียที่ออกมา น้ำยาดังกล่าวจะทำงานร่วมกับ Selective Catalytic Reduction เพื่อช่วยลดปริมาณ NOx ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิด PM 2.5 จากปฏิกิริยาลูกโซ่เกิดจาก NOx ลงได้

มีมาตรการอย่างจริงจัง ถึงขนาดถ้าไม่เติมน้ำยาจะทำให้รถยนต์ไม่สามารถขับได้ตามปกติ ขณะที่เมืองไทย กลับหาแนวทางไม่อยากเติมน้ำยาดังกล่าว โดยการปรับปรุงระบบรถกันเองให้สามารถ start รถยนต์ได้ตามปกติ โดยไม่เติมน้ำยาเพิ่มเติม นับว่าเป็นความพยายามทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะสุดท้าย กลับสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม จากสภาพปัญหาอากาศมีฝุ่น PM 2.5 ในอากาศเป็นปริมาณมาก ทางผู้เขียน เห็นว่าภาครัฐควรออกมาตรการทางด้านอากาศอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

เริ่มต้นจากการกวดขันให้รถยนต์ติดตั้งท่อแคทเดิมให้อยู่ในสภาพดีพร้อมทำงาน จนถึงมาตรการบังคับการติดตั้งระบบ Selective Catalytic Reduction ที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นในรถยนต์ดีเซล แบบเดียวกับในสหภาพยุโรปอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในอนาคต เพื่อลดการเกิด PM 2.5 ลง ไม่เช่นนั้นเราทุกคนคงต้องใช้ชีวิตในสายหมอกของฝุ่นควันกันยาวนาน และไม่มีท่าทีจะดีขึ้น โดยปกติแล้วฝุ่นควันจะลดลงเมื่อเข้าสู่หน้าร้อน แต่อย่างที่ทุกคนรับทราบ ปีนี้ไม่มีท่าทีที่ฝุ่นจะลดลงแต่อย่างใด เราทุกคนควรช่วยกันคนละไม้คนละมือรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อตัวเราและลูกหลานของเราในอนาคต

Advertisement

Verified by ExactMetrics