วันที่ 28 พฤศจิกายน 2024

ชวน 7 กลุ่มเสี่ยงใช้สิทธิการรักษา สปสช. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฟรี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 10 มิถุนายน 2567 นายกฯ ห่วงใยสุขภาพคนไทย ชวน 7 กลุ่มเสี่ยงใช้สิทธิการรักษา สปสช. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฟรี ‘ไม่มีค่าใช้จ่าย’ ถึง 31 สิงหาคม 67 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีห่วงใยสุขภาพของพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มักพบการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ ส่งผลให้เกิดอาการป่วย มีไข้ จนถึงภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ทั้งนี้ ในปี 2567 รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการสิทธิประโยชน์บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนหากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สามารถเข้ารับบริการได้ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขั้นตอนการรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ประชาชนสามารถใช้สิทธิการรักษาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และขอติดต่อเข้ารับบริการได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ทุกแห่ง อนึ่ง ประชาชนสามารถติดต่อเพื่อนัดหมายกับหน่วยบริการล่วงหน้า เพื่อความสะดวกในการเลือกวันเวลาที่เข้ารับบริการที่แน่นอน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 7 กลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย 1. หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2. ผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 3. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี 4. ผู้พิการทางสมองที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 5. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ปอดอุดกั้นเรื้อรัง เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ที่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด 6. ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย  ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และ 7. ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไปสามารถขอรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดทั้งปี

“นายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชน ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาการทำงานดูแลประชาชนในช่วงเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรค และควบคุมการทำงานเพื่อพัฒนาการรับสิทธิรักษาโรคในระบบสุขภาพของประเทศ เพื่อดูแล ป้องกัน ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มอ่อนแอ ที่มีโอกาสรับเชื้อโรคมากกว่ากลุ่มปกติ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชิญชวนประชาชนติดตามการประกาศประชาสัมพันธ์ของรัฐในทุกช่วงเวลาเพื่อป้องกันตนเองจากโรคระบาด ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเสมอ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคภัย” นายชัยกล่าว

Advertisment

คสช. เห็นชอบ 5 มาตรการต้าน ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ชง ครม. ประกาศใช้เป็นนโยบายประเทศ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 มิถุนายน 2567 คสช. เห็นชอบมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” บนกรอบทิศทางนโยบายภายใต้ 5 มาตรการสำคัญ มอบ สช. เตรียมเสนอมติเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อประกาศใช้เป็นนโยบายประเทศ เน้นย้ำให้คงนโยบายห้ามขาย-นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า

ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2567 ซึ่งมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ประกอบด้วย 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1. พัฒนาและจัดการองค์ความรู้ 2. สร้างการรับรู้ภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน 3. เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 4. พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 5. ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้เห็นชอบให้คงไว้ซึ่งนโยบายห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำมติสมัชชาฯ ดังกล่าว เสนอเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้เป็นกรอบนโยบายหลักของประเทศในการปกป้องเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คสช. เปิดเผยว่า ปัญหาของบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ โดยที่ผ่านมาได้มีการกำชับสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด จริงจัง เนื่องจากมีความเป็นห่วงเด็กและเยาวชนที่จะตกเป็นเหยื่อการตลาดของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าและกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ที่จะได้รับอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นายสุริยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น จนนำไปสู่การจับกุมและตรวจยึดของกลางได้ในหลายกรณี ซึ่งมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ที่ คสช. ได้เห็นชอบในวันนี้จะเป็นกรอบนโยบายสำคัญให้หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวง กรม กอง สำนักงาน คณะกรรมการชุดต่างๆ นำไปขับเคลื่อน ซึ่งส่วนตัวต้องการเห็นรูปธรรม จึงได้สั่งการให้ สช. เกาะติดการขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด และรายงานผลการดำเนินการต่อ คสช. ให้รับทราบความก้าวหน้าไปจนกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงตามข้อมติ

“ต้องขอชมเชยคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ ที่ทำข้อเสนอลงรายละเอียดให้เราได้เห็นถึงเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างชัดเจน อย่างหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญคือการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อช่วยกระจายความรู้และความน่ากลัวจากผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าไปถึงเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น นอกจากนี้ในเรื่องของตัวเลขสถิติที่เรามีการสำรวจกัน 5 ปีครั้ง ซึ่งมตินี้เสนอให้สำรวจบ่อยขึ้นเป็นทุก 2 ปี ผมมองว่าการสำรวจไม่ได้ใช้เวลาเยอะ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่จำนวนผู้สูบเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เรากำลังมีมาตรการต่างๆ ออกมา จึงมองว่าควรจะมีการสำรวจสัก 6 เดือนครั้ง เพื่อประเมินได้ว่าหากมาตรการได้ผลจริง จำนวนตัวเลขเหล่านี้ก็จะต้องลดลง” นายสุริยะ กล่าว

สำหรับมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” ผ่านความเห็นชอบจากผู้เข้าร่วม 264 หน่วยงาน/คน โดยทั้งหมดได้ให้ความเห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) อย่างเป็นฉันทมติ พร้อมกันนี้ยังได้วางบทบาทหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้มีนโยบายรณรงค์ เฝ้าระวัง และให้ความรู้ถึงภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้กำหนดมาตรการมิให้นำเสนอประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าที่บิดเบือนผ่านสื่อ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมศุลกากร ให้บังคับใช้กฎหมายที่มีในปัจจุบันอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด เป็นต้น

ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเด็กและเยาวชนถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต ที่ต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองสุขภาพอย่างสอดคล้องและเหมาะสม จึงเป็นที่มาของการพัฒนานโยบายสาธารณะเรื่องนี้

ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลักฐานทางวิชาการมากมายยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ โดยมีสารนิโคตินปริมาณสูงซึ่งมีฤทธิ์เสพติดรุนแรง และอันตรายต่อทุกระบบของร่างกายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะต่อพัฒนาการสมองของเด็ก ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ย้ำด้วยว่าบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์อันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบ รวมไปถึงผู้ที่ได้รับบุหรี่ไฟฟ้ามือสองและมือสาม เนื่องจากมีสารนิโคติน สารเสพติด สารแต่งกลิ่น สารเคมีอื่นๆ มิได้เป็นสินค้าที่ปลอดภัยกว่าบุหรี่ตามที่อุตสาหกรรมยาสูบหรือผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ากล่าวอ้าง

ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวอีกว่า ปัญหาขณะนี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยการตลาดล่าเหยื่อ ที่ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เลียนแบบของเล่นเด็ก (Toy Pod) ของใช้หรือของกินที่เด็กและเยาวชนนิยมหรือคุ้นเคย รวมถึงการใส่สารปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติในบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อดึงดูดความสนใจให้อยากทดลองและใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าคุมคามเด็กเล็กลงถึงระดับชั้นประถมศึกษา และส่งผลกระทบเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ทั้งมิติด้านสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

“ความจริงแล้วสถานะของบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นวัตถุที่มีความผิดตามกฎหมาย ครอบคลุมตั้งแต่การห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามบริการ ซึ่งดีอยู่แล้ว เราจึงขอให้รัฐบาลคงไว้ซึ่งมาตรการเหล่านี้ และสิ่งสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายที่มีอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงป้องกันการแทรกแซงจากกลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบ ขณะที่การปกป้องเด็กและเยาวชนไทย เราก็สามารถทำได้ด้วยการสร้างการรับรู้เรื่องภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าควบคู่กันไป” ศ.พญ.สุวรรณา ระบุ

ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2553 ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประเทศไทยเคยมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบ มาแล้ว โดยขณะนั้นเครือข่ายสมัชชาฯ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนมติในการควบคุมการบริโภคยาสูบ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราได้พบกับปัญหาใหม่จากการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าที่รุนแรง และจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายเข้ามาหนุนเสริมการขับเคลื่อนให้มากขึ้น

นพ.สุเทพ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่าคนในประเทศไหนจะมีสุขภาพดีและอายุยืนยาวแค่ไหนขึ้นอยู่กับ ระบบบริการสุขภาพ 9% พันธุกรรม 16% พฤติกรรม 51% และ สิ่งแวดล้อม 24% ซึ่งจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมีน้ำหนักถึง 75% ดังนั้น การจะทำให้คนสุขภาพดี จึงต้องมาจัดการที่ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (social determinant of health) ซึ่งการสูบบุหรี่ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งที่ทำให้ชายไทยเจ็บป่วยหรือตายก่อนวัยอันควร บุหรี่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งหลายชนิด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมโป่งพอง โรคกระเพาะอาหาร โรคกระดูกพรุน ฯลฯ

“ประเทศไทยดำเนินการควบคุมการบริโภคยาสูบได้ผลดี คนสูบบุหรี่มวนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทผู้ผลิตจำหน่ายบุหรี่คิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มุ่งตลาดที่เด็กและเยาวชนเป็นธุรกิจที่กินยาว ในปัจจุบันจะเห็นการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จะส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพของประชากรไทยในยุค “เด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัย” อย่างน่าเป็นห่วง จึงจำเป็นต้องมีนโยบายสาธารณะฯ เพื่อร่วมกันในการแก้ไขปัญหานี้กันอย่างจริงจัง” นพ.สุเทพ กล่าว

Advertisment

กระทรวงดีอี เผย 10 อันดับข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจหลงเชื่อมากที่สุดในสัปดาห์ล่าสุด

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 มิถุนายน 2567 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 เรื่อง “เปิดรับสมัครงาน ทำงานที่บ้าน รายได้ 450-3,300 บาท ต่อวัน/สัปดาห์ ผ่านเพจ กรมอาชีพฝีมือแรงงาน” รองลงมาคือเรื่อง “ทานวิตามินบีเป็นประจำก่อนนอน ช่วยป้องกันโรคหัวใจ” โดยขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม เลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หรืออาจทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สิน

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 6 มิถุนายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,203,865  ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 230 ข้อความ

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 182 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 37 ข้อความ ข้อความที่มาจาก Website จำนวน 9 ข้อความ และข้อความที่มาจาก Facebook 2 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 175 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 110 เรื่อง

ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 77 เรื่อง

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 39 เรื่อง

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 7 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 31 เรื่อง

กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 21 เรื่อง

นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รองลงมาเป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ และกลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชน มากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง  เปิดรับสมัครงาน ทำงานที่บ้าน รายได้ 450-3,300 บาท ต่อวัน/สัปดาห์ ผ่านเพจ กรมอาชีพฝีมือแรงงาน

อันดับที่ 2 : เรื่อง ทานวิตามินบีเป็นประจำก่อนนอน ช่วยป้องกันโรคหัวใจ

อันดับที่ 3 : เรื่อง เพจ Thailand International Airport Center เปิดรับสมัครงาน รายได้ 10,000 บาท/สัปดาห์

อันดับที่ 4 : เรื่อง เปลี่ยนมิเตอร์ดิจิทัล ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทันที

อันดับที่ 5 : เรื่อง คันตามผิวหนังเพราะมีก๊าซเน่าเสียในลำไส้ กระตุ้นเซลล์ในร่างกายให้หลั่งฮิสตามีน

อันดับที่ 6 : เรื่อง รับสมัครคนพับถุงกระดาษ รายได้ 500-2,500 บาทต่อวัน/สัปดาห์

อันดับที่ 7 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานรับสมัคร Part time พับถุงกาแฟ

อันดับที่ 8 : เรื่อง 9 สัญญาณเตือนโรคไทรอยด์เป็นพิษ

อันดับที่ 9 : เรื่อง  กินวิตามินซีพร้อมกุ้ง ทำให้ตายเฉียบพลันจากสารหนู

อันดับที่ 10 : เรื่อง ความชื้นในอากาศสูง ทำให้ร่างกายผู้ป่วยระบายลมออกจากรูขุมขนยาก

“จาก 10 อันดับ พบข่าวเกี่ยวกับด้านสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง ถึง 5 อันดับ และรองลงคือ เรื่องการรับสมัครงาน โดยส่วนใหญ่รูปแบบของการแนะนำด้านสุขภาพที่ผิด ซึ่งทำให้เกิดความกังวลในการใช้ชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันข่าวการหลอกลวงสร้างอาชีพ หารายได้เสริม ทำให้ประชาชนส่วนมากหลงเชื่อ และสร้างความเข้าใจผิด จึงคาดว่าอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าถึงความสนใจของผู้รับข่าวสาร ซึ่งอาจเป็นช่องทางในการก่ออาชญากรรมของมิจฉาชีพออนไลน์ นำไปสู่ความเสียหายที่เป็นผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว

“อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด โดยสามารถตรวจสอบ ติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่

ไลน์ @antifakenewscenter

เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/

ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand

และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ตลอด 24 ชั่วโมง”

Advertisment

สธ.เดินหน้าโครงการ “พาหมอไปหาประชาชน” เฉลิมพระเกียรติในหลวง ให้ ปชช.ในพื้นที่ห่างไกล ตรวจรักษาโรคได้รวดเร็ว

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 7 มิถุนายน 2567 “เกณิกา” เผย รัฐบาล โดย สธ.เดินหน้าโครงการ “พาหมอไปหาประชาชน” เฉลิมพระเกียรติในหลวง ให้ ปชช.ในพื้นที่ห่างไกล ตรวจรักษาโรคได้รวดเร็ว

วันนี้ (7 มิถุนายน 2567) น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการโครงการพาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้จัดโครงการในหลายจังหวัด เช่น ชัยนาท,ปราจีนบุรี,สุรินทร์,ศรีษะเกษ,พะเยา และอีกหลายจังหวัด

น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า โครงการพาหมอไปหาประชาชน ได้ให้บริการตรวจคัดกรองโรคเฉพาะทางและโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญในพื้นที่ให้ประชาชน โดยภาพรวมดำเนินการไปแล้ว 64 ครั้ง ใน 56 จังหวัด ประชาชนได้รับบริการกว่า 6.3 แสนราย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีแผนดำเนินการในวันหยุดทุกสัปดาห์ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2567 เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ได้รับการตรวจรักษาโรคในระยะเริ่มต้นอย่างทันท่วงที ลดการป่วยและการเสียชีวิต

น.ส.เกณิกา ยังกล่าวต่อว่า โครงการนี้จะให้บริการตรวจคัดกรองรักษาประชาชนกลุ่มเสี่ยงในโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ในพื้นที่ห่างไกลโดยหน่วยแพทย์เฉพาะทางจิตอาสา ให้บริการอย่างน้อย 7 คลินิก ได้แก่

1.คลินิกคัดกรองมะเร็งตับ และมะเร็งท่อน้ำดี

2.คลินิกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

3.คลินิกคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง

4.คลินิกคัดกรองมะเร็งเต้านม

5.คลินิกตาในเด็กและผู้สูงอายุ

6.คลินิกทันตกรรม

7.คลินิกกระดูกและข้อ และจัดบริการคลินิกด้านอื่นๆ เพิ่มเติมตามบริบทปัญหาของแต่ละพื้นที่

“โครงการพาหมอไปหาประชาชน เป็นโครงการที่สำคัญและเป็นประโยชน์ สามารถช่วยให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้จำนวนมาก โดยรัฐบาลเชื่อมั่นว่า การขับเคลื่อนโครงการนี้ จะช่วยยกระดับการแพทย์และการสาธารณสุข พร้อมเพิ่มการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ห่างไกล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน”

Advertisment

รองโฆษก รบ. แนะทำใบขับขี่ใหม่ จองคิวผ่านแอป DLT สะดวก เตือนอย่าหลงเชื่อเพจปลอมหลอกทำใบขับขี่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 6 มิถุนายน 2567 “เกณิกา” เผย กรมการขนส่งทางบก แนะทำใบขับขี่ใหม่ จองคิวผ่านแอป DLT สะดวก เตือนอย่าหลงเชื่อเพจปลอมหลอกทำใบขับขี่

วันนี้ (6 มิ.ย. 67)  น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กระทรวงคมนาคม นำโดย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับการขอรับใบขับขี่ใหม่ที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยผู้ขับขี่สามารถจองคิวล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue โดยเลือกสำนักงานขนส่ง วันและเวลาที่สะดวก เพื่อเข้าตรวจสอบเอกสาร รับการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย การอบรม การทดสอบข้อเขียน และการทดสอบขับรถได้ที่สำนักงานขนส่ง

โดยเตรียมเอกสาร ดังนี้ 1) บัตรประชาชนตัวจริง 2) ใบรับรองแพทย์ ซึ่งมีอัตราค่าธรรมเนียมการทำใบขับขี่ใหม่ตามกฎหมายกำหนด (รวมค่าคำขอ) ใบขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว 205 บาท ใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว 105 บาท สำหรับผู้ที่ฝึกหัดขับรถด้วยตนเองสามารถศึกษาผ่าน e-Book คู่มือการอบรมใบอนุญาตขับรถและฝึกทำข้อสอบได้ที่ www.safedrivedlt.com หรือ www.ขับขี่ปลอดภัย.com กรณีผู้ขับขี่ที่เรียนกับโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) รับรอง ผู้ขับขี่จะได้เรียนรู้ทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัยโดยครูผู้สอนที่ได้รับการรับรอง พร้อมทั้งดำเนินการอบรม ทดสอบข้อเขียน ทดสอบขับรถ ณ โรงเรียนสอนขับรถได้เลย และเมื่อผ่านการทดสอบแล้วจะได้รับหนังสือรับรองเพื่อนำไปยื่นและถ่ายรูปเพื่อออกใบอนุญาตขับรถที่สำนักงานขนส่ง

“รัฐบาลขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อเพจมิจฉาชีพแอบอ้างรับทำใบขับขี่ อย่าโอนเงินหรือส่งเอกสารส่วนบุคคลให้เด็ดขาด โดยพฤติกรรมของกลุ่มมิจฉาชีพจะนำรูปตราสัญลักษณ์กรมการขนส่งทางบกมาใส่ในรูปโปรไฟล์ หรือนำรูปภาพของผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่มาแอบอ้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยจะโฆษณาหลอกลวงว่า ทำใบขับขี่ สำหรับคนที่ไม่มีเวลาไปอบรม ไม่มีเวลาสอบจะดำเนินการให้ทั้งหมด สามารถออกใบขับขี่โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานขนส่ง”

น.ส.เกณิกา กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมการขนส่งทางบกขอแจ้งว่า การดำเนินการธุรกรรมด้านใบอนุญาตขับรถต้องดำเนินการด้วยตนเองที่สำนักงานขนส่งเท่านั้น และเตือนประชาชนอย่าโพสต์รูปใบขับขี่ลงสื่อโซเชียลต่าง ๆ เพราะอาจถูกนำรูปภาพไปโพสต์หลอกลวงได้ หากมีข้อสงสัยในการรับบริการทำธุรกรรมกับ ขบ. สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วน โทร. 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง

Advertisment

“สมศักดิ์” ห่วงฤดูฝน “โควิด-หวัดใหญ่” ระบาด-ป่วยเพิ่ม ใช้ “พลังชุมชน” ปราบไข้เลือดออก-มาลาเรีย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 6 มิถุนายน 2567 “สมศักดิ์” ห่วงฤดูฝน “โควิด-หวัดใหญ่” ป่วยเพิ่ม ใช้ “พลังชุมชน” ปราบไข้เลือดออก-มาลาเรียพร้อมไฟเขียว 3 กฎหมายลูก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุม คกก.โรคติดต่อฯ เห็นชอบ 3 อนุบัญญัติ กำหนดให้เจ้าของ-ผู้ควบคุมยานพาหนะ-ผู้เดินทาง-ผู้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานฯ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ ห่วงหลายโรคระบาดช่วงฤดูฝน “โควิด” คาดสูงสุดช่วงมิถุนายน – กรกฎาคม “ไข้หวัดใหญ่” ส่วนใหญ่ระบาดในเรือนจำ โรงเรียนและสถานปฏิบัติธรรม ใช้ “พลังชุมชน” ปราบไข้เลือดออก-มาลาเรีย พร้อมรับทราบ 4 แนวทางยุติวัณโรคเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

วันนี้ (6 มิถุนายน 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายสมศักดิ์กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างอนุบัญญัติ 3 ฉบับ ที่ออกตามความใน พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้แก่ 1.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ค่าใช้จ่ายสำหรับเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะ กรณีผู้เดินทางมากับพาหนะที่เข้ามาในราชอาณาจักรจากท้องที่หรือเมืองท่าที่เป็นเขตติดโรค พ.ศ. … 2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้เดินทาง กรณีผู้เดินทางซึ่งเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาด หรือเป็นพาหะนำโรค พ.ศ. … และ 3.ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแทนของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ในกรณีที่ผู้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อละเลยไม่ดำเนินการตามคำสั่งภายในเวลาที่กำหนด พ.ศ. … ซึ่งทั้งหมดเป็นการกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมยานพาหนะ ผู้เดินทาง หรือผู้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามจริงในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญ คือ 1.โรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคโควิด 19 ซึ่งมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น คาดว่าสูงสุดในช่วงมิถุนายน – กรกฎาคม แต่อัตราการเสียชีวิตน้อยมาก เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันในระดับประชากรร่วมกับเชื้อเป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง และโรงพยาบาลมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยได้ดี ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ พบมากในกลุ่มเด็กเล็ก 0 – 4 ปี และเด็กวัยเรียน 5 – 14 ปี ส่วนใหญ่ระบาดในเรือนจำ โรงเรียนและสถานปฏิบัติธรรม 2. โรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ได้แก่ โรคหัดและโรคไอกรนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ระบาดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ขอให้ผู้ปกครองตรวจสอบประวัติวัคซีนเด็ก หากได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด ควรเข้ารับวัคซีนที่สถานพยาบาลใกล้บ้านและรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล

3.โรคติดต่อนำโดยแมลง ได้แก่ โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 29 พฤษภาคม 2567 พบผู้ป่วยสะสม 29,554 ราย เสียชีวิต 36 ราย จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยเรียน 5 – 14 ปี ส่วนโรคไข้มาลาเรีย พบผู้ป่วยสะสม 4,498 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่แนวชายแดนไทย-เมียนมา มากสุดที่จังหวัดตากและแม่ฮ่องสอน จึงยกระดับมาตรการควบคุมโรคโดยเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างบริการปฐมภูมิกับภาคีเครือข่าย โดยอาศัย “พลังชุมชน” และ 3 กิจกรรมสำคัญ คือ การกำจัดพาหะ, การวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว และการควบคุมโรคอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ดำเนินการในอำเภอที่มีอัตราป่วยไข้เลือดออกสูงต่อเนื่อง และ 10 จังหวัดที่มีโรคไข้มาลาเรียสูง และ 4.วัณโรค พบเสียชีวิต 13,700 ราย มีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรักษา 72,274 ราย อัตราความสำเร็จการรักษาร้อยละ 85 ได้กำหนดมาตรการสำคัญ คือ 1) ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง 2) วินิจฉัยให้พบโดยเร็วด้วยวิธีมาตรฐาน 3) ติดตามผู้ป่วยวัณโรคจนการรักษาสำเร็จมากกว่าร้อยละ 90 และ 4) ให้ยารักษาการติดเชื้อวัณโรค เพื่อยุติวัณโรคและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

นอกจากนี้ ยังรับทราบความก้าวหน้าการผลักดันการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ภายในปี 2568 ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ซึ่งกรมควบคุมโรค ร่วมกับ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานผ่านกลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ในปี 2567 ผลักดันให้มีการรับรองพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าระดับอำเภอ 163 อำเภอ ท้องถิ่น 1,136 แห่ง ใน 73 อำเภอ โดยจะมีแผนทำให้ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในจังหวัดท่องเที่ยวต่อไป

Advertisment

ครม.รับทราบข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษารูปแบบ Fast Track สำหรับบุคคลที่มีสมรรถนะสูง

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 5 มิถุนายน 2567 ครม.รับทราบข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษารูปแบบ Fast Track สำหรับบุคคลที่มีสมรรถนะสูง

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. 4 มิถุนายน 2567 รับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษารูปแบบ Fast Track สำหรับบุคคลที่มีสมรรถนะสูง ของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ดังนี้ 1.ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษารูปแบบ Fast Track สำหรับบุคคลที่มีสมรรถนะสูง ได้แก่ 1) ควรมีหลักการในการจัดทำกรอบคุณวุฒิทางการศึกษาโดยกำหนดให้สมรรถนะเป็นผลลัพธ์ของการเรียนรู้ (Learning Outcomes) 2) ควรส่งเสริมสนับสนุนให้มีแพลตฟอร์มสำหรับผู้มีสมรรถนะสูงและคนไทยทุกระดับให้เข้ารับการพัฒนาและเทียบระดับสมรรถนะ โดยมีการออกแบบเพื่อให้คนไทย Up-Skill และ Re-Skill ได้ทุกที่ทุกเวลา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต 2.ข้อเสนอเชิงนโยบายการเทียบระดับการศึกษา จัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ (Online) เพื่อแก้ไขสภาพปัญหาในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อส่งเสริมให้ผู้มีสมรรถนะสูงสามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้อย่างต่อเนื่องทุกที่ทุกเวลา

นายคารม กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เรื่อง ข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษารูปแบบ Fast Track สำหรับบุคคลที่มีสมรรถนะ พร้อมทั้งข้อเสนอแนะ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาศึกษาการดำเนินงานประเมินเทียบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของผู้เรียนการศึกษานอกโรงเรียน และการเทียบประสบการณ์บุคคลที่มีสมรรถนะสูงสู่การศึกษาระบบ Fast Track ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้ว สรุปผลการพิจารณาว่า กรอบคุณวุฒิแห่งชาติครอบคลุมกรอบคุณวุฒิการศึกษาที่เน้นการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ตามสมรรถนะของบุคคลทั้งคุณวุฒิทางการศึกษา และมาตรฐานอาชีพ และกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการจัดทำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (ฉบับปรับปรุง) เพื่อใช้เป็นกลไกในการเชื่อมโยงระบบการเรียนรู้ของภาคการศึกษาให้ยึดโยงกับมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ตลาดแรงงานยอมรับ และได้จัดแผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาวิชาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พ.ศ.2562 – 2565 เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาความร่วมมือกับกลุ่มอุตสาหกรรมอันจะนำไปสู่การจัดทำหลักสูตรฐานสมรรถนะที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพ รวมถึงได้ทดลองนำร่องจัดตั้งธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัดใน 4 ภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อสร้างระบบการสะสมและการเทียบโอนหน่วยการเรียนทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบให้มีความยืดหยุ่นหลากหลายในช่วงวัยเรียน และวัยทำงาน โดยจะมีการพัฒนาแพลตฟอร์มรองรับได้อย่างสะดวก และง่ายต่อการดำเนินการ

Advertisment

รัฐบาลเผยแก้หนี้นอกระบบ แล้วเสร็จทั่วประเทศ 150,015 ราย มูลหนี้ลด 1,202 ล้านบาท

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 2 มิถุนายน 2567 รัฐบาลเผยผลสำเร็จแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ แล้วเสร็จทั่วประเทศ จำนวน 150,015 ราย มูลหนี้ลดลง 1,202 ล้านบาท นายกฯ กำชับทุกภาคส่วนเดินหน้าแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะสิ้นสุดโครงการ

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการดำเนินการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ แล้วเสร็จทั่วประเทศ จำนวน 150,015 ราย มูลหนี้ลดลง 1,202 ล้านบาท โดยยังคงเหลืออีก 3,385 ราย ที่อยู่ระหว่างการดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ย ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยยังคงเดินหน้าให้ทุกจังหวัดไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบให้แล้วเสร็จ ถึงแม้จะครบกำหนดให้ประชาชนลงทะเบียนหนี้นอกระบบ

นายคารม กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาล โดยกระทรวงมหาดไทยดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการจัดระเบียบสังคม และปราบปรามผู้มีอิทธิพลให้ครอบคลุมประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปัญหาหนี้นอกระบบ” ที่ต้องดำเนินการเชิงรุก ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับให้กลไกกระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ทุกจังหวัดดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบครอบคลุมทั้งระบบ ภายใต้การดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ รวมถึงสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งบูรณาการกับทุกภาคส่วน อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบตามนโยบายของรัฐบาล ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนให้สำเร็จ เพราะคนเป็นหนี้นอกระบบต้องเผชิญกับการชำระดอกเบี้ยสูงมากและเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

”นายกรัฐมนตรีชื่นชมเจ้าหน้าที่ทุกภาคที่ร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับพี่น้องประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีการดำเนินการอย่างจริงจัง แต่ยังคงมีพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออีกเป็นจำนวนมาก นายกฯ กำชับทุกภาคส่วนดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน หลุดพ้นจากการเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสารของปัญหาผู้มีรายได้น้อย“ นายคารม ระบุ

Advertisment

นายกฯ ร่วมขบวนสมรสเท่าเทียม โบกสะบัดธงสีรุ้ง Bangkok Pride 2024 จัดยิ่งใหญ่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 มิถุนายน 2567 นายกฯ ร่วมขบวนสมรสเท่าเทียม โบกสะบัดธงสีรุ้ง Bangkok Pride 2024 จัดยิ่งใหญ่ ย้ำรัฐบาลพร้อมผลักดัน พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ให้เกิดผลสำเร็จ

วันนี้ (1 มิถุนายน 2567) เวลา 14.50 น. ณ สนามกีฬาแห่งชาติ ถนนพระราม 1 เขตปทุมวัน  กรุงเทพมหานคร นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ร่วมขบวน “บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024” (Bangkok Pride Festival 2024) ภายใต้แนวคิด “Celebration of Love เฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียม” จัดยิ่งใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรุงเทพมหานคร พันธมิตรภาคประชาสังคม และภาคเอกชนที่พร้อมใจกันเนรมิต ถนนพระราม 1 เป็นถนนสีรุ้งแห่งความเท่าเทียมใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางสาวเเพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะทำงานบางกอกไพรด์ พร้อมด้วยผู้ร่วมงานจากหลากหลายภาคส่วนกว่า 170,000 คน ทั้งหน่วยงานราชการ องค์กรภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ผู้สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายพันธมิตรสีรุ้ง สื่อมวลชน ตลอดจนเหล่าศิลปินดารา นักแสดงที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย เข้าร่วมขบวน Bangkok Pride Festival 2024 ครั้งนี้ด้วย

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในโอกาสที่นายกฯ ร่วมขบวน “บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024” นายกฯ ได้กล่าวทักทายชาว LGBTQIAN+ พร้อมกล่าวสนับสนุนงานต่างจังหวัดและเฉลิมฉลองสมรสเท่าเทียมทั่วประเทศว่า เดือนมิถุนายนเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองสิทธิเสรีภาพของความเสมอภาคเท่าเทียม และสิทธิเสรีภาพในการที่จะมีโอกาสได้เลือก ซึ่งเดือนมิถุนายนนี้จะมีการเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ทั้งเดือน วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการที่ทุกคนมารวมตัวกันในครั้งนี้ และจะมีการเริ่มต้นการเดินพาเหรด โดยมีขบวนพาเหรด 5 ขบวน และยังมีวงสนทนาอีกมาก เพื่อจะมาพูดคุยในเรื่องที่เราจะต้องทำกัน รัฐบาลรวมถึงภาคประชาชนจะเดินหน้าไปด้วยกัน ผลักดัน พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมให้สำเร็จ รวมทั้งคำนำหน้าชื่อ Sex Worker ด้วย

พร้อมกันนี้ นายกฯ ได้มอบธงสัญลักษณ์ Pride Month ให้กับเครือข่ายต่างจังหวัด จำนวน 19 เครือข่าย สัญลักษณ์การเปิดเทศกาลเฉลิมฉลองเดือนไพรด์ให้กับเครือข่ายต่างจังหวัด เพื่อปักหมุดไพรด์ทั่วประเทศ

จากนั้นนายกฯ ได้ร่วมขบวน “บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024” (Bangkok Pride Festival 2024) โดยนายกฯ ได้อยู่ในขบวนที่ 1 สมรสเท่าเทียม (Love Wins) และได้ขึ้นเวทีโบกมือทักทายขบวนสมรสเท่าเทียมด้วย ทั้งนี้ ขบวน Bangkok Pride Festival 2024 ครั้งนี้ประกอบด้วย 5 ขบวนหลัก ได้แก่ ขบวนที่ 1 สมรสเท่าเทียม (Love Wins) ขบวนที่ 2 ตัวตน (Love for Identity) ขบวนที่ 3 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Love for Dignity) ขบวนที่ 4 สันติภาพ (Love for Peace & Earth) และขบวนที่ 5 เสรีภาพ (Love for Freedom) โดยขบวน Bangkok Pride 2024 เริ่มจากสนามกีฬาแห่งชาติผ่านเส้นทางพระราม 1 – ศูนย์การค้าเอ็มบีเค – ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ – ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ – ศูนย์การค้าสยามพารากอน – วัดปทุมวนารามวรวิหาร – แยกราชประสงค์ – เวทีเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจบริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยตลอดเส้นทางขบวน “บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024” เหล่าภาคีเครือข่ายกลุ่มต่าง ๆ ได้ร่วมกันแสดงพลัง LGBTQIAN+ สร้างสีสันโบกสะบัดธงสีรุ้งยาวที่สุดในประเทศไทย 200 เมตร โบกสะบัดตั้งแต่สนามกีฬาเทพหัสดิน ลานหน้าอาคารกีฬานิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ ทอดยาวบนถนนพระราม 1 ตลอดทั้งเส้น มุ่งหน้าสู่แยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์ รวมระยะทางกว่า 2.5 กิโลเมตร

Advertisment

รัฐบาลสนับสนุนงาน Pride Month ตั้งเป้าสังคมไทยเป็นสังคมเท่าเทียม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 มิถุนายน 2567 ทำเนียบ – รัฐบาลพร้อมสนับสนุนทุกความหลากหลาย ผนึกกำลังภาครัฐ-เอกชนฉลอง Pride Month ตั้งเป้าให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความเท่าเทียม

น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปีจะมีการจัดงานของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ เทศกาลไพรด์ หรือ Pride Month ซึ่งเป็นเทศกาลที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะมาร่วมเฉลิมฉลอง และเป็นแรงผลักดันให้เกิดความเสมอภาคของชาว LQBTQ+ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ภายใต้การดูแลของนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะร่วมมือกับเอกชนจัดงานในหลายพื้นที่ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวทั่วประเทศ

“รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้แถลงนโยบายต่อสภาฯ ว่าจะผลักดันกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศ หลังจากนั้นรัฐบาลมีความมุ่งมั่นในการผลักดันกฎหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายให้สังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเปิดรับความหลากหลาย เท่าเทียม โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ศาสนา สัญชาติ หรือสถานะทางสังคม และพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มจากทั่วโลกในฐานะศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล Pride Month” น.ส.เกณิกา กล่าว

น.ส.เกณิกา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าการจัดงานเฉลิมฉลอง Pride Month 2024 นอกจากจะสนับสนุนการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะทำให้ทั่วโลกเห็นว่าประเทศไทยมีความเท่าเทียม และเราพร้อมที่จะตอบรับทุกความหลากหลายด้วยความเสมอภาค ทั้งนี้ ทาง ททท.คาดว่าการสนับสนุนการจัดงานดังกล่าวจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 860,000 คน และสร้างเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

Advertisement

Verified by ExactMetrics