วันที่ 20 เมษายน 2025

“ประยุทธ์” ปลื้มไทยเป็นเจ้าภาพกรีฑาระดับโลก 3 งาน

People Unity News : 3 ธันวาคม 2565 นายกฯ เปิดการประชุมสัมมนากรีฑาโลก ขอบคุณไว้วางใจไทยให้เป็นเจ้าภาพกรีฑาระดับโลก 3 งาน ย้ำรัฐบาลส่งเสริมกิจกรรมทางการท่องเที่ยวเชิงกีฬา หวังสร้างความประทับใจ พร้อมช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนากรีฑาโลก WORLD ATHLETICS GLOBAL RUNNING CONFERENCE 2022 โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอำนวยการจัดงาน เข้าร่วม

พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า ยินดีที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุมสัมมนาของวงการกรีฑาโลกและการจัดการแข่งขันมาราธอนระดับโลก ที่รัฐบาลไทยร่วมเป็นเจ้าภาพ รายการ Amazing Thailand Marathon Bangkok 2022 โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้หารือกับภาคธุรกิจกลุ่มต่างๆ เพื่อที่จะร่วมกันหาวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาเข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาแข็งแกร่งและขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจึงถือเป็นนโยบายสำคัญ การส่งเสริมกิจกรรมทางการท่องเที่ยวเชิงกีฬาก็เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้ดำเนินการ

นายกรัฐมนตรีขอบคุณสมาคมกรีฑาโลกที่เชื่อมั่นและให้ความไว้วางใจให้ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพการจัดงานกรีฑาระดับโลก จำนวน 3 งาน ในปีนี้ ได้แก่ การแข่งขันกีฬาวิ่งเทรลภูเขาชิงแชมป์โลก ครั้งที่ 1 ณ ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้จัดไปแล้วเมื่อวันที่ 3-6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งหลายภาคส่วนชื่นชมถึงความสำเร็จและสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 450 ล้านบาท, การประชุมสัมมนากรีฑาโลก ประจำปี 2565 และการแข่งขันวิ่งมาราธอนส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก รายการ “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาคมกรีฑาโลกด้วยดีมาโดยตลอด จนปัจจุบันถือว่าเป็น 1 ใน 5 ของมาราธอนในเมืองหลวง ที่จัดได้ดีที่สุดในทวีปเอเชีย มีนักวิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมมากกว่า 25,000 คน แต่ในครั้งหน้าอยากให้มากถึง 50,000 คน

ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกที่ได้มาตรฐานสากลของคณะผู้จัดงาน ประกอบกับความพร้อมทางด้านสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อีกทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สวยงามของประเทศไทย ตนหวังว่าจะสร้างความสุขและความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนด้วยรอยยิ้ม อีกทั้งจะสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นจำนวนมาก

“ขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมทุกท่านที่ช่วยกันผลักดันให้เกิดกิจกรรมดีๆ เหล่านี้ขึ้น และขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสนับสนุนให้รายการนี้ดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าอะเมซิ่งไทยแลนด์ มาราธอน จะเป็นมาราธอนหลัก 1 ใน 5 ของทวีปเอเชียได้ ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนและจะผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนไปสู่โลกแห่งความยั่งยืน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วงหนึ่ง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนพูดเป็นภาษาไทย ไม่แน่ใจว่าจะมีผู้แปลให้ผู้เข้าร่วมงานต่างชาติหรือไม่ ถ้าแปลไม่ออก ขอให้มองหน้าตน จะได้รู้ว่าตนจริงจังจริงใจกับทุกคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเริ่มงาน เมื่อนายกฯ มาถึง ตัวแทนกลุ่มนักเรียนเลวได้ตะโกนว่า “ลุงตู่ 8 ปีรีบออกไปได้แล้วนะคะ ออกได้แล้วค่ะ” แต่นายกฯ ไม่ได้ยิน และคาดว่าคงจำไม่ได้ จึงโบกมือทักทาย

อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้จัดชุดเจ้าหน้าที่หญิงจากกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กองร้อยน้ำหวาน) เข้ามาคอยดูสถานการณ์บริเวณด้านหน้าทางเข้างาน เพื่อกันไม่ให้กลุ่มนักเรียนเลวดังกล่าวเข้าถึงตัวนายกฯ  โดยไม่มีสถานการณ์รุนแรงแต่อย่างใด ทั้งนี้ ภายหลังเดินชมนิทรรศการเสร็จสิ้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เปลี่ยนเส้นทางเดินทางกลับ เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า

Advertisement

ยอดผลิตรถยนต์ในประเทศเดือน ต.ค. 170,717 คัน เพิ่มขึ้น 10.83% ส่งออกเพิ่ม 15.51%

People Unity News : 24 พฤศจิกายน 2565 เดือนตุลาคม 2565 ผลิตรถยนต์ 170,717 คัน เพิ่มขึ้น 10.83% ส่งออกเพิ่ม 15.51% ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV ยังพุ่งต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมปีที่แล้ว 288.89%

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมแถลงข่าวจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์ของเดือนตุลาคม 2565 จำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ มีทั้งสิ้น 170,717 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 10.83 จากการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.75 เพราะได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นในรถยนต์นั่งบางรุ่น ทำให้ผลิตเพื่อส่งออกมีสัดส่วนถึงร้อยละ 57.13 ของยอดผลิตทั้งหมด และผลิตเพื่อขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 12.31 แต่ลดลงจากเดือนกันยายน 2565 ร้อยละ 4.75

โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,534,754 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 ร้อยละ 12.36

ส่วนการผลิตเพื่อส่งออก ผลิตได้ 97,832 คัน มีสัดส่วนร้อยละ 57.31 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 9.75 ส่วนเดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 844,206 คัน เท่ากับร้อยละ 55.01 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ระยะเวลาเดียวกัน ร้อยละ 7.02

การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ จำนวน 72,885 คัน มีสัดส่วนร้อยละ 42.69 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 12.31 และเดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 ผลิตได้ 690,548 คัน เท่ากับร้อยละ 44.99 ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 ร้อยละ 19.65

ส่วนยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 64,618 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 0.24 เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ จากการผ่อนปรนให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติเข้าประเทศสะดวกขึ้น ทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ คนมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน การส่งออกยังคงเติบโต การประกันรายได้เกษตรกร การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการออกรถยนต์รุ่นใหม่ แต่ลดลงจากเดือนกันยายน 2565 ร้อยละ 12.86

การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป จำนวน 94,228 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 15.51 เพิ่มขึ้นจากการส่งออกรถยนต์นั่ง รถ PPV และรถกระบะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.64 62.20 และ 10.17 ตามลำดับ จากการได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นในรถยนต์นั่งและรถ PPV บางรุ่น จึงส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และตลาดแอฟริกา แต่ลดลงจากเดือนกันยายน 2565 ร้อยละ 6.14 และมีมูลค่าการส่งออก 84,917.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2565 ร้อยละ 18.91

รวมมูลค่าส่งออกรถยนต์เดือนตุลาคม 2565 เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 84,917.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 18.91

ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือนตุลาคม 2565 จดทะเบียนใหม่ 1,960 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 288.89 ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสม 15,258 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 ร้อยละ 230.62

ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท HEV เดือนตุลาคม 2565 จดทะเบียนใหม่ จำนวน 5,036 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 121.65

เดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (HEV) จดทะเบียนใหม่สะสม จำนวน 54,847 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ร้อยละ 78.36

เดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (PHEV) จดทะเบียนใหม่สะสม จำนวน 9,691 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 ร้อยละ 65.35

Advertisement

ปลื้ม คนล้นหลามแห่ร่วมงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้” กรุงเทพฯ

People Unity News : 7 พฤศจิกายน 2565 ปลื้ม คนล้นหลามแห่ร่วมงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้” กรุงเทพฯ ออมสินเจ้าภาพเผย จัดงาน 3 วัน ช่วยลูกค้าได้มากกว่า 15,000 ราย เตรียมยกทัพสัญจรอีก 4 ครั้ง พบกันที่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี และสงขลา

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยผลสำเร็จของการจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1” ตามที่กระทรวงการคลังมอบหมายธนาคารออมสินเป็นเจ้าภาพจัดงาน เมื่อวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2565 ณ อิมแพค ฮอลล์ 5 เมืองทองธานี โดยตลอดระยะเวลา 3 วัน มีประชาชนหลั่งไหลเข้าร่วมงานจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้เดิมของสถาบันการเงินของรัฐ ที่ประสงค์เจรจาขอแก้ไขหนี้จากการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และที่ต้องการสินเชื่อเพื่อเพิ่มเติมทุน และเพิ่มสภาพคล่องในการดำรงชีพหรือประกอบธุรกิจ นอกนั้นเป็นผู้มาขอปรึกษาหาแนวทางแก้ปัญหาหนี้สิน ออมเงิน และมองหาโอกาสสร้างอาชีพสร้างรายได้ รวมแล้วมีประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือตลอดช่วงงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ จำนวนไม่ต่ำกว่า 15,000 ราย

ทั้งนี้ ส่วนของความช่วยเหลือจากธนาคารออมสิน มีลูกหนี้ที่เข้าร่วมเจรจาแก้ไขหนี้กับธนาคาร เป็นจำนวนมากกว่า 1 พันราย และเป็นผู้มายื่นขอสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษเพื่อเติมเงินทุนหรือเพิ่มสภาพคล่อง จำนวนกว่า 800 ราย โดยตลอดงานทั้ง 3 วัน มีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมที่บูธธนาคารออมสินมากกว่า 5,000 ราย

จากผลสำเร็จของการจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1” สัญจร กรุงเทพฯ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (GFA) เตรียมเดินหน้าจัดงานครั้งต่อไปใน 4 ภูมิภาค ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. รับหน้าที่เจ้าภาพจัดงานครั้งที่ 2 ณ จังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 18–20 พฤศจิกายน 2565 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น ครั้งที่ 3 กำหนดจัดวันที่ 16–18 ธันวาคม 2565 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 4 

วันที่ 20–22 มกราคม 2566 ที่จังหวัดชลบุรี และครั้งสุดท้ายจัดขึ้นที่จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 27-29 มกราคม 2566 จึงขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ต่างๆ สามารถลงทะเบียนเพื่อเข้ารับความช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้ ตามกำหนดการจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจรแต่ละภูมิภาค ได้ที่ https://ln15.gsb.or.th/WEB-DEBT/

Advertisement

สถานการณ์จ้างงานดีต่อเนื่อง ว่างงานไตรมาส 3/65 ลดเหลือ 4.91 แสนคน

People Unity News : 5 พฤศจิกายน 2565 นายกฯ พอใจสถานการณ์จ้างงานดีต่อเนื่อง ขณะการว่างงานไตรมาส 3/65 ลดลงเหลือ 4.91 แสนคน ด้านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจัดตลาดนัดแรงงานดึงผู้ประกอบการออกบูธเปิดรับสมัครงานกว่า 1,500 ตำแหน่ง รับอุตสาหกรรมการบิน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ถึงภาวะการมีงานทำของคนไทยประจำไตรมาสที่ 3/65 (ก.ค.-ก.ย.65) ซึ่งในภาพรวมสถานการณ์เป็นที่น่าพอใจ โดยประชาชนมีงานทำมากขึ้น ว่างงานลดลง เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่มุ่งออกนโยบายเพื่อรักษาการมีงานทำของประชาชนตลอดระยะเวลาที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด19

ทั้งนี้ไตรมาสที่ 3/65 ประเทศไทยมีประชากรผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 58.66 ล้านคน อยู่ในกำลังแรงงานอยู่ 40.09 ล้านคน นอกกำลังแรงงาน เช่น ทำงานบ้าน เรียนหนังสือ เด็ก คนชรา ผู้ป่วย และผู้พิการ 18.57 ล้านคน ซึ่งในกลุ่มที่อยู่ในกำลังแรงงาน 40.9 ล้านคนนี้เป็นผู้มีงานทำ 39.57 ล้านคน เพิ่มจาก 39.01 ล้านคนในไตรมาสก่อนที่ 2/65 หรือเพิ่มขึ้น 5.6 แสนคน และเพิ่มขึ้น 8.2 แสนคนเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/64 ส่งผลให้การจ้างงานในภาพรวมขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในการจ้างงานนอกภาคเกษตร ร้อยละ 4.3 เช่น ภาคบริการ การค้า และการ ขณะที่ภาคเกษตรการจ้างงานลดลงร้อยละ 2.4 ซึ่งเป็นไปตามภาวะปกติที่แรงงานภาคเกษตรจะลดลงเมื่อมีการเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภาคบริการ การค้า และการผลิต

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในส่วนของจำนวนผู้ว่างงาน ณ ไตรมาสที่ 3/65 อยู่ที่ 4.91 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.2 ของผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน ลดลงจาก 5.46 แสนคน หรือร้อยละ 1.4 ในไตรมาสที่ 2/65 และจาก 9.11 แสนคน หรือ ร้อยละ 2.3 ในไตรมาสที่ 3/64 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานสูงสุดในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด19 ขณะที่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ซึ่งสะท้อนรายได้ของแรงงานที่จะเพิ่มขึ้นนั้นก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในภาคเอกชนที่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 46.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19

“นายกรัฐมนตรี พอใจกับสถานการณ์การมีงานทำของประชาชนที่ดีขึ้น กลับมาใกล้เคียงกับตอนก่อนการระบาดของโควิด 19 ซึ่งเป็นข้อมูลที่สะท้อนผลสำเร็จของนโยบายที่รัฐบาลมุ่งให้ความสำคัญกับการรักษาการจ้างงาน เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายมาตรการด้านสาธารณสุขจนผ่านพ้นวิกฤตและกำลังเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจในทุกมิติ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ทยอยเพิ่มการจ้างงานให้สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการบินที่ขณะนี้มีแนวโน้มค่อนข้างสดใสด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย. 65 นี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ก็ได้จัดโครงการ “ตลาดนัดแรงงาน ณ ทสภ.” ครั้งที่ 8 (Suvarnabhumi Airport Job Fair 2022) ซึ่งเป็นงานที่รวมบริษัทเอกชนซึ่งเป็นผู้ประกอบการในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประมาณ 30 บริษัท มาออกบูธเพื่อรับสมัครพนักงานรวมกว่า 1,500 อัตรา ในตำแหน่งต่างๆ อาทิ วิศวกรไฟฟ้า พนักงานบริการลูกค้าภาคพื้น พนักงานคลังสินค้า พนักงานตรวจค้นผู้โดยสาร พนักงานรักษาความปลอดภัย ช่างเทคนิค

สำหรับผู้สนใจสามารถไปร่วมงานได้ในเวลา 9.00-15.00 น. ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย. 65 ณ ณ ศูนย์การขนส่งสาธารณะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ส่วนชุมชนสัมพันธ์ ฝ่ายกิจการพิเศษและมวลชนสัมพันธ์ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หมายเลขโทรศัพท์ 0 – 2132 – 9084 , 0 – 2132 – 9093

Advertisement

ธอส.จัดเต็มช่วยเหลือ ปชช. ในงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1”

People Unity News : 3 พฤศจิกายน 2565 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ร่วมงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ” พบกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากมาย นำโดย 3 มาตรการช่วยเหลือลูกค้าธนาคาร ได้แก่ มาตรการ 22 [M22] : สำหรับลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL หรือ ลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการ/ปรับโครงสร้างหนี้ที่กู้เงินมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ให้ผ่อนชำระเงินงวดต่ำพร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษระยะเวลา 2 ปี เดือนที่ 1-10 ผ่อนชำระเพียงงวดละ 1,000 บาท ดอกเบี้ย 0% ต่อปี (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) สินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำปีแรก 2.75% ต่อปี สลากออมทรัพย์ ธอส. ลุ้นรางวัลสูงสุดถึง 2 ล้านบาท และบ้านมือสองคุณภาพดีกว่า 1,000 รายการ ราคาขายต่ำสุดเพียง 45,000 บาท พร้อมรับสิทธิ์ผ่อนดาวน์ 0% นานสูงสุดถึง 36 เดือน ระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2565 ณ อิมแพ็ค ฮอลล์ 5 เมืองทองธานี

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน ให้สามารถไกล่เกลี่ยหนี้กับสถาบันการเงินเพื่อให้กลับมาชำระหนี้ได้ตามความสามารถ รวมถึงให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูธุรกิจหลัง COVID-19 และเปลี่ยนหนี้นอกระบบเป็นหนี้ในระบบ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน พร้อมให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป จึงได้นำผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารเข้าร่วมงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ” ที่จัดโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ

โดยภายในงานจะได้พบกับมาตรการช่วยเหลือลูกค้าประชาชน และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่พิเศษสุดๆ ในงานนี้เท่านั้น ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1.มาตรการช่วยเหลือลูกค้าในปัจจุบันของธนาคารผ่าน 3 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการ 22 [M22] : สำหรับลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL หรือ ลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการ/ปรับโครงสร้างหนี้ ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ให้ผ่อนชำระเงินงวดต่ำพร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ ระยะเวลา 2 ปี แบ่งเป็น ในเดือนที่ 1-10 ผ่อนชำระเพียงงวดละ 1,000 บาท คิดดอกเบี้ยเท่ากับ 0% ต่อปี (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) ซึ่งถือเป็นการยกเว้นการคิดอัตราดอกเบี้ยนานที่สุดเท่าที่ธนาคารเคยออกมาตรการมา ขณะที่เดือนที่ 11-18 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย 1.99% ต่อปี และเดือนที่ 19-21 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย 3.90% ต่อปี เดือนที่ 22-24 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย MRR-2.00% ต่อปี ทั้งนี้ หากลูกค้าชำระเกินที่ธนาคารกำหนดจะนำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระของลูกค้า(ถ้ามี) 2.มาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ : คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย 3.90% ต่อปี นาน 6 เดือน จากนั้นให้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยเดิมที่เคยใช้อยู่ และ 3.มาตรการ 17 [M17] : สำหรับลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL หรือ ลูกค้ารายย่อยสถานะ NPL ที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการ/ปรับโครงสร้างหนี้ ให้ผ่อนชำระเงินงวดต่ำพร้อมลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ ระยะเวลา 1 ปี แบ่งเป็น เดือนที่ 1-3 ผ่อนชำระเพียงงวดละ 1,000 บาท คิดดอกเบี้ยเท่ากับ 0% ต่อปี (ตัดชำระเงินต้นทั้งหมด) เดือนที่ 4-6 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย 1.99% ต่อปี และเดือนที่ 7-12 คิดเงินงวดจากอัตราดอกเบี้ย 3.90% ต่อปี ทั้งนี้ หากลูกค้าชำระเกินที่ธนาคารกำหนดจะนำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระของลูกค้า(ถ้ามี) ซึ่ง ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565 มีลูกค้าลงทะเบียนยื่นความประสงค์เข้ามาตรการของ ธอส. ผ่านระบบของ ธปท. จำนวน 4,466 ราย เงินต้นคงเหลือ 6,421 ล้านบาท

2.สินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำ ปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ย MRR-3.40% (เท่ากับ 2.75%) ต่อปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.90% (เท่ากับ 3.25%) ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.40% (เท่ากับ 3.75%) ต่อปี เฉลี่ย 3 ปีแรกเพียง 3.25% (อัตราดอกเบี้ย MRR ของธนาคารปัจจุบันเท่ากับ 6.150% ต่อปี) ปีที่ 4-5 อัตราดอกเบี้ย MRR-2.15% (เท่ากับ 4%) ต่อปี ปีที่ 6-7 อัตราดอกเบี้ย MRR-1.50% (เท่ากับ 4.65%) ต่อปี ผ่อนชำระนานสูงสุดถึง 40 ปี กรณีวงเงินกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระเงินงวดเริ่มต้นปีแรกเพียง 3,800 บาท/เดือนเท่านั้น โดยให้กู้เพื่อรีไฟแนนซ์บ้านหรือห้องชุด(คอนโดมิเนียม)จากสถาบันการเงินอื่น หรือรีไฟแนนซ์ที่ดินเปล่าจากสถาบันการเงินอื่นพร้อมปลูกสร้าง หรือรีไฟแนนซ์บ้านจากสถาบันการเงินอื่นและปลูกสร้างหรือต่อเติม ขยาย หรือซ่อมแซมอาคาร หรือกู้เพื่อต่อเติม ขยาย หรือซ่อมแซมอาคาร ซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับการอยู่อาศัย ชำระหนี้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย และเพื่อชำระค่าเบี้ยประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ พิเศษ!! ธนาคารผ่อนปรนเงื่อนไขการกู้ ณ วันยื่นกู้ลูกค้ามีสถานะบัญชีปกติ ไม่มีหนี้ค้าง ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ยื่นคำขอกู้ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 – 28 กุมภาพันธ์ 2566 และทำนิติกรรมภายในวันที่ 30 เมษายน 2566

3.สลากออมทรัพย์ ธอส. ให้ผลตอบแทนดี โอกาสถูกรางวัลสูง นำโดย ชุดขาลเพิ่มพูน หน่วยละ 1,000 บาท ผลตอบแทนหน้าสลาก 0.30% ต่อปี และบวกผลตอบแทนผันแปรตามคุณภาพสินเชื่อโครงการ 0.70% ต่อปี รวมรับผลตอบแทนสูงสุด 1% ต่อปี (เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด) พร้อมโอกาสลุ้นรางวัลที่ 1 มูลค่ารางวัลละ 2 ล้านบาท และรางวัลเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว ชุดเกล็ดดาว พลัส หน่วยละ 5,000 บาทผลตอบแทนหน้าสลาก 0.65% ต่อปี และโอกาสลุ้นรางวัลที่ 1 มูลค่า 1 ล้านบาท พร้อมรางวัลเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว และรางวัลเลขสลับเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว และชุดต่อเงิน ต่อทอง หน่วยละ 10,000 บาท ผลตอบแทนหน้าสลาก 0.50% ต่อปี พร้อมโอกาสลุ้นรางวัลที่ 1 เป็นสลากชุดต่อเงิน ต่อทอง มูลค่า 1 ล้านบาท และรางวัลเลขท้าย 1 ตัว จองสิทธิ์ภายในงานและซื้อสลากระหว่างวันที่ 4-13 พฤศจิกายน 2565 ณ สาขาในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ พิเศษ!! รับฟรีกระเป๋าพับอเนกประสงค์ 1 ราย ต่อ 1 ใบ สำหรับผู้ที่จองสิทธิ์ซื้อสลากทั้ง 3 ชุด ตามระยะเวลาที่กำหนด

4.บ้านมือสอง ธอส. คุณภาพดี ทำเลเด่น จากทั่วประเทศมากกว่า 1,000 รายการ จำหน่ายพร้อมส่วนลดสูงสุด 50% จากราคาประเมินปัจจุบัน  และสามารถผ่อนดาวน์  0% ระยะเวลานานถึง 36 เดือนทุกรายการทรัพย์ โดยในงานนี้มีรายการทรัพย์ราคาขายต่ำสุดเพียง 45,000 บาท ได้แก่ ทรัพย์ประเภทห้องชุด ชั้นที่ 5 จาก 5 ชั้น ขนาดเนื้อที่ 24.50 ตารางเมตร ในโครงการกำนันกำธรคอนโด อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ จองซื้อทรัพย์ภายในงาน วางเงินประกันการซื้อทรัพย์และทำสัญญามัดจำการซื้อภายในงานเพียงรายการละ 1,000 บาท (เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด) พิเศษ!! ต่อที่ 1 รับฟรีกระเป๋าพับอเนกประสงค์ 1 รายการทรัพย์ ต่อ 1 ใบ สำหรับลูกค้าที่จองซื้อบ้านมือสอง ธอส. ภายในงาน และ ต่อที่ 2 รับบัตรเติมน้ำมันมูลค่า 1,000 บาท 1 รายการทรัพย์ ต่อ 1 ใบ สำหรับลูกค้าที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายภายในระยะเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ งานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2565 ณ อิมแพ็ค ฮอลล์ 5 เมืองทองธานี โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนผ่านระบบของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ที่ https://ln15.gsb.or.th/WEB-DEBT/ เพื่อแจ้งความประสงค์มาติดต่อขอแก้ไขหนี้ พร้อมรับสิทธิพิเศษอื่น ๆ ได้ตลอดงานทั้ง 3 วัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ธอส.ทุกสาขาทั่วประเทศ G H Bank Call Center โทร 0-2645-9000 หรือ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และติดตามข่าวสารของธนาคารได้ที่ Mobile Application : GHB ALL , Mobile Application : GHB ALL GEN และ www.ghbank.co.th

Advertisement

 

สถานการณ์ความยากจนในไทย ปรับตัวดีขึ้น

People Unity News : 29 ตุลาคม 2565 โฆษกรัฐบาล เผยสถานการณ์ความยากจนในไทย ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลจากนโยบายสำคัญรัฐบาล ในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนทุกกลุ่ม แก้ปัญหาแบบมุ่งเป้าให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ เร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึง ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีคนยากจนจำนวนทั้งสิ้น 4.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนยากจนที่ร้อยละ 6.32 ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่มีสัดส่วนคนยากจนร้อยละ 6.83 ในขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาจำนวนครัวเรือนยากจนก็พบว่าในปี 2564 ครัวเรือนยากจนมีจำนวนทั้งสิ้น 1.24 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.79 ของครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ที่มีจำนวนครัวเรือนยากจนประมาณ 1.40 ล้านครัวเรือน

นายอนุชา กล่าวว่าสาเหตุสำคัญที่สถานการณ์ความยากจนปรับตัวดีขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่เน้นพุ่งเป้าให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวมไปถึงกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำล่าสุดของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุชัดว่า หากรัฐบาลไม่มีโครงการช่วยเหลือเยียวยา จำนวนคนจนจะเพิ่มสูงขึ้นไปถึง 11 ล้านคน

นอกจากนี้ ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติยังเผยให้เห็นว่า สถานการณ์การว่างงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 อยู่ที่ 5.5 แสนคน ปรับตัวลดลงจาก 6.08 แสนคนในไตรมาส 1 ของปี 2565 หรือลดลงประมาณ 5.8 หมื่นคน โดยได้รับอานิสงส์จากนโยบายการเปิดรับการเดินทางเข้าประเทศไทยโดยยกเว้นการกักตัวของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในบางสาขาเศรษฐกิจที่กลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ส่งผลให้อัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงร้อยละ 0.1 จากไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 ซึ่งมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.5 ของกำลังแรงงานรวม

นายอนุชา กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจน ด้วยการแก้ไขปัญหาทั้งในแบบภาพรวม และแบบเจาะจงทั้งในระยะสั้น และระยะยาว รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยได้แก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นต้นตอของความยากจน 8 เรื่องสำคัญ เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ (เน้นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ SMEs) การแก้ไขปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ การแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ โดยเฉพาะครูและตำรวจ การแก้ไขปัญหาบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยและ SMEs การปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมเพื่อเอื้อให้เกิดการแก้ไขปัญหาหนี้สิน นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ดำเนินการนโยบายการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ซึ่งเป้าหมายคือ การแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน โดยได้วางกลไกครอบคลุมตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติ ซึ่งในระดับปฏิบัติ หรือในระดับพื้นที่ จะมีการตั้งทีมพี่เลี้ยง เข้าไปตรวจสอบข้อมูลทุกครัวเรือนยากจนในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครอบครัวมีการวางแผน หรือแก้ปัญหาความยากจนของแต่ละครัวเรือนให้ตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ เมื่อทราบปัญหาของแต่ละครอบครัว ทีมพี่เลี้ยงก็จะมีมาตรการที่จะช่วยแก้ปัญหาในแต่ละมิติที่แตกต่างกันไปตามแต่ละครอบครัว เช่น มิติสุขภาพ ตรวจสุขภาพประจำปี การดูแลสุขภาพ การติดตามผู้ป่วยเรื้อรัง มิติความเป็นอยู่ ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย มิติการศึกษา ฝึกอาชีพ มิติด้านรายได้ การจัดหาที่ดินทำกิน วิสาหกิจชุมชน เกษตรแปลงใหญ่ เป็นต้น

Advertisement

แนะคนไทยจริงจังประหยัดใช้พลังงาน ปีหน้ายังลำบากอยู่

People Unity News : 27 ตุลาคม 2565 งานเสวนาฝ่าวิกฤติ “พลังงานโลก” ทางรอด “พลังงานไทย” ปลัดพลังงาน ย้ำสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะส่งผลให้ราคาพลังงานโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นไปถึงปีหน้า แนะคนไทยตระหนักประหยัดพลังงานทุกรูปแบบ เตรียมประกาศของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนเร็วๆนี้ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานเสวนาหาทางออก ฝ่าวิกฤติ “พลังงานโลก” ทางรอด “พลังงานไทย” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ โดยย้ำอีกครั้งว่า ประเทศไทย ผลิตน้ำมันใช้เอง ได้เพียง 8% ที่เหลือ 92% ต้องพึ่งการนำเข้า ซึ่งจากวิกฤติราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่มีนาคม 2563 จนถึงเดือนกันยายน 2565 ทำให้รัฐต้องใช้งบประมาณช่วยเหลือไปแล้วรวมกว่า 242,000 ล้านบาท และยังคาดการณ์ว่า ในปี 2566 ราคาน้ำมันดิบ น่าจะยังทะลุ 100 – 110 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ซึ่งราคานี้ จะทำให้รัฐต้องอุดหนุน อาทิ ดีเซล อยู่ประมาณ 5-6 บาทต่อลิตร และปัจจุบัน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังติดลบอยู่กว่า 120,000 ล้านบาท ที่กำลังอยู่ในกระบวนการกู้เพื่อนำมาจ่ายคืนผู้ค้าน้ำมัน และเสริมสภาพคล่องกองทุน เบื้องต้นจะกู้เต็มวงเงิน มาใข้คืนให้แล้วเสร็จครบแต่ละงวด ภายในเดือนตุลาคม 2566 และอยู่ระหว่างการหามาตรการ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ซึ่งจะเน้นเข้าไปช่วยทั้งในด้านน้ำมันและไฟฟ้า คาดว่าจะประกาศชัดเจนเร็วๆนี้

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ ราคาก๊าซธรรมชาติ LNG ในปีหน้าคาดว่า จะเฉลี่ยที่ 39 ดอลลาร์สหรัฐต่อ MMBtu (เอ็ม-เอ็ม-บี-ที-ยู) มีสัดส่วนการนำเข้าประมาณ 38% ในจำนวนนี้ถึง 70% นำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งสถานการณ์ความขัดแย้ง ที่ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ จึงมีการคาดการณ์กันว่า ราคา LNG จะขยับไปสูงถึง 50-55 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ MMBtu จึงต้องเตรียมแผนเพื่อป้องกันไม่ให้ค่าไฟฟ้า สูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน ที่ค่า FT อยู่ที่หน่วยละ 4.72 บาท เพราะจากการคำณวน หากราคาสูงขึ้นไปถึงระดับดังกล่าวจริง จะมีผลให้ค่า FT ขยับขึ้นเป็นหน่วยละ 7 บาทได้ รวมทั้งยังต้องรองรับการใช้ไฟฟ้าของรถยนต์ อีวี ที่กำลังส่งเสริมเพื่อลดการใช้น้ำมัน โดยมีแผนทั้งการกลับมาเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะเดิม 1 โรง ภายในปีนี้ เพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 200 เมกะวัตต์ และ เพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจาก สปป.ลาว เพื่อตรึงค่าไฟฟ้าให้นานที่สุด รวมทั้งในระยะยาว จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคครัวเรือนให้ขยายไปยังสถานประกอบการ ที่จะมีผลต่อการลดใช้ไฟฟ้าได้ชัดเจน รวมทั้งการพัฒนาโครงการพื้นฐานทางพลังงานทั้งการขาย และรับซื้อจากโรงงานและครัวเรือน รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในระบบบริหารจัดการ

Advertisement

เผยแบงก์รัฐระดม 21 มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 65

People Unity News : 18 ตุลาคม 2565 ครม. รับทราบมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 7 แห่ง รวม 21 มาตรการ

วันที่ 18 ตุลาคม 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 7 แห่ง  ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวม 21 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการพักชำระหนี้ ลดเงินต้นและดอกเบี้ยและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำนวน 9 มาตรการ  มาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อ จำนวน 10 มาตรการ มาตรการสินไหมเร่งด่วน จำนวน 1 มาตรการ และมาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันและค่าจัดการค้ำประกันจำนวน 1 มาตรการ  รายละเอียด ดังนี้

1.ธนาคารออมสิน จำนวน 5 มาตรการ ได้แก่ มาตรการพักชำระหนี้/ มาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ /มาตรการสินเชื่อเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises : SMEs) ที่ประสบภัยพิบัติ / มาตรการสินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ /มาตรการสินเชื่อบุคคลแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ

2.ธ.ก.ส. จำนวน 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการขยายระยะเวลาชำระหนี้ /  มาตรการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2565-2566 / มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต

3.ธอส. จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการลดเงินงวดและลดอัตราดอกเบี้ย สำหรับลูกค้าปัจจุบัน /มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ / มาตรการประนอมหนี้ สำหรับลูกค้าที่ค้างชำระเงินงวดติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หรือมีสถานะอยู่ระหว่างประนอมหนี้ / มาตรการสินไหมเร่งด่วน สำหรับผู้มีกรมธรรม์ประกันภัย

4.ธพว. จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ และมาตรการสินเชื่อ SMEs Re-Start

5.ธอท. จำนวน 1 มาตรการ คือ มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุทกภัย 2565

6.ธสน. จำนวน 4 มาตรการ ได้แก่ มาตรการเพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว / มาตรการเพิ่มวงเงินกู้/ มาตรการลดเงินต้นและดอกเบี้ย / มาตรการขยายระยะเวลาตั๋วสัญญาใช้เงิน

7.บสย. จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกัน และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ บสย.

ทั้งนี้ มาตรการต่าง ๆ จะมีผลตั้งแต่วันที่ธนาคาร/สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้ออกประกาศเป็นต้นไป

รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับทุกส่วนราชการ ต้องสร้างการรับรู้ว่าประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอะไรบ้าง และเร่งดูแลเยียวยาโดยเร็วที่สุด พร้อมเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรการที่ขัดเจน ที่สามารถดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ขัดต่อกรอบนโยบายหรือกฎหมายด้วย

Advertisement

เผยมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2565 ของกระทรวงการคลัง

People Unity News : 18 ตุลาคม 2565 ครม.รับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 ของกระทรวงการคลัง

วันที่ 18 ตุลาคม 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้  (18 ตุลาคม 2565) รับทราบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปี 2565 ของกระทรวงการคลัง จำนวน 6 หน่วยงาน  รวม 14 มาตรการ ประกอบด้วย กรมสรรพากร จำนวน 5 มาตรการ กรมศุลกากร จำนวน 2 มาตรการ กรมสรรพสามิต จำนวน 1 มาตรการ กรมบัญชีกลาง จำนวน 2 มาตรการ กรมธนารักษ์ จำนวน 2 มาตรการ และการยาสูบแห่งประเทศไทย จำนวน 2 มาตรการ  สาระสำคัญ  ดังนี้

กรมสรรพากร ประกอบด้วย

– มาตรการลดหย่อนภาษี : บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนได้ 1 เท่าแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมิน  กรณีบริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักรายจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคได้  1 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ สำหรับการบริจาคให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล รวมทั้งการบริจาคผ่านบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่นำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้วย ซึ่งในกรณีหลังนี้ ผู้ประกอบการยังได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคสินค้าด้วย

– มาตรการยกเว้นภาษี : บุคคลธรรมดาและบริษัทนิติบุคคล ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้  กรณีได้เงินชดเชยที่ได้รับจากรัฐบาล  เงิน/ทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคหรือช่วยเหลือ ไม่เกินมูลค่าความเสียหาย และสินใหม่ทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัย

– มาตรการระยะเร่งด่วน  ได้แก่ ขยายระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีหรือนำส่งภาษี และการขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน จากเดิมที่ต้องยื่นหรือขอภายในเดือนตุลาคม 2565 และเดือนพฤศจิกายน 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2565

-มาตรการในระยะถัดไป  :  บุคคลธรรมดา สามารถหักลดหย่อนค่าซ่อมแซอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับความเสียหายตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาทและ ค่าซ่อมแซมรถตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท

กรมศุลกากร : ยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อบริจาคให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย 2565

กรมสรรพสามิต : ขยายกำหนดเวลายื่นงบเดือนสำหรับ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบกิจการสถานบริการในจังหวัดที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบอุทกภัยตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน – 31 ตุลาคม 2565 จากเดิมในเดือนตุลาคม 2565 ออกไปเป็นภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565

กรมบัญชีกลาง : ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประกาศให้ท้องที่เป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน สามารถใช้จ่ายเงินทดลองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจังหวัดสามารถขอขยายวงเงินทดรองราชการเพิ่มเติมต่อกระทรวงการคลัง ในกรณีที่วงเงินทดรองราชการไม่เพียงพอได้

กรมธนารักษ์ : ยกเว้นค่าเช่าสูงสุด เป็นระยะเวลา 2 ปี สำหรับที่อยู่อาศัยที่เสียหายทั้งหลังและที่อยู่อาศัยที่เสียหายบางส่วน ยกเว้นค่าเช่า 1 ปี   และในกรณีที่ไม่สามารถชำระค่าเช่าให้ยกเว้นการคิดเงินเพิ่มเติมตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในราชพัสดุพ.ศ. 2552

การยาสูบแห่งประเทศไทย : ช่วยเหลือพนักงานยาสูบและครอบครัว ตามหลักเกณฑ์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากการดำรงชีพและความเสียหายของทรัพย์สินหรือที่อยู่อาศัย เป็นต้น

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่  ตามประกาศของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

Advertisement

รัฐบาลเดินหน้า รถไฟทางคู่สายใหม่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ”

People Unity News : 15 ตุลาคม 65 รัฐบาลเดินหน้านับหนึ่งแล้ว กับการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” นายกฯ กำชับเร่งดำเนินการตามแผน เร่งเวนคืนที่ดินและส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง รฟท.พร้อมเปิดให้บริการปี 2571

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” ระยะทาง 323 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 72,921 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง และการขนส่งจากประเทศไทยไปสู่ สปป.ลาว และประเทศจีนได้นั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามความคืบหน้าโครงการนี้อย่างใกล้ชิด โดยกำชับให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผน ทั้งนี้ การรถไฟฯ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และอยู่ในขั้นตอนการเวนคืนที่ดิน ซึ่งผู้รับจ้างได้เริ่มปฏิบัติงานตามหนังสือแจ้งให้เริ่มปฏิบัติงานแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยภาพรวมโครงการมีความก้าวหน้า 0.051% ล่าช้ากว่าแผนงาน 0.102% (ข้อมูลเดือนกันยายน 2565) ทั้งนี้มีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ 71 เดือน หรือประมาณ 6 ปี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดงานอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในปี 2571

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ แบ่งสัญญาจ้างออกเป็น 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว งานโยธา งานระบบราง และระบบอาณัติสัญญาณ ระยะทาง 104 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 26,560 ล้านบาท ผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้า 0.14%, สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย งานโยธา งานระบบราง และงานระบบอาณัติสัญญาณ ระยะทาง 135 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 26,890 ล้านบาท ผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้า 0.37% และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ งานโยธา งานวางระบบราง และงานอาณัติสัญญาณ ระยะทาง 84 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 19,385 ล้านบาท ผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้า 0.50% ทั้ง 3 สัญญาสิ้นสุดการปฏิบัติงานเดือนมกราคม 2571

ทั้งนี้ ภาพรวมผลงานการก่อสร้างล่าสุด ในส่วนของงานตามข้อกำหนดทั่วไป (General Requirements) ผู้รับจ้างได้จัดหา และบำรุงรักษาสำนักงานสนามสำหรับวิศวกร และผู้ควบคุมงาน รวมทั้งจัดหาครุภัณฑ์และอุปกรณ์สำหรับสำนักงานสนาม ตลอดจนจัดหาเจ้าหน้าที่สำนักงาน จัดประชาสัมพันธ์โครงการ และรับฟังความคิดเห็นก่อนดำเนินโครงการแล้ว ส่วนงานดิน (Earthwork) ผู้รับจ้างได้ดำเนินการปรับพื้นที่โดยถากถาง และขุดตอขุดราก (Clearing and Grubbing) และก่อสร้างคันทางดินถมด้วยวัสดุดินจากแหล่งภายนอก ขณะที่งานอุโมงค์ (Tunnelling Works) ผู้รับจ้างได้ดำเนินการสำรวจทางธรณีเทคนิคก่อนการก่อสร้าง เพื่อจัดทำรายงานและนำมาคำนวณปริมาณงานตามการออกแบบ สำหรับงานขุดทั่วไป ผู้รับจ้างได้ดำเนินการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ เพื่อนำมาคำนวณปริมาณงานตามภาพตัดทางธรณีวิทยา ส่วนผลงานการเวนคืนที่ดิน ปัจจุบันดำเนินการสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเวนคืน และประชุมคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างทยอยทำสัญญาจ่ายค่าเวนคืน และส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง โดยเฉพาะช่วงที่เป็นสายงานวิกฤติของงานก่อสร้าง

โครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีจุดเริ่มต้นจากสถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ มุ่งหน้าขึ้นเหนือผ่านจังหวัดลำปาง พะเยา และสิ้นสุดบริเวณด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย ถือเป็นเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ ที่ใช้เวลาดำเนินการยาวนานมากนับตั้งแต่เริ่มศึกษาโครงการเมื่อปี 2503 ผ่านรัฐบาลหลายยุค จนกระทั่งปี 2561 ครม. มีมติอนุมัติโครงการ ถือเป็นการปลดล็อค 60 ปี ที่รอคอย

โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ ที่จะเปิดพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพ ทั้งด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจและการค้า โดยผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย มีสถานีทั้งสิ้น 26 สถานี ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง มีการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวก ตามหลัก Universal Design และยังมีการออกแบบรั้วกั้นเขตแนวสายทาง มีสะพานรถไฟ สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 40 แห่ง ทางรถยนต์ลอดรถไฟ 102 แห่ง มีทางเชื่อมรวมและกระจายจราจร ตลอดจนสะพานลอย ทางเท้า และทางรถจักรยานยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟ แก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ 254 จุด ตลอดแนวเส้นทาง เพื่อให้สามารถเพิ่มระดับความเร็วในการเดินทางขนส่งได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมีลานขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง และย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่ พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อด่านชายแดนเชียงของ ทั้งนี้เส้นทางโครงการฯ อยู่ในพื้นที่ จ.แพร่ ระยะทาง 77.20 กิโลเมตร มี 6 สถานี คือ เด่นชัย, สูงเม่น, แพร่, แม่คำมี ,หนองเสี้ยว และสอง อยู่ในพื้นที่ จ.ลำปาง ระยะทาง 52.40 กิโลเมตร มี 3 สถานี คือ แม่ตีบ ,งาว และปงเตา อยู่ในพื้นที่ จ.พะเยา ระยะทาง 54.10 กิโลเมตร มี 6 สถานี คือ มหาวิทยาลัยพะเยา, บ้านโทกหวาก ,พะเยา , ดงเจน, บ้านร้อง และบ้านใหม่ และอยู่ในพื้นที่ จ. เชียงราย ระยะทาง 139.40 กิโลเมตร มี 11 สถานี คือ ป่าแดด, ป่าแงะ, บ้านโป่งเกลือ ,สันป่าเหียง, เชียงราย, ทุ่งก่อ, เวียงเชียงรุ้ง, ชุมทางบ้านป่าซาง, บ้านเกี๋ยง, ศรีดอนชัย และเชียงของ

เมื่อการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของแล้วเสร็จ จะเป็นการสร้างสถิติใหม่ และไฮไลท์สำคัญ เพราะจะเป็นอุโมงค์รถไฟที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้มีเส้นทางผ่านภูเขาสูง และเขตอุทยาน จึงต้องออกแบบก่อสร้างเป็นคันทางระดับดิน และทางรถไฟยกระดับ รวมถึงมีการเจาะภูเขาก่อสร้างอุโมงค์ 4 แห่งซึ่งมีความสูงเหนือระดับพื้นดิน เท่ากับตึกประมาณ 20 ชั้น โดยระยะทางในอุโมงค์ทั้งขาขึ้น และขาล่องรวม 27.03 กิโลเมตร ที่ จ.แพร่ อยู่อำเภอสอง 2 อุโมงค์ โดยอุโมงค์ที่ 1 มีความยาว 1.175 กิโลเมตร อุโมงค์ที่ 2 ความยาว 6.240 กิโลเมตร ส่วนอุโมงค์ที่ 3 อยู่ อ.เมือง จ.พะเยา ความยาว 2.700 กิโลเมตร และอุโมงค์ที่ 4 อยู่ อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ความยาว 3.400 กิโลเมตร

นอกจากนี้ตลอดสองข้างทางของเส้นทางสายใหม่ ยังมีความสวยงามของธรรมชาติ ผู้โดยสารจะได้เพลิดเพลินไปกับวิวผืนป่าที่เขียวชอุ่ม สดชื่นสบายตาแบบพาโนรามา โดยรถไฟจะแล่นผ่านเทือกเขา สะพาน สลับกับลอดอุโมงค์ จึงขึ้นแท่นเป็นเส้นทางรถไฟที่มีทัศนียภาพสวยงามตลอดทาง และจะสร้างความประทับใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ ส่งเสริมการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวเดิม และแหล่งท่องเที่ยวใหม่ รถไฟสายนี้จึงมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก นอกจากช่วยสนับสนุนการขนส่งสินค้าไปยังจีนตอนใต้แล้ว ยังเป็นเส้นทางขนส่งผู้โดยสาร และมองว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทย และต่างชาติ เดินทางเข้ามายัง จ.แพร่มากขึ้น เพื่อเดินทางต่อไปยัง จ.เชียงราย และ อ.เชียงของ ข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

รถไฟสาย เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้เร็วกว่า 1 ชม.-1.30 ชม. เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์ จึงเป็นเส้นทางรถไฟแห่งอนาคต ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจการค้า สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ที่เส้นทางตัดผ่าน ตลอดจนช่วยลดต้นทุนด้านการขนส่งอย่างยั่งยืน และเป็นการเปิดประตูสู่การค้าชายแดนภาคเหนือ เพิ่มช่องทางส่งออกสินค้าจากไทย และสร้างโอกาสที่ดีต่อการค้า การลงทุนของประเทศด้วย

Advertisement

Verified by ExactMetrics