วันที่ 28 มกราคม 2025

รมว.เกษตรฯ มุ่งผลักดันสหกรณ์เป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 8 พฤศจิกายน 2567 “นฤมล” รมว.เกษตรฯ มุ่งผลักดันสหกรณ์ให้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ครั้งที่ 4/2567 โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภาคเอกชน เข้าร่วม โดยที่ประชุมได้พิจารณาการขยายขอบเขตการลงทุน ภายใต้มาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 โดยปรับปรุงประกาศ คพช. เรื่อง ข้อกำหนดการฝากหรือการลงทุนอย่างอื่นของสหกรณ์ ให้คำนึงถึงการลงทุนอย่างรอบคอบและปลอดภัย เพื่อให้สหกรณ์มีรายได้เพิ่มเติมอย่างมั่นคง

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือในส่วนการนำวิทยาการข้อมูล (Data Science) เพื่อจัดวางระบบจัดเก็บ วิเคราะห์และประยุกต์ใช้ข้อมูลสหกรณ์ในระดับมหภาค โดยต้องสร้างแอปพลิเคชั่นให้สหกรณ์ใช้งานอย่างมีประโยชน์ในเชิงธุรกิจ สามารถสร้างกำไร คาดการณ์ความเสี่ยง และช่วยพัฒนาสถาบันให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง อันเป็นผลดีต่อสมาชิกและเกษตรกร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในการจัดทำงบประมาณปี 2569 ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ บูรณาการร่วมกันวางแผนการทำงานให้ผลลัพธ์การทำงานเป็นที่ตั้ง เพื่อผลักดันสหกรณ์ให้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรอยู่ดี กินดีอย่างยั่งยืนต่อไป

Advertisement

 

ธ.ออมสิน เดินหน้าสร้าง Social Impact ต่อเนื่อง เปิดให้บริการ “GOOD MONEY เงินดีดีเพื่อคนไทย” ให้คนไทยเข้าถึงดอกเบี้ยเป็นธรรม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 5 พฤศจิกายน 2567 ออมสิน เปิดตัว Non-Bank บริษัทใหม่ในเครือ พร้อมให้บริการ GOOD MONEY แอปสินเชื่อของรัฐ อนุมัติเร็ว ให้คนไทยเข้าถึงดอกเบี้ยเป็นธรรม ตั้งเป้า 4 ปี ปล่อยกู้ได้ 500,000 ราย

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ภายใต้บทบาทธนาคารเพื่อสังคม ได้เดินหน้าขยายผล Social Impact ผ่านภารกิจ Financial Inclusion เพื่อขยายโอกาสให้ประชาชนฐานรากเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ ที่เป็นธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งหลักเกณฑ์ของระบบธนาคารไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ ทำให้ต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ หรือสินเชื่อในระบบที่ดอกเบี้ยสูงเกินจริง จึงจัดตั้งบริษัทให้บริการสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน ชื่อว่า “GOOD MONEY – เงินดีดีเพื่อคนไทย แพลตฟอร์มสินเชื่อเพื่อความเท่าเทียมในสังคม” ดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัท เงินดีดี จำกัด กิจการ Non-Bank กลุ่มบริษัทในเครือธนาคารออมสิน เพื่อเป็นกลไกในการลดดอกเบี้ยในตลาดสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ภายใต้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (Nano Finance) ที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูงขึ้น ประกอบกับการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มความคล่องตัวในการปล่อยสินเชื่อ จะดึงคนเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ให้เศรษฐกิจและสังคมเติบโตอย่างยั่งยืน

นางสาวสิรินันท์ จิรดิลก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เงินดีดี จำกัด เปิดเผยว่า แพลตฟอร์ม GOOD MONEY – เงินดีดีเพื่อคนไทย จะช่วยสร้างมาตรฐานใหม่ในการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน และส่งมอบประสบการณ์ใช้บริการสินเชื่อดิจิทัลที่เข้าถึงง่ายและครบวงจร ซึ่งประชาชนทุกคนสามารถสมัครสินเชื่อจนถึงการรับผลอนุมัติด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชันได้ทุกที่ทุกเวลา ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับการอนุมัติสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ให้กู้ตามความจำเป็นและความสามารถในการชำระคืน โดยมีการนำระบบ AI และเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความรวดเร็วและปลอดภัย มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคลและประเมินความสามารถในการชำระหนี้ ทั้งนี้ หลังได้รับอนุญาตฯ จากธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ได้ทดลองเปิดใช้ระบบตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีผู้สนใจใช้บริการยื่นขอสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันแล้วกว่า 100,000 ราย บริษัทฯ เชื่อมั่นว่า แพลตฟอร์ม GOOD MONEY – เงินดีดีเพื่อคนไทย จะช่วยให้ทุกคนบรรลุเป้าหมายในการสร้างอนาคตทางการเงินที่ดีและยั่งยืน เพื่อคนไทยทุกอาชีพไปด้วยกัน

แพลตฟอร์ม GOOD MONEY – เงินดีดีเพื่อคนไทย นำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย 2 ประเภท ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) และ Nano Finance สำหรับผู้ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการสร้างหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ (Productive Loan) ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม เริ่มต้นที่ 19% ต่อปี นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ โดยใช้ระบบการประเมินคุณสมบัติผู้ขอกู้ที่พิจารณาจากอัตราส่วนภาระการชำระหนี้ต่อรายได้ (DSR) และอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้ามีความสามารถในการชำระหนี้ได้โดยไม่เกิดปัญหาหนี้เกินตัว ที่สำคัญลูกค้าที่มีประวัติการชำระหนี้ดีอย่างต่อเนื่องจะมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง ซึ่งเป็นการส่งเสริมวินัยทางการเงินที่ดี และเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถพัฒนาไปสู่การใช้บริการสินเชื่อของธนาคารออมสินในอนาคต ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Good Money by GSB ได้แล้ว ทั้งในระบบ iOS และ Android โดยลูกค้าธนาคารออมสินสามารถยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน MyMo ส่วนลูกค้าทั่วไปสามารถยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนที่สาขาธนาคารออมสิน ทั่วประเทศ ติดตามรายละเอียดที่ https://goodmoneybygsb.com/ หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ https://goodmoneybygsb.go.link/64pm7

ทั้งนี้ บริษัท เงินดีดี จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารออมสิน (49%) และบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด (51%) กลุ่มบริษัทในเครือธนาคารออมสิน ทำธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่ม SMEs บริษัท เงินดีดี มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 400 ล้านบาท ให้บริการแพลตฟอร์มสินเชื่อดิจิทัลเพื่อสังคม GOOD MONEY – เงินดีดีเพื่อสังคม สร้างโอกาสให้คนไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรมเพื่อการประกอบอาชีพและสนับสนุนให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการบริหารการใช้จ่ายอย่างยั่งยืน ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเมื่อเดือนมิถุนายน 2567

Advertisement

รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก หนุนตลาดที่อยู่อาศัยทำเล “บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม” โต 5 หมื่น ลบ.ต่อปี

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 1 พฤศจิกายน 2567 Krungthai COMPASS ชี้รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก กระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยทำเล “บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม” คาดมูลค่าเพิ่มขึ้นแตะ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก “บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ” หนุนการขยายตัวของเมือง และช่วยกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยโดยรอบรถไฟฟ้า คาดมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 39,000 ล้านบาทต่อปี เป็น 50,000 ล้านบาทต่อปีในอนาคต แนะผู้ประกอบการอสังหาฯ พัฒนาโครงการใน Segment ยอดนิยมแต่ละพื้นที่

ดร.สุปรีย์ ศรีสำราญ ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดที่อยู่อาศัยกำลังเผชิญกับปัญหาด้านกำลังซื้อ เห็นได้จากมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทุกประเภททั่วประเทศในช่วง 7 เดือนของปี 2567  ที่ติดลบ 7.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวแทบทุกกลุ่ม ทั้งในมิติของทำเล และมิติของประเภทที่อยู่อาศัย   ดังนั้น ตลาดที่อยู่อาศัยจำเป็นจะต้องมีปัจจัยสนับสนุนใหม่ๆ ที่จะช่วยให้ตลาดสามารถเติบโตได้ในอนาคต โดยโครงการพัฒนารถไฟฟ้า เป็น 1 ในตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยประคับประคองตลาดที่อยู่อาศัยในระยะถัดไป

ทั้งนี้ การลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ที่มีมูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท  เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่จะเชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน  หนุนการขยายตัวของเมือง อีกทั้ง ยังมีช่วยส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาก่อสร้างราว 5-6 ปีข้างหน้า  ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องโดยตรง ทั้งธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจจำหน่ายและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า รวมถึงก่อให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนตามมา (Crowding-in effect) โดยเฉพาะในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  ตามความต้องการอยู่อาศัยในบริเวณบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ที่มากขึ้น

น.ส. สุจิตรา อันโน นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) มี 3 จุดเด่นที่น่าสนใจได้แก่ 1) การเป็นจิ๊กซอว์สำคัญเชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก และตะวันตก เข้าด้วยกัน ทำให้การเดินทางเข้าสู่ตัวเมือง และกรุงเทพฯ ชั้นใน สะดวกขึ้น อีกทั้ง ยังมีสถานีที่เป็นจุดตัดกับโครงข่ายรถไฟฟ้าอื่นๆ อีกหลายเส้นทาง ทำให้เหมาะสำหรับการต่อยอดสู่ Hub ในการเดินทางและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้หลายรูปแบบ 2) จุดเช็กอินหลากหลาย ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ทุกเพศทุกวัย โดยมีเส้นทางผ่านทั้งสถานที่ทำงานของหน่วยงานภาครัฐ โรงเรียน ย่านธุรกิจ ย่านชุมชนเก่า ย่านที่อยู่อาศัย และสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ ตลอดจนสามารถเชื่อมต่อไปยังย่านธุรกิจหลักใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การเดินทางของคนในพื้นที่สูงขึ้นและทำให้พื้นที่โดยรอบมีศักยภาพมากขึ้น 3) การเดินทางเข้าเมืองสะดวกขึ้น ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065

นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวเสริมว่า หากอ้างอิงกับตลาดที่อยู่อาศัยบริเวณโดยรอบแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) คาดว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญทำให้ยอดขายที่อยู่อาศัยในทำเลบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ปรับตัวสูงขึ้นจากปีละ 5,450 ยูนิต มูลค่า 3.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 6,800 ยูนิต คิดเป็นมูลค่าเกือบ 5 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการควรเลือกพัฒนาที่อยู่อาศัยใน Segment ที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค (Product Champion) ในแต่ละทำเลย่อยของแนวรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก เช่น หากเป็นทำเลตลิ่งชัน-ศิริราช ควรเลือกพัฒนาคอนโดมิเนียมราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท หรือบ้านจัดสรรราคามากกว่า 10 ล้านบาท ขณะที่ทำเลดินแดง-ศูนย์วัฒนธรรมฯควรพิจารณาพัฒนาคอนโดมิเนียมระดับกลางราคา 3-5 ล้านบาท  และ 5-10 ล้านบาท แต่หากเป็นทำเลราชเทวี-ราชปรารภ ควรพิจารณาพัฒนาคอนโดมิเนียมระดับบนที่มีราคามากกว่า 10 ล้านบาท ขึ้นไป

Advertisement

รถรับแลกเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ (Mobile Coin Unit) กรมธนารักษ์ ออกให้บริการเดือน พ.ย. ที่ไหนบ้าง?

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 31 ตุลาคม 2567 กรมธนารักษ์ออกให้บริการรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ (Mobile Coin Unit) แก่ประชาชน ประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 เพื่อกระตุ้นให้เหรียญกษาปณ์เกิดการหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น

กรมธนารักษ์จะออกให้บริการรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ (Mobile Coin Unit) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มีเหรียญกษาปณ์ และมีความต้องการแลกคืนแต่ยังไม่สามารถเข้าถึงในการรับแลกคืนเหรียญได้ ประกอบด้วย เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ทุกชนิดราคา เหรียญกษาปณ์สภาพดี หรือเหรียญกษาปณ์ชำรุด เช่น เหรียญกษาปณ์ดำ ถูกตัด ถูกตอก ถูกตี เจาะรู บิดงอ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2567 รถรับแลกเหรียญคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ (Mobile Coin Unit) จะออกให้บริการตามสถานที่ ดังนี้

วันที่ 4 พฤศจิกายน – สำนักงานธนารักษ์พื้นที่สิงห์บุรี เวลา 09.30 น. – 14.30 น.

วันที่ 6 พฤศจิกายน – สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครนายก เวลา 09.30 น. – 14.30 น.

วันที่ 7 พฤศจิกายน – ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เวลา 09.30 น. – 15.00 น.

วันที่ 12-13 พฤศจิกายน – สถานีบริการน้ำมัน ปตท. หน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสุพรรณบุรี  เวลา 09.30 น. -14.30 น.

วันที่ 27 พฤศจิกายน – ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง เวลา 09.30 น. – 15.00 น.

วันที่ 29 พฤศจิกายน – สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นนทบุรี เวลา 09.30 น. – 15.30 น.

สำหรับการให้บริการรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ (Mobile Coin Unit) เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่กระตุ้นให้ประชาชนที่เก็บเหรียญกษาปณ์ไว้นำออกมาแลกคืน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มีเหรียญกษาปณ์อยู่ ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงในการรับแลกคืนเหรียญได้ ทั้งนี้ ประชาชน สามารถนำเหรียญกษาปณ์มาแลกคืนได้รายละไม่เกิน 10,000 บาท รวมทุกชนิดราคา ต่อราย/ต่อวัน

Advertisement

1 พ.ย.นี้เตรียมเปิดเช็กอินระบบ Biometric เพื่อการเดินทางสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น นำร่องผู้โดยสารในประเทศก่อน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 30 ตุลาคม 2567 เผยยอดผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยาน ทอท. 6 แห่ง เข้าไทยเพิ่มกว่า 120 ล้านคน ในปีงบประมาณ 67 พร้อมเปิดใช้งานเช็กอินระบบ Biometric เพื่อการเดินทางที่สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น นำร่องผู้โดยสารในประเทศก่อนเริ่ม 1 พ.ย. นี้

วันนี้ (วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยินดีกับตัวเลขผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) หรือ ทอท. ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) มียอดผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 119.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 72.67 ล้านคน เพิ่มขึ้น 34.82% และผู้โดยสารภายในประเทศ 46.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.01% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ในขณะที่ตารางบินฤดูหนาว 2024/2025 ของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง มีเที่ยวบินได้รับการจัดสรรเวลารวม 370,239 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากฤดูหนาวในปีที่ผ่านมา (W2023/2024) 22.1% และมีแนวโน้มว่าจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งหมดเพิ่มขึ้น 23% โดยเส้นทางระหว่างประเทศที่มีผู้โดยสารเดินทางเข้ามาในประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ และฮ่องกง

พร้อมกันนี้ ทอท. ยังขานรับนโยบายรัฐบาลเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เปิดระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition มาใช้ระบุตัวตนของผู้โดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวก สบาย รวดเร็ว และลดระยะเวลาในการรอคิว นำร่องให้ผู้โดยสารภายในประเทศได้ใช้ก่อนในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 นี้ และเปิดใช้งานสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศวันที่ 1 ธันวาคม 2567 แต่ทั้งนี้ ผู้โดยสารจำเป็นต้องยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลด้วย

“รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมาย ในการยกระดับการให้บริการในท่าอากาศยานไทยให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และมีความพร้อมทั้งในด้านระบบ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เน้นความสะดวก สบาย รวดเร็ว และลดระยะเวลาให้กับผู้ใช้บริการ โดยเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะยกระดับศักยภาพเป็นท่าอากาศยานที่ดีในระดับโลกได้” นายจิรายุ กล่าว

Advertisement

“วิทัย” ผอ.ออมสิน ลั่น ตั้งเป้าสร้าง Social Impact ปีละมากกว่า 15,000 ล้านบาท ใน 10 ด้าน

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 ตุลาคม 2567 ออมสิน ตั้งเป้าสร้าง Social Impact ปีละมากกว่า 15,000 ล้านบาท เริ่มปี 67 เผยทำได้เพราะรัฐบาลปรับเป้าหมายไม่เน้นกำไรสูงสุด พร้อมเชิญชวนเป็นลูกค้าออมสินเพื่อร่วมกันช่วยสังคม

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ภายในปี 2567 นี้ ธนาคารกำหนดเป้าหมายขยายผลการสร้าง Social Impact หรือผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมให้กว้างขวางขึ้น ผ่านมาตรการและการทำภารกิจ 10 ด้าน ได้แก่ 1) การแก้ไขหนี้/ยกหนี้ให้ครัวเรือน 2) การลดดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย 3) การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ/ผ่อนเกณฑ์อนุมัติ เพื่อดึงประชาชนกลุ่มฐานราก และกลุ่ม SMEs เข้าสู่ระบบการเงิน 4) การสนับสนุนนโยบายรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 5) การช่วยเหลือภัยพิบัติเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน 6) การสร้างอาชีพให้ประชาชนกลุ่มฐานราก 7) การพัฒนาชุมชน 8) การส่งเสริมการออม 9) การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และ 10) การดูแลสิ่งแวดล้อม โดยต้องสามารถเข้าช่วยเหลือสังคม ประเมินเป็นตัวเลขเม็ดเงินผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม (Social Impact) ได้ปีละมากกว่า 15,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ การที่ธนาคารสามารถช่วยเหลือสังคมได้ตามแผนงาน เกิดจากการที่รัฐบาลเห็นชอบการปรับตัวชี้วัดให้ธนาคารออมสินไม่เป็นรัฐวิสาหกิจที่มุ่งเน้นกำไรสูงสุด และให้ขยายผลการช่วยเหลือสังคมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแทน โดยมีอัตรากำไรอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Responsible Profit) ทั้งนี้ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายกำไรในปี 2567 ประมาณ 27,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 และกำไรส่วนนี้ยังถูกนำส่งเป็นรายได้ของรัฐต่อไปอีกด้วย ขณะที่ธนาคารยังมีความแข็งแกร่งด้วยปริมาณเงินสำรองส่วนเกินที่เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 80,000 ล้านบาท (General Provision) ในปี 2567 (จากเดิมในปี 2562 มีเพียง 4,000 ล้านบาท เท่านั้น)

นอกจากนี้ ธนาคารได้เร่งขับเคลื่อนแผนขยายผลการช่วยเหลือสังคม และขยายขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว ด้วยการบริหารงานแบบกลุ่มบริษัทผ่าน 4 บริษัท ได้แก่ 1) บริษัท มีที่มีเงิน จำกัด ทำธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่ม SMEs ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตลาด 2) บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC เพื่อแก้ไขหนี้ครัวเรือนด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน ซึ่งได้มีการทำสัญญาโอนหนี้ล็อตแรกแล้วกว่า 140,000 บัญชี 3) บริษัท เงินดีดี จำกัด เพื่อขยายการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนกลุ่มฐานราก ด้วยการให้สินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน “Good Money by GSB” และ 4) บริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ จำกัด เพื่อช่วยพัฒนายกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัล/AI ของธนาคาร

อนึ่ง ธนาคารออมสินย้ำจุดยืนการเป็นธนาคารเพื่อสังคม ผ่านกระบวนการทำธุรกิจอย่างสร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าร่วม (Creating Shared Value : CSV) ที่เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจด้วยการทำกำไรในระดับที่เหมาะสม (Responsible Profit) และยังสามารถขยายการสร้างประโยชน์ต่อสังคม (Social Impact) ตามวัตถุประสงค์ของ Social Bank จึงขอเชิญชวนเป็นลูกค้าธนาคารออมสิน เพราะไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เงินฝาก สลากออมสิน สินเชื่อ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ธนาคารจะนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้คนและสร้างประโยชน์แก่สังคมได้มากขึ้น ตามแนวคิด “เป็นลูกค้าเรา เท่ากับช่วยสังคม”

Advertisement

ออมสิน ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% มีผล 1 พ.ย. 67 ตรึงดอกเบี้ยเงินฝาก ตามภารกิจส่งเสริมการออม

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 18 ตุลาคม 2567 ออมสิน ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% มีผล 1 พ.ย. 67 ตรึงดอกเบี้ยเงินฝาก ตามภารกิจส่งเสริมการออม

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ต่อปี และเพื่อเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในการลดภาระทางการเงินของประชาชนในช่วงนี้ ล่าสุด ธนาคารออมสิน จึงประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภท ประกอบด้วย ดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินกู้ที่มีระยะเวลา (MLR) ลดลงเหลือ 6.900% ต่อปี และดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ลดลงเหลือ 6.745% ต่อปี ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย (MRR) ที่มีการลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจะครบกำหนดมาตรการในวันที่ 31 ตุลาคม 2567 นี้ ก็จะได้รับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน อยู่ที่อัตรา 6.595% ต่อปี และเป็นอัตราดอกเบี้ย MRR ที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ถือเป็นการปรับลดดอกเบี้ย MRR ครั้งที่ 3 ของปีนี้ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก จะยังคงตรึงดอกเบี้ยไว้ในอัตราเดิมให้ได้นานที่สุด เพื่อให้ประชาชนมีรายได้จากอัตราดอกเบี้ย ภายใต้ภารกิจเพื่อสังคมในการมุ่งส่งเสริมการออม ตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล

การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทในครั้งนี้ เป็นการช่วยเหลือลูกค้าเงินกู้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มฐานราก และกลุ่ม SMEs ในการลดภาระต้นทุนทางการเงิน ให้มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยตรง ทั้งยังช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายและมากขึ้น นับเป็นการเดินหน้าตามภารกิจของธนาคารในการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เกิดกับสังคมอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

การบินไทย ประกาศเส้นทางสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ลั่นกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไตรมาส 2 ปี 68

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 3 ตุลาคม 2567 การบินไทย ประกาศเส้นทางสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนภายใต้แนวคิด “Fly for The New Pride” สู่ขอบฟ้าใหม่แห่งความภูมิใจและจะกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ภายในช่วงไตรมาส 2 ปี 2568 โดยในปีที่ผ่านมา การบินไทยสามารถสร้างผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 28,123.3 ล้านบาท ส่วนครึ่งปีแรกของปี 2567 ยังคงมีผลกำไรต่อเนื่อง ขณะเดียวกันโอกาสที่จะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนในอดีตโอกาสน้อยมาก

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา การบินไทยได้ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการอย่างเคร่งครัด จนได้รับผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่คาดหวังเป็นอย่างดี แผนฟื้นฟูกิจการนี้เปรียบเสมือนการพลิกโฉมองค์กรครั้งสำคัญ ทั้งในด้านการปรับโครงสร้างองค์กรที่พ้นจากสภาพจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ สู่ก้าวใหม่ในฐานะบริษัทเอกชนที่ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คล่องตัว และมีความโปร่งใส

การปรับโครงสร้างองค์กรของการบินไทยมีการดำเนินการที่สำคัญประกอบด้วย การปรับลดขนาดองค์กร โดยลดจำนวนพนักงานลง เหลือประมาณ 14,000 คนในปี 2565 การปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจจากไทยสมายล์ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เช่น แอปพลิเคชัน Thai Airways Mobile App เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสารและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานภายใน และระบบ HR Core Value มาใช้ในการคัดเลือกพนักงาน การปรับโครงสร้างทางการเงิน ได้เจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้โดยไม่ตัดหนี้ (Hair Cut) แต่ปรับปรุงเงื่อนไขการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ บริหารจัดการทรัพย์สิน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน

“ปัจจุบันส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเฉพาะกิจการ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ยังคงติดลบ 40,427 ล้านบาท การบินไทยจึงเร่งดำเนินงานตามแผนปรับโครงสร้างทุนเพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของการบินไทยกลายเป็นบวก ผ่านการแปลงหนี้เป็นทุน 2 ส่วน คือแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้เป็นทุนภาคบังคับ และให้สิทธิแก่เจ้าหนี้เพื่อแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ รวมถึงจะมีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บุคคลตามที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนด ได้แก่ ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานการบินไทย และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของทุนให้กับการบินไทย และเตรียมความพร้อมสำหรับการนำหุ้นการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง โดยภายหลังการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ คาดว่ากระทรวงการคลังจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลง เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนรายอื่น ๆ ซึ่งกระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามที่แผนนี้จะเสร็จสิ้นภายในปี 2567 ก่อนที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ และคาดว่าการบินไทยจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและนำหุ้นของการบินไทยกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในไตรมาส 2 ปี 2568” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่สำคัญ อาทิ ASK หรือ Available Seat Kilometers ซึ่งเป็นตัวชี้วัดปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร, Aircraft utilization หรืออัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน, และ Cabin factor หรืออัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร ที่ล้วนแล้วแต่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความแข็งแกร่งของการบินไทยในการกลับมาให้บริการอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง ส่งผลให้การบินไทยมีจำนวนผู้โดยสาร ปริมาณการขนส่ง และรายได้เพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 มีผู้โดยสารรวมประมาณ 13.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 9 ล้านคนในปี 2565 และมีรายได้รวมสูงถึง 165,491.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 105,212.3 ล้านบาทในปี 2565 วันนี้ การบินไทยพร้อมที่ก้าวสู่ขอบฟ้าใหม่แห่งความภูมิใจ “Fly for The New Pride” เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่จะนำพาการบินไทยให้ทะยานโลดแล่นบนท้องฟ้าได้ไกลกว่าเดิม มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการปฏิวัติธุรกิจอย่างมืออาชีพและเรียกความไว้วางใจจากคนไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติให้กลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยความภาคภูมิใจที่เราจะสร้างขึ้นด้วยกัน

นางเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เสริมว่า ผลประกอบการของบริษัทฯ ในปีที่ผ่านมา นับเป็นปีแห่งความสำเร็จ โดยเราสามารถสร้างผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 28,123.3 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการกิจการ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฯ นอกจากนี้ ในครึ่งปีแรกของปี 2567 บริษัทฯ ยังคงมีผลกำไรต่อเนื่อง แม้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจสายการบิน บริษัทฯ และบริษัทย่อยยังคงมีรายได้สำหรับงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2567 เพิ่มขึ้น 12,630.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลักมาจากการกลับมาให้บริการเที่ยวบินประจำรวมถึงเปิดเส้นทางการบินใหม่เพิ่มขึ้นภายหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คลี่คลายและการยกเลิกมาตรการการจำกัดการเดินทางของหลาย ๆ ประเทศ ทำให้มีผู้โดยสารรวมในช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2567 จำนวน 7.68 ล้านคน และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 78.1%

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้บริหารแผนการฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ต้องบอกว่าโอกาสในการกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจของการบินไทยมีโอกาสน้อยมากเพราะถ้ามีการแปลงหนี้เป็นทุนแล้วจะต้องดูสัดส่วนการถือหุ้นด้วยซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะต้องเข้ามาดูและพิจารณาร่วมกันกับผู้บริหารแผนฟื้นฟู อย่างไรก็ตาม การเป็นเอกชนของการบินไทยในเวลานี้ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าทำงานได้คล่องตัวและมีกำไรมากกว่าในอดีต ประเด็นนี้จะต้องนำไปพิจารณาประกอบด้วย

Advertisement

ก.คลัง เผย โอนเงินให้กลุ่มเป้าหมายสำเร็จ 11.86 ล้านราย เม็ดเงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจ 118,642.26 ลบ.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 30 กันยายน 2567 กระทรวงการคลังเผยความคืบหน้าการโอนเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการโอนเงินตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ (โครงการฯ) ซึ่งกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้โอนเงินให้กลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นมา

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า การโอนเงินเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนลงท้ายด้วยเลข 4 – 7 จำนวน 4.51 ล้านราย พบว่า มีการโอนเงินไม่สำเร็จจำนวน 129,373 ราย ทำให้มียอดสะสมของการโอนเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายสำเร็จแล้วรวมทั้งสิ้น 11.86 ล้านราย และการโอนเงินไม่สำเร็จจำนวน 319,8180 ราย

ทั้งนี้ ในภาพรวมมีสาเหตุการโอนเงินไม่สำเร็จของกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม ดังนี้

  1. คนพิการ เช่น บัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด เลขบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้อง เป็นต้น
  2. ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เช่น ยังไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน บัญชีไม่มีการเคลื่อนไหว บัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด เลขบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้อง เป็นต้น

จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน หรือติดต่อธนาคาร เพื่อแก้ไขบัญชีเงินฝากธนาคารที่มีปัญหาข้างต้น ภายในวันที่ 18 ตุลาคม 2567 เพื่อให้ได้รับการจ่ายเงินซ้ำได้ทันภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2567

นอกจากนี้ สำหรับคนพิการจำนวนประมาณ 9 หมื่นราย ที่บัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ หรือข้อมูลบัตรประจำตัวคนพิการไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการโอนเงินเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ขอแนะนำให้ดำเนินการต่ออายุบัตรประจำตัวคนพิการ ทำบัตรประจำตัวคนพิการ หรือแก้ไขข้อมูลประจำตัวคนพิการที่ศูนย์บริการคนพิการทั่วประเทศให้ถูกต้อง ภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2567 เพื่อให้ได้รับการจ่ายเงินซ้ำได้ทันภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2567

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีเม็ดเงินจากโครงการฯ หมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วจำนวน 118,642.26 ล้านบาท ขอให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับเงินส่วนนี้แล้ว วางแผนการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและครอบครัว

ช่องทางการติดต่อ:

  1. ตรวจสอบสิทธิและผลการโอนเงิน: เว็บไซต์ https://xn--2567-4doaav1an0gvcuc4hcbc3gua9kpb5czewjlb2p.c… (ตรวจสอบผลการโอนเงินได้ในวันถัดไปหลังจากวันที่จ่ายเงิน)
  2. สอบถามข้อมูลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ: ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านระบบตอบรับอัตโนมัติ โทรศัพท์หมายเลข 0 2109 2345 กด 1 กด 5 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์ 24 ชั่วโมง
  3. สอบถามข้อมูลคนพิการ: ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

Advertisement

เงินบาทแตะ 32.14 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือน ครั้งใหม่

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 30 กันยายน 2567 เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 31 เดือน ครั้งใหม่ที่ 32.14 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะกลับมาปิดตลาดที่ระดับ 32.23 บาทต่อดอลลาร์ฯ ยังคงเป็นระดับแข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาที่ 32.40 บาทต่อดอลลาร์

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่องแม้ว่า นักลงทุนต่างชาติจะมีสถานะอยู่ในฝั่งขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยในวันนี้ เนื่องจาก Sentiment ของเงินดอลลาร์ฯ ยังคงอ่อนแอในช่วงก่อนถ้อยแถลงของประธานเฟดในคืนนี้ สำหรับทิศทางฟันด์โฟลว์ในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 963 ล้านบาท และมีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 780 ล้านบาท

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 32.10-32.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การตอบรับของตลาดต่อถ้อยแถลงของประธานเฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลกและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ดัชนี PMI เดือน ก.ย. ของญี่ปุ่น ยูโรโซน อังกฤษ และสหรัฐ รวมถึงตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานเดือน ส.ค. ของสหรัฐ

Advertisement

Verified by ExactMetrics