วันที่ 24 พฤศจิกายน 2024

คิกออฟ “บสย.รักพี่วิน” ให้กู้มอไซค์รับจ้างซื้อรถใหม่ 1 แสน ซ่อมรถ-ใช้หนี้นอกระบบ 5 หมื่น

People unity : กระแสตอบรับดี คิกออฟโครงการ “บสย. รักพี่วิน” ตอบโจทย์ “เติมทุน” กลุ่มอาชีพอิสระ ซื้อรถใหม่ ซ่อมรถ กู้ฉุกเฉิน ปลดหนี้นอกระบบ ชูกลไกรัฐ “ค้ำประกันสินเชื่อ” นำร่องมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตั้งเป้า 10,000 ราย มั่นใจสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 4,580 ล้านบาท ลดปัญหาหนี้นอกระบบกว่า 100 ล้านบาท กู้ซื้อรถใหม่ อนุมัติไม่เกิน 100,000 บาท กู้ซ่อมแซมรถ กู้ฉุกเฉิน แก้หนี้นอกระบบ อนุมัติไม่เกิน 50,000 บาท

นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นประธานเปิดโครงการ “บสย. รักพี่วิน” ในวันนี้ (21 ก.พ.2562) โดยกล่าวว่า โครงการ บสย.รักพี่วิน ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ พร้อมให้การช่วยเหลือกลุ่มอาชีพอิสระ พี่วิน หรือกลุ่มผู้ประกอบอาชีพรถจักรยานยนต์สาธารณะ ให้เข้าถึงแหล่งทุน  โดยมี บสย.หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง  “ค้ำประกันสินเชื่อ” มั่นใจว่าเป็นโครงการที่สร้างประโยชน์ทางตรงกับกลุ่มพี่วิน ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกทั่วประเทศกว่า 200,000 ราย

“โครงการ บสย.รักพี่วิน เป็นโครงการที่สนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ สร้างโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงิน “เติมทุน” ให้ผู้ประกอบการ มั่นใจว่าจะสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 4,580 ล้านบาท และช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบได้ 100 ล้านบาท จากการดำเนินโครงการนี้ ซึ่งตั้งเป้าช่วยผู้ประกอบการ พี่วิน 10,000 ราย”

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.  เปิดเผยว่า โครงการนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน ซึ่งภาครัฐมีนโยบายอย่างต่อเนื่องในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากระบบสถาบันการเงินได้มากขึ้น ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย.เพื่อช่วยให้กลุ่มอาชีพอิสระ ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้ไม่แน่นอน ไม่มีการเดินบัญชี ทำให้ธนาคารไม่สามารถพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ได้

โครงการนี้จะเริ่มจากกลุ่มพี่วิน โดยการช่วย “เติมทุน” ผ่านธนาคารพันธมิตร ซึ่งในวันนี้ได้มาร่วมเปิดบูธให้คำปรึกษาภายในงาน 5 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) รวมถึงองค์กรพันธมิตรอื่นๆ ได้แก่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ให้บริการตรวจเครดิตบูโร ฟรี, กรมการขนส่งทางบก, กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และสำนักงานประกันสังคม

โครงการ บสย. รักพี่วิน ตั้งเป้าสนับสนุนค้ำประกันสินเชื่อ 1,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อ 10,000 ราย  เฉลี่ยรายละ 100,000 บาท แบ่งเป็น 1. กู้ซื้อรถใหม่ อนุมัติไม่เกิน 100,000 บาท  2. กู้ซ่อมแซมรถ กู้ฉุกเฉิน แก้หนี้นอกระบบ อนุมัติวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งจะก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 4,580 ล้านบาท  และช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบได้ 100 ล้านบาท (จากผลการสำรวจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าผู้ขับขี่มีการกู้เงินนอกระบบ 10%)

“โครงการนี้จะช่วยให้ พี่วิน ประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากโครงการนี้ ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการจะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 28% ต่อปี เช่น ถ้ากู้เงินจำนวน  50,000 บาท ผ่อน  4 ปี เพื่อซื้อมอเตอร์ไซค์จากร้านค้าทั่วไป  ต้องผ่อนเดือนละ 2,500 บาท หากกู้ผ่านโครงการรักพี่วิน จะผ่อนเดือนละ 1,500 บาท สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเดือนละ 1,000 บาท หรือประหยัดได้มากกว่า 40,000 บาท ในระยะเวลาการผ่อน 4 ปี”

ดร.รักษ์ กล่าวว่า โครงการ บสย. รักพี่วิน  ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มพี่วิน หลังจาก บสย.ได้ระดมทีมงานลงพื้นที่พบพี่วินทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ จึงมั่นใจว่าจะเป็นโครงการที่ตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง หลังจากนี้ บสย.ยังได้เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการกลุ่มอาชีพอิสระสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้มากที่สุด

สำหรับคุณสมบัติของผู้ประกอบการอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่เข้าร่วมโครงการนี้ จะต้องเป็นผู้ที่ลงทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก โดยมีบัตรประจำตัวประกอบอาชีพรถจักรยานยนต์สาธารณะ (บัตรเหลือง) และมีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน  5  ล้านบาท โดย บสย. ได้เปิดช่องทางการสื่อสารหลากหลายสำหรับพี่วิน นอกเหนือจากสำนักงานเขต บสย. 11 แห่งทั่วประเทศ Call Center 0-2890-9999 และเฟสบุ๊ก บสย. ยังได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารผ่าน Line @tcgloveswin เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น

คิกออฟ “บสย.รักพี่วิน” ให้กู้มอไซค์รับจ้างซื้อรถใหม่ 1 แสน ซ่อมรถ-ใช้หนี้นอกระบบ 5 หมื่น

People unity : post 21 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 20.50 น.

นายกฯขอให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเป็นแบบอินทรีย์ ปลอดสารพิษ

People unity : นายกรัฐมนตรี ขอให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเป็นแบบอินทรีย์ ปลอดสารพิษ ทำมาตรฐาน GAP ปรับตัวเรียนรู้การค้าขายด้วยระบบออนไลน์ เพิ่มยอดขายสินค้า

วันนี้ (9 มกราคม 2662) เวลา 15.50 น. นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ฯ โดยใส่ชุดเสื้อม่อฮ่อม ขึ้นรถไถนา (รถอีแต๊ก) เพื่อไปเกี่ยวข้าวร่วมกับเกษตรกรเขตหนองจอกและผู้บริหารกรุงเทพมหานคร

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้การต้อนรับ และกล่าวเพิ่มเติมว่า มีความยินดีที่ได้มาตรวจพื้นที่กรุงเทพฯด้านตะวันออก และได้มาพบปะเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนในเขตหนอกจอก ซึ่งถือเป็นเขตที่มีพื้นที่มากที่สุดของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพื้นที่สีเขียวที่เป็นท้องทุ่งนาเกษตรกรรม ซึ่งพี่น้องประชาชนยังคงรักษาวิถีชีวิตเกษตรกรรมได้เป็นอย่างดี เป็นเอกลักษณ์ที่มีความแตกต่างจากเขตอื่นๆในกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ การทำนามีความสำคัญต่อชุมชนในเขตหนองจอก รวมทั้งกรุงเทพฯ เป็นฐานการผลิตและเศรษฐกิจหลัก ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญแก่พื้นที่เกษตรกรรมและอนุรักษ์พื้นที่เกษตรกรรมเอาไว้ นอกจากนี้ ยังมีแหล่งน้ำทางธรรมชาติ คูคลอง หนาแน่น เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตชลประทาน เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำเกษตรกรรม ตลอดจนเป็นช่องระบายน้ำในช่วงฤดูฝนและเป็นพื้นที่รับน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ประชาชนต้องเรียนรู้ระบบการค้า ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชแบบอินทรีย์ ปลอดสารพิษ ทำมาตรฐาน GAP จะทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น แต่ต้องหาวิธีลดต้นทุนด้วย และต้องปรับตัวเรียนรู้การค้าขายด้วยระบบออนไลน์ จากนั้นได้เกี่ยวข้าวในที่นาของนางยวงเว้ บ้านแพ้ว ซึ่งเป็นเจ้าของแปลงนาเนื้อที่ 15 ไร่ พันธุ์ข้าว กข 51 โดยได้ปลูกเมื่อ 15 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา

เสร็จแล้ว นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนิทรรศการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำแขวง ประกอบด้วย แขวงคู้ฝั่งเหนือ แขวงกระทุ่มราย แขวงโคกแฝด แขวงหนองจอก แขวงโคกแฝด แขวงคลองสิบสอง และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มอาชีพตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน สำหรับการตั้งราคาข้าว การประกันราคารัฐบาลกำหนดจากค่าเฉลี่ยซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ต่อจากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยมชมกระบวนการสีข้าวของโรงสีชุมชน การบรรจุใส่ถุง เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชน

นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มว่า เราจะต้องร่วมมือพัฒนาให้เขตพื้นที่ เป็นเขตเกษตรกรรมที่มีการผสมผสานระหว่างการทำเกษตรกรรม โดยใช้วิถีชีวิต และภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมร่วมกับการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยกับการพัฒนาประสิทธิภาพด้านการผลิต รวมทั้งเพิ่มมูลค่าและปริมาณของผลผลิตทางการเกษตร โดยการพัฒนามุ่งเน้นในด้านกสิกรรม เสริมด้วยการทำเกษตรแบบผสมผสาน

เศรษฐกิจ : นายกฯขอให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเป็นแบบอินทรีย์ ปลอดสารพิษ

People unity : post post 9 มกราคม 2562 เวลา 22.40 น.

“บิ๊กตู่” ยินดีอียูปลดใบเหลืองประมงไอยูยูไทย ชี้ประมงไทยจะดีขึ้น

People unity : พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความยินดีที่สหภาพยุโรป (อียู) ประกาศปลดใบเหลืองการทำประมงไอยูยู หรือการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ของไทย ซึ่งถือเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้รับการพิจารณาในครั้งนี้ นับว่าเป็นข่าวดีอย่างมาก

“ขอบคุณอียูที่เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยู นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยได้ใบเหลืองเมื่อเดือนเมษายน 2558 ที่สำคัญต้องยกความดีให้ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ ทั้งชาวประมง ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันเสียสละ อดทน และทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและปฏิบัติตามหลักสากล”

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ผู้ประกอบการประมงและชาวประมงพื้นบ้านคงเห็นถึงประโยชน์ที่ทุกคนได้ลงแรงกันมา และนับจากนี้สถานการณ์ประมงของไทยจะดีขึ้น ค้าขายได้มากขึ้น เพราะนานาประเทศมีความเชื่อมั่น ส่วนรัฐบาลยืนยันว่าจะยกระดับมาตรฐานการประมงไทยทุกด้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยบรรลุการเป็นประเทศปลอดประมงไอยูยู หรือไอยูยูฟรี อย่างสมบูรณ์ต่อไป

เศรษฐกิจ : “บิ๊กตู่” ยินดีอียูปลดใบเหลืองประมงไอยูยูไทย ชี้ประมงไทยจะดีขึ้น

People unity : post post 9 มกราคม 2562 เวลา 10.00 น.

สรรพากรชี้แจงช็อปช่วยชาติมิได้เอื้อนายทุนเจ้าของห้างสรรพสินค้า

People unity news online : กรมสรรพากรชี้แจงการออกมาตรการช็อปช่วยชาติ ตามที่ปรากฏคำวิจารณ์เกี่ยวกับมาตรการช็อปช่วยชาติว่า เป็นการช่วยนายทุนเจ้าของห้างสรรพสินค้ามากกว่าช่วยประชาชนและควรนำงบประมาณไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและชาวบ้านระดับรากหญ้ามากกว่านั้น

กรมสรรพากรขอเรียน ดังนี้

1.มาตรการช็อปช่วยชาติหรือมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม

2.นอกจากนั้น การกำหนดประเภทสินค้า 3 ประเภทยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อนจากราคาผลผลิตตกต่ำ การพัฒนาทุนมนุษย์ และการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนโดยตรง จึงคุ้มค่าที่จะดำเนินการ ดังเห็นได้จากแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อสินค้าแต่ละประเภทซึ่งกำหนดไว้ดังนี้

2.1 สินค้าประเภทยางล้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถจักรยานได้กำหนดว่า วัตถุดิบต้องมาจากยางที่การยางแห่งประเทศไทยรวบรวมหรือรับซื้อจากเกษตรกรชาวสวนยาง จึงจะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้น

2.2 สินค้าประเภทหนังสือและ e-Book เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์และเป็นไปตามที่กรมสรรพากรได้เคยหารือกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยจะช่วยยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์ของประเทศผ่านการอ่าน

2.3 สินค้า OTOP ได้กำหนดให้ซื้อจากผู้ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน แต่จะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็ได้ จึงมิได้จำกัดอยู่แค่ห้างสรรพสินค้า แต่จะช่วยกระจายรายได้ไปยังชุมชนต่างๆอย่างทั่วถึง

People unity news online : post 2 ธันวาคม 2561 เวลา 20.44 น.

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะชี้แจงการกู้เงินจากจีนทำรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หนองคาย

People unity news online : สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะชี้แจง ข้อวิจารณ์การเปิดรับการลงทุนและการกู้เงินจากจีน

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นข้อวิจารณ์การเปิดรับการลงทุนและการกู้เงินจากจีน ตามที่ เดอะสเตรตไทม์ส สื่อของประเทศสิงคโปร์ รายงานอ้างอิงบทบรรณาธิการของเดอะเนชั่น ซึ่งกล่าวถึงกรณีรัฐบาลเปิดรับการลงทุนและการกู้ยืมเงินจากจีน ภายใต้การผลักดันของรัฐบาลจีนในโครงการเส้นทางสายไหม หรือ Belt and Road โดยมีประเด็นกังวลว่าประเทศไทยจะซ้ำรอยกับประเทศอื่นๆ ที่เคยรับความช่วยเหลือและพึ่งพาจีน ในการกู้ยืมเงินจากจีนกลายเป็นภาระหนี้สินจำนวนมาก เพราะอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมของจีนนั้นสูงกว่าการกู้ยืมจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศนั้น มีข้อเท็จจริงดังนี้

การดำเนินโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพ-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือเรียกได้ว่า เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล (Government to Government : G to G) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟและการคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยรัฐบาลจีนจะสนับสนุนด้านการศึกษาโครงการ  การถ่ายทอดเทคโนโลยี และเป็นผู้รับจ้างในการก่อสร้าง ส่วนรัฐบาลไทยจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งโครงการ และใช้แหล่งที่มาของเงินลงทุนโครงการจากงบประมาณและเงินกู้ภายในประเทศเป็นหลัก การกู้เงินจากรัฐบาลจีนจึงเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของแหล่งเงินเท่านั้น

ในส่วนของการกู้เงินจากรัฐบาลจีน ปัจจุบันยังไม่มีการตกลงและผูกพันสัญญาใดๆ และยังคงอยู่ระหว่างการเจรจาร่างสัญญาเงินกู้และเงื่อนไขเงินกู้ของรัฐบาลจีน ซึ่งในการเจรจาได้มีการระบุไว้ชัดเจนในกรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีการบันทึกผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีนว่า รัฐบาลไทยจะกู้เงินจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน หากมีเงื่อนไขเงินกู้ที่ดีกว่าหรือมีต้นทุนที่ถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งเงินกู้อื่น ซึ่งกระทรวงการคลังจะพิจารณาเงื่อนไขเงินกู้เปรียบเทียบกับต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลที่กู้จากแหล่งเงินในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงแหล่งเงินกู้ทางการอื่นๆด้วย

People unity news online : post 15 พฤศจิกายน 2561 เวลา 11.40 น.

พาณิชย์เตรียมนำรูปแบบ “เถาเป่าวิลเลจโมเดล” มาใช้ในไทยเพื่อลดจำนวนคนจน

People unity news online : พาณิชย์เตรียมจัดทีมศึกษารูปแบบ “เถาเป่าวิลเลจโมเดล” ก่อนนำปรับใช้กับไทย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2561 ตนจะนำคณะภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางไปหารือกับผู้บริหารของอาลีบาบาที่ดูแลโครงการ “เถาเป่าวิลเลจ” ซึ่งเป็นโครงการที่อาลีบาบาช่วยเหลือให้คนยากคนจนที่อยู่ในชนบทให้สามารถขายสินค้าได้ และสามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจนให้กับคนจีนได้สำเร็จ

“เรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจนในจีน ธนาคารโลกยังยอมรับว่าการใช้ระบบดิจิทัล การค้าขายออนไลน์ ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนได้จริง โดยลดจำนวนผู้ยากจนจากที่มีอยู่ 30% ของประชากร ลดลงเหลือแค่ 8% ในปัจจุบัน ผมจึงได้หารือกับแจ็คหม่าว่าสนใจโมเดลนี้ และอยากได้รายละเอียดการทำโครงการมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาความยากจนในไทย โดยผมบอกกับแจ็คหม่าว่าเรื่องคนจน ผมไม่ยอม ซึ่งเท่าที่พูดคุยกันเคมีผมกับแจ็คหม่าถือว่าตรงกันในเรื่องนี้ และเขาก็พร้อมที่จะสนับสนุน โดยได้มอบหมายให้ผู้ที่ดูแลโครงการไปพูดคุยในรายละเอียดต่อ ผมจึงต้องเดินทางไป” นายสนธิรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ หลังจากไปหารือรายละเอียดการขับเคลื่อนโครงการเถาเป่าวิลเลจแล้ว จะนำรายละเอียดต่างๆ มาปรับใช้กับการแก้ไขปัญหาความยากจนในไทย โดยจะมีความชัดเจนว่าจะเริ่มที่จังหวัดไหน สินค้าอะไร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องดำเนินการอะไรบ้าง โดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นแกนในการขับเคลื่อนหลัก เพราะที่ผ่านมา มีหลายๆหน่วยงานทำ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะผลักดันให้สำเร็จให้ได้

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังได้หารือกับผู้บริหารเหอหม่า ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของอาลีบาบาที่จำหน่ายสินค้าสด เช่น ผัก ผลไม้ อาหารทะเล ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าเพื่อรับประทานที่ร้าน หรือซื้อแล้วให้จัดส่งไปที่บ้านก็ได้ โดยจุดเด่นของเหอหม่า คือ ขายสินค้าสด ที่มีต้นทุนถูกกว่าราคาจำหน่ายในท้องตลาด โดยกระทรวงฯจะร่วมมือในการจัดส่งสินค้าสดให้กับเหอหม่า เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคชาวจีน

“ตอนนี้กำลังคุยกันในรายละเอียดว่าเหอหม่าต้องการสินค้าอะไร ปริมาณเท่าไร คุณภาพ มาตรฐานแบบไหน ราคาเป็นยังไง ซึ่งหากได้ข้อสรุป จะสร้างโอกาสในการส่งออกสินค้าอาหารสดของไทยไปจีนได้อีกมาก”

นอกจากนี้ ยังได้หารือกับอาลีบาบาในการเพิ่มจำนวนสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายใน Tmall ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายสินค้าข้าว ทุเรียน และลำไยไปแล้ว โดยขณะนี้ กำลังอยู่ระหว่างการคัดเลือกสินค้าเข้าไปจำหน่ายเพิ่มขึ้น

People unity news online : post 12 พฤศจิกายน 2561 เวลา 23.30 น.

“สนธิรัตน์” สนใจนำเครือข่ายโลจิสติกส์อัจฉริยะของไช่เหนี่ยวเน็ตเวิร์คเชื่อมโยงโลจิสติกส์ไทย

People unity news online : สนธิรัตน์ นำผู้บริหารเข้าดูงานไช่เหนี่ยวเน็ตเวิร์ค ดูการจัดการสต็อคสินค้าที่ทันสมัยที่สุดในเครือกลุ่มอาลีบาบา เผยเตรียมเชิญผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยหารือ

6 พฤศจิกายน 2561 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการนำคณะซึ่งพร้อมด้วย นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมกิจการไช่เหนี่ยวเน็ตเวิร์ค (Cainigo Network) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ภายใต้อาลีบาบากรุ๊ป ว่า การเยี่ยมชมศูนย์กลางโลจิสติกส์ครั้งนี้มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะเรื่องของระบบการจัดการล้ำยุคที่ไช่เหนี่ยวเน็ตเวิร์ค นำมาใช้ เช่น ระบบ AI ระบบ Edge Computing อีกทั้งการลดลงต้นทุนโดยนำโรบอท AGV (Automatic Guided Vehicles) เข้ามาใช้งานด้วย

สำหรับ โรบอทที่นำมาใช้กว่า 500 ตัว ทำหน้าที่ในการหยิบและแพ็คสินค้า ช่วยลดขั้นตอนการทำงานของพนักงานได้ถึง 50,000 ขั้นตอนต่อคนต่อวัน นอกจากนี้ ภายในคลังสินค้ายังใช้เซนเซอร์อินฟราเรด ที่สามารถระบุความสูงของกองสินค้าคงคลัง และใช้กล้องคำนวณความสามารถในการบรรจุของคลังแบบเรียลไทม์ ทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว ปัจจุบัน ไช่เหนี่ยวสามารถให้บริการส่งสินค้าไปยัง 30 เมืองในต่างประเทศครอบคลุมทุกภูมิภาคได้ภายใน 5 วัน โดยมีเป้าหมายจะให้บริการส่งสินค้าไปยังทุกพื้นที่ในโลกภายใน 72 ชั่วโมง ภายใน 3 ปี

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าระบบที่ไช่เหนี่ยวเน็ตเวิร์คนำมาใช้ในระบบโลจิสติกส์ขนส่งสินค้าที่มีการสั่งซื้อผ่านการค้าอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบาเอง ที่จะคอยให้บริการลูกค้านั้น เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และน่าสนใจที่จะทำอย่างไรให้โลจิสติกส์ไทยจะเป็นส่วนหนึ่งในซัพพลายเชนให้กับไช่เหนี่ยวเน็ตเวิร์คได้ อีกทั้งประโยชน์ที่ไทยจะได้เรียนรู้ระบบการจัดการโรบอท ที่จะนำมาปรับปรุงการจัดการขนส่งสินค้าของไทย เพราะมองว่าเป็นเรื่องยากที่เราจะเข้าแข่งขัน แต่หากสร้างพาร์ทเนอร์จะเป็นการดีมากกว่า

ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมหารือและเชิญผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยเข้ามาหารือเกี่ยวกับการสร้างความเชื่อมโยงกับไช่เหนี่ยวเน็ตเวิร์คจะดำเนินการเชื่อมโยงได้อย่างไรบ้าง เพราะกิจการโลจิสติกส์จำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายอย่างไร มีเป้าหมายที่ต้องการยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง หรือฮับโลจิสติกส์อัจฉริยะในภูมิภาค ซึ่งแนวโน้มการค้าโลกที่มุ่งสู่ยุค E-Commerce อย่างเต็มรูปแบบ ไทยก็คงหนีไม่พ้นจึงต้องเตรียมความพร้อมและต้องพัฒนาเครือข่ายโลจิสติกส์อัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพสูงไว้รองรับ

People unity news online : post 6 พฤศจิกายน 2561 เวลา 14.00 น.

ก.คลังรายงานเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีทุกภาค เหนือ อีสาน ใต้ ออก ตก กทม. ปริมณฑล

People unity news online : เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในหลายภูมิภาค นำโดย ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี

29 ตุลาคม 2561 นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลังพร้อมด้วย นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง และ นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกันยายน ปี 2561 ว่า “เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนกันยายน และไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ในหลายภูมิภาค นำโดย ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว  สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชัยนาท ลพบุรี และอ่างทอง เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 5.6 เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 28.8 และ 3.1 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 15.5 และ 3.3 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสระบุรี และสิงห์บุรี เป็นต้น นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 อยู่ที่ 8,976 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 75.2 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสระบุรี เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลางที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 96.5 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี จากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.6 และ 11.3 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายนเบื้องต้น 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรมช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 14.7 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 19.8 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 9.9 และ 4.2 ต่อปี ตามลำดับ จากขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัด ระยอง และสระแก้วเป็นต้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.2 และ 11.4 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับเม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ อยู่ที่ 8,244 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 64.9 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดระยอง และปราจีนบุรี สำหรับด้านอุปทาน การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกในเดือนกันยายน ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 109.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมโลหะการ และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.2 และ 8.2 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดตาก นครสวรรค์ และเชียงใหม่ เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 6.7 และ 7.8 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 27.8 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดตาก และเชียงใหม่ เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 3.6 และ 8.4 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวเร่งร้อยละ 28.3 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดราชบุรี เพชรบุรี  และกาญจนบุรี เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 21.3 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปี ขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัว สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.9 ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 679 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 78.9 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสุพรรณบุรี เป็นต้น  สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.0 และ 7.9 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.7 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ต่อปี ในขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 หดตัว อย่างไรก็ดีการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนกันยายน 2561 ขยายตัวร้อยละ 12.8 ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 818 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและตรัง เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดีแม้จะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อน ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.9 และ 6.6 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนกันยายน 2561 อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจทรงตัว แต่มีการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.6 และ 6.2 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดขอนแก่น สกลนคร และสุรินทร์  ตามลำดับ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และยอดรถจักรยานยนต์หดตัวที่ร้อยละ -0.03 และ -6.3 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ยังคงขยายตัวร้อยละ 13.6 ต่อปี จากการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ทั้งจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.9 และ 9.2 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนกันยายน 2561 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 89.4 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายนเบื้องต้น ยังคงอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคภายในภูมิภาคที่ร้อยละ  1.0 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจทรงตัว แต่มีการลงทุนภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 13.2 และ 9.3 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนหดตัวลง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -4.9 และ -2.3 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าทั่วไปยังคงขยายตัว สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดนครปฐม กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนสิงหาคม ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ  ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนกันยายนเบื้องต้น 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

People unity news online : post 30 ตุลาคม 2561 เวลา 08.40 น.

“ประยุทธ์” ระบุการก่อสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 ต้องทันเวลาที่กำหนด

People unity news online : นายกรัฐมนตรีระบุการก่อสร้างสุวรรณภูมิเฟส 2 ต้องทันเวลาที่กำหนด เป็นไปตามกฎหมาย โปร่งใส ตรวจสอบได้

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2561 เวลา 14.40 น. ณ บริเวณห้องโถงชั้น 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงความคืบหน้าการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 จะสามารถเปิดใช้ได้ทันตามกำหนดหรือไม่ว่า ความคืบหน้าขณะนี้เป็นการทำงานของกระทรวงคมนาคม และการท่าอากาศยาน โดยดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย เน้นความโปร่งใส ถูกต้อง และเป็นธรรม ให้มีการตรวจสอบ เร่งรัด รายงานผล เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพราะจะเสียเวลามากไม่ได้ ทุกอย่างมีกติกาหมด ถ้าพิสูจน์ได้ว่าไม่ดี ไม่ถูกต้อง ก็มีวิธีการอยู่แล้ว ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ต้องไปสั่งทุกเรื่องว่าใช่หรือไม่ใช่  ได้หรือไม่ได้ เพราะไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรีทั้งหมด

People unity news online : post 26 ตุลาคม 2561 เวลา 08.10 น.

 

ประธาน JETRO และ Mitsui เข้าพบ “ประยุทธ์” โปรยยาหอมยืนยันลงทุนในไทย

People unity news online : เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2561 เวลา 17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น นายฮิโรยูกิ อิชิเกะ (Mr. Hiroyuki Ishige) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ โรงแรมนิว โอตานิ (Hotel New Otani) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณ JETRO ที่ช่วยผลักดันเอกชนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนใน EEC อย่างต่อเนื่อง และขอให้ช่วยสนับสนุนให้เอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนสถาบันวิจัยและพัฒนาของญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนใน EEC เพิ่มขึ้น รวมทั้งเชิญชวนเอกชนญี่ปุ่นเข้าร่วมประมูลในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่างๆที่จะเปิดประมูลในปีนี้ โดยเฉพาะการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด โดยขอให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยจะเดินหน้าโครงการ EEC อย่างต่อเนื่อง และพร้อมดูแลเอกชนญี่ปุ่นเป้นอย่างดี

ด้านประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กล่าวชื่นชมนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs และ Start-ups ไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นนโยบายที่ช่วยยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมในไทย พร้อมกันนี้ JETRO ยังยินดีที่ญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยตามนโยบายดังกล่าว และ JETRO ยังพร้อมสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านเทคนิคเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมใหม่ๆของไทยต่อไป

หลังจากนั้น เวลา 17.40 น. ตามเวลาท้องถิ่น นายทัตสึโอะ ยาสุนากะ ประธานและ CEO บริษัท Mitsui & Co. เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยใน EEC ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาใน EEC และการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันดิบในไทยของบริษัท Mitsui Oil Exploration (MOECO) บริษัทในเครือ ซึ่งร่วมทุนกับบริษัทเชฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวให้ความเชื่อมั่นว่า กระบวนการประมูลเพื่อขอสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยรอบใหม่จะเป็นไปด้วยความโปร่งใส โดยคาดว่าจะประกาศชื่อผู้ชนะประมูลดังกล่าวภายในสิ้นปีนี้ และลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตประมาณต้นปี 2562

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงการลงทุนในธุรกิจผลิตน้ำตาลในไทยของบริษัท Mitsui & Co. ซึ่งมีมากว่า 40 ปี และความสนใจของบริษัท Mitsui & Co. ในการพัฒนาระบบรางของไทย โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลทั้งสองฝ่ายกำลังตกลงเรื่องรูปแบบในด้านการเงินในโครงการฯ

People unity news online : post 10 ตุลาคม 2561 เวลา 10.30 น.

Verified by ExactMetrics