วันที่ 7 เมษายน 2025

นายกฯ หารือบริษัทปิโตรเลียมรายใหญ่ของอิตาลี เพิ่มโอกาสความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 20 พฤษภาคม 2567 นายกฯ หารือ บริษัท Eni บริษัทปิโตรเลียมชั้นนำรายใหญ่ของอิตาลี เพิ่มโอกาสความร่วมมือด้านเทคโนโลยีด้านพลังงาน รวมทั้งพลังงานสะอาด

วันนี้ (20 พฤษภาคม 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ เวลา 14.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโรม ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) ณ ห้อง Earth Lab Creative Event Space โรงแรม Six Senses นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบหารือกับนาย Guido Brusco, Chief Operating Officer Natural Resources บริษัท Eni

บริษัท Eni เป็นบริษัทปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดของอิตาลี และเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก โดยเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจน้ำมันและก๊าซ การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน การกลั่น กิจกรรมทางเคมี และกระบวนการทางเศรษฐกิจหมุนเวียน บริษัทมีกิจการใน 61 ประเทศ

นายกรัฐมนตรีหารือเพื่อโอกาสการลงทุน พร้อมพิจารณาความเป็นไปได้ในการขยายการค้าในประเทศไทยร่วมกัน ซึ่งครอบคลุมธุรกิจ LNG รวมถึงการศึกษาวัตถุดิบในประเทศไทยสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งกิจการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งรวมถึง โอกาสความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือก

Advertisement

นายกฯ หารือผู้บริหาร Formula One ศึกษาความเป็นไปได้จัด F1 ในไทย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 19 พฤษภาคม 2567 นายกฯ พบหารือผู้บริหาร Formula One Group เยี่ยมชมพื้นที่สนามจริง รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดการแข่งขัน F1 ในประเทศไทยซึ่งเป็นอีกหนึ่ง Event ดึงดูดการท่องเที่ยวของรัฐบาล

วันนี้ (19 พฤษภาคม 2567) เวลา 13.00 น. (เวลาท้องถิ่นเมืองมิลาน ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับผู้บริหาร F1 รวมทั้งได้เยี่ยมชมสนามแข่งรถ Autodromo Enzo e Dino Ferrari เมืองโบโลญญา ประเทศอิตาลี

Formula 1 ถือสิทธิ์ในการจัดการแข่งขัน FIA Formula One World Championship ซึ่งเป็นการแข่งขันประจำปี ครอบคลุมระยะเวลาประมาณ 9 เดือน

การแข่งขัน Formula 1 เป็นการแข่งรถที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในซีรีย์กีฬาประจำปีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก โดย 2024 FIA Formula One World Championship จัดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – ธันวาคม ครอบคลุมการแข่งขัน 24 รายการ ใน 21 ประเทศ 5 ทวีป

รัฐบาลสนับสนุนความร่วมมือ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ในการเป็นเจ้าภาพจัด Formula One ที่ กรุงเทพฯ ซึ่งจะสร้างโอกาส ขยายศักยภาพของประเทศ ในการจัดกิจกรรมระดับนานาชาติ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ชุมชน และเยาวชนไทย ถือเป็นอีกหนึ่ง Event ในนโยบายสำคัญของรัฐบาล เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

Advertisement

นายกฯ ขอบคุณข้อเสนอหอการค้าไทย

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 15 พฤษภาคม 2567 ทำเนียบ – นายกฯ ขอบคุณข้อเสนอหอการค้าไทย ยินดีรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน เชื่อมั่นความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีแก่คนไทย ยกระดับเศรษฐกิจให้เติบโตเต็มศักยภาพ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วประเทศ ย้ำพร้อมรับฟัง และร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ขอบคุณ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่จัดประชุมใหญ่หอการค้า 5 ภาค ระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าจากการที่หอการค้าไทยได้จัดประชุมใหญ่ หอการค้า 5 ภาค ซึ่งได้ระดมความคิดเห็นผู้ประกอบการ ทบทวนแผนงานเศรษฐกิจภาคเอกชนของหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ และได้เสนอแผนยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาล เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาคร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อมั่นช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเต็มศักยภาพโดยแบ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ในแต่ภาค ดังนี้

แผนยุทธศาสตร์ภาคกลาง เสนอแผนการขับเคลื่อน 3 ด้าน ได้แก่ 1. การเป็นศูนย์กลางสุขภาพและศูนย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Hub and Wellness) 2. การยกระดับอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับ Food Valley และ Innovation Hub 3. การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นๆ สำหรับภาคเหนือ หอการค้าภาคเหนือผลักดันส่งเสริมพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC – Creative LANNA) ตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG พร้อมทั้งยกระดับสนามบินพิษณุโลกสู่การเป็นสนามบินนานาชาติ มุ่งเชื่อมโยงให้เกิดการท่องเที่ยวสู่ภูมิภาคอื่น ๆ

ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เสนอให้เป็นดินแดนแห่งการเชื่อมโยงและรุ่งเรืองในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงผ่าน 4 แผน ได้แก่ 1. การค้าและการท่องเที่ยว พื้นที่ชายแดนติดกับประเทศลาว 2. เกษตรและอาหาร ส่งเสริมโครงการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพสูง 3. ท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ ส่งเสริมการท่องเที่ยวสายมู รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกที่อุดรธานีในปี 2569 และ 4. แผนบริหารจัดการแม่น้ำโขง แม่น้ำเลย แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม และการขาดแคลนน้ำ

ภาคตะวันออก เสนอให้เร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC ครอบคลุมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินภายในปี 2571 โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โครงการสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาภายในปี 2571  และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ภายในปี 2570 ผลักดันการขยายพื้นที่ EEC เพิ่มจังหวัดปราจีนบุรี นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้เกิดการวิจัยในระดับนานาชาติ และเร่งการลงทุนด้านการพัฒนาการศึกษา ยกระดับสมรรถนะกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ภาคใต้ วางแผนขับเคลื่อน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดระนอง ให้เป็นท่าเรือสินค้าคอนเทนเนอร์ ขนส่งสินค้าเส้นทางเดินเรือในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ 2. การสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติอันดามัน จังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นศูนย์กลางแสดงสินค้าและแลกเปลี่ยนธุรกิจ 3. การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทย เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเรือสำราญ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและสงขลา 4. การพัฒนาการเชื่อมโยงโลจิสติกส์กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ รองรับการเป็นศูนย์กลางสินค้าฮาลาล

“นายกรัฐมนตรีพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะในการพัฒนาแผนงานเศรษฐกิจจากทุกภาคส่วน และยินดีส่งเสริมการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อดึงศักยภาพของแต่ละภูมิภาคพัฒนาให้ครอบคลุมทุกมิติตามเป้าหมาย ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจักได้นำความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของทุกภาคส่วนมาประกอบกันเป็นแนวทางที่มีประโยชน์ในการทำงาน ขับเคลื่อนไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค” นายชัย กล่าว

Advertisement

ออมสินแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ปล่อยกู้ค่าเทอม ชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ไม่ต้องมีหลักประกัน ไม่ต้องมีผู้ค้ำ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 14 พฤษภาคม 2567 ออมสิน ออกสินเชื่อต้อนรับเปิดเทอม แบ่งเบาภาระผู้ปกครองตามนโยบายรัฐ ครอบคลุมค่าเทอม ชุดนักเรียน และอุปกรณ์ ดอกเบี้ยคงที่ 0.60% ต่อเดือน ผ่อนนาน 1 ปี

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลัง โดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบนโยบายให้ธนาคารออมสินออกมาตรการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระผู้ปกครองที่ต้องเตรียมความพร้อมแก่บุตรหลานในช่วงเวลาเปิดภาคเรียน ซึ่งนักเรียนอาจต้องมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 3,000 – 9,000 บาท/ราย สำหรับใช้จับจ่ายซื้อชุดเครื่องแบบนักเรียน ค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียน รวมถึงค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าหลักสูตร เป็นต้น

ในการนี้ ธนาคารจึงเร่งออกมาตรการ “สินเชื่อธนาคารประชาชนต้อนรับเปิดเทอม” เพื่อช่วยเหลือลดภาระรายจ่ายของผู้ปกครองที่ต้องเตรียมจัดหาอุปกรณ์การศึกษาของบุตรหลาน ค่าเครื่องแบบ ค่าเรียน ฯลฯ ในช่วงเปิดภาคเรียน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่ร้อยละ 0.60 ต่อเดือน วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินรายละ 10,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 1 ปี (12 งวด) หรือคิดเป็นประมาณการค่างวดผ่อนชำระ 894 บาทต่อเดือน (รวมเงินต้นและดอกเบี้ย) สามารถกู้ได้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน และไม่มีผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อยื่นขอสินเชื่อธนาคารประชาชนต้อนรับเปิดเทอมได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขา ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2567

Advertisement

รมว.พาณิชย์ ปลื้มกล้วยหอมไทยขึ้นห้างญี่ปุ่นสำเร็จ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 13 พฤษภาคม 2567 ญี่ปุ่น – รมว.พาณิชย์ ปลื้มสำรวจห้างค้าปลีกใหญ่ญี่ปุ่น เบเชีย (Beisia) พร้อมช่วยโปรโมท ”กล้วยหอมไทย“ หลังทูตพาณิชย์โตเกียว จับมือพาณิชย์จังหวัดโคราชสามารถทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ถึง 5,000 ตัน ส่งตรงผลไม้ไทยคุณภาพขึ้นห้างญี่ปุ่นสำเร็จ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเข้าสำรวจสินค้าไทยในซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น เบเชีย (Beisia) ที่สาขาโทมิซาโตะ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ช่วงเย็นวานนี้ (12 พ.ค.67) โดยห้างฯมีผลไม้และสินค้าไทยหลายชนิดไปวางจำหน่าย อาทิ กล้วยหอม มังคุด มะม่วง มะขาม ข้าวโพดหวาน มะพร้าว ไก่และปลากระป๋อง เป็นต้น และที่เป็นไฮไลต์คือ กล้วยหอมของไทยที่นำมาจำหน่าย เป็นผลสำเร็จจากการทำงานเชิงรุกร่วมกันระหว่างพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ จนสามารถทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ถึง 5,000 ตัน ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก และจะมีการผลักดันให้นำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์ไทยไปวางจำหน่ายเพิ่มขึ้นหลังจากนี้

อย่างไรก็ตาม ได้มาติดตามความสำเร็จ จากการบูรณาการเชิงรุกระหว่างทูตพาณิชย์โตเกียว กับพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา ที่ได้ร่วมกันผลักดันกล้วยหอมไทยสู่ตลาดญี่ปุ่น ตามนโยบายการเร่งผลักดันการใช้ประโยชน์จาก FTA ของไทย โดยไทยกับญี่ปุ่นได้มีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 โดยญี่ปุ่นให้สิทธิพิเศษยกเว้นภาษีนำเข้ากล้วยจากไทยเป็นจำนวน 8,000 ตัน แต่ที่ผ่านมายังใช้สิทธิ์ไม่ครบ คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคกล้วยมาก แต่ปลูกได้เองน้อย ต้องนำเข้าเฉลี่ยถึงปีละ 1 ล้านตัน ที่ผ่านมาไทยได้ใช้สิทธิพิเศษดังกล่าวเพียงปีละไม่ถึง 3,000 ตัน จึงตั้งเป้าเร่งส่งออกสินค้ากล้วยของไทยอีก 5,000 ตัน ให้ครบโควต้าที่ไม่เสียภาษี ซึ่งขณะนี้ สามารถทำการส่งออกกล้วยหอมของไทยมาได้เพิ่มขึ้นจากการบูรณาการทำงานในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมสั่งซื้อสินค้าผลไม้ล่วงหน้าก่อนผลผลิตออกของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทูตพาณิชย์ และพาณิชย์จังหวัด

ทั้งนี้ การผลักดันกล้วยหอมไทยสู่ตลาดญี่ปุ่นในครั้งนี้ ทูตพาณิชย์โตเกียว ได้นำผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วยชาวญี่ปุ่นลงพื้นที่พัฒนาเทคนิคการปลูกให้ได้คุณภาพและปริมาณตามมาตรฐานญี่ปุ่น และนำนวัตกรรม “ไมโคร นาโน บับเบิ้ลส์” ของมหาวิทยาลัยล้านนา มาช่วยยืดระยะเวลาการสุกของกล้วยที่จะส่งมาขาย ขณะที่พาณิชย์จังหวัดโคราชประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ เกษตรจังหวัด อบจ. อบต. สร้างความพร้อมในการส่งออกให้เกษตรกร อาทิ การทำห้องเย็น โรงคัดแยกที่ได้มาตรฐาน ทำให้เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2566 ได้นำคณะผู้นำเข้าญี่ปุ่น รวมถึงฝ่ายจัดซื้อของซุปเปอร์มาร์เก็ตเบเชีย (Beisia) ลงนามทำสัญญาซื้อขายที่จังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งสิ้น 5,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 100 ล้านบาท โดยวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตเบเชีย (Beisia) 125 สาขา ร้าน Co-op สหกรณ์ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ และแพลตฟอร์ม OISIX ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจำหน่ายอาหารพร้อมทานที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และห้างฯมีกำหนดจัด Thai Festival ในเดือน มิ.ย.นี้ ใน 133 สาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะมีทุเรียนของไทยจำหน่ายด้วย

“จะเห็นว่ากล้วยหอมที่นี่มีความชุ่มฉ่ำอยู่ตลอดเวลา เกิดจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทางมหาวิทยาลัยล้านนาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ยืดอายุผลไม้ให้ยาวนานขึ้น จากนี้กระทรวงพาณิชย์จะเชิญผู้เชี่ยวชาญมาคุยกัน เพื่อนำไปใช้กับผลไม้ไทยอื่นๆ ให้สามารถส่งสินค้าได้สดน่ารับประทาน จากการผลักดันขายกล้วยหอมไทยมาญี่ปุ่นครั้งนี้ประสบความสำเร็จ จากนี้เราจะทำเพิ่มขึ้นอีกกับผลไม้อื่นๆ เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีช่องทางจำหน่ายมากขึ้น อยากพัฒนาเกษตรกรให้ขึ้นมาเป็นเกษตรสมัยใหม่เอาวิทยาการมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น“ นายภูมิธรรมกล่าว

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ แจ้งว่า บริษัท Beisia จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1996 ด้วยเงินทุนจดทะเบียนประมาณ 750 ล้านบาท ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 11,200 คน ประกอบธุรกิจห้างจำหน่ายสินค้าขนาดใหญ่ โดยมีห้างในเครือ เช่น Beisia (133 สาขา) มียอดขายประมาณ 100,000 ล้านบาทต่อปี โดยบริษัทฯได้ร่วมกิจกรรมส่งเสริมการขายกับทูตพาณิชย์โตเกียวมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้นำเข้า ผลไม้สด ไก่สดแช่แข็ง อาหารทะเลแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยวจากไทย รวมกว่า 60 รายการ สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169 ได้

Advertisement

“ส้มควายภูเก็ต” ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI แล้ว

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 10 พฤษภาคม 2567 อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าขึ้นทะเบียน “ส้มควายภูเก็ต” สินค้า GI รายการใหม่ อนุรักษ์ต่อยอดภูมิปัญญา สร้างรายได้ สร้างอาชีพแก่เกษตรกรชาวภูเก็ตอย่างยั่งยืน

กรมทรัพย์สินทางปัญญา เดินหน้าขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “ส้มควายภูเก็ต” สินค้าภูมิปัญญาคุณภาพดี รสชาติเปรี้ยวจัด มีคุณค่าทางโภชนาการ แปรรูปได้หลากหลาย ทั้งรูปแบบผลสด แบบแห้งและแบบผง อีกหนึ่งสินค้าเด่นจากจังหวัดภูเก็ต สร้างความภาคภูมิใจและรายได้สู่จังหวัดภูเก็ตกว่า 3.6 ล้านบาท

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญายังคงเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่น ผ่านนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าในแต่ละท้องถิ่น ตลอดจนให้ความคุ้มครองและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยกรมฯ จะเดินหน้าส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และขยายช่องทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ส้มควายภูเก็ต” สินค้า GI รายการใหม่ลำดับที่ 3 ของจังหวัดภูเก็ตต่อจากสินค้าสับปะรดภูเก็ตและมุกภูเก็ต ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้

“ส้มควายภูเก็ต” เป็นพันธุ์ส้มที่มีทรงผลกลม ร่องผิวเปลือกตื้น เนื้อละเอียด หนา แน่น รสชาติเปรี้ยวจัด มีขอบเขตการปลูกครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดภูเก็ต ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนเหนียว อุดมไปด้วยธาตุอาหารหลักที่จำเป็น อีกทั้งสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกชุกตลอดปี ถือเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกต้นส้มควาย ทำให้ต้นส้มเจริญเติบโตได้ดี ทั้งในมิติของการจัดการใบ ดอก และติดผล สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี

“ส้มควายภูเก็ต” เป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการและสารสำคัญต่างๆ ผสมผสานกับกระบวนการผลิตที่พิถีพิถัน มีการควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การเก็บเกี่ยว จนถึงการแปรรูป โดยอาศัยทั้งภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมา ร่วมกับการส่งเสริมจากหลายภาคส่วนในจังหวัด ส่งผลให้ส้มควายภูเก็ตเป็นสินค้า ที่มีคุณภาพดี สามารถนำมาจำหน่ายได้ทั้งแบบผลสด แบบแห้ง และแบบผง อีกทั้งยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารพื้นเมืองและเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเวชสำอางค์ได้อีกด้วย ส้มควายภูเก็ตจึงเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่เป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการของตลาด มีการสั่งซื้อส้มควายทั้งแบบขายปลีก ขายผ่านช่องทางออนไลน์ และการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ให้มีการส่งสินค้าไปจำหน่ายนอกพื้นที่จังหวัดภูเก็ต รวมถึงการร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ ทั่วประเทศ ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่กว่า 3.6 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาขอเชิญทุกท่านร่วมสนับสนุนผู้ประกอบการ GI และอุดหนุนสินค้า GI ไทย โดยติดตามข้อมูลสินค้า GI รายการต่างๆ และข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องได้ที่ เพจ Facebook : GI Thailand หรือสอบถามเพิ่มเติมโทรสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา 1368 ได้

Advertisement

ปลัดแรงงานระบุ ขึ้นค่าแรง 400 บาท ต้องรอลุ้นผลประชุม 14 พ.ค.

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 9 พฤษภาคม 2567 ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยความคืบหน้าค่าแรง 400 บาท ยังต้องรอลุ้นผลประชุมวันที่ 14 พ.ค.นี้ ยืนยันพยายามให้ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความกังวลใจของหลายฝ่ายต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทนั้นว่า ขั้นตอนของการปรับค่าจ้างขณะนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจและศึกษาข้อมูล ซึ่งผมได้สั่งการให้แรงงานจังหวัดในแต่ละพื้นที่ประชุมหารือกับผู้ประกอบการเพื่อนำข้อมูลมาพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละจังหวัด ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดอย่างมีหลักวิชาการและเป็นมาตรฐาน ภายใต้อำนาจของไตรภาคี คือ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล

นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้แรงงานได้รับความเดือดร้อน ประกอบกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนและทำให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้นำนโยบายรัฐบาลมาศึกษาและขยายผลในการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ผ่านกลไกระบบไตรภาคี โดยจะพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อนายจ้างและลูกจ้าง ในส่วนของความกังวลใจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น กระทรวงแรงงานจะมีการรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการว่ากิจการประเภทไหนได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งชี้แจงถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาท เนื่องจากแรงงานได้รับความเดือดร้อนจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมทั้งจะรับฟังข้อเสนอมาตรการความช่วยเหลือจากภาคเอกชน เพื่อนำข้อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อออกเป็นมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวต่อไป อย่างไรก็ดี จะพยายามให้ทุกฝ่ายได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2567 ครั้งที่ 1 มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 ต่อมา คณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท นำร่องพื้นที่ 10 จังหวัด ในกิจการประเภทโรงแรม ระดับ 4 ดาว และมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 โดยจังหวัดภูเก็ตขึ้นทั้งจังหวัด ส่วนอีก 9 จังหวัดขึ้นบางพื้นที่ คือ 1.กรุงเทพมหานคร เฉพาะเขตปทุมวัน และเขตวัฒนา 2.จังหวัดกระบี่ เขตองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง 3.จังหวัดชลบุรี เขตเมืองพัทยา 4.จังหวัดเชียงใหม่ เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ 5.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขตเทศบาลหัวหิน 6.จังหวัดพังงา เขตเทศบาลตำบลคึกคัก 7.จังหวัดระยอง เขตตำบลบ้านเพ 8.จังหวัดสงขลา เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ และ 9.จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตอำเภอเกาะสมุย

Advertisement

หอการค้าไทย ออกแถลงการณ์ ค้านขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 7 พฤษภาคม 2567 หอการค้าไทยและสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น คัดค้านขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ยันจุดยืน เอกชนไม่ได้มีความพร้อมทุกราย

จากกรณีเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 ซึ่งตรงกับวันแรงงานที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาทแบบถ้วนหน้าทั่วประเทศทุกอาชีพ ภายในวันที่ 1 ต.ค. 2567 นั้น

ล่าสุดเช้าวันนี้ (7 พ.ค.) นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ได้แถลงข่าวคัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ

นายพจน์ ได้อ่านแถลงการณ์คัดค้าน พร้อมกล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ 54 สมาคมการค้า ได้ส่งรายชื่อไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงดังกล่าวเพราะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนจนไม่เหลือผลกำไร และทางหอการค้าไทย จะนำรายชื่อสมาคมที่คัดค้านไปยื่นให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในวันที่ 13 พ.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีร่วม 100 สมาคมการค้าที่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง

ทั้งนี้ หอการค้าทั่วประเทศและสมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น เห็นด้วยกับการยกระดับรายได้ให้แรงงานแต่การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีควรปรับตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 การขึ้นค่าแรงควรคำนึงถึงผลการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) อีกครั้ง การปรับอัตราค่าจ้างควรพิจารณาจากทักษะฝีมือแรงงาน และการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉพาะพื้นที่จังหวัดและประเภทธุรกิจ ควรมีการรับฟังความคิดเห็นและศึกษาความพร้อมของแต่ละจังหวัด

การปรับค่าแรงจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเพราะบางจังหวัดจะขึ้นไปถึง 21% ดังนั้นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยไม่คำนึงถึงตามที่กฎหมายกำหนดจะทำให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการ หยุดกิจการ ลดขนาดกิจการหรือปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี จนนำไปสู่การปลดลูกจ้างและเลิกจ้างพนักงานในที่สุด

นายธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับค่าจ้างครั้งนี้ คือ การกระชากด้วยนโยบายจากการหาเสียงไม่ได้ปรับขึ้นตามความจำเป็น โดยปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยเติบโตเพียงแค่ 1.9% และเมื่อมองย้อนหลังไป 3 ปี เศรษฐกิจไทยเติบโตแค่ 6% ซึ่งจากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า การปรับค่าจ้างแรงงาน ควรปรับตามกลไกและตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น การปรับครั้งนี้จะทำให้การจ้างงานไม่สดใส ผู้ประกอบการจะหันไปใช้เครื่องจักรมากขึ้นในอนาคต

Advertisement

สหรัฐคงสถานะไทย Watch List ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 6 พฤษภาคม 2567 อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยสหรัฐคงสถานะไทยในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List) ย้ำชื่นชมประเทศไทยพัฒนาการและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐของไทยได้ดีเยี่ยม แต่สหรัฐมีข้อห่วงกังวลปัญหามีการลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ การแอบอ้างสิทธิในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ และอื่นๆ ขอให้ไทยแก้ไข

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (United States Trade Representative : USTR) ประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา โดยคงสถานะไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List : WL) ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยมาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมเดินหน้าชี้แจงสหรัฐ ถึงพัฒนาการ และเร่งขับเคลื่อนการเจรจาแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) เพื่อผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชี WL

ทั้งนี้ จากการประกาศสถานะดังกล่าว สหรัฐตระหนักถึงพัฒนาการด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทย โดยเฉพาะการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายลิขสิทธิ์ และกฎหมายสิทธิบัตร รวมทั้งชื่นชมความพยายามของหน่วยงานไทยในการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการบูรณาการภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของสิทธิ ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ศุลกากร การจัดทำระบบฐานข้อมูลเครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ของกรมศุลกากร (Thai Customs IPR Recordation System : TCIRs) การจัดทำแผนปฏิบัติการเร่งด่วนในการดำเนินการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อกำหนดพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ

อย่างไรก็ดี สหรัฐยังคงมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับปัญหาบางประการ อาทิ ยังคงมีการลักลอบบันทึกภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ การแอบอ้างสิทธิในการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ผ่านอุปกรณ์หรือแอปพลิเคชันสำหรับการสตรีมและดาวน์โหลด content โดยไม่ได้รับอนุญาต และความล่าช้าในการดำเนินคดีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา

ทั้งนี้ กรมฯ มองว่าทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านการส่งเสริม การคุ้มครอง และการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่ผ่านมากรมฯ ได้เร่งพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศอย่างต่อเนื่องและมีพัฒนาการที่ชัดเจน โดยไทยมุ่งมั่นดำเนินทุกภารกิจเพื่อที่จะหลุดจากบัญชี WL และทุกบัญชีให้ได้ ซึ่งเห็นได้จากการดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อทุกข้อกังวลของสหรัฐ หลายเรื่องได้ดำเนินการสำเร็จไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการ Smart DIP ซึ่งอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้กับประชาชนในการให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา มีเพียงบางเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Performances and Phonograms Treaty : WPPT) และการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (Hague Agreement Concerning International Registration of Industrial Designs : Hague Agreement)

อย่างไรก็ตาม กรมฯ มั่นใจว่าสหรัฐจะพิจารณาให้ไทยหลุดจากบัญชี WL และทุกบัญชีในไม่ช้านี้ ทั้งนี้ กรมฯ ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เห็นถึงความสำคัญของการคุ้มครองและการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จึงขอเน้นย้ำว่ากรมฯ จะเร่งผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชี WL ให้สำเร็จโดยเร็ว โดยเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 กรมฯ หารือกับ USTR เพื่อเร่งจัดทำแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) ร่วมกับสหรัฐ ซึ่งจะเป็นกรอบในการดำเนินการเพื่อให้ไทยหลุดจากบัญชีดังกล่าวได้ต่อไป

Advertisement

“คลัง” เผย “นายกฯ” สั่งเร่งรัดงบปี 67 เต็มสูบมาโดยตลอด

พีเพิล ยูนิตี้ นิวส์ : 2 พฤษภาคม 2567 “คลัง” เผย “นายกฯ” สั่งเร่งรัดงบปี 67 เต็มพิกัดมาโดยตลอด กรมบัญชีกลางชู 8 มาตรการ เร่งงบค้างท่อ

วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีสื่อสารมวลชนบางรายเขียนลงในคอลัมน์เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยเห็นว่า รัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ไม่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 นั้น กระทรวงการคลังขอเรียนว่า ข้อมูลที่ปรากฏในสื่อดังกล่าวเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลโดยท่านนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมาได้สั่งการและมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนี้

1.มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ

กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้ออกแนวทางการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ โดยให้หน่วยรับงบประมาณดำเนินการ ดังนี้

    1.1 เมื่อได้รับอนุมัติเงินจัดสรรแล้ว กรณีเป็นรายการที่จะต้องดำเนินการหรือเบิกจ่ายโดยสำนักงานในส่วนภูมิภาค ให้เร่งดำเนินการส่งเงินจัดสรรต่อไปยังสำนักงานในส่วนภูมิภาคภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุมัติเงินจัดสรร เพื่อให้สำนักงานในส่วนภูมิภาคดำเนินการใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันต่อไป

    1.2 รายการปีเดียว ให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในเดือนกันยายน 2567

    1.3 รายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณที่เป็นรายจ่ายลงทุนรายการใหม่ ให้ดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567

    1.4 ให้หัวหน้าหน่วยรับงบประมาณรวมทั้งทุนหมุนเวียนภายใต้สังกัด กำกับดูแลเร่งรัดการดำเนินการเพื่อให้สามารถก่อหนี้ และเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมทั้งรายงานผลให้กรมบัญชีกลาง ทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป

    1.5 ดำเนินการเบิกหักผลักส่ง เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ชดใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อนภายในเดือนกรกฎาคม 2567

    1.6 สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จากสำนักงบประมาณ และได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างจนถึงขั้นตอนได้ตัวผู้รับจ้างไว้แล้ว ให้เร่งลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือโดยเร็ว

2.มาตรการลดระยะเวลาการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง

      2.1 การเผยแพร่ร่างประกาศและร่างเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดให้วงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000,000 บาท ให้อยู่ในดุลพินิจของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่จะให้มีการเผยแพร่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการหรือไม่ก็ได้ จากเดิมที่กำหนดเพดานไว้ที่ 5,000,000 บาท

      2.2 การเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป

     (1) การซื้อหรือการจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเผยแพร่ประกาศและเอกสารซื้อหรือจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่งซึ่งมีวงเงินเกิน 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000,000 บาท ไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ ทั้งนี้ สำหรับการซื้อหรือจ้างครั้งหนึ่ง ซึ่งมีวงเงินเกิน 100,000,000 บาท ไม่น้อยกว่า 20 วันทำการ ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาจากที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ

     (2) การจ้างที่ปรึกษา และการจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง โดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ให้หน่วยงานของรัฐเผยแพร่ประกาศและเอกสารการจ้าง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ โดยระยะเวลาการดำเนินการดังกล่าว ให้ใช้กับปีงบประมาณ 2567 เท่านั้น ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาจากที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ

ทั้งนี้ เพื่อให้การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามเป้าหมาย กระทรวงการคลังและคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ จึงได้มีมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนหลายประการ เช่น การกำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบงบลงทุนเป็นตัวชี้วัดของผู้บริหารสูงสุด การกำหนดให้รัฐวิสาหกิจเร่งลงนามในสัญญาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567 โดยให้รัฐวิสาหกิจที่ใช้เงินงบประมาณในการลงทุน เตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาได้ทันทีเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ เป็นต้น

Advertisement

Verified by ExactMetrics