People Unity : สาธุมะกันตัดจีเอสพี! คนไทยจะได้เห็นคุณค่าศก.พอเพียงมากขึ้น ด้าน “หม่อมเต่า” เรียกผู้บริหารก.แรงงานถกด่วน “โฆษกรัฐบาล”ยันไม่เกี่ยวปมแบนสารพิษเกษตรฯ พาณิชย์เผยกระทบส่งออกจิ๊บจ๊อย
วันที่ 27 ต.ค.2562 นายปฐมพงษ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์เฟซบุ๊กกรณีทางการสหรัฐฯ มีคำสั่งให้ระงับข้อตกลงตามมาตรการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) กับสินค้าบางชนิดที่นำเข้าจากประเทศไทยเป็นการชั่วคราว โดยอ้างเหตุผลว่าทางการไทยไม่สามารถยกระดับสิทธิแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล โดยระงับสิทธิพิเศษสินค้าไทย 600 รายการ เกือบ 4 หมื่นล้านบาทว่า คนไทยต้องเป็นไท
เรื่องต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงประเทศไทยต้องอยู่เหนือการเมืองหรือพรรคนะครับ ผลประโยชน์และความอยู่รอดของชาติเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับคนที่อยู่ในแวดวงการเมือง ผมมีข้อติงอยู่ 2 เรื่อง
1.พรรคไหนหรือใครจะเล่นการเมืองอย่างไรก็เล่นไป แต่ไม่ควรดึงต่างชาติมาเพื่อเปลี่ยนเกมทางการเมืองให้ตนเองได้ประโยชน์เหนือพรรคอื่น อย่าทำตัวเป็นหุ่นเชิดทางการเมืองให้ต่างชาติ ไม่เช่นนั้น เราจะไม่มีชาติให้อยู่อาศัย
2.คนที่เป็นรัฐบาลก็ต้องโปร่งใส ดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง อย่าเล่นพรรคเล่นพวกมาก อย่าปล่อยให้มีการทุจริต กฎหมายเป็นกฎหมาย ไม่ใช่ว่าใครเป็นพรรคพวกตัว จะต้องรอดจากกฎหมาย ต้องได้ศรัทธาจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ สงครามพันทางจากต่างชาติจึงจะใช้ไม่ได้ผล
ภารกิจหลักของรัฐบาลคือเอาชนะใจประชาชน ให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง มีเงินจากประกอบการงาน ไม่ใช่เอาชนะใจเจ้าสัวกลุ่มเดียวแล้วไล่แจกเงินแก่ประชาชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประชาชนต้องมีเงินใช้จ่ายจากงานของตนเอง ถ้ายังทำแบบนี้ต่อไป คนจนก็จะจนต่อไป มีแต่เจ้าสัวไม่กี่รายที่จะเจริญ ถ้ารัฐบาลไม่โปร่งใส ทุจริต เล่นพรรคเล่นพวกตลอด ต่างชาติก็จะหยิบเอามาเป็นจุดอ่อนเพื่อระดมบรรดาโทรจันไล่รัฐบาลได้
การคว่ำบาตรของอเมริกาจะทำให้ประเทศไทย
1.หันมาพึ่งตนเองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิจัยและผลิตยาจากตำรายาในคัมภีร์ใบลานซึ่งมีอยู่มากเพื่อให้คนไทยได้ใช้ในราคาถูก ลดการพึ่งพายาจากบริษัทยาในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ต้องไม่ลืมว่าขณะนี้ เวเนซุเอล่าและอิหร่านก็ถูกอเมริกาคว่ำบาตรทั้งยาทั้งอาหาร ห้ามมิตรประเทศอเมริกาซื้อขายยาและอาหารกับอิหร่าน
คนไทยต้องลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ มีตลาดใหม่ที่ดีกว่า สรุปว่าพึ่งพาตนเองได้ทั้งยา ทั้งอาหารในระยะยาว
2.หันไปคบมิตรประเทศหรือมหาอำนาจที่ค้าขายอย่างเป็นธรรมและไม่เอาเปรียบอย่างรัสเซียให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ทำ MOU ไว้สร้างภาพ แผนการต่างๆ ที่ทำไว้ต้อง implement ให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติ อย่างรวดเร็ว เมื่อถูกอเมริกาคว่ำบาตรก็สามารถหาตลาดใหม่ได้
ระวังกันเอาไว้ครับ การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจก็เพื่อให้ไทยยอมจำนนหรือจนตรอกแล้วหันไปทำตามคำสั่ง ถ้าไม่ยอมจำนน ก็จะมีมาตรการคว่ำบาตรอื่นๆ ตามมา รวมทั้งไล่รัฐบาลไปด้วย ประเทศเล็กๆ ต้องตระหนักรู้ ทำใจและเตรียมตัวให้พร้อม ผมมองว่าการคว่ำบาตรของอเมริกาจะทำให้คนไทยเห็นคุณค่าในภูมิปัญญาเศรษฐกิจพอเพียงและรู้จักแยกแยะประเทศที่เป็นมิตรแท้มิตรเทียม และเลือกคบประเทศที่เคารพศักดิ์ศรี บูรณภาพของดินแดนและความเป็นไทของประเทศไทยมากยิ่งขึ้นครับ
“หม่อมเต่า”เรียกผู้บริหารก.แรงงานถกด่วน
รายงานข่าวแจ้งว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ได้เรียกนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะผู้บริหารในกระทรวงหารือเป็นกรณีพิเศษที่กระทรวงแรงงานในเวลา 14.00 น. เพื่อดูรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
“โฆษกรัฐบาล”ยันไม่เกี่ยวปมแบนสารพิษเกษตรฯ
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้รับทราบข้อมูลมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว เมื่อครั้งที่รมว.พาณิชย์ สหรัฐฯ มาร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่ไทย ซึ่งมีการหยิบยกประเด็นนี้มาหารือ ขณะเดียวกันนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ก็ได้มีหนังสือรายงานถึงนายกรัฐมนตรีถึงประเด็นดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้แถลงชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ในเรื่องนี้เอง นอกจากนี้ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่ไทยห้ามนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรของสหรัฐฯ อย่างแน่นอน แต่เป็นคนประเด็นกัน.
พาณิชย์เผยกระทบส่งออกจิ๊บจ๊อย
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบ ประมาณ 0.01% ของการส่งออกรวมของไทยเฉลี่ยรายปี แต่จะมีสินค้าบางรายการที่ใช้สิทธิมากที่อาจได้รับผลกระทบมากกว่ารายการอื่น โดยมีรายละเอียด ดังนี้ โดยสินค้าที่สหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิจีเอสพี ประเทศไทย (Country Review) มีจำนวน 573 รายการ (40% จากจำนวนสินค้าที่ไทยใช้สิทธิในปี 61 รวม 1,485 รายการ) มีผลบังคับใช้ 25 เม.ย. 63 และมีการคืนสิทธิให้ไทย 7 รายการ โดย ปี 61 ไทยมีการใช้สิทธิ จีเอสพีพียง 355 รายการ (จาก 573 รายการ) มูลค่า 1,279.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการใช้สิทธิเฉลี่ย 66.7% อาทิ อาหารทะเลแปรรูป พาสต้า ถั่วชนิดต่างๆ แยมผลไม้ น้ำผลไม้ ซอสถั่วเหลือง เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์เครื่องครัวและของใช้ในบ้าน มอเตอร์ไฟฟ้า เหล็กแผ่นและสเตนเลส เครื่องดนตรี และอุปกรณ์ตกปลา
สำหรับการถูกตัดสิทธิจีเอสพีทำให้ต้นทุนส่งออกไทยจะเพิ่มขึ้นประมาณ 50.33 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากสินค้าไทยกลุ่มนี้จะถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 4.5% (อ้างอิงจากอัตรา MFN rate ของสหรัฐฯ ปี 61) โดย สนค. ประเมินว่า การถูกตัดสิทธิจีเอสพี ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยอย่างจำกัด อัตราภาษีที่สูงขึ้นอาจทำให้ มูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ สำหรับสินค้ากลุ่มที่โดนตัดสิทธิในปี 63 (เมื่อมาตรการมีผลบังคับใช้) ลดลงมูลค่า 28.8 – 32.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.01% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย
นอกจากนี้การส่งออกไทยที่มีจุดเด่นในการกระจายตัวของสินค้ากลุ่มใหม่ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในอนาคต เช่น เครื่องนุ่งห่มรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน จะช่วยยังสนับสนุนการส่งออกของไทยในตลาดสหรัฐฯ ต่อไปได้ แต่การถูกตัด จีเอสพีทำให้ความได้เปรียบด้านต้นทุนภาษีหมดไป และไทยจะเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้น การรักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ส่งออกควรกระชับสัมพันธ์กับผู้นำเข้าพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการส่งเสริมการส่งออกและการตลาดเชิงรุก เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด
“ผู้กองมาร์ค”ข้องใจเกี่ยวกับจีนได้เมกะโปรเจกต์จากรัฐบาล”บิ๊กตู่”หรือไม่
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช หรือผู้กองมาร์ค เลขานุการกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคอุตสาหกรรม สัดส่วนพรรคเพื่อไทยอ(พท.) กล่าวว่า จากที่ได้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับสหรัฐอเมริกามาหลายรัฐบาล ทราบดีถึงระบบการทำงานที่เป็นมืออาชีพของสหรัฐอเมริกา ซึ่งยึดผลประโยชน์ของประชาคมโลกเป็นหลักมาโดยตลอด และจากความสัมพันธ์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยมีมายาวนาน จึงเป็นไปได้ยากที่ว่าสหรัฐจะมีมาตราการตอบโต้ไทยจากการที่ได้สั่งแบนสารพิษทั้ง 3 ชนิด เพราะสหรัฐอเมริกาเองก็คงไม่ยอมให้บริษัทสารพิษมาบัญชาการอยู่เบื้องหลัง และท่ามกลางความขัดแย้งของสองมหาอำนาจ(สหรัฐฯและจีน) รัฐบาลไทยควรต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ หรือรัฐบาลให้ประเทศจีน มาทำเมกะโปรเจกต์ ในประเทศไทยมากเกินไป หรือไปเอาใจและใช้เงินภาษีของประชาชนคนไทย ซื้ออาวุธ จะเป็นต้นเหตุหรือไม่ ก็ไม่อาจจะทราบได้ อย่างไรก็ตาม อยากให้พล.อ.ประยุทธ์เร่งประสานความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาโดยด่วน และเสริมสร้างรายได้ให้กับคนไทยทันที
“สาธิต”ลั่นเป็นสิทธิ์ของรัฐบาลสหรัฐ
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของรัฐบาลสหรัฐ แต่กระทรวงสาธารณสุขก็มีสิทธิ์ในการตัดสินใจในบางเรื่องที่เป็นสุขภาพของคนไทย และในส่วนของไทยเมื่อยกเลิก การใช้สาร 3 ชนิดดังกล่าวแล้ว รัฐบาลก็จะต้องพูดคุยกันว่าจะดูแลเกษตรกรอย่างไร มีสารตัวใดที่ใช้ทดแทนได้บ้าง
“แอ๊ด คาราบาว”เชียร์รัฐบาลไทยอย่ายอม
นายยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Add Carabao ระบุว่า…เห็นสันดานอเมริกาหรือยังครับพี่น้อง มันหาได้คำนึงถึงชีวิตของคนอื่นเลย มุ่งแต่จะเอาประโยชน์เพื่อตนฝ่ายเดียว รัฐบาลไทยอย่าไปยอมมันนะครับ มันจะแบนสินค้าเราก็ช่างแม่ง เวลานี้คุณสมคิด คุณจุรินทร์ ได้ออกเดินสายหาคู่ค้ารายใหม่ๆในประเทศต่างๆ ที่มีคุณธรรม และไม่เอาเปรียบข่มเหงรังแกเรา ขอให้พวกเราต้องร่วมกันสู้นะครับ เพื่อเห็นแก่ประโยชน์สุขของประชาชนคนไทย ถ้าไม่สู้เราก็ตายผ่อนส่งต่อไปเรื่อยๆ ขอเป็นกำลังใจให้ทั้งภาครัฐและเอกชน สู้ๆๆๆๆ ถึงเวลาที่ต้องทิ้งประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแล้วละครับพี่น้อง
“อลงกรณ์”ซัดหาเหตุกดดันไทย
นายอลงกรณ์ พลบุตร. ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สหรัฐต้องการใช้การตัดสิทธิพิเศษจีเอสพีเพื่อต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์แบบหมูไปไก่มา เช่น การขอให้ไทยเปิดให้นำเข้าเนื้อหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงจากสหรัฐหรือขอให้ไทยทบทวนการแบนสารพิษไกรโฟเซตที่ทั้งทางการสหรัฐและหอการค้าสหรัฐไม่เห็นด้วยเพราะกระทบผลประโยชน์ของบริษัทอเมริกัน
“เห็นว่าถ้าเป็นเหตุผลหลังสุดคงยากที่ทางการไทยจะยอมอ่อนข้อเพราะเป็นเรื่องสุขภาพของคนไทยด้วยสาเหตุดีงกล่าวทางการสหรัฐควรทบทวนตัวเองมากกว่าเรียกร้องให้ทางการไทยทบทวนและหากยังคิดจะเป็นมิตรที่ดีกับคนไทยและประเทศไทย อย่าใช้มาตรการจีเอสพีกดดัน แบบนี้เป็นอันขาด” นายอลงกรณ์ กล่าว
“สุริยะ”รอข้อมูลก.เกษตรก่อนพิจารณาประเด็นสหรัฐฯท้วงแบน 3 สาร
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย ฉบับใหม่ พ.ศ.2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 27 ตุลาคมนี้ กล่าวถึงกรณีสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อคัดค้านการห้ามใช้สารไกลโฟเซต ซึ่งเป็น 1 ใน 3 สารเคมีทางการเกษตรที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกเลิกใช้ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 62 เป็นต้นไปว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าว ต้องรอให้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งรายละเอียดการแบน 3 สาร และสารทดแทน กลับมาให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาอีกครั้ง
“ขณะนี้ต้องส่งเรื่องกลับเข้ามาก่อนที่การแบน 3 สาร จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ เพื่อพิจารณาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ”นายสุริยะกล่าว